‘สนามหลวง’ คืนนี้นอนไหน

ภาพ: อเนชา สุขเกษม

กรุงเทพมหานครในรอยต่อระหว่างราตรีกับอรุณ…เหงา เหมือนผ้าห่มนิ่งบนเตียง

“You come back alone?” เธอถามด้วยสำเนียงเมดอินไทยเเลนด์หน้าประตูทางเข้า Club Culture หลังไฟในปาร์ตี้สว่าง

“Yes alone” เขาตอบและถาม “you?”

“alone”

ไฟท้ายรถแท็กซี่ค่อยๆ เลือนหายไปบนถนนราชดำเนิน นีออนในร้านแมคโดนัลด์ยังไม่หลับเช่นเดียวกับแสงสว่างรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สายฝนบางๆ โปรยลงมาเบาๆ ราวเทวดารินน้ำชา

บางที ผ้าห่มบนเตียงคืนนี้ คงไม่เหงาเกินไปนัก

ชีวิตสนามหลวง 2

01

29 มิถุนายน 2553 ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจงว่า กทม. เตรียมลงนามความร่วมมือกับกองพลพัฒนาที่ 1 เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง โดยใช้งบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง 181 ล้านบาท

เนรมิตสนามหลวงภายในเวลา 300 วัน

วันเดียวกัน สังกะสีถูกนำมาล้อมสนามหลวง แปะด้วยแผ่นไวนิลสีสวย

บางคนย้ายชีวิตไปอาศัยคอนกรีตริมคลองหลอดเป็นที่หลับนอน อีกมากบนสนามหญ้าฉุนปัสสาวะในสวนหย่อมเจดีย์ขาว มีไม่น้อยเรียงรายบนทางเท้าริมราชดำเนินตั้งแต่โรงแรมรัตนโกสินทร์ไปถึงสี่แยกคอกวัว หลายชีวิตหายไปเหมือนตัวตนของพวกเขา

“ไม่เห็นทำผัดฉ่าอะไรเลย ล้อมรั้วอย่างนี้มาเป็นเดือนแล้ว” แม่ค้าไข่เจียวใต้ร่มหูกระจงบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผมแสดงความเห็น

สองเท้าข้าพเจ้าวนรอบสนามหลวง สายตาอ่านข้อความบนแผ่นไวนิล

‘แหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ’ / ‘มาร่วมกันปรับภูมิทัศน์ใหม่ให้สนามหลวงสวยงาม’ / ‘เป็นปอดขนาดใหญ่ให้กรุงเทพฯ’ / ‘จัดระเบียบผู้ไร้ที่อยู่อาศัยใหม่พร้อมทำมาหากิน’

กรุงเทพมหานครในเดือนกรกฎาคม 2553 อวลด้วยกลิ่นการปฏิรูปประเทศ แผนปรองดองแห่งชาติ คณะกรรมการค้นหาความจริง หลายคนเชื่อว่ามันยังไม่ตาย

สำหรับบางคนมันเป็นกลิ่นหอมปานดอกสารภีทัดหูสตรี

แต่บนโต๊ะกาแฟในสวนหย่อมเจดีย์ขาวหน้าโรงละครแห่งชาติ ใครคนหนึ่งเทียบเคียงความจริงนี้เหมือนเข็มซ่อนแสงในเงามืดมหาสมุทร

หลายกลิ่นหลากความคิดเช่นเดียวกับการเนรมิตสนามหลวง

ชีวิตสนามหลวง 2

02

กทม. เสนอแนวทางให้คนไร้บ้านแบบสมัครใจไปอาศัยที่ ‘บ้านอุ่นใจ’ ของสำนักพัฒนาสังคม รองรับได้ 25 คน ‘บ้านมิตรไมตรี’ ของสำนักพัฒนาสังคม รองรับได้ 30 คน ‘บ้านพักชั่วคราวคนจนเมืองอ่อนนุช’ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองรับได้ 150 คน ‘ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู’ ของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย รองรับได้ 160 คน และ ‘อาคาร Green Board’ ของ บริษัท กรุงเทพธนาคม รองรับได้ 200 คน

คนสนามหลวงบางคนอุปมาว่ามันคือคุกของคนรักเสรี

“มันไม่ต่างจากคุก” ชายวัยเบญจเพสว่า

“มันเป็นห้องใหญ่ แยกชายหญิงมีผ้าม่านกั้น ถึงเวลามากินข้าวตรงกลาง ก็เจอกันพอดี ไม่อยากไปอยู่แบบนั้นก็เลยขอออกมา” เธอบอกหลังเคยไปสัมผัส

สำหรับบรรดาแอลกอฮอลิก หากเป็นผู้สมัครใจจะนำไปบำบัดที่ ‘สถาบันธัญญารักษ์ ปทุมธานี’ สำหรับคนพิการ หากสมัครใจและมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะนำไปยัง ‘สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี’ แต่หากมีอายุไม่ถึงจะส่งไปยังสถานแรกรับเด็กชายหญิง กรณีคนเสียสติ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำส่งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และ โรงพยาบาลศรีธัญญา

“คุณเคยถามเขาไหมว่ามาทำอะไรที่สนามหลวง ทำงานอะไร บ้านอยู่ไหน ต้องการอะไร ก็ต้องลงมาทำตั้งแต่ต้นทางตั้งแต่คนมันยังมีสติสิ แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ทำจนคนส่วนหนึ่งในสนามหลวงกลายเป็นคนเสียสติ”

นที สรวารี แห่ง กลุ่มอิสรชน-กลุ่มทำงานอาสาสมัครเกี่ยวกับคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะบอก และตั้งคำถามถึงความหมายของคำว่า ‘บ้าน’

“ถ้าบ้านในความหมายที่ซุกหัวนอน เราไม่ต้องไปหาให้เขา ปัญหาคือถ้าเขาเชื่อมกับครอบครัวของเขาได้…นั่นแหละความสุข เขาจะตัดสินใจได้เองว่าเขาจะเช่าหรือจะซื้อ บางคนมีความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีบ้าน อยู่บ้านเช่าจนตายก็ได้ แล้วทำไมต้องดั้นด้นหาบ้านให้คน นอกจากมิติทางกายภาพที่ไม่ตอบโจทย์ มีมิติอื่นบ้างมั้ยที่คุณได้ทำ”เขาถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

มีเต็นท์สีขาวของ กทม. ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามข่าว…ที่นี่คือที่รับเรื่องผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมายื่นความประสงค์เข้าที่พักชั่วคราว แต่ในเต็นท์ร้างทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

พบเพียงแดดครึ้มของวันราวกับมันนัดพบกับสายฝนแห่งเดือนกรกฎา

03

13 กรกฎาคม คนขายน้ำยาจิ้งเหลนนอนหลับบนเก้าอี้ผ้าใบหน้าศาลฎีกา นักการเมืองยื้อแย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ภายใต้วาทกรรม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ประชาชนไม่มีอารมณ์อยากใหญ่ พานทำให้น้ำมันจิ้งเหลนขายไม่ออก

โดยเฉพาะคนที่เคยอาศัยสนามหลวงดั่งบ้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีความหมายมากเกินกว่าข่าวสารที่ไร้ความหมายต่อความฉุกเฉินในชีวิตแบบวันต่อวัน – day by day

ถ้าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่านั้นคงเป็น พ.ร.บ.โบราณสถาน ที่คุ้มครองความว่างเปล่าให้สนามหลวงในราคา 1 หมื่นบาท และอาจได้นอนคุกสักวันสองวัน หากคืนนี้ มีใครคิดนอนมองดาวภายในรั้วที่ล้อมสนามหลวง

ที่ท่ารถตู้ริมคลองหลอด มีชายชราคนหนึ่งนั่งไขว่ห้าง เขายังดูแข็งแรง ศีรษะล้าน ใบหูใหญ่ สวมทองเส้นโต พ่อค้าแม่ค้าที่นี่เรียกเขา ‘ป๋า’

แต่ในสายตาใต้แว่นกันแดดของตำรวจหลาย สน. มองเขาเป็น ‘มาเฟีย’

“มันเป็นความดีที่เราสั่งสมมา ถามนายว่าถ้าในชีวิตนี้นายไม่เคยเป็นฝ่ายให้เลย แล้วใครหน้าไหนจะมอบความรักให้นาย บางคนตกรถมา…เราให้ได้ แต่ถ้าเจออีกทีมีเขกกบาล”

เขาลืมตามาเป็นนักเลงรุ่นเยาว์ข้าง สน.ชนะสงคราม เที่ยวสนามหลวงมาตั้งแต่รุ่นๆ ยุครุ่งโรจน์ ร่ำรวยจากการพนัน ยักไหล่ท้าทายมือเท้าของทุกสถาบัน

“นายทันได้ยินชื่อโรงเรียนไพศาลศิลป์ไหม สมัยนั้น ไพศาลศิลป์เป็นศัตรูกับช่างกลทุกสถาบัน”

ผ่านยุครุ่งโรจน์บนถนนพนันมาแบบสะบักสะบอม โชคเริ่มไม่เข้าข้าง เงินไม่เข้ากระเป๋า จึงปักหลักขายข้าวแกงที่สนามหลวง

“ทุกคนรู้ว่าเราใจดี ใครป่วยใครหิวมาหาเราได้ทั้งนั้น ขอติดก็ให้ติด ขอกินก็ให้กิน แต่ขอติดต้องจ่าย ไม่จ่ายไม่ได้ในเมื่อนายขอติดเราแล้ว

“เราไม่เคยไปไถเขากิน แต่กฎมีอยู่ว่าค่าขยะวันละ 5 บาท เราถามว่าในชุมชนหนึ่งหากไม่มีคนดูแลเขาทะเลาะกันมั้ย ทุกคนจะใหญ่กันหมด ทุกคนจะทำตามอำเภอใจกันหมด”

นี่คือข้อตกลงทางสังคมในแบบสนามหลวง มีกฎ-มีกติกา-มีผู้ปกครอง แม้เป็นกติกานอกตัวบทกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงใต้แสงแดดและก้อนเมฆของประเทศไทย มีอะไรบางอย่างที่ทำให้กฎหมายเป็นเพียงความยุติธรรมในกรอบไม้สัก

เขาทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกชีวิตที่เข้ามาค้าขายรวมถึงคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นช่างทากาวตรงรอยต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพ่อค้าแม่ค้า

เขามีมือไม้อีกประมาณ 20 คน มี 1 คนที่เป็นมือขวาหรือพูดด้วยสำนวนของเขาก็ต้องว่า ‘พาร์ทเนอร์’ มีหัวหน้าสายอีก 4 คน แบ่งพื้นที่การทำงานเป็น 4 โซน ตามมุมทั้ง 4 ของสนามหลวง หัวหน้าสายแต่ละคนจะมีลูกน้องช่วยทำงานในโซนประมาณ 4 คน

แม้ไม่ยกย่องอันธพาลและถึงขั้นรังเกียจมาเฟีย แต่อดนิยม ‘นักเลงโบราณ’ ไม่ได้

หญิงสาวคนหนึ่งพลัดหลงมาสนามหลวง โชคชะตาผลักหล่อนสู่อ้อมกอดของแก๊งแมงดาชายฉกรรจ์กลุ่มนี้จะเลี้ยงดูปูเสื่อทุกอย่าง แต่เงินที่หล่อนหาได้ต้องแบ่งพวกเขา สมัยก่อนแมงดา 1 คน เลี้ยงดูผู้หญิง-Sex Worker 20 นาง (สมัยนี้บุคคลที่เราเรียกแมงดาได้ก็คือสามีของ Sex Worker)

ในท่วงทำนองแบบ ‘ดอน’ หรือกิริยาแบบ ‘ป๋า’ เขาบอกนักเลงกลุ่มนั้น “มึงทำไม เขาอยากกลับบ้านทำไมไม่ให้เขากลับ”

เป็นวิถีของป๋า ในกติกาของสนามหลวง

ชีวิตสนามหลวง 4

04

เที่ยงวันที่ 24 กรกฎาคม หล่อนดูดน้ำอัดลมในถุงน้ำแข็งคลายร้อนหลังรถเข็นเครื่องดื่มของตัวเอง

“หลานหนูมันเล่นม้า แม่งไม่เลิกสักที ผอมอย่างกับไม้เสียบลูกชิ้น มันขอเงินแม่หนูทีละพันสองพัน แต่อีหลานผู้หญิงของหนูถึงมันจะเล่นม้าขายหอย แต่มันส่งเงินให้ยายไม่ขาด” แม่ค้าขายเครื่องดื่มสนทนากับแม่ค้าข้าวแกงรถเข็นติดกัน

“ช่วงม็อบเหลือง ฉันไปขายมือตบ คิดดูสิ ฉันปั้นเงิน 300 เป็นเงินหมื่น จากนั้นพอมีม็อบแดงก็เปลี่ยนมาขายน้ำจนถึงวันนี้”

“ไม่กลัวรึ ระเบิด?”

“ไม่กลัวหรอกระเบิด เจอมาเยอะแล้ว ฉันอยู่หน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ มันยิงกันตู้มๆ ฉันไปขายในม็อบแดงก็จริง แต่เราไม่เอาของเขา คนอื่นเขาไปเอาน้ำแข็งของม็อบไปขายต่อ ฉันไม่เอา ข้าวสักกล่องฉันก็ไม่เอา เขาให้อะไรก็ไม่เอา เราเป็นคนขายของต้องซื่อตรง”

05

หนังสือพิมพ์วันที่ 25 กรกฎาคม รายงานว่าผู้คนทยอยเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดในวันหยุดยาวเข้าพรรษา ไม่มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีขนส่งหมอชิต

05.30 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม ถนนราชดำเนินมันปลาบด้วยสายฝนของเมื่อคืน ฟ้าสีครามยามเช้าคล้ายฟ้ายามเย็น พระอาทิตย์ยังคงขี้เซาตามเวลาเหมือนเมื่อวาน

ยอดหญ้าในสวนหย่อมเจดีย์ขาวพราวน้ำ หลายคนนอนห่มผ้า บางคนไม่มี บางคนลุกขึ้นมานั่ง หลายคนยังคงนิทรา สนามหลวงตอนเช้าไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีเรื่องเล่าเช้านี้

12.00 น. หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์

ข้อความ ‘หนี้สินเป็นมิตรของความเศร้า’ ปรากฏในสมุดบันทึกหลังพบครอบครัวหนึ่ง

“เออ ไอ้หน้าหอย โคตรพ่อโคตรแม่มึงตาย แม่มึงขายหอยใต้ต้นประดู่ ขายไม่ออก มาขายสนามหลวง” เธอกระแทกเสียงลงโทรศัพท์

“เออ ไอ้หน้าหอย โคตรพ่อโคตรแม่มึงตาย แม่มึงขายหอยใต้ต้นประดู่ ขายไม่ออก มาขายสนามหลวง” เธอพูดซ้ำแบบนี้เป็น 10 รอบคล้ายฟังเพลงจากโปรแกรมวินโดว์มีเดียที่มีเพลงเดียว

สามีของเธอเดินมา พูดจากันไม่กี่คำก็เกิดวิวาทระหว่างสามีกับภรรยา

“กูบอกให้มึงด่ามันแค่นี้ มึงมาขึ้นใส่กูเหรอ”

“พวกทวงหนี้ กูรับหน้าแทนตลอด”

“มึงขึ้นเหรอ อีรส” เขาตวาด เธอหยุด ก่อนสามีคว่ำโต๊ะร้อยมาลัยของเธอ

สายตาของลูกสาว 2 คน เป็นพยาน

06

13.45 น. ริมคลองหลอดใกล้พระแม่ธรณีบีบมวยผม

ก่อนมาอยู่สนามหลวง เธอเคยอยู่สนามหลวงมาก่อน แล้วไปเป็นนักร้องในสถานบันเทิงเมืองพัทยา “แมงปอ ชลธิชา กับ ต่าย อรทัย” เธอเอ่ยชื่อนักร้องในดวงใจ

คล้ายละครหลังข่าว ต่ายโดนใส่ร้ายว่าลักขโมย จนระเห็จกลับสนามหลวงอีกครั้ง และพบรักกับผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อโต้ง

ก่อนสนามหลวงจะถูกปิด ทั้งสองให้เช่าเสื่อผืนละ 20 บาทต่อคืน มีเสื่อให้บริการกว่า 30 ผืน ตอนนี้เหลือเสื่อที่ผึ่งแดดบนแผงกั้นเหล็กสีเหลือเพียง 2 ผืน

“คืนที่เขามาไล่ เขาเอาเสื่อของเราไปหมด เหลือแค่นี้ เอาไว้นอนเอง”

บางคืน เธอกับสามีนอนริมคลองหลอด แต่คืนไหนฝนตก ทั้งสองย้ายไปนอนใต้ชายคาร้านค้าริมราชดำเนิน

“เมื่อคืนฝนตก ก็ไปนอนฟุตบาทเลยโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปหน่อย นอนพื้นแล้วเอาเสื่อคลุมกันฝน นอนจนหลับทั้งอย่างนั้น ไม่เชื่อลองจับกางเกงดูสิ ยังเปียกอยู่เลย ตอนนี้ก็อยู่แบบนี้ไปก่อน”

อยู่แบบนี้ หมายถึง ช่วยน้าชายขายของริมคลองหลอดเช่นเดียวกับโต้ง-สามี

“ผมเห็นผู้หญิงแต่งตัวสวยๆ ยืนริมสนามหลวงตอนกลางคืน อย่าโกรธกันนะครับ มีบ้างมั้ยที่แวบคิดอยากทำแบบพวกหล่อน” ข้าพเจ้าถาม

“เมื่อก่อนตอนร้องเพลงที่พัทยา ก็มีฝรั่งมาออฟ เราก็เคยไป แต่ตอนนี้ แฟนไม่ให้ทำ วันนั้นเราหายตัวไป แฟนก็พอรู้ว่าไปไหน พอกลับมาเขาก็ไม่โกรธ แต่เขาไม่อยากให้ทำอีก”

“พี่ช่วยสืบให้ผมหน่อยได้มั้ยครับว่ามันมีจริงหรือเปล่า” โต้งวานข้าพเจ้าถึงป้ายไวนิลที่ระบุ ‘ที่พักและอาชีพการงานสำหรับคนไร้ที่พักอาศัย’

“ผมไม่อยากให้ต่ายมันอยู่แบบนี้ มันอยู่ไม่ไหวหรอกพี่ ไม่มีใครอยากอยู่แบบนี้หรอก ให้ทำงานอะไรก็ได้ พี่สืบให้ผมหน่อยนะครับ”

ความจริงมักทารุณต่อความฝัน

“เราไหว้ทุกวัน อธิษฐานให้สนามหลวงเสร็จไวๆ” หมายถึงพระแม่ธรณีบีบมวยผม

“ทำไมไม่ขอให้มีเงินมีทอง”

“ข้อนี้แฟนขอแล้ว” เธอหันไปมองโต้งด้วยแววตาปราศจากน้ำตาล

ชีวิตสนามหลวง 1

07

16.30 น. ตีนสะพานข้ามคลองหลอด

เขาอายุ 62 ปี แต่ดูคล้ายผู้เฒ่าวัย 80 ร่างกายผอมโกรก ผิวหนังเหี่ยวย่น ใบหน้าตอบจนโหนกแก้มโปน ฟันเหลือไม่กี่ซี่มีคราบดำเปรอะอยู่

อาชีพหลัก มานพ ใจหอม เป็นลูกจ้างวัยชราในร้านขายผักย่านปากคลองตลาด หล่อเลี้ยงชีวิตให้ครื้นเครงด้วยสุราไร้สีและกลิ่นวันละเป๊ก

เขามีลูกชาย 1 คน เป็นตำรวจ ลูกสาว 1 คน เป็นครู บ้านเกิดอยู่นครนายก ส่วนเมีย-หายไปจากชีวิตได้ร่วม 20 ปี “เราไม่เอามันแล้ว แม่งล้างผลาญ ข้าวปลาไม่ยอมหุงหา เอาแต่เข้าบ่อน”

อีกงาน เขาช่วยงานวัดหัวลำโพง ขายโลงบรรจุศพไร้ญาติ

เขาซูบเซียวและเคลื่อนที่ได้ช้าเหมือนอยู่ในโลกไร้แรงโน้มถ่วง

“เมื่อก่อนเราอ้วนขาว เรามากรอบเพราะเหล้า แต่เดี๋ยวนี้กินพอกินข้าวได้ เพื่อนรุ่นเดียวกับเราแม่งมันรวยกันทั้งนั้น เป็นเจ้าของร้านทองที่เยาวราช เพื่อนมาหาเราบ่อย พาไปกินจนไม่มีท้องจะใส่”

ญาติพี่น้องอยู่ที่นครนายก พี่ชายบวชเป็นพระที่วัดลาดพร้าวแต่มรณภาพแล้ว ตอนนี้ก็เหลือตัวคนเดียวในกรุงเทพฯ

“เราไม่ชอบ ขี้เกียจ ลูกมันก็มีครอบครัวของมัน เราอยู่แบบนี้สบายใจดี”

08

ตระหนกในระดับตกจากผาสูง เมื่อจ๋า-อัจฉรา สรวาดี อาสาสมัครแห่งกลุ่มอิสรชน เล่าเรื่องราวชีวิตของมานพ ใจหอม ในอีกเวอร์ชั่นให้ฟัง

มานพเข้ากรุงเทพฯตอนอายุ 19 พร้อมกับพี่สาว มาทำงานก่อสร้าง แต่มาติดกับดักเหลวในขวดสุรา พี่สาวกลับบ้าน แต่เขายังอยู่กรุงเทพฯ แถวปากคลอง-สนามหลวง เคยเป็นลูกค้าร้านค้าย่านเยาวราช ชอบทำบุญทำทาน

“เท่าที่เราสอบถามข้อมูลจากญาติของลุง พี่สาวบอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ลุงไม่เคยมีเรื่องชู้สาวถึงขั้นจะผูกพันเป็นครอบครัว ฉะนั้น ที่แกบอกมีลูก 2 คน ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง”

รวมถึงเพื่อนเสี่ยย่านเยาวราช

“แกเป็นคนโหยหาความรัก แกรักพี่ชายที่บวชเป็นพระที่วัดลาดพร้าวมาก พี่ชายเสียไปแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าลูกชายที่แกบอกอาจเป็นหลานชายของแก—ลูกของพี่ แกชอบซื้อของมาฝากน้องๆ อาสาสมัคร ถ้าไม่กินก็จะงอน”

18.30 มานพ ใจหอม นั่งบนขั้นบันไดสะพานข้ามคลองหลอด

“คิดถึงพี่ชายไหม”

“คิดถึงแล้วไง คนตายจากโลกแล้ว…ก็แค่นั้น เวลาคิดถึง เราใส่ข้าวถุง แกงถุง น้ำโพลาริส 1 ขวดใส่บาตร อย่ามาถามเลย ขนาดสังฆราชยังตาย คนจะตายไปกลัวทำไม เมื่อวานก็มีคนตายหน้าเซเว่น”

ชีวิตสนามหลวง 5

09

19.45 น. Sex Worker วัยริม 40 เดินมาที่รถพยาบาลเคลื่อนที่ของกลุ่มอิสรชนที่มาประจำทุกวันอังคารและศุกร์

“ขอถุงหน่อย” อัจฉรายื่นถุงคุมชีวิตและกันโรคภัยให้หล่อน 4 ถุง

นทีบอก “เราต้องการฟื้นฟูตัวตนเขาเร็วๆ โดยที่เขาจะได้ไม่ตายไปโดยไร้ร่องรอย เขาหนีตัวเองไปเรื่อยๆ บางคนมีชื่อถึง 3 ชื่อ แล้วถ้าติดสุราในระดับเรื้อรัง มันทำลายสมอง กว่าจะสืบค้นตัวตนที่แท้ของตัวเองก็ลำบาก”

เมื่อก่อน มานพ ใจหอม บอกเขาชื่อ สมศักดิ์ เจริญเนติ

‘สมศักดิ์’ มาจากไหนไม่รู้ แต่ ‘เจริญเนติ’ มาจากชื่อคนข้างบ้าน ชื่อ เจริญ นามสกุล เนติ

22.30 ข้าพเจ้าเลือกหย่อนก้นลงฐานรอบเจดีย์ขาว หลายคนต่างนอนใต้นีออน ถ้าเป็นไปได้คนที่นี่จะเลือกทำเลที่มีความสว่าง เพราะในพื้นที่แบบนี้ใครจะไว้วางใจใครได้ง่ายเสียเมื่อไหร่

เสียงกรนเป็นพยาน ทุกคนหลับสนิท มีบ้างลุกขึ้นมาปล่อยเบาตรงโคนต้นหูกระจง

00.10 น. เดินรอบสนามหลวงอีกรอบ ตรงหน้ามี Sex Worker วัยสาวยืนเป็นกลุ่ม เลือกข้ามถนนมาเดินฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าไม่รังเกียจผู้หญิง และไม่มีเหตุจำเป็นต้องรังเกียจผู้หญิงอย่างว่า ที่เลือกเดินฝั่งตรงข้ามเพียงเพราะเหตุผลของความเขลาอาย

คู่รักดูคล้ายนักศึกษาคู่หนึ่งเดินฝั่งเดียวกับบรรดา Sex Worker ไม่กี่นาที ทั้งสองข้ามถนนมาอยู่ฝั่งเดียวกับข้าพเจ้า

“มันสะเทือนใจ…รู้มั้ย” หญิงสาวกระฟัดกระเฟียด

“ชีวิตบางทีก็จำเป็น”

“แล้วคำว่าพอเพียงล่ะ”

“……………………….”

โปรดอย่าเข้าใจผิด ที่ทิ้งประโยคของหญิงสาวปิดท้าย ไม่ได้หมายความว่าใช้สายตาเดียวกับเธอมอง Sex Worker เหล่านั้น เพียงแต่ระยะห่างพาบทสนทนานั้นหายไป

10

01.30 เดินเท้าไปงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งริมถนนราชดำเนิน

ปาร์ตี้เริ่มไปนานพอทำให้ร่างกายของพวกเขาและเธอเคลื่อนไหวไปตามจังหวะ Dub ควันบุหรี่สีเทาคลุ้งห้อง ในความสลัว ใครหลายคนสวมแว่นดำ ข้าพเจ้าร่วมเต้นรำไปกับพวกเขาและเธอ

03.45 น. กรุงเทพมหานครในรอยต่อระหว่างราตรีกับอรุณ…เหงา เหมือนผ้าห่มพับนิ่งบนเตียง

หลายชีวิตนอนหมดแรงตามพื้นถนนหน้าปาร์ตี้ หลายชีวิตกอดเกี่ยวชวนนึกถึงการเริ่มต้นของอะไรบางอย่าง ถัดไปไม่กี่อาคาร มีหลายชีวิตกำลังจะตื่นจากค่ำคืนที่ผ่านการตั้งคำถามง่ายๆ กับชีวิต

ว่าคืนนี้จะนอนตรงไหน จึงจะไม่เปียกเกินไปนัก

ชีวิตสนามหลวง 6

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในนิตยสาร WAY คอลัมน์ Subway สิงหาคม 2553

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า