10 ธันวาคม 1948 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน เมื่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่บนโลกลงนามให้การรับรอง เป็นเอกสารซึ่งยืนยันถึงสิทธิมนุษยชนและรับรองสิทธิต่างๆ ที่มนุษย์ทุกคนพึงมี
หลังจากประชาคมโลกมีปฏิญญาดังกล่าว คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ จึงกลายเป็นคำที่ทุกคนรับรู้และดูเหมือนจะเข้าใจมันเป็นอย่างดี แต่ท่ามกลางสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก คำถามสำคัญคือพัฒนาการสิทธิมนุษยชนดีขึ้นแค่ไหน หลังจากผ่านมาหลายทศวรรษ
10 ธันวาคม 2023 ผ่านมาแล้ว 75 ปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมกับร้านหนังสือ A BOOK WITH NO NAME และ stealbooktalk จัดงาน ‘นั่งถก ยกแก้ว ครั้งที่ 3 Back to 1948: 75 ปี หลังโลกนี้มีสิทธิมนุษยชน’ เพื่อชวนรำลึกถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนบนโลกนี้เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากลของทุกปี
ไฮไลต์สำคัญคือวงสนทนาชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสิทธิมนุษยชน นับแต่มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นเมื่อปี 1948 โดยมีผู้ร่วมสนทนาดังนี้ ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนและนักเล่าเรื่องจากเพจ Our History: เรื่อง เล่า เราโลก ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วาสนา วงศ์สุรวัตน์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี หมอมง จาก stealbooktalk เป็นผู้ดำเนินวงสนทนา
สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คืออุดมการณ์เพื่อคนทุกคน
ภาณุ ตรัยเวช เปิดวงสนทนาว่า ความเข้าใจที่ว่าสิทธิมนุษยชนไม่เคยมีมาก่อนและเป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1948 อาจไม่ถูกเสียทีเดียว ย้อนกลับไปในยุคจักรวรรดิโรมัน ชาวโรมันมีความเชื่อว่าเราทุกคนมีสิทธิบางอย่างติดตัว ที่จะได้รับความปลอดภัยและการคุ้มครอง โดยต้องแลกมากับการต้องเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในกำแพง ไม่ได้เป็นคนเถื่อนที่ร่อนเร่อยู่ภายนอก
โดยพื้นฐานแล้ว อัตลักษณ์ความเป็นยุโรปนั้นมองหาความเป็นสากล (universal) อยู่เสมอ และเป็นวิถีคิดของชาวยุโรปที่สืบทอดมาทุกยุค เช่น ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ชาวยุโรปก็พยายามจะหาภาษากลางที่จะสามารถสื่อสารร่วมกันได้ทั้งโลก และในที่สุดก็เชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือคำตอบที่จะเป็นภาษาสากลที่จะสามารถสื่อสารกันได้กับทุกคน
ในยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงอุดมการณ์เสรีนิยมที่พยายามผลักดันให้กลายเป็นอุดมการณ์สากลของโลก แต่อุดมการณ์แบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ก็แสวงหาความเป็นสากลเช่นกัน
ภาณุเชื่อว่าไม่เพียงแต่ชาวยุโรปเท่านั้น แต่ในทุกยุคทุกสมัยล้วนมีกลุ่มคนที่พยายามมองหาความเป็นสากลอยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน ภาณุตั้งข้อสังเกตว่า ในวัฒนธรรมที่นับถือศาสนาพุทธ เช่น ชาวไทย มักไม่ได้มีแนวคิดในการมองหาหรือพยายามทำให้แนวคิดและอุดมการณ์ความเชื่อของตนกลายเป็นอุดมการณ์สากลในแบบที่ชาวยุโรปมองหา
ต่อมา ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ให้ความเห็นในมุมมองของนักกฎหมายว่า แม้ในสมัยก่อนจะยังไม่มีคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ แต่ชุดความคิดที่ว่าคนทุกคนมีสิทธิเท่ากัน มีมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น
ขณะเดียวกัน แม้จะมีชุดความคิดที่ว่าคนทุกคนมีสิทธิเท่ากันอยู่ แต่ก็ยังไม่ก้าวหน้าถึงขั้นที่เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้ปรากฏผ่านทางโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมในแต่ละยุค และแต่ละสังคม
นอกเหนือจากนี้ ก่อนหน้าการเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติ รัฐแต่ละรัฐมีอำนาจเป็นของตัวเอง และต่างก็เคารพในขอบเขตอำนาจของกันและกันอย่างหนักแน่น วิธีคิดแบบบ้านใครบ้านมันยังคงมีอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่พรรคนาซีเยอรมนี นำโดย อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แม้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก แต่ก็ไม่มีรัฐใดเข้าไปขัดขวางหรือหยุดยั้ง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปยุ่งย่ามกับรัฐใดที่มีการละเมิดสิทธิของคนในรัฐ
ปี 1948 หลังการเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติและการประกาศร่วมลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แนวคิดแบบบ้านใครบ้านมันก็เริ่มคลายลง แม้แต่ละรัฐจะยังคงเคารพในอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นๆ แต่หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น แน่นอนว่าแต่ละรัฐย่อมไม่อยู่เฉยๆ เหมือนแต่ก่อน
หลังจากสนทนาถึงเรื่องราวสิทธิมนุษยชนโดยอิงกับเหตุการณ์ในโลกฝั่งตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ วาสนา วงศ์สุรวัตน์ จึงชวนมองถึงประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนในสังคมตะวันออก โดยเน้นไปที่วัฒนธรรมจีนเป็นหลัก
ก่อนจะไปถึงยุคสมัยที่ปรัชญาขงจื๊อจะมีอิทธิพล อารยธรรมตะวันออกมีรากมาจากแม่น้ำเหลือง ในสมัยนั้นลักษณะของสังคมเป็นสังคมเกษตร ซึ่งต้องการแรงงานคนจำนวนมาก ต่างจากสังคมปศุสัตว์ เมื่อสังคมต้องการแรงงาน หน้าที่ของคนในสังคมจีนคือต้องมีลูกเพื่อผลิตแรงงานสู่สังคม เกิดข้อตกลงว่าผู้หญิงต้องแต่งงานและเข้าบ้านฝ่ายชาย ซึ่งเป็นการมองผู้หญิงโดยไม่มีศักดิ์ศรีเท่ากับผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้สืบสกุล ผู้หญิงเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ผลิตคนแต่เพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ ในขณะที่ผู้ชายสามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ในสังคม แต่คุณค่าของผู้หญิงกลับถูกผูกโยงกับโครงสร้างของครอบครัวแต่เพียงเท่านั้น หากผู้หญิงที่ไม่มีครอบครัวและไม่แต่งงาน ก็จะกลายเป็นความอับอายของวงศ์ตระกูล
ความไม่เท่าเทียมทางสิทธิระหว่างชายและหญิงนี้เป็นผลจากอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อที่ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ประเทศที่ลัทธิขงจื๊อมีอิทธิพลมากอย่างเกาหลีใต้ก็เช่นกัน ซึ่งยังผูกโยงคุณค่าของผู้หญิงไว้อยู่ที่การมีลูก มีครอบครัว สังคมยังคงมองผู้หญิงไม่เท่ากับผู้ชาย ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้จึงเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุด เพราะผู้หญิงไม่ต้องการถูกกดทับจากแนวคิดการผลิตลูกแบบลัทธิขงจื๊ออีกต่อไป
วาสนาสรุปใจความว่า อารยธรรมตะวันออกไม่มีแนวคิดเรื่อง ‘คนเท่ากัน’ เท่าไรนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าหดหู่
เมื่อกฎหมายไม่ได้มีไว้เพียงแค่ปกครอง แต่ต้องคุ้มครองสิทธิ
ต่อมาเมื่อชวนสนทนาถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสิทธิมนุษยชน ฐิติรัตน์ให้ความเห็นว่า กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนจะต้องยึดโยงกับเรื่องสิทธิของประชาชนอยู่เสมอและต้องใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน เมื่อใดที่กฎหมายไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชน แต่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ปกครอง เท่ากับว่ากฎหมายนั้นไม่มีสิทธิมนุษยชน
วาสนาเสริมว่า ชุดความคิดที่ว่ามนุษย์มีสิทธิเหนือร่างกายตนเอง ไม่มีอยู่ในสังคมตะวันออก ตัวอย่างวรรณกรรมและเรื่องเล่าในสังคมจีนอย่าง ‘เปาปุ้นจิ้น’ นั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีแนวคิดในการเคารพเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์เป็นอย่างดี
กรณีเปาปุ้นจิ้น ฐิติรัตน์ให้มุมองว่าแม้ในสังคมที่ไม่มีแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังคงมีแนวคิดเรื่องความยุติธรรม ซึ่งก็มีนิยามแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม
ส่วนในแง่กฎหมายที่ใช้คุ้มครองสิทธินั้น กฎหมายของแต่ละรัฐจะคุ้มครองมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขอบเขตที่กำหนด อย่างไรก็ดี การมีเพียงกฎหมาย ไม่ได้การันตีว่าจะมีการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพราะกฎหมายก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐที่ก็สามารถใช้กดทับประชาชนและอาจไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาคกัน
โลกก่อนปี 1948 ก่อนปฏิญญาสากลถือกำเนิด
ภาณุมองย้อนกลับในในโลกก่อนมีปฏิญญาสากล โลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจมีความพยามสร้างความเป็นเป็นสากล โดยชาวตะวันตกพยายามทำมาตลอดผ่านรูปแบบการเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมเข้าไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งก็ผ่านการทำสงครามและการล่าอานานิคม แต่ความพยายามสร้างความเป็นสากลด้วยวิธีการบีบคั้นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับมาในรูปแบบการลุกฮือของคนในท้องถิ่น ทำให้ประเทศผู้รุกรานต้องปราบปรามและปะทะกัน นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิอย่างช่วยไม่ได้
นอกจากนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลงใหม่ๆ ในเวลานั้น คนเยอรมันก็ไม่ได้มีความรู้สึกผิดต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแต่อย่างใด พวกเขาไม่ได้มีแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในหัว สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เป็นแนวคิดสากลหรืออยู่ในสามัญสำนึกของคนอย่างที่คิดกัน
ต่อมาวาสนาได้สะท้อนแนวคิดอันย้อนแย้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาติตะวันออกในช่วงเวลานั้น โดยยกตัวอย่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ซึ่งได้ทำการปลดปล่อยทาสผิวดำ ขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายต่อต้านแรงงานชาวจีน เพราะกลัวแรงงานชาวจีนจะเข้ามามีอิทธิพลในประเทศมากเกินไป ดังนั้น เพื่อชดเชยแรงงานที่ขาดหายไป จึงหันไปใช้กุลีชาวจีนและอินเดียที่มีค่าแรงต่ำแทน ซึ่งกุลีเหล่านี้ต่างก็ถูกกดขี่และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อมีการก่อตั้งสันนิบาตชาติในปี 1920 ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลทั่วโลก ญี่ปุ่นได้ทำการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ทุกชาติพันธุ์เท่าเทียมกัน แต่ประเทศอื่นๆ กลับไม่ยอมรับหลักการดังกล่าวในปฏิญญาของสันนิบาตชาติ
แม้จะดูเหมือนว่าชาติตะวันตกในเวลานั้น ช่างมีความย้อนแย้งในตัวเองในเรื่องการเคารพสิทธิ แต่วาสนาก็ให้มุมมองว่า ในเวลานั้นญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้เรียกร้องให้มีหลักการดังกล่าว แต่เพราะมีความปรารถนาอยากเป็นประเทศมหาอำนาจ เพื่อจะมีศักดิ์เทียบเท่ากับชาติมหาอำนาจทางตะวันตกประเทศอื่นๆ
ต่อมา หลังปี 1948 แม้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะถือกำเนิดแล้ว แต่ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ก็ไม่ได้จริงจังกับการเคารพสิทธิมนุษยชนนัก ตัวอย่าง เช่น ในช่วงสงครามเย็น ชาติตะวันตกที่ยึดอุดมการณ์แบบเสรีนิยมก็ทำการกำจัดคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
ความผิดพลาดในประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนโลก
เมื่อพูดถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อพัฒนาการสิทธิมนุษยชนในโลก ภาณุมองว่าจากบทเรียนเมื่อครั้งกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกตระหนักถึงความผิดพลาดของมนุษย์ในการแยกกันอยู่ เสรีภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนอยู่ร่วมกันเท่านั้น
ส่วนฐิติรัตน์มองว่าเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ส่งผลให้ระเบียบโลกและวิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง โดยมีวิธีคิดที่ว่าเมื่อเกิดภัยอันตรายหรือมีผู้ก่อการร้าย การเคารพสิทธิมนุษยชนจะถูกละเลยและมีข้อยกเว้นเสมอ สะท้อนได้จากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิ่งนี้เป็นแผลใหญ่ของฝั่งตะวันตก
วาสนาชี้ว่าเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นเหตุการณ์ที่เห็นเป็นประจักษ์ด้วยกันทั่วทั้งโลกว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายของรัฐจีน แต่ด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีนแต่อย่างใด และถึงแม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในโลกดีขึ้นเลย
ประเทศไทยควรทำอะไรเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชน
ในช่วงท้ายของวงสนทนา ได้มีการทิ้งท้ายว่าประเทศไทยควรจะทำอะไรเพื่อทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศดีขึ้น
วาสนามองว่า ในปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยถือว่าดีขึ้นมากแล้ว โดยยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม ‘ทัวร์ลง’ ซึ่งแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงออกของคนประเทศ และย้ำว่าแม้ผู้ที่โดนทัวร์ลงจะเกิดความรู้สึกไม่ดีอยู่บ้าง แต่ก็ควรอดทนและอยู่กับมันให้ได้ เพราะนั่นสะท้อนถึงเสรีภาพในการแสดงออกของคนในสังคม
ส่วนฐิติรันต์ย้ำเตือนถึงความสำคัญในระดับบุคคลที่ทุกคนจะต้องกล้าทวงสิทธิของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครมาละเมิดได้ เมื่อเรากล้าที่จะยืนยันในสิทธิของตัวเอง คนที่ละเมิดก็จะรู้ตัวว่าเขาไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น และคนอื่นๆ ในสังคมก็ตระหนักได้เช่นกันว่า สิทธิของเราทุกคนสำคัญ และเราควรกล้ายืนยันในสิทธิของตัวเอง
ภาณุทิ้งท้ายว่าการต่อสู้ในสังคม เราต้องย้ำเตือนตัวเองถึงสิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่ สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าเรากำลังต่อต้านอะไร แต่เรากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องอะไรต่างหาก