การเมืองเป็นเรื่องรสนิยม ชีวิตสิของจริง
“ผมเดินทางมาจากจังหวัดสงขลา นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่มาร่วมชุมนุม ผมชอบถ่ายรูป จึงอาสาถ่ายรูปคนที่มาด้วยกัน บางคนก็ให้ตังค์ แต่บางคนผมก็ถ่ายให้ฟรี แต่เขาไปเสียค่าล้างค่าอัดรูปเองนะ ผมใช้กล้องยี่ห้อฟูจิ แต่มันเก่าแล้ว ตอนซื้อมาใหม่ๆ ราคา 13,000 บาท ตอนนี้เหลือไม่กี่พันแล้วมั้ง”
“คุณอายุเท่าไร”
“ผมอายุ 65 ปีแล้ว”
“อะไรคืออุปสรรคของวัยชรา”
“ก็แล้วแต่คนนะ อย่างของผมนี่นะ หูข้างนี้เริ่มไม่ดี รับเสียงไม่ค่อยดี แต่ดวงตายังมองเห็นชัด อุปสรรคของผมก็หูนี่แหละ คนวัยชราถ้าตาไม่ดีไปไหนมันก็ลำบาก ถ้าหูไม่ดีคนพูดมันก็ไม่ได้ยิน เหมือนผมหูข้างนี้มันไม่ค่อยได้ยิน แต่หูข้างนี้ยังปกติดีอยู่”
“ฉันจบสตรีวิทยา เรียนบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นแรก สมัยนั้นเรียกว่าแผนกวิชาการบัญชี วันนี้ฉันเอาของมาแจก ช่วงเช้าแจกกาแฟ ช่วงบ่ายแจกไอติม ตอนเย็นแจกน้ำแดง พวกเราลงขันกันแล้วขนของมาแจก”
“ผมเห็นคุณยายเต้นทุกเพลงเลย ทั้งๆ ที่อายุ 75 ปีแล้ว อะไรทำให้คุณยายยังคงสดใสเหมือนเด็กสาว”
“เคล็ดลับคือการฟังเสียงกลอง เต้นตามจังหวะกลอง บางคนเห็นฉันเต้นมาขอเต้นคู่ ฉันก็บอกไม่ได้หรอก เพราะคุณเต้นไม่เข้าจังหวะ การเต้นมันต้องฟังจังหวะกลอง อย่างเพลงนี้มัน ต๊ะ ทึง ทึง, ต๊ะ ทึง ทึง เชื่อไหมไม่ว่าเขาจะเปิดเพลงจังหวะไหนฉันก็เต้นได้หมด แทงโก วอลซ์ เวียนนีสวอลซ์ ร็อคแอนด์โรลล์ เต้นได้หมด อย่างที่บอก คุณต้องฟังเสียงกลองให้เป็น”
บ่ายคล้อยวันจันทร์เดือนมกราคม นักดนตรี 3 คนหอบหิ้วกระเป๋าและสัมภาระทางดนตรีเดินบนถนนดินสอ พวกเขาเพิ่งเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเตรียมตัวเล่นดนตรีบนเวทีในค่ำคืนนั้น ชื่อวงดนตรีของพวกเขาคือ ‘วงราษฎร’
“ที่นครศรีธรรมราช พวกเราเปิดร้านอาหารฝรั่ง เล่นดนตรีแนวเรกเก้และเพลงสากล สำหรับเวทีชุมนุม พวกเราจะเล่นเพลงที่เขียนกันเอง แต่ก็เล่นสไตล์เรกเก้ เนื้อเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง เช่น เพลงสภาประชาชน รัฐบาลหัวหมอ วันนี้ผมเตรียมเพลงใหม่มา ชื่อเพลง ลุงกำนัน
“เนื้อหาของเพลง ลุงกำนัน เกี่ยวกับอะไร”
“ผมว่าแกเป็นคนดี เสียสละ ต้องชื่นชมแก”
“คุณสามารถขึ้นเล่นดนตรีบนเวทีเดียวกับนักดนตรีที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากพวกคุณได้ไหม”
“ก็เคยรู้จัก อาจารย์วิสา คัญทัพ เราก็เคยเล่นดนตรีด้วยกัน อย่าง พี่ตู่ จตุพร (พรหมพันธุ์) ก็เคยร่วมสังฆกรรมกัน สำหรับดนตรี มันเป็นอีกภาษาหนึ่ง เรื่องอุดมการณ์ก็ว่ากันอีกที ต้องแยกกัน ความสนุกของการเล่นดนตรีคือการที่เราขับเคลื่อนตัวโน้ตออกมาจากความรู้สึก แต่ความเชื่อทางการเมืองมันห้ามกันไม่ได้ เขาชอบแบบโน้น เราชอบแบบนี้ ถ้าไปห้ามไปลากเขามาเชื่อแบบเรา มันจะต่อยกันเปล่าๆ ใช่มั้ย”
นักศึกษาแผนกช่างไฟฟ้าจากวิทยาลัยใกล้เมืองหลวงแห่งหนึ่ง กำลังเดินอยู่บนถนนพระราม 1 บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราจะอยู่เฉย และปล่อยให้พวกเธอเดินผ่าน
“เห็นด้วยไหมกับการที่นักเรียนนักศึกษามีสิทธิ์ที่จะแต่งกายอย่างไรก็ได้ไปเรียน”
“เห็นด้วยค่ะ เด็กควรมีสิทธิ์ แต่ก็ควรจะไม่มากจนเกินไป อย่างถ้ามาโรงเรียนแล้วใส่สั้นเสมอหู มันก็ไม่ไหว พี่เชื่อมั้ย เครื่องแบบมันทำให้เกิดการเหยียดกัน อย่างเด็กที่เรียนโรงเรียนที่อนุญาตให้ไว้ผมยาว พวกนี้จะมองเด็กที่ตัดผมเกรียนว่า ลาว เกรียน เสี่ยว หนูคิดว่าถ้าโรงเรียนอนุญาตให้ไว้ผมยาวมันจะทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนมากขึ้น”
บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มหญิงชราจับกลุ่มนั่งพักเหนื่อยอยู่ท้ายรถกระบะ พวกเธอเดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในบรรดา ‘แก๊งอาม่า’ บอกเราว่าพวกเธอไปเช้า-เย็นกลับ และมาให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุม
“อะไรคือสิ่งท้าทายและยากลำบากของการเป็นแม่”
“ฉันจะบอกให้นะว่าความยากลำบากของการเป็นแม่ คือ การสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี ซื่อสัตย์ รักชาติ รักพระมหากษัตริย์”
เธอเดินทางมาจากบางนา อุปกรณ์ในการร่วมชุมนุมของเธอห้อยเต็มตัวไปหมด มีลายเซ็นของบรรดาแกนนำม็อบบนข้าวของแต่ละชิ้น เธอบรรจงแปะเทปใสบนลายเซ็น เพื่อป้องกันรอยหมึกหลุดล่อนและจางหาย
“ลายเซ็นที่ฉันชอบที่สุดคือ ของ น้องตั๊น จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ตอนนี้ฉันกำลังล่าลายเซ็นของลุงกำนัน แต่หาตัวลุงกำนันยากมาก”
“ถ้าเจอ คุณจะพูดอะไรกับเขา”
“กำนันคะ สู้ให้สำเร็จนะคะ เตี้ย ดำ สวย เอาใจช่วยค่า”
“เมื่อลูกหลานเติบโตฉันอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น ฉันเองจะตายเมื่อไหร่ยังไม่รู้ ฉันไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับตัวเองแล้ว คิดเพียงว่าอยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่อยากให้มีการปฏิรูป ให้กฎหมายมันดี”
“วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ หากมีการเลือกตั้ง คุณจะไปไหม”
“ไป ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ฉันก็ไป แต่จะไปใช้สิทธิ์ในลักษณะไหน ก็ขอคิดดูก่อน”
ชายวัย 38 ผู้นี้มีรูปลักษณ์คล้าย เช เกวารา ขับรถคันนี้มาจากจังหวัดกระบี่โดยใช้เวลา 2 วัน รถยนต์ลักษณะนี้ถูกใช้เป็นรถประจำทางในจังหวัดกระบี่ นี่คือรถที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์การยังชีพ ท้ายรถมีอุปกรณ์การทำครัว เขาเดินทางมาร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน
“ที่กระบี่ ผมทำเครื่องหนังขายส่งขายปลีก ผมมาที่นี่ด้วยความรู้สึกอยากจะบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของผมเอง”
“แต่ประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนี้ ยากที่จะมีเรื่องเล่าเรื่องเรื่องเดียวที่ผู้คนต่างเห็นตรงกัน คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าคนรุ่นถัดไปจะยอมรับว่านี่คือประวัติศาสตร์”
“มันก็เป็นความคิดของแต่ละคน สำหรับผม ที่แห่งนี้มันน่าจะถูกต้อง เราวิเคราะห์แล้วว่าที่นี่น่าจะถูกต้อง”
“คุณจึงขับรถคันนี้จากกระบี่มากรุงเทพฯ?”
“ใช่ครับ เรามากันเรื่อยๆ นี่คือรถคันแรกของผมด้วย”
“คุณซื้อรถคันนี้มา เมียไม่บ่นเหรอ”
“ผมซื้อรถคันนี้ แต่เมียกับลูกไม่กล้านั่งด้วย ทุกวันนี้ก็เริ่มทำใจได้ เวลาเรานั่งไปกัน 3 คน แล้วไปติดไฟแดง ผู้คนจะยิ้มให้ ลูกกับเมียก็เขิน แต่สำหรับผมเราอย่าไปอายกับสิ่งที่เรามี ผมภูมิใจที่มีมัน และหวังว่าสักวันครอบครัวของผมจะรู้สึกเหมือนผม”
ด้วยเหตุผลที่ปรากฏบนใบหน้า นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สองคนนี้จึงถูกขอถ่ายรูปอยู่ตลอดเวลา พวกเธอนำหมวกมาวางขายบริเวณสยามพารากอน
“เห็นด้วยไหมกับการที่นักเรียนนักศึกษาสามารถใส่ชุดอะไรก็ได้ไปเรียน”
คนซ้าย “ไม่เห็นด้วย เพราะระเบียบแค่นี้คุณยังห้ามใจไม่ได้ โตขึ้นคุณจะควบคุมตัวเองยังไง คุณจะมีระเบียบวินัยในการทำงานได้อย่างไร”
คนขวา “มันเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมกันด้วย สมมุติถ้าปล่อยให้แต่งตัวยังไงก็ได้ คนที่มีฐานะไม่ดีก็จะรู้สึกด้อยกว่าคนที่มีฐานะดี”
“ผมอายุ 73 ปี มาจากชุมพร ผมมีสวนยางพารา แต่เกษียณจากงานแล้ว”
“อยู่บ้านคุณลุงก็แต่งตัวแบบนี้?”
“เปล่า แต่เรามาตรงนี้ เขาแต่งตัวแบบไหนเราก็แต่งตามเด็ก”
“ตอนอายุ 30 เป้าหมายชีวิตเป็นแบบไหน”
“พยายามจะหาโอกาสพัฒนาตัวเอง พยายามพาชีวิตเดินหน้าไปเรื่อยๆ เราเป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นคนจน เราช่วยตัวเองมาตลอด มุ่งหวังตั้งใจให้ชีวิตไปข้างหน้า พาครอบครัวไปข้างหน้า ณ วัยนั้นเราตั้งใจทำให้ดีที่สุด”
“แล้วเป้าหมายในวัย 73 คืออะไร”
“ตอนนี้ชีวิตก็ประสบความสำเร็จแล้ว ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่ 5 แล้วนะ เราถามตัวเองตลอดว่าสามารถช่วยเขายังไงได้บ้าง ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม คิดเท่านี้”
“รู้จักเฟซบุ๊คมั้ย”
“รู้จัก ลูกๆ หลานๆ มันก็เล่นกัน แต่ทำไม่เป็นหรอก”
“คุณมาวันนี้ด้วยเหตุผลเดียวกับที่เขียนบนป้ายหรือเปล่า”
“ไม่ได้หนี แต่ไม่ได้บอก ไม่เคยบอกเลย เขาไม่ได้ไม่สนับสนุน แต่ก็ไม่ได้ห้ามอะไร”
“อะไรคือสิ่งที่เราต้องประคับประคองในการใช้ชีวิตคู่”
“ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”
“ชีวิตคู่ได้พรากอะไรไปจากชีวิตคุณ”
“ความอิสระ ชีวิตคู่คือการแชร์ชีวิตของเรากับอีกคนหนึ่ง เราจะไปไหนต้องบอก จะกลับกี่โมง แต่ฉันไปไหนก็ไม่ได้บอกเขา แล้วเขาก็ไม่โทรตาม คุณต้องชัดเจนระหว่างเส้นแบ่งของความเฉยเมยกับการเปิดกว้าง อย่าให้ชีวิตคู่ข้ามเส้นมาในฝั่งของความเฉยเมยก็พอแล้ว”
“คุณยังโสดอยู่หรือ”
“ฉันมีลูกแล้ว แต่เลิกกับสามี”
เธอชี้ไปที่ลูกสาว ซึ่งถือป้ายในลักษณะเดียวกัน แต่เขียนว่า ‘โดดเรียนมาไล่นายกฯ’
“อะไรคือสิ่งที่ท้าทายและยากในการเป็นแม่”
“เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี วิธีการสอนแบบไหนที่ลูกจะฟังเราแล้วเขาทำตาม เขาพร้อมที่จะเปิดใจทำตามคำบอกคำสอนของเรา จะทำยังไงให้เขาไม่เติบโตขึ้นมาแล้วเป็นแบบ ‘อีปู’ ”
“ยากลำบากกว่าเดิมไหมที่คุณเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว”
“ยากมาก ฉันต้องเป็นทั้งพ่อ ฉันต้องเป็นทั้งแม่ เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งน้อง อย่าพูดสิ เดี๋ยวน้ำตามันไหลออกมานอกแว่น”
“คุณเชื่อในชีวิตคู่ไหม”
“ฉันคิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีคู่หรอก เพราะเราเกิดมาไม่ปกติ ฉันไม่เชื่อในชีวิตคู่ของเกย์นะ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาฉันเห็นคู่อื่นอยู่กันมา 15-16 ปี แล้วก็เลิกกัน เราก็เลยใช้วิธีทำให้ชีวิตมีความสุขด้วยการไม่มีคู่ มีความสุขกับครอบครัว กับเพื่อน ฉันคิดว่าความสุขไม่จำเป็นต้องมีคู่”
“ทำไมคุณจึงคิดว่าเกิดมาไม่ปกติ”
“ฉันคิดว่าเราต้องยอมรับในกฎพื้นฐานก่อนว่าโลกนี้มีหญิงกับชาย สำหรับฉันมันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราผิดแปลก ซึ่งมนุษย์ทุกคนกำลังเรียนรู้ไอ้ความผิดแปลกนี้อยู่ บางทีเราเข้าใจไปเองว่ามนุษย์คนอื่นเข้าใจเรา สังคมเปิดกว้างมากขึ้น โลกพร้อมจะยอมรับเรามากขึ้น แต่จริงๆ แล้วเราต้องยอมรับและหาวิธีอยู่ให้ได้ในภาวะที่เรามีความแตกต่างจากคนอื่น”
“พระที่ผมห้อยอยู่คือ สมเด็จวัดเกตุชโย”
“คุณมาจากไหน”
“ผมมาจากพิจิตร มาด้วยความที่ไม่พอใจรัฐบาล ลูกสาวกับลูกเขยไม่ยอมให้ผมมา เพราะกลัวผมไปด่ารัฐบาล…ก็แหม จำนำข้าวมา 3 เดือนยังไม่ได้เงินสักบาท แล้วให้เราทำยังไง นี่ผมหนีมานะนี่ จริงๆ ให้ตายห่าเถอะ…ลูกสาวกับลูกเขยต้องไปกู้เงินเขา”
“ลูกสาวไม่โทรตามหาคุณให้วุ่นแล้วหรือ”
“จะโทรตามได้ยังไง ในเมื่อผมทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน ส่วนโทรศัพท์เครื่องนี้ลูกชายซื้อให้ใหม่ ลูกชายผมทำงานที่ชลบุรี ลูกชายมันมาตามหาจนมาเจอผมที่นี่ มันเห็นผมในทีวี มันก็เลยขับรถจากชลบุรี แล้วมันก็พาผมกลับไปบ้านที่ชลบุรี พาผมไปเลี้ยงอาหารทะเล เลี้ยงที่ได้เจอพ่อ แล้วลูกชายก็ขับรถมาส่งที่นี่”
“จะกลับบ้านวันไหน”
“ยังครับ สู้มันอยู่ตรงนี้แหละ ผมสั่งเสียลูกสาวไว้แล้ว ถ้าผมตายไม่ต้องห่วงอะไร สั่งลูกไว้หมดแล้ว ที่นี่ไม่มีปืน มีแต่นกหวีดอย่างเดียว จะมีก็มีหลวงพ่อนี่แหละ ตีหัวมันได้”
“ผมมาจากแปดริ้ว มาตั้งแต่อยู่ราชดำเนิน ไปบุกช่อง 11 ไปมาหลายที่แล้วครับ คืนนี้จะนอนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะกลุ่มใหญ่อยู่ที่นั่น กลุ่มใหญ่จะปักหลักอยู่ที่ป้ายรถเมล์ พวกเรานัดกันสวมหมวกสีเขียว เพื่อไม่ให้หลงกัน เรามากันหลายคน เพื่อนบางคนก็ไม่เคยมา”
“ที่แปดริ้ว คุณทำอะไร”
“ผมทำกิจการส่วนตัว ทำเวดดิ้ง สตูดิโอ แต่ผมยังโสดนะ”
“อะไรคือข้อดีข้อเสียของชีวิตโสด”
“ข้อดีคือไม่ต้องรับผิดชอบ ข้อเสียคือเหงาเป็นบางวัน”
“คุณจัดการกับความเหงาอย่างไร”
“ก็ได้เพื่อนๆ พี่น้องคุยกัน ชีวิตของผมสนุกสนานครับ”
“คุณหวงแหนชีวิตโสดมั้ย”
“ไปเรื่อยๆ ครับ เนื้อคู่เกิดค่อยแต่ง”
เด็กหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาผู้นี้ กำลังเก็บแซ็กโซโฟนลงกระเป๋า เขาเดินทางมาเป่าแซ็กโซโฟนเปิดหมวก ที่กระเป๋ารับเงินบริจาคมีป้ายระบุข้อความ ‘ผมอยากเรียนมหิดล เรียนฟรีไม่มีจริงครับ’ ด้านล่างป้ายมี
ค่าหน่วยกิตกำกับไว้ด้วย เราจึงขอถ่ายรูปโดยให้เขาเป่าแซ็กโซโฟนโชว์สักเพลง จากนั้นผู้ร่วมชุมนุมซึ่งได้ชื่อว่าเป็นม็อบคนดีก็หลั่งไหลมาบริจาคเงินให้เด็กหนุ่มผู้นี้สมคำร่ำลือ
“ผมเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ ม.1 เป็นวงโยธวาทิต ความจริงแล้วผมอยากเรียนดนตรีแจ๊ส แต่แม่บอกว่าถ้าจะเรียนดนตรีควรเริ่มจากคลาสสิก ผมก็เลยอยากจะเข้าเรียนดนตรีคลาสสิก”
“คุณเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้นักเรียนมีเสรีภาพที่จะไว้ทรงผมอะไรก็ได้ไปโรงเรียนไหม”
“เรื่องทรงผม ผมเห็นด้วยครับ เพราะอาจารย์มักใช้เรื่องทรงผมตำหนิว่าเด็กคนนี้เกเรหรือเป็นเด็กดี ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องภายนอก มันต้องมองที่ความคิดมากกว่า”
“หน้าที่ของผมคือการดูแลรถเข้าออกภายในม็อบ คอยดูผู้คนที่เข้าออกภายในม็อบ เราจะแบ่งเป็นกะ อย่างวันนี้ผมจะออกจากกะประมาณ 6 โมงเช้า ผมเป็นคนนครศรีธรรมราช ที่บ้านผมกรีดยาง แต่มาที่นี่ด้วยอุดมคติ ตอนนี้ผมอายุ 50 ปีแล้ว”
“เรามีภาพเหมารวมว่าคนใต้เป็นคนดุ จริงมั้ย”
“ไม่จริง คนใต้ใจดี แต่อย่าให้โกรธอย่าให้เจ็บ เพราะจะจำ แล้วก็จะไม่ลืม อย่าทำให้เจ็บ คนใต้ใจดีไม่ใจดำ แต่อย่าทำให้ช้ำอย่าทำให้เจ็บ 20 ปีก็ยังแค้นอยู่นะ แต่ถ้าคุณถูกต้อง…เรายอมรับ”
“การชุมนุมทางการเมืองพร้อมเสมอที่จะเกิดความรุนแรง คุณเป็นเหมือนด่านหน้าที่จะเจอสิ่งเหล่านี้ ไม่กลัวหรือ”
“เราทำสิ่งที่ดี ไม่ได้ทำความชั่ว เราเกิดมาตายทุกคน แต่จะตายให้มีเกียรติหรือไม่มีเกียรติ จะตายให้มีศักดิ์ศรีหรือไม่มีศักดิ์ศรี การกระทำในวันนี้จะอยู่ในความทรงจำลูกหลานในอนาคต เขาจะพูดถึงเราว่าอย่างไร เราจึงเลือกที่จะทำตามอุดมคติของเรา”
“ปีนี้อายุ 55 ฉันมาจากพระราม 2 มีลูก 3 คน”
“อะไรคือสิ่งยากของการเป็นแม่”
“เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์ อย่าคดโกง อย่าเนรคุณแผ่นดิน แค่นี้ค่ะ”
“เป้าหมายชีวิตของคุณในวัย 55 คืออะไร”
“บอกตรงๆ นะ ฉันน่ะรักพระเจ้าอยู่หัวมาก ยอมตายแทนท่านได้ ไม่อยากให้ใครมาเหยียบย่ำ ไม่อยากให้ใครมาด่า จำไว้นะ…ชีวิตของฉันคือสิ่งนี้”
ชายชราวัย 84 ขับรถตู้เพียงลำพังมาจากสุรินทร์เพื่อสมทบกับพี่สาววัย 87 เราพบรถตู้คันนี้จอดอยู่กลางห้าแยกลาดพร้าว ภายในรถมีเขาและพี่สาววัย 87 นั่งอยู่
“ผมเคยเป็นทหารผ่านศึกที่ประเทศเกาหลี ตอนที่ผมไปคือปี 2493 ทหารชุดแรกตายไป 40 กว่าคน ผมเป็นรุ่น 2 ไปเกาหลีเพื่อทดแทนทหารชุดแรก ตอนนั้นผมเป็นทหารเกณฑ์ อายุ 21 เขาถามว่าใครอยากไปเกาหลี ผมก็ยกมือ เขาก็ให้ไป รุ่นผมไม่มีการฝึก ไปฝึกที่เกาหลีเลย ตอนนั้น เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น ผบ.ทบ.”
“สำหรับการเดินทางไปประเทศเกาหลีในปี 2493 อะไรที่ยังอยู่ในความทรงจำตราบวันนี้”
“ผมอยู่ในแนวรบ 3 เดือน แล้วย้ายมาที่กรุงโซล เป็นทหารติดต่อ ผมทำหน้าที่ขับรถ ตอนนั้นผมคบกับผู้หญิงเกาหลีคนหนึ่ง คบกัน 7-8 เดือน หลังจากนั้นผมกลับเมืองไทย สมัยนั้นการติดต่อสื่อสารมันลำบาก ผมเขียนเกาหลีไม่ได้ เขาพูดอังกฤษไม่เป็น เขียนจดหมายก็ไม่มีล่าม ก็ขาดการติดต่อกันไป จนถึงปี 2544 ผมไปเป็นทูตสันติภาพที่เกาหลี สิ่งหนึ่งที่ผมทำในปี 2544 คือตามหาเธอ แต่ไม่เจอ”
“เธอชื่อว่าอะไรครับ”
“จูดี้ ผมเรียกเธอว่าจูดี้”
“ทุกวันนี้ยังคิดถึงเธอไหม”
“มันก็นานแล้วนะ เกือบ 60 ปีแล้ว แต่ก็ธรรมดาในหัวใจของคนที่เคยมีความสัมพันธ์กัน มันก็มีความคิดถึงกันอยู่”
* หากจูดี้ได้อ่าน กรุณาหาทางติดต่อลุง พเยาว์ เกิดโภค
“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้”
—
Photo อนุช ยนตมุติ
Assistant Photographer สุภัทร อ่อนราษฎร์
Text วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์