ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: เผชิญการอดอาหารประท้วงด้วยความเมตตาและเอื้ออาทร

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การอดอาหารประท้วงเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ทรงอานุภาพอย่างหนึ่ง บางสังคมเห็นการอดอาหารประท้วงเป็นการกระทําที่แปลกประหลาด หรือออกจะไร้สาระ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ทรงอํานาจของประเทศหลายท่านได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการเช่นนี้ โดยมักเห็นกันไปว่าเป็นการกระทําอย่างเด็กๆ ไม่ใช้สติปัญญา ส่วนใหญ่เห็นว่าทําเช่นนี้ไม่ใช่แนวทางสันติ

บทความนี้เป็นการพยายามทําความเข้าใจการอดอาหารประท้วงในฐานะแนวปฏิบัติทางการเมือง โดยจะเริ่มต้นจากการจัดประเภทการอดอาหารประท้วงที่สําคัญ ต่อด้วยการพิเคราะห์เงื่อนไขของการอดอาหารประท้วงตามคติอหิงสาของมหาตมะคานธี รวมทั้งการอดอาหารประท้วงในประวัติศาสตร์ และสุดท้ายเป็นเรื่องของสังคมไทยในเวลาที่เผชิญกับการอดอาหารประท้วง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ทวิภาพการอดอาหารประท้วง

การอดอาหารกับการไม่มีจะกินแตกต่างกันอย่างสําคัญ อย่างแรกอาจเกิดจากความสมัครใจเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง แต่อย่างหลังมักไม่ได้เจตนา

บางศาสนาส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาอดอาหารโดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการละวางตัวตนได้แบบหนึ่ง ในเดือนที่ 9 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปีที่ชาวมุสลิมเรียกว่าเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมทั่วโลกจะพร้อมใจกันอดอาหารตั้งแต่ตะวันขึ้นจนตะวันตก ตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นการลดกิเลสในกายและใจได้วิธีหนึ่ง แม้สงฆ์ในพุทธศาสนาเองก็ไม่ฉันอะไรหลังเวลาเพลเพื่อจําเริญแนวทางดํารงชีวิตอย่างสํารวม คือ ไม่บริโภคจนเกินจําเป็น

แต่การอดอาหารประท้วงเป็นการอดอาหารจําเพาะประเภทที่มุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาวะทางสังคมชนิดที่ไม่พึงประสงค์บางประการ คําว่า “อดอาหารประท้วง” แปลมาจากคําภาษาอังกฤษที่ต่างกันสองคํา คือ คําว่า “Hunger Strike” กับคําว่า “Fasting”

คําแรกนั้นอาจตรงกับคํา “อดอาหารประท้วง” ยิ่งกว่าคําหลังที่น่าจะแฝงกังวานทางศาสนา ดังนั้นน่าจะตรงกับคํา “ถือศีลอดอาหารประท้วง”

คําแรกมีลักษณะของการอดอาหารประท้วงแกมบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในขณะที่คําหลังออกจะเป็นการประท้วงที่มุ่งเปลี่ยนทรรศนะของฝ่ายตรงข้าม แล้วจึงค่อยอาศัยทรรศนะที่เปลี่ยนแปลงนั้นมาแปรรูปพฤติกรรมในภายหลัง

ตรงนี้เห็นจะต้องอธิบายให้ชัด

มาตรการบางประเภทนั้นเป็นไปเพื่อบังคับให้พฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนแปลงไปโดยตรง ทั้งนี้โดยไม่ใส่ใจว่าเขาจะปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือไม่ เช่น เมื่อคนงานนัดหยุดงานประท้วงนายจ้างเพื่อให้เพิ่มค่าจ้างนั้น เป้าหมายอยู่ที่การให้นายจ้างขึ้นค่าจ้างคงมีน้อยคนที่หวังว่าจะเปลี่ยนทรรศนะเรื่องการจ้างงานของนายจ้างให้แปรจากการเป็นคนเห็นแก่เงินและประโยชน์ส่วนตน มากลายเป็นคนมีเมตตาต่อคนงานได้

แต่ขณะเดียวกัน หากลูกรักร้องไห้เสียใจที่ไม่ได้เสื้อนักเรียน ตัวใหม่เมื่อเปิดภาคเรียน ผู้เป็นพ่ออาจสงสารลูกจนเปลี่ยนใจจากที่เก็บเงินไว้ทําการอย่างอื่นมาเป็นซื้อเสื้อให้ลูกได้ ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่า น้ำตาลูกทําให้พ่อเปลี่ยนใจจนยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ลักษณะเช่นนี้พ้องกับ Fasting ในคติของท่านคานธียิ่งนัก

การถือศีลอดอาหารประท้วงตามคติอหิงสาของคานธี

มหาตมะคานธี ผู้เป็นรัฐบุรุษนักต่อสู้ด้วยสันติวิธี กล่าวว่า “การอดอาหารประท้วงจนตัวตายนั้นเป็นส่วนสําคัญยิ่งของ สัตยาเคราะห์ (คือการต่อสู้ด้วยพลังแห่งสัจจะในแนวทางอหิงสาของคานธี) การอดอาหารเช่นนี้เป็นอาวุธทางสันติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและทรงประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง (เพราะ) ผู้ปฏิบัติอาจยอมทนทุกข์ทรมานได้อย่างไร้ขอบเขต ทั้งนี้โดยไม่ก่อให้เกิดเภทภัยทางวัตถุและทางกายต่อผู้กระทําผิด (ที่เรากําลังต่อสู้ด้วย) แต่อย่างใด

(เมื่อ) เป้าหมายของอหิงสาก็คือการมุ่งนําเอาส่วนที่ดีที่สุดในตัวของผู้กระทําผิดออกมา การยอมทนทุกข์ (จึงนับ) เป็นการอาศัยธรรมชาติส่วนที่ดีของเขา ในขณะที่การใช้ความรุนแรงโต้ตอบเป็นการมุ่งเข้าหาธรรมชาติส่วนที่ต่ำช้าในตัวเขา2

คานธีเห็นว่าไม่ใช่ใครก็ได้จะมีคุณสมบัติในการถือศีลอดอาหารประท้วง จึงเสนอเงื่อนไขหลายประการดังนี้

“ประการแรก! คนที่กระทําผิดต้องมีความรักต่อผู้อดอาหารประท้วง และผู้อดต้องรักฝ่ายที่ตนจะประท้วงด้วย หากผู้กระทําผิดไม่ทราบเรื่องนี้ หรือมีทรรศนะไม่แยแสต่อผู้อดแล้ว การประท้วงก็ไม่มีผลใดๆ

“ประการที่สอง! ผู้อดอาหารประท้วงจะต้องอยู่ในฝ่ายที่ถูกกระทํา และถูกกระทบกระเทือนจากความอยุติธรรมด้วย

“ประการที่สาม! ผู้อดอาหารประท้วงต้องปลอดจากการกระทําผิดชนิดที่ตนตั้งใจประท้วงอยู่

“ประการที่สี่! ผู้อดอาหารประท้วงต้องเป็นบุคคลบริสุทธิ์สะอาด และฝ่ายที่กระทําผิดต้องเห็นเช่นนั้นด้วย

“ประการที่ห้า! ผู้อดอาหารประท้วงต้องไม่กระทําไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนใดๆ

“ประการที่หก! ผู้อดอาหารประท้วงต้องปราศจากความโกรธในตน มีเฉพาะเมตตาธรรมในการประท้วง

“ประการที่เจ็ด! การกระทําผิดที่เกิดขึ้นต้องเป็นกรณีที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าผิด เป็นอันตรายในทางจิตวิญญาณ และผู้กระทําผิดต้องตระหนักในความผิดของตนด้วย”3

มหาตมะคานธี
(A2FP81 Rare studio photograph of Mahatma Gandhi taken in London England UK at the request of Lord Irwin 1931)

ถ้าเช่นนี้ เมื่อใดจึงควรถือศีลอดอาหารประท้วง?

เรื่องนี้ท่านคานธีอธิบายว่า “การถือศีลอดอาหารประท้วงเป็นอาวุธขั้นสุดท้ายในกองกําลังของฝ่ายอหิงสา…การอดอาหารประท้วงเป็นการกระทําทางจิตวิญญาณมุ่งเข้าหาพระเป็นเจ้า (ซึ่งในทรรศนะของ คานธี คือ สัจจะ) ผลของการกระทําเช่นนี้ต่อชีวิตผู้อื่นก็คือเมื่อคนที่อดอาหารเป็นที่รู้จักของผู้คน มโนธรรมสํานึกที่หลับใหลอยู่ของพวกเขาก็จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้น”4

แม้คานธีจะถือว่าการถือศีลอดอาหารประท้วงเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพและเป็นขั้นตอนสุดท้ายของแนวทางอหิงสา แต่ท่านเชื่อว่าวิธีการนี้มีข้อจํากัดอยู่เพราะ “การอดอาหารประท้วงจะใช้การได้เฉพาะกับคนที่รักคุณเท่านั้น และไม่ใช่กระทําเพื่อเรียกร้องทวงเอาสิทธิใดๆ แต่เพื่อปฏิรูปตัวเขา เช่นเมื่อผู้เป็นบุตรอดอาหารประท้วงบิดาขี้เหล้า การอดอาหารประท้วงของฉัน (ที่บอมเบย์และบาร์โดลี) เป็นเช่นนั้น คือ อดอาหารประท้วงเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงคนที่เขารักฉัน แต่ฉันจะไม่อดอาหารประท้วงเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงคนอย่างนายพลไดเออร์ (ผู้ออกคําสั่งสังหารหมู่ชาวซิกข์กว่า 300 คนที่มาประชุมกันด้วยสันติ ณ เมืองอมฤตสาร เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1919) เพราะไม่เพียงเขาจะไม่รักฉันเท่านั้น หากยังถือตนเป็นศัตรูของฉันอีกด้วย5

นอกจากนั้นคานธียังถือว่าการอดอาหารประท้วงบางอย่างเป็น “การถือศีลอดอาหาร” ชนิดฉ้อฉล ท่านยกตัวอย่างว่า เคยมีคนขู่ว่า จะอดอาหารหากท่านไม่มอบรูปภาพของท่านให้เขา หรือไม่ไปเยี่ยมหมู่บ้านของเขา หรือไม่จัดสรรเงินให้เขา 5,000 รูปีเพื่อไปดําเนินกิจการสร้างสรรค์สังคมต่างๆ คานธีกล่าวว่า “ฉันไม่กังขาเลยว่ากรณีเหล่านี้เป็นการฉ้อฉล (abuse) ในเรื่องการถือศีลอดอาหารประท้วง ทําไมฉันจึงต้องให้รูปภาพของฉันไปเยี่ยมหมู่บ้าน หรือหาเงินให้ภายใต้การขู่ว่าจะถือศีลอดอาหารประท้วง ผู้ที่เผชิญกับการถือศีลอดอาหารประท้วงควร ต้องมีพันธะในทางศีลธรรมอยู่ด้วย”6

ประวัติศาสตร์การอดอาหารประท้วง

คานธีมิใช่ผู้เดียวที่อาศัยการอดอาหารเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาส่วนรวม ประวัติศาสตร์ของการถือศีลอดอาหารประท้วงย้อนกลับไปถึงสมัยก่อนคริสตกาล เพราะในพระคัมภีร์ไบเบิลในส่วนพันธสัญญาเก่า (Old Testament) กล่าวถึงเรื่องราวการถือศีลอดอาหารประท้วงไว้ใน ตอนที่ว่าด้วยเรื่องของศาสดา “โยนาห์” (JONAH) (หรือที่ชาวมุสลิมเรียกกันในภาษาอาหรับว่า ศาสดายูนุส)

ผู้ได้รับบัญชาจากพระผู้สร้างให้ไปเตือนชาวเมืองนิเนเวห์ว่า พระเป็นเจ้ากําลังจะทําลายเมืองนั้นเพราะ ชาวเมืองได้สร้างบาปหยาบช้าไว้มากเหลือประมาณ เมื่อศาสดาโยนาห์ไปถึงเมืองและเริ่มสั่งสอนธรรมะ ชาวเมืองก็พากันเสียใจในความผิดบาปของตน ศาสดาโยนาห์ประกาศว่าภายใน 40 วันพระเป็นเจ้าจะทําลายเมืองนี้เสีย เมื่อชาวเมืองเชื่อคําของท่านศาสดา และทุกคนในเมืองไม่เว้นแม้พระราชาได้ประกาศถือศีลอดอาหาร หันมาสวมอาภรณ์ที่ทําจากผ้าเนื้อหยาบ พระราชาเองก็ลงจากบัลลังก์และนั่งอยู่บนกองขี้เถ้า พระองค์ประกาศไปทั่วแว่นแคว้นว่า ห้ามทุกคนรวมทั้งสัตว์ต่างๆ กินและดื่มใดๆ จะต้องสวมเสื้อทอจากกระสอบและคร่ำครวญต่อพระเป็นเจ้า อีกทั้งให้ทุกคนละเลิกแนวทางชั่วร้าย หยุดความรุนแรง และการลักขโมยให้สิ้น โดยหวังความเมตตาของพระเป็นเจ้า ที่สุด พระเป็นเจ้าก็ทรงเมตตาและเมืองนิเนเวห์ก็รอดจากภัยพิบัติ

เรื่องของโยนาห์นี้ แม้มหาตมะคานธีเองก็เคยอ้างถึงเมื่อตอบจดหมายเพื่อนชาวอังกฤษของตนคือ ซี.เอฟ.แอนดรูส์ (C.F.Andrews) ใน Harjan วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1933

ในสมัยกลางวัฒนธรรมอินเดียมีประเพณี “ทุรนา” หรือ “นั่งทุรนา” เป็นการอดอาหารประท้วงที่ประหลาด คือ เจ้าหนี้อดอาหารประท้วง ลูกหนี้ เมื่อทวงเงินแล้วไม่ได้คืนเจ้าหนี้จะไปนั่งหน้าบ้านของลูกหนี้ไม่ยอมย้ายที่ประท้วง อีกทั้งไม่ยอมกินอาหารใดจนกว่าลูกหนี้จะยอมชําระหนี้เต็มตามจํานวน เวลานั้นผู้คนก็จะมามุงดูกันจนลูกหนี้ทนอับอายไม่ได้ ต้องชําระหนี้ในที่สุด7

ในไอร์แลนด์โบราณ ก็ถือเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายจะต้องลงโทษคนผิดด้วยตนเองเมื่อกระทําการอย่างอื่นไม่ได้ผล ถ้าเรียกร้องค่าทดแทนอย่างโค หรือแพะแกะไม่ได้ ผู้เสียหายก็อดอาหารประท้วงผู้ที่ละเมิดสิทธิของตนได้ กระบวนการนี้เรียกกันว่า Troscad มักใช้กันเมื่อลูกหนี้มีศักดิ์เหนือกว่าเจ้าหนี้ ในวันที่กําหนดไว้เจ้าหนี้จะไปนั่งที่หน้าประตูบ้านของลูกหนี้และอดอาหารประท้วง ถ้าลูกหนี้ตกลงยอมชําระหนี้ แต่เจ้าหนี้อดต่อไป จะต้องถือว่าเจ้าหนี้จงใจยกเลิกหนี้สินที่มีอยู่ทั้งสิ้น บางครั้งเมื่อ เจ้าหนี้อดอาหารประท้วง ลูกหนี้ต้องอดตามไปด้วย8

นอกจากนี้ยังมีกรณีการอดอาหารของบุคคลสําคัญในประวัติศาสตร์อีกหลายท่าน เช่น โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson, ค.ศ. 1743-1826) ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา ก็เคยร่วมกับ นักการเมืองหนุ่มๆ ในสภาเวอร์จิเนียต่อสู้กับการที่อังกฤษออกพระราชบัญญัติปิดท่าเรือเมืองบอสตันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1774 ด้วยการประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันแห่งการ “อดอาหาร อ่อนน้อมถ่อมตน และสวดภาวนา” และเรียกร้องให้ชาวอาณานิคมใน “ทวีปใหม่” พร้อมใจกันอดอาหารประท้วงอังกฤษเป็นเวลา 1 วันด้วย สองวันหลังจากนั้นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียก็ประกาศยุบสภา เพื่อป้องกันมิให้สภาของรัฐทําการอันเป็นอริกับอังกฤษต่อไปได้อีก

โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson, ค.ศ. 1743-1826)

เกือบหนึ่งศตวรรษหลังจากเหตุการณ์นี้ นักปฏิวัติหนุ่มน้อยชาวรัสเซีย ลีออน ทร็อตสกี้ (Leon Trotsky, ค.ศ. 1879-1940) กับเพื่อนถูกคุมขังอยู่ในคุกของพระเจ้าซาร์ รัฐบาลประกาศให้ผู้ปกครองมารับคนหนุ่มไฟแรงพวกนี้กลับบ้าน แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ปกครองต้องนําเด็กหนุ่มพวกนี้ไปลงโทษเอง และต้องห้ามมิให้ลูกหลานของตนไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองอื่นใดอีก ทร็อตสกี้โกรธด้วยเห็นว่าเงื่อนไขชนิดนี้

เป็น “การดูหมิ่นเกียรติยศของนักปฏิวัติรุ่นเยาว์” จึงชักชวนเพื่อนนักโทษการเมืองให้อดอาหารประท้วงข้อเสนอของรัฐบาลดังกล่าว เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 18989

หรือในซิซิลีในศตวรรษนี้ ราวปี ค.ศ. 1962 ดานีโล โดลซี่ (Darnilo Dolci) ปัญญาชนคนสําคัญชาวอิตาลี ต่อสู้กับวัฒนธรรมการยอมรับอํานาจของพวกมาเฟียด้วยการอดอาหารประท้วงชาวซิซิลีทั้งมวลเป็นเวลา 7 วัน เพราะชาวบ้านกลัวอํานาจป่าเถื่อนของพวกมาเฟียจึงไม่ยอมไปเป็นพยานให้กับตํารวจ เชื่อกันว่าผลจากการอดอาหารประท้วงของโดลที่ทําให้ชาวซิซิลีเปลี่ยนแปลงทัศนคติกล้าหันมาสนับสนุนตํารวจต่อสู้กับพวกมาเฟียไม่น้อย10

กรณีต่างๆ เหล่านี้คงทําให้พอสรุปได้ว่า การอดอาหารประท้วงมีหลากรูปหลายลักษณ์ และดํารงอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น มหาตมะคานธีก็มิใช่จุดเริ่มต้นของการอดอาหารประท้วง เพราะการกระทําเช่นนี้มีมานานนักแล้ว แต่เป็นผู้ที่ศึกษา พิเคราะห์ และทดลองการถือศีลอดอาหารประท้วงไว้อย่างรอบด้านที่สุดคนหนึ่ง

แม้การอดอาหารประท้วงบางกรณี มิใช่ การถือศีลอดอาหารประท้วงตามแนวทางของคานธีในกรอบของอหิงสา แต่ก็ต้องนับว่าเป็นวิธีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างหนึ่ง

สังคมกับการอดอาหารประท้วง

เมื่อเกิดการอดอาหารประท้วงขึ้นในสังคม คงมีคนตั้งข้อสังเกตนานา ที่มักได้ยินกันคือ การอดอาหารประท้วงเป็นสิทธิส่วนบุคคลและรัฐมีอํานาจในการยับยั้งการใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ ถ้ากล่าวจากมุมของรัฐ บางเรื่องแม้เป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่รัฐก็เข้ามาควบคุม เช่น กฎหมายสวมหมวกกันน็อกสําหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของไทย หรือกฎหมายคาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

การอดอาหารประท้วงในทางการเมืองของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร11 มิใช่การกระทําส่วนตัวด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการคือ ประการแรก ผู้อดอาหารประท้วงประกาศเจตนารมณ์แจ่มชัดว่า เป็นเรื่องหลักการอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมระยะยาว ประการที่สอง ในยุคแห่งคลื่นลูกที่สามที่ลมหายใจของข่าวสารบ้านเมืองอาบรดสังคมอยู่อย่างถี่ยิบนี้ การอดอาหารประท้วงเป็นข่าวที่ถูกผลิตผ่านสื่อมวลชนไปยังผู้คนทั่วไปในสังคม และประการที่สาม ผลจากเจตนาแน่วแน่ของผู้อดอาหารประท้วงและการกระจายความรับรู้ผ่านสื่อมวลชนทําให้การอดอาหารประท้วงอาจส่งผลสะเทือนต่อสังคมได้

ปัญหาที่น่าสนใจอาจไม่ใช่ว่ารัฐ มี หรือ ไม่มีสิทธิ์ จะทําอย่างไรกับผู้อดอาหารประท้วง แต่อาจคือคําถามว่า รัฐควรจะทําอย่างไรกับผู้อดอาหารประท้วง และสังคมไทยเองควรเผชิญหน้ากับการอดอาหารประท้วงอย่างไร

ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อผู้อดอาหารประท้วงน่าจะแบ่งได้เป็นสามพวก พวกแรกคงเป็นพวกที่ดูหมิ่นดูแคลนผู้อดอาหารประท้วง และแสดงอาการสาแก่ใจหากผู้อดอาหารประท้วงจะสิ้นชีวิตไปเสียได้ พวกที่สองเป็นพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารประท้วงในครั้งนี้ แต่ก็ออกจะเห็นใจเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร อยู่ในที ส่วนพวกที่สามคือพวกที่ เห็นว่าการเสียสละชีวิตเพื่อหลักการเช่นนี้ชอบแล้ว พวกนี้เห็นดีด้วยกับการใช้การอดอาหารประท้วงจนตัวตายว่าเป็นวิธีการให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์

พวกแรกคงไม่ใช่ฝ่ายข้างมากในสังคมไทย และควรได้รับความสมเพช ค่าที่ไม่เห็นความสําคัญของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง และเสียดสีดูแคลนคนซึ่งยอมพลีชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของตน อาจเพราะไม่คุ้นหรือไม่มีความสามารถเข้าใจคนที่ยอมอดอาหารประท้วงเช่นนี้ได้

พวกที่สองเป็นผู้คนที่แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายในการอดอาหาร ไม่ว่าจะเพราะไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของผู้อดอาหาร หรือเพราะคิดว่าการต่อสู้ในลักษณ์นี้ในขณะนี้จะไม่เป็นมรรคเป็นผลแต่อย่างใด แต่ก็มีความเอื้ออาทรต่อชีวิตคนอดอาหารประท้วง และนับถือน้ําใจของคนกล้าผู้ยอมเอาชีวิตของตัวเองเข้าแลกกับสิ่งที่ตนเชื่อถือ

พวกที่สามเป็นพวกที่ชื่นชมยกย่องการเอาชีวิตของผู้อดอาหารประท้วงเข้าแลกกับอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองและเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทํา สําหรับคนพวกนี้คงต้องถือว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งสําคัญที่สุด เพราะมีนามธรรมบางสิ่งยิ่งใหญ่กว่า

การอดอาหารประท้วงโดยเอาชีวิตเข้าแลกเช่นนี้ แม้จะเป็นการต่อสู้แนวไม่ใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง และเป็นสิทธิของปัจเจกชนที่จะเลือกใช้วิธีการนี้ แต่สังคมไทยโดยรวมควรจะมีท่าทีต่อการสละชีวิตในลักษณ์นี้อย่างไร เป็นปัญหาที่ต้องตริตรอง

ดูเหมือนโลกนี้จะบาดเจ็บรวดร้าวจากการยอมใช้ชีวิตมนุษย์เป็นบรรณาการแก่นามธรรมบางอย่างหรือคําสัญญาในอนาคตโดยไม่ผ่านการตริตรองรอบคอบมามากเกินไปแล้ว

สําหรับสังคมไทย แนวทางเผชิญกับการอดอาหารประท้วงควรเป็นไปในลักษณะที่ให้ความสําคัญกับชีวิตมนุษย์ เต็มไปด้วยเมตตาและความเอื้ออาทร ความใส่ใจต่อชีวิตของคุณฉลาดที่ผู้คนในสังคมไทยไม่น้อยแสดงออกในขณะนั้น เหมือนจะเป็นน้ําใจเย็นที่มีคุณค่าและสะท้อนคุณลักษณ์ด้านมนุษยธรรมของสังคมไทยได้ตามสมควร

อ้างอิง

[1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (กรุงเทพฯ: Protestista, 2557).
[2] Harijan, July 26, 1942.
[3] M.K. Gandhi, Ashram Observances in Action, trans. by Valji Govindi Desai (Ahmedabad: Navajivan Publishing, 1959), chapter 1, pp. 13-22.
[4] Harijan, December24, 1942.
[5] Young India, May 1, 1924.
[6] Harjan, December 22, 1933.
[7] Krishnalal Jethalal Shridharani, War Without Violence (New York: Harcourt, Brace and Company, 1939), pp. 19-20
[8] P.W. Joyce, A Social History of Ancient Ireland (London, Bombay, New York: Longmans, Green, and company, 1903), pp. 204-205.
[9] Isaac Deutscher, The Prophet Armed Trotsky, 1879-1921 (London: Oxford University Press, 1963), pp. 40-41.
[10] Peace News, February 4, 1966.
[11] 8 เม.ย. 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ประกาศอดอาหารประท้วงการสืบทอดอํานาจของ รสช. หน้ารัฐสภาจนกว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร จะลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจทางวิชาการด้านทฤษฎีการเมืองว่าด้วยสังคมและการเมือง ความรุนแรงและสันติวิธีในการเมือง และปรัชญาการเมือง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า