I Care a Lot: วิธีรวยเร็วในสังคมสูงอายุ คือการฮุบทรัพย์สินคนแก่อย่างถูกกฎหมาย

สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society เป็นปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หากทำความเข้าใจผ่านรูปเรขาคณิต สัดส่วนประชากรในสังคมผู้สูงอายุจะอยู่ในรูปทรงพีระมิดหัวกลับ กล่าวคือ มีคนแก่ซึ่งเป็นประชากรส่วนมากที่สุด ดำรงอยู่บนยอดที่ถ่างกว้าง ขณะที่ฐานแคบๆ ซึ่งคอยรองรับยอดที่ถ่างกว้างนั้นคือ คนหนุ่มสาว 

แน่นอนว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมาคือ ประชากรหนุ่มสาวที่ต้องแบกคนแก่จำเป็นต้องมีผลิตภาพ (productivity) ที่เกินไปกว่าความสามารถตนเองหลายช่วงตัว เพื่อเลี้ยงดูคนแก่ที่หมดแรงพลังในการทำมาหากิน ส่วนผู้สูงอายุที่พอมีกำลังในชีวิตเหลืออยู่บ้างก็อาจจะต้องเลื่อนแผนการเกษียณให้ไกลออกไปและออกมาทำงานหารายได้ในฐานะแรงงานสูงอายุไปก่อน ปรากฏการณ์แรงงานสูงอายุนี้เป็นสิ่งที่พบได้ในหลายๆ ประเทศ

แต่ปัญหาของสังคมผู้สูงอายุยังไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เพราะหากพิจารณาผ่านคำสอนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ‘ทรัพยากร’ เป็นสิ่งที่มีจำกัด เมื่อทรัพยากรมีอย่างจำกัดก็หมายความว่า การที่คนหนุ่มสาวจะสะสมหรือผลิตอะไรขึ้นมาใหม่ในปริมาณมหาศาล ย่อมเป็นสิ่งที่ยากลำบาก และจะยากยิ่งขึ้นไปอีกหากคนแก่คือกลุ่มที่กำลังกอดทรัพย์สินและอำนาจไว้ไม่ยอมปล่อย ในแง่นี้การที่คนรุ่นใหม่หรือคนที่เด็กกว่าจะสร้างหรือสะสมทรัพยากรได้เร็วที่สุด จึงต้องทำผ่านการหากินกับคนแก่เพื่อแย่งชิงทรัพย์สินและอำนาจที่บรรดาคนแก่ครอบครอง

นั่นคือประเด็นสำคัญที่ปรากฏเห็นชัดจากหนังเรื่อง I Care a Lot ของ เจ เบลกสัน (J Blakeson)

สัตว์เศรษฐกิจในสังคมเสรีนิยมใหม่

I Care a Lot ว่าด้วยเรื่องของ มาร์ลา เกรย์สัน (Marla Grayson) รับบทโดย โรซามุนด์ ไพก์ (Rosamund Pike) หญิงผู้ทำมาหากินด้วยการเป็นผู้ดูแล (guardian) คนแก่ โดยอุดมคติแล้วอาชีพของเธอคือการบริหารจัดการชีวิตและทรัพย์สินของคนแก่ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ การใส่ใจดูแล (care) คือหัวใจสำคัญในอาชีพของเธอ

แต่ก็เป็นธรรมดาที่โลกความเป็นจริงจะไม่เป็นไปตามอุดมคติ เกรย์สันในฐานะผู้ที่ควรจะพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้การดูแล กลับทำมาหากินด้วยการฉกผลประโยชน์ทุกอย่างของผู้อยู่ใต้การดูแล (นับร้อยราย) ไปเป็นของตนทั้งหมด

อาชีพของเกรย์สันต่างจากพวกทนายที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เล่นกลกับกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ตัวเองอย่างไร้ยางอาย เพราะอาชีพของเธอมีภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาด และถูกมองว่าขับเคลื่อนด้วยเจตนาบริสุทธิ์ 

ภาพลักษณ์ดังกล่าวถูกยืนยันผ่านความเชื่อของผู้พิพากษาผิวดำแห่งศาลครอบครัว ผู้คอยทำหน้าที่ออกคำสั่งศาลให้เธอเป็นผู้ดูแลคนแก่ผู้ไร้ความสามารถในการดูแลตัวเองได้อย่างชอบธรรม ‘เป็นที่ยกย่องในฐานะผู้ดูแลมืออาชีพ’ (well respect professional guardian) คือคำที่ผู้พิพากษาใช้บรรยายตัวเกรย์สัน เมื่อครั้งที่มีผู้กล่าวหาในชั้นศาลว่า แท้จริงแล้วเธอเป็นพวกนักต้มตุ๋น 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมุมกลับ การให้เหตุผลของศาลส่อชัดถึงแนวโน้มที่คนรุ่นลูก-หลานไม่มีทรัพย์สิน ทำให้คำอธิบายที่บอกว่าจำเป็นต้องมีการปกป้องทรัพย์สินจากทายาทหน้าเงินเป็นสิ่งที่ฟังขึ้น ทั้งตัวเกรย์สันและคู่ความผู้กล่าวหาต่างเป็นคนหนุ่มสาวที่ยืนบนฐานเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงในปัจจุบัน

เส้นทางอาชีพของเกรย์สันดูจะดำเนินไปด้วยดี เธอมีอำนาจที่จะชี้ได้ว่าใครเป็นคนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สิน เธอไม่เพียงได้รับแรงสนับสนุนจากศาลเท่านั้น แม้แต่หมอในฐานะผู้ครองอำนาจความรู้ทางการแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการของเธอ หมอจะเป็นคนคอยป้อนรายชื่อเหยื่อที่เหมาะสมจะเข้าจัดการ กระบวนการชี้เป้านี้ยังสมบูรณ์แบบขึ้นไปอีก เมื่อมีหัวหน้าสถานสงเคราะห์คนชราเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการด้วย เมื่อรู้องค์ประกอบทั้งหมดนี้ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่ศาลในฐานะตัวแทนของรัฐก็เชื่อตามการชี้ขาดของขบวนการเกรย์สัน

แต่หากทุกอย่างราบรื่นไปด้วยดีก็คงจะไม่ใช่หนัง ความโกลาหลของหนังเรื่องนี้เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อเกรย์สันเล็งเป้าไปที่คนแก่ที่เธอไม่ควรจะยุ่งด้วยที่สุด นั่นคือ เจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน (Jennifer Peterson) รับบทโดย ไดเอน วีสต์ (Dianne Wiest)

เจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน เป็นห่านที่กำลังนั่งทับไข่ทองคำอยู่ ตามเอกสารประวัติส่วนตัว เธอเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (babyboomer) เกิดปี 1949 ใช้ชีวิตเกษียณอยู่ในบ้านเพียงตัวคนเดียว ไม่มีเครือญาติหรือสามีหลงเหลือบนโลกนี้ ข้อมูลจากหมอที่เป็นพวกเดียวกับเกรย์สันบอกว่า เธอมีสัญญาณของการศูนย์เสียความทรงจำ (memory loss) วิถีชีวิตของเธอไม่ต่างอะไรกับหญิงชราทั่วๆ ไป เมื่อสภาพแวดล้อมแสดงผลออกมาเช่นนี้ เกรย์สันจึงรู้ได้ทันทีว่าปีเตอร์สันคือเหยื่อชั้นดี เป็นเหยือไม่มีใครใส่ใจดูแลเธอนอกจากพวกเกรย์สัน

authorized access only

เธอเริ่มปฎิบัติการด้วยการขออำนาจศาลให้แต่งตั้งเธอเป็นผู้ดูแลปีเตอร์สันและด้วยความช่วยเหลือจากหมอที่เป็นพวก ทำให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งได้อย่างง่ายดาย จากนั้นเธอจึงนำตัวปีเตอร์สันไปส่งยังสถานสงเคราะห์คนชรา สถานที่ซึ่งประตูทางเข้าเขียนป้ายติดไว้ชัดเจนว่า ‘authorized access only’ แน่นอนนัยที่ซ่อนอยู่คือ จะออกได้ก็ต้องอาศัย authority ด้วยเช่นกัน เมื่อผ่านเข้าไปแล้วเธอก็ทำการตัดขาดการติดต่อกับโลกภายนอกของปีเตอร์สันด้วยการยึดโทรศัพท์ของเธอทันที ในแง่นี้สถานสงเคราะห์คนชราจึงไม่ต่างจากคุก เพียงแค่เป็นคุกที่อยู่สบายกว่า และเป็นคุกที่พยายามนำเสนอตัวเองว่าคือบ้าน

ทว่าปฏิบัติการนี้ กลับนำไปสู่ความจริงที่ว่า หญิงชราที่ชื่อเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน เป็นเพียงชื่อที่ถูกสวมรอยมาเท่านั้น ตัวตนที่แท้จริงของปีเตอร์สัน คือแม่ของมาเฟียสุดโหดร่างแคระ โรมัน ลุนยอฟ (Roman Lunyov) รับบทโดย ปีเตอร์ ดิงค์เลจ (Peter Dinklage)

โรมัน ลุนยอฟ (Roman Lunyov) รับบทโดย ปีเตอร์ ดิงค์เลจ (Peter Dinklage)

ลุนยอฟเป็นด้านกลับของเกรย์สัน ทั้งคู่ต่างยืนบนวิถีของความฝันแบบอเมริกัน (american dream) ที่วิ่งไล่หาความสุขจากการประสบความสำเร็จ และต่างเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus) ที่ใช้เหตุผลเชิงเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ ทั้งเมื่อตั้งเป้าหมายไว้แล้ว ก็ไม่มีอะไรมาหยุดไม่ให้บรรลุเป้าหมายได้ แม้แต่ความตาย เพราะเมื่อพิจารณาตามหลักเหตุผลแล้ว ความตายไม่ได้น่ากลัว 

สำหรับเกรย์สัน เธอไม่มีวันยอมปล่อยปีเตอร์สันให้หลุดมือ ส่วนลุนยอฟก็ไม่ยอมรับคำปฏิเสธหรือความล้มเหลวจากลูกน้อง ทั้งคู่ต่างบริหารสุขภาพผ่านการออกกำลังกาย ซึ่งสะท้อนวิธีคิดการลงทุนกับร่างกาย ในฐานะที่เป็นทุนมนุษย์ (human capital) 

สิ่งเดียวที่ต่างกันคือ ฝ่ายแรกเล่นเกมอย่างถูกกฎหมาย ส่วนฝ่ายหลังเล่นในฐานะอาชญากร ฝ่ายแรกเล่นตามเกม ฝ่ายหลังไม่สนกฎเกณฑ์แต่แรก ตามนัยนี้จึงไม่แปลกที่ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ของเกมนี้คือ การที่ทั้งสองคนลืมความบาดหมางและการแข่งขันในอดีต วางความรู้สึกเกลียดไว้เบื้องหลัง และลงเอยจับมือทำธุรกิจร่วมกันเพื่อสร้างกำไรให้ได้สูงสุด 

การรวมตัวกันนี้เป็นตัวเร่งให้เกรย์สันกลายเป็น ‘woman billionaire’ ที่สังคมน่าเอาเยี่ยงอย่าง เธอกลายเป็น top slice of the 1% เธอพูดออกทีวีว่าเคล็ดลับความสำเร็จของเธอคือ จงรู้จักคุณค่าและความสามารถของตัวเองในการทำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อไล่ตามความสำเร็จ (กรณีการต้มตุ๋นของนักธุรกิจหญิงอย่างเกรย์สันนี้ อาจเทียบได้กับกรณีของ อลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) ผู้ก่อตั้ง Theranos บริษัทสตาร์ทอัพทางการแพทย์ที่ถูกเปิดโปงว่าเป็นอุปกรณ์ลวงโลก) 

สังคมแห่งความรุนแรง

ฉากเปิดของหนังเป็นการแนะนำตัวชัดเจนว่า ตัวละครในเรื่องจะเดินตามตรรกะของโลกเสรีนิยมใหม่ ผ่านกรอบคิด Survival of the Fittest หรือ ‘การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด’ กรอบคิดหนึ่งของสำนัก Social Darwinism ซึ่งอ้างอิงกรอบคิด Natural Selection ที่เสนอว่า ผู้ชนะจะอยู่เหนือผู้แพ้ ผู้แข็งแกร่งอยู่เหนือผู้อ่อนแอ และผู้ล่าอยู่เหนือเหยื่อ

อย่างไรก็ดี แม้เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) เจ้าสำนัก Social Darwinism จะเสนอว่า รัฐควรปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปตามกระบวนการธรรมชาติ และต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวใดๆ ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง แต่หนังเรื่องนี้ก็ฟ้องชัดว่า สภาวะป่าเถื่อนและลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) ของเสรีนิยมใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งอำนาจรัฐ กล่าวคือ จำเป็นต้องใช้กฎหมายและระเบียบอำนาจ (law and order) ในการสร้างเสถียรภาพในการมีอยู่ของตัวมันเอง

หนังยังซ่อนประเด็นน่าสนใจได้อย่างแยบยลผ่านการจัดวางตำแหน่งตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่เกรย์สันในฐานะนักธุรกิจหญิงที่มองว่าตัวเองเป็นศัตรูกับผู้ชาย แต่อำนาจที่เธอใช้ผ่านกฎหมายก็อ้างอิงกับโลกชายเป็นใหญ่ หรือการวางให้ตัวละครหมอมีเพศเป็นผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย อย่างที่ทนายในเรื่องชอบเผลอเรียกผิด หรือการให้ผู้พิพากษาเป็นคนผิวดำใช้อำนาจออกคำสั่งผ่านระบบกฎหมายของคนผิวขาว ไปจนถึงการให้ตัวละครลุนยอฟเป็นบุคคลอันตรายผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย มีนิสัยป่าเถื่อน มีคนกลัวเกรง หรือใช้ความรุนแรงต่อยผู้หญิงร่างสูง ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นเพียงชายแคระร่างเล็ก

ความรุนแรงยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมจะเห็นการปะทะกันระหว่างความรุนแรงกายภาพกับความรุนแรงเชิงระบบ เพราะในขณะที่ลุนยอฟต่อรองด้วยความรุนแรงแบบดิบๆ ขบวนการของเกรย์สันก็สู้กลับด้วยความรุนแรงเชิงระบบ ขบวนการของเกรย์สันย้ำเตือนว่าตัวระบบก็สามารถเป็นความรุนแรงได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีอำนาจความรุนแรงแบบดิบๆ ค้ำอยู่ เช่น อำนาจตำรวจ แต่ความรุนแรงเชิงระบบนี้ก็ไม่ได้ถูกนับเป็นความรุนแรง เพราะรัฐในฐานะผู้ถือกฎหมายจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นความรุนแรง หรือหากจะพูดในภาษาของ มัคส์ เวเบอร์ (Max Weber) รัฐก็เป็นองค์กรที่ผูกขาดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงไว้แค่กับตัวเอง 

ตามนัยนี้ อาชญากรรมที่น่ากลัวที่สุดจะมาในนามความถูกต้องตามกฎหมาย และหากคิดให้ถึงรากกว่านั้น รัฐก็เป็นอาชญากรสูงสุดที่ถืออำนาจในการสถาปนาหรือบอกว่าอะไรคือกฎหมาย สถานะของรัฐจึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่ากฎหมาย (extra-legal) รัฐเป็นองค์อธิปัตย์ที่ตัดสินใจในสภาวะยกเว้น (state of exception) รัฐในฐานะเจ้าเหนือหัวยังสามารถบอกได้ว่าใครควรจะเป็น หรือใครควรจะตาย การมีโทษประหารชีวิตคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ดังนั้น กฎหมาย รัฐ และความรุนแรง จึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก 

อย่างไรก็ดี ตอนจบของหนังก็ยังไม่ทิ้งสูตรของฮอลลีวูด ที่คนเลวไม่ควรได้ดี ท้ายที่สุดคนอย่างมาร์ลา เกรย์สัน ก็ต้องถูกจบชีวิตด้วยกระสุนปืนจากบุคคลผู้ถูกกลั่นแกล้ง (อาจมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงแบบดิบๆ ตอบโต้ก็ได้) ฉากจบแบบนี้เป็นการสนองแฟนตาซีของผู้ชม มันเป็นแฟนตาซีที่ฉายภาพให้ผู้ถูกกดขี่ได้เอาคืนผู้กดขี่ เป็นฉากซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงที่เศรษฐีพันล้านหลายคนยังคงลอยนวลจากความรับผิด อย่างใสสะอาด และถูกกฎหมาย 

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า