770,000 บาทจาก ‘โซวอน’ (แฟนคลับวง Girls’ Generation)
700,000 บาทจาก ‘เอล์ฟ’ (แฟนคลับวง Super Junior)
480,000 บาทจาก ‘อาร์มี่’ (แฟนคลับวง BTS)
และเงินอีกจำนวนมาก ถูกรวบรวมในนามกลุ่มแฟนด้อมหรือแฟนคลับศิลปินเกาหลีหลายวงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสมทบทุนให้กับกลุ่มคณะราษฎร 2563 และกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีจุดยืนในประชาธิปไตย เช่น ทราย เจริญปุระ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คณะประชาชนปลดแอก นอกจากนี้ มีการนำเงินที่รวบรวมรวมไปซื้อ ads ในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อกระจายข่าวให้เห็นถึงภาพเหตุการณ์ความเคลื่อนต่างๆ ทางการเมืองไทยอีกด้วย จำนวนเงินดังกล่าว แฟนด้อมใช้ระยะเวลาในการรวบรวมเพียงไม่ถึงสัปดาห์เท่านั้น พวกเขาใช้พื้นที่สื่อกระแสรองอย่างทวิตเตอร์ในการสื่อสารและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน
นอกจากสะท้อนความกระตือรือร้นในการสนับสนุนประชาธิปไตยด้วยเงิน หรือท่อน้ำเลี้ยงภาคประชาชน ปรากฏการณ์นี้ยังทำให้เราเห็นอีกมิติของ ‘แฟนคลับศิลปินเกาหลี’ ที่ใช้พลังและความเป็นกลุ่มก้อนของพวกเขาในการสนับสนุนประชาธิปไตยและแสดงออกจุดยืนของตัวเอง
WAY ชวนดูวัฒนธรรมของติ่งเกาหลีท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุ พวกเขาขับเคลื่อนตัวเองแบบไหน และพลังของเขาถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นมูฟเมนต์ทางสังคมได้อย่างไร
ระดมทุนเก่ง ท่อน้ำเลี้ยงแบบรากฝอย
ย้อนไปในอดีตพื้นที่แห่งการเมาท์มอย ซุบซิบนินทา พูดคุยเรื่องดารานักร้อง แลกเปลี่ยนความคิด คงหนีไม่พ้นร้านซาลอน ร้านเสริมสวย ร้านกาแฟ หรือร้านอาหารในโรงแรม?
คำว่า ‘แฟนคลับ’ เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารได้รับความนิยมสุดๆ สมัยนั้นผู้อ่านสามารถเขียนจดหมายโต้ตอบหาผู้เขียนที่ตนเองชื่นชอบได้
เมื่อโลกพัฒนาจากสิ่งพิมพ์เข้าสู่โลกดิจิตอล ‘พื้นที่’ ในการจับกลุ่มรวมตัวกันของกลุ่มแฟนคลับก็เปลี่ยนไป แพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่หลักที่เหล่าแฟนคลับใช้ในการรวมตัวกัน สร้าง community ขึ้นมา เพื่อติดตามข่าวสาร อัพเดทผลงาน พูดคุยระหว่างกลุ่มแฟนคลับด้วยกันเอง พวกเขาชอบศิลปินวงเดียวกัน มี ‘เมน’ คนเดียวกัน สนใจในประเด็นเดียวกัน
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมร่วมสมัยก็คือการรวมกลุ่มกันสนับสนุนศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบรวมถึงช่วยเหลือสังคมในวาระต่างๆ ไม่เพียงแค่แฟนคลับที่ชื่นชอบไอดอลเกาหลีเท่านั้น แม้แต่กลุ่มคนที่ชื่นชอบนักแสดงไทยหรือชื่นชอบอนิเมะเรื่องเดียวกัน เรามักจะเห็นการระดมทุนเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง เพื่อหาต้นทุนนำไปทำโปรเจ็คต์ให้ศิลปินที่พวกเขารัก หรือบริจาคตามวาระต่างๆ เช่น นุช (เเฟนคลับ เป๊ก ผลิตโชค) ที่รวมตัวระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อุบลฯ เมื่อปี 2562 หรือหากใครไม่มีกำลังทรัพย์แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมก็สามารถลงแรงในด้านอื่นๆ เช่น ทำกราฟิกฟรี หรือช่วย PR ในรูปแบบต่างๆ
จะเห็นได้ว่าแฟนคลับในยุคใหม่เป็นกลุ่มคนที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมการระดมทุนหรือลงแรงช่วยกันผลักดันทำในสิ่งต่างๆ ในนามกลุ่มแฟนคลับเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยคุณสมบัติแพร่กระจายข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วของทวิตเตอร์ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไทยถูกรายงานและเคลื่อนไหวแทบจะตลอดเวลา นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แฟนคลับเกาหลีสามารถระดมเงินสนับสนุนได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาแสนสั้น ภายใต้รูปแบบการบริจาคเงินท่อน้ำเลี้ยงแบบรากฝอย เพราะพวกเขาเคยชินและมีความชำนาญในการระดมทุนอยู่ก่อนหน้า
ที่สำคัญแฟนคลับศิลปินเกาหลีหลายคน ต่างก็เติบโตขึ้นมาพร้อมกับกระแสของ K-POP ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน แฟนคลับวัยเรียนในวันนั้นหลายคนก็ก้าวสู่วัยทำงาน พวกเขาจึงมีอำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังในการตัดสินใจบริหารเงินของตัวเองมากขึ้น ดังนั้นการ ‘โอนไว จ่ายคล่อง พร้อมเปย์’ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่
ชำนาญการเลี้ยงกระแสไม่ให้จางด้วยเรื่องเล่า การฉอด เอดูเขต ปั่นแท็ก
ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับการใช้ทวิตเตอร์เพื่อแชร์ข่าวสารหรือส่งต่อข้อมูลเท่านั้น ทว่าในปัจจุบันโลกทวิตเตอร์ขยายขีดความสามารถของตัวเองไปไกลกว่านั้นแล้ว
ในมิติหนึ่งทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่ กลายเป็นห้องเรียนจำลองที่มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ถกเถียง หรือดีเบตระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน โดยที่คุณกับคู่สนทนาอาจเป็นคนแปลกหน้า ไม่เคยรู้จักหรือมีความสัมพันธ์กันมาก่อนก็ได้
ปรากฏการณ์ #เฟมทวิต #saveวันเฉลิม #blacklivesmatter #ถ้าการเมืองดี #แบนดาราสลิ่ม ฯลฯ แฮชแท็กเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นจากโลกทวิตเตอร์และเป็นมูฟเมนต์ที่มีความหมายในเชิงระบบด้วยกันทั้งสิ้น ต้องยอมรับว่าชาวทวิตเตอร์เป็นกำลังสำคัญในการปั่นแท็กให้ขึ้นติดที่หน้า trending
เดิมทีเรามักเห็นการปั่นแท็กถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการตลาด เพื่อสร้าง awareness ให้สินค้าหรือแบรนด์ เพราะประโยชน์ของการปั่นแท็กให้ติดเทรนด์ เป็นเครื่องการันตีได้ว่ามีคนสนใจหัวข้อนี้มากกว่าคำอื่นในช่วงเวลานั้นๆ
ในหลายๆ ครั้งการปั่นแท็กก็นำมาใช้ในการเคลื่อนไหวได้เช่นกัน เมื่อแฮชแท็กที่มีความหมายทางการเมืองหรือสังคมถูกปั่นจนไปขึ้นติดเทรนด์ได้รับความนิยมแล้ว เท่ากับว่าเรากำลังปั่นให้ประเด็นสังคมดังกล่าวเข้าไปอยู่ในกระแสความสนใจให้แรงที่สุด นานที่สุด อาจจะช่วงชิงความสนใจของคนหมู่มากและกลายเป็นไวรัลได้ในที่สุด
แม้การปั่นแฮชแท็กจะไม่มีสูตรตายตัว เราพบแฮชแท็กเรียบๆ เน้นให้ข้อมูล อาทิ #ม็อบXXตุลา หรือบางครั้งก็เปี่ยมด้วยอารมณ์เช่น #กูสั่งให้มึงเข้าสภา หรือกระทั่งเน้นอารมณ์ขันอย่าง #ส้มหยุด แต่ธรรมชาติของการปั่นแฮชแท็กคือสิ่งที่เป็นไวรัลผ่านการคัดเลือกตามธรรมชาติ หากโดนใจมหาชน แฮชแท็กนั้นก็จะจุดติดเอง และควบคุมไม่ได้ เช่น #ม๊อบXXตุลา ที่แม้จะใช้วรรณยุกต์ผิด แต่ – ก็แล้วไงล่ะ?
และเมื่อจุดติดแล้ว เราเห็นการเพิ่มโอกาสขยายประเด็นหรือมูฟเมนต์ทางสัมคมต่างๆ ให้ไกลกว่าในโลกออนไลน์ ผ่านการรายงานของสื่อกระแสหลัก เช่น สำนักข่าวโทรทัศน์ที่นำเรื่องราวจากแฮชแท็กมาขุดคุ้ยและรายงานต่อ
ปฏิเสธไอดอลที่รัก
ท่ามกลางขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้ เราเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นหลายประการโดยเฉพาะในแฟนด้อมเกาหลี นี่นับเป็นครั้งแรกๆ ที่เราเห็นการปฏิเสธศิลปินหรือไอดอลจากแฟนคลับ ปรากฏการณ์แฮชแท็ก #แบนไอดอลคนไทยในเกาหลี มีต้นกำเนิดจากการตั้งคำถามถึงไอดอลคนไทยที่ไปมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ แฟนคลับเรียกร้องให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงออกมาแสดงออกจุดยืนหรือร่วมเป็นกระบอกเสียงทางการเมือง ซึ่งในปัจจุบันแนวคิดการเรียกร้องให้ศิลปินออกมา call out ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่แฟนคลับถึงเพดานและขีดจำกัดในการแสดงออกของศิลปิน แต่ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยความคาดหวังของแฟนคลับชาวไทยอาจมองเทียบเคียงกับศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ในฟากตะวันตกที่ต่างแสดงจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน เช่น ในช่วงแคมเปญการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ หรือร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิสตรี หรือประเด็นการเหยียดสีผิว
แม้จุดเริ่มต้นของแฟนคลับจะเกิดจากการรวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุน แต่ในด้านกลับกันแฟนคลับเองก็สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้เช่นกัน
เทียบเคียงกับกรณี #กูสั่งให้มึงเข้าสภา ที่ประชาชนร่วมกันส่งเสียงไปถึง สส.ฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นการที่แฟนคลับเรียกร้องให้ศิลปินแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมต่างๆ จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะส่วนหนึ่งเป็นเพราะแฟนคลับคาดหวังและต้องการเห็นไอดอลที่รักเป็นตัวแทนความคิดของพวกเขาเช่นกัน
นอกจากการเลือกปฏิเสธไอดอลด้วยตัวเองแล้ว การชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่แฟนคลับศิลปินไทยและเกาหลี
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้รถไฟฟ้าในการสัญจร คงคุ้นตากับป้ายโฆษณารูปดารานักร้องศิลปินทั้งไทยและต่างชาติระหว่างทางเดินในสถานี
ทว่าการที่ระบบขนส่งมวลชนประกาศหยุดให้บริการตามคำสั่งของรัฐบาล ทำให้แฟนคลับดารานักร้องศิลปินทั้งไทยและต่างชาติเกิดความไม่พอใจ เพราะมองว่านี่เป็นการตัดเส้นทางการเดินทางของผู้ชุมนุม โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือการรณรงค์ยกเลิกและปฏิเสธการโปรโมทศิลปินผ่านป้ายโฆษณาในสถานีและภายในขบวนรถ เพื่อแสดงออกในการไม่สนับสนุนรายได้ให้กับขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT
ติ่งเกาหลี จากคนชายขอบสู่แนวหน้าการต่อสู้
แม้ในยุคหนึ่งคำว่า ‘ติ่งเกาหลี’ อาจไม่ใช่คำศัพท์ที่มีความหมายเชิงบวกเท่าไรนัก ติ่งเกาหลีคือบุคคลชายขอบและมักจะถูกกระแนะกระแหนทางความคิดและวาจาว่า ติ่งเป็นพวกที่ชอบสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น
ตั้งแต่ปี 2000 หลังกระแสวัฒนธรรมเกาหลีเป็นที่นิยมในสังคมไทย ทำให้ศิลปิน ดารา นักร้องชาวเกาหลีได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างมาก กลุ่มคนที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลีมักถูกมองอย่างเหมารวมว่าเป็นกลุ่มเด็กสาววัยประถมมัธยมที่มีรูปแบบพฤติกรรมคลั่งไคล้ศิลปินไปวันๆ เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
อันที่จริง ‘ติ่งเกาหลี’ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาเป็นใคร พวกเขามีอาชีพหน้าที่การงานหรือการศึกษาแบบไหน แต่การเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน รวมถึงการสร้างมูฟเมนต์ในประเด็นสังคมต่างๆ เป็นเครื่องสะท้อนแล้วว่าแฟนคลับเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบภาพมายาคติเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว
ติ่งเกาหลีคือคนทั่วไป พวกเขาคือมนุษย์ที่มองเห็นและสนใจปัญหาเชิงระบบ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ใจกลางความเดือดดาลทางการเมือง เราเห็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีหลายคนออกไปร่วมชุมนุมพร้อมรายงานสถานการณ์ผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเองด้วยอินเนอร์นักข่าว เราเห็นความพยายามในการตรวจสอบและกระจายข่าวอย่างไม่ได้นัดหมาย เห็นการรวมกลุ่มกันเต้นเพลง K-POP เพื่อไล่เผด็จการในม็อบ ทั้งหมดทั้งมวลนี่คือวัฒนธรรมใหม่ในการเคลื่อนไหว เป็นวัฒนธรรมที่เติบโตมาพร้อมกาลเวลา เพราะถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตก็จะดี มนุษย์จะมีเวลาหาความบันเทิงหล่อเลี้ยงหัวใจมากขึ้น หลังจากเจอกับความหนักเหนื่อยในชีวิตการงานหรือการเรียน
ที่สำคัญถ้าการเมืองดี ติ่งเกาหลีจะมีความสามารถในการสนับสนุนศิลปินที่เขารักมากขึ้น โดยปราศจากความกังวลทางเศรษฐกิจที่บีบรัดเหมือนกับที่พวกเขากำลังเผชิญหน้าในตอนนี้อีกด้วย