หลังจาก แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I Told Sunset About You) ฉายให้รับชมครั้งแรกเมื่อปลายปีก่อน ด้วยประเด็นที่ชวนติดตาม ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด การันตีด้วยยอดผู้เข้าชมอันดับหนึ่งหลายสัปดาห์ติดต่อกันใน LINE TV จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของภาคต่อ แปลรักฉันด้วยใจเธอ part 2 (I promised You The Moon) ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าภาคแรก
ความพิเศษของซีรีส์ดังกล่าวนอกจากการดำเนินเรื่องที่มีเสน่ห์น่าติดตาม คือการแอบซ่อนสัญญะต่างๆ ที่สื่อความหมายลึกซึ้งผ่านองค์ประกอบของฉากและตัวละคร เราจึงอยากชวนผู้อ่านและแฟนๆ ซีรีส์ร่วมกันถอดรหัสสัญญะและไขข้อสงสัยในบางประเด็นที่อาจจะยังคาใจ เพื่อทำความเข้าใจสัมพันธ์ของตัวละครหลัก ‘เต๋-โอ้เอ๋ว’ แบบลึกซึ้ง รวมถึงรับรู้ถึงอุดมคติของผู้สร้างที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติเรื่องเพศวิถี
ดอกชบาและเสื้อผ้า: ตัวตนที่ผกผันและความหมายที่ผันแปร
‘ดอกชบา’ เป็นหนึ่งในสัญญะที่ได้รับความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายในเชิงลบที่ถูกผลิตสร้างผ่านประวัติศาสตร์และผลงานวรรณกรรม ดังที่เห็นชัดเจนในเรื่อง เงาะป่า และ คำพิพากษา
ทว่าดอกชบาในเรื่อง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ กลับมีความหมายที่ตรงกันข้ามเพราะมันทำหน้าที่เป็นเสมือนพยานรักของตัวละครเอก เต๋-โอ้เอ๋ว ที่ปรากฏอยู่ทั่วทั้งฉาก โดยเฉพาะในยามเมื่อเขาทั้งคู่แสดงความรักต่อกัน และยิ่งนานวันเข้า… ดอกชบาเหล่านั้นยิ่งเบ่งบานและแทรกซึมเข้ามาแฝงตัวอยู่ในเสื้อผ้าของตัวละครหลัก และถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในซีรีส์พาร์ทแรกอยู่หลายครั้งหลายครา ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ภาพของดอกชบาปรากฏ ผู้ชมจึงรับรู้ถึงความสัมพันธ์และการแสดงออกทางตัวตนที่เกิดขึ้นจากพวกเขาทั้งคู่ได้
สำหรับเรื่องราวภาคต่อใน แปลรักฯ part 2 เรายังพบว่าดอกชบาสีแดงสดยังคงสื่อความต่อเนื่องเช่นเคย ผ่านการปรากฏบนลายเสื้อตัวเก่งของเต๋ โดยแต่ละครั้งที่เสื้อลายดอกชบาปรากฏขึ้น ล้วนสื่อนัยที่สำคัญจนเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง
เสื้อลายดังกล่าวปรากฏขึ้นในฉากแรก เมื่อซีรีส์เล่าถึงการที่เต๋ต้องเดินทางย้ายเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ การพลัดถิ่นที่อยู่อาศัยไปพบปะสังสรรค์กับผู้คนแปลกใหม่มากหน้าหลายตาในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เต๋เลือกสวมเสื้อฮาวายลายดอกชบาตัวเดิมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ของเขาและโอ้เอ๋ว สื่อแทนความรักและคงไม่ต่างอะไรกับการสวม ‘แหวนแต่งงาน’ ที่คู่รักจะสวมใส่ให้กัน เพื่อเป็นตัวแทนของความอุ่นใจ ประหนึ่งว่ายังได้อยู่ใกล้ชิดกับคนรัก นัยหนึ่งของการสวมใส่เสื้อลายดอกชบาจึงเป็นเครื่องยืนยันสถานะของตัวละครแก่ผู้ชมว่าเต๋ ‘มีเจ้าของ’ หรือ ‘เป็นเจ้าของ’ คนอีกคนแล้ว การตีความนี้อิงกับความเดิมตอนที่แล้วซึ่งฉากอินเลิฟในช่วงเกือบจะท้ายเรื่องชวนให้คิดถึงการแต่งงาน (เชิงสัญลักษณ์) ของเขาทั้งคู่
แต่ในฝั่งโอ้เอ๋ว เราแทบไม่เห็นสัญญะอะไรเลยที่สื่อนัยของการ ‘มีเจ้าของ’ หรือ ‘เป็นเจ้าของ’ จนกระทั่งเนื้อเรื่องดำเนินไปจนถึงฉากที่เขาตัดสินใจสักรูปถ้วยน้ำชาที่ข้อมือ ‘ข้างซ้าย’ (ซึ่งเต๋ หรือ แต๊ ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ชา, น้ำชา) รอยสักดังกล่าวจึงกลายเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายที่โอ้เอ๋วตั้งใจสลักมันไว้ติดกับร่างกายของตัวเอง… แม้ในวันที่ความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่จะเลือนราง ตัวละครโอ้เอ๋วก็ยืนยันว่าเขาจะไม่ลบรอยสักนั้นและจะเก็บมันไว้เตือนใจ
เมื่อเทียบเสื้อลายดอกชบาและรอยสักเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ เราจึงพอจะมองได้ว่าความขัดแย้ง (conflict) ของเรื่องที่เกิดขึ้นและพัฒนาตลอดในช่วงที่เต๋ไม่ได้หยิบเสื้อตัวเก่งมาใส่ จนกระทั่งในวันที่ความสัมพันธ์ของพวกเขาเดินทางมาถึงจุดย่ำแย่ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เต๋กลับเลือกหยิบเสื้อลายดอกชบามาใส่ เพื่อขอโทษและขอโอกาสกับโอ้เอ๋ว โดยหวังว่า ‘ดอกชบา’ จะเป็นเครื่องยืนยันสถานะความรู้สึกของเขา… แต่มันก็สายเกินไป
นอกจากดอกชบาที่สื่อสารถึงความสัมพันธ์ระหว่างเต๋-โอ้เอ๋ว เสื้อฮาวายลายดอกชบานี้ยังปรากฏในฉากครอบครัวที่หลายคนชื่นชอบและเสียน้ำตากับฉากที่เต๋เดินทางเข้าหอพักนักศึกษาครั้งแรก โดยมีแม่และโก๊หุ้น (พี่ชายเต๋) มาส่ง บทสรุปของฉากดังกล่าวอยู่ที่การเปิดใจของแม่ ที่ยอมรับและสนับสนุนความสัมพันธ์ของลูกชายกับแฟนที่เป็นผู้ชาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยาก หรืออาจเรียกได้ว่าเกินความคาดหมายที่เรื่องนี้จะเกิดกับหญิงสูงวัยเชื้อสายจีน หัวโบราณ ที่ใช้ชีวิตในชนบท
การยอมรับไม่ได้เกิดขึ้นในระดับของคำพูดและการสื่ออารมณ์ของแม่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสื้อสีแดงลายดอกชบาสีขาวที่เธอส่วมใส่ในฉากนี้เช่นกัน เพราะเสื้อตัวนั้นของแม่และเสื้อของเต๋ ฉีกออกจากตัวละครอื่นอย่างเห็นได้ชัด ในฉาก สื่อความถึงความเป็นพวกเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปราศจากความเป็นอื่นต่อกันและกัน… ยิ่งไปกว่านั้นเสื้อสีแดงลายดอกไม้ตัวนี้อาจมีขึ้นเพื่อเติมเต็มบางอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์
ตามคติจีน เสื้อสีแดงลายดอกมักถูกสวมใส่ในวันมงคลซึ่งหมายรวมถึงการแต่งงาน ดังเช่นที่แม่สวมใส่ในวันแต่งงานของโก๊หุ้น และในวันที่เธอสวมชุดคล้ายกันนั้นพร้อมกับกล่าวยอมรับความรักของลูกชายกับคนรัก มอบของมงคล (ผ้ายันต์กันภัย) ให้แก่เขาทั้งคู่ และอวยพรให้อยู่ดูแลกันไป… ความหมายตรงนี้คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นการเติมเต็มพิธีการแต่งงานที่ยังไม่สมบูรณ์ในภาคที่แล้ว… และหลังจากนั้นชีวิตคู่ของเต๋และโอ้เอ๋วก็เริ่มขึ้น
เหตุผลการยอมรับของแม่ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบโลกหลังสมัยใหม่นี้ ไม่จำเป็นอะไรที่เธอต้องเข้าใจมิติอันซับซ้อนของเพศวิถี ทฤษฎีของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) หรือ จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) แต่เป็นเหตุผลที่เรียบง่ายที่สุดคือ ‘ความรัก’ ในฐานะของคนเป็นแม่ และความเข้าใจต่อชีวิตมนุษย์ เท่าที่รากฐานชีวิตของสาวสูงวัยที่ยึดตามขนบเชื้อสายจีนและใช้ชีวิตอยู่ในชนบทจะทำได้… “ใช้ชีวิตให้มีความสุขเถอะนะเต๋”
นี่น่าจะเป็นภาพในอุดมคติของสถาบันครอบครัวของผู้สร้างที่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นโดยเร็ว (เวลาในเรื่องเริ่มจากปี 2565… ปีหน้านี้แล้ว!) และเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปรากฏการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับ หากประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศไม่เป็นหนึ่งในการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 21 หรือสังคมของเราไม่มาถึงจุดที่พูดเรื่อง #สมรสเท่าเทียม ต่อต้านความรุนแรงทางเพศในสถานศึกษา และเฉลิมฉลองเดือนมิถุนายนในวาระ Gay Pride
นอกจากเสื้อลายดอกชบา เสื้ออีกตัวของเต๋ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน คือเสื้อสีเลือดหมูแขนกุด ที่มีตัวอักษรภาษาจีนสกรีนที่อกว่า 月亮 (แปลว่า แสงจันทร์) ในภาคที่แล้ว เต๋สวมใส่เสื้อตัวนี้ในวันที่มีความรู้สึกสับสน และเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาเริ่มรักโอ้เอ๋ว ทว่าในซีรีส์พาร์ท 2 เต๋เลือกหยิบเสื้อตัวเดิมมาสวมใส่อีกครั้งในวันที่เขาเกิดความรู้สึกทั้งรักทั้งใคร่เช่นเคย แต่เปลี่ยนจากโอ้เอ๋วไปเป็น ‘ไจ๋’ ซึ่งการจะตีความเสื้อตัวนี้ให้ชัดคงต้องพูดรวมกับองค์ประกอบหลายอย่าง ดังจะเห็นในบทวิเคราะห์ถัดไป
เหล้าบ๊วย สายน้ำ พื้นที่ต้องห้าม และสัมพันธ์ลับ ‘เต๋-ไจ๋’
หลายคนอาจเข้าใจว่าความสัมพันธ์ของเต๋และไจ๋ไม่มีอะไรมากไปกว่าเพียงการจูบกันในฉากซ้อมการแสดง เฉกเช่นเดียวกับภาคที่แล้ว ความโรแมนติกหรือความร้อนแรงของฉากรักไม่จำเป็นต้องเผยให้เห็นอย่างโจ๋งครึ่ม แต่ลึกลับซับซ้อนผ่านองค์ประกอบต่างๆ และบทวิเคราะห์นี้อาจเติมปริศนาให้เข้าใจความสัมพันธ์ของเต๋และไจ๋ใหม่ก็เป็นได้
ไจ๋ คือตัวละครใหม่ที่ปรากฏในซีรีส์ภาค 2 มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวละครหลัก เพราะเขาคือตัวแปรที่ทำให้เรื่องราวความสัมพันธ์ของเต๋และโอ้เอ๋วเปลี่ยนไป
ไจ๋คือรุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์และชมรมละคร เต๋มองว่าไจ๋คือไอดอล ในหลายครั้งไจ๋คือคนที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการละครให้แก่เต๋ โดยประสบการณ์ส่วนมากจะเป็นด้านมืด ทั้งในเชิงสัญญะและภาคปฏิบัติ เช่น การปรับสายตาเพื่อมองเห็นในพื้นที่มืด อันเป็นเทคนิคของฝ่ายจัดฉาก การมีสัมพันธ์ลับกับอาจารย์ผู้สอนการแสดง หรือการดื่มเหล้าบ๊วยที่เต๋ไม่เคยลองมาก่อน
‘เหล้าบ๊วย’ มีความหมายมากกว่าสัญญะแห่งความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งผ่านกาลเวลา และยังเป็นมากกว่าแรงบันดาลใจบทละครธีสิสของไจ๋ แต่มันสะท้อนตัวตนของไจ๋อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ทักษะการแสดงที่ไจ๋รักเป็นชีวิตจิตใจ เพราะกว่าเขาจะทำละครเวทีธีสิสเรื่องนี้ได้ เขาต้องเก็บประสบการณ์มากกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับบ๊วยที่ถูกดองอยู่ในโหลแก้วนั้น การที่ไจ๋ชวนให้เต๋ ‘ลิ้มลอง’ เหล้าบ๊วยที่เป็นสื่อแทนตัวตนของไจ๋ จึงเปรียบดั่งการเชื้อเชิญให้ลิ้มลองในตัวเขานั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาคุณสมบัติของเหล้าบ๊วยที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องดื่มที่ผิดศีลธรรม แต่รสชาติถูกต้องชอบธรรมในแง่ของจิตใจ เราจึงอาจจะได้กลิ่นของ ‘ความเป็นชู้รัก’ อยู่ในเหล้าบ๊วยโหลนั้นที่ไจ๋รินและส่งให้กับเต๋ลิ้มลองจนเกิดอาการเมารักค้าง (แบบเดียวกับที่เราเคยเห็นเขาเคยเมารักโอ้เอ๋วมาแล้ว)
อีกฉากสำคัญที่อาจจะช่วยปะติดปะต่อสมมุติฐานนี้ คือฉากที่ไจ๋ชวนเต๋เข้าไปในพื้นที่ที่มีกำแพงเหล็กกั้นหลังจากที่ทั้งคู่ไปกินข้าวร่วมกันและพบว่าต่างชอบรสชาติคล้ายๆ กัน การเชื้อชวนให้ทำในสิ่งที่ผิด แต่ทำให้ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับไจ๋ในมุมที่แม้แต่เพื่อนสนิทอย่าง ‘ท็อป’ และ ‘ขิม’ ไม่เคยเห็น ส่อพิรุธอันไม่ชอบมาพากลอย่างชัดเจน
พื้นที่ต้องห้ามนี้ชวนให้นึกถึงศาลเจ้าที่เต๋และโอ้เอ๋วเคยแอบเข้าไปด้วยกันในภาคแรก แต่บรรยากาศของพื้นที่ต้องห้ามในภาคนี้ดูแตกต่างจากภาคแรกอย่างชัดเจน เพราะมันทั้งมืดมัวและเงียบสงัด มีเพียงความโรแมนติกของสายน้ำและแสงไฟที่พอจะทำให้มองเห็นใบหน้าของกันและกัน ประกอบกับความตื่นเต้นที่กลัวว่าเจ้าหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อย (สัญญะของศีลธรรมอันดีและความถูกต้อง) จะจับได้… ซึ่งขับเน้นสถานะ ‘ความเป็นชู้’ ยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อจบฉากนั้น เขาทั้งคู่หนีไปพร้อมกันโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เขาไปไหน ทำอะไร ไม่มีฉากการร่ำลา ผู้ชมรู้เพียงแค่ว่าจู่ๆ เต๋ก็ว่ายน้ำในสระน้ำที่คอนโดของโอ้เอ๋ว… ซึ่งเป็นฉากที่โผล่มาแบบงงๆ แต่กลับมีความหมายทางเพศอย่างรุนแรง
ผิวเผิน อาจดูเหมือนเป็นฉากที่เต๋กำลังครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง แต่ฉากเดียวกันนี้ก็ปรากฏขึ้นในภาคแรกในห้วงเวลาที่ทั้งเต๋และโอ้เอ๋ว ‘คิดถึงกันจนรู้สึกวาบหวิว’ หรือบางครั้งไปสวีทกันในน้ำก็ทำมาแล้ว
แต่ฉากดำน้ำที่เกิดขึ้นในภาค 2 นี้ชวนให้นึกถึงปฏิบัติการทางเพศรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘Autoerotic Asphyxia’ ซึ่งหมายถึงการสำเร็จความใคร่โดยพยายามทำให้ตัวเองขาดอากาศหายใจ และหากตีความในแง่นี้ มันก็มีความเป็นไปได้อยู่สองประการ คือ เต๋อาจกลับมาสำเร็จความใคร่โดยมีไจ๋เป็นวัตถุแห่งปรารถนา (object of desire) (ซึ่งศาสนาคริสต์ในยุคหนึ่งเคยเชื่อว่าการสำเร็จความใคร่ถือเป็นเพศสัมพันธ์ และผู้ที่ตกเป็นวัตถุแห่งปรารถนาก็จะถือว่าผิดบาปและมีมลทินมัวหมองไปด้วย)
อีกประการหนึ่ง เป็นไปได้ว่านี่คือฉากเพศสัมพันธ์ของเต๋กับไจ๋ที่ผู้สร้างไม่ได้เล่าให้ครบถ้วน แต่ตีความได้เมื่อพิจารณาร่วมกับสัญลักษณ์อื่นประกอบ เช่นเสื้อแขนกุดสีเลือดหมูตัวนั้น พร้อมกับอาการเลิ่กลั่กแบบชัด (เกินไป) จนดูมีพิรุธและชวนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่… เขาทั้งสองคนทำอะไรกันหรือเปล่าหลังจากที่ออกจากพื้นที่ต้องห้ามนั้น และการกระทำนั้นต้องสั่นคลอนจิตใจของเต๋จนเข้าหน้าไจ๋ไม่ติด ไม่มีสมาธิในการฝึกซ้อม คิดแต่อยากจะใกล้ชิดและจูบกับไจ๋เพียงอย่างเดียว
จากการวิเคราะห์ผ่านสัญญะทั้งหมดนี้ เราจะเห็นว่าสัญญะบอกอะไรเรามากกว่า หรือบางครั้งลึกซึ้งกว่าบทพูดและการกระทำของตัวละครเสียอีก ซึ่งยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะอันที่จริงไม่ได้มีเพียงฉากรัก หรืออุดมคติว่าด้วยความรักเพศเดียวกันเท่านั้นที่สะท้อนผ่านสัญญะ แต่ยังรวมถึงประเด็นหนักๆ อย่างเช่นคำถามถึงตัวตนและความหมายของชีวิต
Mise en abîme: ชีวิตคือละคร ละครคือชีวิต
เราจะเห็นว่ามีการพูดถึงความเป็นละครอยู่บ่อยครั้งตลอดทั้งเรื่อง มีการฉายละครซ้อนละคร มีตัวละครจริงๆ ขึ้นไปพูดคุยกันบนเวทีละคร และสวมบทบาททั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็มี หรือแม้แต่นำเอาเทคนิคทางละครมาใช้ในชีวิตจริง ทั้งหมดนี้ทำให้เส้นของความจริง ความลวง ความรู้สึกนึกคิด ผสมปนเปกันจนบางช่วงบางตอนยากที่จะแยก
สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นการบอกเล่าชีวิตของนักศึกษาในแวดวงนิเทศศาสตร์หรือการละครเพียงเท่านั้น แต่มันคือเทคนิคทางศิลปะที่เรียกว่า ‘Mise en abîme’ (อ่านว่า มีซ ออง นาบีม) ซึ่งอธิบายอย่างง่าย คือ เทคนิคภาพซ้อนภาพ เนื้อเรื่องซ้อนเนื้อเรื่อง
เมื่อเราพูดถึงเทคนิค Mise en abîme เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่เอ่ยชื่อของ André Gide (อองเดร ฌีด) นักเขียนฝรั่งเศสชื่อดังในยุคศตวรรษที่ 20 ผู้มักจะใช้เทคนิคนี้ในงานเขียนของเขาเพื่อสื่อนัยในเชิงตั้งคำถามถึงคุณค่าของผลงานวรรณกรรม และความเป็นไปของชีวิตที่ไม่ได้ต่างกับละคร ทุกคนล้วนต้องสวมบทบาทเพื่อที่จะ ‘เป็น’ ในสิ่งที่ถูกกำหนดโดยกาลเวลาและสถานที่
ตัวละครที่ประสบปัญหากับบทบาทในชีวิตจริงมากที่สุดคือเต๋… หลายครั้งเราจะได้ยินเต๋พูดว่าเขาไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง เขาไม่ชอบใจที่ทุกคนรอบตัวเปลี่ยนไป และมีปัญหาทุกครั้งไม่ว่าเขาจะรักคนคนนั้นมากเพียงไรก็ตาม นั่นแสดงว่าลึกที่สุดเขาเชื่อว่าชีวิตมีแก่นสารสาระบางอย่างที่ทุกคนต้องยึดมั่น ความเชื่อนั้นทำให้เขาเชื่อในคำสัญญา ทั้งที่ตัวเองไม่เคยทำตามได้เลย ซึ่งน่าแปลกเพราะเต๋น่าจะเป็นตัวละครหนึ่งที่เข้าใจการเล่นแร่แปรธาตุของบทบาทในชีวิตมากที่สุดในฐานะของนักแสดง จุดนี้เองที่ฟ้องความไร้เดียงสา ความย้อนแย้งในตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นความเห็นแก่ตัว…เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง (ซึ่งเราทุกคนต่างก็เป็น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย)
อีกหนึ่งในส่วนประกอบของเทคนิค Mise en abîme คือกระจก มุมกล้องเก๋ๆ ที่เต็มไปด้วยกระจกนั้นไม่ได้ไร้ความหมาย แต่กลับสะท้อนกลับไปยังตัวตนของตัวละครเต๋ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าตัวเองกำลังเล่นบทบาท กระจกมักจะมาพร้อมกับคำถามถึงความหมายของชีวิตที่เต๋เที่ยวถามใครต่อใคร ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือฉากที่เขาคุยกับท็อปถึงความเบื่อหน่ายเรื่องหน้าที่การงานและไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจึงรู้สึกแบบนั้น หรือแม้แต่หลายครั้งเขามักจะพูดว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ทำไมคนนั้นถึงเป็นแบบนั้น ทำไมคนนั้นไม่ทำแบบนี้…
ถกกันในเชิงลึก… คงต้องขออนุญาตเอ่ยถึง อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนฝรั่งเศสชื่อดังอีกคน ผู้นำเสนอหลักคิดแบบ Absurdisme (ความไร้เหตุผลและแก่นสารสาระ) ที่เชื่อว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีคุณค่า ความหมาย หรือแก่นสารสาระใดๆ ในทางกลับกัน ชีวิตและสรรพสิ่งล้วนแล้วมีอยู่และเป็นไปบน ‘ความพยายามมีเหตุผล’ ผ่านคำอธิบายของศาสนาหรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ และนั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่อยู่เหนือการควบคุมของเราทั้งสิ้น…
คำถามที่ตามต่อมาคือ แล้วจะทำอย่างไรกับชีวิต กามูส์เองก็เคยอธิบายผ่านงานเขียนของเขาที่เราจะสรุปสั้นๆ ว่า ไม่มีใครจะหลุดพ้นจากความไร้เหตุผลหรือแก่นสารสาระ แต่สิ่งที่เราทำได้คือตระหนักรู้ว่าโลกก็เป็นเช่นนั้นและลุกขึ้นมาทัดทานกับความไร้เหตุไร้ผลต่างๆ ให้มากที่สุด หรืออย่างน้อยๆ ก็ไหลไปตามความเป็นไปของมันอย่างรู้เท่าทัน ซึ่งความคิดคล้ายกันนี้สะท้อนอยู่ในคำพูดของโอ้เอ๋วตอนท้ายเรื่อง
“เราไม่ต้องสัญญาว่าเราจะรักกันเหมือนเดิมก็ได้ ไม่ต้องคาดหวังว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนไป กูแค่อยากอยู่กับมึง แล้วถ้าเรามีปัญหาอะไรกัน มึงคุยกับกูได้ไหม แล้วเราค่อยๆ แก้กันไป เราจะไม่ยอมแพ้กันง่ายๆ อีก แบบนี้ได้ไหม”
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงประเด็นหลักๆ ไม่กี่ประเด็นเท่านั้นที่ปรากฏในซีรีส์เรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ part 2 ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกว่าความตื่นเต้นเร้าใจหรือหวานซึ้งชวนจิ้นลดน้อยลง แต่เราอาจจะต้องลดเฉดสีสันที่ฉูดฉาดลงเพื่อจะได้อิ่มเอมกับความธรรมดาสามัญ… เพราะความธรรมดาสามัญนั้นเลอค่าเหลือเกินในปริมณฑลแห่งความรักเพศเดียวกัน
จากซีรีส์วาย สู่ซีรีส์ที่พูดเรื่องความหมายของชีวิต… ตำนานรักเต๋-โอ้เอ๋วน่าจะเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์สื่อไทยที่นำเสนอประเด็นความรักเพศเดียวกัน เพราะมันกำลังสะท้อนว่า ความรักเพศเดียวกันขึ้นไปยืนบนบรรทัดฐานความเป็นปกติของสังคม (standardization) ได้อย่างเต็มภาคภูมิในเชิงอุดมคติแล้ว หลังจากที่มันถูกทำให้เป็นรักที่เป็นไปไม่ได้อยู่หลายทศวรรษ… เฉกเช่นเดียวกับสัญญะของความรักที่เริ่มจากดอกชบาและจบท้ายด้วยดอกกุหลาบ
หลงเหลือก็เพียงเชิงปฏิบัติ ที่การทำงานของสื่อเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ความสามัญธรรมดาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราอย่างแนบเนียน
ป.ล. การตีความทั้งหมดนี้ไม่ได้อิงหรือพยายามคาดเดาให้ใกล้เคียงกับความตั้งใจทั้งหมดของผู้ผลิต เพราะตัวบทก็เป็นเฉกเช่นเต๋และโอ้เอ๋วที่อาจเล่นแร่แปรธาตุไปตามพื้นที่และกาลเวลาของมัน
ขอให้อ่านด้วยความบันเทิงในฐานะของเรื่องแต่งซ้อนเรื่องแต่งก็คงพอ
อ้างอิง
- https://themomentum.co/itoldsunsetaboutyou-series
- https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/itoldsunsetaboutyouep3
- https://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=51776
- รูปภาพจาก LINE TV