อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) นักชกแอลจีเรีย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2024 ตกเป็นศูนย์กลางข้อถกเถียงเรื่องเพศอีกครั้ง หลังจากทั้งสื่อไทยสื่อเทศออกมาอ้างถึงเอกสารรายงานทางการแพทย์ที่จัดทำขึ้นในเดือนมิถุนายน 2023 โดยระบุว่าเคลิฟได้รับผลกระทบจากภาวะขาดเอนไซม์ 5-alpha reductasa และยังระบุอีกว่า ผู้ชายที่มีภาวะดังกล่าวหากไม่ได้รับการตรวจที่เหมาะสมอาจเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิงจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งการระบุเช่นนี้เป็นการอ้างอิงภายใต้ระบบสองเพศ ละเลยความหลากหลาย
หนำซ้ำการพาดหัวข่าวว่าเคลิฟเป็นผู้ชาย ยังละเมิดสิทธิของเขาอย่างร้ายแรง เพราะการยืนยันในอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ควรให้เจ้าตัวเป็นคนนิยามด้วยตนเอง ยิ่งกับผู้ที่มีพัฒนาการทางเพศที่แตกต่าง หรืออาจเรียกว่า Differences in Sex Development (DSD) คงไม่ใช่เรื่องที่ผู้อื่นจะไปแปะป้ายว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย
ว่ากันอย่างรวบรัด เพศสามารถพิจารณาได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง – ‘เพศตามพันธุกรรม’ (genotypic sex) หมายถึง โครโมโซมเพศ ที่ส่วนใหญ่จะมีโครโมโซม XX หรือ XY
สอง – ‘เพศตามลักษณะภายนอก’ (phenotypic sex) หมายถึง เพศที่กำหนดโดยอวัยวะเพศทั้งภายในและภายนอก ซึ่งจะมีพัฒนาการตามธรรมชาติ หากทุกอย่างพัฒนาการอย่างปกติ พันธุกรรม XX จะนำไปสู่บุคคลที่มีรังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก ปากมดลูก อวัยวะเพศหญิง
ขณะเดียวกัน พันธุกรรม XY จะนำไปสู่บุคคลที่มีอัณฑะ ท่อเก็บอสุจิ ท่อนำอสุจิ ถุงน้ำอสุจิ องคชาต และถุงอัณฑะ
สาม – ‘เพศสภาพ’ (gender) หมายถึงการรับรู้ส่วนบุคคลเกี่ยวกับเพศและรสนิยมทางเพศของตัวเอง รวมถึงบทบาท พฤติกรรม และคุณลักษณะทางเพศ
แต่ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกรณีของเคลิฟคือ ความแตกต่างในพัฒนาการทางเพศ หรือ DSD เป็นกลุ่มของภาวะที่หายาก มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน ฮอร์โมน และอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งหมายความว่าการพัฒนาทางเพศของเขาแตกต่างไปจากคนอื่นๆ
NHS UK เว็บไซต์สุขภาพของอังกฤษระบุถึงภาวะ DSD ว่าบางคนมีโครโมโซม XY แต่อวัยวะเพศภายนอกของพวกเขาอาจพัฒนาขึ้นในลักษณะปกติของเด็กหญิงหรือเด็กชาย แต่เป็นเรื่องยากในช่วงแรกที่จะรู้ว่าอวัยวะเพศของคนกลุ่มนี้คล้ายหญิงหรือชายมากกว่ากัน บุคคลหนึ่งอาจมีมดลูกและอาจมีอัณฑะอยู่ในร่างกายในเวลาเดียวกัน และอัณฑะก็อาจไม่ได้ทำงานแบบปกติทั่วไป
หรือบางคนมีโครโมโซม XX พร้อมกับรังไข่และมดลูก แต่อวัยวะเพศอาจดูไม่เหมือนกับอวัยวะเพศหญิงแบบทั่วไป เช่น อาจมีคลิตอริสที่พัฒนามากขึ้นและช่องคลอดอาจปิดอยู่
แน่นอนว่าไม่มีการระบุอย่างกำปั้นทุบดินว่า คนที่มีภาวะนี้เป็นหญิงหรือชาย
Intersex Thailand ระบุว่าการพาดหัวข่าวของสื่อบางสำนักเป็นการตีตราคนข้ามเพศและ intersex ควรเคารพการนิยามตัวตนของแต่ละบุคคล ไม่ตัดสินจากลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียว
ยังมีคำแนะนำเรื่องการใช้คำอย่างระมัดระวัง ซึ่งคำว่า ‘ความหลากหลายทางคุณลักษณะทางเพศ’ และ ‘Differences in Sex Development’ เป็นภาษาที่เป็นกลางและเคารพความหลากหลายทางเพศสรีระมากกว่าคำว่า ‘เพศกำกวม’ หรือ ‘Disorder in sex Development’ ที่มีนัยยะในแง่ลบ
นอกจากนี้กฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มีฐานคิดที่ว่าการกำหนดระดับฮอร์โมนเพศเป็นการกีดกันผู้ที่มีภาวะ intersex และเพศกำเนิดหญิงบางคนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงมาตั้งแต่เกิด และช่วงสิ้นปี 2022 ได้ออกมาประกาศว่าจะแก้ไขกฎระเบียบที่ใช้มาเกือบ 20 ปี ทั้งยังระบุด้วยว่าการปรับปรุงครั้งสำคัญนี้คำนึงถึงการไม่กีดกันคนข้ามเพศและ intersex รวมทั้งคำนึงถึงความเที่ยงธรรมของการแข่งขันกีฬา ซึ่งได้ขอความร่วมมือเพื่อปรับปรุงเกณฑ์เหล่านี้จากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสิทธิมนุษยชน
เกณฑ์ใหม่ระบุว่าผู้หญิงข้ามเพศและ intersex ไม่จำเป็นต้องลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเพื่อแข่งขันในกีฬาประเภทหญิงอีกต่อไป เพราะได้ลบข้อบังคับเรื่องระดับฮอร์โมนเพศออกไปจากระเบียบ และปล่อยให้หน่วยงานหลักที่เป็นผู้จัดกีฬาแต่ละชนิดกำหนดกฎระเบียบของตัวเองตามความเหมาะสม
ในแถลงการณ์กรอบการทำงานใหม่ของ IOC ยังกล่าวไว้ด้วยว่า แม้จะมีการให้อิสระกับแต่ละหน่วยงานกำหนดเกณฑ์ด้วยตัวเอง แต่ยังจะต้องยึดหลักสำคัญ 10 ประการ ได้แก่ 1) การไม่แบ่งแยก 2) การป้องกันอันตราย 3) การไม่เลือกปฏิบัติ 4) ความยุติธรรม 5) การไม่สันนิษฐานถึงความได้เปรียบ 6) อิงตามหลักฐาน 7) ให้ความสำคัญกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย 8) คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 9) สิทธิความเป็นส่วนตัว และ 10) หมั่นทบทวนกฎเกณฑ์เป็นระยะ
จากที่ประธาน IOC ยืนยันหลังมีประเด็นร้อนระอุระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปารีสว่า เคลิฟมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ของโอลิมปิกทุกอย่าง และทาง IOC ได้ยกเลิกการตรวจวัดระดับฮอร์โมนหรือการตรวจดูโครโมโซมเพศไปแล้ว ดังนั้นการตั้งธงโจมตีเคลิฟในฐานะนักกีฬาที่ทำตามกฎคงไม่ถูกต้องเท่าไรนัก และการที่สื่อหลายสำนักพาดหัวข่าวตีตราว่าเธอเป็นเพศอะไรก็คงไม่สมควรเช่นกัน
ที่มา
- What Is Sex?_National Library of Medicine
- Differences in sex development – NHS
- IOC releases Framework on Fairness, Inclusion and Non-Discrimination on the Basis of Gender Identity and Sex Variations
- Intersex Thailand