ปูมหลัง
‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ’ (บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล) เป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
อย่างไรก็ตาม การคัดเลือก ‘ผู้จัดงาน’ เทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าวใช้การจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ แทนที่จะเป็นการประกวดราคา ซึ่งเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจ อันนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากงานเทศกาลดังกล่าวซึ่งมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะช่วงปี 2546-2549 ที่มี จุฑามาศ ศิริวรรณ เป็นผู้ว่าการ ททท. ในขณะนั้น
เส้นทางผลประโยชน์
ปี 2553 คำตัดสินของศาลแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า เจอรัลด์ กรีน (Gerald Green) และ แพทริเซีย กรีน (Patricia Green) ผู้บริหารบริษัทภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ได้จ่ายสินบนให้แก่ จุฑามาศ ศิริวรรณ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. เพื่อให้จ้างบริษัทของตนเป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ผ่านการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ
อย่างไรก็ตาม การจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษตามกฎหมายไทยนั้น ผู้ว่าการ ททท. มีอำนาจอนุมัติการทำสัญญาโครงการในวงเงินไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อสัญญา หากเกินกว่านั้นต้องใช้วิธีประกวดราคา สองสามีภรรยาครอบครัวกรีนจึงใช้วิธีตั้งบริษัทขึ้นหลายบริษัท และให้ ททท. แตกสัญญาจ้างเป็นหลายฉบับ โดยมูลค่าของสัญญาแต่ละฉบับอยู่ภายใต้วงเงินงบประมาณที่ผู้ว่าการ ททท. สามารถอนุมัติได้โดยไม่ต้องผ่านการประกวดราคา
ในช่วงที่จุฑามาศดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. ก่อนการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์แต่ละปี จะมีการเจรจากับ เจอรัลด์ กรีน เพื่อทำการตกลงจ้างให้เป็นผู้จัดงาน ซึ่งทางบริษัทครอบครัวกรีนต้องแบ่งเงินให้แก่จุฑามาศราวร้อยละ 10-20 ของมูลค่าสัญญา
เมื่อตกลงกันเรียบร้อย ททท. จะแตกสัญญาจ้างจัดงานเทศกาลภาพยนตร์เป็นหลายฉบับ ขณะที่ครอบครัวกรีนก็เริ่มตั้งบริษัทหลายๆ เจ้า เพื่อแยกทำสัญญากับ ททท. โดยพยายามปกปิดว่าบริษัทเหล่านี้ตั้งโดยคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งก็คือครอบครัวกรีน ด้วยการใช้ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานคนละแห่ง
เมื่อได้รับเงินค่าจ้างจัดงานเรียบร้อย สองสามีภรรยาครอบคัวกรีนก็จะตกแต่งบัญชีค่าใช้จ่ายของบริษัทที่รับงานให้สูงกว่าความเป็นจริง เพื่อนำเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจ่ายสินบนให้แก่จุฑามาศ ด้วยการออกแคชเชียร์เช็ค หรือไม่ก็โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของลูกสาวจุฑามาศและเพื่อนของจุฑามาศ โดยระบุว่าเป็นค่านายหน้าการขาย
วิธีการดังกล่าวถูกใช้ตลอดการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2546-2549 ภายใต้ความรับผิดชอบของจุฑามาศ
สถานะของคดี
สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ให้สินบนในสหรัฐอเมริกา ศาลแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 ว่านายและนางกรีนกระทำความผิด จากการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ จึงตัดสินโทษจำคุก 6 เดือน และกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน รวมถึงให้จ่ายค่าปรับอีก 250,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท)
ขณะที่การดำเนินคดีกับจุฑามาศและลูกสาวซึ่งเป็นผู้รับสินบนในไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา จากการรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และการเอื้อประโยชน์ให้มีการทำสัญญากับรัฐโดยไม่มีการแข่งขันด้านราคา โดย ป.ป.ช. ส่งเรื่องต่อให้อัยการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554
ความคืบหน้าล่าสุด
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดของจุฑามาศ ศิริวรรณ ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และจะติดตามทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
จากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า จุฑามาศมีเงินฝากอยู่ในบัญชีประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซีย์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีบุตรสาวเป็นผู้ถือครองแทน และการชี้แจงถึงที่มาของเงินดังกล่าวไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ป.ป.ช.จึงประสานกับทางการสหรัฐเพื่ออายัดทรัพย์สิน ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้คดีนี้เป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ
สำหรับคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจุฑามาศและบุตรสาว ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้ว และมีนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 มีนาคม 2560
ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอยู่ระหว่างดำเนินคดีกับจุฑามาศและบุตรสาว ในความผิดฐานฟอกเงิน และดำเนินการริบทรัพย์ทางแพ่ง มูลค่ารวม 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 65 ล้านบาท
ผลกระทบต่อประชาชน
- งานเทศกาลภาพยนตร์มีคุณภาพต่ำ และใช้งบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น
- การคัดเลือกผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม