แรงงานมากกว่าครึ่งบนโลกนี้เป็น ‘แรงงานนอกระบบ’
ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า แรงงาน 61 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณกว่า 2,000 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบที่ต้องทำงานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานที่เป็นทางการ เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายประกันสังคมต่างๆ
หากให้จินตนาการว่าแรงงานนอกระบบมีจำนวนมากเท่าใด อยากให้ทุกท่านลองนึกถึงจำนวนคน 2,000 ล้านคน จะเห็นว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรในประเทศอินเดีย (1,428 ล้านคน) หรือประเทศจีน (1,425 ล้านคน) ที่มีประชากรมากที่สุด 2 อันดับแรกของโลก
สรุปเป็นประโยคสั้นๆ แรงงานจำนวนมากบนโลกนี้มีชีวิตอยู่บนความเสี่ยง คำถามที่หลายคนสงสัย ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้?
เพราะปัญหาของแรงงานนอกระบบเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมอีกมากมาย ทั้งเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ระบบสวัสดิการ ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน ประเด็นเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนสนใจเรื่องราวของแรงงานนอกระบบ เพื่อค้นหาคำตอบว่า ชีวิตของพวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมบางประเทศถึงมีแรงงานนอกระบบมากกว่าที่อื่น และจะมีวิธีการอย่างไรในการทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
แรงงานนอกระบบคือใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน
นิยามของแรงงานนอกระบบ (informal employment) ที่ ILO (International Labour Organization) หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุไว้ คือ แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนทั้งที่เป็นเจ้าของกิจการและทำงานรับจ้าง ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ โดยทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนเก็บขยะ อาชีพรับจ้างทำงานบ้าน ฯลฯ
จากรายงาน ‘Women and Men in the Informal Economy: A Statistical Picture’ (2018) โดย ILO พบว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (developing country) จะมีแรงงานนอกระบบมากถึงร้อยละ 90 กลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (emerging market) เช่น จีน อินเดีย บราซิล ชิลี ฯลฯ ร้อยละ 67 ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น และเมื่อดูข้อมูลจากทั่วโลกแล้ว มีแรงงานนอกระบบที่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 63) มากกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 58)
หากแบ่งประเภทแรงงานนอกระบบตามรูปแบบการทำงานแล้ว พบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจของตนเองหรือเป็นเจ้าของกิจการโดยไม่มีผู้บังคับบัญชา (self-employed) ร้อยละ 64 และที่เหลือร้อยละ 36 ทำงานแบบรับเงินค่าจ้าง (wage employment)
แล้วแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ที่ไหนบนโลกนี้?
เมื่อดูข้อมูลแยกตามภูมิภาคโดยตัดข้อมูลจากกลุ่มประเทศพัฒนาออกไป ทวีปที่มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด คือ แอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) พื้นที่ในทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา ร้อยละ 92 ส่วนภูมิภาคที่น้อยที่สุด คือ ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ร้อยละ 37
ประเภทอุตสาหกรรมที่มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด อยู่ในภาคบริการ (services) ร้อยละ 44 รองลงมาคือภาคการเกษตร (agriculture) ร้อยละ 38 และภาคการผลิต (manufacturing) ร้อยละ 18 ยกเว้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะอยู่ในภาคการเกษตรมากที่สุดร้อยละ 69
สำหรับช่วงอายุของแรงงานนอกระบบทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 97 และ 96 ตามลำดับ
หากพูดถึงระดับการศึกษาของกลุ่มแรงงานนอกระบบทั่วโลก จำนวนมากไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา (no education) ร้อยละ 93.8 และเมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น จำนวนแรงงานนอกระบบก็ลดหลั่นลงตามลำดับ (ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 84.6 มัธยมศึกษา 51.7 และอุดมศึกษา 23.8)
ทำไมแต่ละประเทศจึงมีแรงงานนอกระบบไม่เท่ากัน
จากรายงานของ ILO พบข้อมูลว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครอยากเป็นแรงงานนอกระบบด้วยความสมัครใจ แต่เป็นเพราะการขาดโอกาสและทักษะการทำงานในระบบ โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกในการทำงานมากนัก (ข้อมูลบ่งชี้ชัดเจนว่าแรงงานนอกระบบจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษา)
รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับบริบททางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ กฎระเบียบ นโยบายด้านแรงงานต่างๆ จากข้อมูลจำนวนแรงงานนอกระบบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว หรือ GDP Per Capita โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ. 1991-2019 พบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจดังนี้
ประเทศรายได้น้อย (low-income) และรายได้น้อยปานกลางระดับล่าง (lower middle income) ซึ่งมีรายได้ต่อหัวไม่เกิน 15,000 เหรียญสหรัฐ มีจำนวนแรงงานนอกระบบสูงถึงร้อยละ 60-90 เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา ปากีสถาน เยเมน ศรีลังกา อาร์เมเนีย ฯลฯ
ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle income) และประเทศรายได้สูง (high income) ซึ่งมีรายได้ต่อหัว 20,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป พบข้อมูลว่า ยิ่งมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น ยิ่งมีจำนวนแรงงานนอกระบบน้อยลง เช่น กลุ่มประเทศนอร์ดิก (ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก) เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ซึ่งมีรายได้ต่อหัวที่ 40,000-50,000 เหรียญสหรัฐ มีจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ที่ร้อยละ 5-10 เท่านั้น
สรุปเป็นประโยคเดียวว่า ประเทศไหนมีรายได้สูง แรงงานนอกระบบก็น้อยลง
นอกจากนั้น งานวิจัย ‘Why is informal employment more common in some countries? an exploratory analysis of 112 countries’ (2019) ที่ศึกษาว่า ทำไมบางประเทศจึงมีจำนวนแรงงานนอกระบบมากกว่าประเทศอื่น โดยศึกษาข้อมูลจำนวน 112 ประเทศ ในปี 2018 และวิเคราะห์ร่วมกับสถิติข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวประชากร (GNI per Capita) ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index: SPI) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของครัวเรือน (household final consumption expenditure) ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ฯลฯ
ผลวิจัยพบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบจะมีจำนวนมากในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ นโยบายคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เพียงพอ อัตราการคอร์รัปชันที่สูง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ดังนั้น สาเหตุการเกิดขึ้นของแรงงานนอกระบบจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศ ทำให้ทางเลือกในการทำงานของแรงงานมีจำกัด และเกี่ยวข้องกับการขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสในการทำงานในระบบ ตลาดแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมไม่สามารถรองรับแรงงานในระบบได้อย่างเพียงพอ ฯลฯ
เมื่อเรารู้จักภาพรวมของแรงงานนอกระบบกันพอสมควรแล้ว ประเด็นต่อไปที่เราอยากรู้คือ ชีวิตของแรงงานนอกระบบเป็นอย่างไร?
ทำงานน้อยก็จน
สถิติชั่วโมงทำงานของแรงงานนอกระบบที่สำรวจโดย ILO พบว่า แรงงานนอกระบบทั่วโลก ร้อยละ 78.7 ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่มาตรฐานการทำงานของแรงงานในระบบส่วนใหญ่อยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่างกัน 2 เท่า และยิ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา แรงงานนอกระบบที่มีชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 91.4
การมีชั่วโมงการทำงานน้อยไม่ใช่เรื่องดี เพราะรายได้ที่ได้รับก็น้อยตามไปด้วย เนื่องจากงานของแรงงานนอกระบบมักเป็นงานชั่วคราว และรับค่าจ้างเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอีกด้วย
ทำงานน้อยแล้วจนจริงไหม? ลองไปดูสถิติรายได้แรงงานนอกระบบเปรียบเทียบกับแรงงานในระบบ
สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ใช้วิธีวัดความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) ซึ่งเป็นการกำหนดระดับเส้นความยากจนไว้ที่ 3.10 ดอลลาร์ (ประมาณ 111 บาท) ต่อคนต่อวัน พบว่าแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีจำนวนมากกว่าแรงงานในระบบทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกา เช่น มาดากัสการ์ (ปี 2012) มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบที่ยากจนมากถึงร้อยละ 92 ขณะที่แรงงานในระบบที่ยากจนมีจำนวนร้อยละ 59.5
ประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้วิธีวัดอัตราความยากจนสัมพัทธ์ (relative poverty rate) ซึ่งเป็นวิธีการวัดความยากจนโดยคนที่มีรายได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของค่าเฉลี่ยรายได้ที่ครัวเรือนใช้จ่ายในแต่ละประเทศ (national median Household disposable income) และเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนา มีแรงงานนอกระบบที่ยากจนมากกว่าแรงงานในระบบ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ปี 2012 มีแรงงานนอกระบบที่ยากจน ร้อยละ 22.5 ส่วนแรงงานในระบบที่ยากจน อยู่ที่ร้อยละ 9.6
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหนบนโลก แรงงานนอกระบบมีฐานะยากจนกว่าแรงงานในระบบเสมอ
ทำงานหนักก็เสี่ยง
นอกจากทำงานน้อยแล้วยากจน ทำงานหนักก็ยังมีความเสี่ยง เพราะจากสถิติของ ILO ระบุว่า มีแรงงานจำนวนมากถึง 2.78 ล้านคนต่อปี ที่ต้องเสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุหรือมีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน ทำให้การคุ้มครองทางสังคม (social protection) จากรัฐ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่แรงงาน ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบก็ตาม
แต่สำหรับชีวิตแรงงานนอกระบบกลับมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมที่สำคัญ คือ ระบบประกันสุขภาพ (health insurance) พบข้อมูลที่น่าเศร้าว่า ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่มีแรงงานนอกระบบที่เข้าถึงระบบประกันสุขภาพเพียงร้อยละ 33 เท่านั้น ต่างจากแรงงานในระบบที่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ร้อยละ 71
เมื่อเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ ย่อมสงผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูง หากเปรียบเทียบสถิติของครอบครัวที่มีแต่แรงงานนอกระบบ (informal) ครอบครัวแบบผสม (mixed) คือมีทั้งแรงงานนอกระบบและในระบบภายในครอบครัวเดียวกัน และครอบครัวแรงงานในระบบ (formal) พบว่า ครอบครัวที่มีแรงงานนอกระบบ ทั้ง informal และ mixed มีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงกว่าครอบครัว formal อย่างชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำงานหนักจนถึงวัยชราแล้ว การได้รับเงินบำนาญ (pension) ถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมที่จำเป็นสำหรับแรงงานทุกคน เพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยงในชีวิตเมื่อถึงช่วงวัยที่ไม่มีรายได้ ทว่าแรงงานนอกระบบกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงเงินบำนาญได้น้อยที่สุด
จากข้อมูลของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด พบสัดส่วนของแรงงานนอกระบบที่ได้รับบำนาญเพียงร้อยละ 51 ส่วนครอบครัวแบบผสม ร้อยละ 62 และครอบครัวของแรงงานในระบบ ร้อยละ 69
นอกจากนั้น ในช่วงเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานนอกระบบกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุด โดย ILO ประมาณการว่า แรงงานนอกระบบกว่า 1,600 ล้านคน ต้องขาดรายได้จากการทำงานที่ไม่มีสัญญารองรับ ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ เพราะไม่มีระบบประกันสังคมที่เพียงพอ ซึ่งหากดูสถิติของแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 จำแนกตามฐานะของประเทศแล้ว จะพบว่าแรงงานนอกระบบเกือบทั้งหมดบนโลกไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (lower middle income) มีแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบถึงร้อยละ 80 จากจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมดร้อยละ 85
ยิ่งจน สุขภาพจิตยิ่งแย่
จากปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตการทำงาน อาจสั่งสมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ในที่สุด
งานวิจัย ‘Informal Employment and Poor Mental Health in a Sample of 180,260 Workers from 13 Iberoamerican Countries’ (2022) สำรวจปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มแรงงานจำนวน 180,260 คน ในกลุ่มประเทศแถบอเมริกาใต้และประเทศที่ใช้ภาษาสเปน 13 ประเทศ โดยใช้แบบสอบถามด้านสุขภาพและชีวิตการทำงาน พบข้อมูลว่า แรงงานนอกระบบมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าแรงงานในระบบ จากความไม่มั่นคงในการทำงานและการไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม
เช่นเดียวกับที่ประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 2019 แรงงานนอกระบบที่ทำงานในภาคการเกษตรและลูกจ้างรายวันมากกว่า 42,000 คน ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะปัญหาหนี้สิน ซึ่งมีสาเหตุจากงานที่ไม่มั่นคงและรายได้ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถแบกรับได้
จะช่วยแรงงานนอกระบบได้อย่างไร
เพราะปัญหาของแรงงานนอกระบบไม่ได้เกิดจากปัญหาส่วนบุคคล แต่เกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล องค์การที่มีอำนาจและทรัพยากรในการจัดสรรงบประมาณ การคุ้มครองทางสังคม (social protection) จากรัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรับมือความเสี่ยงในชีวิตของแรงงานนอกระบบ โดยแต่ละประเทศนั้นมีนโยบายที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. การประกันสังคม (social insurance)
ปัญหาส่วนใหญ่ของแรงงานนอกระบบ คือ การไม่มีระบบประกันสังคม ไม่มีนายจ้าง ขาดหลักประกันในการรับเงินช่วยเหลือยามเดือดร้อน ดังนั้น รัฐจึงต้องออกแบบโครงการเพื่อดึงดูดให้พวกเขาสามารถเข้าสู่ระบบได้ ตัวอย่างเช่น
บราซิล: มีโครงการ Previdencia Rural หรือระบบบำนาญที่ผู้รับบำนาญไม่ต้องจ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสม แต่รัฐช่วยสนับสนุนเงินสมทบให้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบท
อุรุกวัย: มีโครงการ Monotax เชิญชวนให้เจ้าของกิจการขนาดเล็ก สามารถเลือกเข้าระบบประกันสังคมได้ผ่านการจ่ายภาษี หรือเลือกจ่ายเงินสมทบเหมือนแรงงานในระบบทั่วไป
ฟิลิปปินส์: มีโครงการ AlkanSSSya program จูงใจให้แรงงานนอกระบบอย่างคนขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วยการจ่ายเงินสมทบเป็นรายวัน แม้มีจำนวนเงินสมทบน้อยก็สามารถเข้าร่วมได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงานนอกระบบ
ฟินแลนด์: มีนโยบายดูแลแรงงานนอกระบบรายได้น้อย เช่น อาชีพชาวนา ชาวประมง คนทำงานปศุสัตว์ โดยจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลคนทำงานกลุ่มนี้โดยเฉพาะเรียกว่า ‘Mela’ (The Farmers’ Social Insurance Institution Mela) ซึ่งแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะจ่ายเงินสมทบเข้ารัฐไม่มาก แต่รัฐก็ช่วยจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขาได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกับแรงงานประเภทอื่น
ไทย: นอกเหนือจากระบบประกันสังคมแล้ว อีกวิธีการหนึ่งคือการขยายระบบประกันสุขภาพให้เป็นแบบถ้วนหน้า ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ หรือที่เรียกว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับทุกคน โดยประชาชนจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30 บาทต่อครั้ง (ยกเว้นค่าบริการ 30 บาท สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีรายได้น้อย) ซึ่งช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลของแรงงานนอกระบบได้เป็นจำนวนมาก
2. การช่วยเหลือทางสังคม (social assistance)
สถิติข้อมูลจาก OECD ในปี ค.ศ. 2015 พบว่า เงินช่วยเหลือทางสังคมจากรัฐ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 15 ของรายได้ในครัวเรือนของแรงงานนอกระบบ นับได้ว่าเป็นเงินก้อนที่สร้างความมั่นคงและช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตให้แก่พวกเขา ตัวอย่างเช่น
จีน: มีโครงการ Dibao ให้เงินแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข (unconditional cash transfer) เพื่อช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวยากจนตามเกณฑ์ที่กำหนด คล้ายกับโครงการต่างๆ ของประเทศในทวีปแอฟริกาที่มุ่งให้เงินช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ยากไร้
บราซิล: โครงการ Bolsa Familia เป็นการโอนเงินแบบมีเงื่อนไข (conditional cash transfer) ให้ครอบครัวยากจน ถ้าอยากเข้าร่วมต้องส่งเด็กเข้ารับการศึกษาและฉีดวัคซีนตามข้อกำหนดของรัฐ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระแล้ว ข้อกำหนดเหล่านี้ยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ครอบครัวอีกด้วย
3. การออกกฎหมาย (legislate)
เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างแรงงานในระบบ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยเหลือ
มาเลเซีย: มีการออกกฎหมาย The Employment (Part-Time Employees) Regulation 2010 ปรับปรุงเพิ่มเติมจากกฎหมายในปี 1955 มีเนื้อหาใจความว่า แรงงานนอกระบบที่ทำงานบางเวลา หรือ part-time จะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบคนอื่นๆ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน ค่าล่วงเวลาสำหรับทำงานวันหยุด ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง เป็นต้น
ญี่ปุ่น: มองว่าคนทำงานนอกระบบควรได้รับโอกาสและความเท่าเทียมเช่นเดียวกับคนทำงานในระบบ จึงมีกฎหมาย The Act on Improvement of Employment Management for Part-Time Workers ที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1993 โดยมาตรา 8 ระบุชัดเจนว่า “การห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบ” ทั้งในเรื่องค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง การฝึกอบรม ฯลฯ
แอฟริกาใต้: สำหรับแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพเฉพาะทาง อย่างแรงงานทำงานบ้าน (domestic workers) เช่น พ่อบ้าน แม่บ้าน ก็มีกฎหมายคุ้มครองโดยเฉพาะ คือ The Basic Conditions of Employment Act, Sectoral Determination 7: Domestic Workers ซึ่งบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิการลา จำกัดชั่วโมงการทำงาน การระบุให้นายจ้างต้องทำสัญญาการจ้างงานกับลูกจ้าง รวมทั้งมีกองทุนประกันการว่างงาน หรือ The Unemployment Insurance Fund ที่ให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินชดเชยเมื่อขาดรายได้
ยิ่งรัฐลงทุนช่วยเหลือ แรงงานนอกระบบยิ่งลดลง
การช่วยเหลือจากรัฐทำแล้วได้ผลจริงไหม? จากสถิติพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างการใช้จ่ายเพื่อการคุ้มครองทางสังคม (social protection) และสถิติแรงงานนอกระบบในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ดังนี้
ภูมิภาคที่มีจำนวนแรงงานนอกระบบมากที่สุดอย่างทวีปแอฟริกา มีการลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคมเพียงร้อยละ 5.1 ของ GDP เท่านั้น ส่วนทวีปเอเชียและอาหรับที่มีจำนวนแรงงานนอกระบบน้อยลงมา มีการลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคมที่มากกว่า คือร้อยละ 5.3 และ 8.7 ของ GDP ตามลำดับ ส่วนภูมิภาคที่มีจำนวนแรงงานนอกระบบไม่มากนักอย่างทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชียกลาง มีการลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคมมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP (ILO ใช้สถิติข้อมูลจาก 2011 แต่ข้อมูลในปัจจุบันยังอยู่ในแนวทางเดิม คือ ทวีปที่มีแรงงานนอกระบบจำนวนน้อย มีการลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคมมากกว่าทวีปอื่น)
จากข้อมูลจึงสรุปได้ว่า ยิ่งประเทศไหนลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคมมากเท่าไร จำนวนแรงงานนอกระบบก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น การช่วยเหลือจากรัฐจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบในโลกใบนี้
สร้างหลักประกันความมั่นคงด้วยความเข้าใจ ไม่เลือกปฏิบัติ
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงทราบกันแล้วว่า แรงงานนอกระบบคือกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากมายในชีวิต ทั้งความเสี่ยงจากการตกงาน ขาดรายได้ ปัญหาหนี้สิน ภาระส่วนใหญ่ในชีวิตพวกเขาไม่ได้มาจากความผิดส่วนบุคคล ไม่ได้มาจากความขี้เกียจ ไม่ใฝ่หาความรู้ แต่ล้วนเกิดจากปัญหาโครงสร้างของสังคมที่ปิดกั้นโอกาสให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้เขียนเห็นว่า การจะช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตให้แรงงานนอกระบบ ควรเริ่มต้นที่การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น หรือ empathy แม้ในปัจจุบันเราอาจจะเป็นแรงงานในระบบหรือไม่ก็ตาม แต่การรับรู้ถึงปัญหาชีวิตของแรงงานนอกระบบ จะทำให้เราเข้าใจว่า การมีชีวิตอยู่โดยแบกรับความเสี่ยงมากมายในชีวิต คงไม่ใช่ชีวิตที่ทุกคนปรารถนา และคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัว
ดังนั้น หากพวกเราในฐานะสมาชิกในสังคม เริ่มต้นมี empathy ในหัวใจแล้ว การแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือชีวิตแรงงานนอกระบบจะเกิดขึ้นได้ หากเราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เราจะออกแบบนโยบายและจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาให้พวกเขา หากเราเป็นประชาชน เราจะช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายรัฐต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์กรหรือพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งคอยติดตามการทำงานของรัฐบาล เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไข
ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นของคนในสังคม จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบที่ดีขึ้น เพื่อสักวันหนึ่งแรงงานทุกคนบนโลกนี้จะได้รับโอกาสให้มีชีวิตที่มั่นคงอย่างเท่าเทียมกันเสียที
อ้างอิง:
- งานวิจัย ‘Informal Employment and Poor Mental Health in a Sample of 180,260 Workers from 13 Iberoamerican Countries’ โดย Michael Silva-Peñaherrera , Paula Santiá , Fernando G Benavides (2022)
- โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘การสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพ’ โดย กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- Counting the World’s Informal Workers: A Global Snapshot
- Extending social security to workers in the informal economy โดย ILO (2021)
- Mental health and the floundering informal worker
- Over 42,000 workers from informal sector allegedly die by suicide
- Tackling Vulnerability in the Informal Economy ของ OECD และ ILO (2019)
- Women and men in the informal economy: a statistical picture โดย ILO (2018)