สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิการิยะ ตถาคโต สิทธิเตโช ชโยนิจจัง สิทธิเตโช ชัยยะ ประชาธิปไตย มันผู้ใดที่กดขี่ข่มเหงประชาชน ขอให้มันผู้นั้นจงเสื่อมยศ เสื่อมลาภ เสื่อมฐานันดร เสื่อมเกียรติยศ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ขอจงวิบัติฉิบหายด้วยตัวของมันเทอญ สาธุ
บางส่วนจาก บทสวดเอาฤกษ์เอาชัยที่ใช้ในการชุมนุม ซึ่งเราขอให้เขากล่าวนำก่อนเปิดฉากสนทนาในครั้งนี้
หลังจากสร้างความฮือฮา ด้วยการสวดสาปแช่งคนถอนหมุด ‘คณะราษฎร 2563’ ที่ปักลงกลางสนามราษฎร ระหว่างการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา
เขายังเป็น ‘ดาวปราศรัย’ ที่มีลีลา ท่วงทำนองสร้างสรรค์ การออกแบบการปราศรัยที่ฉีกแนวออกไปจากภาพที่หลายคนคุ้นเคย ก่อนจะเปล่งประกายขึ้นมาพร้อมๆ กับมวลชนคนรุ่นใหม่ที่อดรนทนไม่ไหวต่อสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่
ไม่ว่าจะเรียก ‘พ่อใหญ่’ ‘พ่อหมอ’ ‘ครูใหญ่’ ‘ครูพี่ใหญ่’ ล้วนต่างเป็นฉายาที่ถูกใช้เรียกกับคนเดียวกันที่ชื่อ อรรถพล บัวพัฒน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ‘ขอนแก่นพอกันที’ ปีกหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวแห่งยุคสมัยที่มุ่งเปลี่ยนกติกาของบ้านเมืองโดยไม่หวังพึ่งพิงผู้มีอภินิหารที่ไหนมาบัญชา
นอกจากข้อเรียกร้องที่ถอนรากถอนโคน การเคลื่อนไหวในแนวราบ ศิลปะการต่อสู้ระหว่างการชุมนุมที่แปลกใหม่ จนอาจจะทำให้ใครหลายคนเผลอลืมภาพของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สนธิ ลิ้มทองกุล, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ ไปเสียก่อน ในวันที่ 14 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ จะเป็นการรวมตัวเคลื่อนไหวจากทั่วประเทศครั้งแรก ถนนทุกสายของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงมุ่งสู่ราชดำเนิน
WAY สนทนากับอรรถพลถึงแนวทางการเคลื่อนไหว วิธีการปราศรัย การสร้างสรรค์ และออกแบบวิธีการสื่อสารกับมวลชน พร้อมกับบทวิเคราะห์การเคลื่อนไหวที่ให้ภาพการเคลื่อนไหวแตกต่างจากอดีตในหลายประเด็น
ในวันที่ผู้คนยังสับสนว่าอะไรคือรากอะไรคือโคน ‘ครูใหญ่’ มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เสมือนการ “ค่อยๆ เด็ดใบ” เพื่อดูโครงสร้างของต้นไม้และกิ่งไม้ ก่อนจะค่อยๆ ตัดกิ่ง และจบลงที่การถอนโคน
ทั้งหมดทั้งมวลเขามองว่า มันอาจจะช้า แต่ทว่า
“จะทำให้เราชนะยาว”
เย็นวันนี้ (7 ตุลาคม 2563) เป็นอีกครั้งที่คุณจะขึ้นปราศรัย คุณจะเอากล่องงูไปปล่อยด้วยไหม
ผมเล่นมุกนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วครับที่ถนนราชดำเนิน (16 สิงหาคม 2563) ก่อนหน้านี้ใช้มุกกล่องเล่นที่ขอนแก่น หนองคาย และชัยภูมิ และคงเหมือนเป็นภาพจำไปแล้วว่าผมต้องมาพร้อมกับอุปกรณ์ และต้องมาพร้อมกับมุก อันที่จริงบางครั้งก็ไม่ได้อยากเล่นมุกให้มากมาย นับตั้งแต่นั้นกลายเป็นว่าต้องตอบสนองความคาดหวังของคนที่มาฟัง ว่าเราต้องมาพร้อมกับความเอนเตอร์เทน
จริงๆ ก็อยากปราศรัยซีเรียสเหมือนผู้ปราศรัยคนอื่น แต่พอเราเปิดตัวไปด้วยความสนุกสนานแล้ว กลายเป็นว่ามันไปสร้างมาตรฐานไว้อย่างนั้น พอหลังจากนั้นแต่ละครั้งที่ขึ้นปราศรัยจึงต้องเริ่มคิดแล้วว่า ‘กูจะเอาอะไรไปพูดให้เขาฮาวะ’ กลายเป็นสิ่งที่ต้องคิดมากกว่าเนื้อหาในการประชุมก่อนการชุมนุมเสียอีก (หัวเราะเบาๆ)
ที่ผ่านมา หลายต่อหลายมุกก็มาจากทีมงานในการช่วยกันคิด โดยเฉพาะที่ออฟฟิศกลุ่มขอนแก่นพอกันที จะมีการขึ้นกระดานไว้ ถ้าใครนึกมุกออกก็ให้เขียนใส่กระดานไว้ ซึ่งบางคนก็มาเติมว่ามุกนี้ใครขาย มุกนี้ใครจอง อาจจะเรียกว่าเป็นมุกของกลุ่มเลยก็ได้ แต่เวลาที่เราเล่นบนเวทีอาจจะมีบุคลิกและน้ำเสียงที่สนุกสนาน และมันเวิร์ค ก็อาจจะทำให้คนจดจำตรงนั้น
จุดเริ่มต้นในการขึ้นปราศรัยทางการเมืองของคุณเริ่มขึ้นเมื่อไหร่
(นิ่งคิด) ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และต่อมหาวิทยาลัย จนกระทั่งออกมาทำงาน ผมพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอื่นอย่างจริงจังมาโดยตลอด และในห้องเรียนของผมเองที่ผมทำงานเป็นติวเตอร์อิสระอยู่ ผมก็จะมีห้องเรียนเป็นของตัวเอง และใช้มันเป็นห้องเรียนการเมืองด้วย โดยจะเร่งเนื้อหาที่จะใช้สอบให้จบเร็ว ฉะนั้นจะเหลือเวลาในการพูดคุยการเมือง สังคม เศรษฐกิจกับนักเรียน
ส่วนนักเรียนที่เข้ามาเรียนก็จะทราบมาก่อนว่า เมื่อเข้ามาเรียนกับคนนี้จะมีเนื้อหาแบบนี้ๆ นะ และพวกเขาก็ตั้งฉายาให้ผมว่า ‘ครูใหญ่สังคมเสี่ยงคุก’
เมื่อก่อนเราเป็นกองเชียร์ เป็นผู้สนับสนุน เป็นคนที่เคลื่อนไหวอยู่ด้านหลัง ตอนนี้ที่เราต้องเป็นคนขึ้นมาอยู่ด้านหน้า มันเริ่มขึ้นเมื่อมีกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ น้องๆ นักศึกษาที่ขอนแก่นคุยกันว่าพวกเขาจะทำแฟลชม็อบกัน เขาคุยกันก่อน ฉะนั้นในหมู่คนที่เป็นทีมงานของขอนแก่นพอกันที ผมถือเป็นคนท้ายๆ ด้วยซ้ำที่รู้ว่าจะมีการทำแฟลชม็อบ เมื่อน้องๆ โทรมาบอกว่า “พวกผมจะทำแฟลชม็อบกันนะพี่ พี่ช่วยมาปราศรัยหน่อย”
เป็นช่วงเดียวกับที่ผมสอนหนังสือหนักมาก แต่ยังพอมีเวลาพักบ้างในช่วงเย็น ผมก็ตอบรับว่า “ว่างแล้วจะไปช่วยปราศรัย” การปราศรัยครั้งนั้นก็ทำให้ต้องมาเป็นคนที่อยู่แถวหน้าของการชุมนุมที่ขอนแก่น และด้วยความที่ขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ มีทรัพยากรมากที่สุดในอีสาน ทั้งคน การระดมทุน การจัดงาน ทำให้กลุ่มขอนแก่นพอกันที กลายเป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่อยากจะจัดการชุมนุมแต่ยังไม่เข้มแข็ง หรือไม่มีนักศึกษาทำงาน ผมจึงลงไปช่วยจัดกิจกรรมด้วย รวมถึงจังหวัดที่เข้มแข็งอยู่แล้วเราก็ไปแจม
อีกอย่างคือ ความอาวุโสที่ไม่ห่างจากนักเรียน นักศึกษา พร้อมๆ กับวัยที่ไม่ห่างจากผู้ใหญ่มากจนเกินไป ในการชุมนุมที่อีสานซึ่งมีคนเข้าร่วมหลายช่วงวัย เราจึงสามารถเชื่อมได้ทั้งสองเจเนอเรชั่น ทำให้ต้องขึ้นปราศรัยตลอด เช่น ในช่วงที่เวทีเยาวชนปลดแอก ต้องการตัวแทนจากภาคอีสาน ก็เป็นเราที่ไปปราศรัยไปโดยปริยาย และในการชุมนุมครั้งนั้นเอง ที่ผมต้องเอากล่องใบนั้น (กล่องบรรจุอุปกรณ์การปราศรัย) ซึ่งเล่นมาแล้วหลายเวทีในอีสาน มาเล่นที่ราชดำเนินด้วย
ถ้าหากใครติดตามการปราศรัยของคุณ จะเห็นว่ามีรูปแบบการปราศรัยที่แหวกแนวต่างออกไปจากการปราศรัยที่เราเห็นจนชินตา อยากทราบว่ามีวิธีการเตรียมตัว หรือการออกแบบการสื่อสารต่อมวลชนอย่างไร
ผมใช้วิธีการเดียวกันกับรูปแบบที่ผมใช้ในห้องเรียน หมายถึง ไม่จำเป็นต้องเครียด เราสามารถพูดเรื่องเครียดแบบที่ไม่จำเป็นต้องเครียด เพราะเนื้อหามันเครียดอยู่แล้ว ประกอบกับการที่เรามีบุคลิกในการพูดในการสื่อสารแบบนี้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เราเลยถ่ายทอดได้อย่างที่เราเป็น
จริงๆ แล้วต่อให้ผมพูดเรื่องที่มันเครียดขนาดไหน มันก็ออกมาไม่เครียดอยู่ดี ผมก็งงมาก เวลาที่ผมโมโหขณะกำลังประชุม เพื่อนๆ น้องๆ จะหัวเราะเวลาที่ผมโมโห ก็แปลกใจว่า ‘กูจะโมโหบ้างไม่ได้เลยเหรอ’ (ยิ้ม)
ในการชุมนุมใหญ่วันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา คุณก็แสดงอภินิหาร ด้วยการส่งบทสวดขับไล่เผด็จการระหว่างการฝังหมุดฯ อยากทราบว่าวันนั้น ที่ต้องแต่งตัวเป็นพ่อหมอ ทำไปเพื่อประชดประชันหรือเปล่าหรือทำแบบจริงจัง
มันเป็นการแสดงกึ่งจริง ในด้านหนึ่งมันเป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในกรรมวิธี ในบทสวดเราก็เอาของจริงเข้ามาแทรก ผมมองว่าความขลังไม่ได้อยู่ในขั้นตอนกรรมวิธีหรือบทสวดหรอก ที่ผมบอกว่าวันนั้นขลังแน่ๆ ก็เพราะขลังด้วยการรวมจิตรวมใจของทุกคน จิตใจที่เรามีเป้าหมายเดียวกัน จิตใจที่เราต้องการต่อสู้เพื่อสิ่งเดียวกัน และพร้อมใจ
คุณชอบดูรายการตลกไหม คิดว่าตัวเองเป็นคนตลกไหม
“ผมเป็นคนตลกไหม” (ทวนคำถาม) ผมว่าผมเป็นคนซีเรียสนะ คนก็จะมองว่าเราเป็นคนตลก แต่จริงๆ ผมจะตลกเมื่อออกมาสู่โลกภายนอก เพราะคิดว่าการพูดคุยสนุกสนานจะทำให้เราคุยกันได้ยาว
แต่ผมมีโลกส่วนตัวสูง เวลาที่ผมกลับเข้ารัง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือห้องส่วนตัว จะชอบอยู่คนเดียวมากๆ และถ้าในเวลาไหนที่เราไม่พร้อมที่จะออกมาเจอคนอื่น ผมก็ไม่ค่อยอยากให้คนอื่นไปหาผม
ยกเว้นเวลาที่เราออกมากินมาเที่ยวกัน แล้วผมก็มองว่าไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เป็นแบบนี้ หลายคนที่เจอในชีวิตประจำวัน หรือคนที่เคลื่อนไหวด้วยกัน ก็จะเป็นเหมือนกัน
กับครอบครัวเอง ผมยังมองว่าผมบกพร่องด้วยซ้ำ เพราะผมมองว่าผมเอาความสนุกให้คนอื่น แต่กับครอบครัวกลับเครียดมาก ไม่ยิ้ม ไม่ค่อยพูดสนุกกับครอบครัว และกว่าจะพูดสักเรื่องหนึ่งก็ต้องเป็นเรื่องที่ซีเรียส แต่พอออกมาข้างนอก ผมก็สร้างรอยยิ้มให้คนอื่นไป
คุณถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เติบโตมาแบบไหน
ตามใจตัวเองพอสมควร หมายถึง ตามใจตัวเองในบรรยากาศที่ถูกตีกรอบจากครอบครัวนะ เพราะว่าผมเติบโตมาในครอบครัวชนบท ที่มีพ่อเป็นข้าราชการครู คล้ายกับว่าด้วยความที่เป็นครู ก็จะทำให้พ่อมีบทบาท มีปากเสียงในชุมชน พูดง่ายๆ ว่าคนที่เป็นข้าราชการในชนบทก็จะได้รับการนับหน้าถือตา ส่วนแม่ก็ทำงานต่างประเทศ ในช่วงที่ผมเด็กอยู่
ฉะนั้นวัยเด็กของผมก็จะเติบโตมากับพ่อและพี่ชาย ทั้งบ้านจึงมีผู้ชายทั้งหมด 3 คน ทุกคนก็จะออกนอกบ้านเวลาเดียวกัน กลับบ้านเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าช่วงนั้นพ่อผมก็ใช้ชีวิตเสมือนคนโสด ผมก็จะต้องอยู่กับยายเสียมากกว่า เมื่อผมโตขึ้นมาเรียนชั้นมัธยมก็จะค่อนข้างไม่ค่อยอยู่บ้าน แต่ไม่ได้ไปเล่นเกม หรือไปเที่ยวที่ไหนนะ ผมไปอยู่วัด
เพราะเป็นคนที่สนใจในเรื่องลึกลับ เรื่องเหนือธรรมชาติ มักสงสัยว่ามันมีอยู่จริงหรือเปล่า เลยเอาตัวเข้าไปศึกษา โดยจะมีพระ คนเฒ่าคนแก่ หมอพื้นบ้าน เราจะชอบเข้าไปทำความรู้จัก ขอไปศึกษาวิชา ก็จะพบว่าอันนี้คือเรื่องจริง อันนี้คือเรื่องไม่จริง คือพอเราสงสัยอะไรก็จะเอาตัวเองเข้าไปคลายความสงสัยตรงนั้น
วิชาบทสวดที่เอามาใช้ปราศรัยบางส่วน ก็มาจากการแสวงหาความลี้ลับในวัยเด็ก?
ใช่ ก็มาจากพวกนี้แหละ ถูกฝึกให้ลองเอาบทนี้ไปท่องดู ทำดู ถ้าพูดแบบตำนานพื้นบ้านก็คือเป็นช่วงที่โอรสไม่อยู่ในพระนครแต่ไปศึกษากับพระเจ้าตา
เคยเป็นประธานนำสวดที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยบ้างไหม
ไม่ครับ (ตอบสวนทันที) ผมไม่ทำกิจกรรมทางศาสนาใดๆ ที่เป็นส่วนรวม ผมคิดว่ากิจกรรมทางศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว อย่างไรก็ตามผมมีความเชื่อทางศาสนาและมีความอินกับศาสนามาก แต่มองว่าศาสนาไม่ควรถูกบังคับให้ทำในโรงเรียนหรือทำในองค์กร ไม่ใช่บังคับจัดกิจกรรมทางศาสนาแล้วทุกคนต้องออกมาสวดมนต์พร้อมกัน เพราะใครอยากสวดมนต์ ใครอยากนับถืออะไรก็ทำไปเป็นเรื่องส่วนตัว
ผมมองว่าในโรงเรียนไม่ควรมีการสวดมนต์ระหว่างเข้าแถวตอนเช้า ต่อให้คุณบอกว่าคุณเป็นพุทธ คุณก็มีระดับของความเป็นพุทธ คุณสามารถเป็นพุทธที่บอกได้ว่า การสวดมนต์เป็นแค่เปลือก ฉันจะเอาแค่แก่น หรือจะเป็นพุทธที่บอกว่าเปลือกก็ไม่เอา แก่นก็ไม่เอา แต่ฉันก็เป็นพุทธแหละ มันไม่ควรบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน ผมมองว่า อะไรที่เป็นขั้นตอนหรือพิธีการมันน่ารำคาญสำหรับศาสนา ทุกคนจงสวดมนต์ พนมมือ กราบพร้อมกัน มันไม่จำเป็น
ไม่จำเป็นในแง่ที่ว่า เรากำลังให้ความสำคัญในด้านกิริยามากกว่าด้านจิตตะ หรืออย่างพิธีไหว้ครู ผมอินกับการไหว้ครู แต่ไม่ใช่จัดงานด้วยการเอาครูและนักเรียนมานั่งเป็นร้อยเป็นพันในโรงเรียนแล้วกราบพร้อมกัน สวดแบบเดียวกัน
แต่ผมอินกับครูบาอาจารย์ ซึ่งนอกจากครูที่สอนสั่งทางโลก แล้วผมก็มีครูทางธรรม ที่ผมจะมีขันดอกไม้ไปสักการะในวันสำคัญ เช่น เข้าพรรษาหรือออกพรรษา แต่เป็นส่วนตัวของผม ดังนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐหรือหน่วยงานราชการบังคับให้คนมีกิริยาทางศาสนาในแบบเดียวกัน
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเที่ยวนี้ มีความหลากหลาย ในฝั่งศาสนาก็มีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม รวมถึงคนไม่นับถือศาสนาแล้วยังมีกลุ่มสิทธิของผู้หญิง LGBT+ นักเรียนอีก เป็นเรื่องยากไหมที่จะปราศรัยให้เนื้อหามันโอบรับคนทุกกลุ่ม
ยากนะ (เน้นเสียง) ส่วนตัวของผมเองก็มีข้อบกพร่องเหมือนกัน นอกจากเรื่องประชาธิปไตยและขับไล่เผด็จการที่คลิกร่วมกัน ในแต่ละคนเองก็จะแบกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม LGBT+ ผู้หญิงปลดแอก กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เขาต่างมีประเด็นเฉพาะของเขา แต่ทุกคนมองว่าเรื่องที่ต่างคนแบกไว้มันเป็นคลิกที่สอง ดังนั้นคลิกที่กว่าจะไปถึงเรื่องที่เขาแบกไว้ เราต้องเอาคลิกแรกคือเรื่องประชาธิปไตยก่อน เอาสังคมที่เปิดกว้างเรื่องนี้ตั้งต้น
บางเรื่องผมก็ว้าวนะ (ตาโต) ผมคิดว่า เฮ้ย! เรามีเรื่องนี้ที่เราต้องเรียกร้องกันด้วยเหรอ อย่างเช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผมก็บ้งเหมือนกัน เพราะบางครั้งการปราศรัยของผมมันหมิ่นเหม่ไปละเมิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผมก็ถูกตำหนิมา แต่ในการตำหนินั้น ผมไม่ได้โกรธอะไร เพราะทำให้ผมรู้ว่า “อ่อ กูไม่รู้ กูไม่เข้าใจมันนี่หว่า เฮ้ย กูคิดว่ากูเข้าใจแล้ว แต่มันยังไม่ถึง”
ดังนั้น หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ควรจะเรียกร้องเช่นเดียวกัน จนถึงวันหนึ่งที่คนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องอำนาจคณะสงฆ์ ผมก็อยากจะโยนมันลงไปด้วย และผมก็ไม่ได้เรียกร้องว่าทุกคนจะต้องเข้าใจให้ได้มากเท่าผม แต่ผมมองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้ประเด็นที่แต่ละคนสนใจ โยนมันลงมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าไม่มีการต่อสู้ครั้งนี้ผมนึกภาพไม่ออกว่านักเรียนจะมีพื้นที่หรือโอกาสไหนที่เขาจะสามารถพูดเรื่องการกดขี่ในโรงเรียนและมันดังได้ขนาดนี้
ถ้าไม่มีการต่อสู้ครั้งนี้นอกจากเวทีสัมมนาวิชาการที่มีคนนั่งในที่ประชุมแค่ 20-100 คน หรือกลุ่มเท่าเทียมทางเพศจะมีเวทีตรงไหน ผมก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้ในส่วนที่ตัวเองบกพร่อง ในแง่นี้ความยากของมันก็อาจจะมี แต่ในความยากมันเปิดโอกาสให้ประเด็นต่างๆ ปรากฏในพื้นที่ทางสังคม
การวิพากษ์กันเองดูเหมือนจะเป็นดีเอ็นเอของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไปแล้ว อยากถามว่า PC (Political Correctness – ภาษาที่ถูกต้องทางการเมือง) ของสังคมประชาธิปไตยที่ถูกยกขึ้นมาเคลื่อนไหวด้วย เป็นอุปสรรคต่อการสร้างอารมณ์ขันเพื่อสู้กับเผด็จการไหม
ผมมองว่าอาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราเดินลำบากหน่อย ไม่ได้หมายความว่าพูดได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกอย่างนะ แต่ในเส้นทางที่เป็นอุปสรรคนี้ ผมมองว่าจะทำให้เราชนะยาว เพราะเราได้เรียนรู้ไง เพราะเผด็จการไม่ได้อยู่ได้ด้วยเพียงอำนาจกระบอกปืน หรืออำนาจเงิน แต่เขาอยู่ได้ด้วยผู้สนับสนุน ฉะนั้นบางทีเราเองก็อาจเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการในขณะที่เราต่อต้านอยู่ บางทีบางเรื่องเรายังไปยอมรับวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบเผด็จการกันอยู่
วันนี้เราได้ออกมาพูดเรื่องโซตัส ได้พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ พูดถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่ พูดถึงอำนาจสงฆ์ พูดถึงปัญหาของการสร้างเหมือง ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ถูกนำมาพูดในเวที ให้เราได้มาคิด มาทำความเข้าใจร่วมกันกับคนทั้งสังคม
ในอนาคต โอกาสที่เราเองอาจจะเกลียดชังเผด็จการแต่กลับไปสนับสนุนเผด็จการทางอ้อมก็จะน้อยลง โอกาสที่เราจะสนับสนุนโซตัส ก็จะน้อยลง สนับสนุนชายเป็นใหญ่ก็จะน้อยลง เราจะทำความเข้าใจเรื่องอำนาจสงฆ์ก็อาจจะมากขึ้น
ในขณะที่เราติเตียน ก่นด่ากันเองนี่แหละ จะทำให้เรา อ้อ เรื่องแบบนี้แหละที่ทำให้เราไปสนับสนุนเผด็จการ สิ่งนี้เองที่ทำให้เผด็จการยังอยู่ได้ มันช้านะ เตะตัดขากันบ้างนะ แต่ก็เหมือนกับการจะตัดต้นไม้สักต้น ถ้าเราไปโค่นที่โคนเลย โอกาสที่มันจะล้มก็ยาก
ตอนนี้เราเห็นต้นไม้มันเป็นพุ่มอยู่ และอยากจะเห็นว่าโครงสร้างมันเป็นยังไง ต้องเด็ดใบออกให้หมดก่อน พอเด็ดใบออก เราก็จะดูได้ว่าเราจะตัดกิ่งไหนก่อน แล้วค่อยไปที่ต้นของมัน แล้วพิจารณาว่าจะให้มันล้มไปทางไหน ผมมองว่าตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนเอาใบออกเพื่อให้เห็นกิ่งทั้งหมด
ในขบวนการมีความหลากหลายและยังมีลักษณะเป็นเครือข่ายมากกว่าสายบังคับบัญชา คุณจัดวางตัวเองไว้อยู่ส่วนไหนของขบวน
ผมไม่ได้จัดวางตัวเองไว้เลย เพราะตกกระไดพลอยโจนมา แต่ถ้าเอาง่ายๆ อาจจะเหมือนกับว่าผมเป็นแมสคอตของอีสานไหม มีส่วนร่วมส่วนคิดจริง แต่ก็ไม่ได้เป็นมันสมองของขบวนการ บางคนอาจจะคิดว่าจะเป็นศูนย์รวมจิตใจหรือเปล่า พี่น้องบางคนที่สนับสนุนการชุมนุม ยังไม่รู้ว่าจะติดตามใครก็อาจจะมาติดตามเรา
พี่น้องอีสานเองอาจจะอยากมีดาวที่เป็นคนของเขา อาจจะอินกับผมมากหน่อยเพราะเป็นคนอีสานบ้านเราไปอยู่บนเวที ความเป็นภูมิภาคนิยมอาจจะเชื่อมโยงกับตัวบุคคลด้วย สมมุติประเด็นที่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) พูด กับประเด็นที่ผมพูดเป็นเรื่องเดียวกัน พี่น้องอีสานอาจจะเข้าถึงสารของผมได้ง่ายกว่า
แต่ทราบมาว่าคุณก็เดินสายไปทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค อยากขอให้เรียงปัจจัย หนึ่ง สอง สาม ที่ทำให้คนรุ่นใหม่รวมทั้งคุณทนไม่ไหวจนออกมาขับไล่รัฐบาลว่ามีอะไรบ้าง
อย่างแรกเลยคือ คนรุ่นใหม่ ‘สู่รู้’ อ่านเยอะ เขาพยายามหาข้อมูล พอหาเยอะ ก็ทำให้สายตากว้างขึ้น แนวคิดกว้างขึ้น เห็นจุดบกพร่อง ที่เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่พบว่าจริงๆ ไม่ธรรมดา เราเรียกแบบประชดประชันว่า ‘สู่รู้’ แต่ก็คือคนรุ่นใหม่รู้มาก คนรุ่นใหม่หาความรู้
สองคือเขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่ออนาคตของเขา และสาม เกิดการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ที่ถูกอีกฝั่งเรียกว่ามันคือการชังชาติ แต่ในมุมของคนรุ่นใหม่ คำว่า ‘ประเทศกูมี’ ไม่ได้หมายถึงว่ากูเกลียดประเทศกูนะ แต่ประเทศกูมีมันคือมีในสิ่งที่ไม่ควรจะมีและมันควรจะถูกกำจัดไป
ฉะนั้นเวลาที่พวกเขาบอกว่าประเทศไม่ควรมีแบบนั้นหรือแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เอาประเทศไทย แต่หมายความว่าประเทศกูมี… รู้รึยังว่ามี กำจัดมันออกไปให้ประเทศมันดี ไม่ใช่ว่าประเทศกูไม่สวย ไม่สวยแล้ว จะไม่อยู่แล้ว กูจะเผา ขี้ใส่แล้วจะเดินออกไป ไม่ใช่ แต่เขาบอกว่าบ้านมันโทรม บ้านไม่สวย มีหญ้าขึ้น เรามาตัดหญ้า ทาสีใหม่กันเถอะ แม่ง โครตรักประเทศเลย (เสียงสูง)
แต่การที่รักประเทศแบบนี้ วิพากษ์วิจารณ์ประเทศแบบนี้ บางคนบอกว่ามันคือการเกลียดประเทศใช่ไหม แต่อยากบอกว่ากูโคตรรักชาติเลย โคตรรักประเทศนี้เลย กูถึงกล้าบอกว่าประเทศกูมีอะไรบ้าง
แต่ก็อาจจะเป็นเพราะข้อเสนอนี้ ที่ทำให้ถูกตีตราจากฝ่ายตรงข้าม คือ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
หนักนะ ผมมองว่าหลายสิบปีแล้วที่เรารู้กันว่ารากเหง้าของปัญหาจริงๆ มันคืออะไร แต่เรายังไม่กล้าพูดอย่างจริงจัง ขั้นแรกก่อนที่จะพูด มันเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่ ตุลา 16 ตุลา 19 หรือตั้งแต่ 2475 ที่เรารอว่าเมื่อไหร่ เราจะสามารถพูดเรื่องนี้กันได้เสียที ด้วยเวลาที่ผ่านมามันบ่มเพาะมาเต็มที่แล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดกันอย่างจริงจัง
กรณี 2475 อาจจะสำเร็จด้วยตัวมันเอง แต่ยังไม่เคลียร์ถึงที่สุด สำเร็จในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไม่มีสถาบันกษัตริย์ แต่มันต้องเคลียร์ ในแง่ที่ว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่กับสังคมไทยอย่างไร จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างไร อยู่กับประชาชนอย่างไร
ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสถาบันกษัตริย์จนกว่าจะไม่มีประเทศไทย แต่จำเป็นแล้ว ในปริมาณแค่ไหน เหมือนกับว่าเราปรุงก๋วยเตี๋ยวเราจะเติมพริก น้ำปลาแค่ไหน ให้ไม่เผ็ดหรือเค็มจนกลายเป็นโรคไต เครื่องปรุงบางอย่างที่เราต้องใส่ลงไปในชามแน่ๆ แต่จะใส่แค่ไหนให้ไม่มากไม่น้อยจนเกินไปจนกินไม่ได้
บางคนถามว่าก้าวร้าวไหม ท้าทายไหม ผมมองว่าไม่ใช่ความก้าวร้าว เพราะเมื่อเราไปขีดเส้นว่าตรงนี้เป็นเรื่องห้ามพูดและก้าวร้าว มันไม่แก้ปัญหา ผมมองว่าเวลาเราพูดถึง เราพูดอย่างสุภาพ สุขุมด้วยนะ ระมัดระวังกันอย่างพอสมควร แต่เราตระหนักว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูด ไม่พูดไม่ได้ ไม่พูดปัญหาไม่จบ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาไม่ใช่การซ่อนหรือหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหา แต่ต้องเอาปัญหามาวาง แล้วมาพิจารณากันว่าเราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร
การชุมนุมแต่ละครั้งใช้เงินเยอะ ใครคือท่อน้ำเลี้ยงของพวกคุณ
ถ้าให้ตอบก็คือประชาชน หลายครั้งผู้ที่มีทรัพยากร อำนาจ เสนอตัวให้การสนับสนุน แต่ขบวนเราก็มองว่าไม่ควร เพราะว่าจะกลายเป็นว่าท่อน้ำเลี้ยงอาจจะมีอำนาจชี้นำในสิ่งที่เขาต้องการ ที่ผ่านมามันอยู่ได้เพราะเงินบริจาค เมื่อคืนเราก็มาประชุมแบกันออกมาว่าแต่ละกลุ่มมีเท่าไหร่ เราจะเอามารวมกันได้เท่าไหร่ สำหรับวันที่ 14 ตุลาคม นี้ จะใช้ได้เท่าไหร่ หลังจากนั้นจะเหลือบ้างไหมสำหรับการไปต่อ
และถ้าพูดถึงส่วนตัวกัน ผมก็ถามว่า “ ‘หมู่อาร์ม’ (สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี – อดีตนายทหารชั้นประทวนที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตภายในกองทัพ) พอคุณไม่ได้เป็นทหารแล้วคุณใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ทำอะไรเป็นอาชีพ”
หมู่อาร์มก็บอกว่า “เป็นพ่อค้า ขายที่ ขายอุปกรณ์ส่งของต่างๆ ไป”
ส่วนผมที่รับงานบรรยายจากโรงเรียน บางที่ก็เริ่มไม่กล้าจ้างผมแล้ว หรือเอกชนก็มีมาจ้างแต่ตรงกับวันที่ออกมาชุมนุม ถ้าผมออกไปสอนตอนนี้อาจจะได้เงินหลายพัน แต่ถ้าไม่ไปม็อบพี่น้องก็มารอหลายพัน (คน) เหมือนกัน บางทีก็เลือกไม่รับงานสอน และใช้เงินเก็บ แต่เราก็คุยกันในกลุ่มของเราว่าถ้าพี่น้องที่ออกมาทำงานเคลื่อนไหว เราก็ไม่อยากให้ควักเงินกันเอง ดังนั้น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก อย่างน้อยต้องให้คนทำงาน ตรงนี้เราก็จะใช้เงินบริจาค และใช้ทุกบาทให้คุ้มค่า
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ นอกจากจะใหม่ในแง่ข้อเสนอ และรูปแบบการปราศรัยแล้ว ในแง่โครงสร้างเอง ก็ยังมีการลดบทบาทแกนนำ และมีโครงสร้างการจัดตั้งที่หลวม ในฐานะคนในขบวน คุณคิดว่าเป็นจุดแข็ง หรือจุดอ่อน
มีทั้งสองอย่าง จุดแข็งคือ ในความหลวม จะไม่มีผู้นำคนใดคนหนึ่งที่มาบอกว่าทุกอย่างจะจบที่คนนี้ จะทำให้เกิดความคิดร่วมกัน และกระทำร่วมกัน ทำให้เกิดความไม่หมางใจ ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่เลียนายเพื่อที่จะขึ้นไปเป็นบุคคลสำคัญ นั่นคือข้อดี
ข้อเสีย คือความช้า ที่อาจจะทำให้บางเรื่องไม่ไปไหนมาไหน แต่มันก็มีช่องว่างให้เติมได้เสมอ คนใหม่เข้ามาเติมได้เสมอ เรื่องใหม่เข้ามาเติมได้เสมอ และยังเปิดให้คนเก่า เรื่องเก่าที่ไม่ไหวแล้วออกไปได้เสมอ ถ้ามีใครที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรื่องแบบนี้จะเกิดได้ยากมาก ถามว่ามันประสบความสำเร็จไหม ตอบยาก
แต่ในส่วนของคนทำงานบอกได้ว่าสามารถทำงานกันได้ยาว ทีมงานสบายใจ ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกสั่ง เมื่อไหร่ที่คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแล้วรู้สึกว่าถูกสั่ง เขาจะถอย พลังที่เขานำเข้ามา ถ้าถูกสั่งเมื่อไหร่เขาจะไม่สู้ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ เหนื่อยนะ ไม่มีทุนนะ บางคนต้องออกจากครอบครัว ต้องเลิกกับแฟน เพราะไม่พร้อมรับความเสี่ยงด้วย การที่ได้ออกแบบขบวนร่วมกัน ทำให้เขามีความรู้สึกร่วม
แล้วต้นทุนในการเคลื่อนไหวของคุณเองล่ะ มีอะไรบ้าง ทราบว่าล่าสุดเพิ่งถูกคุกคามถูกดำเนินคดี
มีแน่นอน แม้ว่าผมไม่ได้เตรียมตัวจะออกมายืนข้างหน้า แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าต้องอยู่ข้างหน้า เรื่องคดีความคือเรื่องแรกที่เตรียมใจ ส่วนเรื่องการคุกคามส่วนตัวเป็นเรื่องที่สอง สิ่งที่ต้องเตรียมใจโดยอัตโนมัติ คืออาชีพและเศรษฐกิจของตัวเอง เพราะอาชีพเดิมผมรับงานจากรัฐไปเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียน งานเอกชนก็ยังมีอยู่แต่ก็หายไปด้วย เวลาที่ทำงานเปลี่ยนมาเป็นเวลาทำกิจกรรม
ต้นทุนอีกอย่างคือ ความทุกข์ของที่บ้านที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องต้องห่วง คือต่อให้เรามีอายุมากเท่าไหร่ มีวุฒิภาวะ ความคิด ความเห็นเป็นของตัวเอง พ่อแม่ใครก็คงไม่อยากเห็นเราติดคุก แต่ผมก็ทำความเข้าใจกับครอบครัว ด้วยการเรียกประชุมว่าถ้าผมโดนอะไรไป เลวร้ายที่สุดอยู่ตรงไหน ดีที่สุดอยู่ตรงไหน ผมก็บอกเขาว่าวันหนึ่งผมอาจจะดังก็ได้นะ ความดังอาจจะทำเงินได้นะ ผมก็บอกกับเขาไป เราก็ปลอบใจกันไปอย่างนี้ ให้เขารู้สึกว่าไม่กังวลจนเกินไป
ผมยังเตรียมตัวด้วยการบอกเขาไปว่าถ้าตำรวจมาที่บ้านต้องทำยังไง สำหรับการคุกคามกับผมเองก็ยังมีไม่มาก คิดว่าอาจจะเป็นเพราะการที่แสงไฟส่องมา ทำให้ถูกคุกคามน้อย แต่คนที่ยังไม่มีบทบาท หรือคนที่ถูกคุกคามส่วนใหญ่คือคนที่กำลังก้าวขึ้นมานำ เพื่อสกัดดาวรุ่งคนที่มีโอกาสจะเป็นที่รู้จัก กรณีนี้คนที่อยู่ในแสงไฟ การคุกคามจะถูกประกาศ และเป็นที่รับรู้มากกว่า
บางคนบอกว่าถ้าพรรคการเมืองหรือการเมืองในสภาไม่เอาด้วย ข้อเรียกร้องที่เสียสละกันมาก็สูญเปล่า มีความคิดเห็นอย่างไร
ถ้าเราโค่นล้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ในตอนนี้ ผมมองว่ามันไม่ได้สูญเปล่า ก็เรายืนยันว่าเราได้คุยกันในประเด็นเสรีภาพอื่นๆ ทั้งสิทธิทางเพศ สิทธินักเรียน หรือคุยกันเรื่องวัฒนธรรมอำนาจนิยมไหม ถ้าเราได้คุยกัน ทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เราชนะ
นี่ไม่ได้เหยียดนะครับ ผมจะบอกว่า “สลิ่มเก่าตายไป สลิ่มใหม่ไม่เกิด” คนที่มีความก้าวหน้าจะมากขึ้น ไม่ชนะยกนี้ก็ชนะยกหน้า การต่อสู้ครั้งนี้คือการตัดตอนสลิ่มไปในตัว
ระบบการศึกษาหรือสื่อสารมวลชนของประเทศไทยมีความพยายามทำให้เราเป็นสลิ่ม ปัจจุบันโรงเรียนและสื่อมวลชนไม่สามารถทำให้เราเป็นสลิ่มได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดได้ตัดตอนผู้สนับสนุนเผด็จการ
สุดท้าย คิดว่าตัวเองต้องมายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อไหร่
ผมคิดว่า ต้องยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็คือตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ผมเรียนอยู่ชั้น ม.5 กำลังจะขึ้น ม.6 ก่อนหน้านั้นผมได้แต่สมมุติตัวเองว่าถ้าประเทศไทยมีรัฐประหาร ผมจะอยู่จุดไหน ผมเกิดปี 2533 รัฐประหารครั้งล่าสุดก่อน 2549 คือปี 2534 เราก็ทำได้แค่อ่านหนังสือ ครูบอกเล่าในห้องเรียน และการที่เราสงสัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือ 14 ตุลาคม 2516 แม้ว่าจะสงสัยเหมือนคนรุ่นนี้ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่กระจ่างเหมือนคนรุ่นนี้ ตอนนั้นผมยังหัดใช้กูเกิล ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์กันทุกบ้าน อินเทอร์เน็ตไม่แพร่หลายแบบนี้
คิดว่า กูน่าจะตื่นเต้นนะถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้น แต่คิดดูอีกทีก็ เอ๊ะ! นี่มัน พ.ศ. เท่าไหร่แล้ววะ ทำไมประเทศกูยังมีรัฐประหาร ในทางหนึ่งเหมือนว่าตัวเองประสบความสำเร็จที่ได้มีชีวิตร่วมในการรัฐประหาร แต่อีกทางก็รู้สึกแย่ว่า พ.ศ. นี้ยังมีอีกเหรอ
และยังมาทำรัฐประหารกันอีกในปี 2557 ปีที่ผมเรียนจบแล้ว ได้อ่านหนังสือมากขึ้น ความคิดความอ่านมีมากขึ้น จึงเข้าใจว่ารากเหง้าของการรัฐประหารคือการเซ็นรับรองรัฐประหาร