ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ: ‘เขื่อน’ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่คือวาทกรรมการพัฒนาที่สร้างหายนะ

เมื่อถึงคราวฤดูน้ำหลากมาเยือน นอกจากจะได้เห็นความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยแล้ว สิ่งที่ประชาชนทวงถามจากรัฐบาลเสมอคือ แผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ซึ่งวิธีคิดของรัฐยังคงเชื่อว่าการสร้าง ‘เขื่อน’ เป็นหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุด

แม้แนวคิดการพัฒนาจากโลกตะวันตกที่ส่งอิทธิพลมาถึงประเทศไทยจะล่วงเลยมาแล้วหลายทศวรรษ แต่องค์ความรู้เรื่องเขื่อนในบ้านเรากลับไม่มีการพัฒนาตามวันและเวลาที่ผ่านมา ทุกวันนี้เรายังคงถกเถียงกันเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อน และยังหาคำตอบร่วมกันไม่ได้ว่าควรสร้างเขื่อนหรือไม่ 

ชนวนเหตุสำคัญของความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมกรณีหนึ่งคือ โครงการก่อสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ที่ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าแรงต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่อย่างชาวสะเอียบ จังหวัดแพร่ ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐต้องเผชิญ

ทว่าข้อถกเถียงเรื่องเขื่อนยังไม่ทันจางหาย มวลมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานก็กลายเป็นฝันร้ายของคนไทยอีกครั้ง ทำให้ต้องหวนกลับมาทบทวนถึงแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐว่าจะมีวิธีการรับมืออย่างไร นอกเหนือจากการสร้างเขื่อนเขื่อนแล้ว จะมีแนวทางใดบ้างที่จะไม่กระทบสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ไปจนถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ได้สมญาว่า ‘นักต้านเขื่อน’ เล่าย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อนที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วพยายามหยิบยื่นเทคโนโลยีอันทันสมัยเช่นนี้ให้กับประเทศโลกที่ 3 ควบคู่ไปกับการทำสงครามต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ 

อาจารย์นักต้านเขื่อนท่านนี้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า การบริหารจัดการน้ำมีอีกหลายวิธีบนโลกใบนี้ ซึ่งเขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการจัดการน้ำ แต่คือวาทกรรมการพัฒนาที่ถูกสร้างขึ้นมาให้คนเชื่อว่าเขื่อนคือยาสารพัดนึก สามารถแก้ไขได้ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด 

แต่จนถึงวันนี้หลายประเทศเริ่มประจักษ์แล้วว่า เขื่อนคือสิ่งก่อสร้างที่ฝืนธรรมชาติ และนำมาซึ่งหายนะมากกว่าอรรถประโยชน์

1

ประวัติศาสตร์ระยะใกล้
โครงการสร้างเขื่อน vs ขบวนการต้านเขื่อน

จุดเริ่มของแนวคิดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีที่มาอย่างไร และได้รับอิทธิพลจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างไรบ้าง

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย เริ่มเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นสหรัฐอเมริกาซึ่งบอบช้ำจากสงครามน้อยที่สุดได้กลายมาเป็นศูนย์กลางทุนนิยมโลก แล้วสหรัฐอเมริกาก็เสนอแผนมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อบูรณะฟื้นฟูยุโรปจากสงคราม แต่ว่ากลุ่มประเทศยุโรปไม่ต้องการ สหรัฐอเมริกาจึงมุ่งไปพื้นที่อื่นนอกยุโรป แล้วก็สร้างวาทกรรมการพัฒนาขึ้นมา

สิ่งนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากคําประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐ แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) หรือที่เรียกว่าคําประกาศทรูแมน (Truman Doctrine) ซึ่งต้องการนําเอาเทคโนโลยีไปใช้ในประเทศด้อยพัฒนา

ประเทศไทยเองเรียกได้ว่าเป็นบริวารของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ก็รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากสหรัฐอเมริกา นําไปสู่การวางแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ในท้ายที่สุดเขื่อนภูมิพลก็ถูกสร้างขึ้นมา บริษัทที่มาสร้างก็เป็นบริษัทที่ทําธุรกิจการสร้างเขื่อนที่รัฐแอริโซนามาก่อน 

ถ้าเราไปค้นดูเกือบทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนภูมิพลก็เป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกา โดยได้เงินกู้จากธนาคารโลก ซึ่งถือว่าเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ก้อนแรกของประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าธนาคารโลกก็ยอมรับการพัฒนาตามทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization Theory)​​

หลังจากนั้นไม่นานโลกก็เข้าสู่สงครามเย็น สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยและมีอิทธิพลทางการเมือง รวมถึงการวางแผนพัฒนาประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ทําสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับเวียดนามเหนือ ลาว และฝ่ายต่อต้านในกัมพูชา

ด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกาก็ช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมหาศาล เช่น มีการให้เงินสร้างเขื่อนลําปาว นอกจากนั้นก็มีหน่วยงานสร้างเขื่อนของสหรัฐอเมริกาคือ U.S. Bureau of Reclamation (USBR) เข้ามาวางแผนการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมถึงเขื่อนผามอง อําเภอปากชม จังหวัดเลย เขื่อนสตึงเตรง (Stung Treng) และเขื่อนสมโบร์ (Sambor) ในประเทศกัมพูชา รวมถึงเขื่อนทุกเขื่อนในภาคอีสานของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนลําตะคอง เขื่อนปากมูล หรือเขื่อนชีบน ซึ่งเป็นเขื่อนล่าสุดที่กําลังสร้างก็วางแผนไว้โดย USBR

ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็คือว่าแนวคิดการสร้างเขื่อนของประเทศไทย เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่รัฐไทยเป็นบริวารของสหรัฐอเมริกา แล้วก็ยอมรับการพัฒนาโดยยึดทฤษฎีภาวะทันสมัย เพื่อที่จะพาประเทศมุ่งไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีเทคโนโลยีแบบตะวันตก

ทำไมข้อถกเถียงเรื่องเขื่อนในประเทศไทยแทบไม่เคลื่อนจากเดิมตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี ทั้งที่มีข้อมูลใหม่ๆ ชี้ให้เห็นว่าเขื่อนเป็นวิธีแก้ปัญหาที่นอกจากจะล้าหลังและไม่ได้ผลแล้ว ยังส่งผลกระทบสูง

ผมคิดว่ามีเหตุผลในการสร้างเขื่อนอยู่ 2 ประการด้วยกัน ประการแรก คือการมองว่าเขื่อนคือเทคโนโลยี ถ้าเราไปดูคําประกาศทรูแมนก็เห็นอย่างชัดเจนว่า ทรูแมนต้องการส่งเสริมเทคโนโลยีในประเทศที่ถูกนิยามว่าด้อยพัฒนา และเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาส่งเสริมในยุคนั้นก็คือเขื่อน 

เพราะฉะนั้นสำหรับทั่วโลกในขณะนั้น การสร้างเขื่อนถือว่าเป็นการสร้างชาติ เนห์รู [ยวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีอินเดีย] ถึงขั้นพูดว่า การสร้างเขื่อนก็เหมือนการสร้างมหาวิหาร

สหรัฐได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง

ในการสร้างเขื่อน อย่างเช่นเขื่อนภูมิพล บริษัทก่อสร้างอะไรทั้งหมด รวมทั้งบริษัทขายเทคโนโลยีต่างๆ เป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกาและพวกนี้ก็ทําธุรกิจในสหรัฐมาก่อน แต่ก็มีบางเขื่อนที่มีการจัดสรรผลประโยชน์ เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ พวกบริษัทที่ปรึกษา รวมทั้งบริษัทที่มาสร้างเขื่อน เป็นบริษัทจากญี่ปุ่น อันนี้อาจจะไม่ใช่สหรัฐอย่างเดียว แต่ก็ถือว่าสหรัฐเป็นคนนําอุดมการณ์นี้เข้ามา ในกรณีของญี่ปุ่นเองก็บอกว่า “เฮ้ย เราสร้างเขื่อนศรีนครินทร์กั้นแม่น้ำแควเพื่อมิตรภาพนะ” ถ้าจำได้สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกไทย ตอนนั้นมีการสร้างทางรถไฟสายมรณะ พอสงครามจบแล้วเขาก็บอกว่า “เรามาสร้างสันติภาพกันดีกว่า ใช้เขื่อนเป็นสะพานมิตรภาพแทน”

เขื่อนปากมูลก็วางแผนโดย USBR บริษัทที่เข้ามาศึกษาก็คือ SOGREAH จากฝรั่งเศส ถ้าลองไปไล่ดูจะพบว่า บริษัทสร้างเขื่อนทุกเขื่อนในยุคนั้นมาจากตะวันตกหมดเลย รวมถึงญี่ปุ่นด้วย ตรงนี้คือการหาผลประโยชน์ เป็นการขูดรีดเอาจากประเทศด้อยพัฒนาอีกแบบหนึ่ง

เงินกู้ที่ไปกู้จากธนาคารโลกเขาก็คิดดอกเบี้ย ไม่ใช่ให้กู้ฟรี ธนาคารโลกเองก็ถูกประท้วง ดูอย่างกรณีเขื่อนปากมูล ถ้าธนาคารโลกไม่ให้เงินกู้ รัฐบาลไทยก็ไม่สามารถไปค้ำประกันเอาเงินมาสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้ แต่เงินที่กู้เขามา เขาไม่ได้เอามาให้เฉยๆ เขาให้เอาไปซื้อเทอร์ไบน์จากออสเตรียด้วย บนเงื่อนไขว่า “ผมให้เงินกู้คุณ แต่คุณต้องมาซื้อของจากผม” ซึ่งอันนี้คือผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศที่เรียกว่าฝ่ายเหนือ หรือประเทศที่นิยามตัวเองว่าประเทศพัฒนาแล้ว

ก่อนหน้านี้ที่เราพูดถึงเทคโนโลยี เขื่อนคือเทคโนโลยีสําคัญที่ชาติตะวันตกต้องการให้ประเทศด้อยพัฒนามีเหมือนตัวเองตามทฤษฎีภาวะทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันการสร้างเขื่อนในประเทศไทยก็ไปเกี่ยวโยงกับสงคราม อย่างที่ผมพูดถึงสงครามเย็น ประเทศไทยให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพที่อุดรธานี อู่ตะเภา แล้วเอาระเบิดไปทิ้งในประเทศเพื่อนบ้าน 

เมืองที่อยู่ชายแดนหรือชายทะเลอย่างพัทยา เมื่อก่อนไม่มีอะไรเลย ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสหรัฐใช้บริเวณนั้นเป็นที่พักตากอากาศของทหาร แล้วก็นําไปสู่การสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนห้วยหลวง ตอนนั้นตั้งอยู่จังหวัดอุดรธานี แต่ตอนนี้อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลําภูแล้ว เพื่อลำเลียงน้ำมาให้ฐานทัพอเมริกันที่อุดรธานี โคราช ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกันเช่นเดียวกัน ก็มีการสร้างเขื่อนลําตะคอง หรือที่พัทยาก็นําไปสู่การสร้างเขื่อนมาบประชัน 

ในกรณีของเขื่อนห้วยหลวง มีการสังหารผู้นําที่ต่อต้านเขื่อน โหง่น ลาววงษ์ ก็ถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายมาก แล้วกรณีเขื่อนมาบประชันก็มี เมตตา เหล่าอุดม กับ ล้วน เหล่าอุดม ถูกลอบสังหารในปี 2517 

เขื่อนไม่ได้มาลอยๆ แต่มีมหาอำนาจอยู่เบื้องหลัง รัฐไทยเองก็มีแนวคิดที่ว่าเขื่อนคือการสร้างชาติ ถ้าคุณต่อต้านชาติ คุณก็เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้ร้าย ชีวิตคุณก็ต้องจบแบบนี้

ที่จริงแล้ว 3 คนนี้เป็นแกนนําสําคัญของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยด้วย ผมต้องพูดเรื่องนี้เพราะว่าปีนี้ครบรอบ 50 ปีของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ฉะนั้นเขื่อนจึงเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องของการจัดการน้ำหรือการผลิตไฟฟ้าธรรมดา

photo: บันทึก 6 ตุลา

ประเทศในกลุ่มคอมมิวนิสต์เองก็มักจะมีรูปเขื่อนอยู่บนธนบัตร ตรงนี้ต่างจากอุดมการณ์ ‘เขื่อนสร้างชาติ’ ของโลกเสรีนิยมมากน้อยขนาดไหน 

ไม่ต่างกัน คือโลกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยม สังคมนิยมก็แบ่งเป็น 2 ส่วนอีก ส่วนที่นําโดยสหภาพโซเวียตกับส่วนที่นําโดยจีน เมื่อกี๊ผมพูดถึงทุนนิยมเสรีที่นําโดยสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันตก รวมถึงญี่ปุ่น ในส่วนของสังคมนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็บ้าเขื่อนเหมือนกัน 

เราจะเห็นว่าสหรัฐอเมริกามีเขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam) หรือเขื่อนต่างๆ ที่ตั้งชื่อตามบุคคลสําคัญ ในโซเวียตก็มีการสร้างเขื่อนที่ตั้งชื่อตามพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) ในหลายประเทศที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และเป็นประเทศบริวารของโซเวียต เช่น เวียดนาม ก็ไปสร้างเขื่อนฮหว่าบิ่ญ (Hòa Bình) แปลว่าสันติภาพ เขื่อนนี้สร้างขึ้นมาได้เพราะการช่วยเหลือของโซเวียต 

ถ้าเราไปดูหนังสือ propaganda ที่สมัยก่อนมีเยอะแยะมากมาย สหภาพโซเวียตก็จะมีหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์และส่งไปหลายที่ เรื่องใหญ่ในหนังสือเหล่านั้น คือเรื่องที่โซเวียตไปสนับสนุนการสร้างเขื่อนในประเทศต่างๆ 

จีนเองก็มีความฝัน เหมา (เหมา เจ๋อตง) ก็ว่ายน้ำในแม่น้ำแยงซีเกียงแล้วก็ใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ําสายนี้ แล้วสุดท้ายหลังเหมาตายก็มีเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ขึ้นมา

ดังนั้นความคิดเรื่องการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังดํารงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ในบริบทของสงครามเย็น สถาบันกษัตริย์ไทยมีท่าทีอย่างไรต่อการสร้างเขื่อนตามทฤษฎี Modernization โดยเฉพาะเขื่อนใหญ่ๆ ที่ตั้งชื่อตามพระบรมวงศานุวงศ์ 

ในส่วนที่ผมพอจะพูดได้ก็คือ เรื่องการสร้างเขื่อนแล้วมีชื่อของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ อย่างในกรณีเขื่อนภูมิพล มีการไปกู้เงินจากธนาคารโลก และรัฐบาลในขณะนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่าเสียดอกเบี้ยเยอะมาก คนที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ก็เป็น สส. จากภาคอีสาน บอกว่าคนอีสานยากจน ต้องอพยพไปทํางานในเมืองเพื่อให้คุณเอาไปจ่ายดอกดอกเบี้ยปีละ 5 ล้าน เอาเงินนั้นมาพัฒนาอย่างอื่นได้ไหม แทนที่จะไปสร้างเขื่อน ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า ‘เขื่อนยันฮี’ ทีนี้รัฐบาลก็แก้เกมโดยการขอพระราชทานชื่อจากพระมหากษัตริย์มาเป็นชื่อเขื่อน ก็เลยเกิดเป็นชื่อเขื่อนภูมิพลขึ้นมา 

แล้วผมเข้าใจว่าหลังจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนก็ขอพระราชทานชื่อเขื่อน จึงได้มีเขื่อนที่ตั้งชื่อตามพระมหากษัตริย์ พระราชินี เชื้อพระวงศ์ แล้วก็ยังมีเขื่อนที่พระราชทานชื่อโดยตรง เช่น เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือเขื่อนขุนด่านปราการชล

พูดง่ายๆ คือการใช้ชื่อเขื่อนภูมิพลก็เพื่อต้องการที่จะปิดปากฝ่ายค้านไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เขื่อนยันฮี ณ ขณะนั้น 

ผมทราบมาว่าในบางกรณี เช่น เขื่อนวังหีบ (อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช) รัฐไปบอกชาวบ้านว่าถ้าจะขออะไรก็ให้ทําหนังสือมา ผู้นําชาวบ้านในยุคนั้นก็ขอแหล่งน้ำ จึงเกิดเป็นโครงการเขื่อนวังหีบ ตอนนี้คนที่ขอเขาก็ตายไปนานแล้ว แต่กรมชลประทานก็ยังอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดําริ

ดูเหมือนว่ากรมชลประทาน หรือกระทรวงเกษตรฯ เอง จะพูดเรื่องเขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งมาโดยตลอด แล้วอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดําริด้วย อาจารย์คิดว่าความคิดราชการเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน

ผมว่าไม่เปลี่ยน เพราะว่าการจัดการน้ำของเราก็ยึดตามแบบตะวันตก ลองดูสัญลักษณ์กรมชลประทาน ความหมายทั้งหมดก็เป็นการจัดการน้ำแบบตะวันตก ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะจัดการน้ำแบบตะวันตก คุณก็ต้องสร้างเขื่อน ไม่สร้างเขื่อนก็ต้องสร้างฝาย สร้างคลองผันน้ำ สร้างนู่นสร้างนี่ ก็จะทําอยู่แบบนี้ เพราะว่าความรู้มันมีแค่แบบนี้ เขาไม่มีความคิดเรื่องเหมืองฝาย ซึ่งเป็นการชลประทานดั้งเดิม เขามองว่าล้าสมัย โบราณ ต้องรื้อทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นเขื่อน

เขื่อนในภาคเหนือเยอะแยะมากมายที่สร้างทับระบบเหมืองฝาย หรือรื้อเหมืองฝายทิ้งไปหมดแล้วเอาเขื่อนลงไปแทนที่ แล้วอํานาจในการจัดการน้ำทั้งหมดก็มาอยู่ที่ภาครัฐ คือกรมชลประทาน จากเดิมอํานาจในการจัดการน้ำอยู่ที่ชุมชน อยู่ที่กรรมการเหมืองฝาย ตั้งแต่มีการตั้งกรมชลประทานขึ้นมา ความคิดในการจัดการน้ำไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ที่จริงแล้ว การจัดการน้ำแบบตะวันตกมีมาตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ที่สยามลงนามกับอังกฤษ แล้วก็น่าจะทําให้สยามต้องนำความรู้จากตะวันตกเข้ามา เราก็จ้างชาวเนเธอร์แลนด์มาขุดคูคลองแถวรังสิตเพื่อเร่งผลิตข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ป่า เพราะสนธิสัญญาเบาว์ริงสําคัญคือยกเลิกการผูกขาดการค้าข้าวของราชสํานักสยาม ทาสที่เลิกมาก็เอามาทํานา ขุดคลองตรงนั้น สุดท้ายกรมคูคลอง ณ ตอนนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นกรมชลประทาน พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็รับความคิดแบบการทําให้ทันสมัยโดยตรงเลย เป็นการพัฒนาตามแบบทฤษฎี Modernization

การสร้างเขื่อนยุคแรกๆ ไม่มีกฎหมายประชาพิจารณ์ ไม่มี EIA แล้วใช้หลักเกณฑ์แบบไหนมาตัดสินใจสร้างเขื่อน

ก็ยึดแค่รายงานการศึกษาโครงการสร้างเขื่อน ยึดแค่นั้น ตรงไหนเหมาะสม เป็นหุบเขาที่พอจะเก็บน้ำได้ เรียกง่ายๆ ว่าใช้ผู้เชี่ยวชาญจากตะวันตกและญี่ปุ่นขีดตรงนั้นสร้างเขื่อน แม้แต่เขื่อนปากมูลก็มีลักษณะแบบนั้น ไม่มีการทํา EIA ไม่มีประชาพิจารณ์อะไรทั้งสิ้น

พออนุมัติให้สร้าง อย่างเขื่อนภูมิพลก็ต้องเร่งกันสร้าง ในทำนองที่พวกทําไม้ก็ทําไม้กันอย่างสนุกสนาน พวกที่เห็นความสําคัญของโบราณคดีก็เร่งกู้โบราณคดีกันแทบไม่ทัน ส่วนชาวบ้าน พูดตรงๆ นะ คุณก็ถูกเรียกมาให้นั่งพับเพียบ รัฐสั่งยังไงก็ต้องทํา

ไม่ใช่ไม่มีการต่อต้านนะ มีนะ เขื่อนภูมิพลน่ะมี ชาวบ้านก็สร้างพระร่วงองค์ที่สองขึ้นมาสู้กับเขื่อน หรือไปทรงเจ้าให้เจ้าพ่อมาช่วยลูกหลานสู้กับเขื่อน แต่สุดท้ายเจ้าพ่อที่ชาวบ้านพามาช่วย ก็สู้เขื่อนไม่ได้

พอไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม เกิดความเดือดร้อน ความไม่พอใจก่อตัวขึ้น แต่ชาวบ้านประท้วงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะต่อต้านด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘อาวุธของผู้อ่อนแอ’ เช่น การอ้างว่าเจ้าพ่อบอกว่าอย่าย้ายที่ เขาก็จะไม่ย้าย ไม่ยอมอพยพไปที่ที่รัฐจัดสรรให้ ก็เป็นสัตยาเคราะห์หรือดื้อแพ่งไปอีกแบบหนึ่ง 

เรื่องที่ชาวบ้านสร้างพระร่วงองค์ที่สองขึ้นมา เราก็รู้ว่าในประวัติศาสตร์พระร่วงคือการกู้ชาติ แต่นี่เป็นการกู้ประชาชน ทีนี้พอใครตั้งตัวเป็นพระร่วงก็ถูกกล่าวหาว่าไอ้พวกนี้หัวดื้อ พอไปปล้นฝรั่งที่สร้างเขื่อน นายอําเภอก็ไปไล่จับ ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรผู้ร้าย ทุกที่ที่สร้างเขื่อนในยุคแรกๆ ไปดูเลย ไม่มีที่ไหนที่ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ต่อมามีการทํา EIA ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะมีชีวิตที่ดีขึ้นนะ เพราะ EIA หรือการรับฟังความคิดเห็นในบ้านเราก็อย่างที่เห็น ห่วยแตกที่สุดใน 3 โลก ไม่ได้เป็นไปตามหลักการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน เป็นแค่การสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างเช่นเขื่อน มันเป็นเวทีของการกีดกันสิทธิชุมชน ไม่ใช่เวทีรับฟังความเห็น

ขบวนการต้านเขื่อนมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในช่วงการต่อต้านทั้งเขื่อนปากมูล เขื่อนแก่งเสือเต้น จนมาถึงปัจจุบัน 

อย่างที่ผมบอกไปว่าช่วงสงครามเย็นการต่อต้านเขื่อนเกิดขึ้นจากชาวบ้าน นับตั้งแต่เขื่อนภูมิพลก็ไล่เลียงมาเรื่อยๆ มาจนถึงเขื่อนห้วยหลวง เขื่อนมาบประชันที่ผู้นําชาวนาถูกลอบสังหาร พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ส่วนหนึ่งก็ต้องหนีเข้าป่า ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเมื่อบรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น ขบวนการนิสิตนักศึกษามีการฟื้นฟู ในช่วงปี 2525 ก็เริ่มลุกขึ้นมาต่อต้านเขื่อนโดยชนชั้นกลาง โดยนักวิชาการ

ถามว่าก่อนหน้านั้นมีไหม ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็มีการต่อต้านเขื่อนที่มีนักวิชาการมีนักศึกษาเข้าไปร่วมด้วย เช่น กรณีเขื่อนผามอง มีการทําหนังเรื่อง ทองปาน (2519) ออกมาเผยแพร่ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

หนังเรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์ม คนทําต้องหอบกลุ่มแฮกเกอร์ หอบฟิล์มหนีออกนอกประเทศไปทำต่อจนเสร็จที่สิงคโปร์ พอกลับมาฉายในประเทศไทยก็กลายเป็นหนังต้องห้าม สมัยผมเป็นนักศึกษาก็ต้องแอบดู ต้องใช้กล้องฉายหนัง 8 มม.

ในปี 2525 เริ่มปรากฏบทบาทของนิสิตนักศึกษา อัยการ ที่ออกมาเป็นแถวหน้าของการคัดค้าน กรณีแรกคือเขื่อนน้ำโจน แต่ก็ยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่เป็น movement จนกระทั่งประมาณปี 2529-2530 ซึ่งเป็นช่วงการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ สส. มาจากการเลือกตั้ง แต่นายกฯ มาจากทหาร สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้วก็มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผบ.ทบ. 

ตอนนั้นมีการเคลื่อนไหวขนานใหญ่ต่อต้านเขื่อนน้ำโจน ผู้นําเป็นนักศึกษาในปีกสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่เป็นปีกการเมือง แล้วก็จับมือคนเมืองกาญจน์ รณรงค์กับสาธารณะ จนกระทั่งรัฐบาลต้องยกเลิกโครงการเขื่อนน้ำโจน

photo: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

กรณีต่อต้านเขื่อนน้ำโจนทําให้เกิดการตื่นตัวของกระแสคิดทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าทางฝั่งสื่อมวลชนก็จะมีนักข่าวบุกเบิกทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เช่น พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล สํานักข่าวก็ให้ความสําคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะฉะนั้นการตื่นตัวของประชาชนในกรณีของเขื่อนน้ำโจนจึงเป็นกรณีแรกที่ทําให้ประเด็นเขื่อนเป็นประเด็นสาธารณะ นําไปสู่การเรียกร้องว่าการพัฒนาต้องมาจากประชาชน

หลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ แล้วก็มีความคิดเรื่องการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ที่เรียกว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country : NIC) วางแผนการพัฒนาภูมิภาคหัวเมืองต่างๆ การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค แต่ก็มีแผนการสร้างเขื่อนเต็มไปหมดเลย เราจะเห็นบทบาทของประชาชนในแต่ละที่ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ต่อมาก็มีเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนปากมูล แล้วก็เขื่อนทางฝั่งสาละวิน พูดง่ายๆ คือทั่วประเทศ ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะฉะนั้นพื้นที่ของการต่อสู้และกลุ่มคน จึงไปเชื่อมกันระหว่างการเคลื่อนไหวในส่วนกลางกับพื้นที่ต่างๆ แต่เราจะเห็นว่าชาวบ้านก็เป็นส่วนสําคัญที่สุดที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านเขื่อนอยู่ดี

บางกรณีก็ประสบความสําเร็จ เช่น เขื่อนแก่งกรุงได้ยกเลิกไป แต่บางกรณีชาวบ้านก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เช่น เขื่อนปากมูล หรือบางกรณีทุกวันนี้ยังต่อสู้กันไม่จบแม้ว่าผ่านไป 30 กว่าปีแล้ว เช่น กรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้น อันนี้เป็นภาพรวมในช่วงหลังจาก 6 ตุลา 2519

พอปี 2540 รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิชุมชน เกิดจากการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร ปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อสู้มาตั้งแต่หลังยุค 6 ตุลา 2519 แต่เรามายอมรับสิทธิประเภทนี้ในปี 2540

ฉะนั้นช่วงปี 2535-2540 ก็จะปรากฏบทบาทของพี่น้องประชาชนที่เขาเดือดร้อน เขาไม่ยอมอีกต่อไป เขาไม่ยอมที่จะมานั่งพับเพียบฟังรัฐบอกอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เลยลุกขึ้นมาต่อสู้ หลังปี 2540 ไม่นาน ขบวนการนักศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ตายไป ก็เลยเกิดบทบาทของชาวบ้านเป็นหลัก

กลุ่มใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสําคัญอีกกลุ่มคือ กลุ่มนักพัฒนาเอกชนหรือ NGO (Non-governmental organization) ซึ่งก็ไม่ได้มีทุกพื้นที่ หลายพื้นที่ชาวบ้านยังต้องสู้ด้วยตัวเอง 

2

แนวคิดการสร้างเขื่อนกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

แนวคิดเรื่องการสร้างเขื่อนในอดีตเคยได้รับการยอมรับถึงอรรถประโยชน์มากมาย แท้จริงแล้วเขื่อนสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้จริงหรือไม่

พูดง่ายๆ การสร้างเขื่อนในยุคแรกๆ เขาจะอ้างว่าเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ เราไปดูเลย เกือบทุกเขื่อนเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ทั้งนั้น และเป้าหมายหลักคือผลิตกระแสไฟฟ้า รองลงมาคือเรื่องชลประทาน ส่วนเรื่องป้องกันน้ำท่วมเป็นเรื่องหลังสุดด้วยซ้ำไป 

เหตุผลในการสร้างเขื่อนภูมิพลคือผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วก็ land reclamation (ปรับปรุงที่ดิน) ไปดูเหตุผลในการเสนอโครงการ เขาต้องการที่จะจัดสรรที่ดินใหม่ในภาคกลาง แล้วก็ต้องการให้คนภาคอีสานคนโน้นคนนี้มาอยู่ในที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งลอกแบบมาจากประเทศสหรัฐเป๊ะเลย 

แต่ก่อนการสร้างเขื่อนในสหรัฐต้องการที่จะให้เกิด land reclamation ในการพัฒนาที่ดินตะวันตก ในสหรัฐมีวลีหนึ่งที่ยึดเป็นวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘Go West, young man’ เพื่อให้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานปฏิบัติการทางแถบตะวันตก เขื่อนสหรัฐส่วนใหญ่ก็อยู่ตามฝั่งตะวันตก

แล้วเขื่อนภูมิพลก็ใช้ตัวแบบนั้นมาวางแผนสร้าง ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นจริงเพราะว่าคนภาคกลางก็ยังเป็นชาวนาเช่าที่ดินอยู่ คนภาคอีสาน คนภาคเหนือ มีใครมาอยู่ท้ายเขื่อนภูมิพลบ้าง ไม่มี ไม่มีเลย 

ก่อนที่เราจะบอกว่าเขื่อนช่วยได้จริงหรือไม่จริงในทางวิทยาศาสตร์ ผมอยากชี้ว่าเหตุผลในการสร้างเขื่อนนั้นเป็นเหตุผลที่เกิดจากวาทกรรม ที่ต้องการทําให้คนเชื่อว่าการจัดการน้ำ การพัฒนาประเทศจะต้องสร้างเขื่อน การจะมีไฟฟ้าต้องสร้างเขื่อน ส่วนอื่นๆ เป็นแค่องค์ประกอบเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ชนชั้นนําต้องการทําให้เราเชื่อว่าเขื่อนมันดีอย่างนั้นอย่างนี้ ใครต่อต้านเขื่อนเป็นคอมมิวนิสต์

ผมนี่ถูกด่าจากรายการสยามานุสติและรายการเพื่อแผ่นดินไทยเกือบทุกวันตอนคัดค้านเขื่อนน้ำโจน มาหาว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ ขายชาติบ้าง รับเงินต่างชาติมาคัดค้านเขื่อนบ้าง สังคมก็บอกว่า “เฮ้ย พวกนี้มันต่อต้านการพัฒนา ก็ให้ไปอยู่ถ้ำ จะมาใช้ชีวิตเหมือนพวกเราไม่ได้ ต้องไปอยู่ถ้ำ” เห็นไหมครับ คนก็เชื่อ

ต่อมาโลกเปลี่ยนไป เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการประชุมระดับโลกเรื่องสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ อยู่หลายครั้ง เขื่อนก็เปลี่ยนแปลงวาทกรรมว่า การสร้างเขื่อนนั้นเพื่อป้องกันภัยแล้ง แก้ปัญหาน้ำท่วม เหตุผลพวกนี้เกิดขึ้นทีหลัง

อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปมาไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง ยุคแรกๆ บอกว่าเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า ต่อมาเป็นเขื่อนเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปี 2537 ก็กลายเป็นป้องกันน้ำท่วม เพราะฉะนั้นสิ่งที่อ้างมา ผมเรียกมันว่าวาทกรรม รัฐสร้างความจริงชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้คนเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ความจริงอีกด้านไม่ถูกนำมาพูด ไม่ถูกนําเสนอ 

ความจริงอีกด้านก็เลยต้องมาจากฝ่ายรักษาป่า คนที่มองเห็นถึงความเสื่อมโทรมทางระบบนิเวศก็คือชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะถูกอพยพและชีวิตมันแย่ลง เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะขึ้นไปคานกับวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้นมาได้ 

ทีนี้ถามว่ามีอะไรบ้างที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญ ก็คือการสร้างเขื่อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ความเดือดร้อนจึงไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เดียว ทุกที่ทั่วโลกก็เกิดปัญหาเดียวกัน ในที่สุดปี 2540 ก็มีการประชุมผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกและพันธมิตรที่เมืองกูรีตีบา ประเทศบราซิล ซึ่งผมกับ เส็ง ขวัญยืน (อดีตกำนันตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่ และแกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น) ก็ได้ไปร่วมประชุมด้วย แล้วเราก็ต่อต้านเขื่อนกันอย่างจริงจัง 

เราเริ่มมองว่าพี่น้องเดือดร้อนต็มไปหมด เขื่อนมีผลกระทบเต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นการไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนจึงเป็นฉันทามติของที่ประชุม แล้วเราก็กําหนดให้วันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนของบราซิล เป็นวันหยุดเขื่อนโลก เพื่อปกป้องแม่น้ำและชีวิต

ผมยังเสนอในที่ประชุมว่าเราต้องพูดถึงเรื่องการรื้อเขื่อนด้วยนะ ก็ทําให้อีก 1 ปีต่อมา คือปี 2541 ก็มีการประชุมการรื้อเขื่อนในยุโรป ฝรั่งเศส สหรัฐ มีการรณรงค์ให้เห็นว่าเขื่อนมันได้ไม่คุ้มเสียอย่างไร

ในที่สุดก็มีการรื้อเขื่อนเต็มไปหมดเลยในยุโรปและสหรัฐ ขณะเดียวกันเราก็เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานสร้างเขื่อน รวมทั้งธนาคารโลกที่เปิดเงินทุนสร้างเขื่อน มีคณะกรรมการเขื่อนโลกขึ้นมา เพื่อศึกษาและประเมินเขื่อนทั่วโลก เราจะไม่ทําทีละเขื่อน เพราะเขื่อนมันเยอะแยะไปหมด ในประเทศก็เยอะ ทั่วโลกก็เยอะ สุดท้ายเราจึงตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา มีทั้งฝ่ายประชาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ธนาคารโลก หน่วยงานที่เป็นสมาคมของนักสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในระดับโลกคือ International Commission on Large Dams (ICOLD) มาเป็นกรรมการ เป็น commissioner โดยให้หน่วยงานระดับ UN ก็คือ UNDP เป็นเจ้าภาพ แล้วก็ไปศึกษาเขื่อนทั่วโลก 125 เขื่อน ส่วนประเทศไทยเราก็ต้องศึกษาแบบเจาะลึก ซึ่งกรณีของเขื่อนปากมูล เป็น 1 ใน 12 ลุ่มน้ำและเคสที่เราเจาะลึก

สรุปออกมาเลยคือเขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย คนจนต้องแบกรับภาระ ที่บอกว่าเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน ป้องกันน้ำท่วม มันไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ต้นทุนก็เพิ่มขึ้น เกิดผลกระทบมากกว่าสิ่งที่คาดว่าจะได้ นี่คือข้อเสนอผลการศึกษาในระดับโลก และมีข้อเสนอให้หาทางเลือกอื่นในการจัดการน้ำและพลังงาน

เราจะเห็นได้ว่ามีองค์ความรู้ระดับโลก มันเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ เป็นทุกอย่าง แต่ที่สําคัญคือมี commissioner ซึ่งมาจากหน่วยงานสร้างเขื่อนอย่างเช่น ICOLD และหน่วยงานที่ให้ทุนในการสร้างเขื่อน เช่น ธนาคารโลกมาเป็น commissioner ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นรายงานที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว 

กรณีเขื่อนปากมูล การไฟฟ้าก็มามีส่วนร่วมในการศึกษา การไฟฟ้าเลือกคนมาศึกษาร่วม เท่าเทียมกับที่ชาวบ้านมีสิทธิ์เลือกราชการมาศึกษา และสามารถเอาข้อมูลมาโต้กันได้ทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งรายงานเขื่อนปากมูลออกมาก็ชี้ให้เห็นชัดเจน เราพูดเฉพาะกรณีเขื่อนปากมูลก็คือการผลิตไฟฟ้าได้ไม่ตามเป้า คุณมีโรงงานเล็กๆ 4 โรงไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าได้แค่นั้น แต่ต้นทุนเขื่อนเพิ่มขึ้นจาก 3,880 ล้านบาท เป็น 6,600 ล้านบาท ในแง่เศรษฐศาสตร์ไม่คุ้มแล้วตั้งแต่แรก 

งานชลประทานก็ไม่มีจริง ไม่มีพื้นที่ชลประทานจริง นอกจากนั้นเขื่อนยังปิดตายลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำ บันไดปลาโจนไม่ช่วยให้ปลาอพยพขึ้นไปทางตอนบนได้

photo: Suthep Kritsanavarin

ถ้าผมพูดว่าเขื่อนดีหรือไม่ดี ผลกระทบเป็นยังไง กลายเป็นว่าผมพูดเพราะผมคัดค้าน แต่ยังไงก็ต้องพูด เอารายงานที่พวกคุณนักสร้างเขื่อนมีส่วนร่วมมาดูกันได้เลย ถ้าเราเคารพความรู้ รวมทั้งกระบวนการที่ศึกษา ผมคิดว่าเขื่อนไม่ควรที่จะสร้างอีกต่อไป

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาข้อเท็จจริงของเขื่อนออกมาแบบนี้แล้ว แต่ในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีเวทีตรงกลางที่เปิดรับฟังความคิดเห็นของสองฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน

จริงๆ ตอนที่รายงาน World Commission on Dams ออกมา แล้วก็มี commissioner มาประเทศไทยด้วยนะ แล้วเขาเอารายงานนี้มาเปิดเผย เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเขื่อนทั้งหมดมาฟัง และมีข้อเสนอแนะต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน แต่ข้อเสนอของกรรมการเขื่อนโลกไม่ถูกรัฐไทยนำไปปฏิบัติ ขณะที่หลายประเทศในยุโรปนํารายงานนี้ไปใช้ ผมจะไม่พูดถึงการรับฟังความคิดเห็นหรือกระบวนการ EIA อันนี้เป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะกระบวนการนั้น ทําเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการของคุณ

รัฐไทยยังชูธงว่าเขื่อนมีความสำคัญต่อการจัดการน้ำ เพราะอะไร เพราะเขื่อนเป็นเรื่องผลประโยชน์ มันฝังลงไปภายในหัวแล้ว คุณถูกสอนมาอย่างนี้ อาจารย์คุณก็สอนมาอย่างนี้ แล้วคุณก็มาทํางานในหน่วยงานแบบนี้ ก็จะฝังอยู่ในสมองว่าถ้าคุณจะจัดการน้ำ คุณต้องคิดแบบสเกล economy คุณต้องมีเขื่อน ต้องมีโครงการขนาดใหญ่ คุณคิดไม่ออกหรอกว่า “เฮ้ย…ต้องมีระบบอื่นที่ดีกว่า” เรียกง่ายๆ ว่าวาทกรรมเขื่อนมันปฏิบัติการบนสมองตลอดเวลา เพราะงั้นพวกนี้ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงความคิดในการจัดการน้ำเด็ดขาด

ในหลายประเทศมีการรื้อเขื่อนไปแล้ว ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม หรือว่าผลกระทบที่ได้ไม่คุ้มเสีย แล้วมีวิธีการใดบ้างที่จะบริหารจัดการน้ำได้ดีกว่าการสร้างเขื่อน

วิธีที่ดีที่สุดคือจะต้องจัดการน้ำโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ คุณไม่มีทางจัดการด้วยวิธีอื่นแล้วทําให้การจัดการน้ำดีขึ้น การสร้างเขื่อนคือการฝืนธรรมชาติ เป็นการเอาธรรมชาติมารับใช้มนุษย์ อันนี้ปรัชญาหลักเลย 

สองคือการยึดอํานาจจัดการน้ำมาอยู่ที่รัฐ ถ้าเป็นเรื่องนี้ชัดเจนเลยว่าเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตย ถ้าคุณเป็นเผด็จการ ไม่มีทางที่คุณจะคิดเรื่องการกระจายอํานาจในการจัดการน้ำ

การกระจายอํานาจในการจัดการน้ำไม่ได้หมายความว่า คุณไปสร้างเขื่อนแล้วโยนให้ อบต. ไปรับผิดชอบ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เรากําลังหมายถึง ‘ความรู้’ ในการจัดการน้ำ ซึ่งต้องเป็นความรู้ที่มาจากชาวบ้าน มาจากชุมชน แต่ตอนนี้ชุมชนบางแห่งก็พูดอะไรไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกัน คนในสังคมพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เวลาพูดถึงการจัดการน้ำก็จะเอาเขื่อนอย่างเดียว ซึ่งเสียงคนเราไม่เท่ากันนะ เสียงคนสุโขทัยกับเสียงชาวสะเอียบก็ไม่เท่ากัน

แต่อย่างไรก็ตาม มีวิธีการจัดการน้ำเยอะแยะมากมายบนโลกใบนี้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีด้วย อย่างอิสราเอลเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สําคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถผลิตสินค้าเกษตรส่งออกได้ ทั้งที่คนในประเทศเขาน้อยกว่าบ้านเราถึง 10 เท่า ทำไมเขาถึงทำได้ 

บ้านเรามีน้ำ แต่ขาดความรู้ในการจัดการน้ำ ขาดความรู้ยังไม่พอ ยังใช้ความรู้แบบโง่ๆ ในการจัดการน้ำ เห็นช่วงฤดูแล้งไหม ในเมืองใหญ่ๆ หรือสถานที่ราชการ คุณใช้ระบบเที่ยงวัน-บ่ายโมง ขับรถฉีดน้ำ เหมือนที่ฉีดน้ำรถดับเพลิงไปบนเกาะกลางถนนหรือสองข้างทาง คุณฉีดน้ำลงไป คุณเสียทั้งค่าน้ำมัน เสียน้ำ ต้นไม้เอาไปใช้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีประโยชน์เลย คุ้มไหมล่ะ ซึ่งคุณจะไม่เห็นเรื่องแบบนี้ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว

ในบ้านเรา สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย เปิดสปริงเกอร์ตอนเที่ยงวัน คุณไปดูอิสราเอลที่เขามีน้ำน้อยกว่าเราเยอะ สปริงเกอร์เขาเปิดตี 5 กับ 4 ทุ่ม แล้วบ้านเรายังร้ายกว่านั้น เอาน้ำประปาเอามารดสวน ซึ่งคุณจะไม่ได้เห็นแบบนี้ในอิสราเอล 

ต่างประเทศน้ำประปาดื่มได้ ไม่ต้องไปซื้อ แต่ของเรามีน้ำเยอะมาก ถามว่าเรากล้าดื่มน้ำประปาไหม ที่บอกว่าประเทศไทยขาดแคลนน้ำ ผมเถียงตายเลยว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลน แต่เรามีฤดูกาลของเรา 

ผมเคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ผมลงพื้นที่ทุ่งกุลายังมีน้ำอยู่เลย แต่ในสภา สส. บอกว่าทุ่งกุลา น้ำแห้ง แล้งมาก วัวควายล้มตาย แล้วทุกคนในห้องประชุมก็เห็นอกเห็นใจ เศร้ามาก ซึ่งไม่จริง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าที่ทุ่งกุลาไม่ได้เป็นแบบนั้น คนมีอํานาจตัดสินใจรู้หรือเปล่า

หรืออย่างโครงการผันน้ำโขงชีมูล ถามว่าผันน้ำไปเพื่ออะไร ก็บอกเอาน้ำไปให้ทุ่งกุลาเพื่อปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง คุณเอ้ย ทุ่งกุลาชาวนาเขาปลูกข้าวหอมมะลิ เขาทํานาปีละครั้ง ข้าวหอมมะลิปลูกไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม ต้องเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม ต่อให้คุณทํานา 2 ครั้ง ข้าวออกรวงก็ต้องเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคมอยู่ดี

แล้วถ้าคุณทํานาข้าว 2 ครั้งในทุ่งกุลาเมื่อไร คุณต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าว พอคุณเปลี่ยนพันธุ์ข้าวปุ๊บ ข้าวหอมมะลิก็จะกลายพันธุ์ เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแค่ว่าคุณคิดจะผันน้ำมาแล้วก็ทํานา 2 ครั้ง แต่มันต้องคิดแบบซับซ้อนมากๆ 

สำหรับภาคอีสานมีวิถีการผลิตแบบอื่นไหมที่ไม่ใช่การทำนาแบบภาคกลาง ถ้าเราคิดได้ เรื่องผันน้ำโขงก็ไม่จําเป็น และในภาคอีสานคุณก็มาดูคนที่เดือดร้อนหน่อย ไปถามชาวบ้านว่าเขาอยากได้น้ำทํานาไหม เขาไม่ได้ต้องการ แต่เขาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำใช้ในครัวเรือน คุณก็ต้องไปแก้ตรงนี้ ไม่ใช่ไปสร้างเขื่อนผันน้ำ ซึ่งผมคิดว่ารัฐตีโจทย์ตรงนี้ไม่แตก

ขณะเดียวกันเราจะเห็นว่าภาคใต้มีโครงการเยอะแยะมากมายที่ทําลายแหล่งน้ำ ไปดูพัทลุงตอนนี้จะขุดคลองแล้วก็ลาดคอนกรีตทั้งหมด น้ำไหลทีเดียวก็ลงทะเลหมด เพราะฉะนั้นคลองที่เคยเป็นอาหาร เป็นที่เก็บน้ำ ก็ไม่ได้ทําหน้าที่คลองอีกต่อไป 

ส่วนน้ำท่วม เราไปดูเลยนะ อย่างน้ำท่วมสุโขทัยลงมาพิษณุโลก อันนั้นเป็นที่ราบลุ่มน้ำยมที่ใหญ่มากๆ 300,000 กว่าไร่ น้ำต้องท่วมตามธรรมชาติ แล้วเราทําอะไรกับมัน เราเอาเมือง เอามหาวิทยาลัยไปตั้งอยู่ในพื้นที่พวกนี้ จากที่เคยเป็นบึงก็ถมเป็นที่เที่ยวหรือสร้างเมือง

บึงบอระเพ็ดซึ่งเป็นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ คุณก็ไปสร้างประตูน้ำแล้วก็ทําถนนล้อมรอบไม่ให้น้ำเข้า บึงต่างๆ ที่เคยเก็บน้ำทั้งหมดกลายเป็นหนองน้ำ แล้วก็ตัดขาดกับแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำก็ลงมาพรวดเดียวแถวอยุธยา แล้วคนกรุงเทพฯ ก็ได้รับการปกป้อง คนซวยก็คนแถบอยุธยา

การจัดการน้ำแบบรัฐไทยในตอนนี้ทําให้เกิดความไม่ยุติธรรม คนที่อยู่เหนือคันป้องกันน้ำท่วมก็เดือดร้อน บางทีชาวบ้านกับภาครัฐก็ตีกัน อยากจะไปพังคันกั้นน้ำเพื่อให้น้ำมันไหลลงไป น้ำจะได้ไม่ท่วม

สรุปคือประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่เราไม่มีคนที่มีความรู้มาจัดการน้ำ เราใช้แต่ความรู้แบบตะวันตก ใช้โครงสร้างแข็งอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่มีทางที่คุณจะแก้ปัญหาน้ำได้ มีแต่จะทําให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น

นอกเหนือจากแนวคิดเรื่องการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง ยังมีวาทกรรมเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งท้ายที่สุดเขื่อนก็ไปสร้างผลกระทบด้านอื่นอีก ทําอย่างไรจึงจะยุติความเชื่อเหล่านี้ได้

พลังงานสะอาดก็เป็นวาทกรรมหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักสร้างเขื่อน ยิ่งเกิดกระแสสิ่งแวดล้อม มีการพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ความคิดนี้ก็ถูกนักสร้างเขื่อนทั่วโลกนำมาปฏิบัติ ผลิตซ้ำความคิดว่าเขื่อนคือพลังงานสะอาด ซึ่งไม่จริงเลย

World Commission on Dams เขาศึกษาว่าเขื่อนทําให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจก นี่เรายังไม่ได้พูดเรื่องที่เขื่อนทําให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การอพยพชาวบ้าน เอาแค่โลกร้อนนะ เขื่อนเองก็คือตัวปัญหาแล้ว มันจะสะอาดได้ยังไง

ถ้าเราดูจากรายงานของกรรมการเขื่อนโลก เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด เป็นพลังงานสกปรก ทําให้โลกร้อนด้วย

ประเทศไทยมีพลังงานสำรองล้นเกินโดยไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม ทำให้เป็นต้นทุนพลังงานที่คนไทยต้องแบกรับ ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร 

ในประเทศไทยการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานนี่ไม่มีแล้ว แต่ก็จะให้เอกชนมาเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ในอีกด้านหนึ่งคือ นักสร้างเขื่อนของไทยก็ไปสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเราก็ไปซื้อไฟจากบริษัทเหล่านี้ มีทั้งผู้ผลิตเอกชนในประเทศและต่างประเทศ พลังงานหลักก็มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หงสา แล้วก็มาจากเขื่อนต่างๆ ในประเทศลาว พลังงานมันล้นเกินเยอะเลยนะครับ สัญญาเราก็เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สัญญาที่เรียกว่า take or pay ซึ่งเป็นสัญญาที่ทําให้คนไทยต้องใช้ไฟแพง ทั้งตัวค่าไฟเอง และ ค่า Ft

เพราะฉะนั้นยิ่งมีพลังงานสํารองมาก ก็จะยิ่งทําให้ผู้บริโภคไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟแพงเพิ่มขึ้นตาม เหมือนกับว่าเรามีรถยนต์ 1 คัน มีคน 2 คน เลยต้องไปซื้อรถยนต์ใหม่มาเพิ่มอีกคันหนึ่ง แล้วเราก็คิดว่าวันข้างหน้าเราอาจจะมีลูก ก็ไปซื้อรถมาอีกคันหนึ่ง รถอีกคันหนึ่งคุณต้องจ่าย ถึงตอนนี้คุณจะยังไม่ได้ใช้ คุณก็ต้องจ่าย ต้องดูแล ก็เป็นลักษณะเดียวกัน 

3

ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น

อาจารย์เคยทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘นิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย: กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น’ เมื่อปี 2543 ผ่านมา 24 ปี ถึงวันนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หรือยังเป็นการต่อสู้ระหว่างวาทกรรมเหมือนเดิม

ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนะ หนึ่งก็คือ ผมคิดว่าคนในสังคมรู้ว่าพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีทั้งชาวสะเอียบที่อยู่มาก่อนแล้วอนุรักษ์ป่า มีทั้งป่าแม่ยมป่าสักทอง คนในสังคมก็รู้ว่าถ้าเขื่อนถูกสร้างขึ้นมาก็ไม่ได้แก้ปัญหาน้ําท่วม เพราะยังมีแม่น้ําที่ไหลลงสู่แม่น้ํายม ต่อให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ถูกน้ําท่วมอยู่ดี ดีไม่ดีเขื่อนก็ปล่อยน้ําลงมาท่วมข้างล่างหนักยิ่งกว่าตอนที่ไม่มีเขื่อนด้วยซ้ำไป คนส่วนหนึ่งจะเห็นอย่างนี้

อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าคนแพร่เองถ้าย้อนกลับไปปี 2536-2537 ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้นหรอก เพราะอํานาจที่แพร่เป็นอํานาจของเจ้าพ่อท้องถิ่น แต่วันนี้คนแพร่จํานวนหนึ่งก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ายังมีการไปปลุกระดมชาวบ้านข้างล่างให้มาสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะแถบสุโขทัย ดังนั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยคือนักการเมือง

สิ่งที่ภูมิธรรม (ภูมิธรรม เวชยชัย) บอกว่าให้ธนาคารโลกมาช่วยศึกษาความเหมาะสมเนี่ย ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น ธนาคารโลกรู้ดีว่าโครงการนี้ไม่มีทางที่จะสร้างได้ ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกเคยส่งบริษัทที่ปรึกษามาช่วงที่ผมกําลังจะทําวิทยานิพนธ์ พอได้ลิ้มรสการต่อต้านจากชาวสะเอียบก็ถอนตัวไป เพราะฉะนั้นไม่มีทางเลยที่ธนาคารโลกจะมาศึกษาความเหมาะสมโครงการนี้ 

ในตอนนี้ผมคิดว่า พวกนักการเมืองยังมีความคิดการจัดการน้ำแบบตะวันตก ก็มีไม่กี่คนจากพรรคเพื่อไทย อันนี้พูดตรงๆ อีกส่วนหนึ่งคือบรรดาแอดมินเพจต่างๆ บางเพจเป็นเพจสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำไป แต่ไปหาข้อมูลมาแบบฉาบฉวย เอาข้อมูลมาจากวิกิพีเดียแล้วก็ชี้นำสังคม ผมจะบอกว่าวาทกรรมเขื่อนเป็นยาสารพัดประโยชน์ฝังอยู่ในความคิดคนพวกนี้ไปแล้ว ซึ่งเขาไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร เขาถูกครอบด้วยวาทกรรมเขื่อนคือการพัฒนา เขื่อนคือยาวิเศษ

ที่ผ่านมากลุ่ม NGO ต่างๆ ก็ไม่ได้ไปบอกให้ชาวสะเอียบต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ชาวสะเอียบเขาลุกขึ้นมาต่อสู้เอง ใครจะไปปลุกปั่นคนเป็นพันครอบครัวได้ ถ้า NGO ไม่มีประสบการณ์ทํางานกับชาวบ้านมากพอ คุณไปทํางานที่นั่นไม่ได้หรอก คุณจะไปชี้นิ้วชาวบ้านทําอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะชาวสะเอียบเขาอนุรักษ์ป่าที่นี่มาตั้ง 35 ปี สู้เรื่องเขื่อน รักษาป่า ขยายพื้นที่เพิ่ม และเสนอแนวทางในการจัดการน้ําโดยที่ไม่ต้องใช้เขื่อนแก่งเสือเต้น จนเกิดเป็น ‘สะเอียบโมเดล’

วิธีการจัดการน้ําแบบ ‘สะเอียบโมเดล’ เป็นอย่างไร

สะเอียบโมเดลก็มีหลายอย่างนะ เท่าที่ผมพอจําได้หลักๆ ก็คือการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ําขนาดเล็กและการฟื้นฟูป่า กรมชลประทานก็ยอมรับด้วยว่าการจัดการลุ่มน้ํายมต้องใช้สะเอียบโมเดลนี่แหละ 

เรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ํา สุโขทัยมีเต็มไปหมดเลย ไม่ใช่ว่ามีเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้วปัญหาพวกนี้จะหมดไป หรือไม่มีวิธีการอย่างอื่นแล้ว ต้องเอาแต่เขื่อนแก่งเสือเต้นเท่านั้น มันมีวิธีการจัดการน้ํารูปแบบอื่นเต็มไปหมด รวมถึงการป้องกันน้ําท่วมด้วย ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ากรมชลประทานก็มี ชุมชนก็มี แต่ว่าหลักๆ เขาก็ยังไปเน้นที่โครงสร้างแข็ง สร้างพนังกั้นน้ํา สร้างอะไรต่อมิอะไร อันนี้ก็ยังเป็นปัญหา

ในทางนิเวศวิทยา การที่จะจัดการเรื่องน้ําท่วมต้องให้ลดระดับความรุนแรง ต้องปล่อยให้น้ําไหลบ่าเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม ที่รับน้ํา หรือที่เรียกว่าแก้มลิง ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด ตรงนี้รัฐเองก็มีข้อมูล เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรามีทางเลือกมากมายเลย เอาชาวสะเอียบและหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ํามานั่งคุยกัน แล้วอย่าไปตั้งธงว่าต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้าเราตั้งธงปุ๊บก็ทะเลาะกัน แต่เราต้องมานั่งดูความเป็นจริงว่ามีวิธีการอื่นไหม

ดูเหมือนว่าจะมีคําว่า ‘นิเวศวิทยาการเมือง’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราจะเปลี่ยนวิธีคิดอย่างนี้อย่างไรในระดับผู้กำหนดนโยบาย

ผมคิดว่ามี 2-3 เรื่องที่เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด อย่างแรกเราต้องกลับมาคิดใหม่ว่า เราจะจัดการน้ําแบบตะวันตก โดยใช้ความรู้แบบตะวันตกเหมือนที่ผ่านมา 60-70 ปีที่ยิ่งทําก็ยิ่งแย่ต่อไปหรือ และเราจะทําอย่างไรให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ให้การจัดการน้ําเป็นส่วนหนึ่งของภัยพิบัติ เช่น เขื่อนปล่อยน้ําลงมา น้ําท่วมมโหฬารในลุ่มน้ําชี น้ํามูล เมื่อปี 2565 ซึ่งก็มาจากเขื่อนพัง

ความรู้ในการจัดการน้ําต้องเปลี่ยน อย่าเอาความรู้ตามทฤษฎีภาวะทันสมัยมาใช้ คุณก็เห็นอยู่แล้วว่าโลกทั้งโลกกําลังอ่อนแรง กําลังเกิดวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเราต่างเชื่อในทฤษฎีภาวะทันสมัย เราถึงสร้างเขื่อน 

ในเชิงของอุดมการณ์ การพัฒนาจะต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยที่สุดการพัฒนาที่ยั่งยืนน่าจะเป็นเป้าหมายที่สําคัญ ไม่ใช่ทําลายล้างเหมือนปัจจุบัน 

ประการที่สอง ผมคิดว่าคนในสังคมจะต้องมีสํานึกทางด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ ผมคิดว่าสํานึกทางสิ่งแวดล้อมยังน้อยไป คุณยังให้ความสําคัญกับเขื่อน ให้ความสําคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าระบบนิเวศ มากกว่าแม่น้ํา มากกว่าป่า 

ประการที่สาม ผมคิดว่าเป็นเรื่องความยุติธรรมทางสังคม เวลาพูดถึงเรื่องเขื่อน กลุ่มที่เชียร์เขื่อนไม่มีสํานึกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเลย แถมบิดเบือนกันด้วยซ้ำ เช่น คุณไม่พูดถึงสิทธิของชาวสะเอียบเมื่อคุณพูดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น มิหนําซ้ำยังหาใครสักคนมาเป็นผู้ร้าย เช่น NGO เหมือนกับยุคหนึ่งที่รัฐด่านักศึกษาที่คัดค้านเขื่อนน้ำโจนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งผมคิดว่าวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 

photo: International Rivers

ดังนั้น 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สําคัญมากที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังตกอยู่ในหลุมดําไม่ตระหนักถึงทั้ง 3 เรื่องนี้ ผมว่าวันหนึ่งก็ต้องให้เกิดบทเรียนครั้งใหญ่และก็ให้บทเรียนสอนสังคม เช่น เขื่อนพัง มีคนเสียชีวิต ซึ่งที่จริงเราก็เห็นจากประเทศเพื่อนบ้านหรือข่าวทั่วโลก แต่เราก็ไม่ได้กลับมามองบ้านเรา เขื่อนมีอายุนะ วันหนึ่งมันต้องหมดอายุ คุณจะรักษามันยังไง ใช้เงินเท่าไรในการรักษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่คิดเลย

นักการเมืองที่อายุมากแล้ว เปลี่ยนแปลงยาก แต่ผมก็หวังกับคนรุ่นใหม่นะ เหมือนในสหรัฐอเมริกาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วก็เชื่อเรื่องเขื่อนอย่างจริงจังว่าคือการพัฒนา แต่วันนี้คนรุ่นนี้ก็ลุกขึ้นมารื้อเขื่อนทิ้ง อนาคตก็อาจจะต้องอยู่ที่คนรุ่นใหม่ ให้เขาตระหนักถึง 3 สิ่งที่ผมพูดถึงไปเมื่อสักครู่

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า