เราแค่อยากเห็นว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นบ้านของเรา และเราคิดว่าเรามีสิทธิไปได้ สิ่งที่พวกเขาพูด คือการเรียกร้องถึง human rights ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และมันเป็น logic
มารีญา พูลเลิศลาภ Miss Universe Thailand 2017 ตอบคำถามถึงสาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมใหญ่วันที่ 16 สิงหาคม 2563 ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะมีความกลัวอยู่บ้าง เพราะเธอไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในบรรยากาศนั้น เธอกลับรู้สึกดีที่เห็นทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน บรรยากาศในวันนั้นสำหรับมารีญา จึงเป็นอีกหนึ่งวันที่มีแต่ความ positive
WAY ชวนเธอถอดมงกุฎนางงาม ตอบคำถามในฐานะประชาชน ตั้งแต่ประเด็นการแสดงออกในจุดยืน บทบาททางการเมืองของนางงาม และความเชื่อในพลังของเยาวชน
1: เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ไม่ควรจะปล่อยผ่าน
ถ้าเราเห็นอะไรที่มันไม่ถูกต้องเราอยู่เฉยไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นอีกไหม
ดังนั้นการออกมาส่งเสียงของตัวเองในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องปกติและธรรมชาติมากๆ เธอเคยถามตัวเองว่า ถ้าเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นจะเลือกทำอะไรต่อไป
หนึ่ง-ปล่อยผ่าน
สอง-ทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกต่อไป
แน่นอนว่ามารีญาเลือกข้อสอง เธอไม่อยากเห็นความอยุติธรรม
“เรารู้สึกว่าทุกคนต้องส่งเสียงได้ มันเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ทุกคนเกิดมามีความคิด ในบทบาทของความเป็นมนุษย์เราสามารถส่งเสียงของเราได้”
2: เสียงของ Influencer ดังกว่าจริงไหม?
กระแสโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้ดาราและนักร้องนักแสดงผู้มีชื่อเสียงออกมาเแสดงจุดยืน ผ่านปรากฏการณ์ #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง
ประเด็นดังกล่าว มารีญาเห็นด้วยและชวนตั้งคำถามกลับว่า ถ้าดาราสามารถขายของโดยโน้มน้าวให้คนมาซื้อได้ แล้วทำไมถึงจะพูดเรื่อง human rights หรือพูดถึงเหตุการณ์ในบ้านของเราไม่ได้?
“จุดนี้เราเข้าใจได้ว่าการออกมา call out มันมีผลกระทบต่อเรื่องงานในวงการบันเทิง พวกเราก็ล้วนไม่อยากให้สิ่งไม่ถูกต้องเกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะสิ่งนั้นมันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ ดังนั้นการออกมาพูด เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง มันจึงเป็น logic ของการเป็นมนุษย์ในสังคม ยิ่งการรู้สึกว่ากลัวที่ต้องพูด ยิ่งแปลว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง
“influencer คือกลุ่มคนที่สร้าง standard ต่างๆ แต่ทำไมเขาไม่ออกมาพูดในเรื่องที่เป็น standard ของประชาชน ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองในการออกมาหรือไม่ออกมา เราบังคับเขาไม่ได้ แต่วันนี้ที่มารีญาออกมาเองเป็นเพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”
3: นางงามคือนักการเมือง
นับตั้งแต่อดีต วัฒนธรรมการประกวดนางงามเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่เสมอ ย้อนไปในเวทีประกวดนางสาวไทยเมื่อปี 2477 ก็มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญและเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยนางงามจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนหญิงไทยเพื่อประชาสัมพันธ์งานให้กับรัฐบาล
ดังนั้นเวทีนางงามและเวทีการเมืองจึงแยกกันไม่ขาด ไม่ว่าจะเวทีประกวดใหญ่หรือเวทีเล็ก เราก็มักจะได้ยินคำตอบในโทนสวยหรูที่เหล่านางงามมักใช้ตัวเองเป็นกระบอกเสียงเพื่อสะท้อนสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
“นางงามแต่ละคน ทุกคนมีมุมเป็นของตัวเองว่าเขาเห็นประเด็นอะไรหรืออยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ความเท่าเทียม สิทธิของสตรี”
มารีญาบอกว่าทุกเวทีประกวดและตัวนางงามเองก็ต่างมีจุดประสงค์ของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน
เรามีเวลาแค่ปีเดียวในการดำรงตำแหน่ง เป็นเวลาที่สั้นมากถ้าคุณจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่การเป็น Miss Universe Thailand จะติดตัวและอยู่กับเราตลอดไป ดังนั้นนี่คือช่องทางที่คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงในแบบที่คุณต้องการได้ และคุณจะทำมันหรือเปล่า
ทว่าสำหรับมารีญา นางงามไม่ใช่ฮีโร่หรือผู้วิเศษที่จะบินเดี่ยวและเสกให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้เพียงแค่คนเดียว
“เพราะไม่ว่าจะเป็นนางงาม นายกฯ หรือผู้บริหารองค์กร ไม่ใช่แค่คนเดียวแล้วจะทำทุกอย่างสำเร็จได้ ทุกคนต้องมีทีม ครอบครัว เพื่อน ทีมงาน มันเป็นสิ่งสำคัญมากและต้องไปด้วยกัน”
ดังนั้นในขบวนการเปลี่ยนแปลงในเส้นทางใดก็ตามจะเป็นจริงได้ ไม่ใช่หน้าที่ของนางงามเพียงคนเดียว มันคือหน้าที่ของทุกคนที่อยู่ในสังคม
การเข้าประกวดนางงามในครั้งนี้ มารีญาได้ประสบการณ์มากมาย เวทีนางงามเป็นพื้นที่เปิดกว้างที่ให้เธอ improve ตัวเองได้ เป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ ซึ่งหนึ่งในความตั้งใจก่อนเข้าไปประกวด เธออยากเป็นคนที่พูดในพื้นที่สาธารณะได้เก่งขึ้น และปัจจุบันมารีญาก็ไม่หยุดฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้
4: Youth is the Future.
Q: What do you think has been the most important social movement of your generation, and why?
A: I think the most important social movement so far is that we have an aging population but so the most important movement in our time is definitely the youth. So the youth is the future.
การเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดในยุคของเราคือ เยาวชน ดังนั้นเยาวชนเป็นอนาคตของเรา เยาวชนเป็นกลุ่มที่เราต้องลงทุน เพราะพวกเขาคือคนที่จะมาดูแลโลกใบนี้ที่เราอยู่
แม้คำตอบของมารีญาบนเวที Miss Universe 2017 จะทำให้บางคนตั้งข้อสงสัยว่านี่ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ทว่าเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มารีญาตอบคำถามจนถึงวันนี้ มารีญาได้พิสูจน์คำตอบบนเวทีด้วยการกระทำของเธอแล้ว ด้วยการออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนและนักศึกษา
“วันนั้นเราไม่รู้ว่าตัวเองตอบได้ดีหรือไม่ดี แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราตอบไปวันนั้นมันคือ logic
“การที่เราส่งเสริมและให้พลังบวกกับคนรุ่นใหม่เหมือนเป็นการให้อนาคตกับพวกเขา มันคือ logic เราคิดแค่นั้น เหมือนถามว่าทำไมเราต้องให้ education กับเด็กๆ ก็เพราะเราอยากให้เขาโตมาเป็น citizen ที่ดี อยากให้เขาอยู่ในสังคมได้ อยากให้เขาเป็นมนุษย์อยู่ร่วมกับเพื่อนในโลกมนุษย์ได้ดี ดังนั้นสิ่งที่เราตอบวันนั้นมันจึงเป็น logic ธรรมดา”
และหากย้อนเวลากลับไปได้ มารีญาก็ยังยืนยันที่จะตอบคำถามเหมือนเดิม
“ถ้าย้อนไทม์แมชชีนกลับไปได้ เราก็จะตอบแบบเดิม แต่จะพูดมันออกมาอย่าง confident มากกว่านี้ ตอบอย่างเต็มปากให้ชัดเจนขึ้น และอาจจะเติมประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เพราะเรามองว่าเด็กรุ่นใหม่คือคนที่จะเติบโตขึ้นมาดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกต่อไป”
5: ทำไมผู้ใหญ่จึงต้องฟังเสียงเด็ก
“So brave มาก!” มารีญากล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา
“เราว่าพลังของเด็กคือพลังที่ innocent ทุกสิ่งทุกอย่างมันมาจากการที่เขามองเห็น ideal ต่างๆ ซึ่งพวกเขาอยากเห็นอนาคตตัวเองเป็นแบบ ideal นั้น”
ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เราเห็นเด็กออกมาส่งเสียง แปลว่าเขาไม่ยอมทนต่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลหรือสิ่งที่เขามองว่าไม่ยุติธรรม และบ่งบอกว่าเด็กห่วงอนาคตตัวเอง
มารีญาเล่าถึงประสบการณ์ตอนอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ก่อนจะทำโปรเจ็คต์พัฒนา จะต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของเด็ก สำรวจเสียงผ่านการสอบถามคนที่อยู่บริเวณรอบๆ นั้นก่อน ใครอยากเห็นพื้นที่ตรงนี้เป็นอะไรก็สามารถส่งเสียงของตัวเองได้ ซึ่งเธออยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และประเทศไทย
ท้ายที่สุดในเมื่อเด็กๆ กล้าแสดงออกเสียงของเขาแล้ว ทำไมเราถึงไม่ฟังเขาล่ะ – มารีญาตั้งคำถาม
“ทำไมเราไม่ฟังแล้วถามเขาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ถ้าเราไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะตอบเขา เราควรกลับมาถามตัวเองเพื่อตอบคำถามเขาให้ได้ หรือบางครั้งเราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเราหรือเปล่า ซึ่งการที่ผู้ใหญ่เปลี่ยนแนวคิดของตัวเองมันไม่ใช่เรื่องใหญ่นะ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด มันเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ เราควรที่จะยอมรับเมื่อเราผิด นี่เป็นสิ่งยากมากที่ผู้ใหญ่จะยอมรับว่าตัวเองผิด”
การเคลื่อนไหวครั้งนี้มันไม่ใช่เด็กคนเดียว แต่คือเยาวชนที่คิดเหมือนกันหลายโรงเรียนทั่วประเทศ สะท้อนว่าต้องมีอะไรบางอย่างหรือเปล่าที่กำลังมีปัญหาและต้องการการแก้ไข
“ทำไมถึงไม่ฟังเด็กล่ะ” มารีญาย้ำ
ท้ายที่สุดเธอยิ้มและบอกเราว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกกล้าหาญและกล้าออกมาร่วมขับเคลื่อนหรือพูดในเสียงของตัวเอง…ก็เพราะเด็กนักเรียน
“เราอยากให้รู้ว่า คุณคือ inspiration ของเรา เราคือส่วนหนึ่งของกันและกัน เด็กทุกคนทำให้เรารู้สึกมีพลังร่วมด้วย ไม่เคยมีใครขอให้เราพูด แต่เราเห็นเด็กทำ ดังนั้นเราก็จะทำเหมือนกัน เพราะเราคือประชาชนที่มีสิทธิและมีเสียงและใช้มันอย่างเป็นประโยชน์” มารีญาทิ้งท้าย