วิ่งเล่นในสนามหญ้ากว้างๆ
หัวเราะเสียงดังไปกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างสนุกสนาน
หรือนั่งเรียนหน้าจอสี่เหลี่ยมเป็นเวลานาน…
จินตนาการของคุณที่มีต่อเด็กเล็กเป็นอย่างไร?
เมื่อกระโดดไปดูสถานการณ์ด้านการศึกษาในช่วงการระบาดของ COVID-19 เราพบว่านักเรียน ครู นักศึกษา อาจารย์ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ย้อนไปในช่วงที่เกิดโรคระบาดแรกๆ สถานศึกษาทุกแห่งถูกสั่งให้ปิด และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กทุกคนต้องสร้าง ‘วิถีการเรียนใหม่’
แม้วันเปิดเทอมจะเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แต่การแพร่ระบาดของโรคยังทำให้ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ดังนั้นการเปิดเทอมครั้งนี้โรงเรียนหลายแห่งจึงเริ่มปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาผสมผสานมากขึ้น แต่ปัญหาคือหลังจากทุกฝ่ายได้ทดลองเรียนระบบออนไลน์ ยิ่งทำให้เห็นปัญหาด้านการศึกษาชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์หรือความไม่พร้อมในการดูแลบุตรหลานของผู้ปกครอง
เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ที่มองว่าการเรียนออนไลน์ อาจยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการสร้างนิเวศการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย
การศึกษาไทยในสถานการณ์ COVID-19 อาจารย์มองเห็นอะไรบ้าง
ผมรู้สึกอึดอัดกับทางออกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ออนไลน์หรือไม่ออนไลน์ เราคิดให้ไกลกว่านี้ได้ไหม มีทางให้เราเลือกมากกว่านี้ไหม ผมหวังจะเห็น solution ที่มาจากหลายๆ ส่วน และน่าสนใจกว่านี้ ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่ผมถูกสอนและได้รับการบ่มเพาะมาตลอดก็คือ คุณต้องเลือกในสิ่งที่ดี นั่นหมายความว่าขั้นแรกต้องมีสิ่งให้เลือกก่อน ค่อยมาดูว่าจุดประสงค์คืออะไร แล้วอะไรที่เหมาะสมที่สุด ตอนนี้การศึกษาเราอยู่ในโหมดที่ไม่มีทางเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้สึกแย่และไม่น่าจะใช่
รากของปัญหาส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เราอยู่ในโหมดที่จะไม่ยอมรับความเสี่ยงเลย ซึ่งผมเข้าใจว่าอาจจะยังมีหลายคน หลายส่วนที่รู้สึกอย่างนั้น คือต้องรอให้ความเสี่ยงของโรคระบาดลดลงเป็นศูนย์ก่อน ซึ่งผมว่าความคิดนี้อันตราย ถ้าเราจะต้องคิดอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการยอมรับความเสี่ยงทุกอย่าง ตั้งแต่การเปิดโรงเรียนไปจนถึงอีกหลายๆ ด้าน เราควรรอให้ความเสี่ยงเป็นศูนย์เท่านั้นหรือไม่ ทุกโรงเรียนยังไม่ต้องเปิดจนกว่าทุกคนจะได้วัคซีนหรือเปล่า ถ้าคิดเป็นตัวเลขง่ายๆ การพัฒนาวัคซีนในอเมริกา เขาพยายามที่จะผลิตวัคซีนเพื่อประชากรเขาก่อน ไม่รู้กี่ร้อยล้านคน จีนก็ต้องผลิตให้ตัวเองก่อน ไม่รู้กี่พันล้านคน แล้วจะต้องใช้เวลาแค่ไหน
สมมุติพิสูจน์ว่าวัคซีนได้ผลแล้ว อีกกี่ปีกว่าประเทศไทยจะได้ใช้ คือถ้าเราจะรอจนถึงวันนั้นมันใช่คำตอบที่ดีที่สุดหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ดังนั้นเราอาจจะต้องหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ เหมาะสมกับความหลากหลายของคน เหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งดูเหมือนว่าคำตอบในการจัดการศึกษาตอนนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาได้เอาคำตอบนี้เข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาหรือเปล่า ผมในฐานะคนที่อยู่ไกลๆ ผมรู้สึกไม่แน่ใจ เขาอาจจะฉลาดคิดมากกว่าผม แต่ดูแล้วก็น่าผิดหวัง เหมือนว่าคำตอบเป็นอย่างนี้ก็แล้วกัน ไม่มีทางเลือก
การจัดการศึกษากับการจัดการโรคระบาดจะไปด้วยกันได้ไหม
ทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกัน พอมีโรคระบาดขึ้นมา ทำให้ปัญหาการจัดการโผล่ชัดขึ้น จริงๆ ถ้าระบบการบริหารจัดการของเรามีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง หรือสถานการณ์ที่ complicated การบริหารจัดการต้องตอบสนองได้ดีกว่านี้ แต่ประเด็นคือเราไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหา เราแค่ปิดปัญหา หยุดปัญหาไว้ เหยียบปัญหาไว้ แต่ไม่ว่าจะเหยียบไว้ได้นานแค่ไหนก็ต้องกลับมาคิดใหม่ เรื่องความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องคำนึงถึง ความเสี่ยงระดับไหนที่เรารับได้
นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมอยากจะฝากไว้สำหรับคนที่มีอำนาจตัดสินใจหรือนักการเมือง ท่านต้องทำใจ เพราะไม่ว่าท่านจะเลือกอะไร ท่านโดนด่าแน่นอน ท่านไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ไม่โดนด่าได้ ถ้าท่านเลือกที่จะเปิดโรงเรียน ก็จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่อยากให้เปิด ทางออกที่พอทำได้คือ การมีทางเลือกให้เขา ถ้าเป็นพ่อแม่ที่กลัวความเสี่ยงนี้ คุณก็สามารถให้ลูกเรียนอยู่บ้านได้ แล้วให้ลูกแค่มาสอบก็พอ
รัฐต้องยืดหยุ่นกติกาต่างๆ ให้คนมีสิทธิเลือกมากขึ้น ความหลากหลายของทางเลือกจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการจัดการศึกษา ไม่ใช่ว่าทุกโรงเรียนเปิด-ปิดพร้อมกันหมด นั่นคือปัญหา เพราะเราไม่ถอยกลับมามองที่คอนเซ็ปต์ของโรงเรียน ว่าโรงเรียนก็มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้
ถ้าถามว่าโรงเรียนช่วยอะไรได้บ้าง แน่นอน หนึ่ง-สอนความรู้ให้เด็ก สอง-สอนทักษะสังคมให้กับเด็ก อย่างไรเสียเด็กก็ยังต้องไปโรงเรียน เขาต้องมีเพื่อน ไม่ใช่เรียนออนไลน์อย่างเดียว คือเราไม่สามารถนั่งเรียนอยู่ที่บ้านแล้วเติบโตมาเป็นคนที่… ผมไม่ใช้คำว่าสมบูรณ์ เพราะไม่มีใครสมบูรณ์ แต่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนที่อยู่ในสังคมได้ คุยกับเพื่อนได้ ไปเตะฟุตบอลด้วยกันได้ ทะเลาะกันได้ นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ชีวิตต้องมีสีสัน แต่สิ่งเหล่านี้จะขาดหายไปเท่าที่ผมสังเกตจากนโยบายปัจจุบัน
อีกอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับโดยตรงก็คือ โรงเรียนทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้หญิง ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘female labor supply’ เพราะการมีโรงเรียนจะมีประโยชน์มากๆ ทำให้ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านได้ เพราะฉะนั้นคนที่กระทบหนักมากที่สุดในวิกฤตินี้อาจจะเป็นผู้หญิง (แม่บ้าน) การศึกษาคือส่วนที่ดึงภาระที่จำเป็นออกไป ยังไม่พูดถึงภาวะตกงาน เพราะสัดส่วนผู้ชายกับผู้หญิงอาจจะตกงานพอๆ กัน
ทำไมผมถึงบอกว่า สิ่งที่ผมเห็นทำให้รู้สึกอึดอัด เพราะกระบวนการการเรียนออนไลน์ที่ทำกันอยู่ตั้งหลักไม่ถูก
ประเด็นแรก ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง เราอยากให้เด็กมีความสัมพันธ์กับโรงเรียน ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองไม่รู้สึกว่าฉันมีภาระเพิ่มขึ้น ทำให้เขารู้สึกได้รับการแบ่งเบาภาระจากโรงเรียนต่อให้ไปโรงเรียนไม่ได้
ประเด็นถัดมา
ทำไมเราจะต้องปิดโรงเรียน ในเมื่อความเสี่ยงอยู่ในระดับที่จัดการได้แล้ว เราเปิดโรงเรียนก็เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองทำงานไม่ได้ GDP เราก็ตก ทุกอย่างเสียหายไปหมด อย่างน้อยๆ ก็ต้องเพิ่มทางเลือกสำหรับการตัดสินใจให้หลากหลายกว่านี้ เรียกว่าให้ชาญฉลาดกว่านี้หน่อย
อาจารย์กำลังเสนอว่า เราควรจะยืดหยุ่นกับเรื่องสถานที่มากกว่านี้?
ถูกครับ แล้วผมคิดว่าควรจะต้องเปิดโรงเรียน ทำไมต้องประกาศว่าโรงเรียนทั้งประเทศต้องเปิด 1 กรกฎาคมพร้อมกัน เรามีโรงเรียนขนาดเล็กเยอะมาก โรงเรียนขนาดเล็กหมายความว่า มีเด็กน้อย อยู่ห่างไกล ในภาวะ COVID-19 หมายความว่ามีความเสี่ยงต่ำ แล้วทำไมเราปิดเขาไว้ ชนบทบางแห่งแทบไม่มีเคสผู้ป่วยเลย มีแต่เคสนำเข้าแล้วสามารถจัดการได้ ถ้ามีคนนอกเดินเข้าไปปุ๊บ ชาวบ้านทุกคนรู้ว่าคนนี้คือคนแปลกหน้า เขามี protection ของเขาดีกว่าที่เราคิดเยอะ
โรงเรียนที่มีปัญหาคือโรงเรียนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และอำเภอเมืองในจังหวัดต่างๆ และนั่นก็ควรไปออกแบบการดูแลอีกรูปแบบหนึ่ง ผมเองไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร แต่ถ้าให้เสนอ
ผมคิดว่าเราควรจะต้องเริ่มเปิดโรงเรียนขนาดเล็กก่อน เราควรจะต้องทำพื้นที่ pilot ไว้ก่อน และเรียนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมเป็นคนที่สามารถไปต่อรองกับคนที่ดูแลโควตาการตรวจ COVID-19 ได้ ผมจะไปต่อรองขอโควตาในการตรวจนักเรียนที่จะเปิดเรียนก่อน จากนั้นก็ทำการสุ่มตรวจทุกวันหลังจากเริ่มเปิด แล้วเราจะเรียนรู้ความเสี่ยงในภายหลัง
เช่นเดียวกัน ในการสื่อสารกับผู้ปกครองต้องทำให้ชัดเจน ถ้ารัฐบอกว่าเปิดโรงเรียนได้ ก็ไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงเป็นศูนย์ ยังมีความเสี่ยงอยู่นะ แต่เรากำลังพยายามลดความเสี่ยงสูงสุด พอโรงเรียนเปิด เราจะตรวจโรคจากครูห้าแสนคนไหม ผมไม่ทราบ เราจะต้องขยับความคิดจากเดิมที่คิดว่าทุกอย่างต้องเป็นศูนย์ การที่ความเสี่ยงเป็นศูนย์อาจจะไม่มีบนโลกใบนี้ ผมพูดแบบนี้อาจจะมีคนไม่พอใจเยอะ แต่ผมจำเป็นต้องพูด เพราะถ้าเราต้องรอให้ความเสี่ยงเหลือศูนย์ เราคงทำอะไรไม่ได้เลย
ถ้าจะเริ่มทดลองเปิดโรงเรียนขนาดเล็กก่อน เพราะมีความเสี่ยงต่ำกว่า โรงเรียนขนาดเล็กควรมีสิทธิตัดสินใจเองด้วยไหม
คงไม่มีครับ แต่ผมเข้าใจแทนผู้บริหาร ท่านเป็นนักการเมือง ท่านก็ต้องเข้าใจว่าขยับซ้ายก็โดนด่า ขยับขวาก็โดนด่า แต่ท่านก็ต้องทำในสิ่งที่คิดว่ามีหลักการครอบคลุม และเป็นประโยชน์กับสาธารณะ แต่ถ้าผมเป็นคนที่ต้องตัดสินใจ ผมก็จะตัดสินใจแบบนั้น ผมจะให้เปิดก่อน อย่ารอ ความน่ากังวลคือถ้าคุณไปรอถึงวันที่ 1 กรกฎาคม แล้วทุกโรงเรียนเปิดพร้อมกัน…ตู้ม คือคุณไม่มีทางรู้อะไรล่วงหน้าเลย
วิธีการทำงานที่ดีคือ การที่คุณทดลองทำ ดูว่าความเสี่ยงแบบไหนที่เราควบคุมได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สมมุติว่ามีเคสระบาดในโรงเรียน คุณรู้ไหมว่าจะควบคุมได้เร็วแค่ไหน เชื้อกระจายเร็วขนาดไหน มันควบคุมยากขนาดไหน แต่ผมยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้เลย
อย่างที่บอก เคสผู้ป่วยตามชนบทไม่ได้มีจำนวนมาก ชุมชนพร้อมที่จะเปิด คุณครูเองก็พร้อมที่จะทำงาน ผู้ปกครองก็ลำบาก เราต้องเข้าใจว่าผู้ปกครองเขาลำบาก คนไทยส่วนใหญ่คือคนจน การตัดสินใจนโยบายสาธารณะต้องตัดสินใจเพื่อคนส่วนใหญ่ วันก่อนผมไปซื้อของที่ตลาดสดแถวบ้าน เห็นเด็กเล็กๆ 4-5 ขวบ ต้องตามแม่ออกมาขายของ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าโรงเรียนหรือตลาดสดน่ากลัวกว่ากัน
เราต้องประเมินความเสี่ยงร่วมกันนะ ไม่ใช่จินตนาการเอา ผมไม่รู้ว่าความสามารถในการตรวจผู้ติดเชื้อใน 1 วัน ประเทศไทยทำได้เท่าไร น่าจะกางตัวเลขให้ทุกคนดูหน่อย จะได้ช่วยกันคิดและออกแบบได้ว่าเราจะเอาอย่างไรต่อ
การทดลองเปิดโรงเรียน จะช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้อย่างไรบ้าง
ทุกอย่างวางแผนได้ ยิ่งสำหรับโรงเรียนน่าจะมีพื้นที่ pilot ผมว่าโรงเรียนเป็นที่ที่ปลอดภัยกว่าหลายๆ แห่ง และผู้ปกครองจะต้องมีสิทธิตัดสินใจว่าจะส่งหรือไม่ส่งลูกไปโรงเรียนมากกว่าเดิม โดยที่ไม่ต้องไปทำกระบวนการอะไรมาก ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียน ผู้ปกครองจะต้องสามารถบอกได้ว่า “เดี๋ยวฉันจะพาลูกไปสอบตอนสอบก็พอ” โรงเรียนและระบบการศึกษาภาคบังคับหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณจะต้องยืดหยุ่นให้ได้ สมมุติผมเป็นผู้ปกครอง ผมกังวลมาก ผมไม่ยอมรับความเสี่ยง ผมต้องมีสิทธิที่จะไม่ส่งลูกไปโรงเรียน เพราะคน 60 ล้านคน รับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ภาวะความเดือดร้อนของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่า ‘one size fits all’ แต่ให้โอกาสเขาเลือกเองได้ ส่วนคนในกรุงเทพฯ อาจจะส่งลูกไปเรียนน้อยหน่อย เพราะคนอาจจะมีความกลัว และมีความสามารถที่จะดูแลมากกว่า
ถ้าโรงเรียนมีสิทธิในการตัดสินใจที่ยืดหยุ่น ผู้ปกครองก็ควรมีสิทธิในการตัดสินใจที่ยืดหยุ่นด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ สำหรับโรงเรียนอาจจะยากหน่อย แต่กับผู้ปกครองเราต้องให้สิทธิเขาตัดสินใจด้วย และต้องไม่ใช่การบังคับ ตัวอย่างการเรียนออนไลน์ เราไปบังคับเขาทำไม ถึงแม้เขาบอกว่าไม่ได้บังคับ แต่สำหรับคนทั่วไปวันแรกที่ได้ยินหลายคนก็น่าจะรู้สึก เพราะฉะนั้นระบบต้องเปลี่ยนโทนให้ได้ว่าพร้อมที่จะยืดหยุ่น คนที่ไม่พร้อม คุณก็อยู่บ้าน คุณสามารถดู DLTV ดูออนไลน์ หาความรู้ด้วยตัวเอง เมื่อต้องวัดผลก็แค่ไปวัดผล คุณก็ได้ใบประกาศเช่นเดียวกัน ผมว่าต้องให้เกียรติกัน
ทำไมเด็กต้องไปโรงเรียน การหยุดอยู่บ้านนานหรือปิดเทอมนานขนาดนี้ส่งผลเสียอะไรบ้าง
หนึ่ง-ถ้าเลื่อนเปิดเทอม 1-2 เดือน ผมว่าเรื่องความรู้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ปัญหาแรกคือภาระผู้ปกครอง โดยเฉพาะคนที่เขาต้องหาเช้ากินค่ำ เขาจะมีปัญหามากๆ เมื่อลูกเลื่อนเปิดเทอม
สอง-ทักษะที่เด็กจะต้องได้นอกจากการเรียนรู้ที่เด็กจะต้องไปอ่านเอง คือ ทักษะเชิงสังคมจะหายไป อันนี้สำคัญ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างทักษะนี้โดยปราศจากการอยู่ด้วยกัน
ถ้าให้ priority ผมให้ภาระผู้ปกครองมาเป็นอันดับแรก ผมเห็นนักวิชาการหลายคนมองว่าน่าจะเป็นปัญหาเรื่องความรู้ ซึ่งก็จริง แต่อย่างที่บอก เรื่องภาระของผู้ปกครองก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าคุณไปต่างจังหวัด คุณอาจเห็นเด็กเล่นกันอยู่แล้วเพราะตามธรรมชาติเด็กเขาทนไม่ไหว
นอกจากเรื่องภาระของผู้ปกครองและทักษะทางสังคม มีปัญหาอะไรอีก
สิ่งหนึ่งที่สังคมยังพูดน้อย แล้วผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลทำงานเรื่องสุขภาพจิตอย่างไรบ้าง นี่เป็นปัญหาใหญ่และอาจจะใหญ่กว่า COVID-19 ด้วยซ้ำ เพราะคนที่ติดเชื้ออาจจะไม่มากเท่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจาก COVID-19
ผมว่าคนเครียดเยอะ แม้แต่ตัวผมเองก็มีบางจังหวะที่เครียด ลูกผมอยู่ในช่วงวัยรุ่น เขาเริ่มมีพื้นที่ส่วนตัว เขาอยู่บ้าน ฟังเพลง ได้ทำอย่างที่เขาอยากทำ แต่เด็กเล็กที่เริ่มรู้เรื่อง เช่น กลุ่มปฐมวัย วัยของเขาคือการได้ไปโรงเรียน คุณจะไปหวังว่าผู้ปกครองจะต้องสอนเองได้หมด มันก็ไม่ใช่ คือผมไม่ได้หมายความว่าโยนภาระไปที่โรงเรียนนะ แต่ประเทศไทยผูกฟังก์ชั่นนี้ไว้กับโรงเรียนเป็นร้อยปี ถ้าเราอยากให้หมุนไปต่อได้ เราก็ต้องช่วยกัน ต้องมาคุยกันอย่างชัดเจน เด็กจะได้หายเครียดบ้าง แม้เขาไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง แต่บางครั้งความเครียด ความกลัวจากผู้ใหญ่ ก็ส่งต่อไปที่เด็กได้
สมมุติว่าบางครอบครัวเลือกที่จะไม่ส่งลูกไปโรงเรียน หรือยังพอมีเวลาให้ลูก เขาจะใช้หลักการอะไรในการจัดการเรียนการสอนให้ลูก
เริ่มจากการทำอะไรก็ได้ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากิจกรรมมาทำร่วมกันบ้าง แต่อย่าลืมว่าต้องไม่เพิ่มภาระของผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะทำหรือไม่ทำก็ได้ จริงๆ โจทย์นี้ต้องอาศัยคณะครุศาสตร์หลายๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาช่วยกันคิด ในส่วนของโรงเรียนสาธิตปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เราทำโครงการ RIECE Thailand (โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ) รวมถึงการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็เปิดพื้นที่ให้เราได้คิดค้นหาความรู้ เพื่อให้คนนำความรู้นั้นไปใช้ได้ด้วยตัวเอง
หรืออีกทางคือรัฐบาลอาจจะทำให้ความรู้หรือหนังสือเรียนถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น หรือเรียนผ่านระบบ DLTV ง่ายขึ้น แต่ความผิดพลาดทั้งหมดคือ รัฐอยากทำให้เป็นแค่ทางเลือกเดียว
ถ้าโรงเรียนเปิด จะต้องออกแบบการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อไม่ให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง
เราต้องดูขนาดโรงเรียนก่อน ประเมินก่อน เราสามารถควบคุมจำนวนนักเรียนได้ไหม นอกจากนั้นมีวิธีอื่นไหม เช่น การมาเรียนสลับวัน นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าเราต้องมาคิดร่วมกันมากขึ้น อย่างน้อยการมาสลับวันก็ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ มารับการบ้านกลับไปทำ ดีกว่าอยู่บ้านแล้วก็รับการบ้านออนไลน์ตลอดเวลา ถ้าโรงเรียนที่มีพื้นที่รองรับ ในวันนั้นลูกอาจจะได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น แต่อย่าตั้งเป้าว่าความเสี่ยงจะต้องเป็นศูนย์ เพราะถ้าตั้งเป้าที่ศูนย์ เราก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี
ไม่มีใครกล้าบอกหรอกครับว่าวิธีไหนที่จะทำให้ไวรัสเป็นศูนย์ มันอาจไม่มีบนโลกใบนี้เลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีกติกาอะไรที่ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อ ติดตาม ดูแล ประเมินผล สุขลักษณะเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว การตรวจอุณหภูมิ ล้างมือ ซึ่งก็ไม่ง่ายที่จะห้ามเด็กเล่นด้วยกัน อย่างที่บอก เราต้องยอมรับความเสี่ยงระดับหนึ่งที่ไม่มากจนเกินไป พยายามทำดีที่สุดที่จะรับความเสี่ยงนั้นได้ แล้วก็ต้องติดตามประเมินอย่างต่อเนื่อง ผมว่านี่คือสิ่งที่สำคัญมากๆ
ผลพวงจาก COVID-19 สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง
มันทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำได้ชัดขึ้น พ่อแม่ที่มีความรู้น้อยกว่า ฐานะต่ำกว่า ก็สอนลูกเองไม่ได้ จากอดีตเราพยายามทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงด้วยการทำให้เด็กทุกคนไปโรงเรียน แต่สถานการณ์ตอนนี้น่าจะมีความเหลื่อมล้ำถ่างมากขึ้น เพราะคนที่มีฐานะมากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า เขาก็สามารถจ้างครูสอนพิเศษที่บ้าน ส่วนคนจนกว่าทำอะไรไม่ได้ ต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาสอนลูก หรือต่อให้มีเวลาก็ No idea
ตัวอย่างคุณแม่ผม ท่านก็จบ ป.4 ไม่สามารถสอนอะไรผมได้ ผมเรียนวิศวะจุฬาฯ ผมเอาเกรดไปให้ดู แม่ผมยังดูไม่รู้เรื่องเลย ผมจะสอบตกหรือสอบผ่าน ผมจะโกหกยังไงก็ได้ เพราะแม่ไม่รู้
ผมเก็บข้อมูลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปถามชาวบ้าน พบว่าเขาไม่ได้กังวลกับการเรียนออนไลน์ แต่สิ่งแรกคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้วิธีการสื่อสารใหม่พอสมควร ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองไม่กังวล ตอนนี้คนส่วนใหญ่กังวลว่าฉันทำไม่เป็น ฉันสอนลูกไม่ได้ ซึ่งเด็กไทยประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ อยู่กับคุณตาคุณยายก็ยิ่งยาก
ฉะนั้นการจะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทของตัวเองเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรา ไม่ได้ง่ายนะครับ ของพวกนี้ไม่ได้แก้ข้ามคืน ไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนจะเข้าใจ คุณครูจึงต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยสานสัมพันธ์ แต่แน่นอนไม่ใช่แค่คุณครูที่ต้องเข้าไปเยี่ยม เราอาจจะต้องออกแบบมากกว่านี้ อาจต้องใช้อุปกรณ์หรือกิจกรรมเข้าไปทำกับเด็กหรือไม่ นี่คือโจทย์ใหม่ของประเทศ ซึ่ง กสศ. ก็พยายามจะทดลองหาวิธีการ หาทางออกที่อาจจะช่วยบรรเทาได้บ้าง
จากการลงพื้นที่สำรวจผลกระทบด้านการศึกษา พบข้อมูลที่น่าสนใจอะไรบ้าง
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่ผมสนใจคือเงินหรือการส่งเงินกลับบ้าน พอเจอวิกฤติ คนตกงานเยอะมาก เงินเขาหายไป ครอบครัวส่วนใหญ่ต้องส่งเงินให้คุณตาคุณยายเลี้ยงหลาน หากไม่มีรายได้ส่งกลับมาเขาจะทำอย่างไร
แต่ผลสำรวจนี้ยังไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว สำรวจไปได้ประมาณ 600 ครัวเรือน จากที่ตั้งเป้าไว้ 1,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามีรายได้ลดลง ส่วนรายจ่ายไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง
อีกสิ่งที่พบคือคนในพื้นที่ชนบทใช้เครื่องมือเป็น แต่จัดการตัวเองไปอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนไม่เป็น เขาเปิดทีวีเป็น เล่นไลน์เก่ง แต่เขาก็รู้สึกกังวล โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด เขาไม่ได้มี self confident มากมาย เขารู้สึกว่า “ฉันทำไม่ได้หรอก ฉันไม่ใช่ครู” ดังนั้นคนที่ตัดสินใจเชิงนโยบายต้อง sensitive กว่านี้ ต้องคิดถึงความรู้สึกของคนที่อยู่ระดับรากหญ้ามากกว่านี้ คุยกับเขาให้มากกว่านี้ อย่างน้อยสิ่งที่เขาควรเปิดก่อนการเรียนคือการเมือง ให้นักการเมืองลงไปคุยกับชาวบ้านด้วยเถอะ เพราะนี่คือความหวัง
ถ้านักการเมืองจะมีประโยชน์ก็ต้องเวลานี้ ไปรับฟังประชาชน ไปดูว่าเขารู้สึกอย่างไร เขากำลังมีปัญหาอะไร เขากำลังกังวลอะไร เราสื่อสารกับเขาได้ผลหรือเปล่า เขากังวลเกินความจริงไหม เราไม่ควรจะอยู่ในโหมดที่ทำให้กลัวมากๆ ไว้ก่อน
ที่น่าสนใจเมื่อเราถามว่า การปิดเทอมนานๆ จะมีผลต่อการเรียนไหม ไม่ใช่เชิงวิชาการนะ ซึ่งความเห็นผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดว่ามีผลเชิงลบกับเด็กในระยะสั้น ส่วนใหญ่คิดว่าเด็กคงจะเรียนแย่ลง ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความจริงไหม แต่เป็นเรื่องที่เขากังวล เขาจะคิดว่า “โอ๊ย เด็กมันอยู่บ้าน มันก็จะเล่นแต่เกม” ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเด็กแย่นะครับ แต่เราจะทำอย่างไรที่ให้เด็กอยู่บ้าน 8 ชั่วโมง หรืออยู่กับผู้ใหญ่ตลอดเวลาโดยที่ไม่เบื่อ
บางคนอาจจะโทษผู้ปกครอง แต่ก็นั่นแหละ จะให้ผู้ปกครองทำอะไร ในเมื่อเขาไม่มีความรู้ ภาษาเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า ‘endowment’ เราอาจเปลี่ยนสิ่งนี้ไม่ได้ แต่ต้องทำให้ดีกว่านั้น ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ปัญหาใหญ่ของผู้ปกครองน่าจะเป็นเรื่องการงานและการเงินใช่ไหม
ผมว่าเรื่องหนึ่งที่เรายังพูดถึงกันน้อยคือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในชุมชนเมือง ซึ่งมีผลกระทบต่อครอบครัวเปราะบางในชนบทที่ต้องรอลูกส่งเงินกลับบ้าน กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ผมคิดว่าเปราะบางที่สุด ณ ตอนนี้ รายได้เขาหายไปเยอะมาก เพราะล็อคดาวน์ประเทศ ไม่สามารถส่งเงินกลับไปได้ จะกลับบ้านก็กลับไปไม่ได้ เพราะคุณก็ไม่สามารถไปทำงานที่นั่นได้ คุณกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมคิดว่าสังคมน่าจะให้ความสนใจมากขึ้น
ถ้าจะแก้โจทย์ใหญ่ระดับนี้ ควรจะเริ่มต้นจากจุดไหน
สิ่งแรกที่รัฐควรจะทำ อาจเริ่มจากเด็กปฐมวัยก่อน ถามว่าเด็กเล็กควรจะต้องไปโรงเรียนไหม ผมคิดว่าเราควรมองปัญหาแบบหน้ากระดาน อะไรที่จำเป็นก็ต้องไปดูเป็นกรณีไป แต่แน่นอนสิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องรู้วิธีควบคุม คือไม่ใช่ว่าเรากดทุกอย่างและควบคุมมันด้วยวิธีเดียว นโยบายควรจะเหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท เช่น ชุมชนแออัด ถ้าคุณไปทำแบบเดียวกับคนในหมู่บ้านจัดสรรก็คงไม่ใช่ เพราะวิถีชีวิตคนละแบบ เขาต้องปากกัดตีนถีบ ถ้าคุณไม่ให้เขาไปโรงเรียน เขาก็ต้องอยู่ที่บ้าน แล้วที่บ้านก็ไม่ใช่ว่าจะสะอาดปลอดภัยกว่าโรงเรียน
ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจารย์พอจะเห็นแง่บวกจากโรคระบาดบ้างไหม เช่น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
อาจเพราะว่าผมถูกสอนมาไม่ให้มองอะไรที่บวกเท่าไหร่ ให้พูดแต่เรื่องลบ แต่อย่างที่บอก ผมพยายามเสนอโจทย์สำคัญคือ การลดภาระผู้ปกครอง
ส่วนชุมชนอาจจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาไหม ผมว่าตอนนี้ทุกคนอยู่ในโหมดรอ นี่คือรากเหง้าของการบริหารในอดีตที่ผ่านมา ท้องถิ่นก็อยู่ในโหมดรอ ทั้งที่จริงๆ ก็ประหลาด เพราะว่าท้องถิ่นกำลังจะเลือกตั้ง ลึกๆ แล้วท้องถิ่นอาจจะอยาก active ก็ได้ แต่ด้วยบรรยากาศแบบนี้ทำให้ไม่กล้า ชุมชนก็ยังไม่กล้า ประกอบกับยังไม่เห็นนโยบายของรัฐว่าจะเชิญชวนชุมชนเข้ามาตัดสินใจในเรื่องการศึกษา แต่ถ้าชุมชนพร้อม ผู้ปกครองอยากให้ลูกมาโรงเรียน ก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ อย่างน้อยก็ให้ชุมชนตัดสินใจได้เอง
การมองการศึกษาในมิติเศรษฐศาสตร์ทำให้เห็นปัญหาที่ลึกซึ้งกว่าเดิมไหม
ผมไม่รู้ว่าลึกซึ้งหรือเปล่า แต่การออกแบบห้องเรียนก็ไม่ง่ายนะครับกับการจะมาบอกว่าห้องเรียนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่เรายังไม่ได้ทดลอง
ผมยังเชื่อไม่ถอยว่าห้องเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ การย้ายไปเรียนออนไลน์ ผมว่าทุกคนก็รู้และยอมรับว่าประสิทธิภาพมันต่ำมาก และยังห่างไกลกับการที่จะมาทดแทนการเรียนรู้ของคน เรามีงานวิจัยมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์มีผลในเด็กโตมากกว่า เด็กเล็กไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะไม่มีงานวิจัยอะไรที่สะท้อนออกมา สำหรับผมถือว่ามันไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสำหรับเด็กปฐมวัย
ถึงแม้การเรียนออนไลน์จะดูไร้สาระ แต่โรงเรียนสาธิตปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เราก็ทำ แต่ทำบนหลักการบางอย่าง เราอยากคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก โดยให้ครูอ่านนิทานให้เด็กฟัง 15 นาทีผ่านโปรแกรม Zoom แต่ไม่บังคับให้ผู้ปกครองทุกคนต้องมาดู เราหวังว่า 15 นาทีนี้ ครูจะช่วยให้ผู้ปกครองสบายขึ้น พ่อแม่ได้มีเวลาหายใจบ้าง เราไม่ได้พยายามจะไป push ผู้ปกครองว่า คุณต้องนั่งสอนเขา นั่งเรียนกับเขา ผมคิดว่าถ้าหันมาส่งเสริมให้ครูได้คุยกับเด็กบ้าง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ปกครอง ทำให้พ่อแม่สบายใจว่าลูกคุณโอเคนะ ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวเรามาเรียนรู้กัน
เราไม่ได้หวังอะไรจากผู้ปกครองว่าต้องมาทำกระบวนการ เพียงแค่สอนลูกพับผ้า แยกสีผ้า ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ได้นิดๆ หน่อยๆ เด็กอาจจะมีวิธีคิดได้เป็นระบบขึ้น งอแงน้อยลง เครียดน้อยลง อย่างที่บอก สุดท้ายผมโฟกัสไปที่ครอบครัวก่อนว่าเราจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้
โรงเรียนสาธิตปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทดลองทำอะไรไปแล้วบ้าง
เราชวนให้คุณครูอัดวิดีโอ อ่านนิทานให้เด็กฟังง่ายๆ หนึ่งในหลักสูตรของเราคือการพาเด็กๆ ไปนั่งฟังนิทานจากคุณครูเป็นประจำ หรือชวนพ่อแม่มาอ่านนิทานให้ลูกตัวเองฟัง รวมถึงการให้คุณครูพาเด็กๆ ทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ผู้ปกครองทางบ้านสามารถทำตามได้ เช่น การเข้าครัวพาเด็กทำสเลอปี้
เราทดลองทำได้สัก 2-3 สัปดาห์แล้ว ผู้ปกครองที่โอเค เขาก็มาร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ทุกคน บางคนก็บอกไม่ไหว เขาไม่ทำ ก็ไม่เป็นไร ตามหลักของการศึกษา เด็กเล็กควรเรียนผ่านความรู้สึก ถ้าเขาอยากมีปฏิสัมพันธ์กับครู ก็ให้เขาเปิดออนไลน์มาทักทายครู เขาก็จะเรียนรู้ได้ดี
สิ่งสำคัญสำหรับการคิดกิจกรรม เราต้องยึดโครงกิจวัตรของเด็กๆ ทำให้ง่ายมากที่สุด ห้ามทำให้ผู้ปกครองรู้สึกอึดอัด ไม่เช่นนั้นจะพังทันที อย่างการฟังนิทาน เขาไม่จำเป็นต้องดูก็ได้ เราไม่ได้บังคับ วิดีโอส่วนใหญ่ครูจะบันทึกแล้วค่อยเอามาลง แต่นี่ไม่ใช่ทางเลือกของการศึกษาจริงๆ หรอก แค่ช่วยบรรเทาอาการ เป็นยาแก้ปวดพาราเซตามอล ไม่ใช่ฉีดยาแล้วจะหายปุ๊บ
มองในแง่เศรษฐศาสตร์ สถานการณ์ตอนนี้บ่งบอกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถึงระดับไหน
ในทางเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้เราเหมือนคนกำลังจะตกน้ำ เทียบง่ายๆ เงินเยียวยา 5,000 บาท ตอนนี้มีค่ามากเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่โตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์ปัจจุบันกำลังทำให้ทุกคนลำบาก แน่นอนว่าส่งผลต่อจิตใจพ่อแม่และอนาคตของเด็กอยู่แล้ว ยิ่งมาดูเรื่องการศึกษา ผมมั่นใจว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งมหาศาล ผมจบปริญญาเอก ผมคุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษได้ ลูกผมก็เรียนที่บ้านได้ระดับหนึ่ง เขาดูรายการที่เป็นภาษาอังกฤษได้ ต่างกับชาวบ้านที่เขาดูไม่ได้ แล้วเราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นจริงหรือ เพราะยิ่งปล่อย ช่องว่างก็ยิ่งห่าง ถ้าห่างมากๆ ก็อาจจะดึงกลับมาไม่ทันและมันจะหลุดออกไป
ผมไม่รู้หรอกว่าเด็กจะหลุดออกจากระบบไหม แต่ก็เป็นไปได้ สิ่งที่อยากเห็นคือ solution ที่กระทรวงหรือนักการศึกษาช่วยกันคิดขึ้นมา โดยทางออกนั้นจะต้องเหมาะสม เข้าใจชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน
ผมหวังว่าคนที่มีอำนาจตัดสินใจจะคิดกันอย่างจริงจัง ผมอยากเห็นบรรยากาศในห้องประชุมที่ผ่านการถกเถียงกันแบบหน้าดำหน้าแดง พวกเขาควรจะทะเลาะกันเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด ทะเลาะในเรื่องไอเดียนะครับ ไม่ใช่ทะเลาะแย่งตำแหน่งกัน สุดท้ายจะได้เกลี่ยออกมาว่าทิศทางการศึกษาควรจะเป็นแบบไหน เราต้องระดมความคิดเห็นเพื่อจะแก้ปัญหา ยิ่งปัญหายาก ยิ่งจะต้องโต้เถียงกันมากเท่านั้น ทุกคนจะต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพื่อจะตอบโจทย์นี้ ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่าน่าจะต้องมีทางออกที่ดีกว่านี้ได้ ไม่เช่นนั้นก็น่าเศร้า
ดูเหมือน COVID-19 จะเป็นตัวเร่งปรากฏการณ์ต่างให้เกิดขึ้นๆ โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา ในมุมของอาจารย์เราควรจะใช้ปรากฏการณ์นี้ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง
แน่นอนว่า COVID-19 กำลังผลักให้เราไปสู่อะไรบางอย่าง สุดท้ายถ้าห้องเรียนที่แออัดไม่ใช่คำตอบ คำถามใหญ่ที่ตามมาคือต้นทุนทางการศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้น ถ้าในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกคุณจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราจะต้องคิดไว้ล่วงหน้า
ส่วนการเรียนออนไลน์อนาคตก็คงจะเลี่ยงไม่ได้ คงจะต้องมีอยู่ในระบบ แต่สิ่งที่ผมจินตนาการและคิดว่าน่าสนใจ และอาจจะไปเพิ่มบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำได้อีกก็คือ ต่อไปเราอาจจะเห็นการเปิดตัวของสถาบันการศึกษาที่แยกตัวออกไปชัดเจนว่าเอาดีกับทางออนไลน์อย่างเดียวก็เป็นได้
สำหรับผมมหาวิทยาลัยอาจจะยังไม่ถึงกับ disrupt จนไม่มีนักศึกษานั่งเรียน แต่อาจจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ elite มากขึ้น หมายความว่าถ้าคุณอยากเรียนในมหาวิทยาลัยคุณภาพ คุณอาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะอาจารย์คนหนึ่งสอนเด็กได้น้อยลง ต้นทุนในการผลิตแแพงขึ้น หรือถ้าคุณต้องการเรียนออนไลน์ คุณก็ต้องถีบตัวเองมากขึ้น คุณทำได้ไหม สิ่งเหล่านี้ผมก็ไม่แน่ใจ อาจถือเป็นโอกาสในการเร่งให้เราคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้น แต่อย่างที่บอก ลึกๆ ผมไม่ค่อยเชื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แม้ Youtube จะมีประโยชน์มากขึ้นก็ตาม แต่การเรียนรู้ที่ยากที่สุดคือกระบวนการคิด ผมยังคงเชื่อการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนกับอาจารย์อยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้กับการเรียนออนไลน์
ผมว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยามากกว่าจะเป็นตัวขัดขวาง มันทำให้เห็นจุดอ่อนชัดขึ้นในหลายๆ เรื่องที่เราไม่เคยสนใจจะดูมัน การที่ COVID-19 โผล่ขึ้นมา ทำให้สังคมช่วยกันจดจำว่าเรามองข้ามอะไรไปบ้าง อนาคตจะได้ไม่ต้องทำอีก
วิกฤติ COVID-19 เป็นสิ่งประหลาดที่สุด มันเป็นข้อจำกัดเชิงกายภาพที่เราไม่เคยเจอมาก่อน อย่างวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ไม่เคยห้ามเราคุยกัน ร้านนวดแผนไทย ร้านตัดผมก็ไม่เคยต้องหยุด ขายของได้ แต่คราวนี้เกิดเป็นกำแพงหนามหาศาลสวนทางความเป็นมนุษย์ที่สุด เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ COVID-19 มันบอกเราห้ามเป็นสัตว์สังคม
ในระยะสั้น ถ้าตัวเลขยังเป็นตัวเลขจริงอย่างที่เป็นอยู่ ก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมเราไม่ควรจะเปิดโรงเรียน อย่างน้อยเด็กก็ได้เรียนหนังสือ สุดท้ายถ้าจะมีวัคซีนในอีก 2 ปีจริงๆ เราก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติในที่สุด เราจะยอมรับความเสี่ยงนั้นไหม ซึ่งก็เป็นคำถามที่ต้องการการคิดที่ลึกซึ้งขึ้นนะครับ ยิ่งคำตอบทางการแพทย์ไปไกลเท่าไร วิธีคิดอาจจะต้องเปลี่ยนมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเดือนหน้าเราจะได้วัคซีน เราก็ยินดีที่จะล็อคดาวน์ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แต่ถ้ารออีก 2 ปี วิธีคิดจะต้องเปลี่ยน ผู้ปกครองก็ต้องเปลี่ยนมุมมอง