เพศทางเลือกในดินแดนเสรีภาพกับคนไม่มีสิทธิ์เลือกในประเทศร่างรัฐธรรมนูญ (2/2)

open-silpchai2
เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
ความเดิมตอนที่แล้ว

2: คนไม่มีสิทธิ์เลือกในประเทศร่างรัฐธรรมนูญ

 

เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำไหมว่า ไทยคือรัฐศาสนา

ไทยเป็นรัฐศาสนาหรือรัฐกึ่งศาสนา…ชัดเจนครับ รัฐศาสนามันก็มีความเข้มข้นของมัน รัฐศาสนาเข้มข้นมากน้อยต่างกันไป ถ้าเข้มข้นมาก ศาสนาอื่นไม่มีที่ยืนเลย แล้วใช้หลักศาสนามาใช้เป็นกฎหมาย

ประเทศไทยอาจจะพูดได้ว่าเป็นรัฐศาสนาแบบอ่อนๆ แต่เป็นรัฐศาสนา หรือกึ่งศาสนาแน่ เพียงแต่เราไม่เขียนชัดๆ เราไม่เขียนชัดๆ ว่าประเทศเราจะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเรารู้อยู่ว่าเขากำลังผลักดันกันอยู่ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็พยายามจะเลี่ยงมาก เพื่อเห็นแก่ความสงบหรืออะไรก็ตามแต่

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นรัฐศาสนาชัดเจนขึ้นกว่าก่อน เมื่อก่อนไม่มีคำนี้ รัฐต้องคุ้มครองศาสนาพุทธเถรวาท

ในหมวดของศาสนาที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มองเห็นอุดมการณ์อะไรหรือเจตจำนงของคณะผู้ปกครอง

ชัดเจนครับ ยังไงก็คืออันเดิมนั่นแหละ ประเทศนี้จะต้องสนับสนุนพุทธศาสนาเถรวาท เขียนชัดขึ้นเมื่อเขียนอย่างนี้ก็เชื่อว่าจะมีคนต่อไปถึงกฎหมายลูก จากเมื่อก่อนรัฐดูเหมือนอุดหนุน แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นภารกิจเต็มที่ แต่ด้วยการร่างแบบนี้ ในอนาคตรัฐจะต้องอุดหนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนภาคศาสนาดังกล่าวมากขึ้น

แสดงว่าคนที่สังกัดศาสนาที่ต่างจากศาสนาดังกล่าว ก็ต้องอุดหนุนศาสนาดังกล่าวด้วย ผ่านเงินภาษี?

เลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะว่าเงินภาษีมันเป็นภาษีจ่ายไม่ได้ระบุศาสนา ก็แล้วแต่รัฐว่าจะใช้อะไร ซึ่งจะว่าไปแล้ว ประเทศอิตาลี ใครนับถือศาสนาไหน เราสามารถเลือกเขียนลงไปตอนที่เราจ่ายภาษีได้เลย ว่าเราประสงค์จะให้เงินภาษีของเราไปอุดหนุนศาสนาใด

รัฐบาลอิตาลีจะกันเอาไว้ว่า ในภาษีที่เราเสีย 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ให้สนับสนุนศาสนา และให้เราระบุด้วยว่าเราจะยกให้ศาสนาไหน ซึ่งแน่นอนก็ตามที่เราพอใจ ถ้าไม่ระบุเงินก็จะเข้ารัฐ ซึ่งเขาก็จะมีรายชื่อศาสนาอยู่ประมาณ 10 กว่ารายชื่อ

องค์กรทางศาสนาที่จะได้รับการอุดหนุนจะต้องเป็นองค์กรศาสนาที่มีตัวตน มีการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลอิตาลี แล้วเขาก็แฟร์นะครับ ถ้าคุณสถาปนาองค์กรของตัวเองได้เป็นเรื่องเป็นราว เขาก็จะให้จริงๆ

อิตาลีจัดอยู่ในรัฐโลกวิสัยโมเดลแบบไหน

พูดได้ว่าเป็นโมเดลแบบสหรัฐ มีวัฒนธรรมคาทอลิกฝังลึก แต่ถือตัวว่าเป็นรัฐโลกวิสัย ศาสนาไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมสูง วาติกันไม่มีอำนาจอะไร แม้แต่รัฐวาติกันก็ต้องเช่าพื้นที่จากรัฐบาลอิตาลี ซึ่งพื้นที่ที่ว่าเล็กกว่าสวนลุมพินีอีก

รัฐที่มีการแยกอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจรัฐกับอำนาจศาสนาออกจากกัน ในโลกนี้มีหลายโมเดล

โมเดลแรกคือนโยบายแบบสหรัฐ แบบที่สองคือนโยบายแบบฝรั่งเศส แบบฝรั่งเศสค่อนข้างที่จะเข้มงวดกับคนที่จะมีอัตลักษณ์ภายนอกที่เด่นชัดหรือแตกต่าง เขาจะค่อนข้างเข้มงวด ในขณะที่อเมริกาจะปล่อย มุสลิมจะอยู่สบาย แต่ในฝรั่งเศสคุณจะคลุมฮิญาบไปโรงเรียนเขาไม่ยอม หรือแม้แต่จะใส่ไม้กางเขนใหญ่ๆ โรงเรียนเขาก็ไม่ยอม คือให้คนดูเหมือนๆ กัน

อเมริกากับอังกฤษคล้ายๆ กัน ค่อนข้างเสรีภาพและปล่อยมาก แบบฝรั่งเศส-ให้ความเสมอภาคแต่ไม่ค่อยปล่อย ค่อนข้างเข้มงวด และอีกแบบหนึ่งคือ นโยบายแบบจีน จีนเข้มงวดเลย คือเสมอภาคแบบไม่ให้เสรีภาพ

เสมอภาคแบบไม่ให้เสรีภาพ?

ค่อนข้างห้ามนั่นห้ามนี่ ห้ามศาสนสถานติดป้ายว่าเป็นคริสต์ เป็นมัสยิด อะไรอย่างนี้ ในบางพื้นที่จะมาแต่งตัวมุสลิมไว้เครายาวๆ ใส่ฮิญาบปิดหน้าไม่ได้ เข้มงวดมาก อย่างล่าสุดห้ามถือศีลอด ห้ามทำรอมฎอน เพราะฉะนั้นโมเดลใหญ่ๆ ถ้าจะพูดง่ายๆ มีสามโมเดล

แม้ว่าการนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งควรจะเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล แต่วลีในร่างรัฐธรรมนูญอย่างมาตรา 67 ก็เท่ากับบอกเราอย่างเงียบๆ ว่าเราแทบจะไม่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาเลย?

ครับ ในทางรัฐธรรมนูญโดยข้อเขียนเหมือนใช่ เพราะเขาบอกว่าให้เสรีภาพ แต่การให้เสรีภาพที่ไม่ให้ความเสมอภาค เท่ากับว่าไม่ให้เสรีภาพในทางพฤตินัย เพราะอะไร เพราะคนย่อมจะกังวลว่า ถ้าฉันไปนับถือศาสนาที่ถูกรอนสิทธิ์หรือมีสิทธิ์ไม่เท่ากับศาสนาทางการ เขาก็ย่อมจะมีปัญหาหรือไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง เพราะถ้าขืนเปิดเผยตัวเองว่า ฉันเชื่อแบบอื่นที่ไม่ใช่แบบนั้น เดี๋ยวฉันก็จะถูกรอนสิทธิ์ สิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน มันก็เท่ากับเสียสิทธิ์

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ถ้าเราไปสมัครงานเป็นข้าราชการ แล้วเราขืนไประบุว่าไม่นับถือศาสนา รับรองเลยไม่ได้งาน อันนี้ชัดเจน อันนี้คนรายงานให้ผมฟังเยอะมาก หรือระหว่างเป็นลูกจ้างชั่วคราว ถ้าไประบุตัวตนแบบนั้น ผู้บังคับบัญชาก็จะไม่อนุมัติให้ทำงาน เขาบอกคุณไปแก้ตรงนี้ก่อน เพราะระบบรับไม่ได้ ในกระทรวงบางกระทรวง…ไม่ได้เลย แล้วยิ่งไปบอกว่าไม่นับถือศาสนา ฉันนับถือศาสนาเจได อะไรอย่างนี้ อยู่ดีๆ ไปบอกว่านับถือเจ้าแม่กวนอิม ฉันนับถือผี ถือเต๋า เต๋าก็ไม่มีอยู่ในรายชื่อ

ศาสนาต้องถือเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ถูกที่สุดต้องให้ถือว่าเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัว ในทางศาสนวิทยา ต่อให้นับถือศาสนาเดียวกัน คนสองคนไม่มีทางเชื่อเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์…ไม่มี ต่อให้เป็นพุทธเหมือนกัน นิกายเดียวกัน เป็นชีอะห์เหมือนกัน เป็นซุหนี่เหมือนกัน เดี๋ยวจะถามนู่นถามนี่ ถามไปถามมา เดี๋ยวก็จะเจอจุดที่แตกต่าง ไม่มีศาสนาไหนที่ไม่มีการแบ่งนิกาย และไม่ใช่แบ่งแค่สองสามนิกาย ยังมีมากมาย เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีศาสนาไหนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ มันจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเอาเรื่องแบบนี้มาเป็นเกณฑ์ในการเลือกปฏิบัติต่อคน

sinchai-05

จริงๆ เราสามารถลดรูปของศาสนามาอยู่ในเส้นของวัฒนธรรมก็ได้ เหมือนประเทศอิตาลี?

ใช่ คนไทยนับถือศาสนาแบบวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ศาสนาที่คนไทยนับถือที่สุดก็คือ ไหว้ศาลพระภูมิ คนไทยนับถือศาสนาพุทธโดยไม่ถือศีลสักข้อหนึ่ง แล้วไม่รู้สึกแปลกอะไร เราเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เราก็เอาทุกอย่าง จริงๆ นี่คือแม่แบบของการนับถือศาสนาโดยพื้นฐานของคนทั่วโลก พื้นฐานเขาเป็นแบบนี้นะครับ…ก็คือ เอาที่สบายใจ เอาที่เราสบายใจที่เราชอบนะครับ เพราะงั้นศาสนาของคนทั่วโลกจึงเป็นลักษณะผสมทั้งนั้น ทั้งนั้นเลย ส่วนใหญ่ในโลกเป็นแบบนี้

พอรัฐพยายามบอกว่า ประเทศเราต้องนับถือศาสนานี้ มันจึงบังคับให้คนโกหกตัวเอง เพราะมันทำให้คนต้องบอกว่า ฉันเป็นแบบนี้ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติฉันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วจริงๆ การที่รัฐบอกว่าถ้ารัฐจะสนับสนุนศาสนานี้หรือนิกายนี้ มันก็มีปัญหาทันทีล่ะ ว่าศาสนานั้นหรือนิกายนั้นดีวิเศษอย่างไร ถึงรัฐจะต้องไปอุ้มชูพิเศษ แล้วเอาเงินภาษีเป็นพิเศษ แล้วเท่ากับว่าคนที่นับถือศาสนานั้นก็ที่จะได้รับสิทธิพิเศษ คนอื่นก็ย่อมจะแย้งได้ เพราะว่ามันมีข้อโต้แย้งมากมาย

ประเด็นศาสนาในสังคมไทยมีแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

น่าจะกระแสการตรวจสอบและการเสื่อมศรัทธา แล้วก็การหมิ่นต่อองค์กรศาสนาจะแรงขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนมันก็จะมีผลว่า อะไรที่รัฐบาลพยายามจะยัดเยียดในเชิงศาสนาให้แก่คนจะถูกต่อต้าน เหมือนอย่างนี้ไง เอาเรื่องนี้ก่อน โรงเรียน ที่เมื่อก่อนว่าต้องบังคับสวดมนต์ด้วย โรงเรียนวิถีพุทธ ต้องเรียนวิชาศีลธรรม ต้องเรียนวิชาศาสนาพุทธ จะถูกต่อต้านแรงขึ้นเรื่อยๆ พิธีกรรมทางศาสนาที่ทำตามสถานที่ราชการอะไรต่างๆ จะถูกคนเลือกปฏิเสธมากขึ้นเรื่อยๆ วันหยุดทางศาสนาไทย พิธีกรรมทางศาสนาไทยจะถูกคนตั้งคำถาม แม้แต่ล้อเลียน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะเป็นอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากเรื่องศาสนา คุณสนใจเรื่องใดบ้าง

โดยแบคกราวด์ของผมอยู่ในแวดวงของศาสนาคริสต์มาก่อน ทีนี้ก็เรียนมาในด้านของศาสนาและปรัชญา และเมื่อได้เรียนแล้วในเรื่องของการศึกษาที่เข้าไปเชื่อมโยงเกี่ยวกับหลายๆ ศาสนา แล้วก็ปรัชญา ทั้งด้วยเรื่องการศึกษาและประสบการณ์ มันก็เลยจำเป็นต้องรู้ทั้งหมด ที่สุดแล้ว มันทำให้จากการที่รู้อยู่เฉพาะในบางด้าน มันก็เลยมาเป็นองค์ความรู้ด้านศาสนวิทยาที่ต้องศึกษาองค์ประกอบทั้งหมด คาบเกี่ยวกัน คือ ด้านศาสนา ปรัชญา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งหมดของทั้งโลก

ผมจึงสนใจ และด้วยภูมิหลังเป็นนักรัฐศาสตร์ เรียนวิทยาศาสตร์ แล้วเนื่องจากว่าต้องอยู่ในภาคสังคมเมืองและสังคมชนบทในหลายๆ วัฒนธรรม ที่จะต้องไปเยือนไปดูไปศึกษา เรียกว่าลงลึกในมิติด้านศาสนาและความเชื่อ ซึ่งมันเป็นอะไรที่เชื่อมโยงกับภาคปรัชญาและภาครัฐศาสตร์ของภาพรวมของโลกด้วย และอย่างที่ทราบดีว่า ยิ่งเห็นปัญหาว่า สิ่งเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ของโลก จนกระทั่งต้องมีคำถามว่า สงครามครั้งสุดท้ายของโลกตัวไหนจะเป็นตัวจุดชนวน ถามว่าเรื่องทรัพยากรเหรอ หรือเขตแดนเหรอ หรือว่าแท้จริงแล้วมันจะกลายเป็นศาสนา

ขออนุญาตถามเรื่องส่วนตัว ว่าคุณนับถือศาสนาใด

ผมเป็น Multifaith ก็คือถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการไม่นับถือศาสนานะ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ถือได้ทุกอย่างที่เห็นว่าดี อย่างที่คงเคยเห็น แม้แต่ถึง 10 แนวทางมีสารพัดเลย

เอาสิ่งดีของทุกอันมาใช้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอิงสังกัดอยู่อันใดอันเดียว อันนี้เป็นกระแสใหญ่ของโลกเลยนะ

sinchai-06

คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเลือกไม่ระบุตัวเองว่าสังกัดศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และมีจริยธรรมแบบโลกสมัยใหม่ แล้วคนเหล่านี้จะอยู่อย่างไรกับอุดมการณ์ศาสนาของรัฐ ถ้าในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าเรามาแบบรัฐศาสนา

ปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ทุกวันนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความแตกต่างทางศาสนาอย่างเดียว เรื่องที่จะเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ คือความรู้สึกของคนที่ไม่นับถือศาสนาจะแรงขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน การเรียกร้องความเท่าเทียมของความต่างทางศาสนามีมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่สังกัดศาสนาจะยิ่งหนักกว่า และมีจำนวนมากขึ้น เป็นเทรนด์ของโลกนะครับ แล้วเมืองไทยก็ไม่ได้น้อยกว่าใครเลย

ด้วยความที่คนผิดหวังในศาสนาทางการของรัฐ คนที่ไม่สังกัดศาสนาเขาก็กรอกไปว่านับถือศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ใจเขาไม่ได้เอา ถ้าใจเขาไม่เอา เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ที่ว่าคนยังยอมต่ออำนาจศาสนาในคราบของรัฐอีกนานแค่ไหน แต่คนประกาศตัวไม่เอาศาสนาชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วถึงจุดหนึ่งสังคมจะบีบคั้นตัวเอง ขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ท้ายที่สุดด้วยปัญหานานาประการ คนก็จะเรียกร้องให้ตรวจสอบวัดมากขึ้น อย่างตอนนี้คนเรียกร้องให้ตรวจสอบมหาเถรสมาคม เพราะปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น คนก็จะตรวจสอบและเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่รัฐบาลพยายามจะยัดเยียดในเชิงศาสนาให้แก่คนจะถูกต่อต้านและตรวจสอบ พิธีกรรมทางศาสนาที่จัดทำโดยทางการจะถูกคนเลือกปฏิเสธมากขึ้นเรื่อยๆ วันหยุดทางศาสนา พิธีกรรมทางศาสนาแบบทางการจะถูกคนตั้งคำถาม หรือแม้แต่ล้อเลียน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะเป็นอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดแล้วก็ต้องดูว่าภาครัฐจะยอมให้สังคมบีบคั้นไปเรื่อยๆ ได้นานแค่ไหน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า