“ดารามีราคาที่ต้องจ่าย”
ประโยคที่เรามักได้ยินจากดาราหลายคนที่ออกมาตอบโต้ปรากฏการณ์ call out ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเหล่าคนรุ่นใหม่เรียกร้องให้ดาราออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง เพราะพวกเขาเชื่อว่า เสียงของดาราและคนดังอาจสร้างแรงกระเพื่อมต่อเหล่าผู้มีอำนาจได้ไม่มากก็น้อย
แน่นอนว่า บางทีพวกเขาก็สมหวัง แต่บางครั้งก็ต้องผิดหวังเมื่อดาราไม่มาตามนัด แต่ไม่เพียงเฉพาะดาราเท่านั้น ดูเหมือนว่าคนในวงการบันเทิงส่วนอื่นๆ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองน้อยครั้งมาก จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดพื้นที่ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยจึงเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดการเมือง ราวกับมีใครเขียนบทละครกำหนดไว้
แต่วงการบันเทิงก็ยังไม่สิ้นคนกล้า เมื่อ ‘หมิว’ สิริลภัส กองตระการ ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับการเห็นเธอเป็นนักแสดงช่องหลากสี ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน และแสดงท่าทีไม่อ่อนน้อมหรือสยบยอมต่ออำนาจใดๆ
แต่การแสดงจุดยืนทางการเมืองหลายครั้ง กลับส่งผลให้ชีวิตการทำงานในวงการที่เธอรักเดินมาถึงทางตัน เมื่อต้นสังกัดยกเลิกสัญญาของเธอในที่สุด สิ่งที่หมิวต้องเผชิญอาจยิ่งขับเน้นประโยคข้างต้นว่า คนดังและดารามี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ จริงๆ และดูเหมือนราคานั้นจะสูงเสียด้วย
ทว่าหมิวยังคงยึดมั่นในจุดยืนของตน เมื่อไม่นานมานี้ หมิวเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกะปิ ในนามของพรรคก้าวไกล และเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียงในฐานะนักการเมืองอย่างเต็มตัว โดยทิ้งสถานะนักแสดงไว้เบื้องหลัง
WAY คุยกับหมิวเพื่อล้วงลึกถึงชีวิตในวงการบันเทิง ทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก คุณภาพชีวิตของคนในวงการ ชนชั้นวรรณะในกองถ่าย เส้นทางชีวิตของดาราที่ต้องเบนเข็มสู่การเป็นนักการเมือง ตลอดจนสิ่งที่หมิวในฐานะตัวแทนของประชาชน ต้องการผลักดัน
ชีวิตในวงการบันเทิงสามารถแสดงออกทางการเมืองได้มากแค่ไหน
ตามหลักการแล้ว ในประเทศเสรีประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่หลายคนอาจยังเข้าใจหรือนิยามว่า ดาราไม่ควรทำตัวชี้นำคนไปทางใดทางหนึ่ง หมิวว่ามันเป็นวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ หรือเป็นบรรทัดฐานของแต่ละสังคม
ดาราหลายคนในวงการฮอลลีวูดสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา คนเลือกที่จะเสพผลงาน ไม่ใช่เสพตัวตนหรือทัศนคติของตัวดารา แต่ในประเทศไทย ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่แยกระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ศิลปินหรือนักแสดงก็เป็นอาชีพหนึ่ง มันจึงมีเส้นบางๆ ระหว่างการเป็นบุคคลสาธารณะและการวางตัวให้เหมาะสม
ตัวอย่างน่าจะมีให้เห็นทั้งคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและคนที่เลือกจะอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นถามว่า ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ไหม ออกได้ แต่คุณก็มีราคาที่ต้องจ่ายนะ
ส่วนใหญ่แล้วคนในวงการบันเทิงไม่กล้าแสดงความเห็น หรือจริงๆ แล้วเขาไม่ได้สนใจการเมือง?
ทุกคนมีเรื่องที่โฟกัสไม่เหมือนกัน ช่วง 8 ปีให้หลัง หลายคนเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะสัมผัสได้ถึงความไม่เปลี่ยนแปลง ความไม่พัฒนา และถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ หลายคนเริ่มเห็นแล้วว่า การเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร
แต่ก็จะมีทั้งคนที่เลือกออกมาพูดว่า โอเค มันเริ่มเป็นปัญหาแล้วนะ และคนที่โฟกัสกับการทำงานต่อไป มีคนทั้ง 2 ประเภทแหละ เราจะไม่ต่อว่าคนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เพราะนั่นคือจุดโฟกัสของเขา แต่เราเลือกเป็นคนประเภทที่ออกมาชี้ว่า อะไรคือปัญหา แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร
ย้อนกลับไปช่วงปี 2557 ที่มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จนนำไปสู่การรัฐประหารโดย คสช. ทำไมตอนนั้นดารานักแสดงออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตื่นตัว ไม่เกรงกลัวผลกระทบใดๆ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มันคือกระแสสังคม ตอนนั้นคนส่วนใหญ่มองสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นครรลองที่ถูกต้อง กระแสน้ำพัดไปทางนั้น แล้วคนก็เชื่อข้อมูลที่ได้รับรู้มา เขาชั่งน้ำหนักจากสิ่งที่มีอยู่ในหัวว่า จะออกมาร่วมด้วยหรือเปล่า และตอนนั้นทุกคนน่าจะเชื่อมั่นว่า ตนมีข้อมูลที่ถูกต้องมากพอ
ตอนนั้นหมิวก็ออกมาเคลื่อนไหว หมิวเชื่อว่าทุกคนเขาคิดเหมือนกันว่า เรารักประเทศของเรา ไม่อยากให้ใครหรืออะไรมาทำร้ายประเทศ เพราะข้อมูลในหัวตอนนั้นมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้เราออกมาแสดงพลัง ไม่ต่างจากตอนนี้ที่หลายคนก็อยากปกป้องประเทศ เพียงแต่ข้อมูลที่เราได้รับมาอาจเปลี่ยนไป ซึ่งเราชั่งน้ำหนักจนมั่นใจแล้ว ไม่อยากให้ประเทศต้องพังไปมากกว่านี้ เพียงแต่กระแสน้ำนี้อาจยังไม่แรงเท่าครั้งที่แล้ว
พูดได้ไหมว่า คนในวงการบันเทิงจะยอมรับความคิดเห็นที่สอดคล้องกับอุดมการณ์อนุรักษนิยมได้ง่ายกว่า
สังคมเรายึดโยงกับวัฒนธรรมที่ยังมีระบบชนชั้น มีศักดินา ความจงรักภักดี และอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า เรายังมองคนไม่เท่ากัน ระบบที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและอย่าทำตัวเด่นเกินใคร ยังเป็นรากฐานที่ฝังลึก ถามว่ามันเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนได้ แต่ต้องใช้เวลาและใช้วิธีการที่เหมาะสมกับบรรทัดฐานของสังคม
สมัยเด็กเคยเห็นคนบางคนโดนแอนตี้ เพราะเขามั่นใจในตัวเองเกินไป ทำตัวผิดแผก แปลกแยก แต่ในปัจจุบัน คนแบบนี้ได้รับการยอมรับแล้ว เพราะเขาเป็นตัวของตัวเองและยอมรับในสิ่งที่ตนเป็น คนแบบนี้คือไอดอลของยุคสมัย เพราะฉะนั้นทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้
ความอนุรักษนิยมน่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับชาตินิยม คนในวงการบันเทิงหลายคนที่หมิวเจอจะบอกว่า ไปเที่ยวประเทศไหนก็ไม่ดี ไม่สบายเท่ากับอยู่เมืองไทยบ้านเรา เพราะเขาคิดว่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คนยิ้มแย้มแจ่มใส มีวิถีชีวิตดีงาม ทุกอย่างสะดวกสบายไปหมด เราก็จะบอกว่าเห็นด้วยในเรื่องนั้น แต่จะชวนมองลึกลงไปว่า ยังมีระบอบอะไรบางอย่างที่ทำให้ประเทศนี้ยังไม่ใช่บ้านที่น่าอยู่สำหรับคนอีกหลายคน ถามว่าสิ่งที่ดีอย่างศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร และผู้คนมีไหม มี แต่ทุกอย่างกลับถูกกดทับด้วยระบอบบางอย่าง จนทำให้ประเทศไทยยังไม่ใช่บ้านที่มีความสุข
แล้วทำไมเราไม่ช่วยกันทำให้คนอยากอยู่ที่นี่มากขึ้นล่ะ หมิวไม่กล้าพูดว่า ตัวเองหัวก้าวหน้าหรือหัวสมัยใหม่ แต่ก็คิดต่างจากระบบเก่าๆ ที่ยึดโยงเราไว้ คือเราไม่ต้องดำเนินชีวิตแบบนั้นแบบนี้เพียงเพราะบรรพบุรุษเราเคยทำมาก่อน แต่เราเชื่อว่า ประเทศนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่านี้ได้ เราแค่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น แล้วทำไมจะต้องเจอปัญหาหรือมีราคาที่ต้องจ่าย
การยึดโยงกับการกระทำแบบเก่า มันเหมือนกับอ่านหนังสือเล่มเดิมๆ ดูหนังเรื่องเดิมๆ สุดท้ายก็จะไม่สามารถต่อยอดอะไรได้ มันคือเซฟโซน ซึ่งมีไม่กี่คนหรอกที่กล้าสไลด์หน้าออกจากเซฟโซน แต่ถ้าออกไปแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันก็เป็นเรื่องดี
โครงสร้างวงการบันเทิงไทยหล่อหลอมให้คนกลายเป็นอนุรักษนิยมหรือเปล่า
มันก็มีศักดินาและการแบ่งชนชั้นในการทำงานอยู่พอสมควร แต่หมิวไม่กล้าพูดว่าวงการบันเทิงไทยทั้งหมดเป็นแบบนี้ เพราะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราก็ไม่ได้อยู่ในทุกมิติของวงการบันเทิง
หมิวเริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงตัวประกอบ เดินผ่านไปผ่านมา ได้ค่าจ้าง 300 บาท ถ้ามีบทพูดจะได้ 500 บาท จนค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ สมัยก่อนเวลาเดินเข้าไปในกอง เรายกมือไหว้หมดทุกคน แต่เดี๋ยวนี้จะมีคนยกมือไหว้เราแทน หมิวเริ่มเจอคนในวงการบันเทิงรุ่นใหม่มากขึ้น และเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงาน ทุกคนจะมองว่า ทุกตำแหน่งในกองถ่ายคือคนทำงาน ไม่มีใครใหญ่สุด หรือใครโดนใช้งานหนักสุด เพราะทุกคนคือทีมงาน ทุกคนคือพนักงานที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรและโปรเจกต์ไปด้วยกัน
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อวงการบันเทิงบ้างไหม
ในภาพรวม มีศิลปินและนักแสดงหลายคนเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองมากขึ้น บางคนก็พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม
หมิวมองว่ามันเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าพูดเลย แต่สมัยนี้ ศิลปินดารามีความเป็นตัวเอง เคารพความคิดและทัศนคติของตัวเองมากขึ้น และเขารู้สึกว่าเสียงของเขาจะมีประโยชน์กับคนอื่น แต่หมิวยังไม่กล้าพูดว่า มันจะเป็นแบบนี้ทั้งวงการบันเทิง เพราะเมื่อไปทำงาน เราก็ไม่ได้คุยกับคนอื่นๆ นัก นอกจากทำงาน ไปถ่ายละครก็นั่งท่องบทเพื่อเข้าฉาก จบวันก็แยกย้ายกลับบ้าน ไม่ได้นั่งคุยกันเรื่องอื่นเลย
จำครั้งแรกๆ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองได้ไหม มันส่งผลกระทบต่อคุณหมิวอย่างไรบ้าง
จำได้ จริงๆ แล้ว หมิวเป็นคนชอบวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2557 อย่างที่บอกว่า เราไม่อยากให้ประเทศพังก็แค่นั้น แต่ตอนนั้นก็จะอยู่คนละฝ่ายกับตอนนี้ ครั้งนี้จึงเจอกระแสที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เช่น มีคนถามว่า ทำไมต้องออกมาพูด ทำไมไม่อยู่เฉยๆ แล้วทำงานของเธอต่อไป ชีวิตเธอตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว ถ้าไม่พูดเธอก็จะไม่ต้องมีปัญหากับใคร
เวลามีใครมาถามว่า ทำไมต้องออกมาพูด หรือบอกให้เบาลงหน่อย หมิวจะตอบไปทุกครั้งว่า กูไม่มีลูก แต่มีหลาน มึงมีลูกใช่ไหม แล้วมึงอยากให้ลูกโตมาในสังคมแบบนี้หรือในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้เหรอ มึงอยากให้เขาเป็นวัยรุ่นที่เจ็บปวดแบบที่มึงเคยเป็นเหรอ
หมิวมักจะบอกกับเพื่อนว่า ทุกวันนี้ไม่ได้ออกมาพูดให้ตัวเอง เพราะจะตายวันไหนก็ไม่รู้ เราใช้ชีวิตแบบนี้ เราพร้อมตายได้ตลอดอยู่แล้ว ตอนตายกูจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย แต่ถ้าไม่ออกมาพูดตอนนี้ ลูกมึงก็จะไม่มีทางได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแน่ๆ แม้เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และหมิวไม่มีเงินหรือมีแรงมากพอจะส่งลูกหรือหลานไปเรียนต่างประเทศหรอก แต่สิ่งที่พอจะทำได้คือ เปลี่ยนบ้านหลังนี้ให้น่าอยู่ ต่อให้ต้องตาย แต่ขอฝากอะไรเอาไว้ให้ลูกหลานหน่อย
วันนี้หมิวเห็นรอยยิ้มที่สดใสและบริสุทธิ์ของเด็กๆ หมิวคงจะเจ็บปวดมาก ถ้าวันหนึ่งรอยยิ้มเหล่านี้หายไป เพราะเขาต้องเติบโตในระบอบที่กดทับให้เขาไม่เป็นตัวของตัวเอง และไม่ได้เดินทางตามความฝันแบบที่เราเคยเป็น เราเคยเป็นวัยรุ่นที่เจ็บปวดแบบนั้นมาแล้ว ดังนั้น ถ้าวันนี้ทำอะไรเพื่อลูกหลานได้บ้าง ก็ขอให้กูทำเถอะ ถึงแม้งานจะหายไปหรือใช้ชีวิตยากขึ้น แต่ถามว่าแล้วไง เกิดมาชีวิตเดียว มึงใช้มันไปก่อน และก่อนตายก็ฝากอะไรเอาไว้ให้คนรุ่นหลังหน่อยแล้วกัน
และหมิวคิดว่า เรามีเจตนาดี ไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ยกลมยกฟ้าหรือสร้างเรื่องมาด่าใครลอยๆ เราแค่พูดเรื่องจริงที่มีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งถ้ามันถูกแก้ไขจะไม่มีใครเสียประโยชน์เลย มีแต่ได้กับได้ แล้วทำไมเราไม่ควรจะพูดถึงมันล่ะ ทุกวันนี้หมิวยังถามตัวเองว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ยังจะทำแบบเดิมไหม คำตอบก็คงจะทำ เพราะไม่งั้นหมิวจะไม่สามารถมองหน้าตัวเองในกระจก แล้วขอบคุณตัวเองที่ยังลืมตาตื่นและมีชีวิตรอดในแต่ละวันได้
มีคำกล่าวว่า ดารามี ‘เสียง’ ดังกว่าชาวบ้านทั่วไป ถ้าอย่างนั้นเขาควรใช้เสียงที่มีเพื่อพูดอะไรบางอย่างหรือเปล่า
สิ่งที่หมิวทำน่าจะสะท้อนแล้วว่า เสียงของเรามีคุณค่าและมีประโยชน์มากพอที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม ชื่อเสียงที่เรามีมันใช้งานได้ ทั้งใช้เพื่อตัวเองหรือใช้เพื่อคนอื่น เราเคยได้รับ privilege กับคำว่าดารา ดังนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่ได้รับมา เราเลยอยากใช้เสียงนี้เพื่อคนอื่นบ้าง
ถ้าไปเจอปัญหาที่เราเคย romanticize มาโดยตลอด เช่น เด็กคนหนึ่งเสียสละให้น้องได้เรียน เราเคยมองว่า แม้ครอบครัวเขาจะยากจน แต่ก็รักกันและดูมีความสุขดี แต่สุดท้ายแล้วมุมมองแบบนี้คือการ romanticize ปัญหาต่างหาก ปัญหาเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดีพอ และเราก็ไม่ต้องมี Human Zoo (สวนสัตว์มนุษย์) ที่เอาความน่าสงสารหรือดรามาของชีวิตคนมาเป็นคอนเทนต์ป้อนอุตสาหกรรมบันเทิง
สิ่งที่เราเคยทำมันก็คือการช่วยคน แต่เป็นการช่วยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น หมิวเคยเป็นพิธีกรรายการ ปลดหนี้ ในหนึ่งเดือน เราช่วยปลดหนี้ให้ครอบครัวที่เข้าร่วมรายการถึง 8 ครอบครัว แต่ถามว่าในแต่ละเดือน มีแค่ 8 ครอบครัวนี้เหรอที่เป็นหนี้ เอาง่ายๆ คนในประเทศนี้มี 60 ล้านคน แล้วมีประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นรากหญ้าและติดหนี้อีกตั้งเท่าไร แต่ทำไมมีเพียง 8 ครอบครัวที่ได้รับเลือกเป็นผู้โชคดีที่ได้ปลดหนี้ล่ะ
และยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ระบบการศึกษาของไทยที่ไม่ได้เรียนฟรีจริงๆ จึงมีเด็กที่ต้องเสียสละ ทั้งที่เขาควรมีโอกาสได้เรียนเหมือนกัน หรือบางคนต้องทำงานหนัก 21 ชั่วโมง ได้นอน 3 ชั่วโมง แต่ไม่มีเงินเก็บเลย มิหนำซ้ำยังเป็นหนี้ พ่อแม่บางคนช่วยกันทำงานทั้งเดือนเพื่อหาเงินเหมารถ พาลูกไปโรงพยาบาลหัวเมือง เรารู้สึกว่า ถ้ามีระบบขนส่งที่ดี มีโรงพยาบาลรัฐที่ดี และไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในหัวเมืองใหญ่ มันจะแก้ปัญหาที่ต้นตอได้เลย นี่คือรัฐสวัสดิการที่พวกเขาควรได้รับ
ถามว่ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริงได้ไหม พอศึกษาจริงๆ อ้าว เราก็ทำได้นี่ เรามีรายได้จากภาษี แต่มันวางอยู่ผิดที่ เหมือนเราเพิ่งรู้ว่าพ่อแม่เป็นเศรษฐี แต่เขาเอาเงินไปใช้ผิดที่ เราจึงไม่ได้ใช้เงินที่ควรจะได้ใช้ สมัยก่อนเราจะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณมากเมื่อรัฐบาลทำอะไรให้ เขาเก่งจังเลยที่เอาเงินมาให้เรา แต่เปล่าเลย นี่คือเงินของเรา เงินของพวกคุณทั้งหลายที่จ่ายไปต่างหาก แต่เขาเอาไปใช้ผิดที่ ไม่ใช้ในเรื่องที่ควรจะใช้ สุดท้ายเงินก้อนนี้ก็ถูกหยิบไปใช้เพื่อใครหรืออะไรก็ไม่รู้ แทนที่จะเป็นเงินของประชาชน
ไม่ต้องรู้สึกติดหนี้บุญคุณใครเลย เพราะนั่นคือเงินคุณ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครทำหน้าที่ใช้เงินกองนั้นเพื่อคุณ และหมิวเพิ่งรู้ว่ามันทำแบบนั้นได้และมีใครกำลังทำอยู่ ดังนั้นขอเข้าไปด้วย ขอเข้าไปทวงเงินหน่อย อยากรู้ว่าทำไมถึงเอาเงินไปใช้เพื่อคนที่ควรได้รับผลประโยชน์จริงๆ ไม่ได้
ทำไมรายการที่เล่นเรื่องความจนถึงเป็นรายการที่ได้รับความนิยมมากในไทย
มันคือสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่คนไทยหรอก คนเราชอบเสพดรามาหรืออะไรที่ emotional ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ข่าว ละคร หรืออะไรก็ตาม นี่คือสาเหตุว่า ทำไมข่าวผัวเมียตีกันหรือคนทะเลาะกันจึงขายได้มากกว่าข่าวเศรษฐกิจหรือสถานการณ์บ้านเมือง
อันนี้เป็นทฤษฎีของหมิวนะ ทำไมละครตบตีหรือละครที่พล็อตเรื่องไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง จึงมีคนชอบ ก็เพราะในชีวิตจริง เขาเครียดมากพอแล้ว จึงอยากจะมีพื้นที่เล็กๆ เพื่อใส่อารมณ์ไปกับอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องจริงบ้าง ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตก็ต้องเจองาน เจอคน เจอสภาพแวดล้อม เจอรถติด หรือเจอมลพิษทั้งทางกายและทางจิตใจมากพอแล้ว จึงขอแค่ละครเรื่องหนึ่งที่สามารถก่นด่านางร้าย หรือได้สมมุติตัวเองว่าเป็นนางเอกแสนดีที่ได้เจอพระเอก มันเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เราได้ปลดปล่อย
ส่วนรายการประเภทที่เล่นกับความจน มันมีเรื่องของการเอาใจช่วยและความรู้สึกผูกพันเข้ามาเกี่ยว คนดูจะเอาใจช่วยให้เขาผ่านอุปสรรคไปได้ เหมือนเวลาเราบริจาคอะไรสักอย่าง มันไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพียงแต่วิธีการช่วยเหลือหรือวิธีการแสดงออกของแต่ละคนต่างกัน
บางคนอาจจะโหวตและสนับสนุนรายการเพื่อให้มีสปอนเซอร์เยอะๆ แต่คนอีกกลุ่มอาจรู้สึกว่า เราทำได้มากกว่านั้น ออกไปเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง ทำให้เป็นรูปเป็นร่าง และแก้ปัญหาที่ลึกกว่านั้น ทั้งสองแบบก็เป็นการสนับสนุนเหมือนกัน แต่วิธีการแสดงออกต่างกัน และระยะเวลาหรือผลกระทบที่จะตามก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถตัดสินได้ว่า แบบไหนถูกหรือผิดมากไปกว่ากัน
คนไทยดูจะคุ้นเคยกับรายการเช่นนี้มาเป็นเวลายาวนาน แต่ทำไมมุมมองที่เรามีต่อความยากจนกลับวนเวียนอยู่แค่เรื่องความน่าสงสาร ความขยัน ความสู้ชีวิต
เราเป็นเหมือนฟันเฟืองหนึ่งของทุนนิยมที่ต้องหมุนไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้แค่ก้มหน้าก้มตาโฟกัสกับชีวิตของตัวเอง มันก็เหนื่อยมากแล้ว ทุกสิ่งกินพลังชีวิตหมดเลย ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ฝ่ารถติดไปทำงาน เลิกงานเย็นๆ ก็ต้องเดินทางกลับบ้าน บางคนใช้ชีวิตคนเดียว แต่บางคนก็มีครอบครัวที่ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยง ไหนจะค่าเล่าเรียนลูก ไหนจะต้องใช้เวลาให้ความรักและเอาใจใส่ ไหนจะต้องใช้พลังกายพลังใจ ทุกคนมีสิ่งที่ต้องโฟกัส จนบางทีเขาไม่สามารถเงยหน้าขึ้นมาแล้วเห็นว่า เฮ้ย ตอนนี้ภาพรวมของประเทศมันเป็นยังไง
ทุกวันนี้แค่เราใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน โดยไม่แตกสลาย มันก็ยากมากพออยู่แล้ว ถ้ากดดันให้ใครต่อใครออกมาเรียกร้องหรือพูดอะไรอีก มันคงไม่ยุติธรรมนัก แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนที่อยากจะทำเพื่อคนอื่น แล้วเรามีโอกาสเข้าร่วมหรือต่อยอดตรงนั้นตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย มันก็เป็นเรื่องดีที่ควรทำ แต่มันต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจ ทรัพยากร พลังงาน หรืออะไรอื่นอีกมากมาย
คิดยังไงกับการที่ดาราบอกว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองมีราคาที่ต้องจ่าย
มันมีราคาที่ต้องจ่ายจริงๆ แต่ถ้าไม่พูดเลย มันก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน และราคานั้นไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับสังคมทั้งสังคม ประเทศเราควรจะต้องเดินหน้า แต่เดินไม่ได้ ซึ่งมันหมายถึงอนาคตของลูกของหลานเราด้วย
แต่ถ้าวันนี้เราออกมาพูดแล้วมันมีราคาที่ต้องจ่าย เราจ่ายของเราคนเดียวได้ ไม่เป็นไร ถ้าวันหนึ่งมันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ วันนั้นหมิวจะดีใจมากๆ ถ้าการที่ชีวิตหมิวต้องเป๋ไปสัก 1-2 ปี แต่ทำให้บ้านของเราน่าอยู่ขึ้น ก็ไม่เป็นไรเลย
แล้วราคาที่คุณจ่ายไปคุ้มค่าไหม
ไม่มีคำว่าคุ้มหรือไม่คุ้มหรอก ทุกครั้งที่เราออกมาทำอะไร มันมีผลกระทบตามมาอยู่แล้ว เราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำลงไปคือการลงทุนที่ต้องมีกำไรกลับคืน หรือคิดว่าจะขาดทุนไหม เรารู้สึกแค่ว่าเราอยากทำ เรามีเจตนาดีและไม่ต้องการทำร้ายใคร
สิ่งที่ได้กลับมามีทั้งดีและไม่ดี หมิวมองมันเป็นบทเรียนที่ทำให้รู้ว่า ก้าวต่อไปเราควรทำยังไง บ้างก้าวเราอาจก้าวร้าวเกินไป น่าจะใช้วิธีละมุนละม่อมกว่านี้ บทเรียนเหล่านี้ทำให้รู้ว่า เราต้องเดินด้วยสติมากขึ้น ต้องเดินด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์ เพราะตอนนี้หมิวไม่ได้เป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง แต่เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่หมิวพูด มันจะไม่ใช่เสียงของเราคนเดียว แต่เป็นเสียงของคนที่เลือกเราเป็นตัวแทนด้วย
ว่ากันว่า สังคมในกองถ่ายเป็นการจำลองสังคมชนชั้นวรรณะจริงหรือ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเรียกว่าใช่ก็ได้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการแบ่งพื้นที่ของแต่ละส่วนแต่ละฝ่ายที่ทำงานไม่เหมือนกัน เช่น นักแสดง ฝ่ายเสื้อผ้าหน้าผม แต่น่าจะเป็นเพราะเรื่องการทำงานมากกว่า นักแสดงก็ต้องทำงานในที่เดียวกัน ต้องนั่งแต่งหน้าทำผม เปลี่ยนเสื้อผ้าในที่เดียวกัน จะให้ไปนั่งในครัวมันก็เกะกะเขา นักแสดงจึงมีพื้นที่ของนักแสดง ส่วนทีมงานก็จะมีพื้นที่ของเขา
ทีนี้เรื่องของการปฏิบัติต่อพนักงานในแต่ละแผนก มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร ไม่เฉพาะกองถ่ายละครหรอก ในออฟฟิศเอกชนหรือระบบราชการที่ไหนก็มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของหัวหน้าองค์กรด้วย ถ้าเขามองคนเท่ากัน เวลาทำงานทุกคนก็จะเท่ากันหมด ทีมงานก็ให้เกียรติกันและกัน ไม่มีการแบ่งว่านี่คือผู้กำกับ นี่คือนักแสดง หรือนี่คือเด็กสวัสดิการ
แต่วัฒนธรรมองค์กรที่เลือกปฏิบัติมันก็มีนะ ตัวประกอบต้องแยกออกไป ห้ามมีปากมีเสียง หรือเด็กไฟต้องเดินตัวลีบๆ หมิวเจอทีมงานบางคนเดินผ่านเราแล้วเข้าก้มหัว เราก็บอก พี่ไม่ต้องก้ม มาทำงานเหมือนกัน บางทีเขาอาจจะเคยเจอประสบการณ์แย่ๆ มาก่อน เราจะพยายามบอกเขาว่า เราคือพนักงานคนหนึ่ง ไม่ได้ใหญ่มาจากไหน เป็นเพื่อนร่วมงานที่จะช่วยกันทำโปรเจกต์นี้ให้จบ แต่หมิวเชื่อว่า ดาราแต่ละคนให้เกียรติคนในกองอยู่แล้ว
ระบบแย่ๆ มีอยู่จริง แต่บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของแต่ละคนด้วย เราเคยเห็นว่า คนที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นเขามีเส้นทางชีวิตยังไง และเราก็เคยเห็นว่า คนที่นิสัยน่ารักและให้เกียรติทุกคน เขามีงานเข้ามาเรื่อยๆ ยังไง ดังนั้น ถ้าเราทำตัวให้น่าเคารพ มาทำงานตรงเวลา ทำงานดี ไม่มีผิดพลาด ทุกคนจะเคารพเราเอง ถ้าเจอคนทำงานมืออาชีพ เราก็เกรงใจกันเองอยู่แล้ว มันพิสูจน์ผ่านเนื้องานมากกว่า
นอกจากแนวคิดคนเท่ากัน การทำงานในกองถ่ายสามารถมีความเป็นประชาธิปไตยได้ไหม เพราะเคยได้ยินชุดความคิดที่ว่า หากการทำงานกองถ่ายเป็นประชาธิปไตยอาจจะทำงานไม่ได้ หรือทำได้ก็ลำบาก
จริงๆ ก็มีส่วน ถ้าเราคุมคนไม่อยู่และไม่ตกลงทิศทางการทำงานให้ดี บางคนอาจจะเอาแต่บอกว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ งานมันก็จะไม่เดิน แต่จริงๆ แล้ว มันขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าเราคุยกันไว้ยังไง ถ้าเราตกลงกันแล้วว่า ทิศทางการทำงานจะเป็นแบบนี้ แล้วเกิดมีการออกนอกกรอบที่ตกลงไว้ เราก็สามารถใช้ประชาธิปไตยได้ แต่ถ้าเกิดตกลงกันไว้ว่าต้องปฏิบัติแบบนี้ แล้วดันมีคนอ้างว่าไม่เอา จะเอาอย่างตัวเอง ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ว่าวงการไหนๆ ก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกันแหละ สิ่งสำคัญคือระบบการทำงาน
ความแตกต่างระหว่าง director (ผู้กำกับ) กับ dictator (เผด็จการ) อยู่ตรงไหน
หมิวไม่ค่อยได้ทำงานกับ dictator เท่าไร ส่วนมากหมิวทำงานแต่กับ director เราเจอแต่ผู้กำกับที่เคารพในการทำงานของเรา ตั้งแต่จำความได้ไม่เคยโดนผู้กำกับคนไหนด่า
ผู้กำกับบางคนที่เขาชอบลือว่าดุ ทำงานกับพี่คนนี้ระวังนะ เขาเคี่ยวมาก ถ้าเล่นไม่ได้ เขวี้ยงของใส่เลย แต่หมิวไม่เคยเจออะไรแบบนั้นเลย ร่วมงานกับเขาเราก็แฮปปี้มาก ก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่า คนที่เคยเจอแบบนั้นน่าจะมีปัญหา หรือเป็นคนที่ไม่ทำการบ้าน ไม่ท่องบท ตีโจทย์ออกมาไม่ได้ คือไม่เป็นมืออาชีพหรือเปล่า ถ้าคุณพิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามีความเป็นมืออาชีพมากพอ คุณก็จะได้รับความเคารพในฐานะนักแสดง
นักแสดงสามารถออกความเห็นได้เมื่อคุยกับผู้กำกับ ทุกครั้งที่ถ่ายละครฉากแรกๆ แล้วบทของตัวละครยังไม่ชัดเจน หมิวจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขาเลย ฉากนี้หมิวว่าตัวละครตัวนี้ต้องเป็นแบบนี้ มันไม่น่าพูดแบบนี้ พี่มีความคิดของพี่ หนูก็มีความคิดของหนู งั้นเรามาคุยกันสิ นี่แหละคือประชาธิปไตย คือการแลกเปลี่ยนความเห็นแล้วมีอะไรงอกเงยขึ้นมา สังคมที่คล้อยตามกันไปหมดจะไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่เกิดขึ้น
‘ดารา’ กับ ‘นักแสดง’ ต่างกันอย่างไร
ล่าสุดเพิ่งเป็นประเด็น เพราะหมิวทวีตว่า คนที่เป็นดาราเขารวยจังเลย ถามตัวเองว่า เราเคยเป็นดาราจริงหรือเปล่า แล้วมีคนมาตอบว่า ดาราที่รวยคือดาราที่ดัง ก็จริงของเขานะ หมิวอยู่ในวงการมาเกือบ 20 ปี ไม่เคยเป็นดาราดังเลย เราไม่เรียกตัวเองว่าเป็นดาราด้วยซ้ำ หมิวนิยามตัวเองว่าเป็นนักแสดงหรือพิธีกร
การเป็นดารามีข้อจำกัดหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าจะทำไม่ได้ ห้ามมีแฟน ห้ามทำตัวไม่ดี ห้ามพูดคำหยาบ ชีวิตของดารามันขึ้นอยู่กับความคาดหวังของคนอื่น หมิวถามตัวเองว่า ทำแบบนั้นได้ไหม หมิวทำไม่ได้ หมิวเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นนักแสดง เมื่อเดินเข้ากองก็ต้องสวมหัวโขน ทำหน้าที่ตรงนั้นเต็มที่ แต่พอเลิกงานเราถอดหัวโขนนักแสดงออก หมิวก็เป็นผู้หญิงธรรมดาที่ขับรถกลับบ้านหรือออกไปนั่งกินเหล้าต่อกับเพื่อน ก็นี่เป็นชีวิตส่วนตัวของเราแล้ว
แล้วในกองถ่าย นักแสดงที่มีสถานะเป็น ‘ดารา’ ถูกปฏิบัติเหมือนหรือต่างจากนักแสดงคนอื่นๆ?
มีการปฏิบัติระหว่างนักแสดงหลักกับนักแสดงสมทบหรือที่เราเรียกกันว่า ตัวประกอบ คนละแบบจริงๆ เพราะ หนึ่ง นักแสดงหลักสนิทสนมคุ้นเคยกับคนกองอยู่แล้ว เขาทำงานด้วยกันทุกวัน แต่นักแสดงสมทบเขามาเป็นงานๆ ไม่ได้มาทุกครั้ง แต่หมิวกล้าบอกว่า บางกองดูแลนักแสดงสมทบดีมาก มีห้องรับรอง มีการจัดการคนที่ดี และมีวิธีการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ แต่บางกองก็มีระบบการจัดการที่ไม่ดี เรียกนักแสดงสมทบมากองๆ ไว้
สุดท้ายแล้วมันคือความเป็นมืออาชีพ ซึ่งจะวัดว่าคุณมีความสามารถในการจัดการกองในแต่ละวันให้ราบรื่นได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากคนทำงานเบื้องหน้า ฝ่ายเบื้องหลัง เช่น ช่างไฟ ช่างภาพ สวัสดิการ มีคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้าง
เฮ้อ ยากจัง (หัวเราะ) ย้อนกลับไปที่เรื่องเดิม คือ การจัดสรรงบประมาณและระบบการทำงาน นั่นคือทุกกองถ่ายจะมีงบประมาณที่ใช้ดูแลนักแสดงและทีมงานในแต่ละวัน คุณภาพชีวิตของคนกองขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดสรรและจัดการ บางกองทำออกมาได้ดีทุกอย่าง ดูแลอย่างดี และทุกคนได้รับเกียรติเท่าเทียมกัน แต่บางกองก็หนักหนา กระทั่งว่าขอกินไข่เจียวก็ไม่มีให้ ต้องให้แม่ทำกับข้าวมาให้หรือหาซื้อกินเอง แต่เราก็ปรับตัวได้ เราเอาตัวรอดได้
บางทีในการถ่ายละคนจะมีบางคิวที่ต้องปิดโลเคชัน คือต้องถ่ายเก็บตรงนั้นให้หมดภายในวันนั้น จะได้ไม่ต้องกลับไปถ่ายซ้ำอีก ดังนั้นจากที่เคยเลิกกอง 4 ทุ่ม ก็อาจลากยาวถึงตี 2 หรือตี 5 เราก็จะเห็นว่า คนที่ทำงานหนักมากๆ คือพวกเด็กกล้อง เด็กไฟ หรือเด็กพร็อพ ที่ต้องวิ่งวุ่นไปมาเพื่อเซ็ตฉาก สิ่งที่เราทำได้คือทำให้เขาเสียเวลาน้อยที่สุด เราเล่นของเราให้ผ่าน ทำหน้าที่ของเราในซีนนั้นให้ดี ไม่ต้องเสีย ไม่ต้องคัต แต่เรื่องไหนที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้มากอยู่แล้ว
มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดสรรงบประมาณในกองถ่ายว่า ค่าแรงของคนเบื้องหลังและคนเบื้องหน้านั้นดูจะแตกต่างกันพอสมควร
อันนี้ไม่กล้าพูด เพราะค่าตัวของเราก็ไม่เยอะ (หัวเราะ) และเราก็ไม่รู้ค่าตัวของคนอื่น เพราะฉะนั้นไม่กล้าพูดว่า มีการจัดสรรงบประมาณมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อย่างล่าสุด เห็นคอนเทนต์ค่าตัวดาราคนนั้นคนนี้สามารถซื้อบ้านซื้อรถได้เท่าไร ก็รู้สึกว่า โห อยากมีแบบนั้นบ้างจังเลย แต่หมิวว่าก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของแต่ละองค์กร
การให้ค่าตัวนักแสดงมันก็ไม่ผิดนะ เขามีต้นทุนของเขา เขามีสิ่งที่ต้องดูแลอีกมาก ความสวย ความงาม ภาพลักษณ์ การเป็นดารามันไม่ง่ายนะ ตัวอย่างเช่นการดูแลตัวเอง ตอนออกงาน ค่าใช้จ่ายเสื้อผ้าหน้าผมไม่ใช่น้อยๆ ราคาหลักหมื่น เสื้อผ้าก็ยืมไม่ได้ เช่าไม่ได้ ใส่ซ้ำก็ไม่ได้ ต้องมีของใหม่เท่านั้น แต่งตัวไม่สวยก็โดนด่าอีก ต้นทุนที่ดาราต้องจ่ายมีเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นการทำงานมันไม่ได้จบแค่ในหนึ่งงานนั้น แต่ต้องดูแลตัวเองและภาพลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องใช้ทุน
เราจะสื่อสารอย่างไรให้นายทุนหรือบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ เห็นความสำคัญของคุณภาพชีวิตคนทำงาน
มันคือความมีมนุษยธรรมของคนที่เป็นผู้บริหาร เขาจะมองพนักงานว่า เป็นคนที่ช่วยพาองค์กรนี้ไปด้วยกันหรือเปล่า ถ้าเขามองว่า ทุกคนเป็นฝีพายที่จะพาเรือลำนี้ไปด้วยกัน เขาก็จะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต แต่ถ้าเขามองว่า คนพวกนี้เป็นแค่เครื่องมือที่เขาจะใช้บังคับเรือให้ไปถึงที่หมาย เขาก็จะดูแลอีกแบบ มันคือจริยธรรมของผู้ปกครอง กัปตันเรืออาจเป็น director หรือ dictator ก็ได้
จุดไหนที่ทำให้หมิวตัดสินใจเบนเข็มมาสู่เส้นทางทางการเมือง
ชีวิตหมิวแทบไม่เคยวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเลย เราทำหน้าที่ตรงหน้าให้ดี แล้วเดี๋ยวชีวิตจะพาเราไปที่หมายเอง ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว อยากเรียนนิเทศก็เข้าไปเรียน อยู่ดีๆ ก็ได้ทำงานในวงการบันเทิง หมิวก็ทำตรงนั้นให้ดี งานบันเทิงเป็นการสร้างความสุขให้ผู้คนรูปแบบหนึ่ง เมื่อเขาดูละคร เสพผลงาน แล้วมาเห็นตัวจริงของเรา บางคนเขาดูมีความสุขมากๆ เราจะมีความสุขทุกครั้งที่เขาฟีดแบ็กเรามาก
แต่มันก็น่าจะถึงจุดที่อิ่มตัว ไม่ก้าวหน้าหรือถอยหลังไปมากกว่านั้นแล้ว ไหนลองเบนเข็มหน่อยสิ ก็เลยมาลงเอยที่จุดนี้ หมิวก็รู้สึกสนุกที่จะทำ เพราะตอนนี้เราก็สร้างความสุขให้กับผู้คนได้เหมือนเดิม แต่ด้วยวิธีการอื่น คือสร้างสังคมที่ดีขึ้นและผลักดันการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
การใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นและการได้เห็นคนอื่นมีความสุข เป็นความสุขอย่างหนึ่งของหมิว เราเคยออกมาเรียกร้องเรื่องวัคซีนในช่วงโควิด-19 ที่ไปทวงถามวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ วันหนึ่งมีคนเดินเข้ามาบอกว่า ขอบคุณ ครอบครัวเขาได้รับวัคซีนเพราะสิ่งที่เราเรียกร้อง หมิวดีใจมากที่สิ่งที่เราทำมันเห็นผล
หมิวจึงยังไม่หมดหวังกับประเทศนี้ ขอลองสู้สักตั้ง ก่อนหน้านี้บอกตามตรงว่า หมดหวังและหมดไฟ ประเทศนี้คงดีขึ้นกว่านี้ไม่ได้หรอก ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป แต่พอมีอะไรมาสะกิด มีคนเริ่มจุดเทียน มีคนเริ่มส่งเสียง มันก็ทำให้รู้ว่า ประเทศนี้ยังไปต่อได้ และยังมีคนที่ไม่หมดหวังอีกเยอะ เมื่อได้รู้จักคนเหล่านี้มากขึ้น เราก็รู้สึกว่า เอาวะ มาต่อเทียนเพื่อสู้กับความมืดกันอีกสักตั้ง
การเป็นดารามาก่อนทำให้มีแต้มต่อในการทำงานการเมืองไหม
ไม่มีนะ ถามว่าทำให้ทำงานง่ายขึ้นไหม หมิวว่าไม่ เพราะอย่างที่บอก คนมักจะตีกรอบว่า เป็นดาราก็คือเป็นดารา มันยังมีคนที่คิดว่า มึงก็แค่สวย ไม่มีสมองหรอก ทำอะไรไม่ได้หรอก แต่เดี๋ยวนี้โลกหมุนไปไกลมากแล้ว ชีวิตคนมีหลายมิติ มึงจำเป็นต้องสวยอย่างเดียวไหม สวยด้วยฉลาดด้วยก็ได้ (หัวเราะ) พระเจ้าให้มาหลายอย่างได้
ชีวิตคนเรามีหลายมิติ ชีวิตหมิวก็มีหลายมิติ หมิวไม่ถูกสติปัญญาตัวเอง เราตั้งใจเรียนและพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด จึงค่อนข้างมั่นใจในทักษะและความสามารถของตน และก็รู้ด้วยว่าจะเอาความสามารถนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อใครได้บ้าง
แล้วมันมีผลต่อการทำงานการเมืองหรือเปล่า
คนที่เป็นนักแสดง ชีวิตจริงเขาจะไม่แสดงอะไรแล้ว เพราะแค่แสดงในการทำงานก็เหนื่อยมากพอ ชีวิตประจำวันก็อยากจะใช้ชีวิตให้มันเรียลๆ บ้าง หลายคนชอบบอกว่า เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อย่าแชร์สิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่ากินเหล้านอกบ้าน แต่หมิวจะบอกว่า เฮ้ย แล้วมันจะเป็นตัวของตัวเองได้ไง
สมมุติถ้าหมิวเป็น ส.ส. แล้วไปนั่งกินเหล้าในสภา พูดมึงกูกับท่านประธาน คุณด่าหมิวได้เลย เพราะนั่นคือการสวมหัวโขน ส.ส. เราต้องทำหน้าที่ตรงนั้น แต่เมื่อไรที่ถอดหัวโขนนั้นออก หมิวก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นประชาชนคนหนึ่ง
จะนักแสดงหรืออาชีพอะไรก็ตามล้วนมีชั่วโมงการทำงานของมันอยู่ มีโหมดที่เราจะต้องใส่หัวโขนแล้วทำให้เต็มที่ แต่ถ้าหมดเวลาทำงาน แล้วเป็นช่วงพักผ่อนส่วนตัว คุณจะทำอะไรก็ทำไปเลย นั่นคือช่วงเวลาของคุณ ขอแค่ให้มีสติแค่นั้น
ทักษะการแสดงเป็นสิ่งที่นักการเมืองควรจะมีติดตัวไหม
คุณว่านักการเมืองสมัยนี้มีทักษะแสดงไหมล่ะ (หัวเราะ) ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินแล้วกัน ประชาชนไม่ได้โง่ แต่คนที่มองว่าประชาชนโง่ต่างหากที่โง่
ทุกวันนี้ประชาชนรู้ว่าใครเป็นยังไง เพียงแต่เขาจะพูดหรือเปล่าเท่านั้น 8 ปีที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาในการพิสูจน์ที่มากพอแล้วว่า เขาจะมีมุมมองกับคนคนหนึ่ง หรือว่าองค์กรหนึ่งอย่างไร
คนเขาดูออกค่ะพี่ตา (หัวเราะ) เอาง่ายๆ ในฐานะนักแสดง แล้วไปเห็นว่าใครบางคนกำลัง ‘แสดง’ อยู่ เราก็อยากเดินเข้าไปตีมือเหมือนกัน แต่ในฐานะประชาชนก็คงต้องชื่นชมในความพยายามของนักการเมืองที่อยากแสดงบทบาทบางอย่าง แต่คุณช่วยเป็นนักการเมืองให้ดีก่อนได้ไหม เป็นข้าราชการที่ดีก่อนได้ไหม ยังไม่ต้องไปเสริมทักษะอาชีพอื่นๆ แต่ใช้ทักษะที่นักการเมืองและข้าราชการควรมี มารับใช้ประชาชนให้ดีก่อน
หรือจริงๆ แล้ว ที่เรารู้สึกว่าเขากำลังแสดง เพราะฝีมือการแสดงของเขาห่วย?
บริหารบ้านเมืองห่วยพอแล้ว ยังต้องแสดงห่วยอีกเหรอคะ ไปเอาให้มันดีสักทางก่อน ถ้าอยากแสดงดี ก็เลิกเป็นนักการเมือง แต่ถ้าอยากเป็นนักการเมืองที่ดี ก็เลิกแสดง เอาให้มันดีสักทาง คนเรามันเก่งได้หลายอย่าง แต่ช่วยเก่งสักอย่างหนึ่งให้ได้ก่อน
ถ้าคนยังมีภาพจำว่า เราเป็นนักแสดงที่ ‘แรง’ อยากให้เข้าไปทำงานการเมืองด้วยพลังงานและท่าทีแบบนั้น ความแรงเป็นพลังงานที่อยากจะใช้ในการทำงานการเมืองหรือเปล่า
ถ้าวันหนึ่งเราได้เข้าไปเป็น ส.ส. ในสภาแล้ว เรามีหน้าที่ผลักดันกฎหมาย หรือถ้าเป็นฝ่ายค้าน เราก็ต้องอภิปราย เรามีหน้าที่ทำงานของเราให้ดีที่สุดก่อน ก่อนจะไปไฟต์กับคนอื่น แต่วันหนึ่งถ้ามันมีเรื่องที่จะต้องเปิดโปง ต้องพูด หรืออภิปราย เราเป็นคนแบบนี้ สไตล์เราเป็นแบบนี้ ไม่มีทางที่จะมานั่งนุ่มนวลได้หรอก
นุ่มนวลทำไม เคารพทำไม ในเมื่อเขาไม่ได้ทำตัวน่าเคารพ ถ้าทำตัวน่าเคารพ คุณจะได้รับความเคารพเอง เรามีความเกรงใจและมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราเรียนรู้มาหมด แต่คุณไม่ทำตัวคู่ควร เหมือนกับ ส.ว. ที่ยังมีอยู่ทุกวันนี้ ก็ยังตอบคำถามไม่ได้เลยว่า เข้ามากินภาษีของเราทำไม
การที่ดาราทำงานการเมือง แต่ยังคงรับงานในวงการบันเทิงอยู่ เหมาะสมหรือเปล่า
ถ้าเลือกที่จะเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนแล้ว ต้องถามว่า เราทำงานให้พวกเขาอย่างเต็มที่หรือยัง ทำให้เต็มที่ก่อน แล้วถ้าคุณใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของตัวเองได้ คุณใช้ได้เลย
แต่ถ้าจะเหยียบเรือสองแคม ไม่ไปทางไหนสักทาง ตรงนี้ก็จะทำ ตรงนั้นก็จะทำ มันไม่แฟร์กับทั้งคนที่เสพผลงานแสดงและประชาชนที่เขาเลือกคุณมา ถ้าจะทำอะไร ไปให้สุดสักทาง แล้วผลลัพธ์จะเป็นยังไง ค่อยว่ากัน
ประเด็นที่อยากผลักดันมากที่สุด
มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขด้านการรักษาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าและโรคเครียด คือตอนนี้เรื่องสุขภาพกายมีคนผลักดันแล้ว แต่ทุกวันนี้คนในสังคมมีความเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตเยอะ แต่ยังไม่ได้รับการรักษาและเข้าไม่ถึงการรักษาที่ควรจะรับ เพราะ หนึ่ง-ค่ารักษาแพงมาก สอง-คนยังมีทัศนะเชิงลบต่อการเข้าหาจิตแพทย์
ประเด็นที่สองคือ เรื่องกฎหมายการสะกดรอย เพราะเคยเจอมาเองกับตัว วันหนึ่งเราไปส่งคนในม็อบ แล้วแวะเข้าห้องน้ำในปั๊ม มีคนเดินตามเข้ามา เราเริ่มระวังตัวเพราะรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย จึงยืนรอว่าเขาจะทำธุระเมื่อไหร่ แต่ประมาณ 2 นาทีแล้ว เขายังไม่ทำอะไรสักที เราว่าไม่ใช่แล้ว จึงกดมือถืออัดไว้แล้วชะเง้อไปมอง เจอหัวเกรียน เราตะโกนว่า เฮ้ย มึงเข้ามาได้ไง ทางนั้นตกใจรีบวิ่งออกไป หมิวตามออกไปก็เจอว่าเป็นรถตำรวจ ก็เลยถามเสียงดังว่า มึงเข้าไปทำอะไร มีเจตนาไม่ดีอะไร แล้วความเฮงซวยคือ ขอให้เด็กปั๊มเรียกตำรวจให้หน่อย แต่ไอ้พวกนี้ก็ตำรวจไง
สุดท้าย เราแจ้งความไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานว่าเขายกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปเรา แต่แค่เดินตาม เราก็รู้สึกว่าถูกคุกคามแล้ว ยังไม่นับว่าโดนยืนมองหน้าบ้านหรือขับรถตาม หมิวโดนแบบนี้จนจิตแข็ง ถ้าเจอก็สามารถเดินไปซักถามมันได้ แต่ผู้หญิงหลายคนไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาต้องชีวิตพังเพราะเจออะไรแบบนี้ และไม่สามารถแจ้งความได้ เพราะไม่มีหลักฐาน
หมิวจึงอยากผลักดันเรื่องนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมเรามากขึ้น จะไม่มีเหยื่อของการถูกคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
หมิว สิริลภัส ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อยากย้อนกลับไปบอกอะไรกับ หมิว สริลภัส ในฐานะนักแสดงบ้าง
ขอบคุณที่มึงออกมา ถึงแม้มันจะทำชีวิตต้องเป๋ไปปีสองปี ไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่ออกมา เทียนเล่มนั้นก็จะไม่ถูกจุด แล่วจะไม่มีเทียนเล่มต่อๆ ไป ปีนี้มึงจะมีชีวิตที่ดีและมีเส้นทางใหม่ หมิวต้องเชื่อว่า สิ่งที่กำลังทำจะสร้างอะไรดีๆ ให้กับสังคมนี้
ขอบคุณที่ออกมาตอนนั้น และยังไม่ยอมแพ้จนถึงวันนี้