ความเข้าใจผิดๆ ถูกๆ เกี่ยวกับนาซี และฮิตเลอร์ ผ่านสายตา ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

อ๋อ ระบอบนาซี ก็เครื่องหมายสวัสดิกะไง กับฮิตเลอร์ ที่ชนะการเลือกตั้งปุ๊บ ก็จับยิวเป็นล้านๆ ไปรมแก๊สปั๊บ จบ

ถ้าเรื่องมันง่ายแบบนั้นก็คงดี

แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านฮิตเลอร์และระบอบนาซีโดยตรง แต่ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคอลเล็คชั่นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายสิบเล่ม และยังเปิดวิชาเลือกว่าด้วยนาซีเยอรมนี เมื่อภาคต้นในปีการศึกษา 2558

ฮิตเลอร์คือตัวแทนของระบอบนาซี ระบอบที่ปฏิบัติกับคนด้วยกันอย่างโหดร้ายเกินคำบรรยายจนโลกไม่อยากให้ซ้ำรอย แต่น่าแปลกที่ประเทศไทยยังมีการเสนอข่าวการนำสัญลักษณ์ต่างๆ ของนาซีมาใช้อย่างไม่รู้ที่มา หลายคนยกย่องชายผู้นี้ประหนึ่งฮีโร่ในดวงใจ

นี่มันเกิดอะไรขึ้น!

เผด็จการแบบฮิตเลอร์ต่างจากเผด็จการอื่นๆ หรือไม่ ทำไมสาธารณรัฐไวมาร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยถึงล่มสลาย แล้วได้ระบอบปีศาจที่กวาดชีวิตผู้คนไป 11 ล้านคนขึ้นมาแทน ฮิตเลอร์ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากแบบแลนด์สไลด์ถล่มทลายอย่างที่ใครๆ พูดกันจริงไหม แล้วในยุคนาซีเรืองอำนาจ ผู้ที่ต่อต้านอยู่ในสภาพเช่นไร

นอกจากประเด็นเผด็จการ เรายังได้เรียนรู้วิธีจัดการกับอดีตและประวัติศาสตร์บาดแผลของเยอรมนี และมากไปกว่านั้น คือคุณค่าของการมีชีวิต ที่ชาวเยอรมันยุคหลังสงครามพยายามพร่ำบอกกับชาวโลกเรื่อยมา

ก่อนหน้าฮิตเลอร์จะขึ้นมามีอำนาจ เยอรมนีมีสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งแรก อยากทราบสาเหตุแท้จริงที่สาธารณรัฐไวมาร์ล่มสลาย การที่ชาวเยอรมันยุคนั้นเอือมระอากับประชาธิปไตยมีส่วนมากน้อยเพียงใด

สาธารณรัฐไวมาร์ตั้งขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 1918) แล้วเกิดความไม่มีเสถียรภาพอย่างมาก แต่ถึงจะมีความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองอยู่มาก ก็ไม่ได้หมายความว่า สาธารณรัฐไวมาร์นั้นแย่ 

ประเด็นคำถามที่คุณถามว่า คุณจะศึกษาระบอบฮิตเลอร์ เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งต้นที่สาธารณรัฐไวมาร์ มันไม่ผิดในทางวิชาการ แต่มันบอกอะไรเรา มันบอกว่าคนจำนวนมากเชื่อว่าความไม่มีประสิทธิภาพของสาธารณรัฐไวมาร์ นำไปสู่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (inevitable) ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิธีคิดที่ผิดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ 

เหตุผลคือ แม้สาธารณรัฐไวมาร์จะเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งแรกของเยอรมนี แม้ว่าจะไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง คือมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล รวมถึงการตั้งคำถามต่อผู้นำรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง 

ถ้านับอายุของสาธารณรัฐไวมาร์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 1918 จนกระทั่งก่อนฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจอย่างเป็นทางการ 30 มกราคม 1933 จะได้ 14 ปี ถือว่านานกว่าอาณาจักรที่สาม (The Third Reich) ของฮิตเลอร์สองปี เพราะฮิตเลอร์ครองอำนาจระหว่างปี 1933-1945 ซึ่งก็คือ 12 ปี 

เพราะฉะนั้น เราจะสรุปว่า ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์นำไปสู่เผด็จการไม่ได้ เพราะอย่างน้อยอายุการใช้งานของสาธารณรัฐไวมาร์ยาวนานกว่าฮิตเลอร์อย่างน้อยสองปี 

แล้วภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุคสาธารณรัฐไวมาร์ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่

เศรษฐกิจของสาธารณรัฐไวมาร์ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่หลายคนเข้าใจ ในทางตรงกันข้าม นักประวัติศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) หลายคน เช่น ดอริส แบร์เกิน (Doris Bergen) ได้สรุปไว้ในหนังสือ The Holocaust: A New History (2009) ในบทแรกๆ เลยว่า นี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจที่ผิด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ เมื่อเปรียบเทียบแล้วเยอรมนีเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุดและเร็วที่สุด ประเด็นสำคัญที่คนอาจจะลืมก็คือ สมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่ 1 อยู่ในยุโรปตะวันออก และแถบเบลเยียมและฝรั่งเศสเป็นหลัก เยอรมนีจึงได้รับผลกระทบน้อยมาก โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ท่อประปา โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ได้ถูกทำลายมากนัก เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้เร็ว

และเนื่องจากสมรภูมิส่วนใหญ่อยู่ในเขตฟลานเดอร์ส (Flanders) ก็คือดินแดนต่ำ พวกเบลเยียม เบเนลักซ์ แล้วก็ยุโรปตะวันออก อย่างโปแลนด์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ในยุโรปตะวันออกเอง มีภาวะล้าหลังทางอุตสาหกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงต้องพึ่งสาธารณรัฐไวมาร์

นี่เป็นปัจจัยให้โรงงานอุตสาหกรรมในสาธารณรัฐไวมาร์เร่งสร้างตัวเองให้เร็วขึ้นอีก เพื่อที่จะส่งสินค้าออกขายในภาวะที่ประเทศรอบข้างต้องการสินค้าในปริมาณมาก เพราะฉะนั้นฟันเฟืองทางด้านเศรษฐกิจจึงเติบโตไปได้

มีสองวิกฤติที่ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสาธารณรัฐไวมาร์ หนึ่ง-คือภาวะเงินเฟ้อ แต่เฉพาะในช่วงต้นทศวรรษที่ 1920 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 1923 กระทั่งถึงตอนที่ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ มันคือ 10 ปีหลังภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่แล้ว ทุกอย่างมันแก้ปัญหาไปแล้ว และสอง-ที่คนเคลมกันมากคือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 1929 ซึ่งตกต่ำกันทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่เราจะอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนำไปสู่เผด็จการ จึงเป็นคำกล่าวที่ผิด

เหตุผลง่ายๆ คุณลองดูตัวอย่างใกล้ตัว การปฏิวัติ 1932 หรือ 2475 ในเมืองไทย ช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการสถาปนารัฐประชาธิปไตยครั้งแรกของสังคมไทย ซึ่งตรงข้ามกับกรณีของฮิตเลอร์

เพราะฉะนั้น วิกฤติทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะต้องนำไปสู่ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ นี่คือความเข้าใจที่ผิด

ถ้าอย่างนั้น อะไรเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฮิตเลอร์หรือพรรคนาซีขึ้นมามีอำนาจ

ถ้าอ่านบันทึกของคนร่วมสมัย ยกตัวอย่างคนหนึ่งเลยก็คือ เซบาสเตียน ฮาฟฟ์เนอร์ (Sebastian Haffner) เป็นนักข่าวในสมัยฮิตเลอร์ แล้วต่อมาก็มีการตีพิมพ์บันทึกของเขา

ความน่าสนใจของบันทึกนี้คือ ฮาฟฟ์เนอร์เขียนไว้ว่า “จะให้ทำอย่างไรเล่า ถ้าประชาธิปไตยหยุดที่จะฟังก์ชั่น*” คำพูดนี้น่าสนใจ ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ เวลาเจอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ต้องถามก่อนว่า ใครเป็นคนเขียน คำตอบก็คือ เซบาสเตียน ฮาฟฟ์เนอร์ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์การเมืองเป็นหลัก และเป็นสื่อมวลชน ฉะนั้นคำวิเคราะห์ของสื่อมวลชนที่มีคุณภาพอย่าง เซบาสเตียน ฮาฟฟ์เนอร์ ซึ่งต้องทำงานวิเคราะห์ และเฝ้าสังเกตการณ์บรรยากาศทางการเมืองอยู่เป็นประจำ จึงมีน้ำหนักและน่าสนใจ

บรรยากาศหรือสาเหตุประเด็นหนึ่งที่นำไปสู่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ปี 1933 ก็คือ คนในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ผ่านการเลือกตั้งมาแทบจะหลับตาเดินเข้าคูหาได้แล้ว คือชินกับการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เอือมระอากับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ฝ่ายบริหารที่อ่อนแอ รวมไปถึงไม่สามารถคาดการณ์นโยบายต่างๆ ได้

เนื่องจากด้านหนึ่งเศรษฐกิจในไวมาร์กำลังโต แล้วต้องการใช้ประโยชน์จากความมีเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อจะเร่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคไปขายยังประเทศข้างเคียง แต่ในเมื่อนโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนบ่อยๆ ภาวะอย่างนี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจไม่ปลื้ม ฉะนั้นคนจึงเอือมระอากับระบอบประชาธิปไตย

* ข้อความจริงๆ คือ Denn dieser Stimmungsumschwung bildete die eigentliche Machtgrundlage für den kommenden Führerstaat. Es war – man kann es nicht anders nennen – ein sehr weit verbreitetes Gefühl der Erlösung und Befreiung von der Demokratie. Was macht eine Demokratie, wenn eine Mehrheit des Volkes sie nicht mehr will?

แปลได้ว่า “ การเปลี่ยนบรรยากาศ อารมณ์ และทัศนคติของผู้คนนี้เองที่เป็นฐานที่แท้จริงให้กับการเถลิงอำนาจของรัฐผู้นำ และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความรู้สึกที่ว่านี้แพร่กระจายไปทั่ว เป็นความรู้สึกที่อยากจะออกไปจากระบอบประชาธิปไตย แล้วจะให้ประชาธิปไตย ทำอย่างไรเล่า ในเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการจะเห็นมันอีกต่อไป”

นโยบายหาเสียงของฮิตเลอร์และพรรคนาซีในตอนนั้นเป็นอย่างไร

ประเด็นหลักๆ ที่ฮิตเลอร์เสนอก่อนการเลือกตั้ง คือ หนึ่ง-ฮิตเลอร์เสนอความมั่นคงทางการเมือง (security) นี่คือประเด็นหนึ่งในโครงการ (program) 25 ข้อที่ฮิตเลอร์เสนอ

สอง-ฮิตเลอร์ต้องการจะกู้เสถียรภาพความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเยอรมันกลับมา และสาม-คือการกำจัดยิวออกไป นี่เป็นสามข้อหลักๆ ที่สรุปจากโครงการของฮิตเลอร์ สิ่งที่ฮิตเลอร์เสนอให้จึงเป็นสิ่งที่คนต้องการเห็น นั่นก็คือเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคง

มีข้อหนึ่งในโครงการ 25 ข้อบอกว่า เราจะรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อที่เราจะได้มีถิ่นอาศัย (Lebensraum – living space) ที่มากขึ้น เราจะได้กินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่นั่นเป็นการอ้างที่ไม่มีฐานทางเศรษฐศาสตร์รองรับ

นอกจากนั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์ในวันที่ 30 มกราคม 1933 ก็คือ ในช่วงทศวรรษ 1920 และต้นทศวรรษ 1930 เป็นช่วงที่รัฐบาวาเรียทางใต้ของเยอรมนีมีกบฏพรรคคอมมิวนิสต์ คือพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับคะแนนเสียงค่อนข้างมาก แล้วมีความพยายามก่อกบฏขึ้น

ในฮังการี พรรคคอมมิวนิสต์ชนะการเลือกตั้งในหลายๆ เขต และสามารถจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวได้ด้วยในทศวรรษ 1920 และในปี 1917 ยังเกิดการปฏิวัติรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ บรรยากาศการเติบโตของคอมมิวนิสต์ในยุโรปมันสูง แล้วคอมมิวนิสต์ท้าทายการมีอยู่ของโลกประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองแบบทุนนิยมโดยเนื้อแท้ของมัน

ถ้าเป็นแบบนี้ ผลการเลือกตั้งก็อาจจะนำไปสู่การได้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งชนชั้นนำและกลุ่มทุนไม่เอาด้วย?

กลุ่มชนชั้นนำ (elite) และกลุ่มนายทุนจึงตกใจ เพราะนายทุนอยู่ได้เพราะทุนนิยม แต่คอมมิวนิสต์บอกว่าไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องการให้เกิดการรุกคืบของพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี

เขาจึงร่วมมือกันในหมู่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมว่า ถ้าอย่างนั้นเราสนับสนุนให้ฮิตเลอร์ขึ้นดำรงตำแหน่ง โดยที่มีอดีตนักการเมืองสาธารณัฐไวมาร์คนหนึ่งก็คือ ฟรานซ์ ฟอน พาเพน (Franz Von Papen) บอกว่า เราสามารถทำให้ฮิตเลอร์ ‘เชื่อง’ (tame) ได้ ฉะนั้นก็เลยยอมจัดให้มีการเลือกตั้ง

มีการเลือกตั้งสามครั้ง ที่จะนำไปสู่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ ก็คือ

ครั้งแรก มีนาคมและเมษายน 1932 เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นการแข่งขันระหว่างฮิตเลอร์ กับอดีตประธานาธิบดี เพาล์ ฟอน ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) พูดง่ายๆ ว่าฮิตเลอร์แพ้ ทั้งที่ตอนนั้นฮินเดนบวร์กก็แก่มากแล้ว

การเลือกตั้งประธานาธิบดี

13 มีนาคม และ 10 เมษายน 1932

เพาล์ ฟอน ฮินเดนบวร์ก

19.3 ล้านเสียง 53%

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

13.4 ล้านเสียง 36%

ในยุคนั้นมีเรื่องเล่าลือกันว่า อย่าเอากระดาษห่อแซนด์วิชไปวางไว้ที่โต๊ะของท่านประธานาธิบดี เพราะท่านจะเผลอเซ็นกระดาษ แสดงให้เห็นถึงภาวะที่คนเอือมระอากับการไม่มีประสิทธิภาพในระบอบไวมาร์ แต่อย่างไรก็ตามคนก็ยังเลือกฮินเดนบวร์กอยู่ดี

การเลือกตั้งรัฐสภา/พรรค พรรคนาซี (NSDAP) พรรคสังคมนิยม (SPD) พรรคคอมมิวนิสต์ (KPD)
31 กรกฎาคม 1932 13.7 ล้านเสียง

37% (230 ที่นั่ง)

7.2 ล้านเสียง

21% (133 ที่นั่ง)

5.2 ล้านเสียง

14% (89 ที่นั่ง)

6 พฤศจิกายน 1932 11.7 ล้านเสียง

33% (196 ที่นั่ง)

7.2 ล้านเสียง

20% (121 ที่นั่ง)

5.9 ล้านเสียง

16% (100 ที่นั่ง)

ครั้งที่สอง ในเดือนกรกฎาคม 1932 มีการเลือกตั้งรัฐสภา คราวนี้ฮิตเลอร์หรือพรรคนาซีได้คะแนนเสียงเยอะที่สุดจริง แต่ก็ไม่ได้ท่วมท้น จะเห็นว่าตัวเลขไม่ได้แลนด์สไลด์ แล้วคะแนนเสียงของพรรครองลงมาก็คือพรรคสังคมนิยม (Sozialdemokratische Partei Deutschlands: SPD) และพรรคคอมมิวนิสต์ (Kommunistische Partei Deutschlands: KPD)

ถึงแม้สังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์จะเป็นซ้ายคนละพวก แต่ก็ถือว่าเป็นการเติบโตของฝ่ายซ้ายในยุโรป เพราะฉะนั้น ชนชั้นนำตกใจมาก เกรงว่าจะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือจะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ถึงกับปฏิวัติก็เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชนชั้นล่าง แล้วจะทำให้กลุ่มตัวเองและชนชั้นกลาง (bourgeoisie) สูญเสียอำนาจหรือสูญเสียผลประโยชน์บางอย่าง

ฉะนั้นจะต้องหยุดยั้งไม่ให้ฝ่ายซ้ายขึ้นมามีอำนาจได้มาก หรือได้เข้าไปถือครองคะแนนเสียงในพรรคร่วมรัฐบาล อย่างน้อยเอาฮิตเลอร์ ซึ่งชัดเจนว่าเขาเป็นขวา เขาต้องการความยิ่งใหญ่ของเยอรมันกลับคืนมา เขาต้องการความเป็นอนุรักษนิยม ต้องการกองทัพอันยิ่งใหญ่ ต่อต้านชาวต่างชาติคือยิว ที่เชื่อในตอนนั้นว่าจะเข้ามาแย่งธุรกิจของเยอรมัน เพราะฉะนั้น อนุรักษนิยมทั้งหลายจึงร่วมกันสนับสนุนฮิตเลอร์

และครั้งที่สาม ในการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ก็คือ เดือนพฤศจิกายน 1932 ฮิตเลอร์ได้คะแนนเสียงลดลง จำนวนที่นั่งลดลง แล้วไปเพิ่มให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นก็ไม่แลนด์สไลด์ แต่การที่ได้รับจัดตั้ง ก็คือพรรคอนุรักษนิยมอื่นๆ ก็มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เรียกกันว่า รัฐบาลขุนนาง (Baron Cabinet)

แต่ประเด็นคือ Holocaust เป็นภาวะยูนีค (unique) เราไม่ควรจะใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากกรณี Holocaust หรือฮิตเลอร์

สิ่งที่เมืองไทยเผชิญอยู่ หรือจะเผชิญในอนาคต จะไม่มีวันเท่ากันกับระบอบนาซี เพราะฉะนั้น ต่อให้เกลียดรัฐบาลใดๆ ก็ตามในเมืองไทย อย่าลากกรณีฮิตเลอร์ไปใช้ประโยชน์ เหยื่อ 11 ล้านคน คุณต้องมีภาระทางจิตวิญญาณกับคนเหล่านั้นด้วย

เพราะฉะนั้น อย่าดิสเครดิตศัตรูทางการเมืองของเรา โดยใช้ประเด็น Holocaust ผมว่ามันไม่ศิวิไลซ์และป่าเถื่อนที่สุดพอๆ กับที่ระบอบเผด็จการในทุกๆ ที่ทำ

 

ตกลงคำกล่าวที่ว่า ฮิตเลอร์ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือได้รับคะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ก็ไม่จริง?

การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ฮิตเลอร์ก็ไม่ได้คะแนนแบบแลนด์สไลด์ แล้วรัฐบาลขุนนางก็หวังว่าจะทำให้ฮิตเลอร์เชื่องได้ เพราะฉะนั้นคณะรัฐบาลที่ฟอร์มกันในช่วงเดือนธันวาคม 1932 ถึงมกราคม 1933 จึงมีคนของพรรคนาซีเพียงสามคน แต่ฮิตเลอร์ก็ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล เพราะการอุปถัมภ์ค้ำจุนของฝ่ายอนุรักษนิยม

คราวนี้ประเด็นคือ เมื่อตั้งรัฐบาลแล้วฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะรัฐบาลจากพรรคตัวเองสามคน รวมฮิตเลอร์แล้ว ต่อมาถึงมีมาเพิ่มอีกหนึ่งคน

ฉะนั้นจะเห็นว่า ณ วันที่ฮิตเลอร์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 30 มกราคม 1933 เราไม่สามารถจะอ้างได้เลยว่า ฮิตเลอร์นั้นทรงอำนาจ ทรงพลัง เข้มแข็ง หรือได้คะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ มันไม่ใช่เลย

อย่างน้อยก็ในทัศนะของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ใช้คำว่า เขาต้องการจะ tame ฮิตเลอร์*

* ฟรานซ์ ฟอน พาเพน กล่าวว่า “In zwei Monaten haben wir Hitler in die Ecke gedrückt, daß er quietscht.” หรือ “อีกสองเดือนเราจะต้อนฮิตเลอร์เข้ามุมให้ได้จนต้องร้องออกมาเลยล่ะ”

หมายความว่าตอนนั้นพรรคสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์ก็สามารถร่วมกันตั้งรัฐบาลได้ใช่ไหม

โดยหลักทำได้ แต่ในความเป็นจริงเขาไม่ทำกัน หมายความว่าทั้งสองพรรคก็ใช่ว่าจะถูกกัน แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลัวว่าถ้าสองพรรคนี้ร่วมมือกัน หรือพรรค SPD ไปร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แล้วได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากพรรค SPD คะแนนเสียงสูงเป็นลำดับที่สอง เพราะฉะนั้นเขาต้องมีปากเสียงมากเลยในคณะรัฐบาล โอกาสจะเปลี่ยนนโยบายเอียงซ้ายมันก็มี แล้วจะเป็นการสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจเดิมทั้งของฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษนิยมในรัฐบาลไวมาร์

พูดง่ายๆ ก็คือความกลัวภัยสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ทำให้ชนชั้นนำทั้งหลายร่วมมือกันในการสนับสนุนค้ำจุนฮิตเลอร์ให้ขึ้นมามีอำนาจ

แล้วแนวคิดที่จะคงไว้เพียงชาติพันธุ์เยอรมันเพียงชาติพันธุ์เดียวอย่าง ‘Volksgemeinschaft’ เกิดขึ้นในยุคฮิตเลอร์เลยหรือเปล่า

ใช่ คำนี้เป็นคำที่ระบอบนาซีใช้ ‘Volk’ คือประชาชน ส่วน ‘Gemeinschaft’ คือชุมชน (community) ที่เป็นชุมชนแบบโบราณ เพราะถ้าเป็นชุมชนสมัยใหม่ จะใช้ Gesellschaft ที่แปลว่าสังคม (society)

ทีนี้ Volk คือประชาชาติ เป็นเอกพจน์ในภาษาเยอรมัน รูปพหูพจน์คือ Völker เพราะฉะนั้นประชาชาตินี้มีแค่เชื้อชาติเดียว ชุมชนนี้จึงเป็นคำที่ผมแปลในภาษาไทยว่า ‘ชุมชนเอกชาติพันธุ์’ คือเป็นชุมชนที่มีอยู่เพียงชาติพันธุ์เดียว เพราะใช้คำว่า Volk ไม่ใช่ Völker และนี่คือชุมชนที่มีชาติพันธุ์เยอรมันเท่านั้น ไอเดียนี้เป็นไอเดียของฮิตเลอร์ที่ต้องการกำจัดยิวเป็นหลัก พูดอีกอย่างก็คือการต่อต้านเชื้อชาติอื่นที่ฮิตเลอร์คิดว่าเป็นอริกับอุดมการณ์ของระบอบนาซี

ศิลปะในยุคนาซีมีลักษณะพิเศษไหมว่าต้องเป็นอย่างไร

โดยพื้นฐานก็คือทุกอย่างต้องเชิดชู (shore up) อำนาจรัฐ และต้องเป็นไปเพื่อสร้างชุมชนเอกชาติพันธุ์และส่งเสริมความยิ่งใหญ่ของระบอบนาซี

ศิลปะที่มีมาก่อนหน้าระบอบนาซีคือศิลปะแบบโมเดิร์น ลองนึกถึงภาพปิกัสโซ นี่เป็นศัตรูตัวฉกาจของระบอบนาซีเลย ระบอบนาซีเคยส่งทหารไปเยี่ยมเขาที่กรุงปารีส

ปิกัสโซวาดภาพที่น่าสนใจอย่าง Boy Leading a Horse (1905-1906) ปกติภาพวาดคนกับม้าเราจะนึกถึงภาพวาดกษัตริย์ยุโรปขี่ม้าที่ดูยิ่งใหญ่ อย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือกษัตริย์อื่นๆ ในยุโรป แต่นี่เป็นภาพเด็กผู้ชายเปลือยล้อนจ้อน เดินจูงม้าอยู่กลางทะเลทราย ซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างหรืออารยธรรมใดๆ

คุณคิดว่าศิลปะที่แสดงถึงความตกต่ำของมนุษยชาติถึงเพียงนี้ ระบอบนาซีจะเอาด้วยหรือ ก็ไม่เอา เพราะมันไม่ส่งเสริมความยิ่งใหญ่ของระบอบนาซีแต่อย่างใด

งานชิ้นอื่นๆ ของปิกัสโซ หรือเพื่อนร่วมขบวนการ Modernist ของเขาที่เรียกว่า Cubism มักจะวาดคนออกมาเป็นเหลี่ยมๆ เช่น ภาพสาวๆ แห่งอาวิญญอง (The Young Ladies of Avignon) คือคนมันดูไม่เป็นคน หรือภาพ The Scream ของเอดเวิร์ด มุนช์ (Edvard Munch) ที่บิดเบี้ยว อย่างนี้ฮิตเลอร์ไม่เอาเลย คนก็ต้องเป็นคน ต้องรูปร่างกำยำ ล่ำสัน แล้วก็จะต้อง move forward ไปข้างหน้า

ผมเคยฟังอาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เสนองานค้นคว้าที่น่าสนใจก็คือ อิทธิพลของศิลปะแบบนาซีที่มีผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของคณะราษฎรในสังคมไทย

อาจารย์ธนาวิพบว่ารูปปั้นหลายชิ้นสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ลอกแบบมาจากรัฐบาลนาซีแบบเป๊ะๆ หมายถึงลอกในเชิงศิลปะ รวมถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ จะเน้นความยิ่งใหญ่ของตัวอาคาร แต่ผมต้องบอกให้ชัดว่า สถาปัตยกรรมที่เน้นความยิ่งใหญ่ เป็นศิลปะทั่วไปที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1920-1930 ในยุโรป

อาคาร Senate House Library ในลอนดอน ปัจจุบันเป็นสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) สร้างปี 1932-37 ถือเป็นตึกสูงที่สุดในลอนดอนตอนนั้น ถ้าคุณดูโครงสร้างตึกแถวนั้น รวมถึงวิทยาลัยสาธารณสุขและเวชศาสตร์เขตร้อน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) ที่อยู่ด้านหลัง Senate House Library ในปัจจุบัน จะเห็นว่ามันสร้างโดยสถาปัตยกรรมที่เหมือนกันมากกับระบอบนาซี

มันเป็นเทรนด์อยู่แล้วในตอนนั้นที่ต้อง shore up อำนาจรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะที่นาซีเรียกว่า ไม่นำไปสู่ความเสื่อมของชุมชนเอกชาติพันธุ์ ศิลปะที่นำไปสู่ความเสื่อมเรียกว่า De-generate art เพราะฉะนั้นศิลปะต้องนำไปสู่การ generate ชาติพันธุ์ generate ก็คือก่อให้เกิด Volksgemeinschaft

ก็คือจะมีแต่สิ่งที่นาซีบอกว่าไม่ใช่ศิลปะแบบนาซี แต่สิ่งที่ใช่ก็ต้องมาดูกันอีกทีหรือเปล่า

ในด้านหนึ่งเราอาจจะบอกได้ว่าสิ่งที่ใช่แน่ๆ คือ มันต้อง shore up อำนาจรัฐ ต้องแสดงความแข็งแกร่ง กำยำ ล่ำสัน และต้องไม่สร้างโดยยิว ทั้งกวีนิพนธ์ หรืองานเขียนต่างๆ มันจึงมีการเผาหนังสือต่างๆ ที่เขียนโดยยิวโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วเยอรมนีในปี 1933

ที่เบอร์ลินนั้นเผากันที่หน้ามหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ท (Humboldt University of Berlin) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในเยอรมนีที่มีชื่อเสียงมาก

มันก็ย้อนแย้งมากๆ ที่นักศึกษาหันมาเผาหนังสือ และก็เผากันที่หน้าลานมหาวิทยาลัยเลย คุณจะหาอะไรที่หดหู่ทางปัญญาไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ที่มาภาพ: commons.wikimedia.org / Bundesarchiv Bild 102-14597, Berlin, Opernplatz, Bücherverbrennung

แรกสุดดูเหมือนนาซีต้องการกำจัดยิวเป็นหลัก แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นมากกว่านั้น

ก็มากกว่านั้น…ใช่ แล้วก็เป็นประเด็นน่าสนใจซึ่งสะท้อนถึงอีกข้อถกเถียงหนึ่งในทางประวัติศาสตร์เรื่องระบอบนาซีว่า จริงๆ แล้ว Holocaust เป็นโครงการมรณะ (the death plan) มาตั้งแต่ต้น หรือเป็นพลวัตปีศาจ (evil dynamic) กันแน่

นอกจากยิว มีกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกจัดการตั้งแต่แรกไหม

ความน่าสนใจของกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็คือ ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ 30 มกราคม 1933 ต้นเดือนมีนาคม 1933 ฮิตเลอร์เปิดค่ายกักกันค่ายแรก และเป็นโมเดลให้ค่ายกักกันอื่นๆ ในยุโรป นั่นคือ ค่ายกักกันที่เมืองดาเคา (Dachau) ศัตรูทางการเมืองกลุ่มแรกที่ถูกนำเข้าค่ายกักกันคือกลุ่มคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย SPD

ทำให้ไม่มีใครสามารถทำอะไรพรรคนาซีได้แล้วเลยหรือ

ไม่ได้ เนื่องจากฮิตเลอร์ออกกฎหมายห้ามมีพรรคการเมือง ก็จบ จะให้ทำอะไร ณ จุดนี้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว สมมุติคุณตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ กฎหมายอะไรก็ไม่รองรับสถานภาพคุณ เพราะเขาห้ามมีพรรคการเมืองแล้ว คุณก็ต้องเป็นแก๊งเถื่อน อยู่ในรัฐ เพราะนาซีเขาถูกกฎหมาย

แล้วระบอบนาซีก็มีความเป็นรัฐซ้อนรัฐอีกทีด้วยใช่ไหม

นี่เป็นข้อเสนอของ แฟรงเคิล (Ernst Fraenkel) เสนอว่าตัวพรรคนาซีเองเป็นองค์กรที่ซ้อนรัฐอยู่ในรัฐเยอรมัน ภาษาวิชาการเรียกว่า double state (หนังสือ The Dual State, 1941)

ภาพที่น่าสนใจก็คือ ตอนฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจใหม่ๆ และหลังจากนั้น จะมีกองตำรวจของรัฐบาลกลางเยอรมัน ซึ่งกุมอำนาจโดยพรรคนาซีอยู่แล้ว เดินตรวจตราความเรียบร้อยในเมือง แต่จะมีอีกคนหนึ่งเดินคู่ไปด้วย เป็นตำรวจของพรรคนาซีเอง ที่เรียกว่าหน่วย SA (Sturmabteilung)

ในตอนแรกเป็น SA ต่อมาแข่งอำนาจกันกับฮิตเลอร์ หาว่าฮิตเลอร์ไม่สามารถปฏิวัติเยอรมนีเป็นนาซีได้แท้จริง พวก SA จะก่อกบฏ ฮิตเลอร์เลยสนับสนุนอีกคนให้ตั้ง SS (Schutzstaffel) ขึ้นมา แล้วจัดการผู้นำกลุ่ม SA จนเหลือแต่ SS ก็เป็นตำรวจเปิดเผย ไม่ใช่ตำรวจลับ แล้วเดินมาคู่กันเลยระหว่างตำรวจรัฐบาลกลางกับตำรวจของพรรคนาซี คือมีพรรคการเมืองไหนไหมที่มีตำรวจเป็นของตัวเอง แต่ฮิตเลอร์ทำได้

เราเรียกภาวะอย่างนี้ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ แล้วพวกนี้จะพกหมาไปเดินด้วย เป็นหมาฝรั่งตัวใหญ่ๆ เอาไว้กัดศัตรูทางการเมือง บางทีก็กัดต่อหน้าสาธารณชน จุดประสงค์คือ ไม่ใช่ว่าหมากัดแล้วเจ็บกว่าลูกปืน แต่เป็นเพราะต้องการทำให้คนนั้นรู้สึกถึงความอับอายอย่างถึงที่สุด (humiliate) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นยิว

มีคำอธิบายไหมว่าทำไมต้องใช้สุนัขกับชาวยิว

ต้องเข้าใจก่อนว่าศาสนาคริสต์ก็ดี ยิวก็ดี อิสลามก็ดี เป็นสามศาสนาที่ใช้พระคัมภีร์ส่วนหนึ่งร่วมกัน ที่เรียกว่า The Book มุสลิมจะถูกสั่งสอนว่า สุนัขอาจจะเป็นสัตว์ที่สกปรก ฉะนั้นส่วนเดียวของสุนัขที่จะจับต้องได้ก็คือบริเวณหน้าผาก เพราะสุนัขไม่สามารถเลียหน้าผากของตัวเองได้ แต่จะเลียส่วนอื่นๆ มุสลิมจึงห้ามจับสุนัข นอกจากบริเวณหน้าผาก ถ้าความเข้าใจของผมไม่ผิด กรณียิวกับสุนัข สุนัขจะถูกจัดว่าเป็นสัตว์ค่อนข้างสกปรก เพราะฉะนั้นการใช้สุนัขไปกัดยิวในที่สาธารณะ จึงเป็นการสร้างความอับอายอย่างที่สุด

ในค่ายกักกันนาซีจะมีบันทึกของผู้หญิงหลายคน คนหนึ่งที่ผมจำได้คือ เธอเห็นเพื่อนเธอป่วยจนไม่ได้ออกมาเข้าแถวตอนเช้า นายทหาร SS ที่คุมค่ายสั่งให้เข้าไปค้นในค่าย พอเจอก็ลากออกมา ซึ่งเธอป่วยหนักจนไม่มีแรงแล้ว เขาก็ให้หมากัดจนเธอตายต่อหน้าเหยื่อในค่ายกักกัน ซึ่งซ้อมไม่กี่ทีหรือยิงเป้าเธอก็ตายแน่ๆ แล้ว แต่ทำไมต้องใช้สุนัข เหตุผลเดียวก็คือ ระบอบนาซีต้องการกำจัดเหยื่อด้วยวิธีการที่สร้างความอับอายอย่างถึงที่สุด หรือทำลายความเป็นมนุษย์ (dehumanize) ลงไป

นี่คือสิ่งที่ทำให้ระบอบนาซีแตกต่างจากเผด็จการอื่นๆ หรือเปล่า

เวลาพูดว่าระบอบนาซีนั้นแตกต่าง เรากำลังดึงตัวเองเข้าไปสู่ข้อถกเถียงระหว่างนักเรียนประวัติศาสตร์กับนักรัฐศาสตร์ นักเรียนประวัติศาสตร์จะมองว่าระบอบนาซีนั้นเป็นเผด็จการที่ไม่เหมือนกับระบอบอื่นเลย

จุดประสงค์หลักของนักรัฐศาสตร์ ด้านหนึ่งต้องการจะก่อร่างการเมืองที่สันติทั่วโลก เพราะฉะนั้นจะพยายามมองหาลักษณะเชิงนามธรรม เป็นหลักการอะไรบางอย่าง ข้อสรุปของนักรัฐศาสตร์จำนวนมากจึงมองว่าระบอบเผด็จการนาซีก็ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการอื่น เพราะมองในเชิงโครงสร้างของเผด็จการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่นักประวัติศาสตร์มองในรายละเอียดบางอย่างอีก เพราะฉะนั้นเราจะไปสู่ข้อสรุปที่ต่างกัน

นักประวัติศาสตร์จะมองว่าระบอบนาซีนั้นไม่สามารถเทียบได้กับอะไรทั้งหมด (uniqueness) ซึ่งความ uniqueness ที่นักประวัติศาสตร์หมายถึง สรุปได้สองด้านใหญ่ๆ

หนึ่ง-ภาวะที่เป็นการสร้างความอับอายหรือการทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่สะท้อนผ่านค่ายกักกัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบและในปริมาณมาก เทียบไม่ได้กับกูแล็ก (Gulag) หรือค่ายกักกันยุคสตาลินในสหภาพโซเวียต

สอง-สัมพันธ์กับข้อเสนอของนักประวัติศาสตร์คนสำคัญอย่าง เอียน เคอร์ชอว์ (Ian Kershaw) ก็คือ ระบอบนาซีนั้น uniqueness เพราะเป็นระบอบเผด็จการระบอบเดียวที่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซี รวมถึงข้าราชการ และฟันเฟืองต่างๆ ให้ทำงานเพื่อฮิตเลอร์ เพื่อท่านผู้นำ

เอียน เคอร์ชอว์ ตั้งชื่อบทความว่า ‘Working Towards the Führer’ คือการทำงานแด่ท่านผู้นำ ซึ่งเป็นคำที่เขาพบในไดอารีของเจ้าหน้าที่พรรคนาซีสองสามราย บางครั้งก็ใช้คำว่า working towards Hitler ความน่าสนใจก็คือ เราจะเห็นเซนส์ของผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซี เจ้าหน้าที่ราชการต่างๆ สิ่งที่เขาต้องการอย่างมากคือต้องการจะก้าวหน้าในอาชีพ และเขาคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นอะไรบางอย่างที่ทำเพื่อท่านผู้นำ ทั้งผู้นำใหญ่สุดก็คือฮิตเลอร์ และท่านผู้นำอื่นๆ ในระบอบนาซี เช่น โยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวง Propaganda (Ministry of Public Enlightenment and Propaganda) หรือ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บัญชาการหน่วย SS

มันมีลักษณะของความภักดี ซึ่งไม่ใช่ภักดีต่อรัฐเยอรมันอย่างเดียว ในเมื่อเป็น double state จึงภักดีต่อรัฐของนาซีด้วย นักประวัติศาสตร์จึงไม่แน่ใจว่า ถ้าผู้นำไม่ใช่กลุ่มนี้แล้ว ระบอบนาซีจะยังอยู่ต่อได้อีกไหม เราบอกไม่ได้ เพราะหลักฐานที่ยังอยู่ไม่ได้ชี้ไปในลักษณะนั้น มันชี้กลับไปที่ว่า คนจะภักดีต่อรัฐเยอรมันที่ต้องเป็นนาซีเยอรมันด้วย คือนาซีกับเยอรมนีต้องไปคู่กัน คนที่ปฏิบัติงานจึงจะทำงานถวายหัวให้กับระบอบนี้ ระบอบนาซีจึงเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้ (unparalleled)

ในขณะที่เปรียบเทียบกับระบอบเผด็จการในสหภาพโซเวียต เมื่อผู้นำเปลี่ยนสตาลิน คนต่อมาก็คือครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) เมื่อขึ้นมามีอำนาจในปี 1956 ก็ดำเนินนโยบาย De-stalinization คือถอดระบอบสตาลินออกไป

ผู้นำคนต่อจากครุชชอฟคือ เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) เบรชเนฟก็ดำเนินนโยบายที่ค้านกับครุชชอฟ คือแม้ว่าผู้นำจะเปลี่ยน แต่ฟันเฟืองที่อยู่ในระบบราชการของสหภาพโซเวียตยังคงทำงานต่อไป จะทำงานด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ในระบอบนาซีเราไม่พบเซนส์เช่นนั้น

ในความเข้าใจของผู้ปฏิบัติการ คำว่าประเทศเยอรมนี (Deutschland) ผูกกับพรรคการเมือง (Die Partei) ซึ่งก็คือพรรคนาซีเสมอ เพราะฉะนั้นนี่คือความ unique ของระบอบนาซี

ระบบราชการจะฟังก์ชั่นจริงไหม ถ้าทุกคนทำเพื่อเหล่าท่านผู้นำกันอย่างถวายหัวขนาดนี้

ถามว่าฟังก์ชั่นไหม มันฟังก์ชั่น หลักฐานคือ สามารถฆ่าคนไปได้ 11 ล้านคน คือมันฟังก์ชั่นอย่างมากเลย แล้วยังสามารถระดมสรรพกำลังจากทั้งชาวนา กรรมกร และกลุ่มต่างๆ ในสังคม ให้มีอุดมการณ์ด้านชาติพันธุ์แบบเดียวกันได้ แล้วทั้งหมดมันฟังก์ชั่นได้ก็เพราะ working towards Hitler

เพราะฉะนั้น นี่คือหลักฐานว่าระบอบนาซีประสบความสำเร็จในการเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สามารถคุมอำนาจ แม้แต่ในส่วนที่เป็นส่วนในปรัชญาการเมืองตั้งแต่สมัยโรมัน โดยซิเซโร (Cicero) ‘Our thoughts are free.’ ความคิดของเราเป็นอิสระจากอำนาจทั้งปวง ไม่มีอำนาจทางการเมืองอะไรจะแทรกแซงอำนาจของเราได้ นั่นคือสิ่งที่อยู่ในปรัชญาการเมืองโรมัน และปรัชญาการเมืองตะวันตกเรื่อยมา

แต่ระบอบเผด็จการนาซี ฮิตเลอร์ปฏิวัติวิธีคิดเกี่ยวกับ Our thoughts are free. คนถูกจองจำในวิธีคิดของระบอบเผด็จการของฮิตเลอร์ ผ่านระบบการศึกษา ระบบการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ทางการเมือง ระบอบนาซีจึงฟังก์ชั่น ความคิดของคนไม่ได้เป็นอิสระอีกต่อไป ไม่ใช่ในเซนส์ของการถูกรัฐคุกคามความคิดอย่างเดียว แต่มากกว่านั้นคือคนยอมเปลี่ยนความคิดของตัวเองตามอุดมการณ์ของรัฐและยอมเลิกโดยดุษณีที่จะวิจารณ์รัฐ

คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของนาซี สามารถค้านได้ไหม

ค้านได้ตอนอยู่ที่บ้าน ถ้าอยากจะประท้วงก็ทำได้ แต่คุณจะถูกจับ ตัวอย่างที่น่าสนใจและคนไทยอาจจะรู้จัก เคยมีภาพยนตร์เยอรมันเรื่อง Sophie Scholl คุณจะเห็นว่าเขาต้องทำอย่างลับๆ ทำในห้อง หรือไม่ก็ใต้ดิน เขียนจดหมาย พิมพ์ ใส่ซองส่งไปทั่วเยอรมนี เอาไปโปรยในมหาวิทยาลัยมิวนิค

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมิวนิคไม่เคยขโมย โซฟี โชล และกลุ่มกุหลาบขาว (White Rose) ไปเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยมิวนิค

อาจจะมีพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เป็นไปเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ มีการนำใบปลิวสตัฟฟ์ลงไปบนพื้นดินเพื่อให้มันอยู่อย่างนั้นชั่วกัลปาวสาน มีการตั้งชื่อจตุรัสหน้ามหาวิทยาลัยว่า Geschwister-Scholl-Platz ก็คือจตุรัสพี่น้องตระกูลโชล ซึ่งจะมีจตุรัสชื่อนี้อยู่ทั่วเยอรมนี เพื่อให้ทุกคนสามารถรำลึกถึงกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์ได้ แม้ว่าจะไม่เคยเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิคก็ตาม คือไม่มีการผูกขาดวีรชนเหล่านั้นไปเป็นของตัวเอง มหาวิทยาลัยในเยอรมนีไม่ทำแบบนี้

ฮิตเลอร์เป็นเผด็จการแน่ๆ แต่เราเริ่มเรียกเขาว่าเผด็จการตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะดูเหมือนตอนแรกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมาก

ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในโลกใบนี้ โดยหลักการทางการเมือง การเลือกตั้งไม่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การสถาปนารัฐบาลประชาธิปไตยเสมอไป มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ตัวอย่างอย่างเช่นการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 1932 มันก็เป็นการเลือกตั้งแท้ๆ เลย แต่การฟอร์มรัฐบาล มันนำไปสู่การสถาปนารัฐบาลเผด็จการของฮิตเลอร์ บรรยากาศที่ปฏิเสธประชาธิปไตยของชนชั้นนำและประชาชนนำไปสู่การสถาปนาอำนาจเผด็จการของฮิตเลอร์ เป็นความต้องการที่จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ จึงนำไปสู่การสร้างอำนาจเผด็จการในรัฐนาซีขึ้นมา

ถ้าตอบคำถามของคุณว่า เป็นเผด็จการเมื่อไหร่ ถ้าจะให้ระบุแบบชัดๆ อันนี้เป็นข้อเสนอของผม ก็คือ

หนึ่ง- ณ วันที่ประกาศสลายพรรคการเมืองทั้งหมด ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 1933 สอง-วันที่รัฐสภาออกพระราชบัญญัติยกเลิกอำนาจรัฐสภา คือ 23 มีนาคม 1933 ให้รัฐบาลออกกฎหมายเองได้ ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะระบอบประชาธิปไตย มันต้องตรวจสอบได้ แยกอำนาจได้ (check and balance)

สาระสำคัญของกฎหมายนี้คือรัฐสภายอมให้รัฐบาลนาซีผ่านร่างกฎหมายและประกาศใช้ได้เองเลย โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เป็นเวลาสี่ปีเต็ม ทำให้รัฐสภามีสถานภาพเป็นเพียงแค่ ‘Pseudo-Volksvertretung’ หรือ ‘Pseudo-National Representative Organ’ (Peter Hubert) คือเป็นองค์กรตัวแทนของประชาชนแบบปลอมๆ เท่านั้น และในเวลาต่อมาเมื่อไม่มีพรรคการเมืองเหลือแล้ว พระราชบัญญัตินี้ก็ขยายอำนาจตัวเองโดยอัตโนมัติอยู่จนสิ้นอาณาจักรที่สาม

ส.ส. ในสภาก็โหวตเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถึงตอนนั้นอำนาจของฮิตเลอร์เริ่มตั้งมั่นแล้วในเดือนมีนาคม 1933  ถ้าเป็นศัตรูกับฮิตเลอร์ก็จะถูกจับไปยังดาเคา (Dachau Concentration Camp) นักการเมืองพรรคเดียวที่ยอมโหวตค้านฮิตเลอร์คือพรรค SPD ก็คงทราบจุดจบว่าจะเป็นเช่นใด

เป็นความน่าเศร้าที่รัฐสภา โดยตัวองค์กรแล้วเป็นองค์กรนิติบัญญัติ หน้าที่หลักของรัฐสภาคือออกกฎหมายเพื่อปกครองประเทศ แต่นี่รัฐสภายอมรับกฎหมายที่หยุดอำนาจของตัวเอง บอกต่อไปนี้ไม่ต้องออกกฎหมายแล้ว ให้รัฐบาลเป็นคนออกกฎหมายแทน เท่ากับว่า รัฐสภาชุดนี้ออกกฎหมายเพื่อทำให้ตัวเองสูญสิ้นอำนาจ

มันก็กลับไปสู่คำพูดของ เซบาสเตียน ฮาฟฟ์เนอร์ ว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรเมื่อประชาธิปไตยหยุดฟังก์ชั่นตัวมันเอง สำหรับหนทางขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ นี่คือคำตอบที่สรุปข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ตรงที่สุดในทัศนะผม

นี่เป็นการรวบอำนาจ นี่คือ signature หลักของระบอบเผด็จการ คุณถามนักวิชาการท่านอื่นก็อาจจะชี้เหตุการณ์อื่นๆ โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะชี้เป็น historical moment คือผมชี้โมเมนต์ที่พระราชบัญญัติพวกนี้เพื่อให้เป็นหมุดหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ผมต้องการสื่อก็คือ การยุติการฟังก์ชั่นของระบอบประชาธิปไตย

เกณฑ์ที่เราจะเรียกได้ว่า ‘เผด็จการ’ นอกจากการหยุดฟังก์ชั่นของประชาธิปไตย ต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหรือไม่

Totalitarianism คือการปฏิเสธผู้ที่ไม่คล้อยตามต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบตนเอง (dissenters) ซึ่งก็คือคนที่ ‘แตกต่าง’ ไปจากมีน (mean) หลัก

คุณจะสังเกตว่าผม ‘ระวัง’ คำที่จะใช้ ผมพยายามไม่ใช้คำที่คนไทยใช้ เช่น คิดต่าง กำจัดคนคิดต่าง ผมพยายามเลี่ยงคำแบบนี้อย่างมาก เพราะไม่แน่ใจว่าคำเหล่านั้น หนึ่ง-ในทางวิชาการ อธิบายอะไรได้จริงแค่ไหน คิดต่างคือคิดต่างจากอะไร และสอง-ผมไม่ต้องการจะใช้กรณี Holocaust ไปดิสเครดิตรัฐบาลชุดใดก็ตาม

ถ้ารัฐบาลแต่ละชุดสมควรจะถูกประณามหรือถูกดิสเครดิต ควรจะต้องถูกประณามหรือดิสเครดิตด้วยตัวนโยบายและการกระทำของรัฐบาลนั้นๆ เอง ไม่ควร ignorant เสียจนกระทั่งฉวยเอา Holocaust ไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างมักง่าย ผมรู้สึกรังเกียจพฤติกรรมเหล่านั้น ก็เห็นอยู่ว่ามัน bad taste มากๆ

ถามจริงๆ ว่า เราต้องเปิดพื้นที่ให้กับคน ‘คิดต่าง’ นั้นคิดต่างจากอะไร พวกคุณเป็นสื่อ ไม่งงกันบ้างเหรอ ผมฟังแล้วยังงง นักวิชาการยังพูดกันอยู่เลย

ถ้าอย่างนั้นเราควรจะใช้คำไหนดี

ไม่รู้ไง ทุกคนก็เลยพูดกันต่อไป ทุกคนเลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว คิดต่าง คืออะไร หรืออะไรคือเผด็จการ คุณถึงถามผมไงว่า แล้วอะไรคือเผด็จการ ฉะนั้น มันจะเป็น Totalitarianism ได้ ก็ต่อเมื่อมันปฏิเสธ political dissenters ปฏิเสธคนที่คิดแตกต่างออกไปจากอุดมการณ์หลักของระบอบ และต้องเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย เพราะผมใช้คำว่า Totalitarianism มันเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จในทางการเมือง มันปฏิเสธ political dissenters

ฮิตเลอร์ไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ คนแรกที่ทำอย่างนี้คือ โรบส์ปิแอร์ (Robespierre) สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นจึงเป็นที่ถกเถียง (debate) ของนักประวัติศาสตร์ว่า ประชาธิปไตยในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส มันนำไปสู่เผด็จการ (Totalitarianism) ในท้ายที่สุดหรือไม่ เพราะสุดท้ายการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ลงเอยที่ The Reign of Terror ของโรบส์ปิแอร์

ยังคงเป็นดีเบตอยู่ใช่ไหม

ยังคงเป็นดีเบตอยู่ แต่เป็นดีเบตที่ outdated หมายความว่า นานๆ ก็จะมีคนที่คิดว่าตัวเอง ‘แนว’ ยกประเด็นอย่างนี้ขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ ก็คือประชาธิปไตย มันก็นำไปสู่ประชาธิปไตยโดยตัวมันเอง เว้นแต่ว่าประชาธิปไตยที่มันหยุดฟังก์ชั่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร และด้วยลักษณะใด อันนี้มันก็หลากหลาย นั่นแหละที่มันจะนำไปสู่เผด็จการ

ฮิตเลอร์ทำอะไร ที่ทำให้โลกมองว่าเขาเป็นเผด็จการ

ประเด็นคืออย่างนี้ เวลาที่บอกว่า โลกมองว่า…ก็ไม่รู้ว่าโลกยุคไหน โลกในสมัยนาซี หรือหลังจากนั้น นักประวัติศาสตร์เราศึกษาเรื่องในอดีต เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องมองย้อนกลับไป ปัจจุบันเรารู้เกี่ยวกับระบอบนาซีเยอะมากแล้ว รู้ถึงค่ายกักกัน เรื่องเหยื่อต่างๆ ที่เขียนบันทึกไว้ หรือจากเอกสารราชการต่างๆ ในระบอบนาซีที่เหลือรอดมา

แต่ในยุคนั้น แม้แต่ผู้นำอย่างเชอร์ชิล (Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น) เองก็ยอมรับเพียงแค่ว่า มันมีค่ายกักกันเกิดขึ้นในเยอรมนี แต่อะไรเกิดขึ้นข้างในนั้น มีการทำอะไรบ้างข้างในค่ายกักกันของระบอบนาซี ไม่มีใครรู้

หรือแม้แต่คนในครอบครัวของเหยื่อเอง อย่างเช่น เอียร์มการ์ด ลิตเตน (Irmgard Litten) แม่ของ ฮันส์ ลิตเตน (Hans Litten) ทนายความที่จับฮิตเลอร์ขึ้นศาลในปี 1931 ในคดีหน่วย SA ของพรรคนาซีสังหารกรรมกรสองราย โดยฮันส์ซักค้านฮิตเลอร์กว่าสามชั่วโมงเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าฮิตเลอร์มีส่วนสำคัญมากในการสั่งการให้หน่วย SA ใช้กำลังออกกำจัดศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซี ศาลสั่งระงับการซักค้านก่อนที่ฮันส์จะซักเสร็จ ฮิตเลอร์รอด แต่จำความอับอายครั้งนี้ไว้ และสั่งจับฮันส์เมื่อพรรคนาซีครองอำนาจแล้ว

กลับไปที่เอียร์มการ์ด ลิตเตน เธอได้ไปเยี่ยมลูกชายที่ดาเคา ตอนออกมาเธอคุยกับคนขับแท็กซี่โดยเล่าถึงหัวหน้าค่าย ฮันส์ ลอริตซ์ (Hans Loritz) ด้วยความชื่นชม และเห็นว่าชีวิตของนักโทษในค่ายนั้นดีกว่าที่คิด แต่นี่คือก่อนหน้าที่ฮันส์ ลิตเตนจะถูก ‘รายงาน’ ว่า ‘กระทำอัตตวินิบาตกรรม’ (5 กุมภาพันธ์ 1938) ภายหลังการถูกซ้อมระหว่างสอบสวนในค่ายอย่างหนักสองวันก่อนหน้านั้น

กรณีเอียร์มการ์ดบอกอะไรเรา มันบอกว่าแม้แต่คนเข้าไปเยี่ยม ญาติของเหยื่อ ก็ไม่รู้ว่าเหยื่อโดนอะไรบ้าง การรับรู้เกี่ยวกับค่ายกักกันนาซีเป็นเรื่องลึกลับ ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น

ฉะนั้น มันบอกไม่ได้ว่า โลกในยุคนั้นพิจารณาจากอะไร คือโลกตอนนั้นเรียกฮิตเลอร์ว่าเผด็จการหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ และไม่ทราบด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม เรารู้ได้แน่ๆ ว่า คนเยอรมันจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับระบอบฮิตเลอร์ นับตั้งแต่ที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจ และหนึ่งในนั้นคือ โซฟี โชล

แล้วก็มีคนอีกพอสมควร อย่างเช่น ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus von Stauffenberg) ที่ก่อการลอบสังหารฮิตเลอร์ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แล้วก็ยังมีรายอื่นๆ อีกที่เป็นกลุ่มต่อต้าน กลุ่มนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่ยังไม่ถูกจับเข้าไปในค่ายกักกัน เขาก็ดำเนินขบวนการต่อต้านแบบใต้ดิน

แต่ปัญหาก็คือ ระบอบเผด็จการนั้น มันไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง พอไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนจะเปลี่ยนเขาอย่างไร จะลุกฮืออย่างไร คือถ้าประชาชนลุกขึ้นมาเดินขบวน ก็จะปะทะกับกองกำลัง ทั้งของรัฐและของพรรคนาซี คือคุณไม่มีช่องทางในการที่จะแสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมือง (political will) ของคุณ และนั่นก็คือหัวใจของระบอบเผด็จการ คือคุณต้องไม่มีที่ทางในการแสดง political will

คือต้องไม่มีเลยใช่ไหม

รัฐเผด็จการจะต้องพยายามทำให้ หนึ่ง-ที่ทางในการแสดงออกซึ่ง political will ไม่มี และ สอง-รัฐจะต้องทำให้ที่ทางในการฟอร์ม political will ไม่มี และนี่คือสิ่งที่กระทบหัวใจหลักของความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองในโลกตะวันตก (Western Modernity) ที่เริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 พร้อมกับยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง (The Age of Enlightenment) มันมีสิ่งที่เรียกว่าความเห็นสาธารณะ มีหนังสือพิมพ์ มีร้านกาแฟที่คนจะเข้าไปนั่งพูดคุยกัน มีโรงโอเปรา โรงละครที่คนเข้าไปแลกเปลี่ยนประเด็นที่เป็นกระแสในช่วงนั้นๆ

รัฐบาลนาซีพยายามจะปิดช่องทางที่คนจะสามารถไปรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ที่เป็นกระแสในทางการเมือง ฉะนั้น เขาจึงต้องแบนสิ่งที่จะเป็นช่องทางให้เกิดการฟอร์ม political will ของคน เขาไม่ได้บอกว่าปิดโรงหนัง แต่จะส่งทหารลับ ตำรวจลับเข้าไป ถ้ามีคนพูดถึงเรื่องพวกนี้ ตำรวจลับก็อาจจะไปเยี่ยมคุณที่บ้าน หรือจับคุณเข้าค่ายกักกัน อย่างนี้เป็นต้น หรือการสร้างบรรยากาศ หรือปล่อยข่าวในระบอบนาซีว่า ถ้าคุย เดี๋ยวตำรวจจับ คุณก็จะเริ่มเซ็นเซอร์ตัวเอง ฉะนั้น political will ของคุณก็จะไม่ถูกฟอร์ม แล้วก็จะไม่ถูกแสดงออกมา

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นฮิตเลอร์หรือผู้นำใดๆ ก็ตามมั่นคงอยู่ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง

แต่คนที่เห็นด้วยก็เห็นด้วยได้ และแสดงออกได้เต็มที่?

ใช่ ก็ด้านเดียว ก็ต้องแสดงออกเพื่อเชิดชูระบอบนาซี ทำให้ระบอบนาซีมั่นคงและอยู่ไปได้เรื่อยๆ

ฝั่งชนชั้นนำหรืออีลีท ที่คิดว่าจะควบคุมฮิตเลอร์ได้ แต่ท้ายสุดก็ทำไม่ได้?

คือมันช้าเกินไปแล้ว คืออีลีทเองไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว ฟรานซ์ ฟอน พาเพน เอง ต่อมาก็ให้การยอมรับว่า นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขา ที่คิดจะ tame ฮิตเลอร์ แต่มัน tame ไม่ได้ ประมาณสองสามเดือนหลังจากที่ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ ฮิตเลอร์ประกาศการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนมีนาคม 1933 เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ ฮิตเลอร์ได้รับคะแนนเสียงลดลง แม้จะยังเยอะที่สุดอยู่ก็จริง และการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ ใครๆ ก็รู้กันอย่างเปิดเผยว่า มันเป็นรัฐบาลขุนนาง หรือฮิตเลอร์อยู่ใต้การควบคุมของชนชั้นนำ

เพราะฉะนั้น ฮิตเลอร์จึงต้องการฟอกขาวให้กับตัวเอง สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ก็เลยจัดการเลือกตั้งชนิดที่เรียกว่า ห้ามพรรคการเมืองอื่นหาเสียงเยอะ แล้วต้องอยู่ภายใต้การควบคุม มีตำรวจรัฐ มีตำรวจพรรคนาซี มีหมาไปอีกตัวหนึ่ง คุมไปทั่ว แม้กระนั้น ในบรรยากาศการจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างนี้ พรรคฮิตเลอร์ ก็ได้รับคะแนนเสียงไม่ได้ท่วมท้น ไม่ได้แลนด์สไลด์

เหตุการณ์นี้ นักประวัติศาสตร์ตีความว่า เป็นปฏิกิริยาที่คนโต้ตอบกับภาวะที่ไม่ปกติในทางการเมือง เพราะทุกคนรู้แล้วว่า นี่คือภาวะการเลือกตั้งภายใต้การกุมอำนาจของฮิตเลอร์ อันนี้อาจจะเป็น early sign ก็ได้ ที่คนกำลังแสดงออกว่า เราอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่วนคนจะเริ่มรับรู้หรือยังว่า นั่นคือเผด็จการ ซึ่งแปลว่า ต่อต้าน political dissenters อันนี้ผมบอกไม่ได้ เพราะคนยังไม่ทราบว่าฮิตเลอร์จะดำเนินการอะไรต่อไป เพราะเพิ่งยึดอำนาจมาได้สองเดือน แต่อย่างน้อยคนก็รับรู้ได้ว่านี่คือภาวะที่ไม่ปกติในทางการเมือง

นอกจากศัตรูทางการเมืองแล้ว ชาวยิวถูกพาเข้าไปในค่ายกักกันช่วงเดียวกันเลยหรือเปล่า

ช้ามาก…จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ Holocaust คือปี 1941 เมื่อฮิตเลอร์บุกสหภาพโซเวียต พูดง่ายๆ ก็คือ ยิวในสหภาพโซเวียตค่อนข้างเยอะ ยิวที่เยอะที่สุดคือโปแลนด์ แต่ประเด็นคือ นโยบายหลักของฮิตเลอร์คือ การกำจัดยิว (eradicate)

คำว่า ‘กำจัดยิว’ ตอนแรกไม่ได้แปลว่าฆ่า ภาษาเยอรมันใช้คำว่า löschen แปลว่า ‘ลบ’ คือทำให้ออกไป ทำให้ดินแดนนี้สะอาด ซึ่งจะออกไปด้วยวิธีอะไรก็สุดแท้แต่

รัฐบาลฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายการกำจัดยิวในตอนแรก ผ่านมาตรการทางกฎหมาย ดูประหนึ่งเป็นรัฐที่ชอบธรรม ก็คือกำจัดโดยวิธีการที่กฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว หรือถ้ายังไม่มีก็ออกมาใหม่ เช่น การออกกฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Laws) ว่าลูกครึ่งยิวจะได้รับสิทธิ์น้อยลง

คือมีการจำแนกคนตามเชื้อชาติ สิทธิทางการเมือง สิทธิทางทรัพย์สิน ถ้าคุณเป็นพลเมืองเหมือนกันหมด คุณก็ได้รับสิทธิ์นั้นเท่ากัน แต่นี่กลายเป็นว่า คุณได้รับสิทธิ์นั้นต่างไป เพียงเพราะว่า เชื้อชาติหรือกำเนิดของคุณ และการที่ใช้ชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนดสิทธิทางการเมืองของคน มันก็คือวิธีคิดพื้นฐานของฝ่ายขวา นี่คือมาตรการทางกฎหมาย อะไรก็ตามที่อยู่บนฐานของกฎหมาย คนเยอรมันในสมัยนั้นรับได้

มีกรณีที่เกินกว่ากฎหมายรับรองบ้างไหม

ยกตัวอย่าง เดือนพฤศจิกายน 1938 มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘คืนกระจกแตก’ (Kristallnacht – The Night of Broken Glass) คำแปลในภาษาไทยนี้เป็นของท่านอาจารย์สัญชัย สุวังบุตร ซึ่งผมชอบมาก คือก่อนหน้านั้น มีการลอบสังหารนักการทูตเยอรมันในปารีส แล้วมีการจับผู้ลอบสังหารซึ่งเป็นนักศึกษาเยอรมันเชื้อสายยิว-โปแลนด์ได้ ตอนนั้นยังไม่เกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นเมื่อ 1 กันยายน 1939)

อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายน 1938 นั้น ใกล้มากแล้วกับระยะเวลาที่คณะรัฐบาลของฮิตเลอร์ รวมถึงฮิตเลอร์เองกำหนดว่า จะต้องก่อสงครามอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างเกียรติภูมิของเยอรมนี ฮิตเลอร์ประกาศและร่างแผนการนี้เอง เรียกว่าแผนการสี่ปี ประกาศในปี 1936 เพื่อเตรียมเยอรมนีให้พร้อมเข้าสู่สงคราม

ฉะนั้น พฤศจิกายน 1938 ถือว่าเวลามันงวดเข้ามาแล้ว จึงต้องการจะหาเหตุเร้าให้เกิดสงครามระหว่างประเทศให้เร็วที่สุด เมื่อเกิดการลอบสังหารนักการทูตเยอรมันที่ปารีส นาซีจะทำอย่างไรเพื่อจะให้ยิวออกไปนอกประเทศ หรือลี้ภัยกันออกไปเอง ประเทศเพื่อนบ้านก็คงไม่รับ ด้วยจำนวนผู้อพยพมหาศาล เฉพาะยิวในเยอรมนีเองมี 500,000 คน นับจนถึงวันที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มันจะมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ลองคิดถึงเบลเยียมที่เป็นประเทศเล็กๆ ใกล้เยอรมนี หรืออังกฤษเองก็จำกัดจำนวนผู้อพยพชาวยิวอย่างมาก ประเทศพวกนี้จะต้องผลักดันชาวยิวกลับมา เมื่อผลักยิวออกไป ประเทศเพื่อนบ้านไม่รับ เดี๋ยวจะเกิดปะทะกันตรงชายแดน แล้วจะระเบิดเป็นสงคราม นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลฮิตเลอร์คิดที่จะใช้ประโยชน์จากคืนกระจกแตก ฉะนั้น วิธีการจะขับไล่ยิวออกไปก็คือ ทุบทำลายร้านรวงและข้าวของทรัพย์สินของยิว คนที่เป็นต้นคิดคือ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวง Propaganda คนนี้มีไอเดียกระฉูดในการจัดการเกี่ยวกับยิวหลากหลายเรื่อง

คืนกระจกแตกไม่ได้เกิดขึ้นมาบนสุญญากาศ แต่มีบริบทของการเร้าให้เกิดสงครามอยู่ การกำจัดยิวในช่วงแรกจึงเป็นนโยบายบีบให้ออกไปจากประเทศนี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ฮิตเลอร์ใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย แล้วก็มีการผลักดันด้วยแรงกดดันทางสังคม

แผนจัดการกับยิวก่อนส่งเข้าค่ายกักกันเป็นอย่างไร

เมื่อระเบิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ในปี 1939 เมื่อฮิตเลอร์เริ่มบุกโปแลนด์และยุโรปตะวันออก สิ่งที่พรรคนาซีทำก็คือบังคับให้ยิวอยู่ในชุมชนยิวเดิม (Ghetto) ห้ามออกมา มีการให้อาหารเข้าไปในปริมาณจำกัด ต้องคิดถึงโลกในทศวรรษที่ 1930 ว่าสุขอนามัยอยู่ในระดับต่ำกว่าในปัจจุบันมาก ฉะนั้น เมื่อไม่เกิดการไหลเวียน สุขลักษณะก็แย่ เก็ตโตก็เน่า เกิดโรคระบาด จึงสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคนาซีในการป้ายสียิวว่าเป็นชาติพันธุ์ที่สกปรก ไม่บริสุทธิ์

พอเห็นคนยิวเป็นอหิวาต์อยู่ มันก็คิดว่าจริงอยู่นะที่ว่าสกปรก คือสิ่งที่ตาเห็นในเบื้องต้นมันสอดรับกับสิ่งที่นาซีพยายามป้ายสี อย่างเช่น เราจะเห็นโปสเตอร์เยอะมากที่พยายามทำให้เห็นว่า ยิวนั้นเป็นพวกแมลงวัน แล้วแมลงวันในปรัชญาของศาสนาทางคริสต์และยิวเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย ถ้าเคยอ่าน Lord of the Flies ฉากหัวหมูที่มีแมลงวันตอมเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย แบบนี้ก็สมประโยชน์พรรคนาซี เป็นการตอกย้ำ ‘ความจริง’ ที่รัฐบาลนาซีพยายามทำให้เห็นว่า ยิวนั้นสกปรกและเป็นแหล่งเพาะความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวง

พอนาซีบุกเมืองอื่นๆ ของโปแลนด์ หรือเชกได้ ก็เอาคนเข้าไปอยู่ในเก็ตโตเดิม หรือสร้างเก็ตโตใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม คนก็แออัดมาก จึงดำเนินนโยบายขั้นต่อไปคือการอพยพยิวออกไปนอกยุโรป

ตอนแรกเลย นาซีวางแผนจะใช้เกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) เนื่องจากตอนนั้น ปี 1941 เพิ่งยึดฝรั่งเศสได้ แล้วมาดากัสการ์เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฮิตเลอร์ต้องการจะเนรเทศคนยิวไปที่นั่น แต่คิดแล้วไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงยกเลิกแผนนี้ไป บุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่วางแผนนี้ก็คือ อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) คนที่เป็นกรณีศึกษาของ ฮันนาห์ อาเรนต์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญ

สุดท้ายก็เลยอพยพยิวไปอยู่ในค่ายกักกัน เช่น มีการสร้างค่ายกักกันจำนวนมากในยุโรปตะวันออก แล้วคนที่เป็นคนประสานงานต่างๆ ก็คือ ไอช์มันน์ ในการประชุมที่รู้จักกันดีคือ การประชุมที่วันน์เซ (Wannsee Conference) ปี 1941-1942 ลงมติ ‘Final Solution’ ว่าจะจัดการอย่างไรกับยิว คำตอบก็คือ จับและขนคนจากเก็ตโตต่างๆ เข้าไปในค่ายกักกัน

เมื่อแผนจะส่งยิวไปมาดากัสการ์ล้มเหลว ในแต่ละเก็ตโตจะมีสมัชชายิว (Jewish Council) คอยดูแล หัวหน้าของแต่ละเก็ตโตจะทำหน้าที่ส่งลิสต์รายชื่อยิวให้กับรัฐบาลนาซี แล้ว ฮันนาห์ อาเรนต์ ตีความว่า นี่คือการให้ความร่วมมือกับระบอบนาซี ฮันนาห์ อาเรนต์ ยอมรับว่าการต่อต้านฮิตเลอร์เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะหาทางอื่นก็อาจจะเป็นไปได้ แต่โอกาสในความเป็นจริงก็ยาก

นอกเหนือไปกว่านั้น สมัชชายิวพวกนี้ได้รับการบอกเล่าจากรัฐบาลนาซีว่า ถ้าส่งรายชื่อเหล่านี้มา รัฐบาลนาซีจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังดินแดนปาเลสไตน์-หรือในอนาคต ต่อมาในปี 1948 หลังสงครามโลก อังกฤษและอเมริกาก็ตั้งเป็นประเทศอิสราเอลขึ้นมา-จะส่งไปที่ดินแดนนั้น ซึ่งนั่นคือ ‘บ้าน’ หรือดินแดนในพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า ตามหลักศาสนายิว เขาก็อยากจะไป ฉะนั้น สมัชชายิวก็เลยส่งรายชื่อเหล่านั้นให้ แต่ปรากฏว่า เมื่อเตรียมรายชื่อให้ไปแล้ว มันคือการที่คนเหล่านี้ทั้งหมดถูกจับขึ้นรถไฟแล้วส่งไปยังค่ายกักกันในระบอบนาซี

หมายถึงก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการฆ่าอย่างเป็นระบบเลย?

ใช่ นโยบายหลักของการกำจัด คือการกำจัดออกไปจากดินแดนเยอรมนีและยุโรป แต่เมื่อคนเยอะขึ้น จึงต้องเปลี่ยนแผนและนำไปสู่วิธีฆ่า เพราะทันทีที่บุกเข้าไปในแถบยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะรัสเซีย คนที่ทำงานสังหารยิวจะใช้วิธีต่างกัน บางคนก็ฆ่าเดี่ยว บางคนฆ่าหมู่ ยังไม่มีการประสานงานกัน

คุณอาจจะทราบฉากที่สำคัญดี คือ ทหาร SS ให้ยิวขุดหลุมคล้ายๆ สนามเพลาะเป็นแถวยาว แล้วให้ยิวที่ขุดลงไปกลบดินเหลือแค่คอ แล้วทหาร SS ก็ยิง ซึ่งมันใช้เวลา และมีผลต่อผู้ปฏิบัติการ คือวิธีการแบบนี้มันป่าเถื่อน โหดร้าย โอกาสที่ทหาร SS จะบอกว่าไม่เอา หรือทำไม่ได้เพราะค้านกับมโนสำนึกของตัวมีสูง ดีไม่ดี แทนที่จะหันปืนไปยิงยิว อาจจะหันมายิงหัวหน้า SS ด้วยกันเอง มันจะเกิดกบฏภายใน

ฉะนั้น วิธีการเอาเข้าค่ายกักกันจะปลอดภัยกับระบอบนาซีมากที่สุด และเมื่อเอาเข้าไปเยอะขึ้น ก็หมายถึงอาหารการกินที่ต้องมากขึ้น แม้ว่าจะให้อาหารการกินที่น้อยอยู่แล้ว มันจึงนำไปสู่การสังหารหมู่

นี่เป็นลักษณะที่ผมมองว่า มันคือ ‘พลวัตปีศาจ’ มากกว่า เป็นการตอบสนองต่อปฏิกิริยาของคนท้องถิ่นที่รัฐบาลนาซียึดได้ ต่อพลวัตของจำนวนยิวที่มากขึ้นที่รัฐบาลนาซีต้องรับมือ ฉะนั้น Holocaust จึงไม่ใช่เรื่องของการฆ่านับตั้งแต่วินาทีแรกของระบอบนาซี

นอกจากนี้ ผมขอแนะนำหนังสือหนา 1,016 หน้าของ เดวิด เซซารานี (David Cesarani) ชื่อ Final Solution: The Fate of the Jews 1933-49 (2015) นี่คือหนังสือที่ดีที่สุดในเวลานี้ที่ศึกษาพลวัตของ Holocaust อย่างละเอียดที่สุด ผมขอเตือนด้วยว่าใครที่จะพูดหรือเขียนเรื่อง Holocaust ควรอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะสื่อสารอะไรออกมา นี่คือความรับผิดชอบทางจิตวิญญาณและเป็น intellectual burden ที่คุณควรต้องมีต่อเหยื่อทั้ง 11 ล้านคน และอีกมากที่ตัวเลขไม่ได้นับเอาไว้

ส่วนหนึ่งที่นาซีเลือกจัดการยิว เพราะแต่เดิมยิวในยุโรปก็ถูกกล่าวหาและเป็นแพะรับบาปมาตลอดอยู่แล้วใช่ไหม

ตั้งแต่ยุคกลางมา ยิวในยุโรปก็เป็นแพะรับบาปอยู่แล้ว มันก็หยิบฉวยเอามาได้ง่าย คนก็พร้อมจะเชื่อ นาซีจะบอกว่ายิวประกอบธุรกิจเยอะ แล้วทำให้ธุรกิจเยอรมนีมีปัญหา

ความจริงก็คือ ยิวแทบจะไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นเลย เพราะมีข้อจำกัดทางศาสนาอยู่ อาชีพบางอาชีพก็จะห้ามประกอบ ฉะนั้น จะเหลืออาชีพด้านการเงินที่สามารถประกอบได้เป็นหลัก แล้วยิวก็ประกอบอาชีพการเงินมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว

เนื่องจากศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี ห้ามคิดดอกเบี้ย แต่ยิวไม่ได้ห้าม แล้วธุรกิจการธนาคารจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่คิดดอกเบี้ย กษัตริย์ในยุโรปจำนวนมากก็เป็นลูกค้าชั้นดีของนักธุรกิจยิวมาตั้งนานแล้ว คนก็ยิ่งเชื่อได้ง่ายว่า ธุรกิจการเงินนั้นอยู่ในมือยิวเป็นจำนวนมากแบบเห็นๆ เหมือนเก็ตโตเน่า คนก็พร้อมจะเชื่อ

แต่โดยสัดส่วนการถือครองธุรกิจโดยรวม เมื่อถัวเฉลี่ยทุกภาคธุรกิจแล้ว สัดส่วนการครองธุรกิจของยิวไม่ได้อยู่ในปริมาณมหาศาลอย่างที่พรรคนาซีอ้าง และไม่ใช่อย่างที่เราเชื่อกันในปัจจุบัน อย่าลืมว่าเยอรมนีมีประชากรยิว 500,000 คน ก็ไม่ใช่ทั้ง 500,000 คนจะเป็นนักธุรกิจหมด

กรรมวิธีทำให้อับอายหรือลดทอนคุณค่าความเป็นคน นอกจากเอาสุนัขไปกัดแล้วยังมีวิธีอื่นๆ อีกหรือไม่

ตอนที่ฮิตเลอร์บุกออสเตรีย มีนาคม 1938 ในกรุงเวียนนา พรรคนาซีก็จับยิวมาแล้วให้ขัดถนนด้วยมือเปล่า แล้วในยุโรป เดือนมีนาคมเป็นฤดูหนาว หิมะตก ถนนลื่น แล้วหน้าหนาว เวลามือเราสัมผัสน้ำ หรือผงซักฟอก คุณลองคิดดูว่ามันจะกัดมือแค่ไหน แล้วขัดด้วยมือเปล่า

เวลาเห็นภาพคนขัดพื้นในกรุงเวียนนา ผมคิดว่าเป็นภาพที่คนทั่วไปคุ้นเคย แต่คนไทยลืมคิดไปว่า นั่นคือเดือนมีนาคมในเวียนนา ส่วนที่ว่าทำไมต้องขัดพื้น ก็เพราะมายาคติที่ว่ายิวสกปรก ฉะนั้น วิธีการก็คือ หนึ่ง-คุณควรจะต้องทำอะไรบางอย่างที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองสะอาดได้ และสอง-งานแบบนี้ ขัดพื้น ล้างกระได ไชรูท่อ ไม่สมควรจะเป็นงานของชาติพันธุ์ที่สง่างามอย่างเยอรมัน หรือออสเตรียที่พูดภาษาเยอรมัน ฉะนั้นก็คือเผ่าพันธุ์เยอรมันเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นงานของคุณนั่นแหละ

หรือในค่ายกักกัน จะได้รับประทานอาหาร 1,300-1,700 แคลอรีต่อวัน โดยปกติคนเราต้องการอย่างต่ำ 1,700 แคลอรีต่อวันเพื่อที่จะนอนเฉยๆ อยู่บนเตียงแล้วก็หายใจ…แค่นั้น ไม่ต้องกระดิกตัว 1,700 แคลอรีมันอำนวยชีวิตให้ได้แค่การหายใจ แต่ถ้าใช้แรงงานหนักด้วย 1,700 แคลอรี ไม่พอแน่ๆ ยิ่งอากาศหนาวคุณยิ่งต้องการแคลอรีมากเพื่อให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายอบอุ่นแล้วดำเนินชีวิตต่อไปได้

คุณอาจจะเห็นภาพในวันที่ปลดปล่อยค่ายกักกัน ทุกคนผอมโซมากๆ มันไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่คำอธิบายว่าระบอบนาซีโหดร้ายหรือไม่มีอะไรจะกิน แต่จุดประสงค์ของเขาก็คือ เขาลดแคลอรีคุณอย่างหนัก เพราะเขาต้องการจะทำลายความเป็นมนุษย์ของคุณลง อาหารที่คุณกินเข้าไป เพียงแค่ทำให้ชีวิตของคุณดำเนินต่อไปได้เท่านั้น

โอเค เราต้องยอมรับด้วยว่าการลดอาหารของนักโทษค่ายกักกันนั้นก็เป็นผลโดยตรงของสงครามด้วย อาหารมีจำกัดลงเรื่อยๆ ความพยายามของสัมพันธมิตรที่จะตัดเส้นทางการลำเลียงอาหารของฝ่ายเยอรมัน เหล่านี้มีผลต่อการลดปริมาณอาหารในค่ายกักกันทั้งสิ้น มันถึงมีดีเบตว่า สัมพันธมิตรมีส่วนมากน้อยแค่ไหนที่ต้องรับผิดชอบต่อชะตากรรมของเหล่านักโทษในค่ายกักกันต่างๆ และนี่เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่อยู่ในหนังสือ Final Solution ของ เดวิด เซซารานี

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงบอกให้นิสิตที่เรียนกับผมอ่านงานวิชาการหนักๆ อย่าง อาเรนต์, เซซารานี, เคอร์ชอว์, มอมม์เซน หรือเอเวนส์ ไม่ใช่อ่าน popular history หรือเกร็ดประวัติศาสตร์ที่หาได้ตามโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ บริโภคนิยมที่เราแปลเป็นภาษาไทยโดยไม่ค่อยตระหนักว่าแปลว่าอะไร คำว่า ‘-นิยม’  มาจาก ‘นิยมะ’ หรือ ‘นิยาม’ ที่แปลว่า ‘กำหนด’ ไม่ได้แปลว่า ‘นิยมชมชอบ’ บริโภคนิยม ก็คือการใช้การบริโภคในการนิยามชีวิต บริโภคนิยมก็คือคุณใช้การบริโภคนับตั้งแต่อาหารการกิน ไปจนถึงแฟชั่นเสื้อผ้าต่างๆ ในการนิยามตัวตนของคุณ แต่ระบอบนาซีไม่ต้องการให้คุณมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ถ้าเห็นภาพเหยื่อที่ได้รับการปลดปล่อยจากค่ายกักกัน ทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเหลือแต่กระดูก ร่างกายคนเราเมื่อแก้มมันตอบหมด คุณก็ดูไม่ต่างกันเลย นี่คือกระบวนการ dehumanize คน

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้แรงงาน ปกติเวลาทำงานเสร็จ คุณก็ต้องเห็นผลงาน อย่างถ้าถักนิตติ้ง มีใครถักแล้วเล็กลงไหม คือตามคอมมอนเซนส์ คุณต้องได้เห็นสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมา แต่งานในค่ายของระบอบนาซี เช่น ไปยึดดินแดนดินแดนหนึ่งได้ หรือคุมตัวเหยื่อมาได้ สิ่งแรกที่ระบอบนาซีทำคือ ให้ถอดเข็มขัดออก แล้วแยกหัวเข็มขัดซึ่งเป็นสเตนเลสหรือเหล็กออกมา เพราะมันใช้ประโยชน์ได้ในการสงคราม

ถ้าไปค่ายเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) สิ่งแรกที่จะได้เจอคือกลิ่นรองเท้าของเหยื่อในระบอบนาซี กองมหึมาอยู่ในตู้กระจก เพราะหนังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมการสงครามได้ รวมถึงเสื้อผ้าที่จะเอาไปใช้กับเหยื่อคนอื่น หรือเอาไปให้ทหารในการสงคราม ทุกอย่างต้องประหยัดในช่วงสงคราม

หน้าที่ของเหยื่อในค่ายกักกันคือทำให้สิ่งของเล็กลงและขาดออกจากกัน แค่นี้ก็ค้านกับวิธีคิดการทำงานแล้ว คือมีงานที่ไหนทำแล้วไม่เห็นผล หรือทำแล้วประหลาดแบบนี้บ้าง

แล้วเวลาทำอย่างนี้ทุกๆ ครั้งมันมีผลต่อจิตใจคน ใครจะทนแบบนี้ได้ ประกอบกับคุณได้รับอาหารไม่เพียงพอ คือการกินอาหารเราไม่ได้กินเวลาท้องหิวอย่างเดียว เวลาเครียด อารมณ์เสีย หรือหงุดหงิด คุณก็กินอาหาร เพราะอาหารมีผลต่อสภาพจิตใจ

เพราะฉะนั้นหลายคนเวลาอยู่ในค่ายกักกันแล้วเขาเสียสติไปเลย ส่วนหนึ่งมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาหาร คือมันซับซ้อนกว่าที่คนไทยคิด คนไทยมักจะบอกว่า ระบอบนาซี อ๋อ…ฮิตเลอร์ ฆ่ายิว รมแก๊ส มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นอีกมากมาย แต่คนไทยไม่สนใจจะศึกษา

ในแต่ละค่ายกักกัน มีลักษณะที่แตกต่างกันหรือเปล่า

เราเรียกค่ายกักกันว่า KZ (Konzentrationslager – Concentration Camp) อันนี้เป็นค่ายกักกัน จะมีค่ายผู้หญิงล้วนค่ายหนึ่งที่เรียกว่า Ravensbrück Concentration Camp เพิ่งมีหนังสือวิชาการใหม่ล่าสุดออกมาเมื่อปีสองปีนี้ ดังมากเลย

ค่ายอีกแบบหนึ่งก็คือค่ายมรณะ (Extermination Camp) เอาช์วิตซ์เป็นหนึ่งในนั้น แปลว่า เวลาที่คุณถูกส่งไปที่นี่ จุดประสงค์เดียวเลยก็คือ ตาย! เขาไม่ให้คุณใช้แรงงาน แต่มันคือค่ายที่คุณไปรอคิวเพื่อเข้าสู่ห้องรมแก๊ส

วิธีการฆ่าตอนแรกในค่ายกักกันก็ใช้ปืนยิง แต่ต่อมาด้วยภาระงานที่หนัก และเสี่ยงจะถูกนักโทษก่อกบฏเมื่อนักโทษมารวมตัวกันมากๆ เข้า ประกอบกับการที่รัฐบาลนาซีค้นพบแก๊สที่สามารถใช้ฆ่าคนได้ ซึ่งเขาใช้ฆ่าเหยื่อที่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิดหรือไม่มีทางรักษาหายแล้ว หรือวิกลจริต เราเรียกการฆ่าลักษณะนี้ว่า การุณยฆาต (mercy killing หรือ euthanasia) ตามปรัชญาหรือวิธีการมองโลกของนาซี ถือว่าชีวิตของคนเหล่านี้ไร้ค่า (lebensunwert – unworthy) เพราะไม่สามารถผลิตอะไรได้ มัน unproductive

สิ่งที่เราพูดกันในปัจจุบันว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ระวังจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่มันไม่ควรจะซ้ำรอย ค่าของคนมีทันทีที่เกิดขึ้นมา แม้แต่ยังไม่เกิด คุณก็ยังมีค่า เพราะคุณอยู่ในครรภ์มารดา กฎหมายยังให้การคุ้มครองคุณ

เวลารื้อฟื้นคติบางอย่าง คุณค่าของงานพิสูจน์คุณค่าของคนแบบนี้ ผมไม่แน่ใจว่านี่คือวิธีคิดที่เราควรจะไม่ตั้งคำถามกับมันเลย

เมื่อมีการค้นพบแก๊สที่ใช้ฆ่าคนเหล่านี้ได้ในระดับ mass scale ระบอบนาซีจึงนำมาใช้ในค่ายกักกัน ส่วนยิวที่อยู่นอกค่ายกักกันที่ยังไม่ได้ถูกจับมา ก็จะมีหน่วยที่เรียกว่า mobile killing เป็นรถตู้ไปเยือนตามบ้านต่างๆ แล้วจับเอาคนยิวหรือเด็กขึ้นรถ ขับออกไปในชนบท ปล่อยแก๊สให้ตาย แล้วก็เผาหรือฝัง เพื่อไม่ให้เกิดหลักฐาน

ทั้งหมดมันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองสู่การที่ระบอบนาซีขยายดินแดน The Greater Germany เข้าไปยังยุโรปตะวันออก แล้วไม่สามารถจะรับมือกับจำนวนยิวที่มีปริมาณมากขึ้นได้ ก็เลยเป็นพลวัตที่นำไปสู่การสังหารหมู่ในระดับ mass scale

ชาวยิวเข้าแถวในค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ พฤษภาคม 1944

ฉะนั้น ยิวก็เลยตายไป 6 ล้านคน จากจำนวนเหยื่อในระบอบนาซี ‘ที่วัดได้เป็นตัวเลข’ รวมแล้ว 11 ล้านคน เพราะมีเหยื่อที่เราวัดเป็นตัวเลขไม่ได้นอกจาก 11 ล้านคนด้วย เช่น สามีถูกจับเข้าค่ายกักกัน แล้วสามีตาย สามีถือเป็น 1 ใน 11 ล้านคน แล้วภรรยาและลูกล่ะ? แม้จะไม่ได้ถูกจับเข้าค่ายกักกัน แต่เรานับพวกเขาเป็นเหยื่อไหม ลูกที่ไร้พ่อ ภรรยาที่ไร้สามี ความโหยหา ความเป็นห่วง สุขภาพจิตของคนทางบ้านที่เสียไปจากความกังวลที่คนในครอบครัวหายไป เรานับไหมว่าพวกเขาเป็นเหยื่อ

สิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่านักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกภาษาอังกฤษ ทำวิจัยเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเทรนด์ในงานวิจัยที่มาแรงและมีปริมาณงานวิจัยออกมาเยอะมาก ในการศึกษาจดหมายที่ส่งต่อกันระหว่างเหยื่อที่ถูกจับไปในค่ายกักกันระยะแรกที่ยังอนุญาตให้ส่งจดหมายออกมาได้ หรือบางคนก็ศึกษาจดหมายระหว่างทหาร คือสามีเป็นทหารรับใช้ระบอบนาซี แต่เวลาที่เขาไปเห็นสงคราม วิธีคิดเขาเปลี่ยน เขามีความกังวลต่อลูกและเมียที่อยู่ในแนวหลัง จึงส่งจดหมายมาหา

จดหมายเหล่านี้ได้รับการศึกษาวิเคราะห์ในทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์เพศสภาพและอารมณ์ เป็นความพยายามของนักประวัติศาสตร์ที่จะทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การคืนมิติที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ให้กับคนในอดีต นั่นก็คือ ชีวิตและอารมณ์ความรู้สึกของเขา ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีแต่เรื่องของการเมือง อำนาจ และความตายในมิติของรัฐเท่านั้น ยังมีความตายระดับปัจเจก ที่ unseen หรือไม่ได้รับความสนใจจากวงวิชาการมาโดยตลอด

ปัจจุบัน เท่าที่ทราบ วงวิชาการไทยยังไม่มีการทำเรื่องแบบนี้อย่างจริงจัง ตอนที่ผมทำวิจัยเรื่องจดหมายรัก หรือจดหมายระหว่างทหาร เคยมีคนตั้งคำถามว่า ทำไปแล้วไม่ได้ทำให้เราเข้าใจการเมืองในยุคสมัยที่เราศึกษาดีขึ้น แล้วจะทำไปเพื่ออะไร

แล้วอาจารย์ตอบคำถามนี้อย่างไร

ผมก็ตอบไปว่า ถ้าหน้าที่หนึ่งของนักประวัติศาสตร์ คือการคืนอดีตให้กับมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอดีตหรอกหรือ ถ้าวิชาของเราคือมนุษยศาสตร์ ผมคิดว่าผมได้ทำหน้าที่นั้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นความพยายามในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่จะทำได้ และก็ได้ทำไปแล้ว

กรณีหนังสือ Mein Kampf ที่เพิ่งหมดลิขสิทธิ์ไป แล้วมีการออกมาอีกรอบ น่าจะทำให้คนหันกลับมาสนใจสิ่งที่ฮิตเลอร์เขียนมากกว่าบันทึกของคนตัวเล็กๆ หรือเปล่า

ในยุโรปปัจจุบัน ผมคิดว่าคนสนใจส่วนที่เป็นอัตเอกสาร (ego document) ของปัจเจกบุคคลมากขึ้น ส่วนเอกสารรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสืออย่าง Mein Kampf ที่ตอนนี้เป็นปรากฏการณ์ในเยอรมนี เพราะสถาบันที่นำมาปรับปรุงและเขียนคำอธิบายเพิ่มเติม (Kommentar – comment) คือ Institute for Contemporary History ของเยอรมนี ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่มิวนิค

สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันทางวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ทุกคนรอคอยหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นฉบับที่อาจจะสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เพราะเกิดจากการเรียบเรียงของนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันไม่ใช่หนังสือที่วางขายโดยที่ไม่มีคำอธิบายประกอบ

อีกอย่างหนึ่งโดยกฎหมายรัฐบาลเยอรมัน ไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ Mein Kampf ฉบับที่ไม่มี Kommentar ต้องมีนักประวัติศาสตร์มืออาชีพเรียบเรียงและเขียนคำอธิบาย เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นคัมภีร์ในการรื้อฟื้นระบอบนาซีขึ้นมาอีกครั้ง ที่คนตื่นเต้นคงเป็นในแง่องค์กรที่ทำงานนี้ แต่โดยรวม คนยังให้ความสนใจอัตเอกสารในปริมาณที่มากและมากขึ้นเรื่อยๆ

ทำไมในยุคนาซี ถึงมีจดหมายราชการที่ลงลายมือฮิตเลอร์น้อยมาก

นั่นเป็นปัญหาของระบบราชการในระบอบนาซี เหตุก็คือว่า ระบบราชการในระบอบนาซีนั้น จะอ้าง working towards Hitler แล้วระบบราชการนาซีนั้นใหญ่มาก มันจะอาศัยการคุมกันเหมือนระบบราชการเผด็จการทั่วไป ก็คือ คุมกันเป็นทอดๆ ไม่มีใครสามารถทำงานได้เป็นอิสระ ทุกคนจะถูกเช็คจากคนที่อยู่เหนือกว่าตลอดเวลา

เมื่อนโยบายถูกปล่อยออกไป หากว่าคุณอยากจะก้าวหน้าในระบอบนาซี คุณต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อรัฐนาซีเยอรมัน ฉะนั้น ทุกคนจะพยายามสร้างสรรค์วิธีการประหลาดล้ำต่างๆ ขึ้นมา ในระบอบนาซี ไม่มีระบบราชการที่หยุดอยู่แค่ระดับ X เช่นหยุดอยู่แค่ผู้ว่าราชการจังหวัด คำสั่งจะถูกส่งต่อและถูกรายงานไปเรื่อยๆ โอกาสจะได้เห็นเอกสารตัวจริงจึงน้อยมาก เพราะมันจะช้า ไม่ทันการณ์ ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือ จะมีการอ้างความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิบัติการต่างๆ และนั่นคือคำอธิบายที่หนึ่ง ดังนั้น ระดับล่างก็จะปฏิบัติการไปเลย มันจึงไม่มีลายเซ็นของฮิตเลอร์

นอกจากนั้น ตอบได้อีกอย่างก็คือ เพราะฮิตเลอร์ให้ความสำคัญกับสองนโยบายเป็นหลัก คือเรื่องของยิว และการก่อสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่างประเทศ ถือเป็นความสนใจหลักของฮิตเลอร์เลย อันนี้ฮิตเลอร์จะเข้าไปเกี่ยวข้องเยอะ ส่วนระดับการเมืองภายใน ฮิตเลอร์แทบจะไม่ใส่ใจเลย และปล่อยให้ระบอบราชการในระบอบนาซีประกอบกิจกรรมต่างๆ ไป

แบบนี้จะเกิดการดำเนินการโดยพลการได้ไหม

เพียงแต่ว่า การดำเนินการโดยพลการนั้นต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมระบอบนาซี เพราะเมื่อใดก็ตามที่การดำเนินการโดยพลการนั้นไม่เป็นไปตามระบอบ โอกาสจะถูกรายงาน แล้วถูกข้อหากบฏเอง มันเร็วมาก ฉะนั้น วิธีการเซฟที่สุดก็คือ ต้องดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับระบอบนาซี และระบบอย่างนี้จึงเป็นฟันเฟืองที่ทำให้ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่าทีของนานาชาติตอนที่มี Holocaust เป็นอย่างไร

อย่างกรณีเชอร์ชิล ก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นในค่ายกักกัน รู้แค่ว่ามันมีค่ายกักกัน แต่ไม่รู้ว่าอะไรแน่ คนเยอรมันก็ไม่รู้ คือรู้แค่ระแคะระคาย

แล้วคุณอย่าลืมว่ามันมีการควบคุมข่าวสารข้อมูล มีการโฆษณาชวนเชื่อ มีการบิดเบือนข้อมูลต่างๆ ที่ปล่อยออกไปโดยระบอบนาซี มันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ แล้วส่วนใหญ่คนที่เข้าไปก็ไม่ได้ออกมา มันก็ไม่มีการรายงานสิ่งเหล่านี้

เพราะฉะนั้นนี่คือปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ๆ ในค่ายกักกัน และอีกอย่างที่อาจจะนอกประเด็นที่ถาม แต่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรม Holocaust หรือความตายของเหยื่อ คือมันมีดีเบตว่า ถ้าสัมพันธมิตรไม่ประกาศนโยบายว่าจะต้องยอมแพ้แบบปราศจากเงื่อนไข เหยื่ออาจจะไม่ตายในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามมากขนาดนี้ก็เป็นได้

เมื่อเยอรมนีรู้ว่าตัวเองไม่รอดแน่ ระบอบนาซีจึงเร่งสังหารเหยื่อในค่ายกักกันชนิดไม่คิดอะไรแล้ว ฆ่าและทำลายหลักฐานเท่าที่สามารถทำได้ ส่วนเหยื่อที่ฆ่าไม่ทัน แล้วกองทัพแดงของรัสเซียบุกเข้ามา จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า The Death March หรือ ‘มรณะยาตรา’ คือเหยื่อที่เดินไม่ไหวแล้ว อาหารไม่มีกินแล้ว การต้องเดินทางจากค่ายกักกันหนึ่งเพื่อจะไปยังอีกค่ายกักกันหนึ่ง ในเดือนพฤษภาคมที่ยังอยู่ในฤดูหนาว ก็มีเหยื่อตายไปอีกไม่รู้เท่าไร

เพราะฉะนั้นก็มีดีเบตว่า ถ้าสัมพันธมิตรไม่ยื่นข้อเสนอเช่นนี้ให้เยอรมนี จะช่วยชีวิตเหยื่อได้อีกเท่าไร

อยากทราบเรื่องกรณีพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก ที่ถือเป็นการพิพากษาระบอบนาซี?

พิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials) เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือ คดีนูเรมเบิร์กเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่เรียกว่า Denazification คือการไถ่ถอนระบอบนาซีออกไปจากสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะไม่มีใครที่จะต้องการหวนกลับไปสู่ระบอบนาซีอีก

เมื่อสิ้นสุดสงคราม เป็นภาวะช็อกที่สัมพันธมิตรเข้าไปปลดปล่อยค่าย แล้วเจอสภาพคนที่ไม่ใช่คน อย่างนั้น คนของสัมพันธมิตรก็โกรธ คิดว่าทำแบบนี้ได้อย่างไร คือโกรธจนกลายเป็นเกลียดฮิตเลอร์ เกลียดทหารเยอรมันที่ร่วมก่อสงคราม แล้วพอไปเจอสภาพศพ สภาพเหยื่อ ก็ยิ่งโกรธหนัก มันจึงเกิดการล้างแค้นกันเองอย่างสะเปะสะปะในดินแดนที่สัมพันธมิตรยึดครอง

จากนั้นมีการตั้งศาล ทั้งศาลเตี้ยและศาลในระบบราชการทั่วไปในดินแดนเยอรมันและดินแดนที่สัมพันธมิตรยึดครอง แล้วก็ตัดสินกัน ล้างแค้นกัน จนกระทั่งรัฐบาลกลางของสัมพันธมิตรบอกว่า ไม่ไหวแล้ว ต้องจัดตั้งศาลกลางขึ้นมาเป็นศาลทหาร ก็คือ เกิดการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก ในปี 1945 และก็พิพากษาคดีไป

แต่มันมีปัญหาในเชิงปรัชญา คนที่วิจารณ์หนักๆ คนหนึ่งก็คือ ฮันนาห์ อาเรนต์ เธอวิจารณ์ว่าระบอบนาซีต้องรับโทษ แต่อาชญากรรมของระบอบนาซี ถ้าสามารถระบุความผิดได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ เท่ากับว่าความผิดที่ระบอบนาซีทำก็เสมอกันกับอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก

แต่ระบอบนาซีมันก่ออาชญากรรมที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้ และเหนือจินตนาการของมนุษย์ เพราะฉะนั้นย่อมไม่มีกฎหมายที่เขียนเอาไว้ แต่ถ้าจะปล่อยคนทำผิดไป เขาก็ไม่ได้รับผิด แต่ถ้าให้รับผิดก็เท่ากับยอมรับว่า อาชญากรรมของนาซีนั้นเท่ากับอาชญากรรมอื่นๆ นี่คือปัญหาและดีเบตในทางปรัชญา

ฉะนั้นศาลนูเรมเบิร์กโดยตัวมันเองอยู่ในบริบทของ Denazification แต่การจัดการชนชั้นนำที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ได้แต่พวกระดับนำ ซึ่งก็ถูกตัดสินประหารชีวิต แล้วส่วนใหญ่ก็ฆ่าตัวตายทั้งสิ้น

มีข้อสรุปไหมว่า เหตุใดฮิตเลอร์จึงฆ่าตัวตาย

การที่ฮิตเลอร์ฆ่าตัวตายก็เป็นดีเบตพอๆ กับที่พวกชนชั้นนำฆ่าตัวตาย เพราะอะไร เพราะว่าฮิตเลอร์เป็นอะไรกันแน่ ระหว่างผู้นำของระบอบนาซี (Master of the Third Reich) หรือเป็นผู้นำที่อ่อนแอ (weak dictator)

เพราะระบบราชการทั้งระบบฮิตเลอร์ไม่ดูเลย สนใจแต่นโยบายต่างประเทศ กิจการภายในไม่สนเลย ตกลงแล้ว ฮิตเลอร์บริหารเยอรมนีหรือระบบราชการบริหารเยอรมนี คือระบอบนาซีคุณวิเคราะห์ได้อีกล้านประเด็น ไม่ใช่แค่ฮิตเลอร์ฆ่าคนรมแก๊ส เอ่อ…อันนั้นคือความมักง่าย (over simplification) อย่างมาก

ในกระบวนการ Denazification การที่นายทหารพวกนี้ฆ่าตัวตาย ก็ประหนึ่งว่าพวกเขายึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเองแค่ไหน ถ้าคิดว่าอุดมการณ์ที่กระทำลงไปนั้นไม่ได้ผิดอะไรเลย ทำไมต้องฆ่าตัวตาย

ประเด็นต่อมา แม้ว่าพยายาม denazified ชนชั้นนำไปแล้ว แต่ต่อมา รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกก็จ้างอดีตนาซีระดับกลางๆ ไปเป็นข้าราชการ เป็นฟันเฟือง ทั้งในรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลกลางของเยอรมนี รัฐบาวาเรียเองเคยมีรัฐมนตรีที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคนาซีอยู่ด้วย ก็ถูกประณาม แต่ก็ไม่ได้เอาออก อาจจะมีการเปลี่ยนตัวไปบ้าง แต่หลักๆ คือตอนนั้นคนในรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกไม่มีทรัพยากรบุคคลเพียงพอ จึงต้องนำคนเหล่านี้เข้ามา

นอกจากการจัดการกับคนผิด ยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกไหม

มีอีกอย่างหนึ่งก็คือกระบวนการ Denazification โดยผ่านศิลปวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นก็คือ งานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมนานาชาติที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในปี 1958 นี่คืองาน Expo ที่จัดครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนหน้านั้น งาน Expo ที่ปารีส ปี 1937 ฮิตเลอร์แสดงแสนยานุภาพอย่างหนัก เป็นตึกทึบแสง ทะยานใหญ่ แสดงถึงอำนาจรัฐ มีสัญลักษณ์ประเทศเป็นนกอินทรี และรูปปั้นกำยำล่ำสันของชนเผ่าเยอรมันไปตั้งไว้ข้างหน้า pavilion

แต่ในปี 1958 ที่บรัสเซลส์ มันคือสามปีหลังจากปี 1955 ซึ่งเป็นปีที่เยอรมนีตะวันตกเข้าเป็นสมาชิกของ NATO และสนธิสัญญา NATO กำหนดให้เยอรมนีตะวันตกสามารถติดอาวุธและมีกองทัพประจำการได้อีกครั้งหนึ่ง

คนยุโรปตื่นเต้นมาก เพราะกลัวเยอรมนีจะบุกอีก โดยเฉพาะฝรั่งเศสตกใจมาก เพราะภายในสองชั่วอายุคน ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีบุกไปสามครั้ง ครั้งแรกปี 1871 ก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน สมัยบิสมาร์ก ครั้งที่สองคือปี 1914 สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่สาม ปี 1940 สงครามโลกครั้งที่ 2

ปี 1958 เยอรมนีจึงใช้สถาปัตยกรรมประกาศต่อโลก ด้วยศาลาที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ปราศจากอำนาจรัฐ แล้วใช้กระจก แสดงความโปร่งใส ไม่ใช่ทึบแสงน่าสะพรึงกลัวแบบเดิม นี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า การทำลายระบอบนาซี ผ่านสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมทางสายตา (Visual Denazification)

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเฉพาะ Nuremberg Trials มันเป็นเพียงประเด็นเดียวในกระบวนการใหญ่กว่านั้นที่เรียกว่า Denazification และใหญ่กว่านั้นไปอีกเมื่อเราขยายประเด็น Denazification เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมใช้คำว่า ‘การกู้คืนมนุษยภาพให้กับเหยื่อในระบอบนาซี’ (Wiedergutmachung)

นอกจากการชดเชยเยียวยา เราจะกู้คืนมนุษยภาพให้พวกเขาได้อย่างไร

นโยบายของรัฐบาลเยอรมนีตะวันตก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เริ่มมีการจ่ายเงินชดเชยให้เหยื่อและทายาทของเหยื่อ เช่น การประเมินทรัพย์สินที่สูญเสียไป โอกาส ระยะเวลาที่เหยื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ก็จะมีการชดเชยเงินให้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะในทศวรรษที่ 50 เยอรมนีเป็นสมาชิก NATO แล้วคนกลัวว่าระบอบฟาสซิสต์จะกลับมา เยอรมนีตะวันตกก็ต้องสื่อสารว่า เราต่อต้านนาซี เราสงสารเหยื่อ เราเข้าใจเหยื่อ และเราให้การชดเชยเหยื่อ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะได้

นอกจากยิวที่เราทราบดีกันอยู่แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก Holocaust ด้วย?

ในทศวรรษที่ 50 พวกที่เรียกกันว่ายิปซี ซึ่งเป็นคำด่า จริงๆ ควรเรียกว่าพวกซินติและโรมา (Sinti and Roma) ไปเรียกร้องขอเงินชดเชยด้วย ศาลเยอรมนีตะวันตกบอกว่า ไม่ให้ เพราะไม่ว่าจะมีระบอบนาซีหรือไม่มี คุณก็ถูกปราบปรามโดยตำรวจของรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะคุณเป็นพวกเร่ร่อน

แต่ต่อมากระแสสิทธิมนุษยชนเปลี่ยน ทศวรรษที่ 60 คนพวกนี้ไปขอศาล ศาลจ่ายเงินให้ แต่พวกที่ซวยแล้วซวยเล่าก็คือพวก homosexual เพราะ ณ วันที่จ่ายเงินคืน กฎหมายมาตรา 175 ซึ่งตราไว้ตั้งแต่ปี 1871 แล้วยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ตลอดอาณาจักรนาซีและเรื่อยมาจนถึงปี 1968 (ในกรณีของเยอรมนีตะวันออกเริ่มมีการลดโทษและปรับเงื่อนไขบางอย่างให้เป็นคุณแก่ homosexuals มากขึ้น) เมื่อเกิด sexual revolution และเลิกอย่างเด็ดขาดในปี 1989 (เยอรมนีตะวันออก) และ 1994 (เยอรมนีตะวันตก)

homosexual ผิดกฎหมาย homosexual หมายถึงเกย์ เพราะฉะนั้นเกย์ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะก่อนนาซีหรือหลังนาซี ดังนั้นวันที่ทุกคนได้เงินชดเชย เกย์ไม่สามารถเดินไปที่ศาลแล้วก็บอกว่า เฮ้ย…ผมเป็นเกย์ ผมเป็นเหยื่อจากระบอบนาซี ผมเคยถูกจับเข้าค่ายกักกันแล้วรอดชีวิตมา

ถ้าทำอย่างนั้นเท่ากับคุณไปแจ้งจับตัวคุณเอง ว่าคุณเป็นเกย์ ผิดกฎหมาย คืออยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้เงิน พอไปแจ้งก็ถูกจับ

มันเปลี่ยนในทศวรรศที่ 1980 เมื่อ ริชาร์ด ฟอน ไวซ์เซเคอร์ (Richard von Weizsäcker) ประธานาธิบดีเยอรมนีตะวันตกตอนนั้น กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนแล้วก็ได้รวม homosexual เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อ จริงๆ เขาใช้คำว่า ‘เหยื่อที่ถูกลืม’ แต่ผมคิดว่าไม่ได้ลืม แต่สังคมไม่ได้เห็นคุณค่าของเขา

เพราะฉะนั้นมันก็มีการจัดลำดับช่วงชั้นของเหยื่อ เหยื่อบางกลุ่ม อย่างเช่นยิว ก็จะมีลอบบี้ยิสต์ จะได้รับการชดเชยเร็วขึ้น แล้วตลอดประวัติศาสตร์ของการกู้มนุษยภาพคืน มันมีได้หลายทาง เงินเป็นหนึ่งในนั้น การยอมรับผิดก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น

คุณคงคิดถึงภาพที่นายกรัฐมนตรี วิลลี บรันด์ (Willy Brandt) ของเยอรมนีตะวันตก หลังรับตำแหน่ง ในปี 1970 เขาก็เดินทางไปโปแลนด์ แล้วก็คุกเข่าขอโทษในฐานะรัฐบาลของประชาชาติเยอรมันที่ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และบุกโปแลนด์เป็นประเทศแรก นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับอดีตและกู้คืนมนุษยภาพให้กับเหยื่อทั้งหมด

การสร้างอนุสรณ์สถาน การแก้ไขบทเรียนทางประวัติศาสตร์ การปรับการศึกษาใหม่ รวมถึงการให้การศึกษาว่าด้วยเรื่องความเป็นมนุษย์ (Menschlichkeit) ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการจัดการกับอดีต (Vergangenheitsbewältigung) และการกู้คืนมนุษยภาพให้กับเหยื่อทั้งสิ้น

ตลอดทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ่ายเงิน ผมจำตัวเลขแน่ๆ ไม่ได้ แต่มั่นใจ ประมาณ 2,000 ล้านยูโรหรือราวๆ นี้ที่เขาจ่าย และยังคงจ่ายต่อไป และตัวเลขจะมากขึ้นกว่านี้ในอนาคต หรือจะไปหยุดที่ตรงไหนก็ไม่ทราบ

ไม่มีใครลุกขึ้นมาตั้งคำถามในประเทศเยอรมนีว่า คุ้มหรือไม่ ควรหรือไม่ควรทำ ทำไปเพื่ออะไร ไม่มีการตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ ผมไม่ได้กำลังจะลดตัวเองไปกระทำในสิ่งที่เป็น bad taste เปรียบเทียบการเยียวยาเหยื่อ Holocaust กับเหยื่อทางการเมืองอื่นๆ  ผมไม่ต้องการจะเปรียบเทียบเช่นนั้น เหตุเพราะว่ามันต่างกัน ทั้งกรณีของเหยื่อหรือภาวะ uniqueness ของ Holocaust

สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารก็คือ คุณค่าของชีวิต และนี่เป็นดีเบต การใช้คำว่า Wiedergutmachung ในภาษาเยอรมัน wieder แปลว่า ‘อีกครั้ง’ gut คือ ‘ดี’  Machung คือ ‘การทำให้’ -การทำให้ดีอีกครั้งหนึ่ง

คำถามที่อยู่ในคำคำนี้และนักประวัติศาสตร์บางคนอย่าง อูเท เฟรเวิร์ต (Ute Frevert) บอกเลยว่าจะไม่ใช้คำนี้ เพราะเหยื่อนาซี ไม่ว่าอย่างไรเราไม่สามารถจะกู้มนุษยภาพให้เขาได้ สิ่งที่เขาเจอในค่ายกักกันมัน unique เกินกว่าจะมีกระบวนการใดกู้คืนมนุษยภาพให้เขาได้

เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า Wiedergutmachung รวมถึงการใช้ภาษาที่จะอธิบายประวัติศาสตร์นาซี ด้วยคำและภาษาปกติของเรา อาจเท่ากับเป็นการลดทอนความโหดร้ายของระบอบนาซีลง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในใจของเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรีโม เลวี (Primo Levi) สะเทือนใจมากที่งานเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเขาดังระดับโลก เพราะเท่ากับว่าภาษาที่เป็นภาษาปกติของมนุษย์ สามารถบอกเล่าความเจ็บปวดของเหยื่อ และสามารถอธิบายความโหดร้ายที่เหยื่อต้องเผชิญได้

แต่อีกด้านหนึ่ง พรีโม เลวี บอกว่า การที่เขาเขียนหนังสือ เพราะไม่อยากให้เพื่อนร่วมชะตากรรมถูกลืมไปกับกาลเวลา มันจึงเป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อที่ก้ำกึ่งอยู่ในใจว่า ระหว่างเราจะให้เพื่อนเราถูกจดจำ กับถ้าเขาจำได้ด้วยภาษาของเรา แสดงว่าภาษาสามารถอธิบายระบอบนาซีได้ ก็แสดงว่ามันไม่ได้โหดร้ายมากอย่างที่ควรจะเป็น

นี่คือประเด็นที่อยู่ในใจ พรีโม เลวี ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตที่เขาตกจากระเบียงห้องพัก จนบัดนี้ไม่มีใครบอกได้ว่านั่นคือฆ่าตัวตาย นั่นคืออุบัติเหตุ หรือว่านั่นคืออะไร แต่อย่างน้อยที่เรารู้คือ ณ วินาทีสุดท้าย ความขัดแย้งในใจประเด็นว่าด้วยเรื่องภาษายังอยู่ในตัวเขาตลอด

เพราะฉะนั้นระบอบนาซีทั้งหลายทั้งปวงที่ผมพูดมา ก็คือมันไม่มีทางที่เราจะกู้คืนมนุษยภาพได้ ด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ควรตั้งคำถามว่า เงินที่ได้มากไปหรือเปล่า น้อยไปไหม เพราะมันควรจะเลยจุดนั้นไปแล้ว

และจริงๆ แล้วกับเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อทางการเมืองใดก็ตาม เมื่อได้เสียชีวิตลง ผมคิดว่าการกู้คืนมนุษยภาพเป็นประเด็นที่เราไม่ควรเอามาใช้ในการดิสเครดิตทางการเมืองแก่กันและกัน เพราะคงไม่มีใครอยากตายและต่อให้ตาย คือคุณเอาเงินหมื่นล้านไปกองให้ญาติพี่น้องเขา มันก็ไม่ชดเชยความเศร้า ความโหยหา และความรวดร้าวในใจของเหยื่อและญาติผู้เสียชีวิต

ในรัฐธรรมนูญเยอรมันมีการบัญญัติเรื่องสิทธิของทหารที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ค้านกับจิตสำนึกของเขาบ้างไหม

คือมาตรา 4 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1949 ระบุว่า การปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้จับอาวุธขึ้นปฏิบัติการรบ (Kriegsdienstverweigerung: KDV) หากว่าคำสั่งนั้นขัดต่อมโนสำนึก แต่หมายถึงเฉพาะการจับอาวุธ คือปฏิเสธที่จะไม่จับอาวุธได้ ถ้าเขาสั่งให้คุณไปฆ่าใครที่ขัดกับมโนสำนึกของคุณ นี่อยู่ในหมดที่ 1 ว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของประชาชน

การบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อนี้ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักวิชาการจำนวนมากเข้าใจตรงกันว่า มาจากประสบการณ์ในสมัยนาซี ที่คนไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติตามมโนสำนึกของตัวเอง และนี่เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการรับรองสิทธิการปฏิเสธการจับอาวุธในยามสงคราม หรือ KDV ไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรานี้เสนอโดยตัวแทนจากพรรคสังคมนิยม SPD ซึ่งก็คือคู่ปรับสำคัญของพรรคนาซีนั่นเอง

กรณีที่ฮันนาห์ อาเรนต์เข้าไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของไอช์มันน์ที่เยรูซาเล็ม (Eichmann in Jerusalem) แล้วเขียนบทความลง The New Yorker จนเกิดข้อโต้แย้งมากมายว่าด้วยความชั่วร้ายที่เกิดจากคนธรรมดา ที่มาจากการหยุดที่จะคิด ในมุมนักประวัติศาสตร์คิดเห็นอย่างไร

ฮันนาห์ อาเรนต์ เป็นเหยื่อคนหนึ่งของระบอบนาซี เพราะเธอเป็นยิว แม้จะไม่ได้เข้าค่ายกักกัน แต่เธอก็ต้องไปอยู่ในค่ายขนาดย่อมที่ฝรั่งเศสหลังหนีออกมาจากเยอรมนีแล้ว

ประมาณปี 1940 เธออยู่ในฝรั่งเศส จากนั้นก็ย้ายไปอเมริกา อาเรนต์ฝังใจเกี่ยวกับประเด็น Holocaust ว่ามันมาได้อย่างไร เนื่องจากเธอเป็นนักปรัชญา เธอจึงพยายามหาคำอธิบายที่เชื่อมโยงกับปรัชญาสมัยใหม่ตั้งแต่ enlightenment ซึ่งมากกว่าบริบททางประวัติศาสตร์ที่เราพูดกัน

ในส่วนของผมที่จะสัมพันธ์กับอาเรนต์ก็คือ เมื่อเธอรู้ข่าวว่าไอช์มันน์ถูกจับขึ้นศาลที่เยรูซาเล็ม เธอก็เสนอตัวขอไปฟังการพิจารณาคดี เพื่อจะได้เผชิญหน้ากับคนที่เป็นนาซีจริงๆ ก็ได้ไปสังเกตการณ์และจดบันทึกไว้ ซึ่งเธอไม่ได้บันทึกสิ่งที่เธอเห็น แต่บันทึกสิ่งที่เธอคิด ว่าฟังสำนวนการสอบสวนแล้วรู้สึกอย่างไร เธอบรรยายบรรยากาศในห้องสอบสวน และอธิบายว่าทำไมต้องจัดฉากแบบนี้ ไอช์มันน์ให้การอย่างไร มีท่าทางอย่างไร โดยเธอเขียนในสิ่งที่คิด ซึ่งได้จากกระบวนการทางปรัชญาของเธอ

เธอบอกว่า หลังจากเผชิญหน้ากับไอช์มันน์ เธอพบว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเราๆ ไม่ได้เป็นคนชั่วร้ายโดยสันดานหรือวิกลจริต ไม่ได้วิตถาร ไอช์มันน์เป็นคนธรรมดาเลย ไม่ได้โดดเด่นในทางปัญญา และไม่จำเป็นต้องอาศัยความชั่วร้ายในการก่ออาชญากรรม

แต่คำให้การที่สะกิดใจอาเรนต์ให้ต้องคิดต่อก็คือ สิ่งเดียวที่ไอช์มันน์พยายามย้ำอยู่ตลอดเวลาก็คือ ผมทำตามหน้าที่ เขาบอกว่าไม่เคยจับปืนขึ้นฆ่าใครเลย ไม่เคยมียิวตายด้วยมือเขา เขาไม่เคยฆ่าใคร เขาไม่ผิด เขาแค่ทำตามหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ของเขาคือการรวบรวมยิวขึ้นรถไฟที่ฮังการี แล้วเหยื่อหนึ่งในนั้นก็คือ เอลี วีเซล (Elie Wiesel) นักเขียนที่ต่อมาเขียนหนังสือชื่อ Night, Dawn, Day สามเล่มแล้วก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

นั่นเป็นเหยื่อที่ถูกต้อนขึ้นรถไฟที่ฮังการีแล้วส่งไปเอาช์วิตซ์ แล้วเหยื่อเกือบทั้งหมดเสียชีวิต แต่ไอช์มันน์บอกว่าเขาไม่ได้ฆ่า ในแง่หนึ่ง ใช่ เขาไม่ได้ฆ่า แล้วเขาบอกเขาทำตามหน้าที่ ก็มีคนสั่งมา เขาก็ทำ ด้วยเหตุนั้น อาเรนต์จึงสรุปว่า ความชั่วร้ายที่สุดสามารถถูกก่อขึ้นมาจากคนธรรมดาสามัญที่สุด (The banality of evil) เมื่อเราหยุดที่จะคิดด้วยมโนสำนึกของเรา แล้วอ้างเพียงแค่ทำตามหน้าที่ เพราะการทำตามหน้าที่แปลว่าเราไม่ต้องคิด นี่คือทัศนะของอาเรนต์

แล้วในฐานะนักประวัติศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือ

ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ หนึ่ง ต้องระลึกเสมอว่า คำให้การในชั้นศาลของไอช์มันน์ มีจุดประสงค์เพื่อให้ตัวเองหลุดคดี เขาจะไปบอกทำไมว่า รู้อยู่ว่าส่งไปแล้วจะตาย เขาก็คงไม่พูด สอง มีนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติของ ฮันนาห์ อาเรนต์ พบว่าเธอไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดีตลอด จริงๆ เธออยู่ที่นั่นไม่กี่วัน และก็ใช้ข้อมูลคำให้การในชั้นศาลเป็นหลัก

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญก็คือ ริชาร์ด เจ. เอเวนส์ (Richard J. Evans) รวมถึงนักประวัติศาสตร์ที่ใหญ่มากอีกคนคือ ฮันส์ มอมม์เซน (Hans Mommsen) เสนอว่า อาเรนต์ ‘พลาด’ ข้อมูลสำคัญเยอะมาก เช่น ในการประชุมที่วันน์เซ เดือนมกราคม 1942 เป็นการประชุม Final Solution ว่าจะจัดการอย่างไรกับยิว ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าจะต้องส่งเข้าค่ายกักกัน

ไอช์มันน์เป็นคนประสานงานการประชุมนี้อย่างกระตือรือร้นที่สุด และถูกเรียกตัวเข้ามาโดย ไรน์ฮาร์ด ไฮด์ริช (Reinhard Heydrich) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงในเยอรมนี ที่ถูกเรียกตัวมาเพราะเคยได้รับมอบหมายให้ขนยิวไปยังเกาะมาดากัสการ์ แม้ว่าแผนจะล้มเลิก แต่ไอช์มันน์จะมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยิว เช่น รู้ว่าประเพณีของยิวคืออะไร หรือยิวอยู่ที่ไหนบ้าง ในการประชุมที่วันน์เซ ไอช์มันน์จึงรู้อยู่เต็มอกว่า ยิวจะถูกกำจัดจากการดำเนินงานครั้งนี้ แล้วขึ้นศาลบอกว่าเขาไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น อาเรนต์พลาดประเด็นนี้แน่ๆ

นี่คือตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่มีนักประวัติศาสตร์ค้าน และนักประวัติศาสตร์คนสำคัญด้านระบอบนาซีที่ค้านอาเรนต์ก็คือ เอียน เคอร์ชอว์ ในบทความคลาสสิก ‘Working Towards the Führer’

มีย่อหน้าหนึ่งเขียนอย่างชัดเจนมากว่า เมื่อศึกษาผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซี พบว่า คนเหล่านี้ต้องการทำงานเพื่อท่านผู้นำอย่างจริงใจและจริงจัง คือทั้งศรัทธาในอุดมการณ์ของระบอบนาซี ขณะเดียวกันก็ทำเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของตัวเองด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่สามารถสรุปได้อย่างที่อาเรนต์บอกว่า คนเหล่านี้แค่ทำชั่วเพียงเพราะเขาไม่ได้คิด การสรุปแบบนี้ถือเป็นการลดทอนพลังอำนาจและลดทอนความเป็นเผด็จการของระบอบนาซีอย่างมาก นี่คือทัศนะของเอียน เคอร์ชอว์

แล้วกรณีที่มีภาพถ่ายชุดหนึ่งของเจ้าหน้าที่ SS เผยแพร่ออกมา เป็นภาพในช่วงพักผ่อนตากอากาศ ซึ่งดูจะสนับสนุนแนวคิดของอาเรนต์อยู่ในที

นั่นคืออัลบั้มของผู้ปฏิบัติการคนสำคัญของค่ายเอาช์วิตซ์ คาร์ล ฮอกเคอร์ (Karl Höcker) เราจะเห็นว่า ภาพนั้นค่อนข้างช็อกโลกตอนที่มันตีพิมพ์ออกมาหลังสงครามโลก (ภาพชุดนี้สามารถหาชมได้ในอินเทอร์เน็ต) ถ้าคุณเข้าไปในเว็บไซต์ของ US Holocaust Memorial Museum (ushmm.org) เหยื่อจะมาให้สัมภาษณ์และบันทึกเทปไว้ ซึ่งหลายคนรู้สึกช็อกทันทีที่เห็นอัลบั้มนี้ เฮ้ย ไปสนุกกันอยู่ได้ยังไง แล้วนี่มันอะไรกัน

สามารถดูภาพได้ที่ https://www.theguardian.com/books/gallery/2016/nov/22/nazis-retreat-ss-holiday-hut-auschwitz-pictures-mengele-photographs

เหยื่อบางคนบอกว่า รู้สึกไม่เข้าใจและงง ว่านี่คือคนเดียวกันกับที่กระทำทารุณ เฆี่ยนตี เตะต่อย ด่าทอ ทำทุกอย่างที่กดขี่พวกเขา แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มันเกิดอะไรขึ้น อะไรคือคำอธิบาย

นักประวัติศาสตร์จะใช้หลักฐานชิ้นนี้ตั้งคำถามกับระบอบนาซีว่า เมื่อผู้ปฏิบัติการก็เป็นคนธรรมดา แต่อะไรทำให้วิธีคิดของเขาเปลี่ยน เมื่อเขาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งอัลบั้มภาพก็จะบอกว่าผู้ปฏิบัติการนั้นไม่ได้เป็นพวกมฤตยู หรือเป็นคนที่บ้าคลั่งแต่อย่างใด

มันก็จะกลับไปสู่ประเด็นที่ฮันนาห์ อาเรนต์ ตอบอย่างหนึ่งว่า ไม่คิดหรือต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะที่นักประวัติศาสตร์อย่างเอียน เคอร์ชอว์ก็ตอบอีกลักษณะหนึ่ง ส่วนหนึ่งของความต่างในข้อเสนอ เป็นเรื่องของ methodology และ discipline ในทางวิชาการเป็นหลัก

ในมุมของอาจารย์ เห็นด้วยกับฝั่งนักประวัติศาสตร์มากกว่าใช่ไหม

แม้ว่าผมจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในระบอบนาซีเลย คือที่เล่ามายังไม่เท่าเศษเสี้ยวความรู้ของนักประวัติศาสตร์ที่ทำเรื่องนาซีในระดับต้นๆ ของโลกอย่าง ริชาร์ด เจ. เอเวนส์, เอียน เคอร์ชอว์ หรือ ฮันส์ มอมม์เซน หนังสือฮิตเลอร์ผมมีไม่กี่สิบเล่ม แต่เขามีกันเป็นห้องสมุด ผมก็ยังซื้ออยู่เรื่อยๆ แล้วก็เลยตัดสินใจเปิดคอร์สนาซีแล้วใช้ประโยชน์จากมัน หลายเล่มเป็นหนังสือได้ฟรีสมัยผมเรียนที่เยอรมนี คือรัฐบาลเยอรมันแจกหนังสือวิชาการเกี่ยวกับระบอบนาซี เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ Re-education

ผมคิดว่าเราควรอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กว้าง แล้วดูบริบทที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ซึ่งในกรณีนี้คือนาซี ผมคงไม่ลากไปถึงยุค Enlightenment อย่างที่ ฮันนาห์ อาเรนต์ ทำในหนังสือที่ทรงอิทธิพลมากของเธอคือ The Origins of Totalitarianism (1951) ซึ่งหนาและอ่านยากมาก เพราะนั่นเป็นการทำงานของนักปรัชญา ซึ่งมีขั้นตอนการทำงาน (methodology) ที่ต่างกับเรา

ในฐานะที่เรียนประวัติศาสตร์ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อเสนอของเอียน เคอร์ชอว์มากเป็นพิเศษ เพราะว่ามันตรวจสอบได้กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อย่างกรณีไอช์มันน์ชัดมากเลย จะบอกว่าเขาไม่รู้ไม่เห็น หรือแค่ทำตามหน้าที่ ผมว่าไม่ใช่

ส่วนหนึ่งคือเขารับอุดมการณ์ของนาซีมาเต็มที่ และไม่ตั้งคำถามกับระบอบนาซีด้วย คือการไม่ตั้งคำถามไม่ได้แปลว่าโง่หรือเพิกเฉย แต่อาจเป็นเพราะเห็นด้วยจริงๆ หรือได้ประโยชน์จากระบอบนั้นก็ได้ มันมีหลายมิติมาก

ถ้าเจอคนที่เชิดชูฮิตเลอร์ว่าเป็นฮีโร่ อาจารย์จะให้ความรู้กับเขาอย่างไร

เหยื่อ 11 ล้านคน ที่นับได้ แค่นี้ไม่พอหรือ…

บางทีเขาอาจจะยกย่องในประเด็นชาตินิยม หรือดูเป็นคนเด็ดขาดเอาจริงเอาจัง จนลืมนึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตไป?

ผมคิดว่าคนไทยไม่ได้ลืมนึก และนี่เป็นข้อโต้แย้งหนึ่งของผมเวลาพูดเกี่ยวกับระบอบนาซี แล้วมันเป็นการ revolutionize วิธีคิดเกี่ยวกับมนุษย์ของสังคมเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งหมด ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้สังคมเยอรมันแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ผมเสนอว่าด้วยเรื่องของความเป็นมนุษย์ (Menschlichkeit) Mensch แปลว่ามนุษย์ Menschlichkeit ก็คือความเป็นมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันกับมนุษย์อื่นๆ อย่างสันติ และเห็นคุณค่าของชีวิตทั้งของเราเองและของคนอื่น

วิธีคิดแบบนี้มันเปลี่ยนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเยอรมนีตะวันตก มันเปลี่ยนแม้กระทั่งระบบการศึกษา และเปลี่ยนแม้กระทั่งในวิถีชีวิตของผู้คน

คุณเคยไปตามพาหุรัด สำเพ็งไหม เคยเห็นหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไม่มีกล่องเคลือบแล้ว เหลือแต่สายเปลือยๆ ไหม คนเยอรมันจะไม่อยู่ในที่แบบนั้น ห้องน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อราในอังกฤษ คนเยอรมันไม่อยู่ ผมมีเพื่อนคนเยอรมันที่อยู่ในอังกฤษ เขาไม่เช่าบ้านหลังนั้น

ในเยอรมนีถ้าคุณจะเช่าบ้าน แล้วคุณตรวจพบเชื้อรา เจ้าของบ้านต้องทำความสะอาด และใส่น้ำยาฆ่าเชื้อราโดยทันที ไม่อย่างนั้นผิดกฎหมาย สามารถฟ้องร้องเป็นคดีได้ ไม่ใช่เพราะคนเยอรมันรังเกียจความสกปรก คนอังกฤษจะบอกว่า ยี้…สกปรก แล้วก็นอนต่อ แต่คนเยอรมันจะบอกว่า เมื่อสูดเชื้อราเข้าไป ในระยะยาวจะก่อให้เกิดมะเร็ง และคร่าชีวิตของคุณ

คุณจะเห็นว่าคำพูดที่ใช้ของคนสองวัฒนธรรมมันต่างกัน คนอังกฤษจะคล้ายคนไทย เราสู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา เชื้อโรคต่างๆ ขอให้บอก จะโรคไหนใครกลัว ฉันเอาหมด เรารังเกียจคนอื่นที่มีเชื้อโรค แต่ไม่เคยรังเกียจว่าตัวเราเองจะไปแพร่เชื้อโรคให้ใครหรือเปล่า หรืออย่างน้อยเราคิดประเด็นนี้กันน้อย

ยกตัวอย่างเวลาที่คุณข้ามถนนบนทางม้าลาย เยอรมนีหลังสังครามโลกมันไม่เหมือนที่อื่น คุณลองไปเดินอยู่ในลอนดอน เวลาจะข้ามถนน โดยหลักการของประเทศที่ศิวิไลซ์เช่นเยอรมนี ก็ต้องรอให้ไฟเขียวคนข้ามขึ้นมาก่อน แต่คนอังกฤษข้ามเลยต่อให้ไฟแดงสำหรับคนข้ามขึ้น คนอังกฤษก็ยังข้าม ในกรณีของเยอรมนีเขาไม่ทำเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของการรักษากฎระเบียบ ประเด็นหลักเลย มันมาจากวิธีคิดว่า ชีวิตของตัวคุณเองและของผู้ใช้ถนนมีค่า มันมาจากไอเดียนี้

ในเมืองไทยสมัยที่ผมยังเด็ก เคยมีกฎหมายบังคับให้ใส่หมวกกันน็อคขับมอเตอร์ไซค์ คนกรุงเทพฯออกมาประท้วง มายุ่งอะไรกับหัวกู เมื่อก่อนผมก็ไม่คิดอะไร แต่พอไปเรียนที่เยอรมนี กะลาแตกแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า ประเทศเราจะบ้าบิ่นกันไปถึงไหน แล้วไปอ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล คือคนไทยไม่มีวิธีคิดแบบ Menschlichkeit คือคุณไม่ได้รักชีวิตตัวคุณเองเลย ชีวิตคุณไม่มีค่าเลย

นี่คือประเด็นที่ต้องการสื่อสารไปสู่คำตอบของคุณ ว่าคนไทยทำไมถึงเอาสัญลักษณ์ฮิตเลอร์มา ก็เพราะว่าเซนส์คุณค่าของชีวิตมันไม่มีไง สมมุติไปพูดว่าเหยื่อตาย 11 ล้านคน คนไทยทำอย่างมากก็แค่ โห…11 ล้าน แล้วก็ผ่านไป เราชินกับความตาย เราชินกับภาวะที่ชีวิตมันไม่ได้มีค่าจริงๆ แม้แต่ชีวิตของเราเอง

คนไทยกลัวตาย…ใช่ แต่กลัวตายกับการรู้สึกว่าชีวิตของตัวเราเองมีค่า มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่แคร์ต่อระบอบนาซีเลย หรือพยายามจะบอกว่าแต่ฮิตเลอร์ก็ดีนะ เขาตั้งใจทำเพื่อประเทศชาติ วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่ หนึ่ง-เข้าใจประวัติศาสตร์ผิด แต่สอง-ผมสันนิษฐานว่ามาจากวิธีคิดของตำราเรียนในประวัติศาสตร์ของไทยเรา ตั้งแต่ยังเรียนมัธยมแล้ว เราไม่เคยทำให้ชนชั้นปกครองได้รับการพิจารณาในฐานะที่เขาเป็นบุคคลในทางประวัติศาสตร์ แล้วใช้ประวัติศาสตร์เป็นมาตรวัดในการพิจารณาการกระทำและการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายของเขา

คุณเคยเห็นว่ามีชนชั้นปกครองคนใดบ้างในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้รับการตัดสินอย่างประวัติศาสตร์จริงๆ ผมไม่ได้บอกว่าตัดสินแล้วจะต้องเป็นลบนะ ผมไม่ทราบว่าตัดสินออกมาแล้วจะเป็นลบหรือบวก แต่ไม่เคยมีนักปกครองคนใด เคยผ่านกระบวนการการถูกตัดสินนโยบายของเขาด้วยบริบททางประวัติศาสตร์จริงๆ

ด้วยเหตุนั้น นักปกครองในบ้านเราที่อยู่ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของโรงเรียนมัธยมจึงมีแค่ด้านเดียว และนั่นคือสิ่งที่คนไทยกำลังประยุกต์วิธีคิดในสังคมไทยที่มีแต่ด้านบวกเข้ากับชนชั้นปกครองเกือบจะทุกๆ ที่ในโลกใบนี้

และนั่นคือที่มา พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ความไม่รู้ และต่อให้รู้ด้วยข้อมูลว่ามีคนตายไปเท่าไหร่ คนไทยก็ไม่เก็ต เพราะเราไม่มีความคิดว่าด้วยเรื่องของ Menschlichkeit


(เผยแพร่ครั้งแรกใน WAY#91 กรกฎาคม 2559)

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า