อุบล อยู่หว้า: จากเกษตรพันธสัญญา ถึงปัญหาหมูแพง กำไรจนพุงกางของนายทุนใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตร

พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ให้ความหมายเกษตรพันธสัญญาไว้ว่า “ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกร หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ที่มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจตกลงที่จะซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วย”[1]

แม้จะเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร ทว่าสำหรับ อุบล อยู่หว้า ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน มองว่าภายใต้ระบบดังกล่าว มีความไม่เป็นธรรมและเอารัดเอาเปรียบซ่อนอยู่

“Contract Farming จะมีอิมเมจที่ดีว่า แก้ปัญหาการตลาด แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีจากบริษัท นี่เป็นอิมเมจของเกษตรพันธสัญญาที่รับรู้ของสังคม แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม มันไม่ใช่การร่วมทุน แต่เป็นการผลักภาระ”

ภาระที่ว่าคืออะไร เกษตรกรได้รับความเสียหายอะไรบ้าง และระบบพันธสัญญามีปัญหาใหญ่อย่างไร

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการฉายภาพอีกด้านของระบบเกษตรพันธสัญญา ที่อุบลชี้ว่า นี่คือระบบที่เอื้อต่อการผูกขาดของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรเอกชนรายใหญ่ที่คอยควบคุม และรับผลประโยชน์ทั้งสายพานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทว่าช่วงกลางน้ำกลับปล่อยให้เป็นหน้าที่เกษตรกรรับภาระและความเสี่ยงอันมหาศาลไว้เพียงผู้เดียว

จากเกษตรกรจนถึงผู้บริโภค ช่วยอธิบายเส้นทางของสินค้าการเกษตรหน่อยว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

การเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มันคืออาชีพของชาวบ้านธรรมดา ของชาวนา เกษตรกรรายย่อยคนไทยคนหนึ่ง แบบแผนเดิมของสังคมเรา ชาวนาไทยมักเป็นชาวนาที่เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ด้วย ครอบครัวคือหน่วยการผลิต ทีนี้ความเป็นอุตสาหกรรมไม่ได้มีเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ แต่เกษตรก็เป็นอุตสาหกรรมไปด้วย โดยค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ 

การเปลี่ยนไปเป็นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เปลี่ยนยังไง บริษัทร่ำรวยขนาดใหญ่ทำไมไม่ไปซื้อที่แล้วทำฟาร์มเอง เขามาลาก มาจูง มาพัวพันกับชาวบ้านทำไม ในความเป็นจริง โดยเฉพาะสาขาการเลี้ยงหมู มันไม่ง่ายที่จะทำกำไร เพราะว่าหมูร้องกินทั้งวัน ฉะนั้นต้นทุนหลักๆ ของการเลี้ยงหมู คืออาหารหมู เมื่อการเลี้ยงสัตว์ขยายเป็นอุตสาหกรรม บริษัทก็ลงทุน เมื่อบริษัทลงทุน เขาก็มีการควบคุมด้วย คือ หนึ่ง ควบคุมพันธุกรรม โดยเฉพาะหมูเป็นสัตว์ที่นำเข้าจากยุโรป เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก มี 3 สายพันธ์หลักๆ ที่เลี้ยงกันอยู่ในประเทศ คือ ลาร์จไวท์ (Large White) แลนด์เรซ (Landrace) และ ดูร็อคเจอร์ซี่ (Duroc Jersey) แล้วเอามาผสมพันธ์ุกันเพื่อให้ได้เนื้อดี บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรก็จะควบคุมต้นน้ำตรงนี้

สอง ควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น อาหาร ยา เวชภัณฑ์ และสุดท้ายก็ควบคุมที่ปลายทาง คือ ตลาด รวมไปถึงโรงเชือดด้วย บริษัทไม่ไปลงทุนสร้างโรงเชือดเอง แต่จะใช้โรงเชือดของเทศบาล ท้องถิ่น หรือกระทั่งในมหาวิทยาลัย

ดังนั้น บริษัทควบคุมต้นทางคือ พันธุกรรม อาหาร ยา เวชภัณฑ์ และไปควบคุมปลายทางอีกคือ ตลาด ส่วนท่อนกลางคือ การสร้างโรงเรือน การรับสัตว์ไปเลี้ยง การผลิตลูกหมู ท่อนนี้บริษัทไปหาเกษตรกรมาเข้าร่วมทำ และตกลงกับธนาคารเรียบร้อย ขอให้ธนาคารเปิดสินเชื่อกับเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ แล้วนักสัตวบาลของบริษัทก็จะเข้าไปหาเกษตรกรให้มาร่วม บอกว่าจะร่ำรวยอย่างนั้นอย่างนี้ 3 ปี 5 ปีซื้อรถกระบะได้ พร้อมกับมีแบบแผนโรงเรือนมีโปรเจ็คต์เรียบร้อย และจูงมือเกษตรกรไปธนาคาร ธนาคารก็ปล่อยกู้ ทันทีที่เกษตรกรตัดสินใจเข้าร่วมลงนามปุ๊บ นั่นแหละจุดเริ่มต้นเกษตรกรเป็นหนี้ประมาณล้านกว่าบาท บริษัทได้ทาสมาคนหนึ่ง มีโซ่ล่ามทาส คือหนี้กับธนาคารเป็นพันธนาการเกษตรกรรายนั้นไว้เรียบร้อย 

ค่าลงทุนที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าไฟฟ้า โรงเรือนทุกวันนี้เป็นแบบปิด (Evaporative Cooling System: EVAP) ระบบระบายอากาศต้องถูกเปิดตั้งแต่นาทีแรกที่หมูเข้าไป ถ้าไฟฟ้าดับต้องรีบเปิดผ้าใบขึ้นไม่อย่างนั้นหมูจะตายทั้งโรงเรือน ฉะนั้นฟาร์มไก่ไข่จะมีระบบเตือนคล้ายสงคราม ถ้าไฟฟ้าดับจะมีเสียงหวอดังขึ้น เขาต้องรีบไปเปิดผ้าใบออก หรือระบบไฟฟ้าสำรองต้องสตาร์ทเครื่อง ไม่งั้นไก่จะตาย หมูก็เช่นเดียวกัน อันนี้คือท่อนกลางที่เกษตรกรต้องเผชิญความเสี่ยง และเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น น้ำหนักหมู มีเกษตรกรรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า น้ำหนักหมูจากบริษัทต้องได้เฉลี่ยตัวละ 6 กิโลกรัม แต่ตอนที่ได้มามันตัวเล็กๆ (บีบเสียง) ไม่แข็งแรง แล้วก็ตาย การตายของหมูที่เลี้ยง เกษตรกรเป็นฝ่ายแบกรับ ถ้ามันตายมากเขาก็ได้ค่าตอบแทนน้อยลง หรืออย่างอาหารสัตว์ เกษตรกรก็ควบคุมไม่ได้ เพราะบริษัทเอามาส่ง แต่ละล็อตก็ไม่รู้มีโปรตีนตามมาตรฐานไหม ซึ่งมันเกินขีดความสามารถของเกษตรกรที่จะไปรู้ได้ 

ดังนั้น ความสัมพันธ์ในการผลิตแบบนี้เป็นปัญหา เป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไม่เป็นธรรม เป็นการผลักภาระความเสี่ยงให้เกษตรกร ที่ผ่านมามันแย่ขนาดว่า เซ็นสัญญาแล้วบริษัทเก็บไว้ฝ่ายเดียว การผลิตหลายสาขาไม่มีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร สาขาที่ไม่มีมากที่สุดคือ ปลากระชัง ความสัมพันธ์ในการผลิตที่บริษัทควบคุมและไม่เซ็นสัญญาได้ ส่วนหมูมีสัญญา แต่ที่ผ่านมาคือบริษัทเก็บสัญญาไว้ เกษตรกรไม่ได้ถือคู่สัญญา ซึ่งคำอธิบายคือ บริษัทเกรงว่าคู่แข่งทางธุรกิจจะเห็นสัญญา บริษัทเลยขอเก็บไว้เอง แล้วเนื้อหาในสัญญาหลักๆ คือบริษัทสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้เองฝ่ายเดียว เช่น วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่หากหาไม่ได้ก็จะเปลี่ยนเป็นตัวใหม่ อันนี้คือความสัมพันธ์ในการผลิตที่ไม่ใช่การร่วมทุน แต่เป็นการผลักภาระความเสี่ยงให้อีกฝ่าย

การทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กับเกษตรกร เช่น มีการวางแบบแผนโรงเรือนให้ มีการบริหารตลาดให้ เหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่เพราะเหตุใด เมื่อเกษตรกรเข้าไปลงทุนกลับไม่ทำให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัทคู่สัญญา

Contract Farming จะมีอิมเมจที่ดีว่า แก้ปัญหาการตลาด แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีจากบริษัท นี่เป็นอิมเมจของเกษตรพันธสัญญาที่รับรู้ของสังคม แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม มันไม่ใช่การร่วมทุน แต่เป็นการผลักภาระ 

ในห้วงเวลาที่เราผลักดันกฎหมายเกษตรพันธสัญญา สมาชิก สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่เป็นพวกนายพล ทหาร ทั้งหลายรู้ปัญหานี้หมดเลย เรายังไม่อธิบายด้วยซ้ำ เขารู้ เพราะเห็นปัญหานี้มาแล้ว นี่คือการผลักภาระที่ซ่อนไว้ใต้พรม ตอนนี้ขนาด พ.ร.บ.ส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา กำหนดให้บริษัทเปิดเผยเงื่อนไขการชี้ชวนทั้งหมดว่า บริษัทจะทำอะไร เกษตรกรต้องทำอะไร มีความเสี่ยงอะไร กฎหมายกำหนดให้ไปแจ้งรายละเอียดที่กระทรวงเกษตรฯ หรือที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ที่บริษัทนั้นลงทุน แต่ในทางปฏิบัติดูไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม

หน่วยราชการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขาฯ ของคณะกรรมการระงับข้อพิพาท ถ้าเกิดข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรกับบริษัทใด จะมีคณะกรรมการดังกล่าวระงับข้อพิพาท โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขาฯ หน่วยงานเหล่านี้ แต่บางจังหวัดไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องทำหน้าที่นี้ 

มีกรณีหนึ่งขาดสภาพคล่องกระทั่งขึ้นสู่ศาลล้มละลายกลาง มีชาวบ้านเป็นร้อยคนที่เลี้ยงไก่ไม่ได้รับเงิน ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่ คสช. ยึดอำนาจใหม่ๆ มีนายทหารไปตรวจราชการที่จังหวัดหนึ่ง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดก็ทำหนังสือให้ชาวบ้านไปยื่นผู้แทน คสช. ที่มา ผ่านไปสัก 2 อาทิตย์ชาวบ้านเป็นร้อยคนก็ยังไม่ได้เงินค่าเลี้ยงไก่ และจดหมายฉบับนั้นจาก คสช. ก็ส่งต่อไปกระทรวงเกษตรฯ และส่งไปกรมปศุสัตว์ แล้วก็ย้อนไปสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด คือย้อนไปหาคนที่ร่างหนังสือให้ชาวบ้านว่า ชาวบ้านไม่ได้เงินค่าเลี้ยงไก่ อันนี้เป็นโจ๊กที่ขำขื่นที่พวกผมเคยเจอ

ปัญหาชาวบ้านถูกกดทับ สัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีกลไกไหนของรัฐในประเทศนี้ทำอะไรเลย ถามกระทรวงยุติธรรมเขาก็บอกเป็นสัญญาระหว่างบุคคล เขาบอก “คุณอยากรวยหนิ เวลาคุณอยากรวยไม่เห็นคุณบอกใครเลย พอมีปัญหาแล้วมาร้อง” คำนี้ผมได้ยินเต็มหูเลยนะที่ศูนย์ราชการกระทรวงยุติธรรม ส่วนกรมปศุสัตว์ก็บอกว่า เขาดูแลโรคระบาด ดูแลมาตรฐานฟาร์ม ดูแลโปรตีนในอาหารสัตว์ ไม่ได้ดูแลความสัมพันธ์ในการผลิตที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม 

สรุป ไม่มีหน่วยงานไหนดูแล เกษตรกรต้องดูแลตัวเอง

ฟังอย่างนี้แล้ว เหมือนบริษัทควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งกลางน้ำก็คือเกษตรกรที่ต้องรับชะตากรรม จึงอยากทราบว่า โมเดล Contract Farming เริ่มตั้งแต่ยุคไหน ปีไหน ในบริบทสังคมแบบไหน แล้วสามารถจูงใจเกษตรกรได้อย่างไรภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้

มันมาจากอเมริกา มันมีด้านบวกอยู่นะครับ คือถ้าเกษตรกรคนหนึ่งจะเลี้ยงหมูทีละพันตัวมันไม่ง่ายที่จะทำแบบนั้น ถ้าไม่เข้าร่วมกับบริษัท จะมีลูกหมูหรือปัจจัยการผลิตขนาดนั้นเนี่ย ลำพังเกษตรกรจะไปทำด้วยตัวเองน่าจะยาก แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมมักเป็นเกษตรกรที่มีทุนพอสมควร เช่น ข้าราชการที่เกษียณแล้ว เขาอยากมีงานที่สร้างรายได้ประจำ และอยู่กับครอบครัว

ข้าราชการจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่มีประสบการณ์ในการทำเกษตรเลย เกษียณแล้วมีเงินก้อน อยากสร้างรายได้ให้ลูกให้หลาน แต่จบลงที่มีหนี้ก้อนใหญ่ เหลือมรดกหนี้ให้ลูก มีครูเกษียณที่ผมรู้จักคนหนึ่งก็เครียดจัดกับหนี้สินที่ต้องมอบให้ลูกสาว มันคือความเจ็บปวดของคนแก่

คำอธิบายของเกษตรพันธสัญญาคือ การวางแผนการผลิตที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ นี่คือด้านบวก ซึ่งรัฐบาลก็มักยกส่วนนี้ขึ้นมาว่ามันจะช่วยแก้ปัญหา over supply แก้ปัญหาการตลาดให้เกษตรกร เกษตรกรก็เข้าร่วมด้วยความฝันว่าจะมีงานประจำ มีรายได้ที่แน่นอน

แสดงว่าการเข้ามาของโมเดลนี้ มีตัวแปรอย่างรัฐบาลเข้ามาทำประชาสัมพันธ์ด้วยอย่างแข็งขัน?

ใช่ครับ ระบบนี้เป็นเหมือนความหวังของสังคมที่จะแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด เวลาผลผลิตการเกษตรมีปัญหา รัฐบาลมักพูดถึงระบบนี้

แล้วตอนไหนที่เกษตรกรเริ่มรู้ตัวว่า ระบบนี้ไม่ได้ทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริง

มีผู้เลี้ยงหมูที่เชียงใหม่รายหนึ่งสรุปชีวิตเขาเองว่า 3 5 7 มรณะ หมายความว่า เขาลงทุนเลี้ยงหมูกับบริษัท 3 ปีแรกโรงเรือนยังใหม่อยู่ ยังเป็นเหมือนช่วงฮันนีมูนที่ความสัมพันธ์กับบริษัทยังดี พอมีรายได้บ้าง ต่อมา 5 ปี โรงเรือนเริ่มเก่า พนักงานบริษัทก็มีเงื่อนไขให้เปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น ให้เปลี่ยนผ้าใบใหม่ เพราะมันจะสะสมโรค รายได้ก็ลดเพราะต้องลงทุนอีก พอ 7 ปี โรงเรือนจะเก่ามาก และเป็นอีกครั้งที่บริษัทจะให้คุณลงทุน อาจจะสร้างโรงเรือนใหม่ หรือโมดิฟายใหม่ มันเป็น 7 ปีที่เขาต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอส่ำนี่ (พอแค่นี้) 

ถ้าจะไปต่อเขาต้องกู้แบงก์อีกก้อนใหญ่ ถ้าจะหยุดก็จะทรงๆ อาการเหมือนน้ำปริ่มจมูก จะขึ้นก็ไม่ได้ จะตายก็ไม่ตาย นี่เป็นคำอธิบายที่นักสัตวบาลคนหนึ่งออกจากบริษัท แล้วมารับราชการ เขาบอกเกษตรกรจะมีสภาพปริ่มน้ำ เหมือนน้ำท่วมปาก จ่อจมูก จะตายก็ไม่ตาย พอขึ้นมาได้ก็ได้ไม่สุดสักทีอยู่ในสภาพแบบนี้ 

เกษตรกรทั้งประเทศตกอยู่ภายใต้ Contract Farming กับบริษัทเหล่านี้สักกี่เปอร์เซ็นต์

ผมคิดว่าฟาร์มหมูจะอยู่ราวๆ 30,000 ฟาร์ม แต่ว่าใน 30,000 นี้สัก 70 เปอร์เซ็นต์น่าจะอยู่ใน contract กับบริษัท ที่เหลือหรือน้อยกว่านั้นจะเป็นฟาร์มหมูอิสระ เป็นผู้เลี้ยงเสรี 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจำนวนมากจากบริษัทอยู่ เช่น อาหารสัตว์ อย่างอาหารหมูมีโรงงานที่เป็นผู้ผลิตรายย่อยอยู่ไม่มาก แต่โรงงานอาหารสัตว์กระจายทั่วประเทศและมีหลายแบรนด์ แล้วบริษัทหนึ่งๆ ก็มีอาหารสัตว์หลายแบรนด์อีก

นอกเหนือจาก หมู วัว ไก่ แล้ว สินค้าทางการเกษตร เช่น พืช ผัก ผลไม้ มีการเข้าร่วมระบบ Contract Farming ด้วยไหม

สาขาพืชจะน้อยกว่า สาขาพืชจะควบคุมเรื่องเมล็ดพันธุ์ แต่ด้วยระยะเวลาการผลิตที่มันสั้น แค่ 40 วัน และมีการแปรปรวนสูง บริษัทไม่ได้ไปทำ contract เท่าไหร่นัก แต่เมล็ดพันธ์ุบริษัทจะทำ contract ทั้งหมดเลย แทบไม่มีเกษตรกรที่ทำเมล็ดพันธุ์อย่างอิสระ 

แต่มีสาขาพืชบางรายการที่ทำ contract เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ก็เป็น Contract Farming ที่เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่ หมายถึงว่า พอมีปัญหา ผู้ว่าราชการเข้าไปแก้ไข เรียกมาคุยแล้วทำข้อตกลงใหม่ที่ชัดเจน

หรืออย่างที่ผมทำส่งออกข้าวอินทรีย์อยู่ทุกวันนี้มันก็เป็นเหมือน Contract Farming แต่จะเรียกว่า Fair Trade หรือการค้าที่เป็นธรรม มันคือการขายล่วงหน้า มีข้อตกลง มันคล้ายกัน แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เพราะกฎหมาย Fair Trade ยุโรปกำหนดให้เปิดเผย เช่น กำหนดว่า ผู้ซื้อในยุโรปต้องซื้อสินค้าโดยตรงจากสหกรณ์ผู้ผลิต ซื้อจากองค์กรเกษตรกรโดยตรง แล้วก็ต้องเป็นประชาธิปไตย โดยเปิดเผยราคาต่อกันในทุกช่วงชั้น คือผู้บริโภคในเบลเยียมรู้ว่าชาวนาที่ยโสธรได้ราคาข้าวเท่าไหร่ สหกรณ์ที่จัดการส่งออกคิดกำไรเท่าไหร่ ไปถึงร้านค้าในแคลิฟอร์เนีย ผู้บริโภคจะซื้อข้าวจากยโสธรด้วยราคาเท่าไหร่ จะรู้หมดเลย นี่คือ Fair Trade ซึ่ง Contract Farming จะไม่เปิดเผยอะไรต่อกัน อันนี้คือปัญหา

จากกรณีที่ราคาหมูเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ราคาเนื้อไก่ ไข่ไก่ แพงขึ้นตาม ในความเห็นของคุณ คิดว่ามันเกี่ยวข้องกับกลไกตลาด การผูกขาด หรือ Contract Farming อย่างไรบ้าง 

การแพงขึ้นของไก่อาจเกิดเนื่องจากการลดการบริโภคเนื้อหมู แล้วก็ไปซื้อปลา ซื้อไก่ ทำให้ volume การซื้อเพิ่มขึ้น แล้วก็ขายแพงขึ้น นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคิดว่า เกิดจากเงินเฟ้อที่รัฐบาลอัดเงินเข้าไปด้วยนโยบายต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิด คนละครึ่งบ้าง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐบ้าง เหล่านี้ทำให้มีเม็ดเงินจากรัฐเข้ามาสะพัดอยู่ในตลาด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายเหล่านี้ด้วย 

หากพูดถึงแนวทางการทำเกษตรอีกแบบหนึ่งที่รัฐบาลสนับสนุน คือการทำเกษตรแปลงใหญ่ ในรูปแบบนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่จึงเข้าร่วม Contract Farming มากกว่า

ในเชิงหลักการของนโยบายนาแปลงใหญ่เป็นหลักการที่ดี มีเป้าหมายการพัฒนา 5 ด้าน คือ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด การบริหารการจัดการ เช่น ให้เกษตรกรรวมตัวกันจ้างรถแทรคเตอร์ หรือรถเกี่ยวร่วมกัน 

โดยมีหลักคือ ต้องการให้รวมกันผลิต ใช้เทคโนโลยีร่วมเพื่อลดต้นทุน แต่ในทางปฏิบัติมันเกิดข้อจำกัดมากมาย คือมันมาตายในระดับการปฏิบัติ 

ยกตัวอย่างองค์กรเกษตรกรที่รวมตัวกันทำธุรกิจค้าข้าว เขาทำสำเร็จตามตัวชี้วัด 5 ตัวนั้นมานานแล้ว พอรัฐมีนโยบายนี้มาจะให้กลุ่มใหม่ประสบความสำเร็จตาม 5 ประการบ้าง แต่รัฐไม่มีการทบทวนเลยว่า กลุ่มที่สำเร็จเขาทำอย่างไร ผู้นำเกษตรกรสามารถบริหารจัดการมีระบบถ่วงดุลและคุณธรรมภายในอย่างไร ดังนั้น ในทางปฏิบัติมันละเลยการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการของผู้นำองค์กรกลุ่มใหม่อยู่ ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน นั่นคือจุดอ่อนของรัฐ 

ถ้าไม่ใช่เกษตรแปลงใหญ่ และไม่ใช่ Contract Farming อะไรคือทางออกของเกษตรกร

หลักการนาแปลงใหญ่ยังใช้ได้อยู่ แต่มันต้องปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เกษตรกรอยู่รวมกัน เพราะแรงจูงใจที่รัฐจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยล้านละร้อย แต่มันต้องร่วมกันผลิต จัดการปัจจัยการผลิต จัดการเทคโนโลยี ทำการตลาดได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างสาขาข้าวเป็นสาขาที่ตีบตันที่สุดแล้ว มันมาถึงจุดที่แข่งกับพม่า กัมพูชา เวียดนามไม่ได้แล้ว มันมาถึงจุดที่ชาวนารุ่นลูกผมต้องแสวงหาแนวทางใหม่ รัฐบาลก็พูดเป็นลิปซิงค์เลยว่า พืชใช้น้ำน้อยๆ อะไร มันคืออะไร มันคือถั่วเขียวใช่ไหม ถ้าใช่แล้วรัฐจะสนับสนุนให้เกิดถั่วเขียวอย่างสุดสายพานอย่างที่เกษตรกรจะหวังได้ว่า ถั่วเขียวทำอะไรได้บ้าง ทำสบู่ได้ ทำวุ้นเส้นได้ แล้วจะมีโรงงานวุ้นเส้นกี่โรงถึงจะรองรับถั่วเขียว 

ถ้าในความเห็นผม ผมก็เสนอแล้วเสนออีกว่า เกษตรกรรายย่อยควรได้รับการสนับสนุนให้นำผลผลิตของตัวเองออกมาขายให้มันเกิดสายพานอาหาร สายพานการบริโภคขนาดเล็กที่กระจายตัว ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจฐานล่างควรทำตรงนี้ อันนี้ในระดับเล็ก หน่วยย่อย คือสนับสนุนให้เกษตรกรมีผลิตภัณฑ์ มีสินค้า มีโอกาสขายปลีกกับผู้บริโภคโดยตรง

ในระดับใหญ่ขึ้น ต้องมีการรวมกลุ่ม อย่างที่ผมทำงานอยู่ด้วย คือมีกลุ่มสมาชิกนาอินทรีย์ 150 ครอบครัว มีข้าวเกือบ 200 ตัน กลุ่มแบบนี้ก็ควรได้รับการสนับสนุน เพราะค่าขนส่งตอนนี้แพงมาก อย่างนี้รัฐต้องเข้ามาดูแล

ในส่วนของผู้บริโภคต้องมีกลไกทำงานที่ทำอย่างไรให้รู้ว่าการกินมันเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นธรรม กับสิ่งแวดล้อม กับเกษตรกร อาหารมันไม่ใช่เรื่องของเกษตรกร แต่มันเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเจอข้าวสารขายกิโลกรัมละ 21 บาท บางคนบอก “โอ๊ย ดี ข้าวถูกจัง” แต่คำถามที่ควรเกิดคือ ทำไมมันขายขนาดนี้ได้ มันต้องมาจากการกดขี่ชาวนามหาศาลมันถึงจะเป็นแบบนั้นได้ใช่ไหม

การที่สินค้าทางการเกษตรถูกผูกขาดกับบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท เกิดการสูญเสียอะไรไปบ้าง

หนึ่ง มันทำลายความหลากหลาย ไม่ว่าอาหารในร้านสะดวกซื้อจะดูหลากหลาย มีชื่อต่างๆ เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมู นู่นนั่นนี่เต็มไปหมด แต่เชื่อเถอะส่วนใหญ่มันทำมาจากเนื้อไก่ เพราะเนื้อไก่เป็นวัตถุดิบที่ราคาถูกที่สุด คุณจะเลือกชื่อต่างๆ ที่อยู่เบนเชลฟ์ของห้างนั่นคือความหลากหลายแค่ชื่อ 

สอง มันทำลายวัฒนธรรมอาหาร อาหารคือวัฒนธรรม ถ้าอาหารในเชลฟ์มีเบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมู ผมไม่แน่ใจว่าที่มันอยู่ในนั้นเป็นลาบหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะลาบต้องมีข้าวคั่ว สะระแหน่ มันคือการขโมยชื่อทางวัฒนธรรมไปตั้ง เพื่อทำอุตสาหกรรมเพื่อขายเฉยๆ 

มันไม่เป็นธรรม หมูเห็ดเป็ดไก่มันคืออาชีพเกษตรกร แต่ว่าการลงทุนมันเบียดขับ ทำให้คนเล็กคนน้อยไม่มีโอกาสที่จะทำมาหากิน การทำลายรายย่อยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ในนามของมาตรฐานก็ส่วนหนึ่ง มาตรฐานการขนส่งนม มาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ อะไรเหล่านี้มันไว้อ้างกับผู้บริโภค แต่ผลที่ตามมาคือมันทำลายเกษตรกรรายย่อย ผมไม่ได้ปฏิเสธนะว่า เกษตรกรรายย่อยต้องทำให้สะอาด ปราศจากเชื้อโรค เป็นผลดีกับผู้บริโภค อันนี้เกษตรกรไม่ว่าหน้าไหนก็ควรจะทำ แต่ว่าระบบงานของรัฐควรไปสนับสนุนให้เกษตรกรผ่านมาตรฐาน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่และกรมปศุสัตว์พากันไปจับชาวบ้านที่ฆ่าหมูขาย 

ระบบเรามักเอาอาญามาใส่กับงานอื่นๆ ตลอดเวลา มีเกษตรกรที่ขนไก่จากนครปฐมไปขายตลาดค้าส่งที่ราชบุรีโดนจับเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ แต่บริษัทใหญ่ที่จะเคลื่อนย้ายสัตว์มีลายเซ็นเจ้าหน้าที่ราชการเซ็นไว้ให้บริษัทเป็นปึ๊งเพื่อจะเคลื่อนย้าย นี่คือความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลที่มันเกิดขึ้น

ปัญหาใหญ่ของประเทศเรา คือความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจที่เกิดขึ้นทุกอณู ในนามของใบอนุญาตต่างๆ คนเล็กคนน้อยจะยากมากที่จะเข้าถึง ความเหลื่อมล้ำในประเทศเราส่วนหนึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่สร้างโดยรัฐ โดยกลไกการใช้อำนาจแบบนี้ 

photo: UN Women/Piyavit Thongsa-Ard

เมื่อรัฐขัดขวาง แถมบริษัทใหญ่ก็เอาเปรียบ แล้วทางออกของเกษตรกรรายย่อยคืออะไร

เกษตรกรรายย่อยจะรอดได้คือ หนึ่ง อาหารปลอดภัยในท้องถิ่น ถ้ารายย่อยผลิตหลากหลาย เบื้องต้นจะได้เลี้ยงชีพตัวเองอย่างมีคุณภาพ ผลผลิตที่ล้นเกินก็เอาไปทำตลาด ตรงท่อนทำตลาดนี่แหละ ควรได้รับโอกาสเรื่องพื้นที่ในการรองรับเกษตรกร 

สอง ประเทศไทยมาถึงจุดที่ต้องสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม เศรษฐกิจความรู้ คือต้องคิดค้นให้มีนวัตกรรมที่สอดคล้องกับผู้คนตัวเล็กตัวน้อยให้ใช้ประโยชน์ได้ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม สวทช. มีงานวิจัยที่ใช้ได้จริง เช่น โรงเรือนปลูกผัก ตัวอย่างแบบนี้งานวิจัยของหน่วยงานรัฐ หรือมหาวิทยาลัย ควรมีโจทย์วิจัยที่พัฒนามาจากชีวิตชาวนา เกษตรกรรายย่อยบ้าง ไม่ใช่มุ่งรับใช้ทุนเพียงอย่างเดียว 

คุณอุบลเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาเกษตรกรรายย่อยไปบ้างแล้ว แต่หากเรามองภาพใหญ่อย่างการเมือง เรารู้ว่าบริษัทนายทุนใหญ่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยราย จนเกิดปัญหาการผูกขาด ซึ่งการผูกขาดนี้ก็มีส่วนจากรัฐที่เกื้อหนุนให้เกิดด้วย คำถามคือ หากจะทำให้เรื่องนี้มีความเป็นธรรม ควรเริ่มแก้ที่จุดใด

สิ่งที่มันดำเนินไป การผูกขาด การกดทับผู้คน มันไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยตัวมันเองในนามของบริษัท แต่มันเป็นคอนแทคทางอำนาจที่ทำตั้งแต่รัฐไปจนถึงชนชั้นสูง แต่งงาน มีความสัมพันธ์กัน จนลึกซึ้งขนาดนั้น มันเป็นอำนาจเหนือรัฐที่ครอบงำสังคมอย่างยิ่ง ทั้งคอนเนคชั่นทางสายเลือด สายตระกูล การเมือง และผลประโยชน์ ผมคิดว่า มันไม่มีอำนาจอื่นนอกจากอำนาจประชาชนที่จะตั้งคำถาม 

หากดูยุทธวิธีการต่อสู้ของนายทุน เวลานี้เราได้ยินการประกาศขายหุ้น การขายหุ้นของเขา ผมมองว่ามันคือการดึงประชาชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งในที่สุดประชาชนผู้คาดหวังกำไรจากการถือหุ้นก็จะมาเผชิญกันเอง ต่อต้านกันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน 

มนุษย์มันมีเหตุมีผลอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าข้อมูลปรากฏออกมาว่า คุณทำแบบนี้ คุณลงทุนแบบนี้ การลงทุนของคุณทำถึงขนาดคนล้มละลาย คนเครียดล้มตาย เป็นหนี้เป็นสิน เป็นผู้พิการ การลงทุนของคุณมันเหี้ยมโหดขนาดนั้น ผมคิดว่า ข้อมูลพวกนี้ปกปิดไม่ได้หรอก 

เพราะฉะนั้นการแก้ไขต้องเริ่มที่การเคลื่อนไหวของสังคม แล้วการเมืองก็จะเริ่มเปลี่ยนตาม วิธีการต่อสู้ ประชาชนไม่ได้มีอะไร เรามีอำนาจการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือเครื่องมือปกติของประชาชน แต่ความจำเป็นคือ กลุ่มประชาชนผู้แอคทีฟ ต้องร่วมมือกันเพื่อให้พลังมันใหญ่ขึ้น พวกผมก็ต้องแสวงหาความร่วมมือกับนักวิชาการ สื่อ นักธุรกิจอื่นๆ ที่เข้าใจ และเห็นความสำคัญร่วม อันนี้จะเกิดเป็นพลัง

การผลักดันหรือต่อสู้เรื่องการผูกขาด ภายใต้รัฐบาลที่เป็นเผด็จการกับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย มีความยากง่ายกว่ากันอย่างไร

มันยากกว่ากันมาก เมื่อรัฐบาลเป็นเผด็จการ ช่องทางที่จะเปิดรับความเห็นประชาชนมันก็จำกัด ตีบตัน ไม่เปิดกว้าง อย่างรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย การที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถาม เราทำได้ไม่มากเท่าอยู่แล้ว 

ช่วงที่เป็น คสช. กับหลัง คสช. มีการคุกคามคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ผมโดนมากๆ หน่อยคือตอนเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา We Walk ทหารมาถึงบ้าน แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร

หากยกตัวอย่างสินค้าการเกษตรที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ เช่น หมู นอกเหนือจากการที่ภาครัฐปกปิดข้อมูลของโรคระบาด AFS และราคาหมูที่แพงขึ้นแล้ว เอาเข้าจริงเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไรอีกบ้าง

สร้างปัญหาได้เงิน แก้ปัญหาก็ได้เงิน 

ทุนใหญ่จะยืนอยู่ตรงจุดที่สร้างปัญหาก็ได้รับผลประโยชน์ สร้างปัญหาหมูตาย หมูเป็นโรค เขาก็ขายเวชภัณฑ์ หรือหลังจากนี้คนก็จะไปซื้อหมูแม่พันธุ์จากเขาที่ทำวัคซีนป้องกันโรคไว้ 

แก้ปัญหาก็ได้ประโยชน์คือ พอหมูขาดก็รู้อยู่ว่า บริษัทใหญ่ๆ เขาลงทุนผลิตหมูในต่างประเทศด้วย เช่น แคนาดา จีน เขาอยู่ในระดับการจัดสรรทรัพยากรที่มองจากดาวเทียมว่า เขาจะเอาอะไรมาขาย ทำอะไรไปขายที่ไหน 

เพราะฉะนั้นทุนใหญ่ขึ้นไปอยู่ในจุดที่สร้างปัญหาก็ได้ประโยชน์ แก้ปัญหาก็ได้ประโยชน์ อันนี้คือประเด็นที่สื่อไปไม่ถึง

เชิงอรรถ

[1] https://www.opsmoac.go.th/contractfarming-dwl-files-392891791822

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า