American Dream: คนดำผู้ยากจน คนขาวผู้ก้าวร้าว

ศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2017

ณ เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

ภาพคนขับรถพุ่งชนฝูงชนแบบไร้สติ กลุ่มคนที่ต่างคว้าของใกล้ตัวใช้แทนอาวุธฟาดใส่คนตรงหน้า ขณะที่บางคนใช้ไม้ไล่ตีอีกคนที่กลางหลังอย่างป่าเถื่อน ธงสัญลักษณ์ฝ่ายใต้ ‘Confederate flag’ จากยุคสงครามกลางเมืองโบกสะบัด และตำรวจพยายามหยุดความรุนแรงนั้นด้วยการใช้โล่กำบังและกระบองฟาดประชาชน

กรอเวลากลับไปก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง กลุ่มคนผิวขาวที่มีแนวคิดขวาสุดโต่ง ตั้งแต่วัยรุ่นยันคนผมหงอกกว่าร้อยชีวิต ออกมาเดินขบวนประกาศพลังแห่งอุดมการณ์ของตน น่ากลัวกว่านั้น พวกเขายังตะโกนขับไล่ทั้งคนผิวดำ LGBTQ และยิว ให้ออกไปจากดินแดนเสรีภาพแห่งนี้

ปมปัญหาสำคัญในเหตุการณ์ชาร์ล็อตส์วิลล์คือ การย้ายอนุสาวรีย์ นายพลโรเบิร์ต อี. ลี ผู้สนับสนุนการค้าทาส – สำหรับฝ่ายใต้ นายทหารเหล่านี้คือวีรบุรุษ บุคคลสำคัญของพวกเขา

คงไม่มีใครคิดว่า กลุ่มคนสวมเครื่องแบบ KKK กลุ่มขวาจัด ถือสีผิว หรือผู้ประกาศตัวเป็นนีโอนาซี จะออกมาสู่ท้องถนนและก่อความรุนแรงทุบตีผู้คนอีกครั้ง ราวกับสหรัฐย้อนเวลาไปยังยุคช่วงต้นศตวรรษที่ 19

แรงปะทะครั้งนี้ได้เปิดแผลเก่าของสังคมอเมริกันขึ้นมาใหม่ ‘การเหยียดผิว’ และการแบ่งแยกของ ‘คนขาวและคนดำ’

แม้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางคือจีน แต่ด้วยความสนใจติดตามการหมุนเหวี่ยงของโลกอย่างไม่ลดจังหวะ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา WAY จึงชวน ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงความขัดแย้งสีผิวครั้งใหม่ และน่าสนใจกว่านั้นสมัยเรียนปริญญาตรี เธอยังอยู่ในพื้นที่ที่ชื่อว่า เป็นแหล่งอาชญากรรมสูงที่สุดในสหรัฐ (ณ เวลานั้น) และเป็นเมืองที่มีแนวคิด racism มากที่สุดในสหรัฐ จากการจัดอันดับเมื่อปี 2016

“ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วรัฐไม่เหลียวแลคนขาวที่จน พอๆ กับไม่เหลียวแลคนดำที่จนนั่นแหละ และอาจเหลียวแลคนดำที่จนน้อยกว่าด้วยซ้ำไป แต่วาสนาคิดว่า รัฐเองก็ชอบมากกว่าที่จะให้คนขาวที่จนเกลียดคนดำที่จนแทนที่จะมาเกลียดรัฐบาล”

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาสุดเมามันกับผู้มีประสบการณ์และเคยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสีขาวดำ บทสัมภาษณ์นี้มีตั้งแต่สถานการณ์รายสัปดาห์ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มขวาจัดเปิดเผยตัวสู่สาธารณะ การเหยียดผิวที่ไม่เคยหายไป จนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและการศึกษา ความไม่เท่าเทียม ที่ทำให้เกิดคนขาวผู้ก้าวร้าว และคนดำผู้ยากจน

ชวนอ่าน: ชาร์ล็อตส์วิลล์: การกลับมาของลัทธิคนขาวสุดโต่ง


ความรุนแรงในชาร์ล็อตส์วิลล์ เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองอย่างไร

เราพอทราบกันบ้างว่า สหรัฐมีระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐ หมายความว่า แต่ละรัฐจะมีเอกราชของตัวเองบางส่วน แต่ที่ใช้นโยบายจากทางรัฐบาลกลางคือ นโยบายต่างประเทศ และนโยบายทางการทหาร แต่นโยบายเศรษฐกิจ การศึกษาหรือกฎหมายอื่นๆ ก็แตกต่างกันออกไป

ความขัดแย้งในสมัยสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1861-1865 การอธิบายสงครามกลางเมืองของเขาก็ยังไม่ตรงกัน ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่อันตราย

คนเหนือที่เป็นฝ่ายชนะสงครามก็จะบอกว่า สงครามเกิดขึ้นเพื่อความเท่าเทียมกัน ที่ทางเหนือต้องการให้ยกเลิกแรงงานทาส ส่วนหนึ่งมาจากที่ทางเหนือเอง เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น ก็ใช้แรงงานทาสลดลง แต่ทางใต้เป็นรัฐที่ทำการเกษตรกรรมเยอะ มีการปลูกยาสูบ ต้องใช้แรงงาน ถ้าเลิกทาสจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคั่งของทางใต้ก็มาจากการค้าทางการเกษตรและค้าทาส

ทีนี้พอมีเรื่องทาสเป็นข้อขัดแย้งที่ทางเหนือกับทางใต้เห็นไม่ตรงกัน ทางใต้บางส่วนก็บอกว่า จะไม่อยู่รวมด้วยแล้ว จะประกาศเอกราชตัวเอง จึงนำมาสู่สงคราม พอสงครามสิ้นสุด ทางเหนือก็เล่าว่า สงครามเกิดเพราะทางใต้ไม่ยอมเลิกทาส แลดูเหมือนทางเหนือเป็นเหมือนพวกพิทักษ์สิทธิมนุษยชน แต่ทางใต้ก็พยายามอธิบายเหตุผลอื่นว่า แต่ละรัฐควรมีสิทธิเลือกที่จะทำอะไร นโยบายทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางไม่ควรเข้ามาก้าวก่าย แต่โดยพื้นฐานแล้ว สงครามก็เกี่ยวข้องกับทั้งสองประเด็น ทั้งเรื่องการควรมีทาสต่อไปไหม และนโยบายทางเศรษฐกิจ เพราะทั้งสองสิ่งมันผูกกัน

เมื่อทางใต้แพ้สงคราม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ พื้นที่ที่เรียกว่า ‘Deep South’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิวมาก คนทั่วไปจะเข้าใจเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทุกส่วนในสหรัฐอเมริกาก็มีการแบ่งแยกประมาณหนึ่ง ถ้าบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่ค่อยมีคนดำอยู่อาศัย ก็ยังคงมีแนวคิดแบบนั้นอยู่

หลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมือง การเหยียดสีผิวดำเนินต่อมาอย่างไร และนานแค่ไหนกว่าจะมีการขึ้นมาของกลุ่มเรียกร้องสิทธิเพื่อคนดำ

แนวคิดดังกล่าวอยู่ต่อมาอีกนานมาก อยู่เป็นร้อยปี มีการแบ่งแยกชัดเจนว่า ขึ้นรถเมล์ต้องให้คนผิวขาวนั่งก่อน คนดำนั่งได้แค่ด้านหลังเท่านั้น สระว่ายน้ำแบ่งเป็นของคนผิวขาวกับคนดำ มีร้านอาหารที่คนดำห้ามเข้า โรงเรียน มหาวิทยาลัยก็ยังแบ่ง ห้ามคนดำเข้าเรียน

มันมีวลีที่ว่า ‘divided but equal’ หมายความว่า เรามีสิทธิเท่ากันนะ แต่เราไม่ผสมกัน คนขาวก็จะรวมกันในชุมชนหนึ่ง คนดำอยู่รวมกันอีกชุมชน กว่าจะมาถึงช่วง Civil Rights Movements คือ ช่วงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกัน ก็อีกพักใหญ่

แน่นอนที่สุดคือ หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุด การเลิกทาสก็เกิด คนดำที่เคยเป็นทาสมาก่อน ยากจนมากๆ ไม่มีอะไรติดตัวเลย ไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการรัฐในระดับเดียวกับกลุ่มคนผิวขาว ดังนั้นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า จุดเริ่มต้นที่แท้จริงก็ไม่เท่าเทียมกันแล้ว จึงใช้เวลานานมากที่จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมา

ในปัจจุบันก็ยังเห็นความไม่เท่าเทียมแบบนั้นอยู่ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐเองก็ตาม อาจารย์ส่วนใหญ่ที่เห็นก็ยังเป็นคนผิวขาว

ทำไมในยุคหนึ่งถึงโยงคนดำเป็นพวกคอมมิวนิสต์

เป็นความรู้สึก เป็นแนวคิดที่ว่า ระบบสวัสดิการ การทำให้คนเท่ากัน คือ สังคมนิยม การที่รัฐจ่ายเงินสนับสนุนให้กับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐให้มีคุณภาพ ให้เงินช่วยเหลือ อะไรต่างๆ โดยที่เอามาจากเงินภาษี

เคยได้ยินคำว่า American Dream ใช่ไหม คือถ้าเธอทำงานหนักมากพอ เธอก็จะรวยขึ้นมาได้ จากเสื่อผืนหมอนใบก็รวยได้ ซึ่งอันนี้เป็นแฟนตาซีทุนนิยมสุดโต่งมาก คนที่มีแนวคิดเหล่านี้ก็จะมีความรู้สึกว่า เก็บภาษีแพงๆ มีประกันสุขภาพ หรือการศึกษาให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม คือ คอมมิวนิสต์

ถ้าในยุโรป นโยบายแบบนี้คือ รัฐสวัสดิการเป็น social democracy อย่างปัจจุบันนโยบายสุขภาพของโอบามา ‘Obamacare’ ที่พยายามจัดการให้ทุกคนได้ประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน ก็ถูกฝ่ายทรัมป์มองว่า เป็นคอมมิวนิสต์

ฉะนั้นการที่คนดำออกมาเรียกร้องว่า ลูกตัวเองควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม มนุษย์ควรมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ได้รับการดูแลจากรัฐบาลเท่ากัน คนดำพวกนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ American Dream

แนวคิดนีโอนาซีเข้าไปในสหรัฐได้อย่างไร ในเมื่อคนอเมริกันก็ต้องรู้ว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างเคยเป็นขั้วตรงข้ามกันมาก่อน

ต้องบอกว่า เรื่องเหยียดสีผิวหรือการคัดเลือกทางพันธุกรรม ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของนาซีแต่เพียงอย่างเดียว แนวคิดลักษณะนี้มันแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ 19 นักคิดหลายคนก็คิดแบบนี้ ฝรั่งเศสถึงขั้นทำงานวิจัยกันว่า ผู้หญิงสลาวิค (Slavic) หรือยุโรปตะวันออก ที่เข้ามาทำงานเป็นโสเภณี เป็นเพราะว่า มีขนาดสมองที่เล็กกว่า เลยมีแนวโน้มต้องทำอาชีพแบบนี้มากกว่า

หรือในสหรัฐ ก็มีงานวิจัยออกมาว่า คนดำเป็นคนละสปีชีส์กับคนผิวขาว มีขนาดสมองเล็กกว่า มีร่างกายกำยำกว่า ควรเอามาใช้เหมือนม้าเหมือนวัว ซึ่งงานวิจัยจำพวกนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก แล้วก็มีความห่วงกังวลว่า ถ้าคนดำกับผิวขาวแต่งงานกัน ลูกออกมาอาจได้รับโรคทางพันธุกรรมของชาวผิวสี

ความเหยียดทางเชื้อชาติเป็นสิ่งที่มีรากของมันอยู่แล้วในทุกสังคม แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีภาพของฮิตเลอร์หรือนาซีเยอรมันขึ้นมา ที่สร้างสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อแทนความคิดเหล่านั้นได้ดี คนก็เลยหันมาใช้สัญลักษณ์เหล่านี้ เพื่อทดแทนการต้องมานั่งอธิบายว่า ฉันไม่ชอบคนผิวสี ไม่ชอบยิว ไม่ชอบ LGBT โชว์สัญลักษณ์สวัสติกะรู้เลย คือ ฉันคิดเหมือนฮิตเลอร์ เพราะแนวคิดของฮิตเลอร์ก็ไม่ได้มาจากฮิตเลอร์คนเดียว

ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 คนดำเคยออกมาเรียกร้องสิทธิกันบ้างไหม

จริงๆ แล้วมีนักกิจกรรมผิวสีออกมากันเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนสงครามกลางเมือง แต่วาสนามองว่า ที่เริ่มเยอะขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูแล้วก็สอดคล้องกับที่อื่นๆ ในโลก ที่เกิดรัฐชาติ รัฐเอกราชขึ้นมา ประเทศตะวันตกที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมก็เริ่มถอยออกมา เริ่มมีความรู้สึกร่วมกันว่า ทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ควรมีประเทศใดตกเป็นอาณานิคมใคร

ทำให้เกิดการย้อนกลับมามองว่าแล้วสหรัฐล่ะ มีความเท่าเทียมกันหรือยัง เป็นการเคลื่อนไหวช่วงเดียวกันกับที่แอฟริกาใต้ ที่มีการต่อต้านลัทธิถือสีผิว หรือ Apartheid จนกลายเป็นกระแสทั่วโลก กลายเป็นแรงกดดันจากข้างนอก ประกอบกับชุมชนคนดำที่ก่อร่างสร้างตัวมาพอสมควร อย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จึงทำให้เกิดกระแสเหล่านี้ขึ้นมา

ลักษณะของการแบ่งแยกชัดเจนว่าคนดำห้ามทำกิจกรรมร่วมกับคนขาว หรือห้ามเข้าสถานที่เดียวกันกับคนขาว รัฐทางเหนือมีบ้างไหม หรือมีเฉพาะทางใต้

ทางเหนือก็มีเหมือนกันค่ะ อาจแรงมากกว่าทางใต้ คือพูดง่ายๆ ทางใต้มีคนดำอยู่เยอะกว่า ดังนั้น จึงมีพื้นที่ที่ใช้อะไรร่วมกันเยอะกว่า ความเคยชินจะมากกว่า

ส่วนหนึ่งหรือปัจจัยอย่างหนึ่งคือ ทางใต้มีคนดำอยู่เยอะกว่าทางเหนือ แต่ที่น่าสนใจมากคือ ระบบสหพันธรัฐของสหรัฐเอง นโยบายอย่างหนึ่งที่รัฐทุกรัฐสามารถจัดการเองได้ คือ การศึกษา ดังนั้น ย่านที่คนรวยอยู่ก็จะเสียภาษีบำรุงการศึกษาแพง โรงเรียนที่อยู่ย่านนั้นก็จะเป็นโรงเรียนที่ดี ตรงกันข้ามกับย่านคนจน เมื่อจ่ายภาษีน้อยกว่า โรงเรียนก็แย่กว่าอีกย่าน พอคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่ภาษีที่จ่ายมากหรือจ่ายน้อยกว่าเท่าไร ก็กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นกันว่า คนรวยได้รับการศึกษาที่ดีกว่า แล้วคนรวยโดยมากเป็นคนผิวขาว พอมีคนดำสักคนที่ทำมาค้าขึ้น มั่งคั่งขึ้นมาก็อยากให้ลูกตัวเองได้เรียนโรงเรียนดีๆ ก็ย้ายไปอยู่ย่านคนขาว ก็จะเกิดแนวคิดเหยียดกันขึ้นมา

การเดินขบวนของกลุ่มผิวขาวสุดโต่งที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ พวกเขายังคงเชื่อในแนวคิดคนดำเป็นทาสอยู่หรือเปล่า

เชื่อในแนวคิดของความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งก็มีคนเชื่ออยู่บ้าง และมีการอ้างอิงสถานภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่บางอย่างเป็นการขัดเกลาทางสังคมหรือทางศาสนาด้วยซ้ำไป

อย่างที่เราเห็นธงที่ถือกันเยอะในการเดินขบวนที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ คือ ธงสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate Flag) ก็บอกเลยว่า ฉันเชื่อในอุดมการณ์คนใต้ในสมัยสงครามกลางเมือง คือ เชื่อว่าคนดำควรเป็นทาส

เวลาคนบ่นเรื่องทัวร์จีน หรือคนที่หาคนเลี้ยงเด็ก แต่ไม่อยากได้คนกะเหรี่ยงหรือพม่า จริงๆ ก็เป็นแนวคิดแบบ racism ไม่ใช่เหรอ ที่สหรัฐก็เช่นกัน

การออกมาเดินขบวนครั้งนี้ พวกเขาต้องการสื่ออะไร

ในความเป็นจริง อย่างที่บอก บริเวณที่จ่ายภาษีเยอะ อุ๊ย บังเอิญจังเลย มีแต่คนผิวขาว แล้วบริเวณที่จนมากๆ ก็บังเอิญจังเลย มีแต่คนดำอยู่กัน

หลังจากที่เลิกทาสแล้ว ต่างก็แยกกันอยู่ตามชนชั้นทางเศรษฐกิจ ที่นี้ก็จะมีคนขาวที่เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นกรรมกร ไม่มีทางได้ลืมตาอ้าปาก พวกเขาก็มีความรู้สึกว่า ฉันเป็นคนขาวนะโว้ย ทำไมฉันจน ทำไมฉันไม่ได้มีชีวิตที่ดีกว่าคนดำ

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วรัฐไม่เหลียวแลคนขาวที่จน พอๆ กับไม่เหลียวแลคนดำที่จนนั่นแหละ และอาจเหลียวแลคนดำที่จนน้อยกว่าด้วยซ้ำไป แต่วาสนาคิดว่า รัฐเองก็ชอบมากกว่าที่จะให้คนขาวที่จนเกลียดคนดำที่จนแทนที่จะมาเกลียดรัฐบาล

การรื้อถอนอนุสาวรีย์วีรบุรุษในช่วงสงครามกลางเมืองเลยเป็นแรงกระตุ้น?

คนที่เกี่ยวข้องกับทาส อย่างเช่น โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่สาม เป็นผู้ร่างประกาศอิสรภาพ มีชื่ออยู่ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเจ้าของทาส ซ้ำยังข่มขืนทาส แล้วพอทาสท้อง ก็เอาลูกทาสมาเป็นทาสต่อ แล้วยังมาจากเวอร์จิเนียด้วย ซึ่งพอมานั่งคิดดีๆ ตามมาตรฐานศีลธรรมในปัจจุบันแล้วมันแย่มาก

โดยทั่วไปแล้ว คนอเมริกันมองว่าเขาเป็นรัฐบุรุษอยู่แล้ว แต่พอมาย้อนมองดูสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติต่อทาสก็เห็นชัดว่า เขาก็ทำอะไรไม่ดีหลายอย่าง ก็เลยมีคนกล่าวว่า เจฟเฟอร์สันไม่ควรเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ ไม่ควรมีหน้าเขาอยู่บนธนบัตร แต่ก็มีบางส่วนบอกว่า เขาเป็นรัฐบุรุษ เป็นประธานาธิบดีนะ เขาก็ทำอะไรให้ชาตินะ แล้วมันก็เป็นวัฒนธรรมในสมัยนั้น ใครๆ ก็มีทาสกัน ความเห็นก็เริ่มไม่ตรงกัน

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณพูดว่าเจฟเฟอร์สันทำได้เพราะว่าวัฒนธรรมสมัยนั้นมันถือว่าไม่ผิด นั่นก็เท่ากับว่า สิ่งที่เจฟเฟอร์สันข่มขืนทาสคุณก็ยอมรับได้เหรอ ถ้ามันมี bottom line ของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหนก็ทำไม่ได้ การข่มขืนก็คือการข่มขืนอยู่ดี

อย่างที่อาร์เจนตินาเองก็มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมือง แล้วพยายามทำให้สังคมอาร์เจนตินามีแต่คนผิวขาว เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยประวัติศาสตร์ และคนที่เป็นแกนนำแนวคิดเหล่านี้ก็คือผู้นำทางการเมืองเอง ดังนั้นก็จะมีหน้าของพวกเขาอยู่ในธนบัตรหรือมีอนุสาวรีย์เชิดชูเขาเอง พอเริ่มมีการออกมาประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนในอาร์เจนตินากันมากขึ้น ก็เริ่มจัดการเรื่องราวเหล่านี้

ทำไมถึงเพิ่งมาชำระชุดความคิดหรือประวัติศาสตร์กันตอนนี้

คิดว่าเราเพิ่งเห็นความสำเร็จของการรื้อถอนอนุสาวรีย์ในช่วงนี้มากกว่า แต่จริงๆ เป็นแคมเปญที่มีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยเราเรียนอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ถนน ไม่ให้ดู racist

อย่างยาสีฟันปัจจุบันยี่ห้อ ดาร์ลี่ (Darlie) ก็มาจาก ดาร์กี้ (Darkie) หรือสัญลักษณ์ของทีมอเมริกันฟุตบอลที่ดูแล้ว racist เกินไป ก็ต้องเปลี่ยน ตอนนี้เราเพียงเห็นผลของแคมเปญดังกล่าว หรือคนส่วนใหญ่เพิ่งคิดกันได้

การออกมาแสดงว่าตัวเองเป็นพวก racist ถือว่าผิดกฎหมายไหม หรือแค่ผิดทางสังคม

เดินอย่างเดียวออกมาเดินได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ว่าในขณะเดียวกัน คนอื่นก็ประท้วงคุณได้เช่นกัน เราจึงเห็นภาพม็อบชนม็อบจนนำมาสู่ความรุนแรงตามมา

ในสหรัฐ การเดินขบวนถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน วาสนามีญาติทำงานอยู่ใน National Guard แล้วต้องไปประจำที่จอร์เจียอยู่ทางใต้ เขาก็เล่าว่า จำได้แม่นเลย มีพวก redneck (ชนชั้นแรงงานผิวขาว) หัวรุนแรงมาขอเดินขบวนที่ศาลาว่าการฯ ก็ทำเอกสารเยอะแยะมากมาย จะเดินทีไม่ใช่เดินได้เลยนะ ซึ่งเขาก็ขออนุมัติเดินขบวนได้สำเร็จ แต่เป็นภาพการเดินขบวนที่มีรถกระบะหนึ่งคัน กับคนไม่ถึงสิบคน แล้วป่าวประกาศอุดมการณ์ของตน

ที่นี้ พื้นที่ที่เขาจะเดินมันจะต้องเดินผ่านเป็นชุมชนของคนดำ พวก redneck ก็กลัวว่าจะเกิดอันตรายได้ จึงให้ National Guard ไปเดินคุ้มกัน ซึ่งย้อนแย้งมากคือ National Guard ส่วนใหญ่เป็นคนดำ เลยกลายเป็นภาพที่ให้เมสเซจต่างออกไป

แต่ในแง่นี้คิดว่าเสรีภาพในการพูดของสหรัฐมันเกินเลยกว่าที่ยุโรปจะอนุญาตไปมาก

คล้ายๆ กับว่า คนขาวที่มีแนวคิดสุดโต่งเหล่านั้น เขาไม่ได้นึกถึงสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์?

ในแง่หนึ่งเราก็ต้องพยายามเห็นใจเขานะ วาสนาคิดว่ามันเป็นความเจ็บป่วยที่มีปัญหามาจากโครงสร้างทางสังคม

ถ้าดูคนขาวเหล่านี้ จำนวนมากเป็นผู้ใช้แรงงาน ไม่ได้มีการศึกษามาก อยู่ในสภาพที่ไม่มีอนาคต เขาก็มีความรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ช่วยเขา หรือทำไมเขาไม่ดีขึ้นมาสักที ประกอบกับรัฐเองก็ชอบพูดว่า ที่พวกแกจน ก็เพราะว่าคนเอเชีย คนดำ เข้ามาแย่งงาน เพื่อที่ว่าให้คนข้างล่างเกลียดกันเอง จะได้ไม่หันมาต่อต้านผู้ปกครอง ซึ่งก็ไม่ใช่ เป็นเพราะรัฐจัดสวัสดิการไม่ดีมากกว่า

ไม่ใช่แค่สหรัฐที่เดียว แต่เป็นปัญหาหลายๆ ที่ อย่างบ้านเราก็เคยมี เช่น นโยบายเกลียดคนจีน หรือชาวนาจนเพราะโรงสี พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ ส่วนหนึ่งก็อาจใช่ แต่อีกส่วนก็ไม่ใช่ ที่ชาวนายากจนก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐไม่ใช่เหรอ ที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ

หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่เจอด้วยตนเองเลย สมัยเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คืนหนึ่งระหว่างปั่นจักรยานจากวัดพุทธกลับบ้าน (นั่งสมาธิมากไปกลัวเจอผี) เจอแก๊งเด็กวัยรุ่นอังกฤษใช้ไม้เบสบอลตีเข้าที่หัว โชคดีที่ใส่หมวกกันน็อค ไม่งั้นคงไม่ได้นั่งอยู่นี่แล้ว จังหวะนั้นคือมึนงงอยู่ แต่ก็รีบปั่นหนีออกมาระหว่างที่พวกเขายืนด่าเรา เพราะคิดว่าเราเป็นคนจีน

พอมาย้อนนึกดูแล้ว ถ้าเราเป็นเขาก็แอบโกรธเหมือนกันนะ ชุมชนที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เป็นเมืองอุตสาหกรรมแบบนี้ แถมคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยนั้นก็มีแต่พวกคนรวย จะเห็นแต่หน้าจีนๆ หน้าแขกๆ ชาวต่างชาติมาเรียนเต็มไปหมดเลย ทั้งๆ ที่ละแวกรอบข้างมหาวิทยาลัยเป็นโรงงานอุตสาหกรรม พ่อแม่เขาเป็นกรรมกร ปู่ย่าตายายก็เป็นกรรมกร รุ่นเขาก็เป็นกรรมกรต่อไป มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่า คนที่เกิดและโตมาจากสภาพแวดล้อมสังคมแบบดังกล่าวจะสามารถได้ทุนมาเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด

คือเขาเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนจีน แต่เข้าใจถูกว่า เราเป็นนักเรียนออกซ์ฟอร์ด ดังนั้น เราก็ได้ในสิ่งที่เขาไม่ได้และไม่มีวันจะได้ แม้สิ่งที่เขาทำจะไม่ถูกแต่เราก็เข้าใจ

เราจึงเข้าใจได้ว่า รากเหง้าในอเมริกาที่เป็นพวกขวาสุดโต่งหรือ Neo-Nazism มันมาจากไหน คือ รัฐไม่ดูแล เขาไม่เห็นทางจะเดินต่อ ก็ต้องเกลียดใครสักคน ถ้าให้เลือกก็เกลียดคนผิวสีละกัน มันง่ายดี

 

ที่สหรัฐ เป็นสิ่งที่เข้าใจกันโดยพื้นฐานเลยใช่ไหม ว่าหากคนดำถูกตำรวจผิวขาวจับ เขาจะไม่ได้รับความยุติธรรมมากเท่ากับคนผิวขาว

ในระบบกฎหมายแล้ว ส่วนมากในคุกมีแต่คนดำ ถ้าคุณเป็นคนดำและไปฆ่าคนขาว แนวโน้มก็แน่นอนว่ายังไงคุณก็ต้องติดคุก ดีไม่ดีก็อาจโดนประหารชีวิตด้วย สิ่งที่เราเห็นส่วนใหญ่คือ ตำรวจที่เป็นคนผิวขาวมักใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ดังนั้นคิดว่าไม่มีคนดำที่มีสติดีที่ไหนคิดจะไปฆ่าคนขาวหรอก

แต่ก็อาจเป็นลักษณะ gang violence ที่แบบ แกขายยาทับที่ฉัน แต่ไม่ใช่เพราะว่าเรื่องสีผิวแน่นอน

แล้วมันมีอีกอย่างที่เรียกว่า racial profiling คือ การคาดการณ์ว่า คนที่ก่ออาชญากรรมส่วนใหญ่และคนที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่เป็นคนดำ ดังนั้นถ้าเห็นคนดำเดินเพ่นพ่านตอนกลางคืน ก็อาจสันนิษฐานแบบนั้นได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นความคิดที่เหยียดมาก แม้ว่ามันจะจริงในบางครั้งก็ตาม

หรือการสุ่มตรวจกระเป๋าหลังเหตุการณ์ 9/11 คือไม่ได้สุ่มจริง แต่ดูตามพาสปอร์ต ถ้าเป็นพวกตะวันออกกลางคือโดนเรียกแน่นอน และถ้าใครถือพาสปอร์ตเยอรมันก็อาจโดนเช่นกัน เพราะว่าคนขับเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดถือพาสปอร์ตเยอรมัน

อย่างเหตุการณ์ช่วงโรคซาร์สระบาด อันนี้เพื่อนพ่อเราเป็นคนจีน แล้วเขากลับไปเยี่ยมญาติที่เซี่ยงไฮ้ เสร็จธุระก็กลับมาสหรัฐ คือทุกคนบนเครื่องบินโดนตรวจหมดเลย ยกเว้นพ่อเพื่อนเรา แต่คนจีนคนอื่นโดนหมด แต่เพื่อนพ่อเราเป็นคนจีนถือพาสปอร์ตสหรัฐกลับไม่โดนตรวจ ทั้งๆ ที่นั่งเครื่องบินลำเดียวกัน มาจากเซี่ยงไฮ้เหมือนกัน คืออะไร การถือพาสปอร์ตสหรัฐทำให้ไม่ติดโรคซาร์สเหรอ  (หัวเราะ)

ส่วนหนึ่งของการเหยียดต่างๆ มาจากนโยบายภาครัฐเองด้วย?

ใช่ มาจากนโยบายภาครัฐ จริงๆ ต้องยอมรับ…  ถ้าพูดตรงๆ ล่ะก็ พวกหัวก้าวหน้าหรือ liberal ในสหรัฐ แม้แต่คนในวงวิชาการทั้งหลาย ก็มีความตกใจกลัวมาก แย่แล้ว ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เราจะต้องกลายเป็นประเทศ racist แน่ๆ เลย

วาสนาก็บอกว่า ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ว่าทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง แล้วทรัมป์จะทำให้ประเทศเป็น racist แต่ประเด็นคือ มีคน racist มากพอที่จะเลือกทรัมป์ และทำให้ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีต่างหาก คือความเหยียดสีผิวมีอยู่แล้ว แล้วคนนี้ถึงได้รับเลือก

โอเค ทรัมป์อาจพูดหรือทวีตอะไรไม่เข้าท่าทุกวันๆ คนที่ racist อยู่แล้ว เป็น Ne-Fascists หรือ Neo-Nazism อยู่แล้ว โอเค เขาอาจรู้สึกว่าสามารถแสดงตัวได้ เพราะประธานาธิบดีอยู่ข้างเขา โดยที่ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีเป็นผิวสีก็อาจไม่สะดวกที่จะทำอะไรในลักษณะเช่นนี้

ถือว่าทรัมป์เป็นชนวนที่ให้พวกเขาออกมาแสดงพลังได้ไหม

เขาก็คิดว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศประชาธิปไตย และทรัมป์เองก็เป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง พอเกิดเหตุรุนแรง ทรัมป์ก็ไม่ออกมาประณาม พูดเพียงว่า เป็นความรุนแรงที่มาจากทั้งสองฝ่าย เท่ากับว่าประธานาธิบดีสนับสนุนเขา

แง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ใช่ ทรัมป์มาจากระบบการเลือกตั้งที่ถูกต้อง ถ้าถามคนที่ยุโรปหรือเยอรมนีก็จะบอกว่า พื้นฐานทางประชาธิปไตยแล้ว ไม่ได้ให้สิทธิคุณมาละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะฉะนั้น คุณก็ไม่สามารถ free speech ได้ทุกเรื่อง คุณจะพูดว่า ฉันต้องการฆ่าคนดำให้หมด อันนี้ไม่ได้ ไม่ครอบคลุมอยู่ใน free speech (หัวเราะ)

แต่ว่าในสังคมเองมีคนที่รู้สึกแบบนี้อยู่มาก ทำไมล่ะ ก็ free speech ไง ทำไมฉันจะไม่สามารถพูดได้ว่า คนดำสมองเท่ากับลิง พวกเขาควรตายไปให้หมด คือก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า คุณมีเสรีภาพในการพูดจริง แต่ไม่มีสิทธิมาพูดทำร้ายคนอื่น

เอาเข้าจริงแล้ว คนอเมริกันเองก็ไม่ค่อยยอมรับกันว่าเขา racist  หรอก สมัยโอบามาก็มี มันน่าสนใจตรงที่พอโอบามาเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก คนก็ออกมาพูดกันว่าสหรัฐไม่มีเรื่อง racist แล้ว ซึ่งความเป็นจริงแล้วมีอยู่เรื่อยๆ ประเด็นคือ ถ้าปัญหานี้ไม่อยู่ในโอบามาสองสมัย ทรัมป์จะไม่ได้รับเลือกตั้ง

โดยส่วนตัวก็ไม่สามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า ทรัมป์เป็นพวก racist ไหม เพราะทรัมป์เป็นนักธุรกิจ อยู่ในฮอลลีวูดมาประมาณหนึ่ง ทรัมป์ต้องรู้ว่าการเป็น racist แน่นอนว่าส่งผลเสียต่อธุรกิจเขาแน่ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ส่วนใหญ่เป็นพวก racist ทรัมป์ก็จะมีวิธีพูดที่ออกมาในแบบก้ำกึ่งให้คิดแบบนั้น

เหตุการณ์ในชาร์ล็อตส์วิลล์ ที่มีคนขับรถพุ่งชนฝูงชน ผู้สื่อข่าวก็ไปถามแม่เขาว่า รู้ไหม ว่าลูกทำอะไรแบบนี้ แม่เขาก็ตอบว่า ไม่น่าเชื่อเลยนะว่าเขาจะทำแบบนี้ เขาก็มีเพื่อนเป็นคนดำเหมือนกันนะ คือฉันก็ไม่เห็นด้วยกับเขาทางการเมือง แต่เราก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้กัน ฉันนึกว่าเขาไปชาร์ล็อตส์วิลล์เพื่อไปเดินสนับสนุนทรัมป์

ดังนั้นในแง่หนึ่งการที่ประธานาธิบดีไม่ออกมาประณาม ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าทรัมป์อาจสนับสนุนกลายๆ แต่ที่เราเห็นข่าวเยอะ เพราะมันผ่านตัวประธานาธิบดีเอง อุ๊ย ประธานาธิบดี racist สหรัฐกลับมาเป็น racist อีกแล้ว ไม่ใช่ ปัญหามันไม่เคยหายไปไหนต่างหากละ ยุคโอบามาก็มี

เหมือนอังกฤษที่มี Brexit คนก็ออกมาพูดกันว่า แย่แล้วทำไมอังกฤษเป็นแบบนี้ ทำไมมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพคือพูดตรงๆ นะคะ ดิฉันอยู่อังกฤษมาสี่ปีบอกได้เลยว่า อังกฤษ racist มาก แค่พวกเขาไม่ยอมรับกัน (หัวเราะ)

Brexit เกิดขึ้นมาได้เพราะว่า มีคน racist จำนวนมาก อังกฤษจึงเลือกที่จะมีนโยบายแบบนี้ ไม่ใช่ว่ามี Brexit แล้วถึงจะ Racist

หลังจากเหตุการณ์ที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ อาจารย์มองว่าจะมีเมืองอื่นๆ จากรัฐทางใต้อื่นๆ ออกมาแสดงอะไรแบบนี้อีกไหม

ตราบเท่าที่รัฐบาลไม่ออกมาแสดงท่าทีให้มันชัดเจน ทรัมป์ยังไม่ออกมาประณามอะไรชัดเจน ก็คิดว่ามันคงจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เรื่อยๆ

แต่ทรัมป์ก็ออกมาประณามแล้วว่า “Racist is evil”

ตอนนี้เหมือนพูดเพราะว่าได้รับแรงกดดัน ต้องดูไปอีกทีว่าจะมีการได้รับโทษอย่างจริงจัง หรือมีการห้ามไม่ให้มีการป้องกันให้ออกมาเดินขบวนแบบนี้อีก

อย่างผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียที่ออกมาพูดแต่วันนั้นเลยว่า “Go home ที่นี่ไม่ต้อนรับคุณ” คือถ้ารัฐบาลกลางทำแบบนั้นอย่างชัดเจนก็อาจช่วยได้

กล่าวได้ไหมว่า การที่คนขาวที่มีแนวคิดขวาสุดโต่งออกมาทำความรุนแรงเช่นนี้ ถือว่าเป็นเพราะคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มีคุณภาพ?

ก็มีการพูดกันว่า คนอเมริกันบางคนที่ไม่เคยไปต่างประเทศเลย อยู่แต่ในหมู่บ้านตัวเอง ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ถามว่าเกาหลีเหนืออยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่ไปชี้ออสเตรเลีย แล้วก็มาเฮๆ กับการที่ทรัมป์จะไปถล่มเกาหลีเหนือ

แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจเนอะ วาสนามองว่าที่คนเลือกทรัมป์เป็นเพราะว่าไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมาของโอบามา ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ เขาอาจไปโทษไม่ถูกต้องว่าเป็นเพราะนำไปใช้กับประกันสุขภาพมากเกินไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจมันก็ไม่ได้ดีขึ้น เขาก็รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาตรงนี้เท่าที่ควร

แต่ก็มีบางคนที่เลือกทรัมป์เพราะเห็นคนพูดเยอะดี แต่จริงๆ มันก็มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น

สมัยโอบามา ความรุนแรงในสงครามต่างๆ ที่สหรัฐเข้าไปมีส่วนรุนแรงมากกว่าประธานาธิบดีบุชพ่อลูก (จอร์จ บุช และ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช) รวมกันเสียอีก ซึ่งความรุนแรงในสมัยทรัมป์ก็ยังไม่เกินเลยจากสมัยโอบามาเลยสักนิด จริงๆ แล้วสมัยโอบามาก็มีปัญหาเยอะ เพียงแต่เขามีภาพลักษณ์ที่ดี

แต่มันก็น่าแปลกที่ว่า กลับกลายเป็นคนรุ่นใหม่เสียเองที่ลุกฮือกันซะเยอะในเหตุการณ์ความรุนแรงชาร์ล็อตส์วิลล์

สมมุติว่ามีตำนานหนึ่งว่า คนรัฐนี้เป็นคนที่มี DNA มาจากพระเจ้า คู่ควรที่จะได้รับอะไรมากกว่าคนอื่น แล้วเราเป็นคนรัฐนั้นเหมือนกันแต่ดันจน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ชีวิตบัดซบทุกสิ่งอย่าง ไม่รู้จะแก้อย่างไรดี แล้วมีคนบอกว่า เราเป็นคนพิเศษ เป็นคนที่พระเจ้าเลือกไว้ และแกมีสิทธิเพียงเพราะว่าแกเป็นคนรัฐนี้ ไม่ต้องมีอย่างอื่นใดเลย คือเป็น ideology ที่เราก็พอมองออกเนอะ ว่าเขาจะรู้สึก feel good กับตัวเองขนาดไหน เพียงแค่ยูผิวขาว ยูก็ดีกว่าคนอื่นแล้ว

แถวๆ นี้ก็มีคนพูดเหมือนกันใช่ไหม ว่าฉันภูมิใจที่ฉันเกิดมาเป็นคนไทย ฉันดีกว่าพม่า ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ซึ่งการที่จะตกเป็นเมืองขึ้นหรือไม่เป็น เราก็ยังไม่เกิดเลยไม่ใช่เหรอ แล้วมีอะไรให้ภาคภูมิใจว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น ตัวคุณไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เพิ่งเกิดเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว แล้วจะมาภาคภูมิใจอะไร แต่ว่ามันง่ายไง ฉันเกิดเป็นคนไทย ฉันภูมิใจมากเลย

กระแสขวาสุดโต่งแบบนี้เป็นกระแสโลก ณ ตอนนี้ด้วยหรือเปล่า

ก็อาจมองได้ว่ามันเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งด้วย แต่อีกแง่หนึ่ง เราคิดว่า มันมีบริบทการเมืองภายใน แย่งชิงพื้นที่กันพอสมควร เราอาจเคยได้ยินว่า ไม่นานมานี้มีแคมเปญ ‘Black Lives Matter’ ต่อต้านกรณีที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐใช้ความรุนแรงกับคนดำ ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ออกมาโต้กลับว่า ‘All  Lives Matter’

อีกอย่างที่กระพือเยอะมากก็คือ แคมเปญช่วงก่อนการเลือกตั้งของแคนดิเดทประธานาธิบดีเอง หนึ่งปีที่แคมเปญกันอย่างหนัก ทำให้คนสุดโต่งมาก ช่วงปีที่แล้ว ที่รณรงค์แคมเปญหาเสียงกันในสหรัฐ เบอร์นี แซนเดอร์ส หนึ่งในคู่ท้าชิงกับ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ซึ่งถ้าย้อนไปถึงสมัย โรนัลด์ เรแกน ซึ่งเป็นรีพับลิกัน ประธานาธิบดีช่วงสงครามเย็น จะเห็นเลย เรแกน progressive กว่าโอบามาเยอะเลยนะ

คนอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ถ้าไปอยู่สมัย จิมมี คาร์เตอร์ หรือสมัยเรแกน จะเป็น liberal ไปเลย แต่เบอร์นีในยุค 2017 กลายเป็นพวกคอมมิวนิสต์เสียอย่างนั้น เทรนด์ก็มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

คือเบอร์นีไม่ได้หัวรุนแรงเลย แค่บรรยากาศทางการเมืองทำให้คิดเช่นนั้น เพียงแต่เขาอาจเกินไปสำหรับเดโมแครต จึงส่งผลให้ ฮิลลารี คลินตัน ได้เป็นแคนดิเดตแทน แล้วฮิลลารีก็มีความเป็นอนุรักษนิยมมากพอที่จะไม่ดูเป็นคอมมิวนิสต์

ความขวาจัดจึงถูกกระพือเพื่อสนับสนุนทรัมป์ ส่วนอีกด้านก็ถูกกระพือเพื่อสนับสนุนฮิลลารี ประกอบกับพวกคนผิวสีและชาวละตินเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญของเธอ วาสนาคิดว่า แคมเปญตรงนั้นเป็นส่วนกระตุ้นที่สำคัญ พอทรัมป์ชนะ ฝ่ายขวาสุดโต่งเลยคิดว่าตัวเองชนะด้วย

มีแนวคิดแบบคนดำเหยียดคนผิวขาวบ้างไหม

มันเคยมีคำพูดว่า Reverse Racism คือ กีดกันคนขาว แต่ว่าเพื่อนเราที่เป็นคนเยอรมันบอกว่า สิ่งนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นหรอก

เพราะไม่ว่าอย่างไร โครงสร้างทางสังคมก็สร้างให้คนผิวขาวมีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีคนดำคนหนึ่งที่คิดเหยียดคนผิวขาว แต่ว่าบริบทในสังคม ไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่เขาจะได้เปรียบเหนือกว่าคนผิวขาว ไม่สามารถทำได้เลย เพราะโครงสร้างทางสังคมไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย

คือต่อให้ไปประเทศแถบแอฟริกาหรือเฮติก็ตาม พื้นที่ตรงนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งผิวขาวอยู่ดี

แล้วกรณีคนดำเหยียดเอเชียหรือชาติอื่น?

อาจจะมีบ้างที่คนดำเกลียดคนเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องเศร้ามาก คุณสามารถไปหาในกูเกิลได้ ‘LA riots’ เกิดขึ้นเมื่อ 1992 มีเคสที่ตำรวจฆ่าคนผิวดำอย่างไร้สาเหตุ พอขึ้นศาล ตำรวจก็รอดตัวไป คนดำเลยไม่พอใจไปเผา Korean Town คือใช่เหรอ คนเกาหลีก็งงสิ ว่ากูไปทำอะไร ตำรวจก็เป็นคนผิวขาว

ในแง่หนึ่ง เรามองว่า ทำให้คนกลุ่มน้อยหรือคนเอเชียรู้สึกว่า คนผิวดำอันตราย ซึ่งสื่อฮอลลีวูดก็ให้ภาพแบบนั้นเยอะ อีกด้านหนึ่งยังทำให้คนดำเองรู้สึกว่า คนเอเชียได้อภิสิทธิ์ต่างๆ มากกว่าตน เช่น ทำไมลูกเอเชียนอเมริกัน เรียนมหาวิทยาลัยแพงๆ กันทั้งนั้นเลย มันไม่ยุติธรรม ทำไมเราคนผิวสีเหมือนกันทำไมไม่ได้แบบนั้นบ้าง เราอยู่มานานกว่า

หรืออย่างคำว่า ‘Banana’ คือ ฉันเป็นเอเชียนอเมริกันนะ คือ ข้างนอกฉันผิวเหลืองแต่ข้างในฉันคิดเหมือนคนขาว คิดแบบคนอเมริกัน แล้วก็จะอยากเข้าไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกคนขาว ดังนั้นก็จะมีคนเอเชียบางกลุ่มเหมือนกันที่รังเกียจคนดำ

ไม่ต่างกัน คนเอเชียนอเมริกันที่ดูถูกเพื่อนนักเรียนต่างชาติ เอเชียด้วยกันเองก็มี จำได้สมัยเรียนจะมีคำว่า ‘FOB’ ที่มาจากคำว่า Fresh off the Boat กล่าวคือ เอเชียนอเมริกันจะไม่คบกับนักศึกษาที่ถือพาสปอร์ตต่างชาติ เพราะเป็นพวกบ้านนอกเข้ากรุง

ได้ยินมาว่ารัฐที่อาจารย์ไปเรียนสมัยปริญญาตรี เป็นรัฐที่ได้ชื่อว่า racist ที่สุดในสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา

(หัวเราะ) มันน่าสนใจตรงที่ว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐจำนวนมากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ราคาสูง หลายๆ มหาวิทยาลัยอยู่ในเมืองใหญ่แต่เป็นโซนที่จนที่สุดของเมืองนั้น เช่น มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยก็อยู่ในเซาธ์ไซด์ (Southside) ซึ่งเป็นพื้นของคนผิวดำ อยู่กันอย่างแออัดและเสื่อมโทรม หรือมหาวิทยาลัยเยลก็ตั้งอยู่ในนิวเฮเวน (New Heaven) ย่านที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มหาวิทยาลัยชิคาโกที่ตัวเองเรียนจบมา มีนักศึกษาที่รวยเยอะมาก เช่าคอนโดหรือเช่าบ้านอยู่ ในขณะเดียวกันชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัยกลับเป็นชุมชนที่จนมาก จึงเกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทางการศึกษา

แง่หนึ่งก็ต้องยอมรับ มหาวิทยาลัยมีอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับรางวัลโนเบลเยอะมาก แต่ถามว่ามหาวิทยาลัยเคยทำอะไรเพื่อสังคม ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยบ้างไหม คงตอบว่าน้อย

ช่วงที่เรียนอยู่เมื่อปี 1999-2003 เป็นช่วงที่ชิคาโกได้ชื่อว่าเป็น homicide capital หรือ เมืองที่มีการฆาตกรรมสูงที่สุด แซงหน้านิวยอร์คซิตี้ มีปัญหาเรื่องแก๊งเยอะ โดยเฉพาะในเซาธ์ไซด์ ถามว่าทำไม มองว่าเป็นเรื่องของความยากจน จากที่สังเกตตอนสมัยเรียน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย พนักงานทั่วไปตามร้านขายของหรือคนขับรถเมล์ อาชีพบริการส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำทั้งสิ้น

ด้วยความที่เราอาศัยอยู่ในเซาธ์ไซด์ เราจึงพบว่า คนผิวดำก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี เช่นเดียวกับคนผิวขาวและเอเชียทั่วไป แต่ว่าพี่ชายเราเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งอยู่นอร์ธไซด์ เป็นเขตของคนมีเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ที่นั่นสี่ห้าปี โดนจี้ห้าครั้ง แล้วทุกครั้งก็จะโดนคนดำจี้ คนในพื้นที่นั้นก็จะรู้สึกว่า คนดำเป็นพวกน่ากลัวมาก

แต่ประเด็นอยู่ที่คนที่จี้คุณคือคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาหรือทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดำ เพียงแต่ว่าพื้นที่แถวนั้นเป็นพื้นที่คนรวย ซึ่งเป็นคนผิวขาวและคนจนก็คือคนดำ จึงมีความรู้สึกที่ต่างกัน อีกอย่างคือ คนที่ทำอาชญากรรมเป็นสีผิวอื่นก็มี ไม่เฉพาะเพียงคนผิวดำเท่านั้น ตลกมากที่เราเองอยู่ในเมืองที่มีสถิติอาชญากรรมสูงมากแต่ไม่เคยโดนอะไรเลย แต่ก็ได้ยินว่าเพื่อนโดนอยู่เรื่อยๆ

ความไม่เท่าเทียมทางสังคมมันมีอยู่จริง ก็ต้องยอมรับว่า เรามีโอกาสมากกว่าเขาอย่างไม่เป็นธรรม ทำไมดิฉันถึงได้เรียนมหาวิทยาลัยแนวหน้าของประเทศนี้ แล้วทำไมคนอื่นถึงไม่ได้เรียน จะบอกว่า เรียนเก่ง สอบทุนได้ ถ้าอย่างนั้นเฉพาะคนเก่งเท่านั้นหรือ (เน้นเสียง) ที่ควรมีโอกาสทางการศึกษามากกว่าคนอื่น เป็นคำถามที่ต้องถาม

อาจารย์เคยเจอคนที่มีแนวคิดเหยียดสีผิว ที่แสดงออกอย่างชัดเจนในพื้นที่สาธารณะบ้างไหม

ถ้าอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ คนส่วนใหญ่ก็จะรู้จัก Political Correctness กันเนอะ ดังนั้นเขาก็จะไม่มีใครพูดหรอกว่าฉันเป็นพวกเหยียดสีผิว แต่ก็จะพอเห็นแบบซอฟท์ที่แอบซ่อนอยู่ในบางความเห็น

อยู่ที่นั่นสี่ปี ถ้าถามว่ารู้สึกถึงความ racist มากที่สุดจากใคร ไม่ใช่จากคนอเมริกัน แต่มาจากคนไทยหรือคนเอเชียที่จะเข้ามาสหรัฐ ติดต่อมาถามเราว่า แย่แล้ว ชิคาโกคนผิวดำเยอะจังเลย จะเป็นอันตรายไหม จะปลอดภัยไหม ถามแบบนี้ก็แสดงว่า คุณคิดว่าคนดำไม่ปลอดภัยแล้วน่ะสิ ความคิดนี้มาจากคนเอเชียเยอะด้วยซ้ำไป

ถามว่าคนขาวหรือชาติอื่นมีความรู้สึกบ้างไหมว่า เขามีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิว ก็เจอบ้างเหมือนกัน ซึ่งเจอหลายรูปแบบมาก วาสนาเรียนประวัติศาสตร์จีนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว มีบ้างที่เป็นเอเชีย ส่วนผิวดำน้อยมาก

บางครั้งเวลาเราถูกชม อาจารย์เขาก็จะพูดประมาณว่า เก่งจริงเลย ไม่น่าเชื่อเลยว่ามาจากประเทศไทย อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) เออ ใช่ ชม แต่ก็แสดงว่า ยูคิดว่าคนที่มาจากประเทศนี้เป็นอย่างไร

แต่ไม่ได้เจอแนวคิดนี้เฉพาะคนอเมริกันอย่างเดียว ตอนตัวเองไปเก็บข้อมูลที่ไต้หวัน เจ้าของบ้านที่เป็นผู้หญิงที่เราเช่าอยู่ก็เคยพูดลักษณะคล้ายๆ แบบนั้นว่า ที่เธอเรียนเก่งเป็นเพราะเธอเป็นคนจีนโพ้นทะเลใช่ไหม (หัวเราะ) แต่จริงๆ คือ วาสนาเป็นคนไทยนะ

เรื่องราวแบบนี้มันก็เป็นความหลากหลายทางมิติของการเหยียดสีผิว

แสดงว่า การเหยียดสีผิวมีอยู่ในทุกสังคม

ใช่ อยู่แค่ว่าคนในสังคมใดจะกล้าพูดก็เท่านั้น

สำหรับเมืองไทย อาจารย์มองว่านิยามของ ‘ขวา’ ในไทยกับสหรัฐเหมือนกันไหม

(คิด…) เอาแบบนี้ดีกว่า

ประเทศไทยไม่มีซ้าย มีแต่ขวากับขวาจัด คือ ขวาทุนนิยมและขวาศักดินา คนที่บอกว่าตัวเองเป็นซ้าย โดยมากคือขวาทุนนิยม เขาเข้าใจผิด ไม่ใช่ซ้าย

ส่วนสหรัฐ ขวาของเขาคือขวาทุนนิยม ส่วนซ้ายของเขาคือสังคมนิยม สนับสนุนรัฐสวัสดิการ

ถ้าถามว่า ขวาไทยกับขวาสหรัฐเหมือนกันไหม บางส่วนก็เหมือน แต่สหรัฐมีโครงสร้างบางอย่างทางสังคมที่ไม่เหมือนไทย เขาก็อาจไม่มีขวาศักดินาแบบเรา

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า