เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / อาทิตย์ เคนมี / ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน WAY 62 มิถุนายน 2556
บ่ายวันนั้น เราเดินทางผ่านการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไปบนถนนราชดำเนินมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บ่ายวันนั้นแดดร้อน และตรงกับวันที่ 10 เมษายน 2556
ครบรอบสามปีเหตุการณ์ความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 เชื้อไฟที่ถูกจุดก่อนเกิดเหตุการณ์น่าสลดก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรม’ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่แกนนำการชุมนุมคราวนั้นได้หยิบจับเอาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม หรือจะเรียกว่าความไม่ยุติธรรมในทางเศรษฐกิจและสังคม มาเป็นธงขับเคลื่อนการชุมนุม
พูดแบบแรงๆ ก็ต้องว่า ความยุติธรรมถูกนำไปใช้เป็น ‘เงื่อนไข’ การชุมนุม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าความยุติธรรมไม่อาจมีความหมายตรงตามชื่อเรียก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ในสังคม พูดแบบแรงๆ อีกทีก็ต้องว่าเราควานหาความหมายในนามของความยุติธรรมได้น้อยเต็มที มิพักต้องพูดว่าคนยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรม
เป็นความบังเอิญเช่นกัน เมื่อบ่ายวันนั้นเราเดินทางไปพบ ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพูดคุยถึงหลักใหญ่ใจความของกองทุนก้อนหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มโอกาสให้คนบางกลุ่มมีสิทธิ์ ‘เข้าถึง’ กระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น ในนามของ ‘กองทุนยุติธรรม’
นอกจากศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปกองทุนยุติธรรม ผศ.ดร.ปกป้อง ยังเขียน ร่างพระราชบัญญัติ กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย
กองทุนยุติธรรมตั้งขึ้นปี 2549 โดยกระทรวงยุติธรรม โดยมีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนผู้ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม แต่การช่วยเหลือประชาชนของกองทุนยุติธรรมกลับมีข้อจำกัดมากมาย
ปัญหาหลักๆ จากคำบอกเล่าของ ผศ.ดร.ปกป้อง คือ จำนวนเงินไม่เพียงพอกับความต้องการความช่วยเหลือของประชาชน เมื่อคำตอบเป็นเช่นนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดคำถามเบื้องต้นว่า การจะเข้าถึงความยุติธรรมหรือการได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องมี ‘เงิน’ !?
เงินคือกุญแจไขสู่ห้องหับของความยุติธรรม!?
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมฉบับนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรม แต่อาจพูดได้ว่านี่คือยารักษาอาการที่ปลายเหตุ ต้นทางของปัญหากระบวนการยุติธรรมอาจเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะมานั่งพูดจาภายในข้อจำกัดบนหน้ากระดาษเพียง 11-12 หน้า
กระนั้น ผศ.ดร.ปกป้องก็นำเสนอต้นทางของปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไว้ประเด็นหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจยิ่ง และสิ่งนี้จะทำได้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ทำๆ กันมา
พูดแบบเร้าฮอร์โมนวัยรุ่นก็ต้องว่า – โยนกุญแจทิ้งไปเถอะ
กองทุนยุติธรรมทำหน้าที่อะไร
ภารกิจของกองทุนยุติธรรมคือการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ซึ่งมีอยู่สองส่วน ภารกิจที่หนึ่งคือการช่วยผู้ยากไร้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เราทราบกันอยู่แล้วว่าคนมีเงินหรือคนรวยสามารถจ้างทนายความเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย ขณะที่ผู้ยากไร้มากมายในประเทศไทยที่ถูกฟ้องหรือต้องการดำเนินคดี แต่พวกเขาไม่สามารถจ้างทนายความ ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ปรึกษา และที่สำคัญไม่มีเงินไปวางศาลเป็นค่าธรรมเนียมศาล รวมถึงไม่มีเงินไปประกันตัว ตรงนี้แหละครับเป็นภารกิจที่รัฐต้องช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม
ภารกิจที่สอง รัฐต้องเยียวยาแพะและเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม ถามว่าแพะและเหยื่อในกระบวนการยุติธรรมคืออะไร เหยื่อคือคนที่ถูกกระทำความผิดทางอาญา เขาได้รับความเสียหายและหาตัวคนทำความผิดไม่ได้ รัฐต้องเข้าไปเยียวยาโดยเงินของรัฐ เขาอาจเป็นคนที่ถูกฆ่าถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกข่มขืนกระทำชำเรา รัฐมีหน้าที่นำเงินไปเยียวยาประชาชนจากกรณีเหล่านี้ เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของรัฐเองที่ไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้
สำหรับการเยียวยาแพะในกระบวนการยุติธรรม เหมือนอย่างที่เราพบเจอในข่าว จับแพะมาขังไว้ ท้ายที่สุดศาลสั่งยกฟ้องแล้วบอกว่าคุณไม่ผิด การที่เขาถูกขังฟรี รัฐจะต้องเยียวยา เพราะรัฐไปจับคนไม่มีความผิดมาคุมขัง
ภารกิจในการเยียวยาบุคคลที่ผมเรียกว่า ‘แพะ’ และ ‘เหยื่อ’ ปัจจุบันเรามี พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ที่รัฐจะต้องเยียวยาทั้งเหยื่อและแพะในกระบวนการยุติธรรม
ถามว่าเงิน 100 ล้านที่รัฐใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 100 เปอร์เซ็นต์ส่งเข้ากองทุนยุติธรรมเพียงพอหรือไม่ คำตอบคือ ไม่พอครับ เท่าไรก็ไม่พอครับ เพราะอะไร เพราะคนยากไร้ในกระบวนการยุติธรรมมีอยู่เยอะมาก
ทำไมจึงต้องมีการร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … ขึ้นมาใหม่
ผมเล่าสถานการณ์ปัจจุบันให้ฟังก่อน เรามีกองทุนยุติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 กองทุนยุติธรรมในปัจจุบันตั้งขึ้นโดยกฎหมายภายใน เป็นระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ในเบื้องต้นงบประมาณของรัฐปีละ 30 ล้าน ถูกใช้เพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าธรรมเนียมศาล ค่าจ้างทนายความ ค่าประกันตัวสำหรับคนที่ไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ประกันตัว พูดง่ายๆ ก็คือค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จากที่ใช้เงินปีละ 30 ล้าน ก็ขยายไปเป็นปีละ 70 ล้าน ปัจจุบันรัฐใช้งบประมาณปีละ 100 ล้านเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ถามว่าเงิน 100 ล้านที่รัฐใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 100 เปอร์เซ็นต์ส่งเข้ากองทุนยุติธรรมเพียงพอหรือไม่ คำตอบคือ ไม่พอครับ เท่าไรก็ไม่พอครับ เพราะอะไร เพราะคนยากไร้ในกระบวนการยุติธรรมมีอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย เขาไม่มีเงินไปประกันตัวแล้วต้องติดคุก
ฉะนั้นรัฐจึงยืนอยู่บนทางเลือกสองทาง ทางที่หนึ่ง คือ เมื่อรัฐต้องการใช้เงินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในการช่วยเหลือผู้ยากไร้เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รัฐก็เพิ่มเงินเข้าไปสิครับ จาก 100 ล้านเป็น 200 ล้านหรือ 300 ล้าน 400 ล้าน นั่นคือทางเลือกที่หนึ่ง แต่ข้อเสียคืออะไรครับ ข้อเสียคือรัฐสูญเสียโอกาสจากจำนวนเงินตรงนี้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ แต่ถ้ารัฐบอกว่าไม่เป็นไร ทางเลือกที่สองจึงเกิดขึ้น รัฐก็ตั้งเพดานไว้ปีละ 100 ล้าน…ตั้งงบไว้แค่นั้น แล้วรัฐจะได้นำเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่น ผลคืออะไรครับ ผลคือเราก็ช่วยคนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จำกัด
หมายความว่าจำนวนเงินที่ว่ามา ในปัจจุบันก็ยังไม่พออยู่ดี?
ไม่พออยู่ดี กองทุนยุติธรรมมีเพดานอยู่ที่ปีละ 100 ล้านบาท เราไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ สองทางเลือกข้างต้นเป็นทางเลือกในทางเศรษฐศาสตร์ คุณจะเทเงินไปช่วยประชาชนที่ยากไร้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือคุณจะใช้วิธีจำกัดจำนวนเงินแล้วนำเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่น ซึ่งถ้าเป็นทางเลือกอย่างหลัง ปัญหาก็จะตกอยู่ที่กองทุนยุติธรรม ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาพื้นฐานของกองทุนยุติธรรมเลย
อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ภารกิจของกองทุนยุติธรรมมีสองส่วน ทีนี้ลองมาดูภารกิจในส่วนที่สอง รัฐต้องใช้เงินเยียวยาเหยื่อและแพะในกระบวนการยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ผมมีข้อมูลให้คุณทราบว่าในปัจจุบันรัฐใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านในการเยียวยาเหยื่อและแพะ ถามว่าพอหรือไม่ คำตอบคือไม่พอเหมือนกันครับ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ พ.ศ. 2544 กำหนดไว้ว่ารัฐต้องเยียวยาเหยื่อสามประเภท หนึ่ง-ผู้ที่ถูกฆาตรกรรม สอง-ผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย สาม-ผู้ที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งสามประเภทนี้รัฐจะต้องเยียวยาด้วยเงินของรัฐ ผลปรากฏว่า 200 ล้านบาทต่อปี – ไม่พอครับ
เงินในส่วนที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมกับเงินที่ใช้ในการเยียวยาเหยื่อและแพะเป็นเงินคนละส่วนกันใช่ไหม
คนละส่วนกันครับ เงินในการช่วยเหลือผู้ยากไร้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอนุมัติผ่านกองทุนยุติธรรม คือ 100 ล้านบาทต่อปี ส่วนเงินในการเยียวยาเหยื่อและแพะนี่คือเงินของรัฐเลย จำนวน 200 ล้านบาทต่อปี ผลก็คือว่าเงิน 200 ล้านบาทที่ใช้เยียวยาเหยื่อในกระบวนการยุติธรรมไม่เพียงพอ เพราะมีผู้เสียหายจากความผิดอาญาเยอะแยะมากมายครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ เหตุเพราะกระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ต้องการเล่นบทบาทเชิงรุก เขาต้องการรณรงค์ให้ประชาชนผู้เสียหายทราบถึงสิทธิ์ตัวเอง ว่าตนสามารถเรียกร้องเงินตรงนี้จากรัฐได้
เขาตั้งหน่วยรับเรื่องที่สถานีตำรวจเลยครับ เมื่อผู้เสียหายจากความผิดตรงตามเงื่อนไขสามประเภทที่ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ พ.ศ. 2544 ระบุไว้ ไปแจ้งความกับตำรวจ ตำรวจจะมีโต๊ะให้เขียนคำร้องยื่นเรื่องเข้ากองทุนยุติธรรม ผมมองว่าบทบาทเชิงรุกตรงนี้เป็นเรื่องดีมากครับ เพราะเมื่อเขาเป็นเหยื่อเขามีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาจากรัฐ
แต่ผลตรงกันข้ามคืออะไรครับ คำร้องจะเยอะแยะมากมายเลย แค่ครึ่งปีนะครับ 200 ล้านบาทหมดไปแล้ว งบประมาณที่ตั้งไว้ปีละ 200 ล้านบาทกับบทบาทเชิงรุกของกระทรวงยุติธรรมในการรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงสิทธิ์ เงินจำนวน 200 ล้านบาทหมดภายในครึ่งปี แล้วรัฐยังเป็นหนี้ผู้เสียหายที่รอการเยียวยาอีกมากมาย ในปีหน้ารัฐต้องนำเงินมา ซึ่งหาจากไหนไม่รู้เพื่อจ่ายย้อนหลังให้ผู้เสียหายที่รอการเยียวยา และถ้ารัฐยังมีงบประมาณปีละ 200 ล้านบาท เยียวยาเหยื่อกับแพะไปเรื่อยๆ รัฐจะติดหนี้ผู้เสียหายไม่มีที่สุด นี่คือปัญหาการเยียวยาเหยื่อและแพะในกระบวนการยุติธรรม
ข้อเสนอที่ผมได้ศึกษาวิจัยและร่างเป็น พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … เป็นข้อเสนอที่เกิดจากการศึกษาวิจัย เปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศเข้ากับกฎหมายไทยด้วย ผมเสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … ขึ้นมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรณรงค์ในภาคประชาชนเพื่อผลักดันร่างนี้ออกมาเป็นกฎหมายกองทุนยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสองประการดังที่ผมบอกกล่าวไว้ข้างต้น
คอนเซ็ปต์ของการปฏิรูปกองทุนยุติธรรมที่ผมเสนอในร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมฯ คืออะไร ส่วนที่หนึ่ง จัดตั้งกองทุนยุติธรรมให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกองทุนยุติธรรมมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว เราต้องการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของกองทุนยุติธรรม เมื่อเราเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผลก็คือกองทุนยุติธรรมอันใหม่นี้จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ภาระของรัฐที่ต้องนำเงินภาษีปีละ 200 ล้านบาทจะลดน้อยลง รัฐจะได้มีโอกาสนำเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่น
แนวคิดในการเพิ่มรายได้ทำอย่างไรครับ ผมเสนออย่างนี้นะครับ เมื่อกองทุนยุติธรรมมีภาระที่ต้องนำเงินไปช่วยผู้ยากไร้เป็นค่าทนายค่าธรรมเนียมศาล เวลาไปขึ้นศาลต้องมีค่าธรรมเนียมศาลใช่ไหมครับ เราจะขอหักเงินบางส่วนจากศาลยุติธรรมซึ่งเขามีเงินค่าธรรมเนียมศาลของประชาชน มาสมทบเข้ากองทุนยุติธรรม ผมไม่ได้หมายความว่าให้ศาลนำเงินในส่วนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดมาให้กองทุนยุติธรรมนะครับ เพียงแต่หักเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วแต่คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมกำหนด กองทุนยุติธรรมจะมีเงินหมุนเวียน เพื่อนำไปช่วยผู้ยากไร้ในค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาลหรือฟ้องร้องคดี
ส่วนที่สอง โดยปกติศาลจะมีเงินค่าปรับ เมื่อจำเลยกระทำความผิด ศาลจะสั่งปรับ ซึ่งศาลจะมีเงินอยู่ส่วนหนึ่ง เงินค่าปรับส่วนนี้ ให้ศาลหักส่งบางส่วน สมทบเข้ากองทุนยุติธรรม เพื่อทำให้กองทุนยุติธรรมมีความคล่องตัวในการไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ นี่เป็นแนวคิดความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคม (solidarity) พูดง่ายๆ สังคมเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คนที่มีความสามารถจ่ายได้-จ่าย คนยากไร้ก็ได้รับความช่วยเหลือ
แต่เงินค่าธรรมเนียมนั้นเป็นของศาล ศาลก็มีสิทธิ์จะไม่ให้ก็ได้ เพราะเขาก็ต้องใช้เงินจำนวนนี้เพื่อหล่อเลี้ยงบริหารจัดการองค์กรเช่นกัน?
ปัญหานี้มีคนตั้งข้อสังเกตเยอะมาก จากแนวคิดของร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … ที่ผมเสนอไป เกิดข้อสังเกตและข้อกังวลอย่างคุณนี่ล่ะครับ ว่าศาลเขาจะให้เหรอ คำตอบก็คือ ถ้าเราออกเป็นกฎหมายเป็น พ.ร.บ. ศาลก็ต้องยอมให้ครับ เมื่อเกิดจากแรงผลักดันของภาคประชาชน ศาลเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐธรรมนูญภายใต้กฎหมาย เพราะฉะนั้นถ้ากฎหมายออกมาศาลก็ต้องให้
ถามต่อไปว่าเอาเงินของเขามาทำไม มันเป็นเงินที่เขาใช้ดูแลกิจการของศาล คำตอบคือ ใช่ครับ แต่ผมไม่ได้เอาทั้งหมด ผมเอามาด้วยเหตุผลว่าที่มาของเงินตรงนี้ต้องตรงกับภารกิจของกองทุนยุติธรรมในการไปช่วยคนที่เขาไม่มีโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ในทางกฎหมาย โจทก์จะต้องมีเงินไปวางศาลเป็นค่าธรรมเนียมศาล และเงินส่วนนี้ศาลจะคืนให้เมื่อโจทก์ชนะคดี เพราะฉะนั้นคนที่เขามีความสามารถในการจ่าย เขาก็สามารถฟ้องคดีได้ง่ายมาก ถามว่าคนยากไร้อยากจะฟ้องคดีแต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีเงินไปวาง ถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไร ผมก็เลยบอกว่าเมื่อคนรวยมีความสามารถเอาเงินไปวางที่ศาล ศาลก็มีเงินตรงนี้ไว้ใช่ไหมครับ ก็หักเงินบางส่วนจากศาลมาเข้ากองทุนยุติธรรมเพื่อนำเงินไปช่วยคนที่ไม่มีความสามารถ และคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมก็จะอนุมัติให้เป็นรายๆ ไป
คนที่มีเงินจ้างทนายความก็สามารถจ้างทนายความเก่งๆ เพื่อไปสู้คดีในศาลได้ ถามว่าคนยากไร้ที่ไม่มีเงินจ้างทนายทำอย่างไรครับ ก็นำเงินที่อนุมัติโดยกองทุนยุติธรรมนี่แหละครับ เราเอาเงินจากศาลบางส่วนเข้ามาเพื่อจะอนุมัติให้คนที่ไม่สามารถจ้างทนายความดีๆ ไปสู้คดีในศาล การหักเงินค่าปรับ ค่าธรรมเนียมศาลหรือเงินที่ริบได้จากหลักประกันของผู้ต้องหากรณีที่หนีคดี เวลาผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีคดี เงินพวกนี้ต่างหากครับที่ควรจะแบ่งบางส่วนมาสมทบเข้ากองทุนยุติธรรม เพื่อใช้ประกันตัวคนที่เขาไม่หนีคดี มันเป็นแหล่งเงินที่สอดคล้องกับรายจ่ายของกองทุนยุติธรรมอย่างแท้จริง
แค่นั้นก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอใช่ไหม โดยเฉพาะกรณีเยียวยาผู้เสียหาย ที่ครึ่งปีก็ใช้ไป 200 ล้านแล้ว
ภารกิจที่สอง ภาระในการจ่ายเงินให้ผู้เสียหายให้เหยื่อหรือแพะในกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันรัฐใช้เงินปีละ 200 ล้านบาทใช่ไหมครับ แนวคิดของผมก็คือเราจะลดเงินตรงนี้ เราไม่ให้เป็นภาระของรัฐ เราต้องมีเงินทำให้กองทุนยุติธรรมโตขึ้นโดยการหาแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่นเข้าสู่กองทุนยุติธรรม
แนวคิดในภารกิจส่วนที่สอง ผมนำมาจากโมเดลกฎหมายของฝรั่งเศส เราจะหักเงินค่าเบี้ยประกันภัยบางส่วนจากบริษัทประกันภัยทั่วประเทศสมทบเข้ากองทุนยุติธรรม ถามว่าทำไมต้องเป็นบริษัทประกันภัย คำตอบก็คือว่า คนที่เขามีเงินมีความสามารถสามารถซื้อประกันเพื่อประกันความเสียหายของตนได้ แต่คนที่เขาไม่มีความสามารถจะซื้อประกันได้ ก็ไม่มีโอกาสได้รับการเยียวยาแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราจะหักเบี้ยประกันภัยจากบริษัทประกันภัยบางส่วนเท่านั้นน่ะครับ ซึ่งผมคิดตามอัตราที่ฝรั่งเศสเขาหัก เขาหักสัญญาละประมาณ 3 ยูโร หรือสัญญาละ 120 บาทเท่านั้นเอง ถ้าเทียบเป็นค่าเงินไทย ผมว่าเริ่มต้นอาจจะหักเงินเบี้ยประกันจากสัญญาประกันภัย สัญญาละ 20-30 บาท ซึ่งถือเป็นเงินที่น้อยมากๆ
แนวทางนี้บริษัทประกันภัยต้องแบกภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น?
ถามว่าบริษัทประกันภัยที่เป็นเอกชนต้องมารับภาระตรงนี้ไหม คำตอบคือไม่ครับ จริงๆ แล้ว คนที่ต้องรับภาระคือผู้ซื้อประกันนั่นเอง บริษัทก็จะไปบวกเงินค่าประกันภัยอยู่ดีนั่นเอง เหมือนระบบ VAT เวลาเราไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ คนที่ต้องนำเงินภาษีส่งรัฐก็คือผู้ขายที่เป็นร้านสะดวกซื้อ แต่ถามว่าใครเป็นคนรับภาระก็คือเราครับ – ผู้ซื้อสินค้า
ท้ายที่สุดคนที่มีความสามารถซื้อประกันความเสี่ยง เขาก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มนิดหน่อยตามสัญญาประกันและให้บริษัทประกันส่งเงินสมทบกองทุนยุติธรรม กองทุนยุติธรรมจะโตขึ้นทันทีจากเงินสมทบตามสัญญาประกันภัยทั่วประเทศ ถามว่าเงินที่มากขึ้นเพื่ออะไรครับ ก็เพื่อเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกกระทำความผิดในคดีอาญานั่นเอง และเมื่อเยียวยาผู้เสียหายแล้ว งบประมาณของรัฐปีละ 200 ล้านบาทที่ไม่พออยู่ในวันนี้ มันก็จะพอแล้วครับ เพราะมีเงินหมุนเวียนเข้ามา นี่คือแนวทางของการเพิ่มรายได้ให้กองทุนยุติธรรมโตขึ้นและเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้นโดยพึ่งพาเงินของรัฐน้อยลง
แล้วแนวคิดในการลดรายจ่ายคืออะไร ผมเทียบกับปัจจุบันนะ เวลาที่เราไปเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายในคดีอาญา รัฐใช้เงิน 200 ล้านบาทต่อปีจ่ายให้เหยื่อใช่มั้ยครับ รัฐจ่ายอย่างเดียวครับ ไม่มีเงินกลับมาเลย รัฐไทยใจดีมากครับ ไม่เคยได้เงินคืนมาเลย
แนวคิดของผมในการลดรายจ่าย เมื่อกองทุนยุติธรรมเป็นนิติบุคคลแล้ว เราใช้เงินที่ได้จากแหล่งรายได้ต่างๆ ตามที่ผมกล่าวไป จ่ายให้ผู้เสียหายที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา เรากำหนดในกฎหมายเลยว่าให้กองทุนยุติธรรมรับช่วงสิทธิ์จากผู้เสียหายมาทั้งหมด ผู้เสียหายมีสิทธิ์เรียกร้องจากจำเลยผู้กระทำความผิดถูกมั้ยครับ เมื่อกองทุนยุติธรรมจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหาย แล้วให้กองทุนยุติธรรมรับช่วงสิทธิ์นั้นกลับมาที่กองทุนยุติธรรม กองทุนยุติธรรมจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่กองทุนยุติธรรมไปดำเนินคดีกับจำเลย ไปไล่เบี้ยกับจำเลยที่เป็นผู้ก่อความเสียหายที่แท้จริง
นี่คือแนวคิดปฏิรูปกองทุนยุติธรรมใหม่ เพิ่มรายได้ขึ้นมาจากแหล่งต่างๆ และลดภาระในการใช้จ่ายออกไป
เป็นความจริงครับที่ประเทศใดก็ตามที่คนรวยรวยสุดโต่ง คนจนจนทั้งหมด สังคมมันไปไม่ได้ เพราะจะเกิดการลุกฮือเกิดการล่มสลายขึ้นมาจากความเหลื่อมล้ำ แต่สังคมใดที่ช่องว่างคนรวยคนจนลดน้อยลงเรื่อยๆ สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่ดีและสงบสุข
เงินที่จะหักจากการทำประกันภัย ส่วนที่ผู้ซื้อประกันต้องจ่ายเพิ่ม เกี่ยวข้องกับภารกิจของกองทุนยุติธรรมอย่างไร
แนวคิดในการหักเงินจากบริษัทประกันภัยก็คือว่า เราจะเอาเงินจากคนที่ซื้อประกันภัยต่างๆ สัญญาละ 20-30 บาท นิดหน่อยเท่านั้นเองครับ เพื่อหักเข้ามาสู่กองทุนยุติธรรม และให้กองทุนยุติธรรมจ่ายให้คนที่เขาได้รับความเสียหายในกรณีที่เขาเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ถามว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกับภารกิจนี้ ลองคิดบนพื้นฐานนี้นะครับ คนทุกคนมีโอกาสไม่เท่ากัน คนที่เขามีความสามารถในการซื้อประกัน เขามีโอกาสประกันความเสี่ยงของตน เมื่อมีความเสียหายขึ้นมาบริษัทประกันก็จ่าย เขาก็สบาย
แนวคิดก็คือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขระหว่างคนที่มีความสามารถกับคนยากไร้ เราหักเงินสัญญาประกันละ 20-30 บาท เข้ากองทุนยุติธรรมเพื่อให้กองทุนฯใช้เป็นแหล่งเงินในการดูแลคนที่ไม่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองไม่สามารถเยียวยาตัวเองในกรณีที่เขาเป็นเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นเหยื่อในความผิดอาญา กองทุนฯจะจ่ายให้เขา
แนวคิดนี้ใช้ในประเทศฝรั่งเศส คำถามที่บอกว่าทำไมต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขระหว่างคนที่มีกับคนยากไร้ คำตอบง่ายๆ ครับ กฎหมายไทยนี่นะครับ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ไม่ได้เป็นคนแรกที่ใช้แนวคิดนี้นะครับ ข้อเสนอที่ผมบอกไม่ใช่เรื่องใหม่ กฎหมายไทยใช้แนวคิดเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแบบนี้มานานแล้วครับ กองทุนประกันสังคมก็ใช้แนวคิดนี้ กองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานก็ใช้แนวคิดนี้
แนวคิดความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคม หรือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขเป็นแนวคิดลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนลดน้อยลง เมื่อคนที่ยากจนที่สุดมีชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานดีขึ้น ท้ายที่สุดสังคมและทั้งประเทศจะดีขึ้น เป็นความจริงครับที่ประเทศใดก็ตามที่คนรวยรวยสุดโต่ง คนจนจนทั้งหมด สังคมมันไปไม่ได้ เพราะจะเกิดการลุกฮือเกิดการล่มสลายขึ้นมาจากความเหลื่อมล้ำ แต่สังคมใดที่ช่องว่างคนรวยคนจนลดน้อยลงเรื่อยๆ สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่ดีและสงบสุข
ปัจจุบันภาครัฐเรียกเก็บเงินจากบริษัทประกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
มี แต่มีอีกลักษณะหนึ่ง ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการประกันภัย หรือ คปภ. เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่คล้ายแบงก์ชาติในมิติประกันภัย คปภ. ทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทประกันภัย ซึ่งใน คปภ. จะมีกองทุนอยู่ สัญญาประกันภัยที่ผู้ซื้อประกันจ่ายจะถูกหักบางส่วนเข้าสู่กองทุนของ คปภ. กองทุนนี้เพื่อกรณีที่บริษัทประกันภัยบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกิดล้มละลายขึ้นมา กองทุนนี้จะจ่ายให้คู่ค้าของบริษัทนั้น ถามว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขไหม ก็ใช่ แต่เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในแวดวงของบริษัทประกัน ไม่ได้เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแบบแนวคิดกองทุนยุติธรรมที่ขยายออกมาช่วยคนในสังคมให้เสมอภาคกัน
อีกข้อเสนอหนึ่งที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับร่างแรก ยังบอกให้หักเงินจากทนายความทั่วประเทศสมทบเข้ากองทุนยุติธรรม?
ผมเสนอความคิดนี้บนพื้นฐานเดียวกับแนวคิดขอหักเงินจากศาลจากบริษัทประกันภัย เมื่อเกิดคดีความขึ้นมา คนที่เป็นเศรษฐีสามารถจ้างทนายดีๆ ระดับอินเตอร์ แล้วคนยากไร้ล่ะ แน่นอนครับ พวกเขาก็ได้ทนายเหมือนกัน เพราะกฎหมายไทยบอกว่าสามารถตั้งทนายความให้กับจำเลยที่ยากไร้ได้ ศาลก็ตั้งทนายขอแรงให้
ทราบไหมครับทนายขอแรงได้ค่าจ้างครั้งละ 500 บาท ผมไม่ได้หมายความว่าทนายขอแรงไม่มีคุณภาพนะครับ แต่ทนายขอแรงเป็นทนายเพิ่งจบใหม่ ประสบการณ์ก็น้อยกว่าทนายอาชีพ ผู้ยากไร้ไม่มีทางได้ทนายเก่งๆ ด้วยเหตุนี้จึงขอหักเงินของทนายค่าจ้างแพงมาบางส่วนเพื่อเข้ากองทุนยุติธรรม เพื่อเวลาที่ผู้ยากไร้ไปฟ้องคดีหรือถูกฟ้อง เราจะอนุมัติเงินให้เขาได้มีโอกาสได้ทนายดีๆ บ้าง
แนวคิดนี้ผมไม่ได้คิดเอง ประเทศอังกฤษก็ใช้กัน แล้วประเทศอังกฤษมีทนายความที่เข้มแข็ง เขาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระบบนี้จึงเกิด แต่ประเทศไทยเกรงไหมกลัวไหมที่ทนายจะไม่ชอบ แน่นอนครับ เสนอแบบนี้ทนายความไม่เอาด้วยแน่นอน แต่ผมก็เสนอไป ซึ่งในท้ายที่สุด ร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … ประเด็นขอหักเงินจากทนายความก็ถูกตัดทิ้งไป เพราะเห็นความเป็นได้น้อยมากๆ ข้อนี้ผมเสนอในร่างแรก แต่ร่างสุดท้ายถูกตัดออกไปโดยกรรมการ คงเหลือเพียงเรื่องการขอหักเงินจากบริษัทประกันและศาล
กองทุนฯจะให้เงินช่วยเหลือในการจ้างทนายความ คำถามคือต้องเป็นทนายที่รัฐจัดตั้งให้หรือสามารถหาเองได้
แล้วแต่คณะกรรมการกำหนด คือตัวกฎหมายที่เสนอไปไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้ครับ พูดเป็นหลักกว้างๆ ว่าภารกิจหลักอย่างหนึ่งของกองทุนยุติธรรมคือให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ในการมีทนายความและค่าใช้จ่ายเรื่องทนายความ แต่ถามว่าจะเอาทนายความที่รัฐตั้งหรือทนายระดับอินเตอร์ที่ไปหาเอง อันนี้แล้วแต่ระเบียบของกองทุนฯที่คณะกรรมการจะไปพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป
เกณฑ์ของค่าจ้างทนายก็เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด?
ถูกต้องครับ ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ผมวางแค่โครงสร้างเท่านั้นเอง ว่าจะนำเงินมาจากไหนใช้จ่ายเพื่ออะไรบ้าง แต่รายละเอียดจะใช้อย่างไร ใช้ทนายประเภทไหน ใช้เงินจำนวนไม่เกินเท่าไร เปิดช่องให้คณะกรรมการออกระเบียบเรื่องพวกนี้ได้หมด
ถ้าอย่างนั้นทนายเก่งๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่เข้ามาช่วยตรงนี้ได้เช่นกันใช่ไหม
ถ้าคณะกรรมการเข้าใจระบบ ผมคิดว่าบางทีทนายเก่งๆ ก็อาจจะมาช่วย เช่น ผู้ยากไร้คนหนึ่งต้องสู้คดีเพื่อมรดกผืนสุดท้ายของเขา ทนายความทั่วไป ทนายฝึกหัด ทนายขอแรง อาจมีประสบการณ์ไม่มากพอกับคดีลักษณะนี้ ถ้ากองทุนฯมีความเข้าใจในการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ เขาเห็นว่าคดีพวกนี้ต้องใช้ทนายความที่มีประสบการณ์ซึ่งค่าตัวอาจจะแพง กองทุนฯอาจอนุมัติให้ไปจ้างทนายเอกชนฝีมือดีๆ เลยก็ได้ เพื่อให้เขาสู้เพื่อความเป็นธรรม ก็เป็นไปได้ โดยไม่ต้องจำกัดเฉพาะทนายที่รัฐตั้งให้เท่านั้น
กองทุนยุติธรรมมีหลักพิจารณาอย่างไรว่าใครคือผู้ยากไร้
ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม นิยามไว้ว่าคนยากไร้หมายถึงบุคคลที่มีรายได้และทรัพย์สินต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนฯ ร่างกฎหมายไม่สามารถกำหนดได้ว่ามีเงินต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ถือเป็นผู้ยากไร้
ผมให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำหนด ซึ่งจะยืดหยุ่นกว่า ปีนี้อาจกำหนดรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทถือเป็นผู้ยากไร้ สมมุติปีหน้าเงินเฟ้อคณะกรรมการอาจกำหนดรายได้ต่ำกว่า 6,000 บาท หรือต่ำกว่า 7,000 พันบาท ถือเป็นผู้ยากไร้ก็ได้ ถ้ากำหนดไว้ในกฎหมายตายตัวว่ามีรายได้ต่ำกว่าเท่าไรเป็นผู้ยากไร้ จะแก้กฎหมายยากมากครับ เราจึงใช้วิธีให้กำหนดโดยคณะกรรมการ กำหนดเป็นปีๆ ไป
แต่ปัญหาที่จะเกิดตามมาก็ใช่ว่าไม่มี นั่นคือปัญหาคนแกล้งจน เช่นมีที่ดินเป็นพันไร่แต่แกล้งจน เงินเดือนที่ปรากฏต่อภายนอกเดือนละ 4,000 บาท แต่มีทรัพย์สินมหาศาล วิธีแก้ปัญหาพวกแกล้งจนก็เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ว่าผู้ยากไร้มีรายได้หรือทรัพย์สินต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ฉะนั้นเขามายื่นคำขอเป็นผู้ยากไร้ ตรวจสอบง่ายๆ เลยครับว่า หนึ่ง รายได้เท่าไหร่ สอง ถ้ามีทรัพย์สินเยอะก็ไม่ให้ความช่วยเหลือ
เมื่อกระบวนการทางอาญาตัดสินออกมาว่าผู้ยากไร้คนนี้เป็นฝ่ายผิด จะส่งผลต่อการช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมหรือไม่
ก็ไม่เป็นไรครับ เราช่วยเพื่อให้เขาสู้คดี การพิจารณาให้ความช่วยเหลือไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องแพ้หรือชนะคดี เพราะแพ้ชนะอยู่ที่ศาล อยู่ที่พยานหลักฐาน แต่การช่วยเหลือตั้งบนเงื่อนไขที่ว่าเขายากไร้และต้องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อเขาแพ้คดีก็เป็นเรื่องแพ้คดีในศาลเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าทุกคดีที่กองทุนฯอนุมัติเงินช่วยเหลือนั้นผู้ยากไร้จะต้องชนะคดี กองทุนฯก็มีความเสี่ยงเหมือนกันในการช่วยเหลือ บางทีเขาอาจแพ้คดี แล้วกองทุนฯอาจต้องเสียเงินไปก็ได้ แต่ถ้ามาเฉลี่ยกับคดีที่ชนะ มันอาจทำให้กองทุนฯอยู่ได้โดยการที่กองทุนฯรับช่วงสิทธิ์จากผู้เสียหายไปไล่เบี้ยกับผู้กระทำความผิด
ถามว่าเสี่ยงไหมก็เสี่ยง แต่กองทุนฯจะดีกว่าเดิมไหม ดีกว่าปัจจุบันแน่ เพราะปัจจุบันเงิน 200 ล้านที่รัฐจ่ายให้ผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อในคดีอาญา รัฐจ่ายอย่างเดียวไม่มีทางได้คืนเลย เพราะอะไร เพราะผู้เสียหายรับเงินแล้วกลับบ้าน รัฐไม่สามารถรับช่วงสิทธิ์ได้
ทำไมผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ถ้าเป็นคนมีเงินมีหลักทรัพย์ เขากลับไปสู้คดีที่บ้านได้นอนอยู่บ้านได้ ขณะที่จำเลยหรือผู้ต้องหาที่ไม่มีเงิน ไม่มีคอนเนคชั่นไม่มีหลักทรัพย์อะไรเลย ต้องอยู่ในคุกตลอดเวลา มันไปตอกย้ำประโยคคลาสสิกที่ว่า ‘คุกเมืองไทยมีไว้สำหรับคนจน’ ซึ่งมันจริงครับ
ผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯต้องมีเงื่อนไขสามข้อตามที่ปรากฏใน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ 2544 ถ้านอกเหนือจากเงื่อนไขสามข้อ ก็ไม่เข้าข่ายการอนุมัติจากกองทุนยุติธรรม?
ครับ เพราะอะไร เพราะกองทุนฯในพระราชบัญญัติที่ยกร่างขึ้นไป จะเป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้เสียหายสามประเภท กฎหมายกองทุนฯไม่ได้ไปแก้พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ 2544 ซึ่งบอกว่าจะเยียวยาเหยื่อในความเสียหายสามประเภท ผู้ที่ถูกฆาตรกรรม ผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ผู้ที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา กองทุนยุติธรรมที่ดำเนินงานกันมาจะเป็นแหล่งเงินเยียวยาให้กับเหยื่อสามประเภทนี้เท่านั้น
แต่ในอนาคตเราจะเยียวยาได้มากขึ้น เพราะเงินในกองทุนฯจะมีมากขึ้น ถามว่าเราจะทำได้ไหม ทำได้ครับ วิธีการที่สามารถทำได้คือ แก้กฎหมายโดยเพิ่มเติมฐานความผิดให้เพิ่มจากสามเป็นสี่ เป็นห้า ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ 2544 ซึ่งผมเห็นด้วยนะครับ เราควรจะเยียวยาโดยขยายฐานความผิดให้มากกว่าสามประการที่มีอยู่ในตอนนี้
เช่น ความผิดต่อเสรีภาพ จับเขาไปขังโดยไม่มีความผิด และเราไม่สามารถเยียวยาได้ เพราะพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ 2544 มีกำหนดไว้สามประการ ถ้าเราไปแก้เพิ่มเติมก็สามารถเยียวยาได้มากขึ้น แต่ทุกวันนี้ความลังเลที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมฐานความผิด เพราะขนาดแค่ความผิดสามประเภทรัฐยังเป็นหนี้ผู้เสียหายบานเบอะ เงินไม่พอครับ เขาจึงลังเลไม่ขยายฐานความผิด
ยกตัวอย่างผู้ที่ถูกทำร้ายในการชุมนุมทางการเมือง ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์การอนุมัติของกองทุนยุติธรรมหรือไม่ ถ้าใช่ กองทุนยุติธรรมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกครหาว่าเลือกข้างทางการเมือง
ประเด็นก็คือถ้าเรายึดอารมณ์หรืออุดมคติทางการเมืองของคนเป็นหลัก ระบบจะไปไม่ได้เลย ตรงกันข้าม ถ้ายึดระบบเป็นหลัก ยึดระบบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น เข้าเกณฑ์เงื่อนไขที่กองทุนฯกำหนด แล้วก็ให้ความช่วยเหลือเยียวยา ถ้าเรายึดระบบเป็นหลักโดยไม่ได้เลือกหน้าคนที่ได้รับการเยียวยา ระบบจะไปของมันได้ ไม่ว่าจะเสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อเขียว สีม่วง สีฟ้า ถ้าเข้าสู่เกณฑ์ที่กำหนดก็ไปได้
ความเห็นของผมนะครับ เราต้องทำให้กองทุนยุติธรรมและร่างฯที่เสนอขึ้นไปมีความเป็นระบบให้มากที่สุด โดยปราศจากแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง เราต้องตัดพวกนี้ออกไป เพราะถ้าเราตัดออกไป ถ้าเข้าเกณฑ์ที่กำหนด สีไหนมาขอเราก็ให้ เราไม่ได้ดูที่สีเสื้อ
เงินที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยใช้เยียวยาผู้ชุมนุมในปี 2553 คนละ 7 ล้าน ไม่ใช่เงินจากกองทุนยุติธรรม?
ไม่เกี่ยวกัน เงินจำนวนนั้นไม่ได้ผ่านกองทุนยุติธรรม เขาตั้งงบพิเศษขึ้นมาเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการชุมชนทางการเมือง เยียวยาลงไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ากองทุนฯสามารถตั้งเป็นระบบได้ มีเงินทุนหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผมเชื่อว่าภาระในส่วนนี้ของรัฐบาลในภายภาคหน้าจะน้อยลง ไม่ต้องตั้งงบพิเศษมาเยียวยาเป็นเหตุการณ์ๆ
มันมีผลต่อเนื่องกันเห็นไหมครับ เพราะตอนนี้ระบบของกองทุนยุติธรรมและการเยียวยายังไม่สมบูรณ์ มันแค่เริ่มต้น เงินทุนก็น้อยข้อติดขัดก็เยอะ วิธีที่รวดเร็วคือรัฐบาลตั้งงบพิเศษ
การช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมครอบคลุมผู้เสียหายจากกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไหม
ครอบคลุมครับ ถ้ามีประชาชนถูกยิงถูกฆ่าก็ถือเป็นความผิดต่อชีวิตหรือถูกทำร้าย เป็นความผิดต่อร่างกาย ก็ถือว่าเขาเป็นผู้เสียหาย เมื่อเป็นผู้เสียหาย เราจับมือผู้ก่อการร้ายไม่ได้แน่ รัฐโดยกองทุนยุติธรรมใหม่ก็จะใช้เงินตรงนี้ไปเยียวยา เมื่อเยียวยาเสร็จเราก็รับช่วงสิทธิ์เขามา จะหาตัวผู้ก่อการร้ายได้หรือไม่เป็นอีกเรืองหนึ่ง ทุกวันนี้มีไหม ก็มี พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ 2544 ก็ใช้อยู่
ฟังจากที่อาจารย์เล่ามา ภารกิจของกองทุนยุติธรรมเน้นแก้ปัญหาปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ถ้าจะปฎิรูประบบยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ เรื่องไหนที่ควรถูกหยิบยกมาพูดคุยจริงๆ จังๆ
ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ผมว่ามีอยู่เยอะมาก แล้วปัญหาก็เยอะมากๆ กองทุนฯก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ช่วยสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในบางกรณี ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่มันควรต้องมี ถ้าไม่มีเลยก็ยิ่งเหลื่อมล้ำแตกแยกกันมากขึ้น
ปัญหาที่เป็นอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมีหลายปัญหา ผมยกตัวอย่างหนึ่งที่ควรจะปฏิรูปทั้งระบบเพื่อสร้างความเป็นธรรม ก็คือการยกเลิกการใช้เงินหรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกันตัวชั่วคราวในคดีอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันเยอะมากว่า ทำไมผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ถ้าเป็นคนมีเงินมีหลักทรัพย์ เขากลับไปสู้คดีที่บ้านได้ นอนอยู่บ้านได้ ขณะที่จำเลยหรือผู้ต้องหาที่ไม่มีเงิน ไม่มีคอนเนคชั่นไม่มีหลักทรัพย์อะไรเลย ต้องอยู่ในคุกตลอดเวลา มันไปตอกย้ำประโยคคลาสสิกที่ว่า ‘คุกเมืองไทยมีไว้สำหรับคนจน’ ซึ่งมันจริงครับ
คนที่อยู่ในคุกเมืองไทยคือคนจนทั้งนั้น คนมีเงินก็ประกันตัวกลับบ้านได้หมด เหตุผลเพราะกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวของเราไม่ได้รับการปฏิรูปเลย เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ถูกส่งฟ้อง ลองนึกภาพตามนะครับ คดีเหมือนกันเลย แต่คนหนึ่งรวย คนหนึ่งจน ทุกวันนี้ศาลทำอย่างนี้ครับ สมมุติว่าหลักประกันคือเงิน 90,000 บาท แปลว่าถ้าคุณมีเงินหรือทรัพย์สินหรือโฉนดที่ดินมาวางประกันตัววันนี้ ศาลจะปล่อยชั่วคราวทันที แต่ถ้าคุณไม่มีเงินไม่มีทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้นที่หมายสุดท้ายคืออะไรครับ – เรือนจำ ทั้งๆ ที่เขาได้รับข้อสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์นะครับ
เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องแก้ แล้วถ้าแก้ได้ สิ่งที่เป็นปลายเหตุจะเบาลงด้วย เพราะภารกิจหนึ่งของกองทุนยุติธรรม คือ อนุมัติเงินของรัฐไปประกันตัวผู้ยากไร้ ถ้าเราแก้ปัญหาต้นเหตุตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่ากองทุนยุติธรรมจะลดภาระลง ถ้าเราปฏิรูปการประกันตัวในคดีอาญา คือไม่ต้องใช้เงินเป็นหลักประกันในการประกันตัวในคดีอาญา
หมายความว่าระบบการวางเงินประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวเป็นตัวอย่างความเหลื่อมล้ำที่สำคัญเลยใช่ไหม
ผมจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมุตินะครับ คนหนึ่งเป็นคนรวย ทำร้ายร่างกายคนมาและบุกรุกในเวลากลางคืน อีกคนยากไร้ รายได้วันละ 300 บาท ข้อหาเดียวกับคนรวยเลย ถ้าสองคนนี้มอบตัวในชั้นตำรวจ พนักงานสอบสวนบอกว่าถ้าไม่หนี แต่เข้ามามอบตัวทั้งที่ไม่มีหมายจับ ทั้งคนรวยคนจนก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นตำรวจโดยไม่ต้องวางเงิน แต่ขอให้มารายงานตัวทุก 10-15 วันก็ว่ากันไป ระหว่างดำเนินคดีในชั้นตำรวจ เขาได้รับความเป็นธรรมพอสมควร เขาเป็นคนจน แต่ขอให้เขาเป็นคนดี ในที่นี้คือไม่หนีและมารายงานตัว ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินมาประกันตัว พนักงานสอบสวนก็ปล่อยออกไปได้
แต่เมื่ออัยการส่งฟ้องศาล ศาลประทับรับฟ้องสองคนนี้ ศาลไม่กลับไปดูอดีตอีกแล้ว เขาดูวันที่ประทับรับฟ้อง เมื่อประทับรับฟ้อง…ตู้ม ข้อหานี้ 90,000 บาท เมื่อนำเงินมาวางแล้วจะได้กลับบ้านในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลหันไปมองคนจน ข้อหานี้ 90,000 บาท นำเงินมาวางแล้วจะได้กลับบ้านระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล…เหมือนกันครับ และกระบวนการยุติธรรมของเราโดยเฉพาะศาลก็คิดว่านี่คือความเป็นธรรม เพราะไม่ว่ารวยหรือจนก็ 90,000 บาท เหมือนกัน
มองให้ลึกสิครับ เรากำลังลงโทษคนจน เพราะเงิน 90,000 บาทเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับคนรวย แต่คนจนเงินหมื่นบางทียังไม่เคยจับเลยครับ เพราะฉะนั้นโอกาสของจำเลยที่เป็นคนรวยกับคนจนในข้อหาเดียวกันมีไม่เท่ากัน
เป็นเพราะความบกพร่องของกฎหมายหรือเปล่า
เหตุที่ไม่เท่ากันไม่ใช่เพราะกฎหมายไทยไม่ดีครับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของไทย ไม่เคยบังคับให้ศาลเรียกหลักประกันเป็นเงินเลย ศาลมีดุลยพินิจครับว่าจะเรียกหรือไม่เรียกก็ได้ แต่สิ่งที่มีปัญหาคือระเบียบของศาลเอง มันไม่ใช่กฎหมายแต่คือ ‘ระเบียบของศาล’ การใช้เกณฑ์จำนวนเงินเป็นหลักประกันคือความเท่ากันสำหรับทุกคน แล้วเราก็ไปใช้ระเบียบนี้อย่างเคร่งครัดมากๆ
มีงานวิจัยที่บอกว่า 50,000 คนที่ถูกขังฟรีในเรือนจำระหว่างเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว ทั้งๆ ที่ไม่มีพฤติกรรมหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานทั้งสิ้น ทางออกของผมคืออะไรครับ ง่ายนิดเดียว ก็เลิกการเรียกหลักประกันให้หมดสิ แล้วไปดูที่พฤติกรรมของเขา ถ้าเขามามอบตัวตั้งแต่ชั้นตำรวจ ไม่หนีไปไหน มารายงานตัว เวลาศาลประทับรับฟ้อง ท่านก็ปล่อยเขาไปเหมือนเดิมสิครับ ตั้งเงื่อนไขให้เขามารายงานตัวเหมือนเดิม แต่ถ้าเขามีพฤติกรรมหลบหนีจับขังไว้เลย ไม่ให้ประกันตัวด้วย แม้เขาจะมีเงินล้านก็ไม่ให้ประกัน เพราะมีพฤติกรรมหลบหนี
ถ้าเราดูที่พฤติกรรมว่าหนีไม่หนีหรือสร้างเหตุร้ายหรือไม่ในระหว่างการดำเนินคดี มากกว่าไปดูที่เงินหรือทรัพย์สินในการประกันตัว ผมเชื่อว่าสังคมจะดีขึ้น คนดีที่ไม่มีเงินก็อยู่ได้ แต่ทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมโดยศาลไทยใช้เงินเป็นหลัก จึงเกิดสังคมที่แปลกประหลาดขึ้นมา ดีไม่ดีไม่สน ขอให้มีเงินไว้ก่อนจะเอาตัวรอดได้
มีเรื่องจริงที่น่าเศร้า คนแก่คนหนึ่งขับซาเล้งรับจ้างชนคนตาย ศาลเรียกหลักประกัน 120,000 บาท เขามีเงินไหมครับ ไม่มีครับ ก็ไปนอนในเรือนจำ ทั้งๆ ที่ลูกเศรษฐีขับรถชนคนตายแล้วกลับไปนอนบ้าน แล้วซาเล้งคนนี้น่าสงสารหนักขึ้นไปอีก เขาบอกว่า ผมขอสารภาพครับและขอออกไปได้ไหม เพื่อจะออกไปผ่อนชำระ ไปทำงานเพื่อนำเงินไปผ่อนชำระให้ผู้เสียหาย ก็กลับไปสู่ปัญหาเดิม หากจะออกไปก็นำเงินมาวาง 120,000 บาท เมื่อไม่มีก็ต้องถูกขัง ในที่สุดก็ติดคุกจริง นี่คือปัญหาของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไทย
การเสนอ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม สามารถช่วยในประเด็นเงินประกันตัวได้หรือไม่
การยกเลิกการเรียกหลักประกันของศาลไม่สามารถแก้ไขได้โดย พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่ผมเสนอ มันคนละเรื่องกันเลย เพราะกองทุนฯเข้ามาช่วยปลายเหตุ เพราะศาลยังคงเรียกหลักประกันเป็นเงิน กองทุนฯจึงจำเป็นต้องใช้เงินไปประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่ถ้าเราไปแก้ที่ต้นเหตุ ยกเลิกระเบียบของศาล เลิกการเรียกหลักประกันเป็นตัวเงิน สามารถแก้ได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายเลย กองทุนฯก็จะได้รับผลต่อเนื่องกองทุนฯไม่ต้องนำเงินไปประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย สามารถนำเงินไปช่วยแพะหรือเหยื่อหรือในเรื่องอื่นได้มากมาย แนวทางแก้ปัญหาตรงจุดนี้อยู่ที่ศาลครับ ว่าเมื่อไรเขาจะยกเลิกแนวคิดนี้
ลองตามผมมานะครับ ทุกวันนี้ กองทุนฯใช้เงินปีละ 100 ล้านบาทในการช่วยประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกมาใช่ไหม เมื่อกองทุนฯอนุมัติโดยนำเงินของรัฐไปประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เงินของกองทุนฯก็คือเงินของรัฐ นำเงินไปประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยนำเงินไปวางที่ศาลซึ่งก็เป็นรัฐ ถามว่าถ้าเขาไม่หนี ศาลก็จะคืนเงินไปที่กองทุนฯ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีทำอย่างไรครับ ศาลก็จะริบหลักประกัน รัฐโดยศาลก็กำลังริบเงินของรัฐซึ่งผ่านมือกองทุนยุติธรรม
ในกรณีการยกเลิกการเรียกหลักทรัพย์ประกัน แล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรในการเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่หนี
เรามั่นใจเหรอครับว่าเรียกหลักประกันสูงๆ แล้วเขาไม่หนี เรียกหลักประกัน 8 ล้าน นักการเมืองวางเงิน 8 ล้าน วันรุ่งขึ้นไปเขมรทันทีครับ เพราะฉะนั้นเงินไม่ได้เป็นหลักประกันได้เลยว่าเขาจะหนีหรือไม่หนี ถ้าเขาไม่มีพฤติการณ์เข้าข่ายหลบหนี เขามามอบตัวตั้งแต่ชั้นตำรวจ เราควรจะปล่อยเขาไปเลย แล้วกำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวและอย่าไปสร้างความเสียหายอื่นต่างๆ นานา
การที่เขาถูกขังหรือได้รับการประกันตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีกับการที่ศาลพิพากษาเขาว่าผิดหรือไม่ผิด มันคนละประเด็นกัน ในระหว่างการพิจารณาในชั้นตำรวจชั้นอัยการทุกคนในประเทศไทยจะถูกสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกต้องไหม เมื่อถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ รัฐจะสามารถคุมขังไว้ระหว่างพิจารณาคดีระหว่างสืบพยานได้ก็มีเงื่อนไขอยู่สามข้อ หนึ่ง-ถ้าเขาหลบหนี สอง-ถ้าเขาไปยุ่งเหยิงทำลายพยานหลักฐาน สาม-ถ้าเขาไปก่อเหตุร้ายประการอื่น
เพราะฉะนั้น เกณฑ์ในการขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างพิจารณามีสามข้อเท่านั้นแหละครับ ซึ่งเป็นหลักสากล ไม่มีเกณฑ์เรื่องเงินเลยนะครับ ไม่ได้บอกว่าด้วยความที่ผู้ต้องหาไม่มีเงินจึงต้องขัง…ไม่มีเลยนะครับ
การกำหนดเงื่อนไขและการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่เรียกหลักประกัน น่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้แล้วว่าเขาจะมาศาลโดยที่เขาไม่ได้หนีไปไหน และสอดคล้องกับการที่เขาถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ เพียงแต่ว่าทุกวันนี้เราไม่ได้ทำอย่างนั้นครับ
แก้ระเบียบของศาลยากไหม
การผลักดันร่างกองทุนฯของเรายากมาก เพราะมันเป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. แต่การแก้ระเบียบของศาลง่ายมากเลยครับ คนในศาลเองครับ ยกเลิกระบียบแล้วแก้ระเบียบให้
หมายเหตุ: พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 ตุลาคม 2558