ประเทศไทยวางตัวเองเป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจนเกือบได้เป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนการรัฐประหารโดย รสช. ในปี 2534 จะฉุดรั้งประเทศให้ถอยหลังกลับไปเป็นแมว และไม่สามารถกลับมาเป็นเสือได้อีกเลยกระทั่งปัจจุบัน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในส่วนของภาคเอกชน มีความพยายามเข้าไปลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ด้านสาธารณูปโภคในประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด อย่างล่าสุด บริษัท ช.การช่าง ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในประเทศลาว เกิดเป็นเมกะโปรเจ็คท์ที่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ในขณะที่พม่าซึ่งเป็นประตูเชื่อมต่อไปสู่โลกตะวันตกผ่านอินเดีย ก็มีความพยายามเชื่อมการลงทุนผ่านโครงการที่เรียกว่า Dawei Deep Sea Port&Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link หรือ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ภายใต้การลงทุนของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ช่วงเดียวกับการลงทุนในลาว แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ผลคือโครงการมูลค่า 37,000 ล้านบาทจึงยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดจากรัฐไทยและรัฐบาลพม่า นอกจากคำกล่าวของประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยที่ว่า รัฐบาลพม่าจะอนุญาตให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวายได้ภายในสองสามเดือนนี้
คำถามคือ ท่ามกลางฝุ่นที่ตลบจากการก่อสร้างทั้งในลาวและพม่านั้น เราจะมองความเป็นไปของเรื่องนี้ได้อย่างไร ด้วยกรอบแบบไหน การเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการทำลายล้างทางชาติพันธุ์
เพื่อจะตอบคำถามภายใต้ฝุ่นตลบของการลงทุนในอภิมหาโครงการเหล่านั้น คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาขึ้นภายใต้หัวข้อสองหัวข้อจากการลงทุนในพม่าและลาว คือ ปริมณฑลสาธารณะและเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของไทยในลาว (Public Spheres and Thai Hydro Power Dams in Laos) โดย ผศ.คาร์ล มิดเดิลตัน (Asst.Prof. Carl Middleton) ซึ่งพูดถึงมุมมองการเมืองในเรื่องพื้นที่สาธารณะที่หายไปภายใต้การลงทุนของทุนไทยในการสร้างเขื่อนในประเทศลาว กับรัฐอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์และการเมืองของความไม่แน่นอน (แบบไทยๆ) โดย ผศ.นฤมล ทับจุมพล
Chilling Effect
เริ่มจาก ผศ.มิดเดิลตัน (โดยการสรุปเป็นภาษาไทยของ ผศ.นฤมล) นำเสนองานวิจัยจากกรณีการสร้างเขื่อนน้ำเพลิน 2 และเขื่อนไซยะบุรี โดยกล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ประชาธิปไตย หรือแนว public sphere เราจะคิดในขอบเขตของรัฐชาติ ว่าประเทศนั้นๆ มีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน เปิดพื้นที่สาธารณะแค่ไหน แต่หากดูจากกรณีการลงทุนของไทยในลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนน้ำเพลิน 2 และเขื่อนไซยะบุรี มีโจทย์ที่เรียกว่า ‘พื้นที่สาธารณะข้ามพรมแดน’ ดังนั้น ภายใต้แนวคิดเรื่องสาธารณะข้ามพรมแดน องค์ประกอบของคนที่มีส่วนร่วมในการเรียกร้องเพื่อเปิดประเด็นจึงมักเป็นหน่วยงานหรือองค์กรภาคประชาสังคมที่มีลักษณะข้ามพรมแดน แล้วเปิดพื้นที่สาธารณะให้องค์กรเหล่านั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ กระทั่งในลาวที่ยังเป็นสังคมนิยมในความหมายของอำนาจนิยมค่อนข้างสูง ซึ่งนำไปสู่การที่พื้นที่สาธารณะหดตัวลงจากการลงทุนข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้น และจากผลประโยชน์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ จนนำไปสู่บรรยากาศที่เรียกว่า Chilling Effect จากหายตัวไปของ สมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมชาวลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซที่กรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555
สิ่งที่ ผศ.มิดเดิลตัน พยายามชี้ให้เห็นคือ ภายใต้องค์ประกอบของการลงทุนข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การหดตัวลงไปของพื้นที่สาธารณะนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประเทศที่มีแนวทางการปกครองในรูปแบบอำนาจนิยมจะเปลี่ยนแปลง หรือขยับตัวไปในแนวทางที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ยิ่งในปัจจุบัน พื้นที่สาธารณะในลักษณะของการข้ามพรมแดนเริ่มลดน้อยลง โจทย์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ ปัญหาที่เพิ่มขึ้นภายใต้การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
การลงทุนที่ยังไม่ชัดเจน
ในส่วนต่อมา ผศ.นฤมล ทับจุมพล อภิปรายจากผลการวิจัยในเรื่องท่าเรือน้ำลึกทวายและ road link corridor จากอำเภอพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ข้ามไปยังทวาย ประเทศพม่า โดยประเด็นที่ ผศ.นฤมลต้องการนำเสนอคือ ประเด็นของความไม่ยุติธรรมเชิงนิเวศ โดยเฉพาะของโครงการลงทุนที่เป็นในลักษณะข้ามพรมแดน
สำหรับการลงทุนของไทยในท่าเรือน้ำลึกทวาย และถนน road link corridor ผศ.นฤมลมองว่าเป็นโครงการของชนชั้นนำที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างแนวคิดในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมให้เกิดขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่ปี 2008 เมื่อทุนไทยเริ่มเข้าไปลงทุนในพม่าเป็นครั้งแรก
และจากการข้ามเขตการลงทุนครั้งแรกในปี 2008 นั้น พม่ายังไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถนำไปเชื่อมโยงกับงานวิจัยเรื่องลาวของ ผศ.มิเดิลตันในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า หลังมีรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง ทั้งในปี 2011 และ 2015 แล้วนั้น บทบาทของภาคประชาสังคมและชุมชนได้สร้างพื้นที่สาธารณะใหม่
“หมายความว่าขณะที่เราเริ่มมีการลงทุนในปี 2008 ในพม่าดูจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการที่เราเพิ่งมีรัฐบาลในปี 2006 มีการเลือกตั้งในปี 2007 มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในปี 2008 แต่พม่าไม่เป็นประชาธิปไตย กลับกัน เมื่อพม่ามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2010 จนนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2011 และ 2015 ตามลำดับ เรากลับไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพื้นที่สาธารณะในพม่ามันเปิด ขณะที่พื้นที่สาธารณะในไทยมันปิด”
จากประเด็นนี้ ผศ.นฤมล นำไปสู่โจทย์จากองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ในพม่า การยับยั้ง และการตั้งคำถามต่อการลงทุนของไทย
บทบาทของไทยในทวาย
การจะเข้าใจเรื่องนี้ ผศ.นฤมลเท้าความกลับไปยังการลงทุนของไทยเริ่มแรกในทวาย ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นความคิดของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกต้อง ไม่ปฏิเสธ แต่กว่าจะมีการเซ็นสัญญาการลงทุนระหว่างไทยกับพม่า รัฐบาลไทยได้เปลี่ยนผู้นำประเทศมาสู่นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ สมัคร สุนทรเวช ขณะที่รัฐบาลพม่ายังคงปกครองภายใต้กุมมือของ นายพลตาน ฉ่วย ซึ่งเป็นเผด็จการทหาร ส่งผลให้บริษัทอิตาเลียน-ไทยกลายเป็นกลุ่มทุนรายเดียวที่ได้สิทธิ์ในการลงทุนต่างๆ ในทวาย โดยรัฐบาลไทยในห้วงเวลานั้น ต้องการขยายพื้นที่การลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
ลมเปลี่ยนทิศ
จวบจนพม่ามีการเลือกตั้งในปี 2010 เมื่อ นายพลเต็งเส่ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คำประกาศต่อการลงทุนต่างๆ ที่เน้นไปทางรักษาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบทันทีต่อโครงการลงทุนของไทยชนิดเรียกว่าสั่นสะเทือน เพราะโครงการลงทุนที่ว่านี้ครอบคลุมตั้งแต่ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมที่กินขนาดพื้นที่กว่า 204 ตารางกิโลเมตรสำหรับอุตสาหกรรมหนัก มีถนนหลักแปดเลน ซึ่งลำพังแต่เพียงเท่านี้อาจยังไม่สั่นสะเทือนเท่ากับสิ่งที่นักลงทุนต่างมองว่า ทวาย คือประตูที่จะเชื่อมไปสู่อินเดีย
“ทีนี้ถามว่าเรื่องนี้มีนัยยะสำคัญยังไงสำหรับเรา ข้อแรก ถนน road link corridor เป็นแนวคิดที่เราต้องการเชื่อมจากอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ข้ามด่านที่พุน้ำร้อนไปยังทวาย สำหรับไทย อันนี้มันไกลกว่าแค่การข้ามพรมแดน แต่เป็นการเชื่อม economic corridor เป็นการข้ามเขตการลงทุนไปสู่ประเทศอื่นๆ”
ประเด็นในข้อต่อมา ผศ.นฤมลอธิบายว่า เขตการลงทุนในทวายนั้น ครึ่งหนึ่งอยู่ในการควบคุมของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU ขณะที่อีกครึ่งเป็นเขตยึดครองของกองทัพพม่า ดังนั้นเมื่อรัฐบาลพม่าได้เปลี่ยนมาสู่แนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น road link corridor จึงไม่อาจปฏิเสธบทบาททางการเมืองที่ควบคู่มากับการตัดเชื่อมถนนระหว่างพม่าและไทยเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกับไทยในแง่ของการลงทุนมากกว่าพม่า
“ในแง่ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ อิตาเลียน-ไทย ไม่สามารถหาเงินมาลงทุนในพื้นที่ทวายได้ หากเทียบกับการลงทุนในลาวโดย ช.การช่าง และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ แล้ว รัฐบาลไทยได้เข้ามาสานต่อการลงทุนของอิตาเลียน-ไทย ในฐานะบทบาทของเอกชนให้เปลี่ยนไปเป็นการลงทุนในภาครัฐ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการย้ายจาก private investment มาสู่ G2G project”
จากการลงทุนในภาคเอกชนมาสู่การลงทุนในระดับภาครัฐ ผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามมาคือ พม่าและไทยมีการก่อตั้งบริษัทร่วมกันโดยถือหุ้นคนละครึ่งในบริษัทที่เรียกว่า SVP structure ซึ่งได้เริ่มไว้ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแม้มีการรัฐประหารในปี 2014 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. ก็ประกาศยืนยันว่าการลงทุนในทวายยังคงมีต่อไป อีกทั้งยังให้เงินสนับสนุนการลงทุนจากงบกระทรวงการคลังเพื่อการก่อสร้าง access road ต่อไป พูดง่ายๆ ว่าต่อให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนทางจากรัฐบาลประชาธิปไตยไปเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร การลงทุนยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการที่ด่านพรมแดนชั่วคราวที่พุน้ำร้อนในปี 2013 ก่อนการรัฐประหารเดือนพฤษภาคมในไทยปี 2014 เมื่อประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. ด่านพรมแดนชั่วคราวได้เปลี่ยนไปเป็นด่านพรมแดนถาวร ทว่าสิ่งที่จะกระทบต่อเสถียรภาพการลงทุนที่แท้จริง กลับมาจากฟากฝั่งพม่าเองมากกว่า
การลงทุนเพื่อสร้างความชอบธรรม
เมื่อรัฐบาลไทยแน่วแน่ในการลงทุนในทวายเพราะมองข้ามเส้นทางต่อไปยังอินเดีย ซึ่งจะเป็นประตูสู่ตะวันตกได้นั้น แต่ความไม่แน่นอนในนโยบายทางการเมืองของพม่า ผลคือรัฐบาลไทยพยายามดึงเอาผู้ลงทุนรายที่สามมาร่วมกันเชื่อมให้ข้อต่อทางการลงทุนนี้แข็งแรงมากขึ้น โดยดึงเอารัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการประกันความเสี่ยงต่อรัฐบาลพม่า เพราะปัจจัยทางการเมืองในไทยเองก็ใช่จะมั่นคงถาวร เมื่อทหารยังคงเข้ามาเล่นการเมืองอยู่ หากแต่คำถามที่ ผศ.นฤมลตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ ในรัฐบาลประชาธิปไตยของพม่าในปัจจุบันนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทหารอยู่กว่าครึ่งหนึ่งที่ยังกุมอำนาจอยู่ ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลพม่าจะใช้การลงทุนนี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มชนชั้นนำในพม่าเอง
เช่นกันกับภาคประชาสังคม ประชาชนในพม่าจะสามารถตั้งคำถามต่อชนชั้นปกครองภายใต้พื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ได้หรือไม่
ผลจากการตั้งข้อสังเกต นำไปสู่การลงพื้นที่วิจัยในทวายที่ทำให้ ผศ.นฤมลได้คำตอบกลับมาว่า การลงทุนของรัฐบาลพม่าในทวายนั้นเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการจับมือร่วมกันกับกลุ่มกะเหรี่ยง KNU เพื่อยุติการยิงผ่านการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย (ซึ่งอาจตอบคำถามได้ส่วนหนึ่งต่อกรณีปัญหาชาวโรฮิงญาที่ไม่เคยถูกนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่านับตั้งแต่ที่มีการลงนามในสัญญาปางหลวง)
การเมืองแห่งความหวัง
ในขณะที่พม่าใช้การลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกมาเป็นการสร้างข้อตกลงหยุดยิงที่ให้ผลอีกด้านของการสร้างภาพแห่งความชอบธรรมขึ้นนั้น ไทยเองภายใต้รัฐบาล คสช. ก็ใช้การลงทุนในโครงการเดียวกันนี้เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมืองแห่งความหวัง’
“แม้ว่าเราจะมีพื้นที่ปิดในทางการเมือง และถูกตั้งคำถามต่อโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเมื่อไทยมีเศรษฐกิจถดถอยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นโครงการในทวายจึงเป็นการเมืองแห่งความหวังสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อทำให้คนมองว่าโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจจะกลับมาอีก และในขณะเดียวกันก็สร้างความชอบธรรมให้การดำรงอยู่ของรัฐบาล คสช. และคุณจะอยู่เงียบๆ เพื่อให้โปรเจ็คท์นี้สามารถดำเนินไปได้”