สงคราม IO เปลี่ยนปฏิบัติการจากสมรภูมิรบ เข้าแทรกซึมชีวิตพลเรือน

ค่ำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ในประเด็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation: IO) ยุยงปลุกปั่นในโลกออนไลน์ จากการตรวจสอบเอกสารระหว่างเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณ 2563 จากสำนักนายกฯ พบหลักฐานการสนับสนุนเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ด้านงบประมาณจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 เอกสารบันทึกข้อความสรุปการเข้าอบรมให้ความรู้กับคณะทำงานปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน และคลิปสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงาน IO

ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศสะท้านสะเทือน สิ่งที่ทำให้ประเด็นนี้มีน้ำหนักคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรม รูปธรรมนี้โน้มนำประชาชนที่ฟังการอภิปรายอยู่นอกสภาว่า งบประมาณที่ใช้สนับสนุนภาคกิจเหล่านี้มาจากภาษีประชาชน

กิจการพลเรือนบนไหล่บ่าของกองทัพ และภาษีจากกระเป๋าประชาชน

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ WAY ว่า มีการขยายนิยามภัยคุกคามของชาติ ของกองทัพ และหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. อย่างกว้างขวางในช่วงหลังปี 2549 ซึ่งหมายความว่า กองทัพไทยได้ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนรุกล้ำเข้ามายังบทบาทหน้าที่ที่เคยเป็นของหน่วยงานพลเรือน

“เช่น การแตกแยกในหมู่ประชาชนคือภัยคุกคามของชาติ ซึ่งเพิ่งถูกใส่เข้าไปหลังปี 2549 เราสามารถไปดูเอกสารยุทธศาสตร์ของกองทัพ ยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน. จะเห็นว่าประเด็นเหล่านี้มันอยู่ในนิยามภัยคุกคามของชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นอีก เรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องเหล่านี้ถูกจัดเข้าไปเป็นความมั่นคงของชาติด้วย ซึ่งหมายความว่า นี่คือการขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกองทัพ นี่คือมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะถูกจัดการโดยหน่วยงานของพลเรือนหรือภาคเอกชน ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อคุณนำกองทัพเข้ามาเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. หมายความว่า หน่วยงานพลเรือนจะอยู่ภายใต้คำสั่งของกองทัพ มันทำให้กลไกการแก้ปัญหา วิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหา เป็นกรอบคิดของทหาร”

การจัดตั้งมวลชนเป็นภารกิจหนึ่งของหน่วยงาน กอ.รมน. มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่ง รศ.ดร.พวงทอง มองว่า บทบาทของ กอ.รมน. ในยุคปัจจุบันเป็นวิธีการเดียวกับยุคสงครามเย็น “เช่น การจับคนมาอบรม อบรมให้คล้อยตามอุดมการณ์หลักของรัฐ หรือปรับทัศนคติกลุ่มคนที่คิดแตกต่าง จับตามองความเคลื่อนไหว ฉันคิดว่าเขายังใช้วิธีการแบบเดิมในการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งดิฉันคิดว่านี่คือปัญหา”

ในบทความ กิจการพลเรือนของทหารในยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง: พัฒนาการและความชอบธรรม รศ.ดร.พวงทอง ระบุว่า หลังจาก พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 มีผลบังคับใช้ กอ.รมน. ได้รับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

“ข้อสังเกตคืองบประมาณที่ กอ.รมน. ได้รับในแต่ละปี สูงกว่างบประมาณสำหรับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสียอีก ทั้งๆ ที่ สมช. เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของไทยมานาน เช่น ในปี 2561 กอ.รมน. ได้รับงบฯ กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ส่วน สมช. ได้รับเพียง 304,888,000 บาท”

นอกจากนี้ จากการศึกษาเอกสารและลงพื้นที่เพื่อเขียนบทความชิ้นดังกล่าว รศ.ดร.พวงทอง ยังพบลักษณะกลืนไม่เข้า-คายไม่ออก ของมวลชนที่เข้าร่วมโครงการการอบรมกับ กอ.รมน.รศ.ดร.พวงทอง สรุปบทความชิ้นนี้ว่า “รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งพึงมีอำนาจในการควบคุมสั่งการเหนือทหาร เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้ดำรงอยู่ในความคิดของผู้นำ กองทัพ และชนชั้นนำอนุรักษนิยมของไทย ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเห็นว่ากองทัพจำเป็นต้องมีบทบาทในด้านความมั่นคงของประเทศในทุกด้าน ความมั่นคงของชาติสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นภารกิจของนักการเมืองที่มักเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ในทางกลับกัน ความสามารถในการแทรกซึมอิทธิพลและอำนาจเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผ่านกิจการพลเรือนของทหาร ยังส่งผลต่อการรักษาอำนาจของกองทัพและชนชั้นนำอนุรักษนิยมด้วย ในแง่นี้ อำนาจและบทบาทของกองทัพในการเมืองไทยไม่ได้ดำรงอยู่แค่เมื่อเกิดรัฐประหารและมีการจัดตั้งรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่ในภาวะปกติขอบเขตอำนาจของกองทัพก็ดำรงอยู่ในพื้นที่นอกการรบมานานแล้ว การเรียกร้องให้กองทัพถอนตัวออกจากการเมืองจึงไม่ใช่แค่ไม่มีการรัฐประหาร ในอนาคต หากมีความพยายามผลักดันให้ทหารออกจากพื้นที่การเมือง ผู้ที่มีบทบาทจำเป็นต้องคำนึงถึงกลไกกิจการพลเรือนของทหารด้วย”

“ดิฉันพบว่าคนที่ถูกเรียกไปอบรมในโครงการ กอ.รมน. จำนวนมากก็เป็นคนเสื้อแดง เขาก็จำเป็นต้องไปเพื่อไม่ตกเป็นเป้า กอ.รมน. หรือรัฐก็รู้ว่าเวลาที่คุณจัดอบรมให้คนสัก 100 คน มันไม่จำเป็นที่ทั้ง 100 คนที่เห็นด้วย ขอแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่พร้อมจะเอาด้วย และเป็นพลเมืองที่แข็งขันพร้อมจะสนับสนุน ออกมาเดิน ออกมาท้าทายฝ่ายตรงข้าม ก็เพียงพอแล้ว อย่างกรณี 6 ตุลาฯ เอาเข้าจริงแล้วมวลชนฝ่ายขวาที่ธรรมศาสตร์วันนั้น ตัวเลขหลักพัน ประมาณ 2,000-3,000 คนที่อยู่รอบสนามหลวง มันไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งประเทศ แต่นั่นก็มีพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดฆาตกรรมหมู่อย่าง 6 ตุลาฯ และเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยในช่วงนั้น”

ล่าสุด วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า กระแสในทวิตเตอร์ได้มีการแสดงความคิดเห็นถึงประเด็น ‘ปฏิบัติการ IO’ และบางส่วนลองเข้ากรุ๊ปไลน์ที่นายวิโรจน์ให้ข้อมูลไว้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แฮชแท็ก #รู้ทันIO พุ่งขึ้นติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1

 

IO ในหลายความหมาย แต่มีเป้าหมายเดียว

เช้าวันถัดมาหลังจากผู้แทนราษฎรพรรคที่เพิ่งถูกยุบไป เปิดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางมาถึงรัฐสภาในเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 3 เขาตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มถึงกรณีที่ สส.ฝ่ายค้าน จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของกองทัพ ว่าไม่มีนโยบายให้ดำเนินการเช่นนี้ และยังไม่ยืนยันว่าจะเป็นผู้ชี้แจงในประเด็นนี้ หรือมอบให้ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นผู้ชี้แจงแทน

“ขอฟังเขาอภิปรายก่อนว่าจะชี้แจงเรื่องอะไรต่อไป ส่วนเรื่อง IO ผมยังไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะการทำงานโดยปกติแล้ว ผมก็ไม่มีนโยบายให้ทำงานแบบนี้อยู่แล้ว และวันนี้ก็เห็นว่าในโซเชียลมีเดียมีการกระทำแบบนี้มากมาย ผมเองก็โดนซะเยอะเลยในนั้น เห็นไหมใครทำก็ไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวก็ตรวจสอบอีกทีแล้วกัน ยืนยันว่าไม่มีนโยบายดังกล่าว” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

หากฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้เกิดความสงสัยว่า ผู้นำท่านนี้แยกแยะเส้นแบ่งระหว่าง IO กับการแสดงความคิดเห็นออกหรือไม่ ทั้งๆ ที่ในสมัยที่เป็นนักศึกษา วปอ. 2550 เขาเขียนบทความ การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ (crisis management) และยังเขียนงานวิจัยในหัวข้อ กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Threats)

คำว่า ‘Information Operation’ หรือการปฏิบัติการสารสนเทศนั้น เป็นหลักการที่ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในปี 2003 อนุมัติหลักการโดย โดนัลด์ รัมส์เฟลด์ (Donald Rumsfeld) รมว.กลาโหมสหรัฐ และเป็นเอกสารที่เปิดเผย (declassified) ในเดือนมกราคม 2006 ซึ่งเป็นการขยายผลจากหลักการที่เกี่ยวข้องกับสงครามสารสนเทศ (Information Warfare) ในมุมมองของกองทัพสหรัฐ

โดยหลักการแล้ว IO มีความเกี่ยวพันกับหลักปฏิบัติการด้านการข่าวทางทหาร ซึ่งเป็นแนวคิดจากการบูรณาการสงครามการควบคุมบังคับบัญชา (command and control warfare) และสงครามสารสนเทศ (information warfare) ของกองทัพสหรัฐ โดยการนำเอาบทเรียนจากการรบกับอิรักในสงครามอ่าว (gulf wars) หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘CNN Effect’ มาเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา อาจกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการสารสนเทศ คือ การสนธิการปฏิบัติต่างๆ เพื่อทำให้มีอิทธิพล ทำลาย ลดประสิทธิภาพ ในการตัดสินใจและการปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งดำเนินการป้องกันการกระทำของฝ่ายตรงข้ามต่อฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน

ในเอกสารวิจัย การปฏิบัติการข่าวสาร: ภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของกองทัพไทย ระบุว่า การปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO มาจากการให้คำจำกัดความที่แตกต่างกันไป คำจำกัดความที่แตกต่างมักเกิดจากความเข้าใจเอาเองของผู้ปฏิบัติ เช่น ความเข้าใจว่าหมายถึงการปฏิบัติการจิตวิทยา (psychological operation) การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) การวิเทศสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน (media relations) หรือการลวงทางทหาร (deception) เป็นต้น

ต่อจากนี้คือคำจำกัดความการปฏิบัติการข่าวสารจากหลายหน่วยงานทางทหารทั้งสหรัฐและไทย ในเอกสารวิจัยชิ้นนี้

คณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐอเมริกา

“การปฏิบัติการที่มุ่งให้มีผลต่อข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงกันข้าม ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติการเพื่อป้องกันข้อมูลข่าวสารและระบบข้อมูลข่าวสารของฝ่ายสหรัฐอเมริกาเอง”

กองทัพบกสหรัฐอเมริกา

“การปฏิบัติการเชิงรุกและรับ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เพื่อลดค่า ทำลาย ปฏิเสธ ลวง มีอิทธิพลเหนือหรือขยายผลต่อระบบเครือข่าย ศูนย์สั่งการ ระบบฐานข้อมูลความรู้ ความสามารถในการประมวลผลและระบบการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้ามในสถานการณ์ที่ไม่สงบ หรือในภาวะสงคราม โดยกองทัพบกสหรัฐอเมริกาต้องป้องกันข้อมูลข่าวสาร ระบบข้อมูลข่าวสาร และระบบการตัดสินใจของฝ่ายตนให้มีความปลอดภัย”

กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา

“การดำเนินการให้ได้มา แสวงประโยชน์ป้องกัน หรือการโจมตีข้อมูลข่าวสาร ระบบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลข่าวสารในการสงคราม (information-in-warfare) และสงครามข่าวสาร (information warfare) และการดำเนินการดังกล่าวจะคาบเกี่ยวไปในขั้นตอนของการปฏิบัติการทางทหารด้วย”

นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา

“การดำเนินการทั้งมวลที่มุ่งให้มีผลต่อข้อมูลข่าวสารหรือระบบข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติการเพื่อป้องกันข้อมูลข่าวสารและระบบข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตนเอง โดยการปฏิบัติการข่าวสารจะต้องกระทำในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติการ ซึ่งคาบเกี่ยวเข้าไปในขั้นตอนของการปฏิบัติการทางทหารด้วย และมีการกระทำในทุกระดับของสงคราม”

กองบัญชาการกองทัพไทย

“การสนธิการปฏิบัติต่างๆ เพื่อทำให้มีอิทธิพล ทำลาย ลดประสิทธิภาพ หรือชิงการตกลงใจของฝ่ายตรงข้าม (ทั้งที่กระทำโดยมนุษย์และระบบอัตโนมัติ) และดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน”

สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สจว.สปท.)

“การรวมหน้าที่ และขีดความสามารถต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารและระบบข้อมูลข่าวสารไว้ด้วยกัน แนวคิดนี้คล้ายกับการปฏิบัติการร่วม (joint operation) อันเป็นการรวมเอาขีดความสามารถของหน่วยต่างๆ หรือการปฏิบัติการผสม (combined operation) ซึ่งรวมเอากำลังของกองทัพต่างๆ ของพันธมิตรเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นภาพของกิจกรรมที่มีความประสานสอดคล้อง และมีผลที่ดีกว่าการรวมตัวเฉพาะภายในหน่วยของตน แนวคิดนี้คือรากฐานแห่งการนำเอาการปฏิบัติการข่าวสารมาใช้ให้ประสบความสำเร็จ ปกติการปฏิบัติการข่าวสารจะนำมาใช้ทางทหารในระดับยุทธการและยุทธวิธี ส่วนในระดับยุทธศาสตร์การปฏิบัติการข่าวสารก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางยุทธศาสตร์”

กองทัพบกไทย

“การปฏิบัติการที่มุ่งสร้างผลกระทบ หรือสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจ ข่าวสาร ระบบสารสนเทศของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ รวมไปถึงการปฏิบัติการเพื่อป้องกันข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายเรา”

 

นอกจากคำนิยาม ยังมีการแบ่งการดำเนินการของการปฏิบัติการข่าวสารออกเป็น 2 ด้าน คือ ‘เชิงรุก’ กับ ‘เชิงรับ’

การปฏิบัติการเชิงรุก

เป็นการเข้าไปใช้ประโยชน์ (ล่วงรู้ความลับ) จากข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ควบคู่ไปกับการทำลายหรือลดศักยภาพข้อมูลข่าวสารหรือระบบข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้เป็นภัยอันตรายต่อฝ่ายตน

  • การทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์
  • การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  • การโจมตี/ทำลายทางกายภาพ (อาคาร/สถานที่)
  • การทำสงครามจิตวิทยา
  • การลวงทางทหาร
  • การทำสงครามข่าวสาร
  • การรักษาความปลอดภัยการปฏิบัติการ

การปฏิบัติการเชิงรับ

มุ่งเน้นไปที่การปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสาร และระบบข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตนให้พ้นจากการที่ฝ่ายตรงข้ามจะเข้ามาใช้ประโยชน์ ทำลาย หรือลดศักยภาพ โดยวัตถุประสงค์ในบั้นปลายคือการดำรงความเหนือกว่า ด้านข้อมูลข่าวสาร (information superiority) และช่วยให้ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ ความเหนือกว่าดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการทำสงคราม การรับมือ กับสถานการณ์ภัยคุกคาม หรือความเสี่ยงได้อย่างถูกต้องและทันเวลา

  • การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ
  • การรักษาความปลอดภัยการปฏิบัติการ
  • การต่อต้านทางจิตวิทยา
  • การต่อต้านการลวงทางทหาร
  • การสร้างความถูกต้องด้านข่าวสาร
  • การปกป้องคุ้มครองทางอิเล็กทรอนิกส์
  • การต่อต้านข่าวกรอง
  • การป้องกันเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ในเอกสารการวิจัยชิ้นนี้ยังระบุว่า การปฏิบัติการข่าวสารในอดีตจะมุ่งเน้นที่สภาวะสงคราม แต่ในปัจจุบันจะมุ่งเน้นการปฏิบัติการในสภาวะปกติและวิกฤตการณ์ เพื่อการเสริมความมั่นคงมากกว่า

นาทีนี้ผู้นำรัฐบาล อดีตหัวหน้า คสช. ยังคงปฏิเสธว่ารัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ IO ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ปรากฏเอกสารหลักฐานการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน เพื่อนำไปสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าว

แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ชี้ชัด แต่ความรู้สึกไม่ไว้วางใจผู้นำประเทศก็ได้ปรากฏขึ้นแล้ว

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า