การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA อาจฟังดูเป็นของขมปร่าสำหรับหลายคน จนพาลไม่อยากทำความเข้าใจ ทั้งๆที่ หลายเรื่องใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง ชนิดที่ว่ามีผลต่อชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงของเรา
โดยทั่วไป FTA ย่อมาจาก Free Trade Area หรือ Free Trade Agreement หมายถึงเขตการค้าเสรีหรือข้อตกลงทางการค้าเสรี หมายความว่า ประเทศ 2 ประเทศหรือหลายประเทศจะรวมกลุ่มกันเพื่อทำการลด ภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็น 0 และใช้อัตราภาษีที่สูงกับประเทศนอกกลุ่ม
ประเทศไทยเอง ทำ FTA กับหลายประเทศ หลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ สหภาพยุโรปหรืออียู ที่มีข้อตกลงหลายๆ เรื่อง กระทบปากท้องและสุขภาพเราโดยตรง ว่ากันตั้งแต่เรื่อง ยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม
นอกจากเรื่อง เหล้า ยา แล้ว ‘การลงทุน’ เป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวและน่ากังวลในการเจรจากับขาใหญ่อย่างสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้อนุญาโตตุลาการ (Investor-state Dispute Settlement : ISDS)
ฟังดูยาก แต่จะยากกว่าถ้าเราไม่เข้าใจเมื่อมันเขยิบมาใกล้ตัว….
ISDS คืออะไร
ISDS ประกอบไปด้วย อักษรย่อ 4 ตัวคือ
I – Investor คือ นักลงทุน
S – State คือ รัฐ
D – Dispute คือการทะเลาะกันหรือโต้แย้งกัน
S – Settlement หรือการระงับข้อพิพาท
จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) ให้ความหมาย ISDS ไว้ว่า คือการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนกับรัฐ กลไกนี้มีความสำคัญมากในการเจรจาFTA กับหลายประเทศ ทั้งกับสหภาพยุโรป หรือ TPP ซึ่งมีสหรัฐอเมริกานำขบวน 2 กลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐตกลงตามเงื่อนไขของนักลงทุนชาติต่างๆ
หัวใจของ ISDS คือ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ ถ้าไปขัดขวางการทำงานของเอกชน หรือทำให้กำไรที่คาดว่าจะได้ลดลง
ตามทฤษฎี ISDS มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ ว่าเมื่อมาลงทุนในประเทศเรา รัฐบาลจะไม่ไปรังแกหรือกีดกัน และเมื่อนักลงทุนมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครอง ก็จะชักชวนกันมาลงทุนในบ้านเรามากขึ้น
“ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากสหภาพยุโรป หอบเงินลงทุนมาตั้งโรงงานในประเทศไทย ถ้าอยู่ๆ รัฐบาลไปยึดที่ดินเขา เขาก็ฟ้องร้องได้ แต่นักลงทุนอาจจะไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของเรา หรืออยากให้เรื่องจบเร็วๆ ก็ไปฟ้องผ่านกลไก ISDS และการไปฟ้องผ่าน ISDS ก็ไม่ต้องผ่านศาลไทยและไม่เสียเวลา” จักรชัย อธิบาย
ทางลัดของนักลงทุน
ลัดอย่างไร…นักลงทุนที่คิดว่าตัวเองโดนละเมิด กีดกัน และคาดว่าผลประกอบการจะน้อยลงก็จะไปใช้บริการ อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่น ICSID (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ของธนาคารโลก ซึ่งมีเงื่อนไขตัวโตๆ ว่า “การตัดสินของ ICSID ถือเป็นที่สิ้นสุด คู่กรณีต้องทำตามไม่ว่าผลนั้นจะเป็นอย่างไร”
ทั้งนี้ กลไกอนุญาโตตุลาการจะเป็นการพิจารณาข้อพิพาทของคน 3 คน
1. ตัวแทนนักลงทุน
2. ตัวแทนรัฐบาล
3. คนที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
3 คนนี้ไปประชุมกัน ศึกษาตัวสัญญา แล้วมีอำนาจตัดสินได้เลยว่ารัฐบาลผิดหรือไม่ ถ้าผิดแล้วจะต้องถูกลงโทษอย่างไร จ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คดีแบบนี้เพิ่มจาก 108 คดีเป็น 390 คดี และ 91 เปอร์เซ็นต์เป็นนักลงทุนสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไล่ฟ้องรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณซึ่งมาจากภาษีประชาชนเพื่อชดใช้ให้นักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้เพราะคำว่ายึดทรัพย์ถูกตีความกว้างมาก ไร้ขอบเขต อะไรๆ ก็ถูกกล่าวหาว่ารัฐกำลังยึดทรัพย์เอกชนทั้งสิ้น ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม แม้ว่านโยบายนั้นจะดีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแค่ไหน แต่ถ้าไปขัดผลประโยน์ ก็อาจถูกนำไปฟ้องร้องจนนำไปสู่การเรียกค่าชดเชยและล้มนโยบายสาธารณะนั้นๆ ได้
“เช่น ถ้ารัฐไปออกกลไกอะไรที่ทำให้กำไรของนักลงทุนหดหาย หรือกำไรที่คาดว่าจะรับไม่เป็นไปตามเป้า เอกชนก็ฟ้องได้”
กรณีตัวอย่าง
ปี 2555 บริษัทฟิลิป มอร์ริส ยักษ์ใหญ่ด้านยาสูบ ฟ้องรัฐบาลประเทศออสเตรเลียที่ออกกฎหมายควบคุมยาสูบ ติดป้ายเตือนภัยจากการสูบบุหรี่ และบังคับให้ใช้ซองสีเดียวกัน เพราะไม่ต้องการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ แต่อุตสาหกรรมบุหรี่ไม่ยอม อ้างว่าเป็นการทำลายเครื่องหมายการค้า และทำให้ยอดขายตก จึงไปฟ้องศาลออสเตรเลียแต่ศาลฎีกา ตัดสินให้ฟิลิป มอร์ริสแพ้ เพราะรัฐบาลมีสิทธิในการออกกฎหมายหรือนโยบายคุ้มครองสุขภาพประชาชน แต่ฟิลิป มอร์ริส ก็ยังไม่ยอมแพ้ ไปฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียผ่านกลไก ISDS ต่อ จนรัฐบาลออสซี่โกรธมาก ประกาศไม่ยอมรับและไม่กดดันให้ประเทศใดต้องรับ ISDS อีก ด้านคดีใน ISDS ยังอยู่ในกระบวนการตัดสิน
“ที่เยอรมนี รัฐบาลมีแผนยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเหตุการณ์ฟุกุชิมะที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนกว่า แต่ถูกนักลงทุนสวีเดนฟ้องล้มนโยบาย และเรียกค่าเสียหาย ผ่านกลไก ISDS เช่นเดียวกัน” อีกตัวอย่างจากจักรชัย
ที่อาร์เจนตินา สมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2001-2002 รัฐบาลต้องลดค่าเงินและหยุดขึ้นค่าสาธารณูปโภคเพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน แต่รัฐบาลอาร์เจนตินากลับถูกเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน CMS Energy จากสหรัฐอเมริกา, ด้านการแปรรูปน้ำ Anglian Water จากอังกฤษ และ Aguas de Barcelona จากสเปน ฟ้องผ่านอนุญาโตตุลากรกว่า 40 คดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาจากกำไรที่หายไปจากนโยบายดังกล่าว และรัฐบาลอาร์เจนตินายังยืนกรานไม่จ่ายค่าเสียหาย 1,500 ล้านดอลลาร์มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับประเทศไทยเอง ถ้ายังจำกันได้ในกรณีอายัดเครื่องบินที่สนามบินเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยบริษัท วอลเตอร์ บาว ที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์
บริษัทวอลเตอร์ บาว เคยยื่นฟ้องรัฐบาลไทยช่วงปี 2549 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไทยผิดสัญญา ในโครงการก่อสร้างโทลล์เวย์ หลายประเด็น เช่น ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย และมีมาตรการไม่ให้บริษัทปรับค่าผ่านทาง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการสร้างทางแข่งขัน เช่น โครงการโฮปเวลล์ การก่อสร้างทางเบี่ยงบนถนนวิภาวดีรังสิต การก่อสร้างสะพานลอยที่แยกสุทธิสารบนถนนวิภาวดีรังสิต การย้ายสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ
วอลเตอร์ บาว ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี ปี พ.ศ. 2545 เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย 30 ล้านยูโร
อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ระบุว่าประเทศไทยผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลง และต้องชำระค่าชดเชยจำนวน 29.21 ล้านยูโร พร้อมดอกเบี้ย คำนวณตามอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในกลุ่มยูโร ในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2549 จนกว่าถึงวันชำระเงิน พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของฝ่ายวอลเตอร์ บาว จำนวน 1,806,560 ยูโร รวมทั้งดอกเบี้ยตามอัตราเดียวกับค่าชดเชยความเสียหาย
และเพื่อไม่ให้ต้องเสียค่าโง่บ่อยครั้ง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ ครม. ปลายปี 2552 “ให้การสัญญาทุกประเภทที่หน่วยงานรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางการปกครองหรือไม่ ไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็น หรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณเราอนุมัติเป็นรายๆ ไป” และมติ ครม. นี้ยังใช้มาถึงปัจจุบัน
แต่ร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย-อียู นักการเมืองไทยต้องการเอาใจนักลงทุน ด้วยการระบุว่า “เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการการอนุญาโตตุลาระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาท”
และถ้าเจรจาประเด็นนี้สำเร็จ ประชาชนไทยผู้จ่ายภาษีก็อาจต้องทำใจไว้ว่า เงินส่วนหนึ่งต้องถูกเอาไปจ่ายเพื่อเสียค่าโง่ให้นักลงทุน แทนที่จะได้เอาไปใช้พัฒนาประเทศได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่มา : ftawatch.org
ทำความเข้าใจ ISDS อย่างง่ายๆ ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=uezti-eyG_E