โรคปวดหลังกลายเป็นโรคเรื้อรังของชาวออฟฟิศไปเสียแล้ว หลายคนอาจลองบิดซ้ายบิดขวาหรือลองลุกขึ้นเดินเพื่อยืดเส้นยืดสายสักหน่อยแต่อาการปวดหลังก็ไม่ได้ทุเลาลง
อย่างไรก็ตาม โรคปวดหลังอาจไม่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมสักเท่าไร เพราะผลวิจัยล่าสุดจากสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเปิดเผยว่า ท่วงท่าการละหมาดของชาวมุสลิมช่วยลดโอกาสของโรคปวดหลังได้หากทำอย่างถูกวิธี
โดยงานวิจัยดังกล่าวชื่อว่า ‘An ergonomic study of body motions during Muslim prayer using digital human modelling’ ถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร International Journal of Industrial and Systems Engineering ซึ่งงานชิ้นนี้ค้นพบว่า การละหมาดไม่เพียงขจัดความวิตกกังวลทางร่างกาย แต่ยังช่วยจัดท่าของข้อศอกและเข่าให้อยู่ในองศาที่เหมาะสมแล้วยังสามารถเป็นแนวทางรักษาแบบเวชปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งได้อีกด้วย
ปกติแล้วชาวมุสลิมทั่วโลกกว่า 1.6 พันล้านคนทำการละหมาด 5 ครั้งต่อวันและหันศีรษะของตนไปยังทิศที่ตั้งของเมืองเมกกะ โดยเรียกการคุกเข่าและโน้มตัวลงจนศีรษะติดพื้นว่า ‘สุญูด (sujud)’
“การละหมาดของชาวมุสลิมมีท่วงท่าที่คล้ายกับการเล่นโยคะซึ่งช่วยบรรเทาโรคปวดหลังส่วนล่างได้” โมฮัมหมัด คาห์ซอว์เนห์ (Mohammad Khasawneh) อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Penn State Behrend รัฐเพนซิลเวเนีย และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ให้คำตอบถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมการละหมาดถึงช่วยรักษาอาการปวดหลังได้
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับการละหมาดสำหรับคนพิการนั้นมีผลต่ออาการปวดหลังอย่างไรบ้าง เนื่องจากเป็นงานที่มุ่งศึกษาแต่กลุ่มคนที่มีร่างกายปกติ
“สุขภาพกายได้รับอิทธิพลจากปัจจัยที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจและสังคม ไลฟ์สไตล์รวมถึงศาสนา การละหมาดจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถขจัดความกังวลทั้งทางใจและทางกายได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางรักษาแบบเวชปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพต่อความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกได้อีกด้วย (neuro-musculoskeletal dysfunction)” คาห์ซอว์เนห์ อธิบายเพิ่มเติม