ไอซ์แลนด์: โอลาเฟอร์ กริมซัน กัปตันทีมกู้ชาติ

 

เราไม่เอาเงินสาธารณะไปอุ้มแบงก์เน่า เราปฏิบัติต่อสถาบันการเงินพวกนี้เหมือนธุรกิจที่ล้มเหลวทั่วไป คือปล่อยให้มันล้มไป บางคนวิจารณ์ว่าเพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น ก็อาจจะใช่ แต่ในที่สุดมันกลายเป็นก้าวที่ชาญฉลาด…มันเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่คนทั้งชาติเผชิญร่วมกัน…เหตุที่เราสามารถเอาประเทศออกจากวิกฤติได้เร็วและมีประสิทธิภาพเกินกว่าใครจะคาดคิด เป็นเพราะเราจัดการกับปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจและการเงิน แต่เราพยายามที่จะจัดการกับความท้าทายด้านการเมือง สังคม หรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรมที่การล่มสลายของสถาบันการเงินเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็น

– โอลาเฟอร์ แรกนาร์ กริมซัน (Ólafur Ragnar Grímsson)
ประธานาธิบดี 5 สมัยซ้อนของไอซ์แลนด์ (1996-2016)
13 เมษายน 2012

 

ไอซ์แลนด์

สงสัยมานานแล้วว่า เวลาเอ่ยถึงแก๊งลูกหมู (โปรตุเกส, อิตาลี, ไอร์แลนด์, กรีซ และสเปน: PIIGS) ทำไมจึงไม่รวมไอซ์แลนด์ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจพร้อมๆ กับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ แล้วเหตุใดข่าวคราวเกี่ยวกับไอซ์แลนด์ในสื่อกระแสหลักก็ช่างมีน้อยเสียเหลือเกิน นอกจาก มีนายกฯ เป็นเลสเบี้ยน (นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ โยฮันนา ซิกุราดอร์ทเทร์ – Jóhanna Sigurðardóttir ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2009-2013) มีประธานาธิบดีคนเดียว 5 สมัยซ้อน มีนิสัยชอบใช้อำนาจเกินขอบเขตเที่ยวขัดขวางกฎหมายของรัฐบาล เป็นชาติเบี้ยวหนี้ และถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะผู้ก่อการร้าย…

เฮ้อ!!! ข่าวดีๆ ทั้งน้าน

เมื่อได้รับคำสั่งจากท่าน บก. ให้เพลาๆ การจิกกัด ’เมกาซะบ้าง ไปหาดินแดนศิวิไลซ์อื่นๆ มานำเสนอจึงได้โอกาสลงไปดำผุดดำว่ายในวังข้อมูล แล้วก็ต้องตกตะลึงตึงๆ รู้แล้วๆ ทำไมความเคลื่อนไหวของไอซ์แลนด์จึงถูกปิดเงียบ อ้าว!!! ก็ขืนปล่อยให้รับรู้กันมากๆ อาจถึงคราวล่มสลายของระบบเสรีนิยมใหม่ได้เลยนะเนี่ย

ก่อนวิกฤติราวปี 2007 ประเทศเล็กๆ แถบอาร์คติก มีประชากรไม่ถึง 320,000 คนสามารถก่อหนี้มากกว่าผลิตภัณฑ์ประชาชาติของตัวเองถึง 9 เท่า ซึ่งหนี้สินทั้งหมดเกิดจากธนาคารพาณิชย์ของไอซ์แลนด์ที่เข้าไปสยายปีกในยุโรป โดยเฉพาะ IceSave ที่เปิดระบบฝากเงินออนไลน์ดึงดูดชาวอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ให้มาฝากเงินที่ IceSave รวมกันมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ (1,502,000 ล้านบาท)

ช่วงเวลานั้น ธนาคารของไอซ์แลนด์เคยได้รับการยกย่องจากเครดิตเรตติ้งทุกแห่งในลำดับน่าลงทุนสูงสุด สถาบันการเงินทั้งในอเมริกาและในยุโรปก็แห่แหนเข้ามาร่วมทุนด้วย ต่างยกย่องให้เป็นความสามารถของนายกฯ เดวิด ออสซัน (Davíð Oddsson) ซึ่งครองตำแหน่งช่วงปี 1991-2004 ผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้าพ่อชิคาโกบอย มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) มาปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบกึ่งสังคมนิยม-รัฐสวัสดิการของไอซ์แลนด์ให้เป็นแดนสวรรค์ของพวกเสรีนิยมใหม่

ก็แบบคุ้นๆ ตากันคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ-ธนาคารให้ไปเป็นของเอกชนแบบบิ๊กล็อต, ลดภาษีนิติบุคคลครึ่งนึงเพื่อสร้างแรงจูงใจ, ปรับลดงบประมาณด้านสวัสดิการต่างๆ, เร่งทำข้อตกลงการค้าเสรีสมาคมการค้ายุโรป, ปล่อยค่าเงินโครนาลอยตัวแทนการผูกกับระบบตะกร้าเงิน, เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลาง และปรับลดกฎระเบียบการกำกับขนานใหญ่เพื่อดึงดูดการลงทุน ในช่วงเวลาแค่ 5 ปีของการปฏิรูป ไอซ์แลนด์ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Fortune ให้เป็นสังคมที่ร่ำรวยที่สุดในโลก สถาบันการเงินที่น่าลงทุนที่สุดในโลก และอีกหลายๆ ที่สุดในโลก หันไปไหนก็เจอแต่อภิมหาเศรษฐีหน้าใหม่ จีดีพีติดอันดับท็อป พร้อมกับเสียงแซ่ซ้องของ IMF และ OECD

คงมีเพียงเสียงเล็กๆ ของ โจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์กระแสรองที่ส่งรายงานเตือนธนาคารกลางของไอซ์แลนด์ให้ระวังการที่เอาระบบเศรษฐกิจเล็กๆ ไปผูกติดกับระบบโลกและเสนอมาตรการกฎระเบียบต่างๆ ที่พึงมีเพื่อเป็นหลักอิงสำคัญ แต่เสียงของเขาก็ถูกมองอย่างเหยียดๆ จากแก๊งชิคาโกบอยว่า ก็อีแค่พวกนิวเคนนิเชียนตกยุค

สถาบันการเงินของไอซ์แลนด์สยายปีกแข่งกัน จากปี 2003 ที่ก่อหนี้ 2 เท่าของผลิตภัณฑ์ประชาชาติของตัวเอง พุ่งทะยานเป็น 9 เท่าในปี 2007 และเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เน่าเฟะ ไอซ์แลนด์จึงกระทบแรงกว่าใคร ดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินโครนาลดฮวบไป 85 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยูโร รัฐต้องเข้าไปฟื้นฟูกิจการ 3 ธนาคารใหญ่ Landbanki, Kapthing และ Glitnir แล้วในปลายปี 2008 ไอซ์แลนด์ก็ต้องประกาศล้มละลาย เมื่อเทียบแล้วประชากรมีหนี้ต่อหัวสูงถึง 200,000 ดอลลาร์ ที่ไม่มีปัญญาจ่ายได้

แล้วก็เหมือนกันทุกรัฐบาลที่จะพยายามเข้าไปอุ้มแบงก์ด้วยการกู้หนี้ยืมสินด้วยภาษีของประชาชน แต่ชาวไอซ์แลนด์ไม่ยอมง่ายๆ พวกเขาชุมนุมตีหม้อตีกระทะเช่นที่คนอาร์เจนตินาเคยทำมา ไล่รัฐบาลไปไม่ต่ำกว่า 2 ชุด เพราะทุกรัฐบาลคิดแต่จะยอมสหภาพยุโรปและ IMF ด้วยการเข้าแผนรัดเข็มขัดเพื่อให้ได้เงินกู้ที่จะได้นำไปจ่ายคืนให้กับนักลงทุนชาวอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ แม้แต่รัฐบาลที่มาจากฝ่ายซ้าย ก็ยังมีหน้าออกกฎหมายให้ชาวไอซ์แลนด์ทุกคนต้องจ่ายหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อคนละ 100 ยูโรทุกเดือนเป็นเวลา 15 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 5.4 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอาเงินเหล่านี้ไปจ่ายหนี้ที่รัฐบาลกู้มาเพื่ออุ้มแบงก์ แล้วจะได้มีเงินไปคืนนักลงทุน

บร้า…ชัดๆ นี่เป็นประโยคที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดกับความรู้สึกของ โอลาเฟอร์ แรกนาร์ กริมซัน ประธานาธิบดีในขณะนั้นคิดอยู่ในใจ จึงตัดสินใจใช้สิทธิวีโตคว่ำกฎหมาย 3 ฉบับแล้วส่งไปให้ประชาชนในชาติลงประชามติตอกฝาโลงในที่สุด

แน่นอนว่าการกระทำของกริมซันท้าทายต่อระบบการเงินโลกอย่างยิ่ง รัฐบาลของ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) แห่งอังกฤษขึ้นบัญชีดำไอซ์แลนด์เป็นประเทศผู้ก่อการร้าย และขู่ว่าจะฟ้องศาลสมาคมการค้าเสรียุโรปเพื่อเอาเงินคืนให้จงได้

พวกเขาบอกว่า ถ้าเราไม่ยอมตามเงื่อนไขของนานาชาติ เราจะถูกปฏิบัติเยี่ยงคิวบาแห่งซีกโลกเหนือแน่ๆ แต่ถ้าเรายอมตามเงื่อนไขเหล่านั้น เราคงต้องกลายเป็นเฮติแห่งซีกโลกเหนือ…

กริมซันให้สัมภาษณ์ถึงแรงกดดันในขณะนั้น

‘ความแน่’ ของไอซ์แลนด์ยังไม่สิ้นสุด รัฐบาลรักษาการ หน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ร่วมกับภาคประชาสังคมตั้งกลไกขึ้นมาตรวจสอบเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ หมายจับนายธนาคารใหญ่ๆ ถูกส่งถึงตำรวจสากลเพื่อล่าตัวพวกที่หนีออกนอกประเทศ จนถึงขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 90 คน และอีกมากกว่า 200 คนซึ่งรวมทั้งบรรดาซีอีโอของ 3 แบงก์ใหญ่ทยอยถูกศาลพิพากษาจำคุก 4-5 ปีไปบ้างแล้ว

ไม่ ไม่ ไม่เพียงแค่นั้น ชาวไอซ์แลนด์ยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบกลับทิศ 180 องศาเพื่อปลดปล่อยประเทศจากระบบการเงินโลก ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่แต่ละคนต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีผู้ให้คำรับรองเกิน 30 คนให้ได้ 522 คนแล้วคัดเลือกให้เหลือ 25 คนเพื่อมารวบรวมความเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่ารัฐธรรมนูญแบบไหนที่พวกเขาอยากเห็นผ่านทางอินเทอร์เน็ต การประชุมทุกครั้งเปิดเผยโปร่งใสด้วยการถ่ายทอดสดออนไลน์ รับความเห็นที่สตรีมเข้ามาแบบสดๆ

ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อสถาบันการเงินล้มระเนระนาดไป แทนที่ผู้กำหนดนโยบายของไอซ์แลนด์จะตาเหลือกตาตั้งกับแรงงานมันสมองที่ตกงาน กลับใช้เป็นโอกาสที่ดีได้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศโดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไอที พลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมที่มีภาคการผลิตจริง ไม่ใช่พวกเล่นหรือลงทุนกับกระดาษอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาการเติบโตของสถาบันการเงินดึงมันสมองของประเทศไปกระจุกตัวในวงการเสียเกือบหมด มันสมองด้านต่างๆ จึงได้โอกาสกลับไปสร้างสรรค์งานที่พวกเขาถนัด

และในที่สุด เพียงไม่ถึง 5 ปี เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ก็กลับมาผงกหัวอีกครั้ง จีดีพีบวก 2.4 เปอร์เซ็นต์ สวนทางเพื่อนๆ ในสหภาพยุโรปที่เห็นแต่เลขลบ ตัวเลขการว่างงานเหลือเพียง 7.2 เปอร์เซ็นต์ หนี้สินของไอซ์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เขยิบสูงขึ้นอีกหลายขั้น

“สิ่งที่ไอซ์แลนด์ทำลงไปนั้นถูกต้อง เพื่อทำให้ระบบการจ่ายเงินคืนต้องเป็นภาระของเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้เสียภาษีที่ต้องมาแบกรับความล้มเหลวของสถาบันการเงิน ขณะที่ไอร์แลนด์ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม แล้วก็อย่างที่เราเห็นว่ามันคือโมเดลที่แย่ที่สุด” โจเซฟ สติกลิทซ์ ให้ความเห็น ซึ่งแม้แต่ IMF ก็ยังต้องยอมรับ

ถามว่าอะไรคือมรดกที่เราทิ้งไว้ให้กับประเทศและประชาชาติต่างๆ ในยุคสมัยปัจจุบัน ใช่สิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ระบบตลาดแบบทุนนิยมสามารถเกิดได้ทุกที่ แม้ในที่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ดังนั้น ในความคิดของผม ยุโรปจะต้องเป็นและควรเป็นประชาธิปไตยมากกว่าแค่ตลาดการเงิน ด้วยการคิดเช่นนี้ ผมจึงตัดสินใจเลือกประชาธิปไตย

โอลาเฟอร์ แรกนาร์ กริมซัน ประธานาธิบดี 5 สมัยซ้อนผู้ซึ่งไม่ยอมให้ไอซ์แลนด์เป็นเฮติแห่งซีกโลกเหนือกล่าวทิ้งท้าย

หุหุ รู้แล้วใช่ไหม ทำไมประสบการณ์ของไอซ์แลนด์จึงไม่เป็นที่รับรู้ในสากล


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 53 กันยายน 2555

อ้างอิงข้อมูลจาก:
truth-out.org
businessinsider.com
alternet.org
dailykos.com
beforeitsnews.com
wakeup-world.com
ritholtz.com
moneymorning.com.au
maxkeiser.com

 

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า