Zika’s Pandora Box: ไข้ซิกากับกล่องแห่งหายนะ

[vc_row][vc_column][vc_column_text]

itchy

 

ภาพประกอบ: Shhhh

 

อีโบลาไปแล้ว เมอร์สก็น่ากำลังจะไป แต่ต้นปี 2016 นี้โลกก็ต้องต้อนรับและทำความรู้จักกับไข้ซิกา (Zika) เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อยกระดับความอันตรายของไวรัสซิกาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการตอบโต้

มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงว่า นี่เป็นเหตุการณ์พิเศษที่จำเป็นต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยประกาศให้กลุ่มโรคศีรษะเล็กผิดปกติ และโรคผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับระบบประสาท ที่มีรายงานการแพร่ระบาดอยู่ในลาตินอเมริกา หลังโรคเดียวกันนี้ ระบาดในเฟรนช์โพลีนีเซีย ดินแดนของฝรั่งเศส ในปี 2014 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนานาชาติ เชื่อว่า ไวรัสชนิดนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กแรกเกิดมากถึง 4,180 คน ที่เกิดมาพร้อมกับภาวะสมองไม่พัฒนา และศีรษะเล็กผิดปกติ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความวิตกกังวลว่า ไวรัสซิกาซึ่งพบในผู้ป่วยที่ลาตินอเมริการายแรกเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว จนขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากถึง 1.4 ล้านคน กำลังระบาดอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างเทียบเท่ากับแรงระเบิด อาจจะทำให้มีผู้ติดเชื้อในปีนี้มากถึง 4 ล้านคน ซึ่งจะสร้างความเสียหายอีกมหาศาล

ดังนั้น การประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนานาชาติ จะทำให้มีความร่วมมือในการเฝ้าระวังการระบาด ควบคุมประชากรยุงที่เป็นพาหะ พัฒนาอุปกรณ์ตรวจ และวัคซีน เพื่อป้องกันประชาชนในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การติดต่อของไข้ซิกาไม่ได้จำกัดแค่ยุงที่เป็นพาหะเท่านั้น จากเดิมที่คิดว่าการติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสน้อย ก็มีรายงานผู้ป่วยที่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่เมืองดัลลัส ในสหรัฐแล้ว

มีการตั้งข้อสังเกตมากมาย เหตุใดการระบาดของไข้ซิกาในบราซิลครั้งนี้จึงมีความรุนแรง ตั้งแต่เหตุผลที่ว่า ในปัจจุบัน การเดินทางจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่งมีความสะดวกมากขึ้น พอๆ กับที่การระบาดของโรคจากพื้นที่ต่างซีกโลกก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น ความแออัดของประชากร ความยากจน สภาวะโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่าในอัตราเร่งสูง การที่ความเป็นเมืองบุกรุกเข้าไปในผืนป่า การเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ที่เหมาะกับการเพาะพันธุ์ของยุง จนถึงขั้นที่มีการโหมปั่นกระแสทำสงครามกับยุงลายตัวร้าย ด้วยยุงตัดแต่งพันธุกรรม หรือ ‘ยุง GMO’

 

สงครามยุง

การใช้ยุง GMO ไปกำจัดยุงธรรมชาตินั้น เริ่มมีการปลดปล่อยสู่ธรรมชาติในบราซิลหลายระลอก ตั้งแต่ ปี 2011 2012 และ 2015 ในมาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐ ก็เคยคิดที่จะลองวิธีเดียวกันนี้ โดยสหรัฐอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณา แต่ถูกกระแสล่ารายชื่อคัดค้านมากกว่า 160,000 คน ด้วยเหตุผลที่ว่า งานวิจัยทั้งด้านความสำเร็จและความปลอดภัยที่นำเสนอประกอบการพิจารณาล้วนออกมาหรือได้รับทุนสนับสนุนจาก Oxitec (Oxford Insect Technologies) บริษัทสัญญาติอังกฤษที่ดำเนินธุรกิจดัดแปลงพันธุกรรมแมลง

เช่นเดียวกับที่มาเลเซีย ทางรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกไปเพราะกระแสการคัดค้านอย่างเข้มข้น ไม่มีข่าวคราวเพิ่มเติมจากฟากสิงคโปร์ แต่ในรายงานข่าวของ Oxitec หลายครั้งมีชื่อประเทศไทยอยู่ด้วยว่าดำเนินการบางอย่าง ซึ่งจากการเปิดเผยของ รศ.สุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ นักวิจัยภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีการทำหมันยุงลายตัวผู้ และการตัดแต่งพันธุกรรมยุงลาย ที่ผ่านมามีการวิจัยในห้องปฏิบัติการในไทย แต่ยังไม่มีการปล่อยออกสู่ธรรมชาติ

จากการระบาดของไวรัสซิกา สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ต้องเร่งพิจารณาขั้นสุดท้ายที่จะให้มีการทดลองปล่อยยุง GMO ในพื้นที่ฟลอริดาคีย์ หลังจากที่ถูกคัดค้านมาหลายปี นิตยสาร Forbes ถึงขั้นมีรายงานเปรียบเทียบวิธีการต่างๆ ในการจัดการกับไข้ซิกาและโรคอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะว่า การใช้ยุง GMO น่าจะเป็นทางออกที่น่าเลือกที่สุด ดีกว่าการใช้สารเคมีฆ่ายุงและแมลงต่างๆ เช่นเดียวกับหน้าบทความและความเห็นของอีกหลายสำนักพิมพ์ อาทิ The Guardian ก็มีผู้เขียนบทความเชียร์ให้เร่งใช้ยุง GMO จัดการปราบปรามยุงธรรมชาติ

แน่นอนว่า Oxitec บริษัทจากสหราชอาณาจักรเด้งรับกระแสนี้อย่างคึกคัก ด้วยการประกาศความพร้อมในการเร่งผลิตยุง GMO ให้ทันกับกระแสความต้องการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในบราซิลที่ได้รับการอนุมัติจากทางการให้ปล่อยยุง GMO เป็นการค้าได้ตั้งแต่ปี 2015 แล้ว

“ยุงของ Oxitec หรือที่รู้จักกันว่า ‘ยุงลายที่เป็นมิตร’ (Friendly Aedes aegypti) เป็นเครื่องมือที่มีความยั่งยืนทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม และเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถกำจัดยุงลายธรรมชาติได้ จากที่เคยเพียรพยายามมาหลายปีแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ และวิธีการนี้ยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะเราไม่ได้มีแต่การระบาดของไข้เลือดออกเด็งกี (dengue fever) แต่ยังมีไวรัสซิกา ไข้ออกผื่นชิคุนกุนยาในบราซิล”

บริษัท Oxitec อ้างว่า ในพื้นที่แมนดาคารูที่มีการปล่อยยุง GMO สามารถลดประชากรยุงธรรมชาติได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และกำลังทดลองในอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

“เราได้รับคำขอความช่วยเหลือมาจากเทศบาลและรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากเกี่ยวกับผลจากการระบาดของไวรัสซิกา ซึ่งขณะนี้เราพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่” ฮาดีน พาร์รี่ CEO ของ Oxitec กล่าว

 

พันธุกรรมพิษจากยุง GMO

ยุงของ Oxitec หรือ OX513 เป็นยุงลายตัวผู้สายพันธุ์ Aedes aegypti ที่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมให้มียีนที่มีพิษ เมื่อปล่อยเจ้ายุงตัวผู้พวกนี้สู่ธรรมชาติไปจับคู่กับยุงลายเพศเมียที่เป็นตัวเจาะดูดเลือดมนุษย์และสัตว์ ยีนมีพิษซึ่งใส่เข้าไปในยุงตัวเมียและส่งต่อไปถึงลูกของมันจะแผลงฤทธิ์ทำลายตัวอ่อน ซึ่ง Oxitec อ้างว่า สามารถทำให้ตัวอ่อนตายได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกระแสโหมการตลาดรุนแรงจนผิดสังเกตเช่นนี้ ทำให้เริ่มมีกระแสตีกลับตั้งข้อสังเกตว่า การหาสาเหตุสำคัญของการระบาดของไวรัสซิกานั้น ใส่ใจต้นตอของการระบาดที่รุนแรงครั้งนี้น้อยไปหรือเปล่า โดยเฉพาะปัจจัยใหม่อย่างยุง GMO

แต่พบว่า ช่วงแรกการตั้งข้อสังเกตนี้ มาจากผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ Reddit ที่โยงพื้นที่ปล่อยยุง GMO กับพื้นที่ระบาดของไข้ซิกา ซึ่งทั้ง RT News ของรัสเซีย และ Daily Mirror สำนักข่าวหัวสีของอังกฤษ นำไปรายงานข่าวต่อ ทำให้ฝ่ายโปร GMO ออกมาสวนด้วยน้ำเสียงที่เย้ยหยันกับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งพื้นที่ในบราซิลและปีที่ปล่อยยุงสู่ธรรมชาติ เทียบเท่าแค่เกรียนคีย์บอร์ด (redditors) เท่านั้น

“จะแนะอะไรให้นะ ถ้าคิดจะใช้ทฤษฎีสมคบคิดโดยดูจากความบังเอิญของสถานที่ ก็น่าจะเป็นความคิดที่ดี แต่จะดีกว่าถ้าเป็นสถานที่ที่ถูกต้อง” ดร.คริสตี วิลค็อก คอลัมนิสต์ประจำ Discover Magazine กล่าว เนื่องจากพื้นที่ปล่อยยุง GMO นั้น เป็นพื้นที่ริมการระบาดทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ไม่ใช่ศูนย์กลางการระบาดตามแผนที่เปรียบเทียบ

 

ข้อสังเกตเรื่องการอัพเกรดไวรัส

น่าสังเกตว่า การตั้งข้อสมมุติฐานที่มีน้ำหนักและเป็นไปด้วยเหตุและผล ในบทวิเคราะห์ข่าวของนิตยสาร The Ecologist กลับไม่มีใครกล้าไปตอแย

เมื่อมีรายงานการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในไวรัส เราควรต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเกิดไวรัสพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น ความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะเป็นสาเหตุของโรคจะไม่สามารถถูกตัดออกไปได้ จนกว่าจะมีการวินิจฉัยและพิสูจน์ด้านจุลพยาธิวิทยาจำนวนมากเพียงพอ และนี่คือคำถามสำคัญ ถ้าไวรัสซิกาเป็นสาเหตุของปัญหาจริงอย่างที่คิด ไวรัสที่ค่อนข้างรุนแรงตัวนี้ได้ความสามารถในการสร้างความผิดปกติที่ร้ายแรงในทารกมาได้อย่างไร

นี่คือจุดเริ่มต้นของรายงาน ‘Pandora’s box: how GM mosquitos could have caused Brazil’s microcephaly disaster’ ที่เขียนโดย โอลิเวอร์ ทิคเคลล์ ไล่เรียงเอกสารงานวิจัยจำนวนมากที่ล้วนแล้วแต่เป็นการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแบบ peer review ที่อ้างอิงถึงด้านบนเป็นของโอลิเวียรา มีโล และคณะ ในวารสาร Ultrasound in Obstetrics & Gynecology ฉบับล่าสุดรวมทั้งเอกสารภายในของ Oxitec ที่นักวิชาการมาเลเซียได้มาประกอบการคัดค้านการทดลองปล่อยยุง GMO รวมถึงงานวิจัยบางชิ้นที่บริษัทกล่าวอ้างเองถึงวันเวลาต่างๆ จนได้สมมุติฐานความน่าจะเป็นที่น่าสนใจและน่ารับฟังเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้

ยุง GMO หลายล้านตัวของ Oxitec ถูกปล่อยในพื้นที่ฮัวเซริโอตั้งแต่ปี 2011 และ 2012 ตัวอ่อนของมันรอดชีวิตอยู่ด้วยความช่วยเหลือของยาปฏิชีวนะ Tetracycline ในธรรมชาติ ซึ่งใช้กันมากในการเกษตรอุตสาหกรรมของบราซิล (ซึ่งอัตรารอดไม่ใช่แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เอกสารภายในของบริษัทชี้ว่า สูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์)

  • ตัวอ่อนเหล่านั้นทั้งตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์กับยุงในธรรมชาติต่อไป ทำให้ยีนใหม่ของมันกระจายออกไป
  • การตัดแต่งพันธุกรรมที่ใช้เทคนิคยีนนำพา PiggyBac Transposon กระจายอยู่ในประชากรยุงลาย ซึ่งยีนนำพานี้จะมีศักยภาพในการนำพาสูงขึ้น และยักย้ายถ่ายเทยีน GMO ไปอยู่ที่ใดก็ได้ของยีนไวรัสซิกาทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้เป็นหมันก็ได้ แต่โอกาสกลายพันธุ์ก็สูง
  • ในกระบวนการกลายพันธุ์ของไวรัสซิกาจะมีกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ทำให้มันยิ่งทวีความรุนแรง และยิ่งเพิ่มศักยภาพในการเข้าไปจัดการกับดีเอ็นเอของมนุษย์
  • จากตรงนี้เองที่มันมีศักยภาพเข้าไปจัดการกับตัวอ่อนของทารกในครรภ์ที่ทำให้เกิดโรคสมองเล็ก และบางส่วนมีรายงานว่ารูปร่างพิกลพิการผิดรูป ซึ่งตรงกับงานวิจัยก่อนหน้าที่เคยมีการเตือนว่า นี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
  • สาเหตุที่ทารกสมองเล็ก เชื่อว่า ยีนนำพา PiggyBac เข้าไปเชื่อมกับดีเอ็นเอของเด็กจากไวรัสที่อยู่ในมดลูก จนไปทำอันตรายต่อการพัฒนาของตัวอ่อน

โอลิเวอร์ ทิคเคลล์ แห่ง The Ecologist บอกว่า เขาไม่ได้กำลังบอกว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อยนี่คือสมมุติฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด และยิ่งไปกว่านั้น มันสามารถตรวจสอบกลับได้มากที่สุด ซึ่งใช้วิธีไม่ยากเย็น คือการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของน้ำคร่ำ เลือดของทารกที่สมองเล็ก, ยุงลายป่า, ไวรัสซิกา ว่ามีเจ้ายีนนำพา PiggyBac หรือไม่ด้วยเทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction)

หากพบว่าข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ต้องนำไปสู่หยุดการปล่อยยุงและแมลงตัดแต่งพันธุกรรมทั้งหมด รวมทั้งต้องหยุดการทดลองต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยียีนนำพาอย่างเดียวกันทันที จนกว่าจะมีการวางแผนที่รับมือกับความปลอดภัยขั้นสูงสุด อาทิ การทดลองตัดแต่งพันธุกรรมยุงให้ต้านมาลาเรีย (ซึ่งมูลนิธิ Gates ให้การสนับสนุนอยู่)

ในท้ายรายงานของ The Ecologist ชิ้นนี้ ราวกับจะบอกเป็นนัยว่า ข้อเขียนชิ้นนี้อาจไม่สามารถต้านกระแสการตลาดขายยุง GMO ที่อ้างว่านี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการสู้ไวรัสซิกา

“หากสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง (ปล่อยยุง GMO เพื่อปราบไวรัสซิกา) ณ จุดนี้ พวกเราคงได้แต่คาดการณ์ว่า นั่นคงทำให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์ขึ้นอีกจำนวนมากที่พวกมันจะมีศักยภาพในการทำลาย genome ของมนุษย์มากกว่านี้”


 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
The Ecologist / theecologist.org
RT News / rt.com
Bloomberg / bloomberg.com
AFP / afp.com
Huffington Post / huffingtonpost.com
The Conversation / theconversation.com
EnviroNews / environews.tv
change.org
Discover Magazine / discovermagazine.com
Forbes / forbes.com
ASTV ผู้จัดการ / manager.co.th

[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า