จิราพร สินธุไพร หรือ ‘น้ำ’ เกิดในครอบครัวการเมืองมาตั้งแต่เด็ก โดยเป็นบุตรสาวของอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อย่างนายนิสิต สินธุไพร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม และเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ณ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาสาขาศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ต่อด้วยรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ่วงปริญญาโทสาขาธุรกิจระหว่างประเทศอีกหนึ่งใบจากสหราชอาณาจักร
ก่อนเส้นทางการเมืองจะเริ่มต้น จิราพรเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยน Cambodian-Thai Exchange Program (CTEP) และยังเป็นนักวิชาการพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อีกด้วย
ขณะอายุ 32 ปี หลังจากมีประสบการณ์ทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชนแล้ว จิราพรผู้ลึกๆ อยากเดินตามรอยเส้นทางทางการเมืองของผู้เป็นพ่อ ก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคเพื่อไทย ในปี 2562 ด้วยเป้าหมายอยากผลักดันกระบวนการทางประชาธิปไตยให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ก่อนชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง กระทั่งค่อยๆ สะสมฐานแฟนคลับเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว
“เราทราบอยู่แล้วว่าเราต้องเป็นฝ่ายค้าน และคิดว่าการเมืองต้องเดินไปในสภาวะที่ไม่ค่อยปกติเท่าไร แต่น้ำก็คิดอย่างเดียวว่า เราได้รับมอบหมายหน้าที่จากประชาชนแล้วว่าให้ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และแม้จะเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลได้”
ภายหลังการอภิปรายกรณีการทุจริตวัคซีนโควิด-19 จิราพรมี ‘แฟนคลับ’ เพิ่มมาก ขึ้นจนเกิดเป็น ‘ด้อม’ (Fandom) คอยติดตามและให้การสนับสนุนเสมอมา ระหว่างนั้นยังเกิดกระแส ‘จิ้น’ กับ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ หรือ ‘อิ่ม’ จนเป็นกระแส ‘อิ่ม-น้ำ เมนหลักประชาธิปไตย’ ให้แฟนคลับได้พูดถึงกันในโซเชียลมีเดีย ซึ่งตัวจิราพรก็รู้สึกยินดีที่ได้ช่วยทำลายมายาคติที่ว่า นักการเมืองต้องเป็นผู้มีอิทธิพลเข้าถึงยาก และยังมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องน่าสนใจในฐานะที่มีผู้มาชื่นชอบการทำงานของตนในรูปแบบที่แตกต่างไปจากอดีต
“ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยอีกอย่างคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ถูกอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงอยู่เรื่อยๆ ทำให้การดูแลปากท้องของพี่น้องประชาชนนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง”
ในฐานะ ส.ส. จิราพรให้ความสนใจกับประเด็นความยากจนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะปัญหากับดักรายได้ปานปลางที่มีคนจนเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปัจจุบันในฐานะฝ่ายค้าน จิราพรจึงมุ่งมั่นที่จะเปิดแผลของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยจิราพรเชื่อว่าการเพิ่มข้อมูลให้แก่ประชาชนจะช่วยให้ทุกคนตัดสินใจได้ว่า เมื่อถึงคราวเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังสามารถไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตระกูลสินธุไพรแม้จะทำงานการเมืองภาคประชาชนมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยการเคลื่อนไหวของ นปช. และเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด แต่ตระกูลนี้ก็ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองเหมือนกันหมดไปเสียทีเดียว ดังเช่น จุรีพร สินธุไพร ผู้มีศักดิ์เป็นอาของจิราพรที่ย้ายไปทำงานให้กับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้คนนามสกุลเดียวกัน แต่ยืนคนละฝั่งพรรคการเมือง
“คุณจุรีพร สินธุไพร ผู้เป็นอาของน้ำ ตัดสินใจไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 2562 น้ำก็มองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะเลือกไปสังกัดพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ หรือมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน เราก็เคารพการตัดสินใจ แต่ในทางการเมือง เราก็จะยืนอยู่คนละฝั่ง”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 จิราพรได้เป็นผู้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนนราษฎรแบบไม่ลงมติ ในกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จากกรณีที่รัฐบาลไทยอนุมัติเหมือง 4 แปลง และใช้มาตรา 44 ในการระงับกิจการเหมืองของบริษัทต่างชาติ โดยมีความเสี่ยงที่ทำให้ไทยจะต้องถูกปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล
วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เป็นอีกครั้งที่จิราพรขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้กระทำผิดต่อกรณีเหมืองแร่อัครา ซึ่งจิราพร ระบุว่า แม้พลเอกประยุทธ์ยังได้รับความไว้วางใจอยู่ แต่เธอจะยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รวมถึงเน้นย้ำว่า อีกไม่นานความยุติธรรมจะกลับมาสู่ประเทศนี้
“รออีกไม่นาน ความจริงจะไล่ล่าพวกท่าน และอีกไม่นานเกินรอ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินชีวิตทางการเมืองของพวกท่าน และนำความยุติธรรมมาให้ประเทศนี้ในที่สุด”
อ้างอิง
รอยยิ้ม คู่จิ้น และเสื้อแดง คุยกับ จิราพร สินธุไพร ดาวสภาผู้รับ ‘ไม้ต่อ’ ฝ่ายประชาธิปไตย