ประเทศของคนตาบอด: กับความอยุติธรรมที่คนตาสว่างมองเห็น

ว่ากันว่า สังคมที่น่าอยู่และปลอดภัย จะต้องมีหลักประกันอย่างหนึ่ง คือเสรีภาพและความโปร่งใส ไม่ใช่กำลังอาวุธหรือระเบียบวินัย และยังไม่ใช่สังคมที่เต็มไปด้วย ‘คนดี’ ในเครื่องหมายคำพูด เหตุผลเพราะความดีล้วนสัมพัทธ์กับอำนาจและระบบการเมือง

สิ่งสอนใจที่เคยเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนของมวลมนุษยชาติคือ การที่เราได้เห็นอาชญากรรมโดยรัฐอย่างเป็นระบบมานับครั้งไม่น้อย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องล้วนแต่เป็นพลเมืองดี ตั้งแต่พลเมืองที่เชื่องต่อรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล หมอผู้วินิจฉัย คุก ไปจนถึงเพชฌฆาต[1]

ไม่กี่วันมานี้ สังคมไทยคงได้ประจักษ์กับตาแล้ว กรณีที่ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เปิดเผยคลิป พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ‘ผู้กำกับโจ้’ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดในท้องที่ รัดคอและทุบท้ายทอยจนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต เพื่อต้องการเรียกรับผลประโยชน์จากผัว-เมียผู้ค้ายาเสพติดรายนี้เป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอมเพราะจ่ายได้แค่ 1 ล้าน จึงถูก ผกก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในที่สุด 

เรื่องอื้อฉาวนี้กลายเป็นกระแสในวงกว้าง แต่คำถามคือ เรื่องนี้จะเงียบหายไปเฉกเช่นเรื่องอัปลักษณ์อื่นๆ หรือไม่ หรือจะนับเป็นจุดเริ่มต้นจริงจังในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทั้งคุก ศาล ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางประเด็นวิพากษ์วิจารณ์นั้น เพียง 1 วัน ก็เกิดข้อเขียนเล็กๆ ที่น่าสนใจขึ้นมา เมื่อ Cop’s Magazine นิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแวดวงตำรวจและอาชญากรรม ตีพิมพ์บทความชื่อ อะไร คือ ความจริง เขียนโดย ‘เขม่าปืน’ ลงวันที่ 24 สิงหาคม ระบุใจความสำคัญถึงธรรมเนียมของวงการนักสืบประการหนึ่งคือ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ดังตอนหนึ่งระบุว่า 

“วิบากกรรมซัดใส่เครื่องแบบนายตำรวจคนดังอีกระลอก ทันทีที่ลูกน้องเล่นบท “สำนึกผิด” เปลี่ยนเป็น “งูพิษ” ฉกเอาความลับสำคัญไปร้องเรียนผ่านสื่อ อ้างพฤติกรรมของ “เจ้านาย” รีดเงินผู้ต้องหายาเสพติดนับล้านบาท แถมเอา “ถุงดำคลุมหัว” จนขาดใจตาย

ป้ายข้อหาประพฤติมิชอบร้ายแรง กรรโชกทรัพย์ และเจตนาฆ่า” 

“วงการนักสืบเขาไม่ทำกัน” มือปราบรุ่นเก่ารู้สึกสลดใจ หากเป็นในอดีตคงมีใครหลายคนต่อคิว “ติดคุก” ต่อแถวออกจากราชการยาวเหยียด

“ความลับ” ในเซฟเฮาส์ต้องถือเป็น “ความลับ” ไปจนวันตาย”

(เน้นคำตามต้นฉบับ)

สิ่งที่น่าคิดคือ ถ้าหากจารีตนี้เป็นไปตามความเห็นของ ‘เขม่าปืน’ จริง ก็นับว่ายิ่งรู้ขึ้นไปอีกว่ามี ‘ความลับ’ ที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจมามากน้อยเพียงใด มีผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียหายอีกกี่พันกี่หมื่นชีวิตที่ถูกเก็บเป็นความลับภายใต้จารีตนี้ และจะพาสังคมเราเดินไปยังจุดใด ข้อคิดหนึ่งที่ควรนำมาครุ่นคิดคือ อะไรที่ทำให้เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ถูกคิดต่อหรือมีความพยายามอย่างเพียงพอในการยุติมันเสียที วรรณกรรมเรื่อง ประเทศของคนตาบอด (The Country of the Blind) อาจจะพอให้ข้อคิดบางประการต่อการเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

วรรณกรรมชิ้นนี้กล่าวถึง การที่คนที่มีดวงตาดีคนหนึ่งพลัดหลงเข้าไปอยู่ในประเทศที่มีแต่คนตาบอด นั่นจึงนำมาสู่ความประหลาดใจอย่างท่วมท้นแก่ตัวละครเอก กระนั้น ถ้าหากเขาอยากจะอยู่รอด โดยไม่โดนรุมทึ้ง จึงจำต้องแกล้งทำตัวบอดใบ้ให้เหมือนพลเมืองประเทศนั้น และร้ายแรงไปจนกระทั่งต้องควักลูกตาตัวเองออกมาเพื่อให้มองไม่เห็นเฉกเช่นคนอื่นๆ 

The Country of the Blind เป็นเรื่องสั้นที่เขียนโดยนักเขียนชื่อดัง เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) ตีพิมพ์ในปี 1904 ในนิตยสาร The Strand ก่อนจะถูกนำมารวมไว้ในรวมเรื่องสั้นของเขา ซึ่งมีการเพิ่มเรื่องราวและตีพิมพ์ใหม่ในปี 1939 

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ นูเนซ ตัวเอกของเรื่อง พยายามปีนขึ้นไปบนยอดเขา Parascotopetl ซึ่งเป็นภูเขาที่ถูกสมมุติขึ้นในประเทศเอกวาดอร์ จนเขาลื่นล้มไปอีกฟากของภูเขา เมื่อไถลลงไปจนเกือบจะถึงเชิงเขา ก็พบกับหุบเขาที่ถูกตัดขาดจากส่วนอื่นๆ ของโลก ด้วยหน้าผาที่สูงชัน นี่เองจึงทำให้เขาได้พบกับประเทศของคนตาบอดที่อยู่ในตำนาน 

เดิมที หุบเขาแห่งนี้เป็นที่พักของผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากการปกครองแบบเผด็จการของสเปน กระทั่งเกิดแผ่นดินไหวจนเปลี่ยนโฉมสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบสถานที่แห่งนั้น ทำให้หุบเขานี้หายไปจากการบันทึกของนักสำรวจในเวลาต่อมา แต่ชุมชนแห่งนี้ก็เจริญรุ่งเรืองตลอดหลายปี แม้จะเกิดโรคร้ายขึ้นจนมีส่วนทำให้ทารกที่เกิดขึ้นมาตาบอดทั้งหมด และแพร่ลามไปสู่คนหลายช่วงอายุคน แต่ประสาทสัมผัสส่วนอื่นที่เหลืออยู่ยังคงทำงานได้อย่างดีเยี่ยม จนเมื่อถึงตอนที่คนที่ยังสามารถมองเห็นได้เป็นคนสุดท้ายของดินแดนนี้ได้ตายลงไป ชุมชนแห่งนี้ก็สามารถปรับตัวกับสภาวะการมองไม่เห็นได้อย่างเต็มที่ 

เมื่อนูเนซเดินเข้าไปในหุบเขาและพบหมู่บ้าน เขาพบว่าหมู่บ้านมีลักษณะที่แปลกประหลาด บ้านเรือนทั้งหมดไม่มีหน้าต่าง มีเส้นทางหลายสายที่เชื่อมต่อกัน และกั้นเขตแดนด้วยขอบถนน และเขาก็พบว่าคนที่นี่ทุกคนคือคนตาบอด เขาจึงเริ่มท่องสุภาษิตว่า “ในประเทศของคนตาบอด คนที่ตาดีหนึ่งข้างจะเป็นกษัตริย์ได้”

เขาเห็นว่า เขาจะสามารถสอนและปกครองคนเหล่านั้นได้ แต่ชาวบ้านคิดไม่ออกว่าสภาวะของการมองเห็นเป็นอย่างไร ทั้งยังไม่เข้าใจกับความพยายามของเขาในการอธิบายประสาทสัมผัสที่ 5 นี้ เมื่อชาวบ้านไม่เข้าใจ นูเนซก็เริ่มโกรธ แต่ชาวบ้านก็เกลี้ยกล่อมให้เขาใจเย็นลง และนูเนซก็เริ่มยอมรับวิถีชีวิตของผู้คนเหล่านี้ แม้ว่าจะด้วยความไม่เต็มใจในตอนแรก เพราะการกลับไปสู่โลกภายนอกที่เขาจากมาก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเขา 

ในช่วงชีวิตที่อยู่ที่นั่น นูเนซได้รับมอบหมายให้ทำงานกับคนที่ชื่อว่า จาค็อบ เขามีใจให้กับลูกสาวของจาค็อบที่ชื่อ เมดินา-ซาโรต ไม่นานทั้งสองก็ตกหลุมรักกัน หลังจากที่สามารถทำให้เธอเชื่อใจและไว้ใจเขาได้ นูเนซก็พยายามอธิบายสภาวะของการมองเห็นให้กับ เมดินา-ซาโรต ฟัง แต่มันก็เกินกำลังที่เธอจะจินตนาการไปถึง จนเมื่อนูเนซขอเธอแต่งงาน ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็ปฏิเสธ เนื่องจากนูเนซเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการมองเห็น แพทย์ประจำหมู่บ้านแนะนำให้เขาควักลูกตาออก ด้วยการวินิจฉัยว่าดวงตาที่มองเห็นของเขาเป็นโรคและปูดโปนออกมานอกเบ้า ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้สมองของเขาระคายเคืองและคิดฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา 

ถึงที่สุด นูเนซก็ยอมควักลูกตาตามที่แพทย์แนะนำ แม้ว่าเขาจะไม่เต็มใจด้วยเหตุที่ว่าความรักที่เขามีต่อเมดินานั้นมากพอ กระนั้นก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น ในวันผ่าตัดขณะที่ชาวบ้านกำลังหลับใหล นูเนซ ราชาของคนตาบอดผู้ล้มเหลว ได้ออกเดินทางไปยังภูเขาแห่งหนึ่ง โดยไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ เพื่อหวังจะออกจากหุบเขาแห่งนี้ 

ในต้นฉบับดั้งเดิม นูเนซได้ปีนขึ้นไปบนภูเขาสูงที่อยู่รอบๆ จนตกกลางคืน และเขาก็พักผ่อน ร่างกายของเขาอ่อนแอด้วยบาดแผลและรอยฟกช้ำ แต่เขาก็มีความสุขที่เขารอดพ้นจากหุบเขา ชะตากรรมของเขาไม่ถูกเปิดเผยในต้นฉบับดังกล่าว แต่ในฉบับปรับปรุงและขยายความในปี 1939 นูเนซมองเห็นจากระยะไกลว่าจะมีภูเขาถล่ม เขาพยายามเตือนชาวบ้าน แต่กลับถูกเยาะเย้ยถึงการมองเห็นที่ถือเป็นเรื่องจินตนาการสำหรับพวกเขา ก่อนที่เขาจะสามารถหนีออกจากหุบเขาระหว่างที่เกิดภูเขาถล่ม โดยพาคนรักของเขาไปด้วย

เรื่องราวของนูเนซในประเทศแห่งคนตาบอด ย้ำเตือนให้เราเห็นว่าแบบแผนทางสังคมล้วนเกี่ยวพันกับระบบทางสังคมการเมือง แม้เขาจะตาสว่างมองเห็นความผิดแผกแตกต่างประการใด แต่ถ้าหากเพื่อนร่วมสังคมมองไม่เห็นตามไปด้วยก็ยากยิ่งที่จะบอกว่าพระอาทิตย์คืออะไร แสงสว่างหน้าตาเป็นเช่นไร 

กรณีการฆาตกรรมในสถานีตำรวจแห่งนั้น อาจจะพอจุดประกายให้เราปฏิเสธจารีตที่เคยเป็นมาอย่างถาวร เช่นเดียวกับการที่คนรุ่นใหม่หันมาปฏิเสธคุณค่าหลายชนิดที่พวกเขามองว่าเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของสังคม ทั้งวัฒนธรรมอำนาจนิยม เผด็จการทุนผูกขาด ระบบอุปถัมภ์ ชายเป็นใหญ่ การเหยียดเชื้อชาติ และนั่นรวมถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด อันเป็นรากฐานของการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ 

ถ้าหากเราตาไม่บอดจนเกินไป ก็คงพอจะเข้าใจว่าการรีดไถมิใช่เรื่องแกะดำเพียงไม่กี่ตัว แต่คือปัญหาเชิงสถาบัน 

เชิงอรรถ

[1] อ่านเรื่องนี้คร่าวๆ ได้ในบทสัมภาษณ์เรื่อง ความเข้าใจผิดๆ ถูกๆ เกี่ยวกับนาซี และฮิตเลอร์ ผ่านสายตา ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สำหรับผู้สนใจงานวิจัยสามารถอ่านได้ที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2560). ธรรมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน: การเมืองอัตลักษณ์ของ “คนดี” ในวิกฤตการเมืองไทย. (2556-2557): รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า