เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี
เพจ ‘ไข่แมว’ ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีการเมืองในรูปแบบการ์ตูนออนไลน์ หายไปจากการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 18 มกราคม ด้วยจำนวนผู้ติดตามในเฟซบุ๊คเป็นจำนวนอย่างน้อย 452,113 บัญชี การร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ความโดดเด่นด้านเนื้อหาและเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างคาแรคเตอร์บุคคลทางการเมืองในการ์ตูนช่องไม่มีคำพูด พิสูจน์ถึงผลงานของ ‘ไข่แมว’ ได้เป็นอย่างดี
ความเห็นของผู้ติดตามส่วนใหญ่ต่างแคลงใจและออกมาตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นฝีมือของรัฐบาล คสช. เพื่อปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน
ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ออกมาปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่ พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยเรื่องนี้กับ Voice TV ว่า “คสช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และกระแสพาดพิงถึงการใช้อำนาจปิดเพจ เป็นเพียงการคาดเดา และไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”
ความเห็นของโฆษก คสช. ดูจะสวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดสี่ปีที่ผ่านมาภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช. เพราะนอกจากจะมีการจับกุมคุมขังประชาชนจำนวนมากในโลกออฟไลน์แล้ว ในโลกออนไลน์ยังมีการจับกุม ปิดเพจและเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นระลอกเรื่อยมา
เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ฟุลเลอร์ตัน (California State University, Fullerton) ซึ่งเคยนำเสนอผลการศึกษาการ์ตูนการเมืองในเฟซบุ๊คเรื่อง ‘Reconfiguring Conversations in Politics with Facebook-Native Political Cartoon’ ในที่ประชุมเอเชียศึกษา ปี 2017 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
ในฐานะผู้ติดตามผลงานและศึกษาการ์ตูนนิสต์ในเมืองไทย เพ็ญจันทร์จะช่วยตอบคำถาม อธิบายเอกลักษณ์และวิธีการสื่อสารที่มีเสน่ห์ของ ‘ไข่แมว’
ทำไมต้องเป็นการ์ตูนการเมือง
การนำเสนอการ์ตูนล้อการเมืองมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ หรือศตวรรษที่ 19 ในอเมริกา คนอาจจะมองข้ามว่าการ์ตูนอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นสีสัน แต่ในอดีต การ์ตูนล้อการเมืองมีผลด้านการสร้างความสามัคคีในยุคที่อเมริกากำลังจะลุกขึ้นแข็งข้อต่ออังกฤษ เช่น กรณีที่ โธมัส แนสต์ (Thomas Nast) วาดภาพนักการเมืองเป็นนกแร้งกำลังทึ้งการคลังของนิวยอร์ค
นักการเมืองที่โดนล้อถึงกับออกปากว่า เขาไม่ค่อยสนใจว่านักการเมืองเขียนอะไร เพราะคนส่วนใหญ่ที่เลือกเขาอ่านหนังสือไม่ออก แต่พวกเขาเข้าใจภาพการ์ตูน
ในเมืองไทยเองก็มีนักเขียนการ์ตูนล้อที่วิพากษ์สถานการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ตัวอย่างเช่น นักวาดการ์ตูนที่ใช้ชื่อว่า ‘แก่นเพชร’ ที่เสียดสีสังคมในยุคนั้นในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง
ในสมัยนี้ การ์ตูนล้อก็ทำหน้าที่วิพากษ์สังคม อาจจะเสียดสี เช่น การ์ตูนล้อ โดนัลด์ ทรัมป์ ใน The New Yorker บางทีล้อเลียนจนทำให้บางคนทนไม่ได้ เช่น กรณี Charlie Hebdo ที่ล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด จนกลายเป็นชนวนแห่งความโกรธและแค้น มีคนสองคนบุกเอาปืนไปยิงสำนักงานใหญ่ในปี 2015
เสน่ห์ในการสื่อสารของ ‘ไข่แมว’
การ์ตูน ‘ไข่แมว’ เป็นการ์ตูนที่ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คโดยเฉพาะ ทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับการเมือง โดยอาศัยภาพ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพการ์ตูนสี่ช่องที่ไม่มีข้อความนี้ทำให้เกิดบทสนทนารูปแบบใหม่ กับคนอื่นๆ แบบสั้นๆ บางทีก็ไม่ปะติดปะต่อ หรือเป็นเหตุผล แล้วแต่ว่าใครอยากจะเข้ามาคุย หรือแสดงความเห็น หรือความรู้สึก ความคับข้องใจ ฯลฯ
บางทีผู้ติดตามเพจอาจจะช่วยตีความอธิบายสิ่งที่เห็น และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ที่เห็นได้ชัดคือกรณี นาฬิกาหลายๆ เรือนบนข้อมือตัวการ์ตูนคล้ายนายพลท่านหนึ่ง แต่ละภาพที่ไข่แมวนำเสนอ ดูจะล้อสะท้อนสถานการณ์เหตุการณ์ หรือข่าวที่เกิดขึ้น และเป็นการล้อเลียนผู้มีอำนาจหรืออยู่ในกระแสข่าว ในบางครั้งเกิดขึ้นรวดเร็วหลังจากมีข่าวออกมาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าไม่ได้ติดตามข่าวจะไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร มีหลายคนตั้งใจอ่านคอมเมนต์เพราะต้องการเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เรียกว่ารู้ข่าวเพราะการ์ตูนไข่แมวก็มี ขณะที่บางคนอาจจะสนุกกับการหา ‘ทักกี้’ ที่แอบซ่อนอยู่ในภาพ
ที่น่าสนใจคือการสั่นคลอนผู้มีอำนาจด้วยการล้อเลียน ในช่วงเวลาที่การวิพากษ์โดยตรงหรือการแสดงออกทางการเมืองโดยวิธีอื่นหยุดชะงักไป การที่เราเห็นเป็นการ์ตูน มันเป็นการสลับอำนาจที่คนธรรมดาสู้กับคนมีอำนาจด้วยการวิพากษ์ในลักษณะที่ทำให้เป็นสิ่งที่ตลก บางทีพิลึก
เหตุผลอาจไม่ใช่แรงส่งทางการเมือง
การสื่อสารแบบคอมเมนต์สั้นๆ อาจไม่ได้เป็นการสื่อสารอย่างเป็นทางการหรือสละสลวย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี เราจะพูดอะไรสั้นๆ เวลาส่งข้อความ text หรือคนไทยอาจจะไลน์หากัน รูปแบบคือ ‘สั้น’ หรือบางทีก็ใช้อีโมติคอน
ถามว่าเป็นการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จไหม ก็ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจว่าความสำเร็จคืออะไร ส่งต่อความหมายได้สำเร็จ หรือทำให้คนคุยกันจนเป็นกระแส เช่น สิ่งที่เป็นกระแสการเมืองอยู่ ณ ขณะนั้น นี่เป็นจุดที่แยกออกมาจากความเข้าใจว่าการจะศึกษาการสนทนาเรื่องการเมืองต้องเป็นการสนทนาในแบบที่มีเหตุมีผล หรือเป็นลักษณะที่สามารถโน้มน้าวอีกฝ่ายด้วยเหตุผล
สิ่งที่น่าศึกษาคือการสื่อสารในโซเชียลเปลี่ยนไป การโน้มน้าวจิตใจคนไม่ได้อยู่แต่ในหลักเหตุผลอย่างเดียว มันมีอย่างอื่นที่สามารถทำให้คนคล้อยตามได้ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เหตุผล ซึ่งก็มีนักวิชาการอย่าง แลนซ์ เบนเน็ตต์ (Lance Bennett) เสนอว่า อาจเกิดจากเวลาเราเห็นคนใกล้ตัว เพื่อน หรือคนในเครือข่ายเรา พูดอะไร หรือทำอะไร เช่น ออกไปประท้วง
วิธีจัดการการ์ตูนนิสต์
มีข้อสงสัยกันมากเรื่องการที่ ‘ไข่แมว’ อาจโดนอุ้มตัวไป สิ่งที่อยากจะบอกคือ การต่อสู้กับคนมีอำนาจมีความเสี่ยงมากในประเทศที่กฎหมายไม่มีความยุติธรรม แต่หากเป็นประเทศที่ระบบกฎหมายยังทำงานอยู่ก็สู้กันไปทางกฎหมาย ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงก็ฟ้องหมิ่นประมาทกันไป ประเทศที่ระบบยุติธรรมไม่ทำงานก็จะมีอะไรแบบนั้น
คือเฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแบบหนึ่งที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย มีข้อจำกัด มีจุดอ่อน ข้อความที่เผยแพร่กันไปก็มีทั้งจริงและไม่จริง แต่ประเด็นคือการที่เชื่อมกันเป็นเครือข่ายมันทำให้ความคิด ภาพ หรือข้อมูลที่คนหนึ่งเห็นกระจายไปวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
ในอเมริกาก็เลยมีเรื่องข่าวปลอม ข่าวหลอก ที่เผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊ค ส่วนการคิดว่าจะทำอะไรดีเพื่อต่อต้านรัฐนั้น ตอนนี้ลักษณะของการต่อต้านรัฐเป็นในรูปแบบของแต่ละบุคคลที่จะคิดอะไร และหลายครั้งเป็นการขัดขืนอำนาจรัฐแค่เพียงเขียนข้อความหรือเป็นแฮชแทคตอบโต้คนมีอำนาจ เปิดโอกาสให้คนร่วมโพสต์ หรือทวีต และติดแฮชแทคได้
พลังแห่งการสื่อสารของ ‘ไข่แมว’
อย่างแรก มันต่างจากการ์ตูนหนังสือพิมพ์ เพราะภาพที่เห็นไม่ได้อยู่แค่หน้าจอของเพจแล้วนิ่งอยู่อย่างนั้น ฟังก์ชั่นของเฟซบุ๊คที่ทำให้คนคอมเมนต์ และเผยแพร่โดยการแชร์ บางทีก็แคปภาพไปแชร์ที่อื่น อาจจะไปตัดต่อล้อเลียนเพิ่ม แบบติดอันดับของ ‘Know Your Meme’ แบบโกอินเตอร์ไปก็มี หรือนำไปเป็นภาพ ความเห็นทางการเมืองในช่องทางอื่นๆ
การ์ตูนเฟซบุ๊คนี้มีลักษณะเหมือนมีม (meme) ที่สามารถจะถูกส่งต่อหรือเก็บไปเผยแพร่เหมือนกับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ การ์ตูนไข่แมวทำให้เกิดลักษณะที่เหมือนแฟนคลับ คนเกือบครึ่งล้านติดตาม
การสื่อสารทางภาพมีเสน่ห์ตรงที่มันสื่อกับเราโดยทางความรู้สึก ไม่ได้โดนกำหนดโดยข้อความ และความรู้สึกที่เรามีต่อภาพบางทีมันเร้าอารมณ์บางอย่าง อาจจะอยากขำ อยากแชร์ อยากเผยแพร่ โดยที่บางทีอาจจะไม่ได้สนใจว่าวิพากษ์อะไรก็ได้ แต่ชอบเพราะสี ลายเส้น อยากเห็นว่าซ่อนทักกี้ไว้ตรงไหน จะอินหรือไม่อินกับการเมืองก็ได้