“เด็กสมัยนี้…” ธารินี ชลอร์ (แม่จุ๋ม)

  • ธารินี ชลอร์ (แม่จุ๋ม)
  • เจ้าของธุรกิจรับสร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ / ผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
  • แม่ของลูก 2 คน ลูกสาวจบชั้นม.ปลาย ยังไม่ได้ตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัย ถนัดด้านศิลปะ เริ่มรับงานมีรายได้ให้ตัวเอง ลูกชายอายุ 17 ปี ยังโฮมสคูล สนใจลงลึกด้านประวัติศาสตร์โลก ภาษา ปรัชญา จิตวิทยา

คุณเคยรู้สึกไม่เข้าใจหรือรำคาญใจกับพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กสมัยนี้หรือไม่ (รวมถึงลูกตัวเอง)

ไม่รำคาญ แต่สนใจ รู้สึกสนุกกับการพยายามทำความเข้าใจพวกเขามากกว่า ทั้งกับลูกตัวเอง และเด็กคนอื่นด้วย

คุณคิดว่าคำบ่นของคนปัจจุบันที่ว่า “เด็กสมัยนี้…” มีที่มาจากอะไร

มโนทัศน์ของคนบ่นน่าจะยังไม่ร่วมสมัยกับพวกเขา การเปิดใจรับฟัง และทำความเข้าใจกับเด็กสมัยนี้ คือทางลัดที่จะพาคนรุ่นเก่าก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพราะ “เด็กสมัยนี้” มีข้อมูลเยอะชอบแสดงความคิดเห็น คนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์เปิดใจรับฟังรับข้อมูลใหม่ๆ จากพวกเขาคือทีมสร้างสรรค์ของศตวรรษที่ 21

คุณคิดว่าอะไรคือที่มาของพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กยุคปัจจุบัน ที่อาจสร้างความไม่เข้าใจให้ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง

สิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกกันว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ มีมิติที่ซับซ้อนขึ้น สำหรับพวกเขาเป็นเรื่องปกติเพราะเกิดมากับสิ่งเหล่านั้น อาจจะยากสำหรับผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ในการปรับ Mindset จากสภาพแวดล้อมที่เป็นต้นทุนเดิมในการเติบโต เด็กยุคปัจจุบันสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ความคิดก็เติบโตเร็ว การแสดงออกจึงตรงไปตรงมา การเชื่อมต่อกับผู้ใหญ่อาจจะขาดจังหวะของความนุ่มนวล ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งจึงไม่เข้าใจ และอาจมองว่าเป็นความก้าวร้าวหรือไม่เหมาะสมได้

คุณโตมากับการเลี้ยงดูแบบไหน แล้วเลี้ยงดูลูกแตกต่างหรือเหมือนกันกับที่ถูกเลี้ยงมาหรือไม่ อย่างไร

โตมาในครอบครัวที่มีคนสามรุ่น พ่อและแม่อายุประมาณ 10 และ 6 ขวบ โดยประมาณในปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้น มีพี่เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อายุไล่เลี่ยกัน 5 คน เราเหมือนลูกหลงที่เกิดห่างจากพี่ๆ หลายปีเป็น Gen X คนเดียวในบ้าน พ่อเป็นครูที่ดุก่อนสอนทีหลัง พี่ๆ อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแบ่งปันทุกอย่าง เราอายุน้อยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็รับรู้ว่าพ่อแม่เหนื่อยกับการหมุนเงินในการส่งพี่ๆ เรียน จังหวะชีวิตของตัวเองคือมีโอกาสเล่นอย่างอิสระ ด้วยสภาพความจำเป็นของครอบครัวทำให้เราได้เข้าโรงเรียนตอนอายุ 6 ขวบ เหมือนต้องเอาไปฝากโรงเรียนดูแล ถือว่าเข้าเรียนก่อนเกณฑ์ในสมัยนั้น ได้เริ่มหัดอ่านหนังสือ พออ่านได้ก็ตะลุยอ่านทุกอย่างเหมือนมีหนังสือเป็นเพื่อน อ่านขวัญเรือน หนังสือพิมพ์ของพ่อ หนังสือพิมพ์อ่านให้พ่อฟังครั้งแรก คืออ่านจากซ้ายยาวไปขวายังแบ่งคอลัมน์ไม่เป็น นิทานในห้องสมุดของโรงเรียนที่หน้าสำคัญๆ มักจะขาดหาย หรือไม่ก็ขาดแหว่ง แต่ก็อ่านได้อย่างสนุกไม่ติดใจอะไร 

ชอบฟังแม่เล่าเรื่องปู่ ย่า ตา ยาย ฉากยุคสมัยที่เรายังไม่เกิด แม่เล่าได้อารมณ์มาก ยกให้แม่เป็นนักเล่าเรื่อง เรื่องที่แม่เล่าจะเริ่มต้นด้วย “สมัยก่อน” เสมอ แต่ถ้าเป็นรายละเอียดในการดูแลตัวเอง และการเรียนรู้ พ่อจะดูแลโดยให้ช่วยทำงาน เช่น ช่วยบอกคะแนนของเด็กเวลาพ่อตรวจข้อสอบ ให้หัดคิดเลขด้วยลูกคิด เหยียบขา งานไม่เสร็จเพื่อนมาร้องเรียกยังไงพ่อก็ยังไม่ให้ไปเล่น เพื่อนก็ต้องรอเรา ในคืนเดือนมืดพ่อจะปูเสื่อที่ชานบ้านพากันนอนดูดาวบนฟ้า ร้องเพลงเคาะจังหวะกับกระดาน เราอยู่ในหมู่บ้านมีความปลอดภัย ชุมชนช่วยดูแลกันรู้ว่าเด็กคนไหนเป็นลูกใคร มืดค่ำก็ร้องเตือนให้กลับบ้าน นึกย้อนกลับไปทีไรก็คิดว่าถ้ามีรายได้เพียงพอ คุณภาพชีวิตของพี่ๆ ในวัยเด็กคงดีกว่านี้

เมื่อแต่งงานก็ตั้งใจมีลูก ด้วยสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวที่พร้อมกว่าสมัยพ่อแม่ คือความแตกต่างแรก ทำให้เรามีเวลาใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่ฝากท้อง ติดตามพัฒนาการลูก ตำราบอกร้องเพลงให้ลูกในท้องฟังเราก็ร้อง จริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่สนุกและมีความสุขก็ร้องไป ตำราบอกว่าการกอดเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูก แม้เราจะไม่ได้ถูกกอดจากพ่อแม่แบบนั้น แต่เมื่อลูกเกิดได้โอกาสละเราก็กอดลูกซะ กอดได้มากตามที่ต้องการเลย

มองรูปแบบการเลี้ยงลูกของตัวเองไม่ออก ตอนลูกเล็กคิดว่าตนเองใช้สัญชาตญาณเยอะมาก แต่ถ้าทบทวนย้อนหลังไปเป็นคนอ่านหนังสือหลายแนวมาตั้งแต่เด็ก อายุ 10 ขวบ พี่สาวรับหนังสือแม่และเด็กด้วย มีหลานคนแรก เราก็อ่านพัฒนาการของเด็กมาอย่างต่อเนื่องได้เลี้ยงหลานด้วย ทั้งหมดนั้นคงค่อยๆ หล่อหลอมความเป็นแม่ในแบบเรา

การดุของพ่อน่าจะเป็นภาพจำที่ทำให้ตั้งใจว่าจะไม่ดุลูกแบบพ่อ ซึ่งเราก็พบว่าการใช้เหตุผลพูดกับเด็ก เป็นสิ่งที่ง่ายมาก เด็กๆ มีเหตุผลในแบบของเขาและเรารู้สึกสนุกเวลาคุยกับลูกเสมอ สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีมากๆ คือพ่อแม่มีความสุขและชอบฟังเราคุยกับลูก หัวเราะชอบใจบอกว่าหลานพูดรู้เรื่องมีเหตุผล พอเห็นแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีโอกาสแบบเรา พ่อกับแม่คงมีความสุขกับการเลี้ยงลูกแน่ๆ

ข้อมูลความรู้ตามยุคสมัย น่าจะมีผลต่อ Mindset การเลี้ยงลูกของตัวเอง คิดว่าเราแบ่งให้ลูกเจน Z ทั้งสองมีส่วนในการดูแลการเติบโตของตัวเองเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะเราโฮมสคูลลูก เลยคุ้นเคยกับคำว่าเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ คนเรามีเอกลักษณ์ของตนเอง ลูกสองคนต่างกันแน่นอน แม่มีหน้าที่สังเกต คอยดูแลสิ่งไหนขาดก็เติม สิ่งไหนเกินก็หาจุดสมดุล อาจจะบอกได้ว่าในช่วงแรกของชีวิตพ่อแม่คือโค้ชของลูก และพ่อแม่ต้องไม่หยุดเรียนรู้ในการหาข้อมูลใหม่ๆ มาประมวลผลเพื่อปรับกระบวนทัศน์ เตรียมพร้อมสำหรับการย้ายข้างไปเป็นผู้เรียนรู้จากลูก การเรียนรู้ของเราจะไดนามิกไปตามยุคสมัยเช่นนี้

คุณคิดว่า อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตและมีชีวิตที่ดี

ครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่ดีสองอย่างนี้คู่กันเลย

เปรียบเทียบกับตัวเองในวัยเด็กก็เห็นภาพได้ง่าย พ่อแม่เครียดจากการที่ต้องหมุนเงินเพื่อส่งพี่ๆ เรียน นอกจากการพยายามดูแลใส่ใจจากพ่อและแม่แล้ว อีกด้านหนึ่งครูก็ช่วยเติมเต็มเราด้วย โรงเรียนประถมยุคนั้นเด็กยังไม่ถูกเร่งเรียน ครูประจำชั้นคนเดียวสอนทุกวิชา มีความยืดหยุ่นให้ครูสามารถดูแลเด็กเป็นรายบุคคลได้อย่างต่อเนื่อง มีเวลาได้เล่นเยอะมาก ได้เดินไปโรงเรียน ได้ตกตะกอนความคิดของตนเอง สภาพแวดล้อมดี ชุมชนก็ดีซึ่งหลายๆ อย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศที่ดีต่อพัฒนาการของเด็กที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน เรารู้สึกพอใจกับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเป็นเส้นทางการเติบโตจนเรามาเป็นเราในวันนี้ เส้นทางในการเติบโตควรช่วยประคับประคอง และให้โอกาสเด็กได้พาตนเองเดินทางเรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะสมต่อวัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างมีความสุข หรืออุปสรรคปัญหาที่จำเป็น ความรู้เพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้ ทัศนคติชีวิตที่ดี จนถึงวันที่เขาสามารถไปต่อด้วยตนเองและพาตนเองไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้

แต่ในวันนี้สภาพแวดล้อมได้ต่างไปจากยุคที่เราเติบโตแทบจะโดยสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว ชุมชนไม่ได้ปลอดภัยเหมือนเมื่อก่อน ปัญหามากมายมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น ขณะที่องค์ความรู้ก็ถูกนำมากางออกให้ทุกคนเข้าถึงได้ในโลกออนไลน์ สภาพพื้นที่การเติบโต ระบบการศึกษาต้องได้รับการออกแบบใหม่ให้เหมาะสม และครอบครัวควรเป็นพื้นที่แรกที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโต เพราะเป็นรากฐานสำคัญในการมีชีวิตที่ดี


WAY ชวนทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรุ่นอย่างกระชับ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กับหนังสือใหม่ ‘เปลี่ยนผ้าพันแผลในหัวใจให้บุตรหลาน’ ที่จะบอกเล่าความรู้ของฟรอยด์ ทักษะสมอง EF ไปจนถึงทักษะศตวรรษที่ 21 ภายใต้บริบทสังคมไทย

ร่วมทำความเข้าใจ หาคำตอบ และลงมือทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างซื่อตรงได้แล้ววันนี้

เปลี่ยนผ้าพันแผลในหัวใจให้บุตรหลาน

ผู้เขียน นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ปกแข็ง

จำนวน 328 หน้า | ราคา 500 บาท

พบกันที่บูธ J29 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายน 2566

รอบออนไลน์สั่งซื้อได้ทาง https://m.me/waymagazine

(* เริ่มจัดส่งวันที่ 5 เมษายน 2566 เป็นต้นไป)

ปกอ่อน

จำนวน 328 หน้า | ราคา 350 บาท

ติดต่อสอบถามและสั่งซื้อได้ที่บริษัท เคล็ดไทย จำกัด

Web: www.kledthai.com | Tel: 02 225 9536-39

Facebook: kledthai | Line: @kledthai

Email: [email protected]

#WAY #เคล็ดไทยจัดจำหน่าย #นายแพทย์ประเสริฐผลิตผลการพิมพ์ #สัปดาห์หนังสือ66 #BKKIBF2023 #Bookfluencer

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า