พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระนามในขณะนั้น) กับหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก รวม ๑๕ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, เลย, อุดรธานี, หนองคาย, สกลนคร, นครพนม, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือเป็นครั้งแรก จำนวน ๑๒ จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ตาก ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ – ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคใต้เป็นครั้งแรก จำนวน ๑๔ จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ ๖-๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน – ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๖ กรกฎาคม – ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเริ่มโครงการแปลงนาสาธิต ภายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาจัดตั้งเป็นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
พระราชพิธีรัชดาภิเษก จัดขึ้นในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานขึ้น ๓ วัน คือวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นพิธีสวนสนามและการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นวันประกอบพระราชพิธีรัชดาภิเษก และวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นวันเสด็จออกท้องพระโรงให้คณะทูตานุทูต และผู้แทนกงสุล เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร ในมหามงคลวโรกาสนี้รัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ รับพระราชกระแสที่มีพระราชดำริให้จัดงานโดยประหยัด ด้วยทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์และบ้านเมือง รัฐบาลจึงมุ่งเน้นจัดงานในทางพัฒนาบ้านเมือง อาทิ สร้างโรงเรียน จัดตั้งทุนเพื่อการศึกษาและวิจัย สร้างถนน การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จัดสร้างสิ่งของที่ระลึกเป็นอนุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ บ้านพักรับรองแหลมแท่น จังหวัดชลบุรี เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖
นิตยสาร TIME อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลงพิมพ์บนหน้าปก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในประเภท OK ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและพระราชทานสิ่งของแก่ชาวเขาเผ่าแม้วเป็นการส่วนพระองค์ ที่หมู่บ้านช่างเคี่ยน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินบ่อฝ้าย เพื่อทอดพระเนตรการทำฝนเทียมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระราชทานแก่ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องราชอิสริยยศ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่ง นำคณะนักเรียนอาชีวะศึกษาที่มีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สวนอัมพร ช่วงหลังเหตุการณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสทางสถานีโทรทัศน์ประชาชนชาวไทย ความตอนหนึ่งว่า “…วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคในประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวไทย…” และแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนทางโทรทัศน์ ในคืนวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรและข้าราชการผู้บาดเจ็บ จากการถูกลอบยิงโดยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ณ โรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราโชวาททางวิทยุกระจายเสียง เรียกร้องความสามัคคีจากคนไทย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เวลา ๒๐.๒๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าฯ และทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประกอบพิธีประดับยศและพระราชทานสัญญาบัตรยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับนายทหารและนายตำรวจชั้นนายพล เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสเตือนสติ เพื่อไม่ให้ประเทศชาติล่มจม โดยมีการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๔๐ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ซึ่งกำหนดให้มีการตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลและควบคุมพฤติกรรมการทุจริตของนักการเมือง ขณะเดียวกันได้เพิ่มกลไกทางอำนาจของฝ่ายบริหารให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชดำรัส ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน หลังประสบภาวะวิกฤติอย่างหนัก
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา เท่ากับ ๖ รอบปีนักษัตรในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ รัฐบาลและประชาชนชาวไทยจึงถือเป็นมหามงคลสมัยอันประเสริฐสุด ในการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดี ทั้งเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณว่าเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรมของชาติไทย ซึ่งดำรงความเป็นเอกราชและเจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรมอันดีงามสืบเนื่องมาเป็นเวลาอันยาวนาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินในพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของเหล่าทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำปี ๒๕๔๘ ณ บริเวณลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงมีพระบรมราโชวาทให้ทหารตระหนักถึงหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนและบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ผู้มียศและตำแหน่งใช้ความระมัดระวังในการคิด การพูด และรับฟังคำวิจารณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งเนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชในประวัติศาสตร์ชาติไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ด้วยความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสจัดงานเฉลิมฉลองตามโบราณราชประเพณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อการจัดงานว่า ‘การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี’ และชื่อพระราชพิธีว่า ‘พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี’ มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในวันที่ ๙ – ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร รับการถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระราชอาคันตุกะ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ รัฐบาลและประชาชนชาวไทยต่างปลื้มปีติและพร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาติบ้านเมืองนับอเนกอนันต์ ด้วยการกำหนดให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติและถูกต้องตามราชประเพณี รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า ‘พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐’ ชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติว่า ‘งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐’ ขอบเขตการจัดงานตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ จากนั้นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดงานเลี้ยงฉลองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ที่ห้องประชุมชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีรวม ๓๕ คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทขอให้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ โดยมีประชาชนเดินทางมาร่วมงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเป็นจำนวนมาก