มองอดีต-อนาคตคาบสมุทรเกาหลี ผ่านสายตามหาอำนาจเอเชียแปซิฟิก

เสียงระฆังแห่งสันติภาพกำลังจะดังขึ้นในอีกไม่ช้า หลังจากปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏภาพประวัติศาสตร์การเดินข้ามแดนที่หมู่บ้านปันมุนจอม ของประธานาธิบดี คิม จอง อึน จากเกาหลีเหนือมุ่งสู่เกาหลีใต้ เพื่อจับมือกับประธานาธิบดี มุน แจ อิน ผู้นำแห่งเกาหลีใต้ โดยทั้งสองเกาหลีต่างเดินพูดคุยกันอย่างสนิทสนมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มของทั้งสองฝ่าย

บรรยากาศชื่นมื่นที่เกิดขึ้น งานโอลิมปิก 2018 ณ เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ที่ผ่านมา จากการเดินทางไปร่วมงานของน้องสาวของผู้นำเกาหลีเหนือ และการถือ ‘ธงรวมชาติ’ ของนักกีฬา หรือการรวมทีมฮอกกี้น้ำแข็งหญิงด้วยกันของทั้งสองเกาหลีเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนว่าจะไปได้สวยเช่นนี้ ทำให้ความวุ่นวายบนคาบสมุทรเกาหลีเดินทางใกล้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วจริงหรือ และเสียงระฆังที่ทั่วโลกรอคอยจะดังขึ้นได้อย่างไร

สงครามความขัดแย้งครั้งนี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นความน่าสนใจที่ประเทศไทยควรจะเรียนรู้ จึงจัดเสวนาในหัวข้อ ‘มหาอำนาจกับคาบสมุทรเกาหลี: อดีตและอนาคตของระเบียบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ เพื่อรวบรวมและแบ่งปันความเห็นหลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมมองอดีต อนาคต และข้อยุติของความขัดแย้งยาวนานครั้งนี้

ทั้งสองเกาหลี ถูกจับตามองจากทั่วโลกอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แล้ว ‘จีน’ ในฐานะประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ มีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร จีนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์อย่างไรบนคาบสมุทรเกาหลี

ผ่านสายตาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองจีน เห็นว่า

“สงครามคาบสมุทรครั้งนี้เริ่มแรกมันมีสองฝ่าย คือเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เมื่อคุยกันไม่ลงตัว จีนจึงมีบทบาทช่วยเจรจา แต่จะสังเกตว่าจีนไม่เคยเข้าไปยุ่งกับความขัดแย้งระหว่างประเทศใดๆ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของจีน แต่ที่เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการกับคาบสมุทรเกาหลี เพราะมีผลมันกระทบต่อตัวเอง”

ย้อนไปในอดีตในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง จีนเปิดต้อนรับแนวคิดใหม่ ไม่เอาเรื่องอุดมการณ์มาเป็นตัวตั้ง เพราะต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง จึงเลือกนำแนวเสรีนิยมใหม่มาปรับใช้ ภายใต้กรอบโครงสร้างที่เป็นรัฐเผด็จการ ส่งผลให้จีน ‘ลำบากใจในการวางตัวบนสงครามคาบสมุทรเกาหลี’ เพราะจะต้องคบค้ากับเกาหลีใต้มากขึ้น จากที่ก่อนหน้านั้นเลือกยืนอยู่ข้างเกาหลีเหนือมาโดยตลอด

จีนจะไม่ฝืนระเบียบโลก

วรศักดิ์อธิบายต่อว่า จีนจะต้องระมัดระวังการวางบทบาทบนคาบสมุทรเกาหลีของตัวเองมากขึ้นด้วยเหตุผลสองข้อ

  • หนึ่ง จีนยอมทำอะไรก็ได้ไม่ให้คาบสมุทรเกาหลีตกไปอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ไม่เช่นนั้นจะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของจีนทันที เนื่องจากชายแดนของจีนบางส่วนอยู่ติดกับคาบสมุทรเกาหลี
  • สอง จีนตัดสินใจจิ้มมาลงมาที่ระบบเสรีนิยมใหม่แล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามกรอบระเบียบโลก ว่าด้วย ‘ข้อจำกัดนิวเคลียร์’ ในเมื่อประชาคมโลกเห็นพ้องต้องกันว่าให้กำจัดนิวเคลียร์ ทำลายนิวเคลียร์ จีนจึงจำเป็นต้องเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในระเบียบนั้น แม้จะเอาใจช่วยเกาหลีเหนือมาเสมอ แต่เมื่อเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ จีนก็ต้องคว่ำบาตรตามประเทศอื่นๆ ในโลก”

“แม้จีนจะรู้ภูมิหลังปัญหาของคาบสมุทรเกาหลีดี แต่จำเป็นต้องเอาขาข้างหนึ่งเหยียบระเบียบโลกเอาไว้” เพราะเกาหลีเหนือเคยทดลองนิวเคลียร์ จีนก็ต้องเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคว่ำบาตร เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ขาอีกด้านอีกข้างก็แอบอยู่นอกเหนือกติกา ให้ความช่วยเหลือกับเกาหลีเหนืออยู่บ้าง จนปัจจุบันนี้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความรุ่งโรจน์ ประชาชนจีนฐานะดีขึ้น ทำให้ความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของชาวจีนเริ่มเปลี่ยนไป พวกเขาเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า ทำไมจีนจะต้องแคร์เกาหลีเหนือขนาดนั้น

“ที่จีนวางบทบาทของตนเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลประโยชน์สำคัญที่ใหญ่มากคือ ความมั่นคงของตัวเอง แผลเป็นจากปี 1894 สมัยที่ราชวงศ์ชิงอ่อนแอยังคงอยู่ไม่หายไปไหน จีนเผชิญระเบียบโลกอย่างไม่ประสีประสา จนเสียท่าให้ตะวันตกอย่างมาก และยิ่งเจ็บช้ำไปกว่านั้นคือ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในช่วงเวลานั้น เข้ามาทำสงครามกับจีนเพื่อต้องการยึดครองคาบสมุทรเกาหลี”

“จากหนังสือเค็งเค็งโรกุ บันทึกเหตุการณ์ช่วงปี 1894-1895 พบว่า ญี่ปุ่นใช้ระเบียบโลกระหว่างประเทศ ในการแย่งชิงเอาคาบสมุทรเกาหลีมา จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญของจีน ทำให้ปัจจุบันจีนศึกษาระเบียบโลกอย่างแม่นยำ จีนตอนนี้กำลังทำในสิ่งที่ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยทำมาก่อน” กลับกันตอนอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเลจีนใต้ปี 1982 แม้จีนจะอยู่ในข้อตกลงนี้ แต่จีนไม่สนใจ ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ทว่ากลับแคร์คาบสมุทรเกาหลี

จึงขอยกประโยคทองที่เน้นย้ำว่า จีนมองคาบสมุทรเกาหลีสำคัญกับตัวเองแค่ไหน จากการเจรจา ในปี 1895 ตอนที่จีนแพ้สงครามญี่ปุ่น คำของอัครมหาเสนาบดี หลี่ หงจัง ท่านพูดกับตัวแทนญี่ปุ่นว่า

“คาบสมุทรเกาหลีนั้นเป็นเหมือนริมฝีปาก ฟันนั้นคือจีน หากขาดริมฝีปากไป ฟันจะตกอยู่ในอันตราย” ดังนั้นถ้าวันใดเกิดสงครามความขัดแย้งขึ้นมาจริงๆ จีนจะปกป้องเกาหลีเหนือมากแค่ไหน คงตอบด้วยประโยคทองนี้ได้”

ทรัมป์อารมณ์แปรปรวนแต่ยุทธศาสตร์ชาติไม่เคยแปรปรวน

แม้ว่าเกาหลีทั้งสองจะมีส่วนในการกำหนดอนาคตของตัวเองแค่ไหน แต่ก็ปฏิเสธความสำคัญของอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาไม่ได้ สหรัฐ ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแปรสำคัญของการแก้ไขความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี และการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์และคิม ในช่วงกลางปี ถือเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะชี้วัดว่าเกาหลีเหนือจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป และสหรัฐเองมองคาบสมุทรเกาหลีอย่างไรในยุทธศาสตร์ชาติ

ผ่านสายตาของ ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านยุทธศาสตร์และกองทัพ

“คงต้องตั้งหลักคิดใหม่ว่าแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่สหรัฐ มันไม่เหมือนยุทธศาสตร์ 20 ปี เเบบเมืองไทย”
สหรัฐมองเกาหลีสำคัญมาก จนถึงขั้นใช้เป็นแกนกลางในการวางทางยุทธศาสตร์ชาติ

เชื่อว่าวันที่เราเห็นการรวมชาติของเยอรมัน ตั้งแต่ปี 1989 ภาพการทุบกำแพงเบอร์ลิน ทำให้เรามีความหวังว่าจะเกิดขึ้นกับเกาหลี จวบจนปี 2018 เกาหลีก็ยังทำเช่นนั้นไม่ได้ “โจทย์นี้ชี้ชัดว่าสงครามเย็นที่เราคิดว่ามันจบในเวทีโลก แต่ความเป็นจริงสงครามบนคาบสมุทรเกาหลียังคงไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ และถ้ามองว่าสหรัฐเป็นผู้ที่จะสามารถเข้ามาจัดการปัญหาตรงนี้ได้ สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอน คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาคเอเชีย”

“ถ้าการประชุมสุดยอดทรัมป์-คิม จะทำให้สงครามสงบจริง สหรัฐจะไม่มองแค่เกาหลีอีกต่อไป แต่จะขยายแผนยุทธศาสตร์ชาติตัวเองไปสู่ อินโด-แปซิฟิกทันที”

เพราะแนวคิดของคนในชาตินี้ มักจะวางยุทธศาสตร์บนเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ ย้อนดูได้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณของการรบใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นสองโซน คือยุโรปกับเอเชีย เพราะฉะนั้นถ้าขยับออกจากคาบสมุทรเกาหลีได้ สหรัฐจะวางยุทธศาสตร์ใหม่ บนสองมหาสมุทร โดยเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก-มหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน

ปัญหาชุดใหญ่คือ แล้วตอนนั้นไทยจะทำอย่างไร?

กองทัพในฤดูใบไม้ผลิ

สำหรับคำพูดที่น่ากลัวที่สุด บอกให้เกาหลีเหนือ ‘ลดอาวุธอย่างสมบูรณ์’ แล้วคำว่าสมบูรณ์มันตีความได้แค่ไหน หากจะบอกให้เกาหลีเหนือต้องทำลาย แล้วต้องทำลายอะไรบ้าง อาวุธนิวเคลียร์? สนามทดสอบ? อุปกรณ์ทั้งหลาย? ถ้าวันหนึ่งสถานการณ์วิกฤตินิวเคลียร์ที่เกาหลีขยับ ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง จะส่งผลถึงสมดุลกองกำลังที่ถูกวางบนคาบสมุทรเกาหลีหรือไม่

“ห้ากองทัพที่มีกำลังคนมากที่สุดในเอเชีย ที่หนึ่งคือจีน สองคือเกาหลีเหนือ สามปากีสถาน สี่เกาหลีใต้ และ สุดท้ายคือเวียดนาม เห็นได้ชัดว่าโครงสร้างกองทัพเกาหลีเหนือ-ใต้ใหญ่มาก กำลังพลในเกาหลีเหนือ อยู่ 1,190,000 นาย ส่วนเกาหลีใต้ 630,000 นาย แต่อย่าลืมว่า สหรัฐเองก็ได้วางกำลังพลของตัวเองไว้ในญี่ปุ่น ประมาณ 80,000 นาย เพื่อเตรียมรับมือกับสงครามในเกาหลีเช่นกัน”

ถ้าแนวโน้มของสงครามคาบสมุทรเกาหลีเป็นไปเหมือนคำพูดของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ว่า ‘ฤดูใบไม้ผลิมาถึงคาบสมุทรเกาหลีแล้ว’ แล้วทิศทางของกองกำลังของสหรัฐในญี่ปุ่นเกือบแสนนายจะเปลี่ยนไปทางไหนในอนาคต จะทำให้ฤดูใบไม้ผลิจะยังอบอุ่นต่อไปไหม โจทย์ชุดนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

“เพราะในปัจจุบันเราไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนว่า การวางโครงสร้างกำลังเหล่านี้จะปรับตัวอย่างไรในอนาคต”

และเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงจริงๆ บวกกับสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยน ระเบียบระหว่างประเทศที่เปลี่ยน ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยน แล้วประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จะจัดการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

แล้วไทยล่ะ?

“ต้องไม่ลืมว่า กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 3 สาย ที่ทรัมป์เลือกจะโทรหา นอกจากมะนิลาและสิงคโปร์”

แล้วญี่ปุ่นคิดอย่างไร?

ปฏิเสธได้จริงหรือว่าความสำคัญของญี่ปุ่นบนสงครามคาบสมุทรเกาหลีอยู่ลำดับท้ายสุด ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีบทบาทสักเท่าไหร่ เพราะคอยเดินตามนโยบายสหรัฐ โดยไม่มีปากเสียง แต่หารู้ไม่ญี่ปุ่นคือผู้ที่รู้สึกกระทบกระเทือนมากที่สุด จากการเห็นทรัมป์-คิม จับมือกันอย่างสนิทสนม และญี่ปุ่นจะรับมือกับความรู้สึกหนาวๆ สั่นๆ เช่นนี้ได้หรือไม่ รวมถึงมีวิธีใดที่ดึงความสัมพันธ์คู่พันธมิตรขึ้นมา

ผ่านสายตา ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและวัฒนธรรมญี่ปุ่น เห็นว่า

“ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้ เกาหลีเหนือเริ่มหว่านเสน่ห์ให้กับชาติต่างๆ มากขึ้น แต่ของญี่ปุ่นไม่ได้คล้อยตามด้วย” กลับแสดงท่าทางแข็งกร้าวและกดดันสหรัฐ ให้เร่งจัดการเกาหลีเหนือ เรื่องการยกเลิกนิวเคลียร์ โครงการขีปนาวุธต่างๆ รวมถึงจัดการปัญหาเรื่องการลักพาตัว แต่สหรัฐไม่ได้รู้สึกรู้สาสักเท่าไร มัวแต่สนใจภัยคุกคามกลัวเกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธมาลงประเทศตัวเอง

ท่าทีญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ ดูเหมือนว่าจะไม่ตามก้นสหรัฐตลอดไปอีกแล้ว แถมยังเริ่มตั้งคำถามกับทรัมป์ด้วยซ้ำว่า สหรัฐจะเชื่อใจเกาหลีเหนือได้มากน้อยแค่ไหน

“นโยบายใหญ่นี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลปัจจุบัน นายชินโซ อาเบะ ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศตั้งแต่ปี 2013 เรียกว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของก็ได้ เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ตอบสนองประเด็นเกาหลีเหนืออย่างเดียวอีกต่อไป แต่ใช้นโยบายตอบสนองต่อการควบคุมภัยคุกคามในประเทศตัวเองอีกด้วย และเกี่ยวพันกับกฎระเบียบทางภูมิภาค ระเบียบในเอเชียตะวันออก เพราะญี่ปุ่นกังวลเรื่องนี้อย่างมาก ญี่ปุ่นมองว่าระเบียบโลกระหว่างประเทศจะมีผลต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจของตัวเอง”

แผนยุทธศาสตร์คือการเลี่ยงสงคราม

“อาเบะจะพยายามชี้ให้เห็นข้อดีของการเลี่ยงสงครามว่า ถ้าคุณก่อสงครามโจมตีเรา คุณจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนสูงมาก อาจไม่คุ้มค่า” ญี่ปุ่นพยายามสร้างศักยภาพที่จะป้องปรามประเทศตัวเอง จากการไม่ทำให้เกิดสงครามตั้งแต่ต้น แม้ฝ่ายค้านจะบอกว่าวิธีนี้ดูเหมือนจะสุมไฟให้ลุก ยิ่งยุให้เกิดสงครามมากขึ้น เพราะญี่ปุ่นต้องเข้าหาสหรัฐ แต่อาเบะบอกว่าไม่ใช่ วิธีการเลี่ยงสงครามครั้งนี้มีประโยชน์กับญี่ปุ่น นอกจากนำไปสู่ความปลอดภัยแล้วยังทำให้รักษาระเบียบโลกได้ด้วย

“ญี่ปุ่นต้องทำให้สหรัฐเห็นว่าญี่ปุ่นมีความสำคัญ และน่าเข้ามาปกป้อง จะต้องแสดงความกระตือรือร้นมากขึ้น ไม่ทำให้สหรัฐรู้สึกต้องปกป้องญี่ปุ่นฝ่ายเดียว ญี่ปุ่นสามารถที่จะช่วยสหรัฐได้ เพื่อทำให้เห็นว่าระบบพันธมิตรยังทำงานอยู่”

แล้วเกาหลีเหนืออยู่ตรงไหนในสมการนี้

เกาหลีเหนือเป็นเครื่องมือที่ญี่ปุ่นใช้กระชับพันธมิตรตัวเองกับสหรัฐ มาเสมอ แต่ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์นี้เริ่มเลือนรางห่างกันไปทุกที

“จนกระทั่งปี 2010 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือกลายเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ จึงทำให้อาเบะมองเห็นช่องทางใหม่ โดยจะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้ญี่ปุ่นแสดงออกว่าช่วยเหลือสหรัฐได้ ให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังเป็นคู่พันธมิตรที่น่าคบหาและยังคงมองสหรัฐสำคัญเสมอ”

การเจอกันระหว่างทรัมป์-คิม ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกไม่มั่นใจ

เพราะความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์ และความต้องการทำให้เห็นว่าตัวเองญาติดีกับเกาหลีเหนือจนสำเร็จได้ ญี่ปุ่นมองว่าทรัมป์อ่อนข้อให้เกาหลีเหนือมากเกินไป การที่ทรัมป์และคิมญาติดีกันมากขึ้นเท่าไร กลิ่นสัญญาณแปลกๆ ยิ่งฟุ้งขึ้นเท่านั้น จนบางครั้งทำให้ต้องถามหาความเข้มแข็งในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

“จะพูดอีกอย่างว่าญี่ปุ่นตกอยู่ในความน่าสงสารก็ได้ เพราะหลายชาติมองว่าญี่ปุ่นเป็นตัวขัดขวางสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี แต่ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น การคานอำนาจ การเจอกันระหว่างทรัมป์-คิม มันไม่ทำให้มิตรสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นเลย”

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า