เชื่อกันว่า การปกครองท้องถิ่นคือรากฐานความแข็งแรงของประชาธิปไตยและความกินดีอยู่ดีของประชาชน แต่ข่าวคราวการก่อสร้างบริการสาธารณะที่ชวนน่าสงสัย กลับแพร่สะพัดตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟฟ้ารูปแบบแปลกตานับหมื่นต้นที่มีราคาสูงจนน่าใจหาย การผูกขาดการก่อสร้างของบางบริษัทในโครงการขององค์กรปกครองท้องถิ่นหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อดีดลูกคิดนับจำนวนเงินที่สูญไปอาจประเมินได้หลายหมื่นล้านบาท
คำถามที่น่าสนใจจึงตามมาว่าการโกงเช่นนี้ มีวิธีการอย่างไร ใครคือตัวละครพัวพันบ้าง มีเงื่อนไขอะไรที่เอื้อต่อการโกงประสบความสำเร็จ เหตุใดการโกงที่สังเกตเห็นคาตาจึงจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ฯลฯ
WAY สนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดและลงมือศึกษาการทุจริตคอร์รัปชันในท้องถิ่นมากว่า 15 ปี มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกนับไม่ถ้วน และในบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังท้องถิ่นไทยเอง ศาสตราจารย์โกวิทย์ยังช่วยคิดอ่านในตำแหน่งกรรมาธิการหลายคณะที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินและการปกครองส่วนท้องถิ่น ในมุมหนึ่งจึงย่อมมองเห็นการจัดทำงบประมาณที่กว้างขวางและลึกซึ้งลงไปในเนื้อหาฐานรากการปกครองไทย
“ผมสนใจเรื่องการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่เรียนหนังสือ เพราะผมคิดว่าประเทศต้องเปลี่ยนมุมการบริหารจัดการประเทศจากการรวมศูนย์มาเป็นการกระจายอำนาจให้เหมือนกับญี่ปุ่น เยอรมัน”
นี่คือบางช่วงบางตอนของบทสนทนา บทสัมภาษณ์นี้จึงไม่พลาดที่จะเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรมในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญความยากลำบาก
อาจารย์ศึกษาเรื่องการปกครองท้องถิ่นมานานกว่า 15 ปี เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร
โดยรวมผมคิดว่าดีขึ้น เพราะถ้าเราดูพัฒนาการตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 จะพบว่าท้องถิ่นถูกครอบงำโดยภาคราชการหรือรัฐบาลกลาง งบประมาณที่ท้องถิ่นได้ไปพัฒนาพื้นที่มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ อำนาจในการบริหารก็ไม่มี เรื่องบริหารบุคคลก็ไม่มี เพราะที่ผ่านมาจะให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการแต่งตั้งทั้งหมด โครงสร้างท้องถิ่นเองก็ให้อำนาจซ้อนตำแหน่ง หมายความว่า ข้าราชการประจำสวมหมวก 2 ใบ โดยมีอำนาจซ้อนกับผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
3-4 เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไป หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้ท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้ จากเดิมที่เคยเก็บได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้เราสามารถเก็บภาษีได้ถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในกฎหมายกำหนดแผนและการกระจายอำนาจระบุให้สัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่นโดยให้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์
ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจของท้องถิ่นเอง ก็จะเห็นว่ากฎหมายได้ให้อำนาจมากขึ้น ทั้งในการทำกิจกรรมบริการสาธารณะ ในส่วนโครงสร้างของบุคลากรก็มีกฎหมายท้องถิ่นเอง สามารถบรรจุข้าราชการในท้องถิ่นได้ ในแง่โครงสร้างการบริหาร ได้มีการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาขึ้นมา จะเห็นได้ว่าความเจริญเติบโตก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันไปไม่สุดเท่านั้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเปลี่ยนจากการรวมศูนย์อำนาจมาสู่การกระจายอำนาจมากขึ้น แต่ผมยังมองว่าเราทำได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น โดยปัจจัยหลักมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 และดียิ่งขึ้นอีกในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บังคับให้รัฐบาลต้องพัฒนารายได้ให้ท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้ภาษีบางตัวรัฐบาลเก็บเองก็จริงแต่ต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น แต่น่าเสียดายว่ารัฐบาลในช่วงทศวรรษ 2550 ตั้งแต่คุณสมัคร คุณอภิสิทธิ์ คุณยิ่งลักษณ์ ยังทำไม่ได้
โดยสรุปสิ่งที่ผมอยากจะบอกต่อคือว่า พัฒนาการของท้องถิ่นมีความเกี่ยวพันกับ 3 เงื่อนไขหลัก คือ
หนึ่ง ‘ผู้นำ’ อย่างที่เราเห็นรัฐธรรมนูญ 2540 แม้มันจะดี แต่กฎหมายรายได้ยังไม่มีการจัดทำขึ้น เพราะผู้นำไม่มีใครผลักดัน ซึ่งควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ การเกษตร อาชีพ แต่กฎหมายนี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข
สอง ‘พรรคการเมือง’ ประเทศเรามีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่พรรคการเมืองที่ต่อสู้เรื่องท้องถิ่นมีน้อยมาก ตรงกันข้ามในญี่ปุ่น ทุกพรรคการเมืองจะเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์
สาม ‘ประชาชน’ ซึ่งท่านต้องเข้าใจว่าท่านคือเจ้าของชุมชนของตัวเอง คิดว่าจะต้องเป็นผู้จัดการเมืองของตัวเองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างไร อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โบราณวัตถุอย่างไร
ในสามเรื่องนี้เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2550 จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดี สิ่งที่อยากจะบอกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังอภิปรายกันอยู่ขณะนี้ ผมคิดว่าเราสนใจเรื่องโครงสร้างประเทศมากเกินไป เช่น ระบบเลือกตั้ง เรื่องการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง จนละเลยสิทธิของประชาชนในเรื่องการกระจายอำนาจ อำนาจของชุมชนท้องถิ่น เรื่องการทำให้พลเมืองของเราแข็งแรง
ดูเหมือนข่าวคราวการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะฉาวโฉ่มากในช่วงนี้ อาจารย์มองว่ามาจากสาเหตุอะไร
เวลาเราบอกว่าให้อำนาจท้องถิ่น แต่ไม่ได้มีความโปร่งใสมันก็มีการทุจริตเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาพลเมืองให้เข้มแข็งจนเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุม มันไม่มีเลย ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2502 เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนน้อยไป เรามุ่งแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ อันนี้คือจุดที่อันตราย มันจึงส่งผลต่อการทุจริตคอร์รัปชันตามมา และนับตั้งแต่ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบมาจนถึงเต็มใบ จะพบว่าเราได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 3.6 เต็ม 10 ไม่ถึงครึ่งนะ คะแนนนี้มันตรึงมาตลอด เยอะสุดที่เราทำได้คือ 3.9 ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเรา เขาได้ 8.4
สิ่งที่ผมอยากจะเสนอคือ เราต้องพัฒนาคนของเราให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส แต่ระบบการศึกษาที่ให้เรียนรู้เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันก็มีไม่มาก เพราะฉะนั้นพลเมืองของเราไม่ได้ถูกป้อนเรื่องนี้เข้าไป
ผมยกตัวอย่างประเทศประเทศเกาหลีใต้ เขาจะปูพื้นเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ทำมาประมาณ 40 ปี และจากการศึกษาพบว่าความเป็นพลเมืองได้รับการพัฒนาใช้เวลาประมาณ 10-20 ปี แต่รากเหง้าความเป็นพลเมืองของคนไทยไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร พอหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้แม้เรามีรัฐบาลหลายรัฐบาล แต่จะไม่เห็นว่ามีการสร้างคนแบบนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะในยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนการปฏิรูปประเทศ
ผมพบว่าสาเหตุที่ท้องถิ่นส่วนหนึ่งได้อำนาจไปแล้วใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาลมาจากการไม่พัฒนาคน อย่าลืมนะว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ทำมาหากินด้านการก่อสร้างมาถอนทุน ผมไม่ได้พูดทั้งหมดนะ ในท้องถิ่นต้องยอมรับว่าคนดีก็มี แต่รากฐานแบบนี้ ทำให้ถ้ามีคนไม่ดีเข้ามาบริหารท้องถิ่นสัก 10 เปอร์เซ็นต์ มันก็จะอันตราย
ปัจจัยถัดมาคือ เรื่องการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง เพราะเมื่อกระจายสู่ท้องถิ่น คนที่ทุจริตก็เริ่มเรียนรู้ด้วย เริ่มจากการหาเปอร์เซ็นต์จากการรับเหมาก่อสร้าง หรือจากเงินทอนในโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นการหาผลประโยชน์ร่วมของผู้มีอำนาจในการประกาศจัดซื้อจัดจ้างกับผู้รับเหมาที่เข้าร่วม ในแง่นี้ผลประโยชน์ร่วมในทางการเมืองมี แต่มันก็ไม่ผิดกฎหมาย เช่น การเอาเงินทอนจากโครงการมาให้ กรณีนี้มันจับไม่ได้
ปัจจัยต่อมา คือเรื่องฐานองค์ความรู้ ซึ่งผมเชื่อว่าความรู้สร้างคนได้ เมื่อก่อนเราชอบมองว่าคนท้องถิ่นเรียนน้อย อาจจะได้คนที่เป็นนักธุรกิจที่แสวงหาผลประโยชน์ที่เข้ามาเล่นการเมือง มองว่าคนที่รับเหมาก่อสร้างเข้ามาเล่นการเมือง คนเป็นพ่อค้าวานิชเข้ามาเล่น เราไม่ได้รังเกียจคนเหล่านี้ แต่เขาจะต้องมีพื้นฐานธรรมาภิบาลด้วย ไม่ใช่เข้ามาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือถอนทุนคืนหรือหาประโยชน์จากธุรกิจตัวเอง
กรณีนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ระบุข้อห้ามในเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน เช่น ถ้าคุณเป็นผู้บริหารธุรกิจของตนเองและเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้วจัดทำโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตัวเอง สิ่งนี้ถือเป็นคอร์รัปชันเชิงนโยบายนะ หรือการไปสร้างถนน สร้างแหล่งน้ำ แล้วคุณก็รู้ว่าโครงการเหล่านี้จะอนุมัติได้เมื่อไหร่ ก็ไปให้บริษัทในเครือบริวารเข้าไปประมูลงาน รวมไปถึงการที่เมื่อก่อน ส.ส. คนหนึ่งอาจจะแปรญัตติงบประมาณเพื่อเอาไปเข้าพื้นที่ตัวเองได้ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกัน ส่วนการที่ให้ต้องมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน อันนี้เป็นข้อดี
ปัจจัยถัดมา เราไม่ได้ให้การเรียนรู้เรื่องธรรมาภิบาลแก่ประชาชน ซึ่งหลักสูตรการศึกษาไม่ได้มีเรื่องนี้อย่างเพียงพอ หลักธรรมาภิบาลนี้แม้ว่าจะพูดถึงองค์ประกอบหลายอย่าง
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศไม่เพิกเฉยเมื่อพบเห็นการทุจริตคอร์รัปชัน ในประเทศที่เขาปลูกฝังกันมากกว่า 20 ปี เขายอมไม่ได้ที่จะเห็นการคอร์รัปชัน หรือการหาประโยชน์จากโครงการในพื้นที่
จากการศึกษาเรื่องการทุจริตในท้องถิ่นมานาน อาจารย์พบรูปแบบการทุจริตมีลักษณะใดบ้าง
ผมคิดว่ามี 6 รูปแบบเป็นอย่างน้อย
รูปแบบแรก คือ ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด การเบียดบังเงินงบประมาณของแผ่นดินในแบบนี้ ผมคิดว่าประเทศเราถ้าไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเราจะรักษางบประมาณได้มหาศาล เพราะงบประมาณประจำปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ประมาณ 3.1-.3.3 ล้านล้านบาทเลยนะ และหากเราย้อนไป 10 ปี ถ้าเราไม่มีเงินทอนหรือคอร์รัปชัน ประเทศเราจะมีเงินเป็นแสนล้านบาท เหลือเงินไปสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านได้อีกเยอะ คุณภาพของสาธารณูปโภคก็จะมีคุณภาพ แต่เรากลับได้ของที่ไม่มีคุณภาพ เพราะมีการไปเบียดบังเปอร์เซ็นต์จากการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนที่ควรจะได้ใช้ดีๆ อยู่ได้เป็น 10 ปี พอเจอรถบรรทุกวิ่งไม่กี่เที่ยวก็พัง แสดงให้เห็นว่าบริการสาธารณะที่ควรจะมีคุณภาพ ก็ไม่มี ซึ่งรวมไปถึงการทำผิดระเบียบที่ต้องมาพร้อมกับการถูกตรวจสอบ
รูปแบบที่สอง การใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ เรามักจะได้ยินข่าวการสอบเลื่อนชั้น สอบแต่งตั้ง หรือสอบบุคลากรซึ่งในท้องถิ่นจะมีการเรียกเงินค่าสอบ ค่าตำแหน่ง จึงไม่ต่างไปจากการเรียกรับเงินในหน่วยราชการใหญ่ๆ ที่มันมีผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวทั้งนั้น กรณีนี้ผมยังไม่พบตัวเลขที่แน่นอน แต่ในงานวิจัยที่มาจากการสอบถามคนทั่วประเทศพบว่ามีเรื่องนี้อยู่ด้วย
รูปแบบที่สาม เป็นการฮั้วกันระหว่างพื้นที่กับองค์กรที่เข้าไปตรวจสอบ เช่น การที่ท้องถิ่นมีหน้าที่เก็บภาษี อาทิ ค่าโรงแรม ค่าป้าย หรือค่าอื่นๆ ถามว่าเขาทุจริตพวกนี้ได้ไหม ทำได้ โดยวิธีการ เช่น เมื่อไปสำรวจป้ายก็ทำเป็นไม่เห็นบ้าง หรือไปสำรวจโรงแรมมี 100 ห้อง ก็ทำไม่เห็นสัก 20 ห้อง ละเลยเพื่อไม่เก็บภาษี นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า “ไม่เปิดเผยฐานทางการเงินให้ชัดเจน” รวมไปถึงการใช้เงินในโครงการที่มีลักษณะแลกเปลี่ยนกัน ตัวอย่าง ผมไปประมูลโครงการนี้ จะถามว่ามีข้อต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ผ่านการไปฮั้วกับผู้รับเหมาโดยตรงไหม รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นทั้งในระบบราชการและในท้องถิ่น
รูปแบบที่สี่ คือเรื่องช่องว่างและโครงสร้างของท้องถิ่นที่ไม่กำหนดวาระ เรื่องนี้สำคัญนะ ผมเคยต่อสู้เรื่องการกำหนดวาระของท้องถิ่น มีนักวิชาการบางคนบอกว่าวาระในการดำรงตำแหน่งในท้องถิ่นไม่สำคัญ ผมบอกว่าสำคัญ เหตุผลเพราะถ้ามีคนอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี ทุกอย่างในชุมชนก็สามารถรวบอำนาจได้หมดเลย ตั้งแต่ ที่ดิน ตลาด ตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร ฯลฯ
ในกรณีหมู่บ้านจัดสรร เขาสามารถร่วมกับท้องถิ่นคอร์รัปชันได้ ที่ไม่ใช่แค่การเรียกรับเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่สามารถฮั้วกันทำธุรกิจ หรือหาประโยชน์จากโครงการได้ด้วย เช่น การทำหมู่บ้านจัดสรรจะต้องทำเป็นนิติบุคคล บางรายอาจจะก่อสร้างไปเรื่อยๆ ไม่เสร็จโครงการเสียที แล้วก็ไม่ทำเป็นนิติบุคคลเสียที เพราะต้องการเอาที่ส่วนรวมไปหาประโยชน์ ทั้งๆ ที่สาธารณะซึ่งหมู่บ้านจัดสรรจะต้องทำที่สาธารณะเพื่อให้ส่วนรวมใช้สอย เขาก็จะไม่ทำ ก็ไปฮั้วกับท้องถิ่นว่าจะไม่ทำ แต่นำพื้นที่ไปทำเป็นตลาด ไปจัดทำตึกแถว หรือคอนโดมิเนียมแทนเพื่อหาประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ หรือถนนที่เป็นประโยชน์ร่วมของคนที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ก็มีการถ่ายโอนไปให้ อปท. แทน นี่คือตัวอย่างเดียวของช่องว่างที่ผมพูดในเชิงกฎหมาย
รูปแบบที่ห้า การใช้อิทธิพลของผู้นำ เนื่องจากการไม่กำหนดวาระของผู้บริหารท้องถิ่น ก็จะนำมาสู่การสะสมอำนาจอิทธิพลด้วย คุณจะเห็นอิทธิพลของเจ้าพ่อท้องถิ่นตามจังหวัดต่างๆ ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ นั่นคือภาพชัดเจนของการได้ประโยชน์จากการควบคุมการจัดบริการสาธารณะมาเป็นระยะเวลานาน นี่คือการใช้ตำแหน่งที่อยู่นานจนเกินไปในท้องถิ่น ผมไม่ได้บอกว่าคนอยู่นานไม่ดีทั้งหมดนะ คนอยู่นานในบางพื้นที่จะสร้างประโยชน์ก็ได้ แต่ประเด็นของผม คือการตัดไฟแต่ต้นลม
ฉะนั้น การเลือกผู้บริหารโดยตรง เพื่อทำให้ผู้บริหารเข้มแข็งมีอำนาจ สามารถทำได้เหมือนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถ้าทำดีก็อยู่ไปอีก 4 ปี แต่ประเด็นคือพอคุณอยู่มา 4 ปี ต่อไปไม่ควรอยู่อีกแล้ว เพราะคุณเข้มแข็งมา 8 ปี แล้ว เมืองไทยพออยู่ในอำนาจแล้วหลงอำนาจ
รูปแบบที่หก การตรวจสอบที่ไม่ทั่วถึงและครอบคลุม กรณีนี้จะพบว่าหน่วยงานตรวจสอบที่มีอยู่ไม่กี่หน่วย เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ที่ยังเป็นกลไกในส่วนกลาง โดยไม่มีกลไกในพื้นที่ที่เป็นแขนขา จากการวิจัยพบว่า การตรวจสอบที่ไม่ทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกันส่งผลต่อการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ถึงที่สุดผมเห็นว่าต้องมีคนที่ตรวจสอบ และคนตรวจสอบได้ดีที่สุดคือประชาชน ผมจึงเห็นด้วยกับการมีกฎหมายถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนในพื้นที่ก็มีลักษณะเกรงกลัวผู้มีอิทธิพลอยู่
ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันมีใครบ้าง
การทุจริตแบบนี้ต้องทำเป็นขบวนการ ไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องประกอบไปด้วยฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภา และฝ่ายผู้รับจ้าง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องมีผู้ให้โครงการในการจ้าง อาจจะต้องเป็นผู้นำท้องถิ่น แล้วต้องร่วมกับสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เห็นดีเห็นงาม เช่น การให้งบประมาณ ในกรณีของบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการแบ่งเป็นรายหัว โดยมีการไปว่าจ้างทำโครงการกันต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะหากินแบบนี้ตลอดนะ ทำแบบโปร่งใสก็มี แต่ตัวละครที่มาเกี่ยวจะมีประมาณนี้ มีการให้ผลประโยชน์ทั้งโดยเสน่หาหรือให้เพราะถูกเรียกก็ได้
มากกว่านั้นยังมีตัวละครที่แอบแฝงมา ในรูปแบบผู้มีอำนาจอื่น ที่อาจจะขอเงินไปใช้ในการจัดงานประจำปีของจังหวัด หรือซ่อมแซมที่ทำงาน โรงขยะ เป็นต้น ซึ่งบางส่วนอาจจะทำประโยชน์ให้ประชาชนจริง แต่ก็มีวาระซ่อนเร้น
นอกจากกรณีอื้อฉาวอย่างการสร้างเสาไฟฟ้าในแบบพิสดารต่างๆ มีกรณีตัวอย่างสอนใจ พอจะเล่าให้ฟังสัก 2-3 กรณีไหม
มีหลายท้องถิ่นที่ทำแบบนี้ ทำแบบนวัตกรรมเลย เพราะเอื้อต่อการเพิ่มเงินทอน อย่างการสร้างเสาไฟฟ้าต่อเสาก็จะมีการเสนอราคามาแล้วให้ผู้รับจ้างไปทำ โดยเงินทอนก็จะเยอะหน่อย เงินทอนในที่นี้แปลว่าเงินที่ทอนในโครงการให้กับผู้รับจ้าง เช่น ผมทำโครงการหนึ่งที่ผู้รับเหมาควรจะให้กับผู้ว่าจ้าง อาจจะให้โดยเสน่หา แต่การเรียกรับเงินทอนมันเป็นการคอร์รัปชัน ซึ่งถ้าซื่อสัตย์จริงๆ คนที่มาทำงานการเมืองก็จะไม่ได้มาหาผลประโยชน์
การเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่น ต้องถามว่าคุณเข้ามาเล่นทำไม ถ้ามาเล่นเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง อันนี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ ผมไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำธุรกิจจะคอร์รัปชันไปหมดนะ ตัวอย่างแห่งหนึ่งมีคนเข้ามาเพื่อลงทุนในลักษณะลงขันร่วมกับนายทุน มีการลงเงินไป 20 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่น เรื่องแบบนี้ไม่ดีต่อประเทศชาติ และมันเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติด้วย และเข้ามาโดยการลงทุนก็ต้องถอนทุนคืน
ตอนนี้มีข่าวลือว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เขตหนึ่ง จะต้องมีการทุ่มงบประมาณ 30 ล้านสำหรับลงเล่นการเมือง ผู้สมัครบางคนยังบอกเลยว่า ถ้าผมไม่มีเงินสัก 20 ล้าน ผมไม่ลง ถ้าเป็นแบบนั้นคุณลงไปก็ต้องไปถอนทุนคืน นี่คือการเมืองปัจจุบันที่มันคงอยู่นะ และผมคิดว่าเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและประเทศชาติ
ทำไมเมื่อเห็นการทุจริตกันตำตาแบบนี้ จึงยังเอาผิดไม่ได้
เอาผิดไม่ได้ เพราะมันไม่มีใบเสร็จไง หมายความว่าทำถูกต้องตามระเบียบ เซ็นถูกต้อง ตรวจรับถูกต้อง แต่คุณภาพงานไม่สนใจ เราจะเห็นว่าการตรวจรับงานทุกอย่างถูกระเบียบเป๊ะเลย แต่คุณภาพของสินค้าการจัดบริการสาธารณะที่ชาวบ้านได้จะไม่ดี เช่น สร้างศาลาสักหลัง ปูนที่ควรจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ใส่สัก 80 เปอร์เซ็นต์ ลมพัดทีพังลงไปคนตายก็เคยมี คราวนี้ชาวบ้านจะต้องคิดว่าก่อสร้างครั้งหนึ่ง ที่ดูแล้วกำลังจะไม่มีคุณภาพ ถนนเข้าหมู่บ้านกำลังจะไม่มีคุณภาพ เพราะเรากำลังรับของที่ไม่มีคุณภาพ ชาวบ้านต้องตรวจสอบ
ผมคิดว่าการตรวจรับในประเทศไทยหลายแห่ง อาจจะหลับตา คือการตรวจไม่ได้จริงจังจึงไม่สามารถรู้ได้ว่า เสาต้นนี้ใช้อิฐใช้ปูนเท่าไหร่ และประชาชนก็ไม่ค่อยตรวจสอบ แต่จากการศึกษาของผมเคยเจอเหมือนกันที่ชาวบ้านเก่งมากเลย เข้าไปตรวจสอบเอง เพราะโดยปกติทุกการก่อสร้างจะต้องประกาศการจัดซื้อจัดจ้างว่าโครงการนี้สร้างกี่วันเสร็จ ใช้บริษัทอะไร งบประมาณเท่าไหร่ ชาวบ้านก็เข้าไปดูการทำถนนโดยการใช้ดิน ใช้หิน รถสิบล้อต้องเข้ามาถมเป็นคิว และตั้งทีมขึ้นมานั่งนับรถที่เข้ามาเทดิน เทหิน ซึ่งจะต้องมาเทในโครงการ 20 ครั้ง แต่ปรากฏว่ามันขาดไป 1 ครั้ง ชาวบ้านก็โวยสิ เมื่อถามว่าทำไมจับไม่ได้ ผู้ตรวจสอบก็ไม่ได้เข้ามาดูแบบที่ชาวบ้านดู
อีกกรณีคือการซื้อรถตู้ อาจจะเป็นการซื้อกับบริษัทที่มีคอนแทคกันตลอดก็ได้ ผู้ตรวจก็ไม่เข้าไปดูว่าทำไมจึงซื้อกับบริษัทเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก มีผลประโยชน์ต่อกันหรือเปล่า
นี่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมนักธุรกิจจึงเข้าไปลงทุนให้กับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางคน เพราะมีผลประโยชน์ต่อกัน ร่วมกันด้วยการลงทุนให้ก่อน แต่จะซื้ออะไรต้องไปที่บริษัทนั้น โรงงานนั้น กินกันตั้งแต่รถตู้ ลงมาจนถึง อิฐ หิน ปูน ทราย สายไฟฟ้า เหล็ก ถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่คุณภาพไม่ดี
ฟังเหมือนมันมีช่องว่างทางกฎหมาย
ใช่ครับ ในงานวิจัยผมเสนอเลยว่า มันมีช่องว่างทางระเบียบและกฎหมาย และเราต้องมาศึกษากันอย่างจริงจังว่า ต้องเอาคนที่เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการ กรณีของคณะกรรมการตรวจรับที่มีปัญหาเพราะมีการตั้งพวกเดียวกันเข้าไปเป็นกรรมการตรวจรับ กรรมการตรวจรับอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ก็ได้ แต่บางคนก็ไม่อยากตรวจรับ เพราะไม่อยากมีปัญหา ผมเคยรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยจะเห็นเลยว่า ไม่มีใครอยากเป็นกรรมการตรวจรับ เพราะเป็นทุกขลาภ
การทุจริตที่ค้างท่อใน ปปช. และ สตง. เกือบ 3,000 กว่าเรื่อง พบว่าเป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่นเกือบครึ่งหนึ่ง เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง 600 กว่าเรื่อง ทำผิดระเบียบ 700 กว่าเรื่อง หรือมีกระทั่งเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ 40 กว่าเรื่อง ยังรวมถึงกรณีทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิงอีก ถ้าจำกันได้เคยมีนักการเมืองค้าน้ำมันเถื่อน และถ้ามันเถื่อนคุณก็เบียดบังงบประมาณที่มันถูกต้องตามกฎหมาย
ประเด็นที่ผมจะบอกคือถ้าเจตนาจะทุจริตก็ทุจริต อย่างพรรคการเมืองของผมต่อสู้เรื่องรัฐเสียประโยชน์การพนันออนไลน์ ปีๆ หนึ่ง รัฐเสียประโยชน์ 2.2 ล้านล้านบาท ผมจึงเสนอว่าทำไมรัฐไม่จัดการให้มันถูกต้องตามกฎหมาย รัฐเอาเงินที่ออกไปต่างประเทศกลับมาเปิดในประเทศเรานะ ให้บริษัทต่างประเทศมาจดทะเบียนก็ได้
ฉะนั้นจะบอกว่า ที่เราคุยกันเรื่องคอร์รัปชันวันนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น มันยังมีคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ยังมีการหาประโยชน์อื่นจากทรัพยากรในประเทศนี้ด้วย
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นหลายจุด หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 สัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติที่มีแนวโน้มจะย้อนยุคกลับไปยัง dynasty politics (การเมืองแบบบ้านใหญ่)
เป็นไปได้ เพราะถ้าหากยังอยู่แบบนี้จะนำไปสู่การเมืองอย่างนั้น เพราะว่าการเมืองปัจจุบันเรามีก๊วน พรรคการเมืองบางพรรค มี 3 ก๊ก 3 ก๊วน นักการเมืองก็เริ่มไปแสวงหาบ้านนั้นบ้านนี้กันแล้ว การเมืองในปัจจุบันแบบนี้ ผมคิดว่าไม่ดี การเมืองในอดีตบางยุค ส.ส. มีอิสระเสรีภาพ แต่เดี๋ยวนี้ต้องแสวงหาก๊วนเพราะมีทุน มีเงิน และมีข้อต่อรองได้เยอะ ผมว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่จะไปสู่แบบนั้น
เราพูดถึงอุปสรรคมาเยอะแล้ว ผมอยากจะพูดถึงทางออกบ้าง ผมเสนอแบบนี้ ระยะยาว สร้างระบบการศึกษาที่ดีให้เด็กเรียนเรื่องธรรมาภิบาล เช่น เกาหลีใต้ที่ผมพูดไป คนคอร์รัปชันต้องไปโดดหน้าผาตายก็มี และยังมีกลุ่มองค์กรเฝ้าระวัง People’s Solidarity for Participatory Democracy (PSPD) ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยมาจากกลุ่มก้อนของพลเมืองเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง นักการเมืองอย่างพวกผมนี่ เรามาทำข้อมูลเปิดเผยนักการเมืองได้ไหม ให้ประชาชนรู้ ผมว่าได้ผลนะ เปิดเผยข้อมูลการทำงานของนักการเมืองให้กับประชาชนอย่างละเอียด เช่น การเข้าประชุม การลงมติอย่างไร เรื่องอะไร เปิดเผยประวัติละเอียด เคยให้คนอื่นทำวิทยานิพนธ์แทนหรือเปล่า กลไกนี้ทำให้ ส.ส. ในเกาหลีใต้ สอบตกมาไม่รู้กี่คนต่อกี่คน
แล้วที่สำคัญผมว่าเด็กรุ่นใหม่ ที่คิดใหม่ยุคนี้ เขาไม่ชอบเรื่องพวกนี้ อย่างลูกผมนี่สั่งพ่อไว้เลย พ่ออย่ายุ่งกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชันนะ พ่ออย่าไปฝากเด็กนะ พ่ออย่าไปเอาประโยชน์จากคนอื่น พ่ออย่าไปเบ่งใส่เขานะ เขาสอนเราหมดเลย ผมเลยคิดว่าถ้าเราสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่คิดแบบนี้ได้ อันนี้ดี ประเทศเรายังไปได้ ยังมีความหวัง