ยอดปลาคือเอี่ยน

ภาพประกอบ: กฤช เหลือลมัย

 

There was town in the north of my land
On the bank of the river that it stands
Bright and gray, rice and hay on the golden sand
Cold water ran from this land a thousand miles

ตอนผมเรียนคณะโบราณคดีที่ศิลปากรในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 2530 มีเพลงคณะอยู่เพลงหนึ่งที่ดูศักดิ์สิทธิ์หน่อยๆ คือไม่ได้ถูกสอนตอนประชุมเชียร์นักศึกษาปี 1 แต่มาสอนกันหลังเสร็จสิ้นพิธีรับน้องที่วังจันทร์เกษม พระนครศรีอยุธยาแล้ว แถมสอนแค่บางกลุ่มบางคนอีกต่างหาก

A tale from Yonok เป็นเพลงที่คลาสสิกมากในสายตาผมเวลานั้น มันช่างอธิบายเรื่องราวในตำนานโบราณล้านนาออกมาในรูปบทเพลงได้อย่างไพเราะ ทำนองฟังติดหู แถมใครพอจะจับคอร์ดกีตาร์ชุด C ตีวนไปได้ก็เล่นได้ทุกคน

คนที่แต่งเนื้อร้องคงจงใจจะเล่าตำนานปลาไหลเผือก (Big white eel) ที่แพร่หลายในชุมชนโบราณแถบที่สูงภาคเหนือหลายต่อหลายแห่ง โดยเฉพาะเวียงหนองล่ม อำเภอแม่จัน เชียงราย สาธยายเหตุที่เมืองทั้งเมืองยุบล่มจมหายไปใต้พื้นพิภพ กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ที่กลืนกินชีวิตผู้คนและวัฒนธรรมทั้งหมดที่เคยดำรงคงอยู่ให้สถิตใต้ผืนน้ำอันมืดมิดไปชั่วนิรันดร์

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเพราะว่า

Well one day there was a wandering
A fisherman had captured the big white eel
From the river to the town they drag the eel
And that meal was the eel for everyone

อันที่จริง การจับปลาไหลเผือกตัวใหญ่ได้ก็น่าจะเป็นโชคทางด้านอาหารของชุมชน ยิ่งมีเนื้อมากพอปันกันกินได้ครบถ้วนทุกคน ไยมิใช่เรื่องน่ายินดี?

คำผูกคล้องจองที่ว่า “ยอดเนื้อคือหมา ยอดปลาคือเอี่ยน” ย่อมไม่ใช่ได้มาโดยปราศจากที่มาที่ไป

คนที่เคยกินปลาไหล ย่อมตระหนักดีว่า เนื้อปลาไหลนั้นทั้งหอม มัน เด้ง แน่นอย่างวิเศษ แถมมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ชวนให้เจริญอาหาร

ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์บันทึกไว้ว่า สยามนั้น “แม่น้ำลำคลองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาไหลตัวงามๆ…”  อันว่าปลาไหลตัวงามๆ นี้ นับเป็นสัตว์ที่ลี้ลับไม่น้อย ข้อมูลของกรมประมงบอกเราว่า ปลาไหล – ไหลนา – เหยี่ยน (ออกเสียงคล้าย eel ในภาษาอังกฤษเลยนะครับ) นั้นรูปร่างคล้ายงู มีสองเพศในตัวเดียว คือตอนยังเล็กจะเป็นตัวผู้ ครั้นโตขึ้นกลับกลายเป็นตัวเมีย มีขนาดยาวได้ตั้งแต่หนึ่งฟุตจนถึงเมตรครึ่ง

ดังนั้น หากตัวไหนยาวถึงเมตรครึ่ง แล้วเผอิญเป็นปลาไหลเผือกสีซีดๆ ก็คงถูกเรียกขานเป็น Big white eel ในเพลงได้ไม่ยากนะครับ

ความอร่อยถูกปากของเนื้อปลาไหลคงเป็นที่ติดเนื้อต้องใจคนไม่น้อย ผมเคยคุยถามไถ่เรื่องนี้กับคุณ คำ ผกา ซึ่งมีพื้นเพอยู่บ้านสันคะยอม เชียงใหม่ เธอเล่าอย่างออกรสชนิดได้กลิ่น ถึงเนื้อ ‘ปลาไหลต้มเปรต’ ที่นุ่มนวล พองจนหนังปริแตกเป็นริ้วๆ ในน้ำต้มยำรสเปรี้ยวเค็มเผ็ด ตลอดจนสาธยายถึงเสียงดิ้นขลุกขลักกึงกังของปลาไหลเป็นๆ ที่แม่ครัวโยนใส่หม้อน้ำเดือดแล้วกดฝาหม้อไว้จนเสียงนั้นขาดหาย ฯลฯ

ผมคิดว่า ความอร่อยของเนื้อปลาไหลซึ่งย้อนแย้งกับรูปร่างลักษณะที่คล้ายงูของมันคงสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้ใครหลายๆ คน จึงได้มีคำพังเพยเปรยเปรียบไว้ว่า “เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” (ส่วนท่อนก่อนหน้า ที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่” นั้น ก็คงไม่ได้หมายถึงไก่แน่ๆ ครับ!)

ปลาไหลพบได้ทั้งในคูคลอง หนองบึง นาข้าว ร่องสวน ที่ลุ่มโคลนเลน แถมมันกินทั้งสัตว์เป็นๆ และซากศพ มีเรื่องเล่ากันว่าพบปลาไหลในศพคนตายที่ถูกทิ้งขึ้นอืดตามชายน้ำเลยก็มี คำประณามพจน์อื่น เช่น ลื่นเป็นปลาไหล จนพัฒนาเป็น “ปลาไหลใส่สะเก๊ต” ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 ตอกย้ำอารมณ์ทั้งรักทั้งชังของมนุษย์ที่มีต่อปลาไหลได้ชัดเจนดี

ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (พ.ศ. 2452) มีกล่าวถึงปลาไหลไว้ในส่วนที่ว่าด้วยมัจฉาหารว่า “ปลาไหลมีตลอดปี ตัวเขื่องสลึงสลึงเฟื้อง ตัวกลางเฟื้อง 2 ไพสลึง ตัวย่อมเฟื้องหนึ่ง มักจะชอบใช้ตัวกลางตัวย่อม ด้วยกระดูกอ่อน เนื้อแน่น ตัวใหญ่เนื้อฟ่ามแลกระดูกแขงด้วย…”

ส่วนหนังสือ ปะทานุกรมการทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม ของนักเรียนดรุณีกูลสัตรีวังหลัง (พ.ศ. 2441) แจกแจงวิธีทำปลาไหลสำหรับแกงไว้ว่า “…เอาแกลบชุบน้ำให้เปียก ถูตัวปลาไหลให้ขาวสะอาด แล้วหั่นเปนชิ้นบางๆ เลือดปลาไหลนั้นไม่ต้องล้าง ใส่แกงไปด้วยกันจึ่งจะดี” สูตรแกงปลาไหลในเล่มนี้ไม่มีอะไรแตกต่างจากแกงเผ็ดในปัจจุบันนะครับ

แต่สูตรที่ผมชอบใจมาก แถมยังไม่เคยกินเลย คือ ‘พล่าปลาไหล’ ของพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ในตำรับสายเยาวภา (พ.ศ. 2478) ที่ทำโดยแล่เอาแต่เนื้อปลาไหล (หนังก็ไม่เอา) เอาลงผัดในหัวกะทิจนสุก คลุกกับพริกตำที่มีหอม กระเทียม พริกมูลหนู กะปิ แล้วเคล้าตะไคร้ใบมะกรูดซอย มะม่วงดิบซอย ปรุงด้วยน้ำปลา น้ำตาล น้ำมะนาว หยอดหน้าด้วยหัวกะทิเคี่ยวข้นๆ พร้อมใบสะระแหน่ ผักชี และพริกเหลืองหั่นยาวๆ แหม นี่ถ้าได้พริกดีๆ มันต้องอร่อยแน่ๆ เลย

ที่ไม่เคยเห็นใครทำกันแล้ว ก็คือสูตร ‘ปลาไหลผัดขิง’ ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือผัดขิงแบบจีน ที่ใช้ปลาไหลแล่เอาแต่เนื้อ แทนไก่แทนหมูที่เราคุ้นชินนั่นแหละครับ

When it die, the sky cried aloud
The earth was shaken and it taked a fearful sound
Disaster came to the land and swallow town
No one found the legend town anymore…

นิทานเรื่องปลาไหลเผือกมีเค้าโครงเรื่องเล่าเหมือนๆ กันหมด ทั้งดินแดนภาคเหนือของไทย ตะเข็บชายแดนพม่า ลาว ไปจนถึงทางตอนใต้ของจีน

คนในหมู่บ้านพร้อมใจกันไปกินปลาไหลเผือกที่จู่ๆ ปรากฏกายขึ้น ไม่เว้นแม้แต่หญิงหม้ายคนสุดท้าย ซึ่งน่าจะอดทนต่อกิเลสอันเย้ายวนใจนี้ได้ ก็ยังพ่ายแพ้ต่อการยั่วยุของพระอินทร์ที่ปลอมแปลงตัวมา ในที่สุดฝนฟ้าพิโรธ พสุธาสะเทือนไหว เมืองทั้งเมืองยุบล่มจมหายไปใต้พื้นพิภพ กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ที่กลืนกินชีวิตผู้คนและวัฒนธรรมทั้งหมดที่เคยดำรงคงอยู่ให้สถิตใต้ผืนน้ำอันมืดมิดไปชั่วนิรันดร์

นักคติชนวิทยาและนักมานุษยวิทยาส่วนหนึ่งมักอธิบายตำนานนี้ว่าเป็นการแสดงถึงโทษทัณฑ์ที่มนุษย์ (แทนด้วยชาวเมือง) ไป ‘ล่วงละเมิด’ ต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ (แทนด้วยปลาไหลเผือก) จุดจบของความผิดนี้คือมรณกรรมรวมหมู่ ดูเหมือนว่าก็สาสมดีแล้วกับโทษฐานที่ไปกินปลาต้องห้าม ที่ถูกยกให้เทียบเท่ากระทำฆาตกรรมต่อบุคลาธิษฐานของธรรมชาติ ซึ่งต่อมา การกินปลาเผือก กระรอกเผือก นกเผือกในตำนาน ก็ถูกตีความเป็นนัยๆ หมายรวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่า รุกล้ำเขตป่าอนุรักษ์ ล่าจับสัตว์น้ำต่างๆ ไปด้วย

ครั้นเมื่อลองคิดทบทวนเรื่องปลาไหลเผือกอีกครั้ง ผมชักสงสัยว่า ตำนานโบราณที่นักเขียนไทยชอบนิยามว่าเป็นแมจิคัลเรียลลิสซึ่มแบบไทยๆ ทำนองนี้มันแอบบอกอะไรคนฟังกันแน่ ทำไมแค่กินปลาตัวเดียวถึงทำให้แผ่นดินถล่ม พายุเข้า จนถึงกับเมืองล่มจนคนตายยกเมือง แล้วถ้าปลาไหลเผือกไม่ใช่บุคลาธิษฐานของธรรมชาติ อย่างที่ ‘เขา’ ว่ากันมา หากคือบุคลาธิษฐานของ ‘อำนาจ’ ล่ะ?

มันก็น่าคิดว่า ในกรณีนี้ การกินเปรียบเสมือนการท้าทาย ต่อรอง ช่วงชิงอำนาจจาก ‘ข้างบน’ และโทษฐานของการกบฏต่อข้างบนก็คือมรณกรรมรวมหมู่ เช่นที่เพิ่งเกิดขึ้นกลางพระนครไปเมื่อไม่ถึงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

หากมองในแง่นี้ แมจิคัลเรียลลิสซึ่มแบบไทยไม่ใช่การต่อสู้ขัดขืน หรือพยายามยั่วให้เห็นความจริงโดยสาธกเรื่องมหัศจรรย์คู่ขนานร่วมกาละและเทศะขึ้นมาแบบวรรณกรรมละตินอเมริกัน หากคือการเขียนบทกำหนดชนชั้นและตอกย้ำสถานภาพของปวงไพร่ให้ชัดขึ้นแบบแอบเนียนผ่านเรื่องเล่าปรัมปราคติต่างหาก…ยังไม่ต้องคิดถึงว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รุกล้ำป่าต้นน้ำ ล่าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ย่อมไม่เคยมีมาในเมืองไทยก่อนสมัยกึ่งพุทธกาล

ถ้าอย่างนั้น บุคลาธิษฐานของธรรมชาติที่ว่าๆ กัน ก็น่าจะเป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ อีกเรื่องหนึ่ง

 

เวิ้งน้ำนั้นหรือ…เวียงหนองล่ม     เมืองทั้งเมืองยุบจมเป็นทะเลสาบใหญ่

คนตายไปนับหมื่นแสน     เพื่อสังเวยความแค้นของพญาปลาไหล

ชาวดินนั้นต้องกินข้าวปลา     จะใช่ชาวฟ้าอิ่มทิพย์ก็หาไม่

พวกเขาได้อิ่มหนำสำราญ     หลังอดอยากมานาน มันผิดตรงไหน 

ถ้าหากนี่คือ “การล่า”      มันก็เรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป

หรือว่า…มันเป็นเรื่อง “อำนาจ”      ที่ท่านผูกขาดชนชั้นท่านไว้ 

พวกเขาไม่ได้แค่ “กินปลา”     แต่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจท่านใช่ไหม 

แค่กลัวแผ่นดินไหวไปถึงฟ้า     ท่านถึงกับสั่งฆ่าพวกเขาเลยหรือไร 

………………

เวิ้งน้ำนั้นหรือ…เวียงหนองล่ม     เมืองทั้งเมืองยุบจมเป็นทะเลสาบใหญ่…

 

(‘เวียงหนองล่ม’ ส่วนหนึ่งของบทกวี ในวงสำรับใหญ่, มีนาคม 2553)

Author

กฤช เหลือลมัย
กฤช เหลือลมัย เป็นนักโบราณคดีผู้ขุดลึกลงไปในชั้นดินของความรู้ทางประวัติศาสตร์อาหารและรสชาติ เป็นทั้งนักเขียน-กวี เขียนรูป ทำอาหาร และนิยมเดินทางด้วยจักรยานไปตามพื้นที่รกร้าง เพื่อสอดส่ายสายตาหาพืชผักเพื่อนำมาประกอบอาหาร ในพื้นที่ของ WAY กฤช เหลือลมัย ได้ออกไปสำรวจพร้อมกับเครื่องมือขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อนำหลักฐานทางอาหารและรสชาติมาวิเคราะห์สไตล์กฤช เหลือลมัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า