ไปเจอเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดว่าก็น่าสนใจดีในช่วงสงกรานต์ที่บ้านพี่ชายที่อัมพวา สมุทรสงคราม เลยขอเอามาเล่าแบบเบาๆ พร้อมทั้งชวนคิดต่อ และขอความเห็นไปยังประเด็นอื่นๆ ที่พอจะเกี่ยวข้องด้วยนะครับ
พื้นที่แถบอัมพวา บางคณฑี รวมทั้งบางนกแขวกนั้น ปัจจุบันเกษตรกรปลูกผลไม้ที่กำลังเป็นที่นิยมกันมาก รู้จักดีในชื่อ ‘มะม่วงหาวมะนาวโห่’ (Carissa carandas L.) นะครับ ส่วนชื่ออื่นๆ ที่คนมักเรียกลูกไม้ผิวเรียบแน่น เมื่อสุกเป็นสีชมพูเข้มจนถึงม่วงเข้ม เนื้อแข็ง รสเปรี้ยวจัดนี้ ก็มีหนามแดงบ้าง หนามขี้แฮดบ้าง
เราเริ่มเห็นเจ้ามะม่วงหาวมะนาวโห่วางขายชุกอยู่ตามตลาดโบราณที่เพิ่งสร้างใหม่ ทั้งขายเป็นลูกๆ ใส่ถุงพร้อมพริกกะเกลือ ทั้งมาในขวดพลาสติกและขวดแก้วในรูปน้ำผลไม้คั้นสด บางครั้งก็ดอง หรือเชื่อมก็มี เมื่อไม่นานมานี้เอง สรรพคุณที่อุดมด้วยวิตามินซีแบบผลไม้เปรี้ยวทั่วไป ตลอดจนมีธาตุอาหารยับยั้งอาการผิดปกติในร่างกายอยู่มากมาย ทำให้มันแพร่หลายขึ้นชั้นเป็นผลไม้ ‘เพื่อสุขภาพ’ อย่างรวดเร็ว ผมเองยังเคยผ่าลูกดิบและลูกห่ามๆ แคะเม็ดในออก แช่น้ำเกลือกำจัดยางขาวๆ ออกบ้าง เอาเนื้อติดเปลือกนั้นมาใช้เป็นรสเปรี้ยวอร่อยสดชื่นในแกงเหลือง ผัดส้ม ต้มยำ ต้มโคล้ง ตลอดจนยำจานต่างๆ บ่อยๆ
ถ้าเป็นต้มยำปลาหรือกุ้งน้ำใส สีเปลือกของลูกที่ค่อนข้างสุกจะเจือในน้ำ ทำให้ต้มยำหม้อนั้นๆ ออกสีชมพูสวยตามแต่ผู้ปรุงรสจะควบคุมเฉดสี เรียกว่าของเปรี้ยวอร่อยดีสีสวยกินขาดผลไม้เปรี้ยวชนิดอื่นๆ เลยแหละ
การที่อยู่ๆ มันโผล่มามีความนิยม เลยดูเหมือนเป็นของที่เพิ่งรู้จักชื่อเสียงเรียงนาม แต่ในทางนัยประวัติ มะม่วงหาวมะนาวโห่มีระบุไว้ในนิทานปัญญาสชาดกหลายเรื่อง ที่เด่นๆ ก็คือ พระรถ-เมรี มหากาพย์อันเป็นประหนึ่ง ‘ภาคแรก’ ของ พระสุธน-มโนราห์ อันลือลั่น โดยบอกว่า ในเมืองคชปุระนครของนางยักษ์สนธมารนั้น มี ‘มะม่วงหาว มะนาวโห่’ ที่มีสรรพคุณรักษาอาการป่วย เป็นเหตุให้พระรถเสนต้องเดินทางไปเอามาตามอุบายของนางยักษ์ จนเกิดพบปะผูกพันเป็นเงื่อนปมปฏิพัทธ์ข้ามภพชาติกับนางเมรีไปในที่สุด
ผมยังหาไม่พบว่ามีการแยกแยะ ‘มะม่วงหาว’ ‘มะนาวโห่’ เป็นผลไม้สองชนิดไว้ชัดๆ ที่ไหนบ้างไหม แม้ปัจจุบันมักหมายรวมเป็นผลไม้ชื่อยาวชนิดเดียว แต่ผมคลับคล้ายคลับคลาว่ามันน่าจะเป็นคนละชนิด การค้นหาในไซเบอร์สเปซพบว่า ข้อมูลเรื่องนี้ถูกคัดลอกซ้ำๆ ต่อๆ กันมาจนเป็นทางเดียวกันหมดว่าเป็นผลไม้ชนิดเดียว
อย่างไรก็ดี มีกระทู้หนึ่งใน pantip.com ที่บอกว่าชื่อนี้หมายถึงผลไม้สองชนิด มะม่วงหาว คือหนามแดง ส่วนมะนาวโห่ เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง
นั่นคือร่องรอยเดียวที่พบ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมบอกว่าไปเจอมานะครับ คือที่บ้านพี่ชายนายทหารนอกราชการ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวานั้น มีต้นไม้แปลกอยู่ต้นหนึ่ง คนที่มาเช่าบ้านอยู่หลายปีเป็นคนปลูกไว้ สูงราวเพียงอก ใบสีเขียวจัดแยกเป็นแฉก มีลูกเล็กๆ ขนาดเท่าลูกของต้นแก้ว เมื่อสุกสีส้มแดงเข้มๆ รสและกลิ่นคล้ายมะนาวขมๆ
พี่สาวคนหนึ่งของผมที่บ้านอยู่ละแวกเดียวกันนั้นบอกว่า นี่แหละที่เขาเรียกต้นมะนาวโห่ ตัวเธอเองเมื่อมีอาการเจ็บคอ ก็จะมาเก็บลูกของมันไปกิน พอช่วยทุเลาอาการได้ทุกครั้ง
ผมเลยคิดว่าเรื่องของเรื่องก็น่าจะเป็นแบบนี้แหละครับ ‘มะนาวโห่’ น่าจะคือเจ้านี่เองแหละ ดังนั้น ทั้งสูตรอาหารและเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่ผมเคยเขียนถึงไปบ้างก่อนหน้านี้ ก็เป็นอันว่าล้าสมัย ต้องเปลี่ยนมายึดเอาข้อมูลตามนี้นะครับ
……………..
กรณีนี้ชวนให้ช่วยกันนึกเล่นๆ ต่อไปอีกว่า มีชื่อผักนามไม้อะไรที่ยังงงๆ เป็นปัญหาคล้ายๆ กันนี้อีกบ้างไหม ที่ผมพอนึกออกตอนนี้ก็มีเช่น
คื่นไช่ – ตั้งโอ๋ ผมไม่แน่ใจว่าปัญหาของคำสองคำนี้เริ่มคลี่คลายไปหรือยังนะครับ แต่สมัยเด็กๆ คื่นไช่จะถูกเรียกว่าตั้งโอ๋ตลอดเลยทีเดียว
ใบยี่หร่า – เม็ดยี่หร่า ผมคิดว่า ‘ยี่หร่า’ น่าจะเป็นคำที่แทนความหมายของรสฉุนร้อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเริ่มกำหนดเรียกมาอย่างไร แต่มันถูกเรียกปนๆ กันตั้งแต่ต้นยี่หร่า (tree basil) ที่แถบเมืองกาญจนบุรีเรียกกะเพราควายบ้าง กะเพราช้างบ้าง และอีกอย่างคือเม็ดยี่หร่า (cumin) อันเป็นที่มาของ ‘หอมยี่หร่ารสร้อนแรง’ ใน กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งมันไม่ใช่เมล็ดของต้น tree basil หรอกนะครับ แต่ตำราพืช-ตำราอาหารพากษ์ไทยหลายเล่มก็ยังตีพิมพ์ย้ำซ้ำเรื่องนี้ให้สับสนกันอยู่จนปัจจุบัน
ใบจันท์ – จันหมาวอด ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าคือใบกะเพราควาย/ใบยี่หร่า มีกลิ่นฉุนร้อนดับคาวเนื้อ (หมา) ได้ดี เลยเป็นที่มาของชื่อใบจันท์ (ที่ถ้าได้มาใส่ในกระทะเมื่อไหร่ (เนื้อ) หมา (ก็จะ) วอด แต่ช้าก่อน มันมีสูตรเนื้อสับผัดใบจันท์ของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ที่คุณชายท่านบอกว่า ถ้าหาใบจันท์ไม่ได้ ให้ใช้ใบยี่หร่าแทน อ้าว ถ้าอย่างนั้นก็เป็นคนละอย่างกันสิ ผมเคยค้นเจอว่า ใบจันท์นี้คือ ‘ผักแพว’ หรือผักไผ่, พริกม้า (Vietnamese coriander) นั่นเองครับ ซึ่งก็มีที่ใช้ใส่เพิ่มความเผ็ดร้อนในผัดปลาดุก ผัดเนื้อเผ็ดๆ อยู่หลายสูตร ดังนั้นเรื่องใบจันท์นี้คงต้องสอบค้นถามไถ่กันต่อไปอีกนานแหละ
ยังมีพริกกะเหรี่ยง ซึ่งเดิมย่อมหมายถึงพริกขี้หนูเม็ดเล็กทั้งแบบสั้นและยาว ที่คนกะเหรี่ยงชายแดนตะวันตกปลูกแซมข้าวไร่บนโคกเนินโดยไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ยดูแลรักษา เป็นพริกที่เผ็ดหอมที่สุดชนิดหนึ่งของดินแดนแถบนี้ แต่ภายหลังเริ่มหมายรวมไปถึงพริกโพนอีสานและพริกชีปักษ์ใต้สีออกส้มๆ ด้วย
เช่นเดียวกับพริกขี้นก ซึ่งเดิมทีหมายถึงพริกไทยเม็ดแก่ในมูลนกที่ไปกินมาแล้วถ่ายเรี่ยราดไว้ มักใช้เข้ายาสมุนไพรโบราณ ต่อมา หมายถึงพริกขี้หนูเม็ดเล็กจากต้นแก่ที่ขึ้นตามราวป่า ครั้นเดี๋ยวนี้มาหมายรวมถึงพริกขี้หนูเม็ดขนาดกลาง ปลูกในสวนพริกแถบสมุทรสาครเข้าไปอีก เราจึงไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า อะไรต่อมิอะไรที่เพิ่งไปพบเห็น ไปรู้จักมักจี่นั้น ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วกี่ครั้ง ในชั่วชีวิตที่มันได้ถูกกำหนดนิยามความหมายโดยมนุษย์แต่ละกลุ่มเหล่า แต่ละห้วงเวลา
และเมื่อไปพบเห็นเข้าแล้ว เราจะตัดสินใจ หรือมีท่าทีต่อเรื่องราวซึ่งเหมือนจะผิดเพี้ยน ไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ กระทั่งแลดูไม่ถูกต้องตามกฎตามเกณฑ์เหล่านั้น อย่างไร
…
แถมท้ายอีกหนึ่งกรณี
ใครขับรถไปตามทางหลวงสาย 21 (ถนนสุระนารายณ์) ก่อนจะพ้นเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เข้าเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จะเห็นว่ามีลำห้วยเล็กๆ ไหลตัดผ่าน รถทุกคันต้องวิ่งข้ามสะพานคอนกรีตสั้นๆ ข้าม ‘ห้วยดีเลิศ’ นั้นไป
พื้นที่แถบนั้นส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านคนลาวครับ
และคนลาวเรียกใบชะพลู (Wildbetal leafbush) ว่า ผัก ‘อีเลิด’
จากที่รู้ว่า มันถึงขนาดเคยมีการเปลี่ยนชื่อลำห้วย ‘ไผ่ชะเลือด’ ที่มีเค้านามเชื่อมโยงไปถึงสงครามการเดินทัพพระเจ้าตากที่อำเภอโคกปีบ ปราจีนบุรี ให้เป็น ‘ไผ่งาม’ นามเพราะพริ้ง หรือรัชกาลที่ 4 เคยทรงเปลี่ยนชื่อบ้าน ‘กุดลิง’ ในอีสาน เป็น “วานรนิวาส” ฯลฯ มาแล้ว ผมเลยคิดว่าที่ผมแอบคิดขำๆ ขณะขับรถข้าม ‘ห้วยดีเลิศ’ ไปนั้น ต้องไม่ผิดแน่ๆ เลย
คิดเหมือนผมไหมล่ะครับ?