แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่างๆ (platform labor/gig worker) มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร บริการซักรีดหรือทำความสะอาดบ้าน บริการนวด ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่และดำเนินไปท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทน ‘ความมั่นคงในอาชีพ’ รวมถึงสวัสดิการที่บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มมองข้ามคนงานไปทั้งสิ้น
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ทำวิจัยร่วมกับคนงานแพลตฟอร์มประเภทบริการส่งอาหารช่วงปี 2019 นอกจากนั้นยังเฝ้ามองการเติบโตของธุรกิจและข้อเสียเปรียบของคนงานแพลตฟอร์ม จึงทำให้เกิดการผลักดันข้อเรียกร้องผ่านแถลงการณ์ในรูปแบบจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มรับผิดชอบสวัสดิภาพคนทำงานในช่วงการระบาดของโรค Covid-19
เนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับนี้มีความน่าสนใจ WAY จึงพูดคุยกับ ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการบริหารสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ผู้ร่วมผลักดันข้อแถลงการณ์ ถึงแนวทางและการวางแผนข้อเสนอของคนงานแพลตฟอร์มในอนาคต
ปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์มคืออะไร
เมื่อพูดถึงตัวของคนงานแพลตฟอร์ม (platform worker) บริษัทแพลตฟอร์มมักเรียกเขาเป็นพาร์ทเนอร์ โดยคำว่าพาร์ทเนอร์ก็มีความคลุมเครือและเชื่อมโยงกับคำถามเกี่ยวกับสถานะของคนงานว่าแท้จริงแล้วเป็นพนักงานของบริษัทหรือเป็นหุ้นส่วนกันแน่ โดยทางสถาบันมองคนงานแพลตฟอร์ม เป็นคนทำงานรายชิ้น (gig worker) ไม่ได้เป็นพาร์ทเนอร์หรือหุ้นส่วนอย่างที่บริษัทเรียก จากการวิจัยคนงานแพลตฟอร์มไม่มีสัญญาจ้าง ไม่ได้เป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่ได้รับเงินจากการทำงานเป็นรายชิ้น
สถานการณ์ปัจจุบันคนงานแพลตฟอร์มต้องเผชิญกับความเสี่ยงของโควิด-19 ทำให้พบปัญหาหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง คือเรื่องของรายได้ สวัสดิการ และสิทธิของคนงาน โดยรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดมาจากสถานะคนงาน
1. ค่าจ้าง เนื่องด้วยคนงานแพลตฟอร์มรับงานเป็นรายชิ้น ทำให้ไม่มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำของค่าจ้าง และในปีที่ผ่านมามีการปรับลดลงของค่าจ้างมาโดยตลอดแม้มีการระบาดของโควิด-19 อยู่ก็ตาม เพราะฉะนั้นปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งโควิด เศรษฐกิจตกต่ำ และความไม่มั่นคงทางอาชีพ รวมถึงบริษัทแพลตฟอร์มรับคนเข้ามาทำงานจำนวนมากอย่างไม่จำกัด ที่สำคัญคือคนที่เคยมีอาชีพประจำก็เข้ามาอยู่ในกลุ่มภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการนี้ด้วย
สิ่งที่แปลกคือ ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถขยายตัวและผลประกอบการค่อนข้างดีแต่ก็มีการปรับลดค่าจ้างลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่การประท้วงของไรเดอร์แกร็บ (Grab) ส่งเสียงเรียกร้องถึงค่าตอบแทนรายเดือนไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เพราะฉะนั้นไรเดอร์แกร็บจึงเรียกร้องให้มีการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐาน
2. สวัสดิการที่ไม่เพียงพอ เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มไม่ได้ยอมรับว่าแรงงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง ทั้งที่สภาพการทำงานชี้ชัดว่าเข้าข่ายพนักงานของบริษัท บริษัทผลักภาระต้นทุนให้แก่คนทำงาน เช่น กลุ่มผู้หญิงทำความสะอาดจำเป็นต้องซื้อและเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างในการทำงาน ค่าเดินทาง ไม่มีสวัสดิการเมื่อประสบอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น ถูกของมีคมบาด รวมถึงการสัมผัสสารพิษเป็นเวลานานก็ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
เรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการทางสังคมที่ผูกติดกับสถานะแรงงาน เพราะกลุ่มคนงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระ กฎหมายไทยไม่ได้เปิดโอกาสให้คนงานแพลตฟอร์มเข้าไปเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ในการเข้าถึงสิทธิ เช่น การลาป่วยตามวันหยุดตามเทศกาล หรือการลาป่วยแล้วยังได้รับค่าตอบแทน รวมถึงการลาคลอด การตกงานด้วย
3. สิทธิแรงงาน ก็เกี่ยวข้องกับสถานะคนงานเช่นกัน ทำให้เกิดความแตกต่างของอำนาจต่อรอง เพราะสถานะคนงานอยู่นอกกรอบกฎหมาย บริษัทแพลตฟอร์มมักใช้อำนาจเกินขอบเขต
เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มมีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ ทำให้แพลตฟอร์มไม่ได้ถูกกำกับด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ จึงเป็นเรื่องตลกมากที่บริษัทแพลตฟอร์มสามารถทำหลายๆ อย่างที่นายจ้างปกติไม่สามารถทำได้
เช่น การลงโทษ การปิดแอพพลิเคชั่น การหักเงินเดือนเมื่อขอลา ลาป่วยแม้มีใบรับรองแพทย์ การลงโทษเมื่อเขายกเลิกงาน โดยปกติการลงโทษแบบนี้ในบริบทของนายจ้างและลูกจ้างไม่สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มข้ามชาติ เช่น Grab ก็ไม่มีกลไกในการรับฟังปัญหาของคนทำงาน
บริษัทแพลตฟอร์มควรมีขอบเขตในการรับผิดชอบแรงงานแพลตฟอร์มมากน้อยแค่ไหน หรือเรื่องใดบ้าง
เรื่องความรับผิดชอบแรงงานแพลตฟอร์มสามารถถกเถียงกันได้ (controversial) โดยขอบเขตการรับผิดชอบของบริษัทขึ้นอยู่กับการตีความเรื่องสถานะคนงานแพลตฟอร์มเป็นสำคัญ
คนงานแพลตฟอร์มก็ควรมีสิทธิเลือกสถานะของเขาเช่นกัน เลือกรูปแบบการทำงานตามความต้องการ โดยทางสถาบันฯ มักเรียกร้องเรื่องการจ้างงานผิดประเภท (misclassification) บางครั้งอาจทำให้คนงานแพลตฟอร์มหลายคนกังวล และไม่ชอบรูปแบบการทำงานแบบเงื่อนไขความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้างทั่วไป เพราะไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่หากมองสองเรื่องนี้ควบคู่กันไปและเสียงสะท้อนจากคนงานแพลตฟอร์มก็ต้องการให้บริษัทรับผิดชอบในเรื่องของค่าตอบแทน สวัสดิการที่คนงานควรได้รับเมื่อเขาทำงานคล้ายกับพนักงานบริษัท
ทำให้ขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มไม่ควรต่างกับขอบเขตการรับผิดชอบของนายจ้างตามกฎหมายกำหนด เพียงแต่ว่าตามกฎหมายกำหนดค่าจ้างไว้ค่อนข้างต่ำจากเดิมที่เคยได้รับค่าตอบแทนสูงมาก อาจจะต้องถกเถียงกันถึงความจำเป็นในการกำหนดกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองคนงานแพลตฟอร์ม หรืออาจจะต้องคุ้มครองให้ครอบคลุมขอบเขตกฎหมายการคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่
หากบริษัทแพลตฟอร์มไม่มีท่าทีตอบรับต่อข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ สถาบันฯ องค์กรภาคีจะมีแนวทางหรือมีวิธีการในการกดดันต่อบริษัทอย่างไรบ้าง
มาตรการกดดันอาจจะตอบชัดๆ ไม่ได้ ก็ต้องให้ทางบริษัทประหลาดใจต่อไป แต่อยากจะอธิบายถึงหัวใจความเดือดร้อนของคนทำงานแพลตฟอร์ม โดยทางสถาบันฯ ต้องการสนับสนุนให้เสียงของคนงานแพลตฟอร์มดังขึ้น สามารถรวมกลุ่มพูดถึงปัญหา ความต้องการของคนงาน และแนวทางแก้ไขของบริษัท
การกดดันบริษัทส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มของคนงานแพลตฟอร์มด้วย โดยแพลตฟอร์มที่ทางสถาบันฯ ศึกษาและกดดันคงเป็นแพลตฟอร์มข้ามชาติดำเนินการในหลายประเทศ อย่างเช่น Grab หรือ Gojek นับว่าแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้มีอิทธิพลทางการตลาด ในการกำหนดทิศทางการจ้างงานต่างๆ ทำให้แพลตฟอร์มย่อยยึดปฏิบัติตาม
ส่วนข้อมูลที่ได้ตรวจสอบล่าสุดคือ Grab ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประกันโควิดให้แก่ไรเดอร์ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข จำนวน 4 เดือน ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างผู้บริหารบริษัท และตัวแกนนำของไรเดอร์ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่แพลตฟอร์มอื่นๆ โดยบริษัทจำเป็นต้องให้การคุ้มครองคนงาน แม้ควรจะมีมาตั้งนานแล้วก็ตาม
ภาคีที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ภาคีองค์กรสิทธิแรงงานในประเทศหรืออุตสาหกรรม เช่น กลุ่มของแรงงานอุตสาหกรรมแรงงานข้ามชาติ ส่วนความเป็นไปได้สำหรับการกดดันบริษัทแพลตฟอร์มโดยกลุ่มเหล่านี้ก็อยากให้เป็นเป้าหมายในระยะยาวต่อไป
การให้ลงทะเบียนและทำประกันโควิดอย่าง Grab เป็นความช่วยเหลือที่เพียงพอแล้วหรือยัง
มาตรการของ Grab นั้น นำเสนอให้เห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งทางคนงานแพลตฟอร์มหรือแกนนำไรเดอร์เอง เขาก็บอกว่าบริษัททำประกันโควิดเพราะถูกกดดัน (หัวเราะ) ไม่ได้เป็นการวางแผนของทางบริษัท
นอกจากนี้ปัจจัยความเสี่ยง อย่างเช่น อุบัติเหตุที่ไรเดอร์ไม่สามารถเบิกงบประกันได้จริง เพราะมีเงื่อนไขการทำงานกำหนดอยู่
มาตรการประกันโควิดที่ออกมา ต้องดูถึงการขอเบิกประกันได้จริง หรือมีเงื่อนไขการเบิกประกันตามมาหรือเปล่า แต่อยากจะเสริมคือควรสนับสนุนมาตรการอื่นๆ ในระหว่างการทำงาน เช่น การส่งของโดยไม่สัมผัสหรือว่าไม่ส่งของถึงมือผู้รับเพื่อลดความเสี่ยง ทางสหรัฐอเมริกาเขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน และส่งเสริมให้กลุ่มไรเดอร์ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ เพราะเป็นแรงงานแถวหน้าและเป็นกลุ่มที่ต้องพบปะคนจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังทำ
มีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง สำหรับการยกระดับการรวมกลุ่มของคนงานแพลตฟอร์มหลายๆ กลุ่มอย่างไม่เป็นทางการมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้บริษัทแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น
ประเด็นนี้ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งส่วนกฎหมายและอำนาจการต่อรองบริษัท ซึ่งต้องแยกออกจากกันเป็นสองเรื่อง โดยกฎหมายไทยมีข้อจำกัดแม้กระทั่งกลุ่มคนงานที่กฎหมายรับรองให้มีสิทธิเสรีภาพในการตั้งสมาคม มีสิทธิในการเจรจาการต่อรอง คือกลุ่มคนงานประจำในภาคเอกชน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ และถึงแม้ว่าไม่มีกฎหมายรับรองแต่ถ้ามีการรวมตัวของคนงานที่เข้มแข็งก็สามารถขับเคลื่อนข้อต่อรองได้
สำหรับคนงานแพลตฟอร์มเขามีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่น กลุ่มไรเดอร์ก็มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าทุกคนหยุดทำงานก็เกิดการชะงักของกระแสการเคลื่อนที่สินค้าในสังคมเมือง แต่ทุกวันนี้เขายังไม่มีอำนาจเชิงองค์กรแต่สามารถยกระดับได้โดยการสนับสนุนทรัพยากรในการจัดตั้งกลุ่มคนงานแพลตฟอร์ม
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการยกระดับแรงงานของแต่ละกลุ่ม คือสภาพการทำงานที่เขาต้องทำงานหนักเกิน 12 ชั่วโมง หากรายได้ไม่พอต้องทำงานล่วงเวลาที่กำหนด ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ทำให้ยากต่อการรวมตัว แม้กระทั่งกลุ่มคนงานอาชีพเดียวกันก็มีความแตกต่างในเชิงความคิดที่จะรวมตัวกัน
เงื่อนไขจากรูปแบบการทำงานแบบใหม่ ก็มีส่วนทำให้การรวมตัวกันเป็นไปได้ยาก เช่น ไรเดอร์ต้องแย่งกันรับงาน หรือพนักงานทำความสะอาดหญิงต้องทำงานในพื้นที่มิดชิด คนงานเองแทบไม่มีโอกาสในการพบเจอคนทำงานร่วมอาชีพกันเลย ดังนั้น การรวมตัวของคนงานหลายๆ อาชีพเข้าด้วยกันจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ เอ็นจีโอ รวมไปถึงผู้บริโภค จะมีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุนแรงงานแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง เพื่อให้แรงงานแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
ผมอยากจะแยกแต่ละส่วนออกจากกัน สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐนั้นยังขาดพื้นฐานความเข้าใจในประเด็นแรงงานแพลตฟอร์ม จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและการทำงาน เช่น ในส่วนของกฎหมาย เจ้าหน้าที่น่าจะช่วยหยิบยกกฎหมายที่มีอยู่มาใช้ได้ อย่างเช่น กฎหมายที่กำหนดสิทธิ คุ้มครองสิทธิแรงงานเขาไว้หรือสิทธิในการสมาคม หรือสิทธิในการต่อรองบริษัท
ในอดีต นักวิชาการ และเอ็นจีโอ อาจจะยึดติดกับกรอบของการแบ่งคนงานเป็นคนงานในระบบ คนงานนอกระบบ ตามการแบ่งของระบบราชการ และแนวคิดนี้นำมาสู่อุปสรรคการส่งเสริมคนงานแพลตฟอร์มเข้าถึงสิทธิระดับเดียวกับคนงานในระบบ ส่วนตัวคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐและนักวิชาการจำเป็นต้องลดกำแพงเพื่อทำงานข้ามองค์กร ทำความเข้าใจถึงกระบวนการแรงงาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อช่วยสนับสนุนคนงานแพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อจะให้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนกฎหมายในอนาคต
ทางสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมพยายามพังทลายเส้นแบ่งระหว่างคนงานในระบบและนอกระบบ เรามองเห็นถึงความจำเป็นที่จะปฏิรูปกฎหมายแรงงานทั้งหมด อาจจะร่างกฎหมายที่มีความก้าวหน้าและครอบคลุมถึงคนงาน โดยไม่แบ่งคนงานในระบบนอกระบบและรวมรูปแบบการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้มีกฎหมายมารองรับความคลุมเครือของรูปแบบการทำงานบนแพลตฟอร์ม
เนื้อหาของแถลงการณ์อาจจะเน้นย้ำในส่วนของบริษัทและผู้บริโภค แม้จะต้องใช้ความร่วมมือในหลายองค์กรเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย แต่การขับเคลื่อนเช่นนี้ยังมีอุปสรรคในการทำงานระยาว ในส่วนของกฎหมาย นโยบาย และการจัดตั้งกลุ่มคนงานแพลตฟอร์มจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลานาน แต่เรื่องความตระหนักของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญมากและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ทำงานเกิดขึ้นทุกๆ วัน หากผู้บริโภคมีความเข้าใจหรือตระหนักรู้เรื่องของสภาพปัญหาในการทำงานที่คนงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ประสบ อยากให้ผู้บริโภคคนไทยหันมาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของสินค้าในชีวิตประจำวัน อาหารที่เรากิน ของที่เราใช้ เพื่อเข้าใจถึงกระบวนการของอาหารก่อนจะถึงมือของผู้บริโภคมากขึ้น
เราควรเริ่มต้นปลูกจิตสำนึก หรือหันมาศึกษาต้นทางของการบริโภคอย่างไรดี
ต้องตั้งคำถามต่อผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองจะรู้สึกห่างไกลคนทำงานหาเช้ากินค่ำ คนทำงานอุตสาหกรรม อาจฟังดูขัดแย้งเพราะในภาคเศรษฐกิจคนงาน คนทำงานหาบเร่แผงลอย เราก็ล้วนมีปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่เราพูดถึงมิติความเป็นธรรมของกลุ่มคนทำงานหาเช้ากินค่ำน้อยมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ หรือวัฒนธรรมของสื่อที่น้อย และการทำงานวิจัยถึงแนวคิดทางสังคมไทย ได้รับอิทธิพลเรื่องการกุศล การบริจาค มากกว่าการให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิ
ส่วนหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรมของคนไทยเองที่เรามีวัฒนธรรมความเกรงใจ แต่ไม่ค่อยรู้สึกเห็นใจคนทำงานสักเท่าไหร่ ทั้งในการปฏิบัติ รวมถึงการดูถูกคนทำงาน เช่น เราอยู่ในสถานที่ราชการ มักจะเห็นแม่บ้านไปนั่งกินข้าวในห้องน้ำ
ตอนนี้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่แต่เรื่องของวัฒนธรรมการทำงานเป็นเรื่องพื้นฐาน อาจจะเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจกระบวนการทำงานและปัญหาหลายๆ อย่างของคนงาน ที่เกิดขึ้นโดยบริษัทแพลตฟอร์มเป็นคนกำหนดขึ้นมา
อยากให้แถลงการณ์ชี้ชัดว่าจริงๆ ความต้องการของคนงานแพลตฟอร์มและผู้ได้เปรียบทางผลประโยชน์คือบริษัทแพลตฟอร์ม หากผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานของไรเดอร์ เช่น การส่งของล่าช้าแต่สาเหตุที่แท้จริงคือ บริษัทแพลตฟอร์มโยนงานพ่วงมา ซึ่งคนงานจะได้รับค่าตอบแทนน้อยลงไปอีก อยากให้ผู้บริโภคตระหนัก เห็นถึงปัญหาของคนงานที่โดนบริษัทกดขี่ และหันไปตั้งคำถามกับบริษัทแพลตฟอร์มมากขึ้น
กระทรวงแรงงาน ภาครัฐ องค์กรเหล่านี้ควรมีแนวทางอย่างไรในการเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้บริษัททำตามข้อเรียกร้อง
แรงงานแพลตฟอร์มเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับองค์กรหลายส่วน รวมถึงวิถีการทำงานแบบใหม่ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับแรงงานมาก่อน ปัญหาแรก คือ ภาครัฐไทยมักมีปัญหาในการทำงานระหว่างองค์กร ไม่มีความเข้าใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ ไม่เข้าใจสิทธิและลักษณะการทำงานของคนงานแพลตฟอร์ม
การแก้ไขปัญหาคนงานแพลตฟอร์มในระยะยาวต้องผลักดันในเรื่องการปฏิรูป อย่างเช่น กฎหมายที่คุ้มครองคนงานแพลตฟอร์ม กระทรวงแรงงานเองต้องเลิกวางบทบาทเป็นคนกลาง เพราะตัวอย่างที่ผ่านมาของการแก้ปัญหาไรเดอร์กับบริษัท Grab กระทรวงแรงงานพยายามจะเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยที่เขาเหมือนไม่เข้าใจถึงอำนาจการต่อรองของบริษัทแพลตฟอร์มและคนงานแพลตฟอร์มมีความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กระทรวงแรงงานควรทำคือทำหน้าที่ในการหยิบยกกฎหมายที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ พยายามตีความปัญหาและความต้องการของคนงานแพลตฟอร์ม ปกป้องผลประโยชน์การทำงานไม่ใช่ธุรกิจ
สถานการณ์แรงงานแพลตฟอร์มในต่างประเทศ กรณีศึกษาไหนที่เราควรเรียนรู้ และเหมาะกับบริบทสังคมไทยมากที่สุด
เท่าที่เห็น มีสองสามแนว แนวแรกคือ ใช้ศาล แนวที่สองคือ ออกกฎหมายเกี่ยวกับสถานะคนงาน และสามคือ ให้สิทธิในเรื่องการรวมตัวจัดตั้งสหภาพ
ในอังกฤษ มีตัวอย่างของกลุ่มคนงานได้จัดตั้งสหภาพแรงงานคนขับและขนส่งผ่านแอพฯ APP Drivers & Couriers Union ทางกลุ่มก็สนับสนุนให้ตัวแทนของคนงานแพลตฟอร์มที่ได้รับความเดือดร้อนไปฟ้องร้องในชั้นศาล ศาลชั้นต้นชี้ว่าบริษัทแพลตฟอร์มที่เขาทำงานคือ อูเบอร์ (Uber) เป็นนายจ้างของพวกเขาและคนอื่นๆ ที่ทำงานแพลตฟอร์มแบบเดียวกัน ผมยกตัวอย่างของอังกฤษเพราะว่ากลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างกระตือรือร้นและมีแนวทางที่น่าสนใจในการฟ้องบริษัทแพลตฟอร์ม เช่น กลุ่มเดียวกันนี้ฟ้องในฮอลแลนด์ให้อูเบอร์ต้องแชร์ข้อมูลกับคนขับรถ ในฐานะ ‘พาร์ทเนอร์’ ซึ่งแนวทางในการพึ่งพาศาลอาจจะใช้ไม่ได้ในเมืองไทย เพราะว่า ศาลไทยมีประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนที่ว่าหากเกิดความขัดแย้งส่วนใหญ่ก็เข้าข้างนายจ้าง หรือถึงแม้มีการตัดสินเข้าข้างพนักงานบ้าง แต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้คำสั่งศาลกับบริษัท
แนวที่สอง ที่คนพูดถึงกันเยอะคือ กฎหมายระดับรัฐของแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกว่า Assembly Bill 5 (AB5) ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการชี้ว่าคนงานอิสระเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือไม่ แนวนี้น่าสนใจ เพราะเป็นกฎหมายที่บังคับในวงกว้าง สำหรับบ้านเรา สส. อาจจะยังไม่เข้าใจประเด็นของแรงงานแพลตฟอร์มเท่าที่ควร และก็เสี่ยงที่จะถูกกลุ่มธุรกิจล็อบบี้ เช่นที่เพิ่งเกิดกับ AB5 ในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาของสหรัฐ ที่มีการบรรจุเรื่องนี้ให้ชาวแคลิฟอร์เนียโหวต ภายใต้ข้อเสนอที่รู้จักกันในชื่อ Proposition 22 ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทแพลตฟอร์มชนาดใหญ่ที่มีสำนักงานในรัฐแคลิฟอร์เนีย อย่างอูเบอร์เป็นหัวหอกในการรณรงค์เพื่อทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวใช้การไม่ได้
แนวสุดท้าย สหภาพยุโรป (European Union) เพิ่งเสนอแนวปฏิบัติใหม่ให้สิทธิคนงานอิสระรวมถึงฟรีแลนซ์ เพื่อเข้าถึงเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรอง จากเดิมที่มีเพียงแรงงานประจำเท่านั้น