สุขภาพแรงงานเพื่อนบ้าน อยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

แรงงานเพื่อนบ้านในจินตนาการของเราเป็นอย่างไร?

เป็นคนทำงานหนัก ทำงานที่คนไทย หรือแม้แต่มนุษย์ทั่วไป ถ้าเลือกได้ย่อมจะไม่ทำ เช่น ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง อุตสาหกรรมหนัก งานก่อสร้างที่แทบไม่มีเครื่องมือช่วยและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย หรืองานด้านการสนับสนุนบริการการท่องเที่ยว

หนึ่งล้านห้าแสนคน คือแรงงานที่ลงทะเบียนอยู่ในระบบ ไม่นับผู้ติดตามและผู้ที่ยังไม่ถูกนับ คือแรงงานหลังบ้านที่คอยยันเศรษฐกิจไทยอยู่

ถ้าแรงงานเป็นมนุษย์ที่ทำงานกรรมกร ต้องมีเจ็บ ล้า ทรุด ป่วย คลอดบุตร ซึ่งต้องได้รับการบำรุงครรภ์ และลูกที่เกิดมาต้องได้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคและให้เด็กคนนั้นมีโอกาสเติบโตอย่างสมบูรณ์ตามสิทธิของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่คนหนึ่ง

คำถามที่วงเสวนา “ปลดล็อก ‘สุขภาพประชากรข้ามชาติ’ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสยุค Thailand 4.0?” วันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี ตั้งขึ้นคือว่า

ถ้าเรื่องสุขภาพแรงงานอยู่ในจินตนาการของเรา ภายใต้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดน พ.ศ. 2560-2564 มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงและจะช่วยลดภาระด้านสาธารณสุขแรงงานในขณะนี้ได้บ้าง

สภาพปัญหาสุขภาพแรงงานเพื่อนบ้าน

สถานการณ์ปัญหาแรงงานขณะนี้ คือมีแรงงานเพื่อนบ้านเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทยราว 31 จังหวัด* หรือราว 3,300 กิโลเมตร ทำให้มีแรงงานเคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศอย่างต่อเนื่อง

อีกทางหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าพรมแดนเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ชุกชุมอย่างปฏิเสธไม่ได้

และภายใต้เชื้อชาติอันหลากหลายของแรงงาน คือการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่เป็นระบบ การได้รับและให้บริการด้านสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึง แรงงานไม่มีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลชายแดนหลายแห่งมีภาระทางการเงิน ปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ของแม่และเด็ก นำมาซึ่งการลักลอบนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและอาจผิดกฎหมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างพยายามเข้าไปจัดระบบ ทั้งเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายของ นายแพทย์ชนินันท์ สนธิไชย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข และกล่าวต่อไปว่า ร่างยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดนที่กำลังจะเกิดขึ้น มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาในจุดนี้ เครื่องมือหลักคือการพัฒนาและตั้งจุดสถานพยาบาลเริ่มตั้งแต่ชายแดน

ทำไมแรงงานไม่ไปขึ้นทะเบียน และเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพแรงงาน

ระบบประกันสุขภาพแรงงาน คือระบบประกันที่ให้ผู้เอาประกันหรือแรงงานร่วมจ่ายด้วยในทางหนึ่ง ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ซื้อก่อนป่วย’

หากปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่านั้นคือ ระบบในการคัดคนเข้าออกเพื่อจะเข้าถึงประกันสุขภาพที่ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีบัตรสีชมพู (ผู้ที่รอพิสูจน์สัญชาติ และได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ชั่วคราว ซึ่งหากพิสูจน์แล้วจะได้รับบัตรสีเขียว หากพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง) กระนั้นก็มีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ซื้อ/ซื้อไม่ได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้โรงพยาบาลโดยเฉพาะแถบชายแดนต้องแบกรับภาระไว้เอง

อย่างที่ ปราณี มหาศักดิ์พันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลแม่สอด อธิบายว่า ปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง หากของพื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่ชายแดนหน้าด่าน แรงงานส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศได้ มีแรงงานส่วนหนึ่งที่เป็นแรงงานไป-กลับ หรือทำงานตามฤดูกาล ซึ่งนายจ้างจำนวนหนึ่งต้องรอระเบียบในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ทำให้ยังไม่สามารถนำแรงงานมาขึ้นทะเบียน ทั้งแรงงานในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่นอกจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในการจัดทำเอกสารเข้าประเทศ

ทั้งระเบียบที่ให้แรงงานทำงานได้ครั้งละสองปี และนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ตรวจสุขภาพและเข้าระบบประกันสุขภาพในสถานพยาบาลเดียวกัน ทำให้แรงงานไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะธรรมชาติของแรงงานต้องเปลี่ยนย้ายที่ทำงานอยู่ตลอด

(อ่านเกณฑ์การซื้อระบบสุขภาพเแรงงานพิ่มเติม: แรงงานข้ามชาติ… ชีวิตที่ไร้หลักประกัน)
นายแพทย์ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์

ข้อเสนอต่อแรงงานในยุค 4.0: เทคโนโลยีช่วยแก้ทั้งระบบได้

“ก่อนจะตอบคำถามว่า แรงงานข้ามชาติอยู่ตรงไหนในไทยแลนด์ 4.0 ตอบคำถามง่ายๆ ว่าจินตนาการของเราต่อแรงงานสมัยนี้เป็นอย่างไรก่อนดีกว่า

“ใช่หรือไม่ว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุค sharing economy จำเป็นไหมที่แรงงานต้องมีนายจ้างหรือสถานประกอบการรับรอง”

‘Sharing Economy’ ที่ นายแพทย์ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program: IHPP) อธิบายในความหมายของพฤติกรรมการทำธุรกิจแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีและอาจแบ่งทรัพยากรร่วมกัน เช่น ธุรกิจ Uber หรือ Airbnb ในแง่นี้นายแพทย์ระพีพงศ์เสนอว่า นวัตกรรมใหม่ทำให้ใครๆ ก็เป็นนายจ้าง ผู้ผลิต สถานประกอบการได้ ซึ่งมันอาจพลิกเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อแรงงานได้

“แรงงานข้ามชาติขณะนี้เขาเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และมีเครือข่ายของตัวเองอยู่ในนั้น ถ้าลงไปศึกษาดีๆ เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการผลักดันการเข้าถึงประกันสุขภาพของแรงงานได้”

ไม่จำเป็นว่า แรงงานเพื่อนบ้านจะต้องเป็นลูกจ้างเพียงอาชีพเดียว ในตอนเช้าเขาอาจทำงานตามกะในโรงงาน แต่เย็นวันนั้นเขาอาจเปิดบ้านให้เช่ากับ Airbnb ก็ได้

“ที่ยกตัวอย่างแบบนี้เพื่อจะบอกว่า การคิดยุทธศาสตร์หรือนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน ถ้ามองพฤติกรรมของคนและใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย อาจแก้ปัญหาได้ไกลและลงลึกซับซ้อนขึ้น โดยที่รัฐไม่ต้องแบกภาระค่ารับผิดชอบที่มาก”

ในประเด็นนี้ ปราณีเสนอว่า สิ่งที่โลกแห่งเทคโนโลยียุค 4.0 จะมอบให้ได้ คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาลดขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าระบบที่ต้องยืนยันตัวด้วยชื่อ-นามสกุล เพราะข้อเท็จจริงคือแรงงานเมียนมาร์ไม่มีนามสกุล เธอเสนอว่าสิ่งที่ควรมีในขณะนี้ คือการยืนยันตัวบุคคลด้วยลายนิ้วมือ ไม่ใช่เพื่อเอาใจหรืออำนวยความสะดวก หากคือการลดกระบวนการและค่าใช้จ่ายของรัฐในเรื่องยา เพราะบางครั้งแรงงานที่เคลื่อนย้ายบ่อยจะจดจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยได้รับยาหรือวัคซีนอะไรมาบ้าง หากใช้นิ้วมือยืนยันตัว คนไข้จะไม่ได้รับยาซ้ำซ้อน และจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของร่างกฎหมายสาธารณสุขชายแดนในครั้งนี้


*ประเทศไทยมีจังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนเพื่อนบ้านราว 31 จังหวัด ดังนี้
ไทย-เมียนมาร์ 10 จังหวัด
ไทย-ลาว 12 จังหวัด
ไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด
ไทย-มาเลเซีย 4 จังหวัด

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า