ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 มีการใช้งานเครื่องจักรหนักเพิ่มขึ้นอย่างมากในพม่า ทำให้สามารถสกัดแร่ได้ด้วยความเร็ว อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในบริเวณเหมืองหยกผากั้น (Hpakant / ဖားကန့်) ของรัฐกะฉิ่น ที่อยู่ทางตอนเหนือของพม่า
ตามรายงานของ Swedwatch—กลุ่มตรวจสอบธุรกิจของสวีเดน
พม่าถือเป็นผู้ผลิตอัญมณีรายใหญ่ของโลก ครั้งหนึ่งรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางอองซานซูจีได้เคยให้คำมั่นไว้ว่าจะควบคุมอุตสาหกรรมนี้ให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์ดินถล่มในเหมืองหยกจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ใน ค.ศ. 2015
แต่แล้วการทำเหมืองหยกบริเวณเมืองผากั้นและพื้นที่โดยรอบก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงเช่นเดิม มีรายงานข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คน และสูญหายอีกจำนวนหนึ่ง หลังเศษแร่ที่กองพูนพะเนินพังยุบถล่มลงมา เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 และเหตุการณ์ยิบย่อยที่มีคนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากกองดินถล่มอีกหลายครั้ง ที่ไม่ได้ถูกบันทึกในเมืองผากั้น และไม่มียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการประกาศออกมา
วันที่ 2 กรกฎาคม 2020 เวลา 06.30 น. ตามเวลามาตรฐานพม่า (ซึ่งช้ากว่าไทยราว 30 นาที) มีรายงานข่าวอีกครั้งหนึ่งว่า เกิดเหตุดินโคลนถล่มที่เหมืองหยกเหว่ข่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเหมืองหยกที่อยู่ในบริเวณเมืองผากั้น รัฐกะฉิ่น รายงานข่าวระบุว่าสาเหตุเนื่องมาจากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ทำให้กองดินทำเหมืองสไลด์ไหลลงสู่แอ่งน้ำภายในหุบเหมือง และเกิดคลื่นน้ำโคลน ลักษณะคล้ายคลื่นสึนามิ ไหลทะลักซัดสาดเข้าใส่ร่างคนงานในเหมือง
ข้อมูล ณ วันที่เกิดเหตุ รายงานว่า พบผู้เสียชีวิตแล้ว 126 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 54 ราย และอาจมีคนงานอีกราว 200 คน ติดอยู่ใต้โคลน การปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากยังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก
เมืองผากั้นอยู่ห่างจากมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่า ไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่มีทั้งหยกและทองคำ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ใต้ดิน คนที่นี่เล่าว่า พวกเขาเคยหาหยกได้แม้กระทั่งตอนที่สร้างบ้านหรือขุดบ่อน้ำ
มีคำกล่าวว่า รัฐกะฉิ่นในพม่าแต่งแต้มไปด้วยสีเขียว แต่สีเขียวที่ทำให้ที่นี่โด่งดังจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ สีเขียวของหยก หินสีเขียวเข้มที่นี่สามารถสร้างความร่ำรวยให้กับบุคคลได้ ถ้าลองเทียบระหว่างหยกกับทองคำที่มีน้ำหนักเท่ากัน จะพบว่าหยกมีราคาแพงยิ่งกว่าทองคำเสียอีก รายงานของ Global Witness ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอนประเมินว่า หยกที่ขุดจากเหมืองในพม่าแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึงกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และกว่าร้อยละ 90 ของหยกที่ขุดได้มาจากแหล่งในพม่า
แต่เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว … หินสีเขียวเข้มของที่นี่ไม่มีราคามากมายขนาดนั้น และคนพื้นเมืองที่นี่ก็เห็นมันเป็นแค่หินธรรมดาจนชินตา …
มีนิทานกะฉิ่นเล่าว่า ย้อนไปไกลโพ้น … คนพื้นเมืองที่นี่สามารถมองเห็นก้อนหินหลากสีที่ก้นแม่น้ำได้อย่างง่ายดาย เพราะน้ำใส โดยเฉพาะหินสีเขียว บรรพบุรุษพวกเขาเห็นกันจนชินตา สีเขียวของหยกที่นี่มีเฉดสีตั้งแต่เขียวอ่อนไล่เรียงไปจนถึงเขียวแก่ หยกดีต้องมีเนื้อละเอียด ยามเมื่อต้องกระทบแสงจันทร์ เมื่อคืนเดือนหงาย (นี่เขากำลังสอนวิธีดูหยกและการขุดหาหยกแบบภูมิปัญญาโบราณด้วย)
อยู่มาวันหนึ่ง มีตัวละครชื่อว่า ตะโยะก่งแต่ (တရုတ်ကုန်သည်) หรือ พ่อค้าชาวจีน บรรทุกสินค้าจากเมืองจีนมาบนหลังล่อ (ล่อต่าง) เดินทางเข้ามาค้าขายในดินแดนกะฉิ่น ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน เมื่อเขาขายของจนเป็นที่พอใจในผลประกอบการแล้ว ก็เตรียมเดินทางกลับเมืองจีน ในระหว่างที่เดินทางกลับนั่นเอง เขาก็ครุ่นคิดหาวิธีว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องห้อยถ่วงน้ำหนักบนหลังของล่อ แทนน้ำหนักของสินค้าที่ขายไปแล้ว บังเอิญเขาเหลือบไปเห็นหินสีเขียวที่มีอยู่ทั่วไปตามรายทางในป่า เขาจึงหยิบก้อนหินสีเขียวนั้นมา เพื่อใช้ห้อยถ่วงน้ำหนักบนหลังล่อ เมื่อกลับถึงบ้าน เขาเพิ่งรู้ว่าหินสีเขียวที่เขาเก็บมาจากข้างทางในป่าแคว้นกะฉิ่น แท้ที่จริงแล้ว มันคือหยกคุณภาพเยี่ยมยอด ที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน และไม่มีเฉดสีแบบนี้ในเมืองจีน จนเล่าลือ อื้ออึงกันต่อมา
นิทานเรื่องนี้ เล่าอธิบายปฐมเหตุว่าหยกที่นี่เริ่มเป็นที่รู้จักและมีมูลค่าขึ้นมาตั้งแต่พ่อค้าจีนคนนั้น ซึ่งถ้าไล่เลียงดูไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์แล้ว พบว่าเรื่องเล่านี้อยู่ในบริบทประวัติศาสตร์จีน สมัยราชวงศ์หยวนถึงหมิง ที่มีรายงานว่าในช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ต่อมาถึงศตวรรษที่ 14 ราชสำนักจีนได้พยายามส่งนักสำรวจจากยูนนาน เข้ามาที่ดินแดนกะฉิ่นหลายครั้ง เพื่อค้นหาแหล่งแร่หยกเฉดสีเขียวแก่ แต่ส่วนใหญ่ไม่รอดกลับไปเนื่องจากติดเชื้อไข้ป่า และต้องมาเสียชีวิตอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก มีรายงานว่ามีบันทึกถึงชื่อพ่อค้าจีนกว่า 6 พันคนที่เสียชีวิตและสูญหายระหว่างการเข้ามาค้นหาแหล่งหยกในกะฉิ่น อย่างไรก็ดี บ้างก็ว่านิทานนี้มีที่มาจากเรื่องเล่าในบันทึกของนักเดินทางชาวจีนในสมัยโน้น นั่นแหละ
จะอย่างไรก็แล้วแต่ จากตอนนั้นถึงตอนนี้ โศกนาฏกรรมยังคงเกิดขึ้นในเหมืองหยก เมืองผากั้น
ค.ศ. 2011 รัฐบาลเผด็จการทหารเปิดที่ทางให้รัฐบาลกึ่งพลเรือน และเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอก มีนโยบายเปิดพื้นที่เมืองผากั้นให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหยกในรัฐกะฉิ่น กอปรกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ทำให้บริษัทท้องถิ่นนำเข้าเครื่องจักรไม่ว่าจะเป็น Caterpillar Volvo Komatsu และ Liebherr ที่ใช้ขุด และลำเลียงตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างง่ายดาย
ไม่มีพื้นที่ส่วนใดของเมืองผากั้นที่ไม่ถูกแตะต้องคุกคามโดยขบวนรถบรรทุก และรถขุดที่ใช้ขุดหาก้อนหยก ในฤดูแล้ง พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยฝุ่น ครั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หมู่บ้านแถบนี้ถูกน้ำท่วม แม่น้ำผากั้นที่มีขนาดเล็กไม่สามารถดูดซับมวลน้ำที่ไหลบ่ามาอย่างมากมายจากพื้นดินที่ถูกกัดกร่อนจากการขุดหาหยกได้
ภาพที่มักเห็นจนชินตาในเหมืองหยกผากั้น คือ กลุ่มชายหลายสิบคนทรงตัวอยู่ตามไหล่เขา ที่เต็มไปด้วยดิน และหิน พวกเขาใช้แท่งเหล็กจิ้มลงไปตามพื้น คอยเงี่ยหูฟังเสียงของแท่งเหล็กกระทบหิน ที่พวกเขาคุ้นเคยดีว่าต้องเป็นเสียงดังกังวานโทนไหน ถึงจะมีสิทธิเป็นหินแร่
เมื่อรถบรรทุกขนาดใหญ่เทดินที่บรรทุกมา หินขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอลก็กลิ้งหล่นลงมาจากท้ายรถบรรทุก และไหลลงมาตามพื้นลาดเอียง นาทีนี้บรรดาคนหาหยกต่างกระจายตัว หลบออกไปในทุกทิศทาง และหลังอันตรายที่อาจจะจากดินที่ถูกถมทิ้งผ่านพ้นไปไม่นานนัก พวกเขาก็กรูกันกลับมาค้นหาหยกตามพื้นดินอีกครั้ง แต่ก็ยังอันตรายอยู่ดีหากเสียการทรงตัว
เราเรียกพวกเขาว่า ‘เหย่มะเซตะมา’ (ရေမဆေးသမား) ซึ่งเป็นคำที่อธิบายลักษณะอาชีพของพวกเขา มีความหมายว่า เมื่อพวกเขาขุดพบเศษหยก พวกเขาจะไม่เอามันมาล้างน้ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลักษณะและคุณภาพของหยกเปลี่ยนไป อีกทั้งจะขายออกค่อนข้างยากด้วย พวกเขาจะส่งขายต่อให้ผู้ประกอบการหรือตัวแทนรับซื้อในสภาพเดิมอย่างนั้นเลย คนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมากที่สุดในเหมืองหยกเมืองผากั้น และเป็นกลุ่มที่มักตกอยู่ในความเสี่ยง และเสียชีวิตจากการขุดหาเศษหยก
โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2020 พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือเหย่มะเซตะมา ที่หวังเข้ามาเขี่ยคุ้ยหาเศษหยกจากการขุดค้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ภาพที่ถ่ายโดยคนท้องถิ่นเผยให้เห็นร่างผู้เสียชีวิตหลายคน ถูกดึงออกจากกองดินเต็มไปด้วยดินโคลน และคราบเลือด
นับตั้งแต่หยกของที่นี่ถูกตีตราว่าเป็นของดีมีค่า ไม่ใช่หินสีเขียวที่ก้นแม่น้ำหรือที่มีอยู่ระเกะระกะตามป่าเขา ในนิทานก่อนนอน และต่อมามันได้กลายเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับบุคคล ตั้งแต่นักขุดแร่มือสมัครเล่น ผู้ประกอบการ จนถึงชนชั้นปกครอง
และเมื่อมันมีความหมายอย่างนั้นแล้ว ทำให้โศกนาฏกรรมแห่งการช่วงชิงได้มาครอบครองก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสงครามการช่วงชิงทองคำหรือสินแร่อื่นๆ ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในโลกนี้ ที่หลายชีวิตก็ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับมัน
บางทีนิทานเรื่องพ่อค้าจีนเจอหยกในกะฉิ่นอาจตั้งชื่อใหม่ได้ทำนองว่า หยกทมิฬ! เพราะหลังจากเขาเจอหยกก็มีคนตายกว่า 6 พันคนและต่อมาอีก
และมันยังเป็นก้อนหินที่มีส่วนทำให้กองกำลังทหารองค์กรเพื่ออิสรภาพกะฉิ่น กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น (KIO/KIA) สู้รบกับรัฐบาลพม่าด้วย