00.00 น. เมื่อเช้าวันปีใหม่มาถึงบาร์แห่งนี้จะไม่มีอยู่อีกต่อไป
คืนส่งท้ายปีกับความบังเอิญในบาร์เล็กๆ ไม่มีชื่อแห่งหนึ่ง ความตั้งใจที่จะออกไปพูดคุยกับผู้คนที่ยังต้องทำงานรับศักราชใหม่นำพาเรามาพบกับบาร์เล็กๆ กลางถนนลอยเคราะห์ในเมืองเชียงใหม่ สีสันจากแสงไฟและความคึกคักของสาวบาร์หลายคนที่ออกมายืนเรียกแขกบนถนนโลกีย์เงียบเหงา เชิญชวนให้เราต้องหยุดรถและเดินเข้าไปสัมผัสกับรอยยิ้มกร้านโลกของพวกเธอ
เน-จากเด็ก ป.ตรี สู่กะหรี่ข้างทาง
“สัมภาษณ์หนูคืนนี้เลย คืนพรุ่งนี้มาไม่เจอกันแล้วนะ ไม่มีวันหลังแล้วเหลือวันนี้วันเดียว”
เสียงรบเร้าจาก เน (นามสมมุติที่เราตั้งให้เธอในข้อเขียนชิ้นนี้ เพราะวันหนึ่งเมื่อเธอไม่อยากให้ใครรับรู้ตัวตนในช่วงเวลาแห่งการทำอาชีพนี้ เธอจะได้ไม่ได้ต้องมานั่งตามลบเศษซากความทรงจำจากบทสัมภาษณ์นี้ที่จะยังคงแขวนค้างในอากาศออนไลน์) แม้เนจะเต็มใจยอมรับการเป็นคนทำงานกลางคืน แต่สัมมาอาชีวะของเธอก็ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยให้คุณค่า และเธอก็ไม่อาจเชิดหน้าบอกใครต่อใครได้ถึงแหล่งที่มาของรายได้เดือนละ 40,000 – 50,000 บาทได้อย่างเป็นที่ยอมรับในคุณค่าแห่งตน
การรบเร้าของเนทำให้เรารู้ว่าความสนุกสุดเหวี่ยงภายในร้านวันนี้นอกจากจะเป็นงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าที่ทุลักทุเลแล้ว ยังเป็นการบอกลาครั้งสุดท้ายให้กับบาร์แห่งนี้ที่ไม่อาจไปต่อได้ หลัง COVID-19 หอบเอาลูกค้าต่างชาติหายไปหมด จนสาวบาร์ที่ทำงานไม่เหลือรายได้ และเจ้าของร้านก็จ่ายค่าเช่าเดือนละหลายหมื่นบาทไม่ไหว
แก้วเหล้าสีฟ้า สีน้ำตาล ถูกส่งมาให้เราอย่างคนมีชั้นเชิงในการดึงดูดลูกค้า เราซื้อดริงค์เนไป 1 แก้ว เพื่อแลกกับเวลาที่จะนั่งคุยกัน แต่สาวบาร์ช่างพูดคนนี้กลับเลี้ยงเหล้าคนแปลกหน้าอย่างเราถึง 3 แก้ว เธอชงเหล้าเก่งไม่ปล่อยให้แก้วหายไปขาดมือของเราตลอดการสนทนา ในคืนสุดท้ายของปีและของบาร์แห่งนี้เงินค่าเหล้าค่าดริงค์ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญไปกว่าการได้ออกมาทิ้งทวนกับเพื่อนร่วมงานก่อนที่จะต้องแยกย้ายกันไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทาง
เน เป็นวัยรุ่นอายุ 25 ปี ก้าวเข้าสู่อาชีพเด็กนั่งดริงค์เมื่อ 2-3 ปีก่อน ขณะที่เรียนอยู่ปี 3 ในมหาวิทยาลัยชื่อไม่ดังแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ จากที่คิดว่าจะทำงานนี้เพียงหารายได้เสริมระหว่างเรียน แต่ใครที่เรียนจบในช่วง COVID-19 ก็น่าจะรู้ดีว่าการหางานทำในช่วงนี้ต้องฝ่าฟันมากแค่ไหน เนเอาใบปริญญาที่ได้มาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว (2563) ไปสมัครงานอย่างน้อย 5 ที่ แต่ไม่มีบริษัทไหนรับเธอเข้าทำงาน แม้แต่เรียกสัมภาษณ์ก็ไม่มี
“จบปริญญาตรีนะ แต่ไม่มีที่ไหนรับ เขาเอาคนออกหมด ยิ่งเป็นกะเทยยิ่งหางานยาก ถ้าไม่ได้จบมอดังหรือได้เกียรตินิยม”
เพศสภาพและสถานศึกษาถูกนำมาเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสาเหตุที่ต้องมาทำงานในบาร์ เนย้ำอยู่ตลอดว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำงานนี้เธอเคยพยายามหางานพาร์ทไทม์อย่างอื่นตามร้านฟาสต์ฟู้ดแล้ว แต่ไม่มีที่ไหนรับเธอ กรอกใบสมัครทิ้งไว้เป็นเดือน แต่ก็ไร้การตอบกลับ หลังเรียนจบปริญญา สถานการณ์ก็ไม่ต่างกัน บริษัทที่เนไปสมัครได้แต่บอกให้เธอกรอกใบสมัครทิ้งไว้ ทั้งบริษัทขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือขายไม้ เธอไปมาหมดแล้ว
“ยิ่งเป็นเพศที่สาม มันเป็นตัวเลือกสุดท้าย เราเป็นอย่างนี้ เราลองมาทำงานอย่างนี้ดูดีกว่า เขารับเรา ก็เลยทำมาถึงทุกวันนี้”
การมีคนไม่รังเกียจในตัวตนและงานของเธอก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สาวบาร์อย่างเนต้องการจากสังคม
“เจ้าของร้านเขาเป็นคนญี่ปุ่น แล้วเขามาเที่ยวเมืองไทยบ่อย แล้วเขาชอบดูคาบาเรต์ เขาเลยอยากมาเปิดตรงนี้ เขาไม่ได้รังเกียจพวกเรา เพื่อนบางคนที่รู้ว่าหนูทำงานแบบนี้ เขาก็ไม่ได้รังเกียจหนูนะ ตอนหนูเรียนไม่มีใครนั่งดริงค์เลย มีแต่หนู”
O.K. นะคะ นะคะ
เจอกันสักแป๊บนึง
โอ๊ยคิดถึงจังเลยไม่เจอกันมาตั้งนาน
O.K. นะคะ นะคะ…
เสียงเพลงในร้านดังแข่งกับเสียงพูดคุยของเรา การเป็นสาวสองที่ทำงานในบาร์กะเทยไม่ใช่เรื่องที่ O.K. นัก ทุกคนในบาร์แห่งนี้ไม่มีเงินเดือน เงินที่พวกเธอได้เป็นส่วนแบ่งจากค่าดริงค์ที่ทางร้านให้ และค่าเสียเวลาเมื่อพวกเธอออกไปข้างนอกกับแขกตามวิถีชีวิตคนทำงานกลางคืน
มันเป็นงานที่ใช้ร่างกายและวิญญาณเป็นต้นทุน
การขายความสวยงามของร่างกายมีต้นทุนที่ต้องจ่าย เพื่อให้แขกสนใจ แม้รายได้ต่อเดือนที่ได้รับดูเหมือนจะมากกว่าการทำงานประจำ แต่เนต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ครีมบำรุง ที่ต้องจ่ายทุกเดือน (นั่งอยู่ในบาร์ไม่ถึง 2 ชั่วโมง เธอเปลี่ยนเสื้อผ้าไปแล้ว 2 ชุด) รวมทั้งเงินก้อนที่ต้องเก็บไว้ทำหน้าอกอีก ยิ่งเธอมีรูปร่างที่น่าสนใจมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงจำนวนดริงค์และแขกที่จะตามมา เนลงทุนกับหน้าอกไปครึ่งแสน ซึ่งเป็นเงินไม่น้อย เมื่อชัดเจนว่ารอยยิ้ม มิตรภาพ และเรือนร่างเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่มีไว้ขาย ดังนั้น หลังเลิกงานออกจากบาร์ไปเธอจึงไม่หยิบยื่นมันให้ใครง่ายๆ ถ้าไม่ได้เงิน
“ที่หนูมาทำงาน เพราะหนูอยากได้เงิน หลังออกจากบาร์นี้ไปหนูก็ไม่สนแล้ว หนูไม่ได้เงิน ผู้ชายใครทักมาหนูก็ไม่สน หนูไม่ได้เงิน หนูทำนมมาตั้งเท่าไหร่ พ่อแม่หนูเลี้ยงหนูมาเท่าไหร่ จะให้ผู้ชายมานัดยิ้มฟรีเหรอ”
ด้วยความที่ “คนไทยไม่มาอะไรแบบนี้” หลัง COVID-19 รายได้ของเนลดลงจนเธอไม่สามารถเช่าห้องพักในเมืองได้ ต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัวนอกตัวเมือง ก่อนหน้าที่ยังมีลูกค้าต่างชาติและงานบาร์ทำเงินได้อยู่ เนคิดว่าเธอเองจะทำงานนี้จนกว่า “เราจะไม่สด ร่างกายเราจะขายไม่ได้ แล้วเอาวุฒิที่เราเรียนจบไปหาสมัครงานอย่างอื่น ถ้าตอนนั้นไม่มีใครรับ เราจะเอาเงินทุนตอนที่เราเก็บไว้ตอนยังหนุ่มยังสาว ไปทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ” แต่พิษ COVID-19 ทำให้ความฝันที่เธอวางแผนไว้เป็นเรื่องยาก ขนาดบาร์ยังอยู่ไม่ได้ และใบปริญญาตรีไม่ได้ช่วยอะไรในชีวิตเธอตลอด 6 เดือนที่จบมา เนได้แต่ยิ้มๆ และบอกเราว่า
“ปีหน้าจะเปลี่ยนอิริยาบถไปเป็นกะหรี่ข้างทางแล้ว บาร์อื่นก็เงียบเหมือนกันหมด”
เสียงระฆังกลางบาร์ดังขึ้นพอดี หลังจบบทสนทนาที่ปล่อยหมดเปลือกของเน สาวบาร์ทุกคนหัวเราะกรี๊ดกร๊าดทันทีที่มีคนใจป้ำสั่นระฆังแจกดื่มให้คนทั้งบาร์
โส-ถ้าการเมืองดีโสเภณีก็ไม่อดตาย
“คนพวกนั้นนอนตายยังได้เงิน เราออกมาทำงานทุกวันไม่ได้เงิน”
ถ้อยคำเผ็ดร้อนชนิดพริก 100 เม็ดของ โส เมื่อพูดถึงคนใหญ่คนโตในรัฐบาลชุดนี้ การกินอยู่ลำบาก ใช้ชีวิตลำบาก และอีกหลายสิ่งที่ย่ำแย่หลุดออกมาจากปากของโส สาวบาร์วัย 41 ปี เธอเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือคนหนึ่ง ท่าทีที่สุขุมเมื่อนั่งอยู่ต่อหน้าคู่สนทนาที่ขอฟังเรื่องราวในชีวิต ผิดกับเวลาที่ยืนเรียกแขกอยู่หน้าร้านซึ่งต้องใส่จริตมารยาเข้าไปในคำพูดและกิริยา
บนถนนลอยเคราะห์ที่ใครหลายคนเอาเรื่องไม่ดีในชีวิตมาทิ้งไว้ ผู้คนเข้าออกถวายสังฆทานแก้เคล็ดที่วัดลอยเคราะห์กันไม่ขาดสาย แต่สาวบาร์บนถนนเส้นนี้มาทำงานถวายตัวเพื่อเลี้ยงปากท้องกันอยู่ทุกวัน โสเป็นคนหนึ่งที่สู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กตามวิถีของคนที่เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินทองมากมาย หลังจบ ม.6 เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นสาวโรงงานอยู่นานกว่า 15 ปี เข้าออกโรงงานเครื่องสำอาง ยา และอะไหล่รถยนต์ ก่อนที่จะมาจบลงที่บาร์เล็กๆ ไม่ไกลจากวัดลอยเคราะห์แห่งนี้ หลังอายุเลยวัยเข้าโรงงานได้แล้ว
“งานโรงงานมีขีดจำกัดเรื่องอายุ ถ้าคุณทำงานตั้งแต่อายุ 18-50 ปี คุณทำได้ แต่ถ้าคุณออกจากงานในช่วงอายุที่เลย 35 ปีไป คุณจะกลับเข้ามาทำงานอีกไม่ได้แล้ว เขาไม่รับแล้ว”
ตัวเธอเองก็ดูจะเข้าใจความจำเป็นของนายจ้างที่อยากได้คนอายุน้อยร่างกายพร้อมทำงาน ไม่ใช่คนอายุวัยเสี่ยงต่อโรคภัย โสจึงยกให้งานบาร์เป็นตัวเลือกที่เหลือของชีวิตเธอ
“เรามาทำงานแบบนี้มันเป็นทางเลือก เป็นอิสระของพี่ พี่ไม่เคยทำงานบาร์มาก่อน ทำแต่โรงงานมาตลอด…เราเองก็ไม่ได้อยากมาทำงานอย่างนี้ไปตลอดชีวิต แต่ถ้าตรงนี้เป็นทางเลือกที่ดี เราก็ยอม”
อยากเป็นแค่เนี้ยะเป็นแค่บอดี้การ์ด
เหนื่อยเท่าไรยังทนได้
ทุ่มเทอย่างเงี้ยะ
เธอก็คงเห็นใจอาจรักเราสักวัน
น้ำใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในบาร์กะเทยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงโสไว้กับงานที่ไม่มีเงินเดือนและสวัสดิการนี้ เวลาเจ็บป่วยเธอก็ไปหาหมอเอง หรือ “บางทีก็กะเทยช่วยกัน” และเวลามีเรื่องมีราวอะไรพวกเธอก็ช่วยกันเอง ไม่มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไหนมาเป็นบอดี้การ์ดให้สาวบาร์อย่างพวกเธอ มีแต่ตำรวจมา “ขอความร่วมมือ” เป็นแบงก์ในกระเป๋าจากกะเทย
“ในเชียงใหม่ตำรวจยังมองว่ากะเทยเป็นคนไม่ดีอยู่ พอเห็นกะเทยทำงานหรือเราเลิกงานแล้วยืนข้างทางเขาก็จะมาจับเรา รอบละ 200 บางทีทำงานอยู่ในบาร์ตำรวจยังขี่รถมาขอความร่วมมือหน่อย
“แต่พอเรามีปัญหาไม่ช่วยเรา ตู้ emergency ข้างหน้าเนี่ย กดเรียกไม่ได้ กดเล่นทุกวัน ไม่มีหมามาสักตัว เสียงบประมาณสร้างเสา สร้างตู้ ติดตั้งไปเท่าไหร่
“โจรขโมยทุกวันนี้ยังเหี้ยกว่ากะหรี่ที่ทำงานบาร์ด้วยซ้ำ อยากให้ตำรวจไปพยายามจับโจรขโมย จับพวกคอร์รัปชันมากกว่ามาไล่จับกะเทยที่ยืนเตร่ๆ อยู่ข้างทาง”
หลังบาร์นี้ปิดลงโสก็ไม่มีทางออกให้ชีวิตพอๆ กับเน อายุที่ไม่น้อยของเธออาจเป็นอุปสรรคในการหางานมากกว่าคนสาวอย่างเนด้วยซ้ำ “พี่อาจจะไปทำงานบาร์อื่น ถ้าไม่มีลูกค้าก็มาหาตามถนน เพราะค่าใช้จ่ายเรามีทุกวันทุกเดือน ค่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ พ่อแม่เรา ค่ากินอยู่เรา”
โสรับรู้ถึงความยากในการหาเงินมาตั้งแต่ก่อนหน้า COVID-19 แล้ว จำนวนดริงค์เธอค่อยๆ ลดลงหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะพยายามแต่งตัวออกมาทำงานทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคืนที่จะมีรายได้กลับไป
“พอมี COVID-19 และมีรัฐบาลชุดนี้นะ เหี้ย เหี้ย เหี้ย เหี้ยลงอย่างเดียว ถ้าเป็นทหารก็ไปรบ อย่ามาบริหาร คนในรัฐบาลแต่ละคนรับเงินเดือนไม่รู้กี่ทาง แต่พวกเราทางไหนที่เป็นรายรับ ไม่มี อย่าไปโทษ COVID-19 เลย โทษคนพวกนี้เนี่ย”