1 สิงหาคมที่ผ่านมาคือวันที่แมคโดนัลด์ มาเลเซีย ประกาศแคมเปญ ‘Say No to Straws’ ซึ่งก่อนจะเริ่มการหยุดใช้หลอดพลาสติกอย่างเป็นทางการ แมคโดนัลด์บางสาขาในบังซาและปีนังได้ขึ้นป้ายบอกลูกค้าล่วงหน้าแล้วว่า จะหยุดบริการหลอดพลาสติก นอกจากจะมีการร้องขอเป็นพิเศษเท่านั้น ตามนโยบายการลด/เลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งของรัฐบาล
“ปี 2017 มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกพลาสติกอันดับ 4 ของอาเซียน และอยู่ในลำดับที่ 25 ในผู้ส่งออกพลาสติกทั่วโลก”
คือส่วนหนึ่งแผนงานที่ โย บี หยิน (Yeo Bee Yin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Ministry of Energy, Science, Technology, Environment and Climate Change: MESTECC) ประกาศเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
หนึ่งวันในมาเลเซีย หลอดพลาสติก 31 ล้านอันถูกทิ้งเป็นขยะ ทำให้รัฐบาลมีแผนจะยกเลิกการใช้หลอดและถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2030 โดยโรดแมปนี้เริ่มต้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
“ทางกระทรวงไม่ได้ต้องการจะทำลายอุตสาหกรรมพลาสติก แต่กำลังบอกพวกเขาให้เตรียมตัวผลิตสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
แม้ว่าหลอดพลาสติกจะเป็นส่วนเล็กๆ ของขยะพลาสติกบนโลก แต่หลอดเพียงหนึ่งหลอดก็ใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 200 ปี ทำให้มาเลเซียเริ่มลดปริมาณขยะพลาสติกด้วยการหาวัสดุทดแทนบรรจุภัณฑ์พอลิสไทรีน (polystyrene) แบบใช้แล้วทิ้ง (expanded polystyrene: EPS) และถุงพลาสติกที่ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้
ต้นปี 2019 คือวันเริ่มต้นที่รัฐบาลประกาศแบนหลอดพลาสติกทั่วกัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และลาบวน ก่อนจะค่อยๆ บังคับใช้ทั่วประเทศ หลังจากนั้นถ้าตรวจพบว่าร้านค้าหรือภัตตาคารใดใช้หลอดพลาสติก ก็อาจโดนยึดใบอนุญาต
นอกจากหลอดพลาสติก ถุงพลาสติกก็เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทางมาเลเซียพยายามควบคุมการใช้งาน ภายในปี 2030 ถุงพลาสติกจะไม่ใช่ของฟรี เพราะทางการมาเลเซียจะออกกฎให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าถุงพลาสติก
“โรดแมปนี้จะรวมถึงนโยบายเก็บค่าถุงพลาสติกในร้านค้าหรือสถานที่ที่ไปจับจ่ายสินค้า” รัฐมนตรีโย บี หยิน กล่าว
ปี 2009 แคมเปญ ‘Say No to Plastic Bags’ เริ่มขึ้นที่ปีนัง เมื่อรัฐบาลออกมาตรการให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงิน 20 เซ็น หรือราว 1.50 บาท เป็นค่าถุงพลาสติก
สมาคมผู้บริโภคมุสลิมมาเลเซีย (Malaysian Muslim Consumers Association: PPIM) สนับสนุนการแบนหลอดดูดพลาสติก
ดาตุก นัดซิม โจฮัน (Datuk Nadzim Johan) แกนนำนักกิจกรรมสมาคมผู้บริโภคมุสลิมมาเลเซีย (Malaysian Muslim Consumers Association: PPIM) บอกว่าความพยายามของรัฐบาลคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและการให้ความรู้กับสังคม
“น่าชื่นชมรัฐบาลสำหรับความพยายามของเขา และเราเรียกร้องให้ทุกคนสนับสนุนโครงการของพวกเขา”
เช่นเดียวกับ โมฮัด ยูซอฟ อับดุล ราห์มาน (Mohd Yusof Abdul Rahman) รองประธานสหพันธ์ผู้บริโภค (Federation of Malaysian Consumers Associations: FOMCA) ที่กล่าวสนับสนุนวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ
“ผู้บริโภคน่าจะตระหนักเรื่องนี้กันมากขึ้น ถ้ามีการบวกราคาหลอดเข้าไปด้วย”
นอกจากนี้ อับดุล ราห์มาน ยังบอกว่า ในมาเลเซีย วัสดุทางเลือกนั้นยังหาซื้อได้ยากและราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลอดพลาสติก “ควรจะมีวัสดุที่ย่อยสลายได้อย่างหลอดที่ทำจากไม้ไผ่ กระดาษ วางขายในท้องตลาดในราคาที่ถูก เพื่อกระตุ้นการใช้งานมากขึ้น”