เหยื่อ ‘นิติสงคราม’ การกดปราบของอำนาจรัฐในสมรภูมิการเมืองไทย

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นกันเป็นวงกว้าง เนื่องจาก กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเพียง 1 วัน 

กรณีดังกล่าวทำให้คำว่า ‘นิติสงคราม’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง อาทิ การวิพากษ์ของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ว่ารัฐกำลังนำหนังม้วนเก่ามาฉายซ้ำ ซึ่งฉายซ้ำการกระทำนิติสงครามลักษณะนี้มาเกือบ 20 ปี หรือในกรณีแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล ก็กล่าวถึงการกระทำนิติสงครามเช่นเดียวกัน

‘นิติสงคราม’ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘lawfare’ ผันมาจากคำว่า ‘warfare’ ที่แปลว่าการสงคราม ดังนั้นนิยามของคำว่านิติสงคราม จึงหมายถึงกลวิธีในการกดปราบการต่อต้านของศัตรูโดยไม่ต้องใช้อาวุธสงคราม แต่ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือแทน 

วันนี้จึงอยากชวนย้อนดูกรณีนักการเมืองที่ถูกกระทำโดยนิติสงคราม ถูกเล่นงานให้พ้นจากตำแหน่งด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

1. สมัคร สุนทรเวช

  • กรณี: ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไปดำเนินรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’
  • ปี: 2551
  • ผู้ร้อง: นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว. และคณะ รวม 29 คน
  • ผลวินิจฉัย: ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี

2. สมชาย วงศ์สวัสดิ์

  • กรณี: อัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน
  • ปี: 2551
  • ผู้ร้อง: คณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • ผลวินิจฉัย: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค รวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเวลา 5 ปี

3. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

  • กรณีที่ 1: ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ 
  • กรณีที่ 2: ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ปี: 2557
  • ผู้ร้องกรณีที่ 1: ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • ผู้ร้องกรณีที่ 2: นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. และคณะ รวม 28 คน
  • ผลวินิจฉัย: ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้ตำแหน่งนายกฯ เข้าไปแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น มีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

4. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

  • กรณีที่ 1: ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรือกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
  • กรณีที่ 2: ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
  • ปี: 2562
  • ผู้ร้องกรณีที่ 1: นายศรีสุวรรณ จรรยา
  • ผู้ร้องกรณีที่ 2: คณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • ผลวินิจฉัย: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสภาพ ส.ส. จากการถือหุ้นสื่อบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่ง ‘ไม่ฟ้อง’นายธนาธร และมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่สำหรับคำร้องกรณีที่ 2 เป็นเหตุให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกรรมการบริหารพรรค ถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี

5. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

  • กรณีที่ 1: ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ 
  • กรณีที่ 2: ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล หาเสียงด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
  • ปี: 2566
  • ผู้ร้องกรณีที่ 1: นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
  • ผู้ร้องกรณีที่ 2: นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (อดีตทนายความของอดีตพุทธอิสระ)
  • ผลวินิจฉัย: (ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ‘รับคำร้องทางธุรการ’ ทั้งสองกรณี)
ที่มา:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า