หากคุณเคยซื้อสินค้าใหม่มาแล้วมีปัญหา ถ้าเป็นสินค้าในราคาหลักพันหลักหมื่น อาจมีแรงจูงใจในการขอเปลี่ยนสินค้าน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นรถยนต์ หรือของใหญ่ๆ ที่สนนราคาอยู่ในหลักแสนหรือร่วมๆ ล้านบาท คุณคงไม่อยู่เฉยแน่ๆ
Lemon Law คือคำเรียกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ซื้อสินค้ามือหนึ่งแล้วพบความชำรุดหรือบกพร่องในการใช้งาน เนื่องจาก Lemon เป็นแสลงหมายถึง ของเสีย หรือของที่ไม่ดี (ปูพื้น Lemon Law ที่นี่)
ขณะนี้ แม้ในเมืองไทยยังไม่มี Lemon Law อย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มมีการศึกษาและผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในงานเสวนา ‘Lemon Law ใครได้ใครเสีย? กรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง’ ในงานประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557 ประเด็น Lemon Law ถือเป็น 1 ใน 8 ประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยตรง
+ กฎหมายไทยมีปัญหา
เชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง ‘ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค’ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ด้าน หนึ่ง คือ ด้านเนื้อหากฎหมาย ที่ยังมีข้อบกพร่อง และ สอง ความสัมพันธ์ด้านรูปแบบในการระงับข้อพิพาท ซึ่งเชิดวุฒิมองว่า หากไม่ได้รับการดำเนินการที่สะดวกรวดเร็ว สิทธิที่ผู้บริโภคมีก็ถือว่าเปล่าประโยชน์
ในด้านกฎหมาย เชิดวุฒิเปรียบเทียบข้อกฎหมาย Lemon Law จาก 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และเยอรมนี
กรอบการพิจารณา แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ความรับผิดเวลาบกพร่องทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับการคุ้มครองในบริบทของกฎหมายเฉพาะ
ภาพรวมในเมืองไทย เชิดวุฒิให้ข้อมูลว่า เรามีกฎหมาย 3 มาตราที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Lemon Law นั่นคือ มาตรา 472-474 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นและเยอรมนี แต่ปัญหาที่พบคือ การบัญญัติกฎหมายที่กินความกว้างมาก นอกจากนั้น ในระบบกฎหมายไทยยังไม่ระบุเรื่องการซ่อมแซม เยียวยา หรือเปลี่ยนสินค้าให้กับผู้บริโภคแต่อย่างใด
ที่สำคัญ ยังมีการระบุข้อยกเว้นความรับผิด อาทิ ในมาตรา 473 (1) หากรู้ว่าสินค้าเสียหายแล้วยังรับมอบมา แบบนี้กฎหมายถือว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ทั้งยังผลักภาระให้ผู้ซื้อเป็นฝ่ายตรวจสอบสินค้าเอง ซึ่งไม่น่าจะยุติธรรมกับผู้บริโภคด้วยประการทั้งปวง
มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
มาตรา 473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด
มาตรา 474 ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง
สำหรับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 แม้จะมีบัญญัติในกรณีที่ผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีเมื่อพบสินค้าชำรุดบกพร่องไว้ในมาตรา 41 แต่ก็มีขั้นตอนที่สร้างความลำบากให้ผู้บริโภค เพราะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีเอง และเป็นสิทธิ์ของศาลในการพิจารณาตัดสิน นอกจากนั้น เชิดวุฒิยังให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีการนิยามว่าอะไรคือ ‘ของชำรุดบกพร่อง’ นับเป็นการบัญญัติกฎหมายแบบกล้าๆ กลัวๆ ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เดือดร้อนไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม
ฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ของประเทศไทยคือ เรายังระบุเรื่องนี้ไม่ชัดเจน และไม่ปรากฏการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง
มาตรา 41 ในคดีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า หากศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้านั้นและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ หรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้บริโภคที่ใช้สินค้านั้น ให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะของสินค้าที่อาจเปลี่ยนทดแทนกันได้ พฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนความสุจริตของผู้บริโภคประกอบด้วย และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าหรือได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้านั้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริโภคชดใช้ค่าใช้ทรัพย์หรือค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร
การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ถูกฟ้องมิใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้านั้น ให้ศาลมีคำสั่งเรียกผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าดังกล่าวเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและมีอำนาจพิพากษาให้บุคคลดังกล่าวร่วมรับผิดในหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย
+ Lemon Law ในเยอรมนีและสิงคโปร์
ในเยอรมนี เคยบังคับใช้กฎหมาย 3 มาตรา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ต่างจากไทย แต่หลังจากปี 2002 เยอรมนีเริ่มตื่นตัวเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค มีการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะได้รับอิทธิพลจากสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมถึงกรณีที่พบสินค้าเสียหาย เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคในสหภาพยุโรป เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
รายละเอียดของกฎหมายที่สำคัญ อาทิ มีการสร้างนิยาม ‘ชำรุดบกพร่อง’ การกำหนดเหตุที่จะยกเว้นไม่เยียวยาผู้บริโภคลดลง เพิ่มเติมการชดเชยด้วยการลดราคาตามสภาพ และเพิ่มเติมบทสันนิษฐานว่าด้วยความชำรุดบกพร่อง ซึ่งให้น้ำหนักกับผู้บริโภค หรือให้คิดไว้ก่อนเลยว่า สินค้านั้นๆ เสียหายมาตั้งแต่ต้น และผลักภาระความรับผิดชอบไปให้ผู้ขาย
ในเยอรมนี หากผู้ประกอบการผลิตโฆษณาให้ข้อมูลว่า รถของบริษัทตน กินน้ำมัน ‘จิ๊บๆ’ ก็จะถือว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากไม่เป็นไปตามนี้จริง ผู้บริโภคมีสิทธิ์เรียกร้องด้วย Lemon Law ได้ทันที
แม้แต่ร้านเฟอร์นิเจอร์ยอดนิยมอย่าง IKEA หากผู้บริโภคซื้อมาต่อเอง แล้วพบว่าคู่มือเสียหาย หรือเขียนวิธีประกอบไม่ถูกต้อง ผู้บริโภคต่อแล้วไม่ได้สินค้าตามต้องการ ก็เรียกว่า ‘ชำรุดบกพร่อง’ แม้แต่บริษัทเฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เข้ามาติดตั้งแล้วเกิดความเสียหายระหว่างการติดตั้ง แบบนี้ก็ถือว่า ‘ชำรุดบกพร่อง’ เช่นกัน
ขณะที่กฎหมาย Lemon Law ของสิงคโปร์ มาช้ากว่าเยอรมนี 10 ปี ในปี 2012 ทางการสิงคโปร์แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการค้าที่เป็นธรรม (ระบบกฎหมายสิงคโปร์ ถอดแบบมาจากอังกฤษ ที่อิง common law-ให้น้ำหนักในการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่มีมาก่อน) แต่กลับนำข้อบังคับต่างๆ ของเยอรมนีมาปรับใช้ (เยอรมนีใช้ระบบประมวลกฎหมาย หรือ civil law-ไม่จำเป็นต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนหน้า)
สิงคโปร์เพิ่มเติมบทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง และกำหนดไว้ว่าภายใน 6 เดือน หากพบว่าสินค้ามีปัญหา หรือเกิดความชำรุดบกพร่องขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ว่าอาจเสียหายมาแล้วตั้งแต่ต้น
สำหรับการเยียวยาผู้บริโภค เยอรมนีให้สิทธิ์ผู้บริโภคเลือกได้ว่าจะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้า ขณะที่ในสิงคโปร์ จะกำหนดไว้ว่าให้ส่งซ่อมก่อน ยังไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าได้ทันที
+ รถคันนี้สีมะนาว
ขึ้นชื่อว่าสินค้าใหม่ สินค้ามือหนึ่ง ผู้บริโภคส่วนใหญ่คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดปัญหาตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้งาน แต่หลังจากนี้ไปอาจต้องลองคิดใหม่ เพราะสินค้าต่างๆ แม้จะเป็นของที่ส่งตรงมาจากโรงงาน ก็อาจจะมีปัญหาหรือความผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยที่ผู้ประกอบการก็ไม่ตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของแบรนด์กำลังสั่นคลอน
สุทธาพร มฤคพิทักษ์ ที่ปรึกษาอิสระด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 1 ใน 12 เจ้าของ Chevrolet รุ่น Cruze รถยนต์ใหม่ป้ายแดง ที่ประสบปัญหาดังกล่าว กรณีคล้ายกันในสหรัฐ บริษัท GM ได้เรียกคืนรถยนต์รุ่นนี้ 172,000 คันด้วยปัญหาเรื่องเพลารถ
หลังจากร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการทดสอบเบื้องต้น พบอาการบกพร่องตามที่ได้ร้องกับทาง สคบ. จริง มีเพียงคันเดียวที่ถูกรับซื้อคืน อีก 3 คันที่มีอาการค่อนข้างมาก ก็มีการนัดเจรจาและยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่ม ขณะที่เจ้าของรถอีก 7 คัน ขอยุติกระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อยื่นฟ้องคดีในชั้นศาล ซึ่งต้องรอความคืบหน้าต่อไป
ในกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นกับสินค้ามือหนึ่ง สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้เกิดความชำรุดจากการใช้งานตามปกติ
สารีให้ข้อมูลว่า ในอินโดนีเซีย มีการเรียกคืนสินค้าตั้งแต่ หม้อหุงข้าว ไดร์เป่าผม ไปจนถึงเครื่องปิ้งขนมปัง เพียงแค่ไม่มีฉลากระบุภาษาสำหรับผู้บริโภคในประเทศ พร้อมย้ำว่าในการคืนสินค้า ต้องทำให้ผู้บริโภครับรู้รับทราบเป็นการทั่วไป และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจแบบ 2 ทางให้ได้ นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญที่ต้องเรียกคืนสินค้า คือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินค้านั้นๆ
นอกจากการเยียวยาที่เหมาะสม ในฝั่งของผู้ผลิตอาจต้องเริ่มต้นทำให้การร้องเรียนและการสื่อสาร 2 ทางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นเรื่องง่ายขึ้น
ปัญหาส่วนหนึ่งที่ สิรินนา เพชรรัตน์ อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไปประจำภาคใต้ประสบพบเจออยู่เป็นประจำคือ สินค้าที่ชำรุดมักจะมีราคาไม่สูงมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่มีราคาในหลักพันถึงหมื่นบาท แต่เมื่อมีปัญหา ก็ต้องเสียค่าเดินทางไปยังตัวจังหวัดที่มีศูนย์บริการหลัก นอกจากนั้น เมื่อส่งซ่อม ก็จะเกิดปัญหาไม่มีเครื่องสำรอง และหากกลับมารับเครื่องไปแล้วเกิดเสียอีก ก็อาจจะไม่คุ้มที่จะต้องเทียวไปเทียวมากับปัญหาเหล่านี้
อีกส่วนที่เป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภคคือ ไม่ทราบช่องทางในการร้องเรียน หลายรายก็เข้าไม่ถึงช่องทางดังกล่าว
ฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการส่วนคดีสำนักกฎหมายและคดี จาก สคบ. ยอมรับว่า ปัจจุบัน หากผู้บริโภคเจอปัญหาสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เนื่องจากในเมืองไทย ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองในกรณีนี้โดยตรง
ในส่วนความรับผิดชอบของตนที่รับเฉพาะคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาล แม้จะเป็นการนัดเจรจาไกล่เกลี่ย ก็ไม่ใช่จะปิดเคสได้ภายในนัดเดียว นอกจากนี้ ฐิตินันท์ยังเห็นว่า อัตราค่าปรับที่กำหนดไว้อยู่ในข่ายต้องปรับปรุง เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายยอมเสียค่าปรับ แต่ได้โอกาสโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำรายได้ให้กับบริษัทในระดับที่เทียบกันไม่ได้
เชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ มองว่าทางแก้ในเรื่องค่าปรับ แทนที่จะกำหนดเป็นตัวเงิน อาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลกำไรสุทธิของบริษัท ขณะที่วัตถุประสงค์ของการไกล่เกลี่ย ก็เป็นไปเพื่อระงับข้อพิพาท ให้คู่กรณีมาตกลงกันด้วยความยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ก็อาจถูกใช้เพื่อการต่อรองหรือประวิงเวลาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในเยอรมนีและสิงคโปร์ เมื่อมีการบังคับใช้ Lemon Law ไปแล้ว ต้องถือว่าผู้ประกอบการปรับตัวและหาช่องว่างให้กับธุรกิจได้เร็วมาก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังหากเกิดกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง รวมทั้งในการบัญญัติเรื่องการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้บริโภคด้วยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง