เรื่อง: เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
ภาพ: นอนนาวานร
มาตรา 189 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับใหม่’[1] ที่ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับเก่า’[2] ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น บัญญัติไว้ว่า “บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมืองและการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามมาตรา 32 การฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทําเหมือง การวางหลักประกัน และการจัดทําประกันภัยตามมาตรา 68 (8) และ (9) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในการออกประทานบัตร”
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ มี ‘หลักเกณฑ์’ อะไรบ้างที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ให้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาสที่ออกตามความกฎหมายแร่ฉบับเก่า[3] ต้องปฎิบัติตาม?
ประเด็นที่ 1
มาตรา 16 วรรคสอง ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้ต้องมีฐานข้อมูล 5 ด้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามมาตรา 12 (1) ดังนี้
- พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองของประเทศ
- การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่
- การประเมินสถานการณ์และพิจารณาขีดจำกัด
- ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว (จากข้อ (2) และ (3)) เพื่อการทำเหมืองในภาพรวมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
- ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
มาตรา 17 วรรคแรก ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้
- การสำรวจทรัพยากรแร่
- แหล่งแร่สำรอง
- การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่
- พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้
- พื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ (คำที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยวน่าจะมีความหมายตรงกับ ‘เขตสัมปทานแร่’ หรือ Mining zone)
มาตรา 17 วรรคสี่ ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม
มาตรา 19 วรรคแรก ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามมาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่เสียก่อน ดังนี้ “เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่ การอนุญาตให้ทําเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กําหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และในกรณีที่แหล่งแร่ใดมีศักยภาพในการพัฒนา แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ในการทําเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังไม่เหมาะสม ให้สงวนแหล่งแร่นั้นไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยี และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม ในกรณีการทําเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง ในการอนุญาตต้องกําหนดให้มีการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมือง และจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย”
แต่อาจจะมีข้อโต้แย้งตามมาว่า
- อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัทฯ ได้รับอนุญาตเมื่อปี 2558 ก่อนที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ถูกใช้บังคับ จึงถือว่าเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า ซึ่งมาตรา 189 ก็รับรองไว้แล้วว่าบรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่
- ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ดังที่กล่าวถึงนั้นเป็นนิยามความหมายของการบริหารจัดการแร่ที่อยู่ในอีกขั้นตอนหนึ่งที่ยังมาไม่ถึง นั่นคือ ขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ซึ่งต้องทำหลังจากการสำรวจแร่โปแตชตามอาชญาบัตรพิเศษเสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว เมื่อสำรวจพบว่ามีแร่โปแตชในเชิงพาณิชย์ที่คุ้มค่าน่าลงทุนก็จึงไปขอประทานบัตรเพื่อขอทำเหมืองแร่เป็นขั้นตอนต่อไป
ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดตามข้อโต้แย้งที่ยกมาก็คือ กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดนิยามคำว่า ‘การบริหารจัดการแร่’ ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้ “การบริหารจัดการแร่” หมายความว่า การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การสำรวจแร่ การทำเหมือง การทำเหมืองใต้ดิน การขุดหาแร่รายย่อย การร่อนแร่ การประกอบธุรกิจแร่ การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม รวมทั้งการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเรื่องดังกล่าว นั่นก็แสดงว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ไม่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการแร่เฉพาะในขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อขอทำเหมืองแร่แต่อย่างเดียว แต่กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการบริหารจัดการแร่เพื่อแจกแจงพื้นที่และข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่อีกด้วย
ดังนั้น ตามมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่ และมาตรา 19 วรรคแรกย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแจกแจงว่าพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัทฯ มีพื้นที่และข้อมูลประเภทใดอยู่ในนั้นบ้าง
ด้วยเหตุที่กล่าวมา บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า จึงไม่สามารถถือได้ว่าเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้โดยปริยาย ก็เพราะว่ามาตรา 189 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่บังคับให้บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่เสียก่อน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็คือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคแรกซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรก และมาตรา 17 วรรคสี่ ตามที่กล่าวมานั่นเอง
ประเด็นที่สอง
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร พ.ศ. 2560 หนึ่งในอนุบัญญัติอีกหลายฉบับภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ในข้อ 6 (6) ระบุว่าแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ต้องมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนควบคุมและฟื้นฟูผลกระทบจากการสำรวจด้วย
ประเด็นที่สาม
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดแบบอาชญาบัตร แบบประทานบัตร แบบใบอนุญาต และแบบอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อีกหนึ่งในอนุบัญญัติหลายฉบับภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ระบุไว้ในแบบแร่ 1 (3) ลำดับที่ 4 ข้อ 3 ซึ่งเป็นเงื่อนไขการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษว่า ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษจะสำรวจแร่ในที่ซึ่งมีบุคคลใดมีสิทธิครอบครอง หรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมายมิได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
คำถามร่วมกันสำหรับประเด็นที่สามและสี่ก็คือ อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯ ทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ มีการลงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนควบคุมและฟื้นฟูผลกระทบจากการสำรวจและได้แสดงให้เห็นว่ามีที่ดินที่ซึ่งมีบุคคลมีสิทธิครอบครอง หรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมายอื่นไว้หรือไม่ อย่างไร
เพราะถ้าไม่มีรายละเอียดแสดงไว้ ก็ต้องเอาอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลงดังกล่าวกลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้
ประเด็นที่สี่
จึงไม่แปลกที่ประชาชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสได้รวมตัวกันเพื่อขัดขวางการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชหลุมที่ 4 ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา โดยหยิบยกมาตรา 188 ขึ้นมาเรียกร้องเพราะเห็นว่าบรรดาคําขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่กฎหมายแร่ฉบับเก่ายังมีผลใช้บังคับ แม้ว่าบรรดาคำขอเหล่านั้นถูกอนุโลมให้เป็นคําขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ แต่จะเป็นคำขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ไม่ได้หากไม่พิจารณาดําเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้บังคับ จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประกาศฉบับดังกล่าวโดยเคร่งครัดด้วยการตรวจสอบพื้นที่ที่ยื่นคำขอว่าเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ โดยลงรายละเอียดข้างเคียงให้ครบถ้วน ทั้งแสดงแนวเขตการทับคาบเกี่ยวพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย พื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี และพื้นที่ตามมาตรา 20 แห่งกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย
ถึงแม้ประกาศฉบับดังกล่าวออกมาเพื่อใช้บังคับสำหรับ ‘คำขออาชญาบัตรพิเศษ’ และคำขอประเภทอื่น ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนได้รับ ‘อาชญาบัตรพิเศษ’ หรือใบอนุญาตประเภทอื่น จึงไม่น่าที่จะเอาประกาศฉบับดังกล่าวมาใช้กับกรณีของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทั้ง 12 แปลงของบริษัทฯ ได้ เพราะคนละขั้นตอนกัน แต่เพราะพวกเขาเห็นว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลงของบริษัทฯ กำลังเกิดสภาพติดหล่มตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ จึงควรย้อนกลับไปแก้ไขอาชญาบัตรพิเศษเสมือนว่ายังอยู่ในขั้นตอนของคำขออาชญาบัตรพิเศษ ก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่งถึงสามว่า ถึงแม้ส่วนราชการและบริษัทฯ จะอ้างว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำเหมืองแร่โปแตชทั้ง 12 แปลงของบริษัทฯ ออกก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ และกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็รับรองไว้แล้วว่าให้ถือเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะติดหล่มที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ดังที่กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่งถึงสามว่า มันได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงแบบแก้ปัญหาไม่ตกในเรื่องสำคัญที่ว่าในพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทัั้ง 12 แปลงของบริษัทฯ มีการลงรายละเอียดว่ามีพื้นที่และข้อมูลประเภทใดตาม
- ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่
- ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร พ.ศ. 2560
- ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดแบบอาชญาบัตร แบบประทานบัตร แบบใบอนุญาต และแบบอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือไม่และอย่างไรบ้าง
ถ้าตอบไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัทฯ มีความไม่สมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่
[1] พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
[2] พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
[3] อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 (จะหมดอายุลงในวันที่ 11 มกราคม 2563 โดยอาชญาบัตรพิเศษแต่ละแปลงมีอายุ 5 ปี) ซึ่งออกตามความกฎหมายแร่ฉบับเก่า หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ต่อมากฎหมายแร่ฉบับเก่าถูกยกเลิกจากผลของการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา