จดหมายจาก ‘ม็อบชาวนา’ ถึงรัฐบาล ทวงสัญญาแก้หนี้สิน

วันนี้ (9 มีนาคม 2565) เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นรายชื่อกว่า 23,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินด้วยการโอนหนี้เกษตรกรจากธนาคารของรัฐไปยังกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) หลังก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับปากว่าจะผลักดันเรื่องหนี้สินชาวนาต่อไปยังคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

“รมต.กระทรวงเกษตรฯ นำส่งเรื่องการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรไปถึงรองนายกฯ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 แต่เมื่อ 7 มีนาคม 2565 พวกเราเดินเท้าไปกว่า 5 กิโลเมตร ไปถามว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว เพื่อจะพบคำตอบคือ รองนายกฯ ไปราชการต่างประเทศกลับวันที่ 12 มีนาคม 2565” 

เครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ได้ทำการรวบรวมรายชื่อผ่านแคมเปญ ‘แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ’ ผ่านเว็บไซต์ change.org/FarmerStrike เพื่อส่งเสียงให้คนทั่วไปรับทราบถึงความเดือดร้อนของชาวนา และจับตาการทำงานของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะทำหน้าที่ตามที่สัญญาไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

ทั้งนี้ เครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ได้เขียนจดหมายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 บอกเล่าถึงการเดินทางมาปักหลักชุมนุมกว่า 42 วัน เนื้อความว่า 

“เกือบ 20 ปีที่พวกเราต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาตัวเราเองโดยไม่งอมืองอเท้ารอคอยความเมตตาจากใคร เราสู้ตามสิทธิของเราที่ได้บัญญัติไว้แล้วในกฎหมาย แต่ไม่ได้รับความสนใจหรือได้รับความเอาใจใส่จากรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี สู้ครั้งหนึ่งก็ได้ครั้งหนึ่ง ไม่สู้ก็ไม่ได้ ทั้งที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐต้องทำหน้าที่ แต่รัฐปล่อยให้ชาวนาซึ่งเป็นประชากร 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศที่สร้างโภคทรัพย์ให้ประเทศนี้ต้องตกอยู่ในสภาพนี้ได้อย่างไร ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพง ข้าวโพดถูก อาหารสัตว์แพง อ้อยถูก น้ำตาลแพง ยางพาราถูก ผลิตภัณฑ์ยางพาราแพง ฯลฯ มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร พวกเราไม่เคยรู้อนาคตว่าปีนี้ของที่เราปลูก-เลี้ยงจะมีราคาเท่าใด พวกเราเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่เคยกำหนดราคาผลผลิตของตัวเองได้เลย มันยุติธรรมสมเหตุสมผลแล้วหรือ?

“กว่า 42 วัน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแลเอาใจใส่ กระทั่งมาถามพวกเราว่าปัญหาคืออะไร หรือมาถามว่าจะให้รัฐทำอย่างไร เมื่อเราอยากรู้ว่าฝ่ายราชการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องให้พวกเราที่มีอายุเฉลี่ยกว่า 68 ปี ต้องเดินด้วยเท้ากว่า 5 กิโลเมตร ไปถาม มีเพียงคำตอบว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะเรียบร้อยบ้าง พรุ่งนี้จะเสร็จบ้าง กระทั่งเสร็จแล้วก็ไม่ตอบ ต้องให้พวกเราเดินไปถามเอง มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร

“มติคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เห็นชอบให้โอนหนี้เกษตรกรจากธนาคารของรัฐไปไว้ กฟก. เมื่อ 2 เมษายน 2564 และให้นำเสนอ ครม. ภายใน 60 วัน เรามาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2565 จนถึงขณะนี้เรื่องยังไม่ไปถึงไหน ยังไม่มีการยกร่างมติ ครม. ผู้รับผิดชอบยังไม่รู้เรื่อง เท่ากับว่าร่างมติ ครม. เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อพวกเรามา

“พวกเราต้องจากบ้านมานอนอยู่ริมถนนของเมืองกรุง เพียงเพื่อมาฟังคำตอบจากพวกท่านเช่นนี้หรือ มันช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับตอนพวกท่านไปยกมือไหว้พวกเรา เพื่ออาสามาแก้ปัญหาของประเทศถึงหัวบันไดบ้าน” เนื้อความในจดหมาย ระบุ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า