“จงปล่อยให้ดอกไม้บาน“ รากฐานประชาธิปไตยในห้องสมุดฟินแลนด์

ความสัมพันธ์ระหว่างห้องสมุดกับสังคมไทยห่างเหินกันเป็นปกติ

ห้องสมุดในภาพจำของใครหลายคนคงเต็มไปด้วยบรรยากาศเงียบๆ เย็นๆ กับบรรณารักษ์ที่นั่งทำหน้าขรึมอยู่หลังเคาน์เตอร์ จนแทบไม่กล้าขยับตัวหรือส่งเสียง ห้องสมุดจึงไม่ใช่สถานที่ที่คุ้นเคยและเป็นมิตรนัก

หากมีอีกประเทศที่ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ต่างจากเวลาอากาศร้อนแล้วต้องไปเดินตากแอร์ในห้าง หรือหิวแล้วต้องตรงดิ่งเข้าร้านอาหาร หลายคนก็คงจินตนาการภาพนั้นไม่ออกเท่าไหร่

นั่นคือห้องสมุดในประเทศฟินแลนด์

เพราะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ‘ห้องสมุด’ หนึ่งในสารตั้งต้นของการพัฒนาระบบการศึกษา จึงถูกให้ความสำคัญไปด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ จัดวงคุยเรื่องนี้ในงานเสวนา ‘ห้องสมุดกับการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ประสบการณ์ของฟินแลนด์’ ที่หยิบห้องสมุดของเมืองเอสโป ประเทศฟินแลนด์ มายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ทำไมต้องเป็นเมืองเอสโป? 

เพราะสถิติการยืม-คืนของห้องสมุดเอสโป เมืองเล็กๆ ติดเฮลซิงกิ สูงถึง 4.2 ล้านครั้งในหนึ่งปี ทั้งๆ ที่ประชากรทั้งประเทศมีเพียง 5.5 ล้านคน

 

จงมองเห็นความสำคัญของการอ่าน

ฟันเฟืองใหญ่ที่ทำให้ระบบห้องสมุดฟินแลนด์ดำเนินไปได้ด้วยดีคือ ความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วนที่เห็นตรงกันว่าห้องสมุดมีส่วนสำคัญในการพัฒนา ‘ทักษะการอ่าน’ 

“การอ่าน เป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนคนหนึ่ง ซึ่งจะหลอมรวมกันกลายเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม” แอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ตัวแทนจากกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมของฟินแลนด์ ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ประจำสถานทูตฟินแลนด์ในสิงคโปร์ และดูแลเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์กับประเทศไทย เกริ่นนำถึงความสำคัญของการอ่าน ก่อนจะกล่าวต่อว่า การอ่านยังเป็นเมล็ดพันธุ์บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน จนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมของประเทศ 

สถิติสำคัญที่ฟินแลนด์พบคือ ยิ่งเด็กคนไหนรักการอ่านมาก ยิ่งมีโอกาสหลุดออกนอกระบบโรงเรียนน้อย แอนนาเสริมว่า การทำให้ผู้คนมีทักษะการอ่านได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นทักษะให้ทุกคนสามารถพัฒนาการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น

‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เสริมว่า ความพยายามสร้างรากฐานการอ่านของฟินแลนด์จะเริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด ด้วยความที่เป็นรัฐสวัสดิการ เมื่อคุณพ่อคุณแม่คนไหนมีลูกก็จะได้รับกล่องสวัสดิการที่เรียกว่า ‘Baby Box’ ข้างในประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ช่วยดูแลเด็กๆ ทั้งเสื้อผ้า ผ้าอ้อม ปรอทวัดไข้ และหนังสือนิทาน 

“ลูกยังอ่านไม่ออก ก็ให้ลูกจับ ให้เขาคุ้นเคยกับการมีหนังสืออยู่ในชีวิตตั้งแต่วัยที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก่อน ถ้าต้มกินได้ก็คงแนะนำให้ทำไปแล้ว” ครูจุ๊ยย้ำติดตลก

แต่ในศตวรรษที่ 21 การอ่านไม่ได้หมายความแค่อ่านออกเฉยๆ อีกต่อไป เมื่อข้อมูลเนื้อหามากมายถูกส่งต่อมาจากหลายทิศทางและรวมกันอยู่ในโลกใบใหญ่หน้าจอมือถือ ทักษะการอ่านจึงหมายรวมถึงการอ่านแล้วสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ว่าอันไหนจริง อันไหนเฟค

“มันคือการทำความเข้าใจด้วย โดยเฉพาะการอ่านและตีความข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เป็นทักษะที่จะทำให้คนเข้าใจและมีวิจารณญาณในการเสพข้อมูลว่าอันไหนคือการชวนเชื่อ อันไหนคือการประชด อันไหนคือเรื่องตลก รวมถึงเป็นทักษะที่จะอ่านและทำความเข้าใจคนอื่นว่าเขามีมุมมอง มีวิธีคิดอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของผู้คนผ่านวรรณกรรมและหนังสือต่างๆ” แอนนาอธิบาย

ห้องสมุดเอสโป ไม่เป็นกลางทางการเมือง

“ห้องสมุดทุกห้องจะต้องฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถเข้าถึงคนได้ทุกคน” คือใจความสำคัญของกฎหมายห้องสมุดในฟินแลนด์

ยานา เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป เล่าว่า นั่นเป็นกฎหมายที่สะท้อนถึงสุภาษิตหนึ่งของชาวนอร์ดิก คือ ‘จงปล่อยให้ดอกไม้บาน’ (Let all the Flowers Bloom) ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และเสรีภาพในการแสดงออก

คำว่า ‘เข้าถึงคนได้ทุกคน’ ของห้องสมุดฟินแลนด์จึงไม่ได้หมายถึงแค่ในแง่ของพื้นที่ที่จะต้องกระจายไปยังทุกๆ เทศบาล หรือทุกๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงในแง่ของสัญชาติ ที่แม้แต่นักท่องเที่ยวและผู้อพยพก็สามารถใช้บริการห้องสมุดของฟินแลนด์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ไม่ว่าจะมีสัญชาติอะไร หากอาศัยอยู่ในฟินแลนด์ ก็สามารถทำบัตรห้องสมุดได้

“สมัยไปเรียนที่ฟินแลนด์ สถานที่แรกที่คนฟินแลนด์จะพาเราไปก็คือห้องสมุด เพราะเป็นแหล่งรวมบริการต่างๆ ของภาครัฐ แล้วก็เป็นพื้นที่สำหรับคลายเหงาในฐานะคนต่างบ้านต่างเมืองที่จะมีเพื่อนเป็นหนังสือ ไปหาความรู้หรือข้อมูลต่างๆ ที่นี่จึงเป็นจุดแรกที่ผู้อพยพหรือคนที่ไปถึงฟินแลนด์จะไปหา” ครูจุ๊ยย้อนประสบการณ์สมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนให้ฟัง

ผู้อพยพไม่เพียงแค่ใช้บริการได้ฟรี แต่ยังมีคลาสสอนภาษาฟินแลนด์ ไปจนถึงมีผู้ช่วยกรอกเอกสารต่างๆ ด้วย ทุกๆ คนที่อยู่ในฟินแลนด์จึงได้รับการสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือขาหนึ่งของประชาธิปไตยที่สะท้อนอยู่ในระบบห้องสมุด

ส่วนอีกขาหนึ่ง คือเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก อย่างที่ยานาอธิบายว่า

“สมัยก่อนเรามีแนวคิดที่ว่าห้องสมุดจะต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เมื่อห้องสมุดเป็นพื้นที่พบปะผู้คน มันจึงเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองหรือศาสนาได้ เพราะการแลกเปลี่ยนแบบนี้แหละ จะพาผู้คนเข้ามาเรียนรู้วิธีคิดของกันและกัน เป็นกลไกในการสร้างสังคมที่คนหลากหลายรูปแบบสามารถอยู่ร่วมกันได้” 

เรียนรู้ตลอดชีวิตในห้องสมุด

แน่นอนว่า ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ที่ฟินแลนด์ให้ความสำคัญไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว อันดับแรก ลบภาพห้องสมุดที่มีแต่หนังสือวางเรียงกันเป็นตับออกไปก่อน เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่บรรจุอยู่ในห้องสมุดฟินแลนด์เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทุกรูปแบบ ทั้งเครื่องดนตรี ห้องอัดเสียง maker space สำหรับทำนวัตกรรมต่างๆ มีเครื่องปรินท์สามมิติ จักรเย็บผ้า ไปจนถึงห้องครัว และอุปกรณ์ทำงานไม้ 

แม้แต่สิ่งที่เด็กไทยได้รับการสั่งสอนมาว่าเป็นเพียงความบันเทิงไร้สาระอย่างคาราโอเกะ เกม ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ของคนฟินแลนด์

เมื่อบริการหลากหลาย คนให้บริการก็ต้องหลากหลายด้วย

พ.ร.บ.ห้องสมุดฟินแลนด์ วางเกณฑ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดไว้ว่า ควรเป็นผู้ที่มีความรู้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีแค่บรรณารักษ์อีกต่อไป แต่ต้องใช้ผู้ที่มีทักษะอื่นๆ มาทำงานร่วมกัน เช่น วิศวะ นักดนตรี ทหารเกณฑ์ ไปจนถึงคนว่างงาน เพราะการมาช่วยงานในห้องสมุดจะเป็นการฝึกทักษะและทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

“การนำผู้คนหลากหลายมาหลอมรวมกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพื่อให้บริการของห้องสมุดมาจากคนที่คิดหลายแบบ ไม่ได้มีแนวคิดหรือทำอยู่เพียงแบบเดียว บริการจึงจะครอบคลุมและตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกันออกไปได้” ยานาบอก

การเรียนรู้ในห้องสมุดฟินแลนด์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เด็กก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าเด็กเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญในฐานะที่พวกเขาจะเติบโตมาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมต่อไป ห้องสมุดจึงทำงานร่วมกับครูในโรงเรียน ออกแบบแพ็คเกจกิจกรรมของห้องสมุดให้เด็กๆ เลือกเข้ามาทำกิจกรรมตามความสนใจ ขณะเดียวกันก็มีการจัดห้องสมุดเคลื่อนที่เข้าไปหาเด็กๆ ถึงโรงเรียน เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญหลายๆ เรื่องไปจัดกิจกรรมและให้ความรู้ด้วย

 

‘เจ้าตูบ’ ผู้ไม่ตัดสิน เพื่อนที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการอ่าน

สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน ไม่ว่าจะขาดความมั่นใจ หรือมีภาวะบกพร่องทางการอ่านอย่างผู้ป่วยโรค Dyslexia ห้องสมุดที่นี่ก็มีวิธีการน่ารักๆ เพื่อสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ โดยการใช้ ‘สุนัขช่วยอ่าน’ ที่ไม่ได้มีหลักการทำงานอะไรซับซ้อน แต่กลับช่วยสร้างคุณค่าทางจิตใจมหาศาล

คนเลี้ยงหมาแมวไว้ที่บ้านอย่างเราๆ คงเข้าใจกันดี เพราะในวันที่กลับจากการทำงานมาเหนื่อยๆ แค่มีมันมานั่งข้างๆ ความสบายใจก็เพิ่มขึ้นเป็นกองแล้ว

สุนัขช่วยอ่านก็เหมือนกัน มันไม่ได้ทำอะไรนอกจากนั่งมองคนอ่านหนังสืออยู่เฉยๆ 

“สำหรับคนที่ไม่มีความมั่นใจ ยิ่งมีปัญหาทางการอ่านด้วยแล้ว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการมีคนมาตัดสินว่า คุณผิด อันนี้ใช้ไม่ได้ ยังไม่ดีพอ สุนัขพวกนี้จึงช่วยสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามันปลอดภัยมากพอที่จะกล้าหัดอ่าน กล้าออกเสียง เพราะทุกคนต่างก็รู้ดีว่าสุนัขจะไม่ตัดสินหรือคาดหวังอะไรจากพวกเขา แต่ถ้าเด็กอ่านหนังสือให้ผู้ใหญ่ฟัง เด็กจะรู้สึกกดดันทันทีว่าผู้ใหญ่คาดหวังอะไร” ยานาอธิบาย

สุภาษิต ‘จงปล่อยให้ดอกไม้บาน’ ที่ยานาพูดไว้ตอนต้นจึงไม่ได้หมายถึงดอกไม้เพียงดอกเดียว แต่เป็นดอกไม้ทุกดอก ทุกชนิด คือประชาชนซึ่งคละเคล้ากันไปทั่วทุ่งหญ้าแห่งความหลากหลาย และต้องได้รับการรดน้ำ ดูแลเอาใจใส่อย่างเท่าเทียม จนเติบโตขึ้นกลายเป็นดอกไม้ที่บานสะพรั่งและสวยงามไปพร้อมๆ กัน

เงินมหาศาลไม่สู้การบริหารที่ดี

เมื่อเห็นอุดมการณ์ที่แข็งแรงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่คนอดตั้งคำถามไม่ได้ก็คือเรื่องงบประมาณ รัฐบาลฟินแลนด์ต้องใช้เงินมากขนาดไหนถึงจะพัฒนาระบบห้องสมุดจนประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ และกลายเป็นระบบภาครัฐที่คนฟินแลนด์รักที่สุดระบบหนึ่ง

ยานา ส่งไม้ต่อให้แอนนาเป็นผู้ตอบคำถามเรื่องนี้

“เราไม่ได้ใช้เงินในปริมาณมหาศาล แต่เป็นการจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพมากกว่า”

นั่นเป็นประโยคที่แอนนาย้ำอยู่หลายครั้ง ก่อนจะอธิบายว่า การบริหารจัดการงบประมาณห้องสมุดของฟินแลนด์เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น เพราะรัฐบาลกลางจะกระจายงบประมาณลงมา พร้อมกับส่งมอบภารกิจในการตัดสินใจและการบริหารเงินให้กับองค์กรท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของห้องสมุดในพื้นที่นั้นๆ

งบประมาณห้องสมุดของประเทศฟินแลนด์คือ 320 ล้าน ยูโร/ปี (10,800 ล้านบาท/ปี) คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวของประชากร 5.5 ล้านคนในประเทศฟินแลนด์ คือ 58 ยูโร/คน/ปี (1,900 บาท/คน/ปี)

นอกจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นแล้ว ประชาชนเองก็มีส่วนร่วมกับการบริหารงานเช่นกัน ครูจุ๊ยเล่าบริบททางการเมืองของฟินแลนด์ให้ฟังว่า รัฐบาลจะมีการจัดทำแผนงานว่ารัฐมีเป้าหมายที่จะจัดการเรื่องอะไร และจะดำเนินงานอย่างไร หรือจะมีนโยบายอะไรเกิดขึ้นบ้างเพื่อพัฒนาเป้าหมายนั้น แล้วประชาชนก็จะมาช่วยกันดู checklist และตรวจสอบว่ารัฐดำเนินการไปถึงไหนแล้ว

ในการถกเถียงกันเรื่องนโยบายต่างๆ ก็เช่นกัน แอนนากล่าวว่า

“ห้องสมุดนี่แหละเป็นพื้นที่กลางที่นำพาทุกคนมาถกเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายภาครัฐหรือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่ประเทศจะต้องมีพื้นที่แบบนี้”

ห้องสมุด สู้ Fake News!

fake news ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในฟินแลนด์

“เราไม่ได้ยกให้ระบบการศึกษาเป็นผู้เล่นหลักผู้เล่นเดียวที่จะรับมือกับเรื่องนี้ แต่ในห้องสมุดเองก็มีแหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่หลากหลาย เป็นเหมือนการติดอาวุธและเพิ่มภูมิต้านทานให้เด็กๆ ความร่วมมือกันของหลักสูตรที่อยู่ในโรงเรียนและกิจกรรมในห้องสมุดจึงเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นการเรียนรู้และแยกแยะได้ดีที่สุด” แอนนากล่าว

นั่นตอกย้ำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของฟินแลนด์ และไม่ใช่การเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนเพียงแค่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วให้ใครสักคนเอาข้อมูลมายัดใส่หัวเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะทำให้คนมีทักษะรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง 

“รัฐบาลฟินแลนด์ไม่มีหน้าที่ในการเซ็นเซอร์ข้อมูลใดๆ ในโลกออนไลน์ งานของรัฐคือ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ให้กับสังคม เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้วยตัวเอง”

 

ห้องสมุด Oodi ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม

ปี 2019 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ฟินแลนด์มีอายุครบ 100 ปี รัฐบาลฟินแลนด์จึงมอบของขวัญให้กับคนในประเทศ ด้วยการสร้างห้องสมุดใจกลางเมืองหลวงเฮลซิงกิ ชื่อว่าห้องสมุด Oodi ขึ้นมา

“ห้องสมุดแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าหลักในสังคมฟินแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา วัฒนธรรม ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความโปร่งใส รวมถึงเป็นการโปรโมทคุณค่าต่างๆ เหล่านั้น ในเวลาที่เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย และเป็นแนวหน้าของการปกป้องประชาธิปไตยในฟินแลนด์” นายกฯ เมืองเฮลซิงกิกล่าวในวันเปิดห้องสมุด

เช่นเดียวกับการบริหารงานอื่นๆ ที่เล่ามาก่อนหน้านี้ ห้องสมุด Oodi ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีใจความสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของสังคมในทุกภาคส่วน

“ในความฝันของคนเฮลซิงกิ ห้องสมุดของพวกเขามีหน้าตาอย่างไร?” เป็นคำถามที่รัฐบาลเสนอให้ประชาชนทุกคนเข้ามาตอบ หรือนำเสนอการออกแบบเมื่ออยู่ในระยะเริ่มต้นก่อสร้าง ทุกๆ กระบวนการจึงเป็นการเก็บเอาความฝันของทุกคนในเมืองมารวมกันเป็นห้องสมุดหนึ่งแห่ง นอกจากประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบทางกายภาพแล้ว ยังได้ช่วยกันออกแบบงบประมาณ ว่าอยากนำเงินไปลงทุนในส่วนไหนของห้องสมุดบ้าง

ทั้งหมดนั้นคงยืนยันได้ว่า ห้องสมุด Oodi เป็นของประชาชนชาวเฮลซิงกิอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงอุดมการณ์ลอยๆ เท่านั้น

กุญแจสามดอก สู่ความสำเร็จของห้องสมุดฟินแลนด์

1. การพัฒนาในระยะยาวและพัฒนาอย่างเป็นระบบ 

ตั้งแต่ปี 1928 ดำเนินมาเกือบร้อยปี การพัฒนาห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้ของประชาชนในฟินแลนด์นั้นมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในแง่ของกฎหมายและภาคีที่เป็นภาคประชาสังคม 

2. ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างรัฐและท้องถิ่น 

การบริหารจัดการงบประมาณโดยรัฐบาลกลางส่งให้รัฐบาลท้องถิ่นดูแลและพัฒนาตัวเอง

3. ให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ในห้องสมุด 

เหมือนกับที่หลายๆ คนทราบว่าฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก อาชีพของคนทำงานในห้องสมุดก็ถูกให้ความสำคัญและมีการพัฒนาบุคลากรเช่นเดียวกัน

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ฟินแลนด์เป็นเพียงหนึ่งในประเทศเล็กๆ ที่ยากจน ทีวีมีเพียงแค่หนึ่งช่อง วัฒนธรรมรักการอ่านจึงเริ่มตั้งแต่ในครอบครัวที่มักจะอ่านหนังสือด้วยกันอยู่ในบ้าน และเพราะอากาศหนาวเย็นด้านนอกก็ทำให้ทางเลือกที่สองของคนฟินแลนด์คือการเข้าห้องสมุด

การพัฒนาระบบห้องสมุดและวัฒนธรรมการอ่านของฟินแลนด์เริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ จุดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้การเรียนรู้ในประเทศแข็งแรงจึงไม่ใช่เม็ดเงิน แต่เป็นการปลูกฝังและบ่มเพาะการอ่านและการเรียนรู้ ส่งต่อมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นค่านิยมที่ทั้งประเทศเห็นตรงกัน และดำเนินต่อไปด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคนในประเทศ

ห้องสมุดจึงเป็นหนึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติฟินแลนด์ 

 

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

Author

หทัยธร หลอดแก้ว
เด็กปิ่นเกล้าที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เดินทางข้ามฟากมาทำงานที่ลาดพร้าว และใช้อีก 4 ชั่วโมง เพื่อเล่นกับแมวในออฟฟิศ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า