คุณเหงา เขาช่วยได้

ossan_rental
ทาคาโนบุ นิชิโมโตะ / ที่มา: japanyay.com

 

ตั้งแต่คนกินบำนาญไปจนถึงนักเรียนมัธยม ที่มาพร้อมกับความผิดหวัง สับสน ล้มเหลว และไม่สามารถคุยความลับนี้ได้กับเพื่อน แฟน หรือคนในครอบครัว แต่ ทาคาโนบุ นิชิโมโตะ และทีมงานผู้ชายวัยกลางคน ยินดีรับฟัง ‘ความลับ’ ของคนเหล่านี้

ไม่ว่าจะทุกข์หนัก อกหักหรือแค่เหงาอยากหาเพื่อนคุย สามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์เพื่อเช่าเวลา ‘เพื่อนฟัง’ หรือ Ossan – ผู้ชายอายุตั้งแต่ 45-55 ปี ในอัตราชั่วโมงละ 1,000 เยน

“สำหรับผม งานนี้คืองานอดิเรก” นิชิโมโตะ เริ่มเปิดบริการรับฟังนี้เมื่อสี่ปีที่แล้ว และปัจจุบันมีเพื่อนร่วมงานประมาณ 60 คนทั่วประเทศ

“แนวคิดเริ่มต้น คือ อยากพัฒนาและปรับปรุงภาพพจน์ของผู้ชายวัยผมให้ดูดีขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้ชายที่คอยแต่จะหาความสุขไปวันๆ ด้วยการซื้อบริการเด็กสาว” ผู้ประสานงานด้านแฟชั่นมืออาชีพอย่างนิชิโมโตะ วัย 48 ปี ยืนยันว่าชั่วโมงฟังที่ให้แก่ลูกค้าประมาณเดือนละ 30-40 คนนั้น 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง

“คนที่เช่าเวลาผม พวกเขาแค่ต้องการให้ผมอยู่เป็นเพื่อนราว 1-2 ชั่วโมง งานหลักๆ คือนั่งฟังเขา/เธอ” หนึ่งในนั้นคือลูกค้าหญิงชราวัย 80 ที่จองเวลาเขาทุกสัปดาห์เพื่อให้เป็นเพื่อนเดินเล่นในสวนสาธารณะ”

“ผมเกือบจะกลายเป็นลูกชายเธอแล้ว” นิชิโมโตะบอก

ลูกค้าคนอื่นๆ มีตั้งแต่ชาวประมงที่ป่วยจากการต้องนั่งรอเหยื่อตกปลาอย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน หรือนักศึกษาที่มีความฝันอยากเข้าวงการบันเทิงแต่ครอบครัวไม่สนับสนุน กระทั่งพนักงานบริษัทอายุน้อยที่งกๆ เงิ่นๆ ไม่รู้จะปฏิบัติตัวกับหัวหน้างานอย่างไร

ทั้งนี้สังคมญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาความแปลกแยกในสังคม ปรากฏการณ์ที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ฮิคิโคโมริ’ ที่กลุ่มคนโดยเฉพาะวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ เอาแต่ขลุกตัวอยู่ในบ้าน ไม่เข้าสังคม ฆ่าเวลาทั้งวันด้วยการเล่นวิดีโอเกมอยู่ในห้อง

แต่..หลายคนที่เข้ามาหานิชิโมโตะก็ไม่ได้ทรมาน จมทุกข์อยู่กับความแปลกแยกหรือการปรับตัวให้เข้ากับสังคม
มากกว่านั้น ลูกค้าของนิชิโมโตะให้เหตุผลว่า ใช้บริการนี้เพื่ออนุญาตให้ตัวเองลืมความคาดหวังของครอบครัวและเพื่อน พวกเขาสามารถพูดคุยได้อย่างอิสระ ซึ่งทางเลือกเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีประโยชน์มากเมื่อบทบาททางสังคมบีบรัดให้ทุกคนต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่นๆ อย่างเข้มงวด

 

This picture taken on May 23, 2016 shows 24-year-old Nodoka Hyodo (R), who works at a translation company, meeting with Takanobu Nishimoto (L) of "Ossan Rental" (Old Guy Rental) for a paid conversation in Tokyo. From lonely pensioners to Japanese schoolgirls with shattered dreams, Nishimoto and his crew of middle-aged men will lend an ear to clients who would never dream of spilling their guts to a therapist or worse, their families. / AFP PHOTO / QUENTIN TYBERGHIEN / TO GO WITH Japan-society-psychology-lifestyle-social,FEATURE by Karyn Nishimura-Poupee
โนโดกะ เฮียวโดะ/ ที่มา: japantimes.co.jp

 

“ได้มีความเป็นตัวเองที่แตกต่างออกไป เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่อยู่กับเพื่อน กับครอบครัว และแฟน” โนโดกะ เฮียวโดะ สุภาพสตรีวัย 24 ปี บรรยายความรู้สึกหลังจากใช้เวลากับนิชิโมโตะ

เฮียวโดะอธิบายว่า เธอต้องสร้างตัวตนในรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ แต่ตัวตนทั้งหมดหายไปเมื่อเธอเช่าเวลาหาเพื่อนฟัง “เพราะฉันได้คุยกับคนที่ไม่รู้จัก ต้องขอบคุณเขามากๆ ที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า เข้าใจตัวเองมากขึ้น”

นักจิตวิทยา ฮิโรอากิ อิโนะโมโตะ ให้ข้อมูลว่า มาตรฐานทางสังคมญี่ปุ่นทำให้คนไม่สามารถพูดหรือระบายออกได้กับบุคคลใกล้ชิด
“เมื่อคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ การพูดคุยหรือปรึกษากับใครสักคนอาจเป็นเรื่องยาก เพราะในวงจรชีวิตคุณอาจจะไม่พบคนที่เหมาะสำหรับพูดคุยได้” อิโนโมโตะอธิบายสภาพปัญหา “วิธีการแสดงความรู้สึกของตนเองโดยไม่ไปรบกวนคนอื่น ถือเป็นเรื่องยาก”

แต่รูปแบบความสัมพันธ์จากการเช่า Ossan ใช้กฎที่แตกต่างออกไป

2-3 ปีมานี้ เอเจนซีที่เสนอบริการ  ‘เพื่อนให้เช่า’ รายชั่วโมงเกิดขึ้นหลายแห่งในญี่ปุ่น โดยลูกค้าสามารถเช่าได้หลายแบบ ตั้งแต่ เพื่อน, คนในครอบครัว, แฟน ฯลฯ ตามวาระที่ต่างกันไป อาทิ งานแต่ง งานศพและปาร์ตี้ บ้างก็เช่าเพียงเพราะต้องการคนรับฟังแก้เหงาหรือเป็นเพื่อนในบั้นปลายของชีวิต

ผู้ชายแต่งงานแล้วอย่างนิชิโมโตะ บางครั้งก็ต้องหยุดรับงานเพราะความจำเป็นต่างๆ ในชีวิต แต่เขากลับพบว่าตัวเองก็ต้องการลูกค้า เฉกเช่นเดียวกับที่ลูกค้าต้องการเขา

“เอาจริงๆ ผมก็ไม่เคยรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรเมื่อเช่าเวลา แน่นอนผมมีความวิตกเล็กๆ แต่นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมงานนี้ถึงน่าสนใจ โดยสัตย์จริงเลยนะ ผมไม่เคยมีปัญหากับลูกค้าแปลกๆ เลย ในทางกลับกันผมได้รับประสบการณ์ทางความรู้สึกที่หลากหลายจริงๆ”

แม้สถิติการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นจะรั้งอันดับ 3 (อันดับ 1 คือเกาหลีใต้ อันดับ 2 คือฮังการี) แต่สถิติเมื่อสองปีที่แล้ว พบว่าทุกๆ วันจะมีชาวญี่ปุ่นฆ่าตัวตาย 70 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สอดคล้องกับสถิติการฆ่าตัวตายโดยรวม คือผู้ชาย 71 เปอร์เซ็นต์ อายุตั้งแต่ 20-44 ปี

 

ที่มา : thestar.com.my
ที่มา: thestar.com.my

 

วาตารุ นิชิดะ นักจิตวิทยาแห่ง Tokyo’s Temple University เผยว่าสาเหตุอันดับ 1 ของการฆ่าตัวตายคือ ความโดดเดี่ยว

“เมื่อล้มเหลวขึ้นมา คุณก็แค่ปลิดชีวิตตัวเอง ประกันก็จ่าย ง่าย ไม่ต้องยุ่งกับใคร” จำนวนไม่น้อยคือคนแก่ที่ลูกหลานไม่สนใจ ให้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในอพาร์ตเมนต์

ส่วนสาเหตุของคนหนุ่มคือ ความผิดหวัง และไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการจ้างงานตลอดชีวิต เมื่อพนักงานสูงวัยยังคงมีความสุขกับการทำงานที่ทั้งมั่นคงและปลอดภัย ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ในสภาวะว่างงาน

“ในสังคมญี่ปุ่น เราไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความโกรธและคับแค้นใจได้มากนัก” นิชิดะอธิบายว่า เป็นกฎเกณฑ์ของสังคม คนหนุ่มสาวอายุน้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ พวกเขาไม่มีโอกาสแสดงความรู้สึกที่แท้จริง

“ถ้ำพวกเขาถูกกดดันจากหัวหน้างาน จนเครียด บางคนก็จะรู้สึกว่าวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือความตาย” นิชิดะวิเคราะห์

 


 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
yahoo.com
bbc.com

logo

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า