สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์: เคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในอีสาน ต้องไม่ล้างผลาญฐานทรัพยากร

เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เป็น 1 ใน 12 นโยบาย ‘ประชารัฐ’ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านการทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน

แนวคิดของเศรษฐกิจฐานรากภายใต้นโยบายประชารัฐ คือการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายใต้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่เชื่อว่าหากสามารถทำให้เศรษฐกิจฐานรากเชื่อมกับเศรษฐกิจมหภาคได้จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ และนั่นจะทำให้ชาติบ้านเมืองเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืน และก้าวหน้า ซึ่งหากจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมี ‘สัมมาชีพ’ และ ‘วิสาหกิจชุมชน’ ในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง

โครงการนี้ดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่รัฐบาล คสช. กระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังคงเดินหน้าผลักดันอย่างต่อเนื่อง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับวาดฝันว่าต่อจากนี้ประเทศไทยต้องเป็น Smart Nation ใช้เทคโนโลยีและวิทยาการเข้ามาช่วยพัฒนาความรู้ มีการดึงองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาเสียบปลั๊กทำงานร่วมกันเพื่อทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้ง ยากจน และความเหลื่อมล้ำ

“ไทยต้องไม่นอนอยู่ในห้อง ICU ต้องลุกขึ้นมาด้วยการปฏิรูปตนเอง ขณะที่สิงคโปร์ดีไซน์ความคิดอย่างเป็นระบบ มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไทยกว้างใหญ่กว่าสิงคโปร์ควรร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประชารัฐสร้างไทย จึงต้องร่วมกันยกระดับภาคเกษตร หากเศรษฐกิจดีสังคมจะดีตามไปด้วย เมื่อชุมชนแข็งแรงทุกอย่างจะดีขึ้น นำ Smart Farmer เป็นผู้นำในชุมชนภายใน 3 ปี ต้องพัฒนาให้ได้ 3 แสนรายทั่วประเทศ สร้างตลาดออนไลน์ ดึงมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือ จะกลายเป็นหมู่บ้านทันสมัย กลายเป็น Smart Nation เมื่อต่างประเทศเข้ามาลงทุนจะเชื่อมโยงได้ถูกทาง”

นั่นคือความฝันของรัฐที่จะพาชาติเดินไปข้างหน้า ขณะที่อีกด้านก็มีการศึกษาเพื่อควานหาต้นทุนเดิมและโอกาสใหม่ของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดอาจช่วยทำให้ฝั่งฝันที่กำลังมุ่งไปนั้นมีหางเสือคอยประคับประคอง ไม่ให้นาวารัฐชาติพายวนอยู่ในอ่าง ซึ่งนอกจากไม่พาไปข้างหน้าแล้ว ยังอาจทำให้ยุ่งเหยิงมากกว่าเดิม

การศึกษานั้นเกิดขึ้นบนแผ่นดินอีสาน แต่บางข้อค้นพบก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เขตแดน เพราะหากรับฟังดีๆ จะพบว่า หลายเรื่องเป็นประเด็นร่วมของคนทั้งประเทศ

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

ฐานรากที่หลากหลายในอีสาน

การวิจัย การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนชนบทอีสาน ผ่านการศึกษาของ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีข้อสรุปในวรรคหนึ่งว่า

ชุมชนอีสานไม่สามารถมีเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนได้หากรัฐยังมีแนวคิดในการใช้ทุนใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและการสูญเสียศักยภาพในการจัดการตนเองของชุมชนมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฐานทรัพยากรท้องถิ่นก็ร่อยหรอและเสื่อมโทรมลงอย่างมาก และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประชากร ก็ไม่อาจจะใช้วิธีการเดิมๆ ได้

ข้อค้นพบใดจากการศึกษาที่พาให้ถ้อยคำนั้นปรากฏ นี่คือบทสนทนาจากการสังเคราะห์ของนักวิชาการอีสาน ผ่านการไล่เรียงจากประวัติศาสตร์ชุมชนถึงผู้คน และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีกรอบการศึกษาจาก 5 พื้นที่ คือ 1. ชุมชนบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย 2. ชุมชนบ้านหินกอง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 3. ชุมชนบ้านสังคม อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี 4. ชุมชนบ้านห้วยเสือเต้น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และ 5. ชุมชนบ้านเซียงเพ็ง ตำบลเซียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

“เราพยายามศึกษาว่าเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานรากของภาคอีสานนั้นมีประเด็นอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญ มีกี่รูปแบบ แล้วแต่ละรูปแบบสามารถทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งหรือทำให้มีมูลค่าหรือการผลิตหรือรายได้ที่มากพอที่จะทำให้สังคมหรือชุมชนพึ่งตัวเองได้อย่างเข้มแข็งหรือไม่

“ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจฐานรากนั้นมีหลายรูปแบบ 1. เศรษฐกิจที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรง สังคมชนบทอีสานสมัยก่อนเป็นแบบนั้น คือเก็บผลผลิตจากป่าและแม่น้ำ 2. เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก เรามีข้าว มีอ้อย มันสำปะหลัง 3. มีเศรษฐกิจที่พึ่งพาแรงงานหรือการไปรับจ้าง 4. เป็นเศรษฐกิจที่เพิ่มมูลค่าจากผลผลิตพื้นฐานอีกทีหนึ่ง เช่น มีการแปรรูป มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 5. เศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของการท่องเที่ยว

“แต่จากการวิจัยเราก็พบว่า ที่จริงแล้ว (เศรษฐกิจฐานราก) มันรวมๆ กัน ไม่ไปด้านใดด้านหนึ่ง อย่างเช่นบางพื้นที่เรามองว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่พึ่งพารายได้หลักจากการเกษตรกรรม แต่ว่าเอาเข้าจริงแล้วไม่รอด ก็ต้องไปพึ่งพาเรื่องของการขายแรงงาน ออกจากท้องถิ่นไปรับจ้างทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำเงินมา หรือภายในนั้นก็ยังมีลักษณะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมาก เช่น การผลิต การรับจ้างเป็นฤดูกาล การไปขายแรงงานต่างประเทศ การค้าขาย หรือแม้แต่การที่สมาชิกในครัวเรือนไปเป็นข้าราชการ”

แม้จะเห็นว่าต้นทางของเศรษฐกิจมาจากหลากหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบมักตั้งต้นโดยมีทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเป็นตัวแปรเกื้อหนุน แต่การศึกษากลับพบว่า การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของคนอีสานกลับไม่ไปไหนมาไหน หนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำก็ผุดขึ้นตามมาด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ

เห็นอะไรในที่แห่งนั้น

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์​ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า กรณีที่บ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้มีการศึกษากับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง พวกเขากลายเป็นผู้เช่าที่ดิน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งด้วยปัจจัยคือ ค่าเช่า ความมั่นคงในที่ดิน หากเกิดการแข่งขันโดยให้ค่าเช่าในราคาที่สูงกว่า พวกเขาก็เสียโอกาสเลย เพราะฉะนั้นนี่คือเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนตัวแปรคือ ‘ที่ดิน’ หากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่นับเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง

ส่วนกรณีบ้านสังคม อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี การศึกษาพบว่าที่ผ่านมามีการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันทางการเงินท้องถิ่นจำนวนมาก มีกองทุนต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เทเงินลงมา เฉพาะพื้นที่ที่ศึกษานั้นมีกองทุนอยู่ถึง 10 กองทุน ทั้งที่ร่วมกับรัฐและชาวบ้านจัดตั้งขึ้นเอง แต่ว่าไปไม่รอด

“คำว่าไม่รอดหมายความว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในกองทุนไม่มากพอ แล้วทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องกู้ แล้วการออมก็มีน้อย เพราะว่าพวกเขาไม่มีเงินออม กองทุนหมุนเวียนก็เลยน้อยตามไปด้วย แล้วกลายเป็นว่ารัฐเองก็พยายามจัดตั้งกองทุนเหล่านี้เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ก็เลยกลายเป็นว่าหลายๆ กระทรวงมีสถาบันการเงินในชุมชนเยอะแยะไปหมด แต่กลับไม่สามารถสร้างพลังให้ชุมชนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและเข้มแข็งได้มากพอ นอกจากนี้ยังมีการไปกู้นอกระบบ มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด นั่นแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เรื่องสถาบันการเงินในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทำอย่างไรให้มี volume มากพอ แล้วก็มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น”

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

ที่ผ่านมา ความมั่นคงทางการเงินของคนอีสานมาจากการขายแรงงาน ไม่ใช่แค่ออกไปต่างถิ่น หรือเมืองกรุงเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงต่างประเทศ รายได้เหล่านั้นแทบจะเป็นหัวใจสำหรับการพลิกชีวิตของครอบครัวได้เลย

“คนอีสานแต่ไหนแต่ไรมาเป็นแรงงานรับจ้างมาโดยตลอด พอหมดช่วงฤดูกาลเพาะปลูกก็ออกไปรับจ้าง เช่น รับจ้างตัดอ้อยในภาคกลาง เข้ากรุงเทพฯ เมืองใหญ่ หรือเมืองอุตสาหกรรม กระทั่งไปต่างประเทศ ไปตะวันออกกลาง ไปซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ยุโรป ไปเก็บผลไม้

“มันเป็นเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่พยุงสถานะในชุมชน ทำให้มีการใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งเป็นได้ทั้ง หนึ่ง จ่ายเพื่อใช้หนี้ สอง ใช้จ่ายทั่วไป หรือ สาม กลายเป็นเงินออม ต้องไปทำงานแบบนั้นแล้วนำเงินกลับมา เพราะลำพังระบบเศรษฐกิจในชุมชนไม่สามารถสร้างทั้ง 3 เรื่องพอ แทบทุกชุมชนก็เป็นแบบนี้ แล้วก็เป็นขาที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นอีสานด้วย”

จุดเปลี่ยนบนเส้นตัวแปร

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชุมชนของอีสานมีหน้าตาแบบนี้อาจไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่ง หรือห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่เห็นจากการศึกษาก็คือปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายของรัฐ ตั้งแต่ 1. กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ การให้สัมปทานป่าและนโยบายความมั่นคง 2. การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ ระบบชลประทาน 4. การขายแรงงาน 5. การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าและการเชื่อมโยงอาเซียนและจีน

การดำเนินการต่อเนื่องมาทุกยุคสมัยผ่านนโยบายเหล่านี้ ทำให้เกิดผลเป็นทั้งปัจจัยบวกและลบต่อคนอีสาน

“ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือ เศรษฐกิจฐานรากเดิมที่มาจากการพึ่งพาฐานทรัพยากรถูกช่วงชิงไป เช่น ป่าลดลงจากการสัมปทานป่าไม้ ซึ่งเปิดให้เอกชนขนาดใหญ่มาสัมปทาน สุดท้ายป่าเสื่อมโทรม แล้วมีการบุกรุกพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ

“ประเทศเราก็มุ่งเน้นพืชเศรษฐกิจที่เป็นวัตถุดิบในการส่งออก เมื่อก่อนมี ปอ มันสำปะหลัง ตอนหลังก็มีอ้อย มีโรงงานน้ำตาล ก็เลยกลายเป็นว่าพื้นที่ป่าซึ่งเป็นระบบนิเวศใหญ่ และเป็นฐานทรัพยากรที่บริการชุมชน ทั้งสร้างรายได้และแหล่งอาหาร รวมทั้งสร้างสมดุลของระบบนิเวศนั้นขาดหายไป เมื่อขาดหายไปก็ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง อาหารหรือสิ่งจำเป็นก็ต้องซื้อเพราะหาจากป่าไม่ได้ รายได้ก็หาย ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น เพราะสิ่งที่บริการฟรีจากธรรมชาติให้มานั้นไม่มี

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

“ช่วงหลังยิ่งเกิดปัญหาเพิ่มไปอีกเมื่อมีการทำการผลิตแล้วไม่ได้ผล เช่น ฝนแล้ง เกิดภัยพิบัติ ราคาตกต่ำมาก ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เมื่อขาดทุนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งมีทั้งในระบบ นอกระบบ เยอะแยะไปหมด แล้วพอไปกู้หนี้ยืมสินแบบนั้นก็ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ได้ ก็นำไปสู่การสูญเสียที่ดิน เกิดผลกระทบเยอะแยะไปหมดเลย ทั้งจากนโยบายที่ผ่านมาและความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่ได้มองภาพรวมของฐานทรัพยากรที่ควรจะมีความยั่งยืน ก็เลยเกิดปัญหานี้ขึ้น

“ต่อมาเกิดปัญหาการกระจุกตัวของฐานทรัพยากรไปอยู่ในกลุ่มทุน กลุ่มผู้ถือครองรายใหญ่ แล้วยิ่งทำให้ศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยลดน้อยถอยลง เมื่อมีรายใหญ่ ก็มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แล้วก็มีพลังอำนาจในการสร้างให้การดำเนินการของโครงการรัฐมาเอื้อประโยชน์ให้กับรายใหญ่ อันนี้เราจะเจอในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งพื้นที่ชลประทานซึ่งเป็นโครงการของรัฐ มักจะไปผ่านที่ดินของผู้ถือครองรายใหญ่ แต่กลับมาไม่ถึงที่ดินแปลงของรายย่อย แล้วผู้ถือครองรายใหญ่ได้ที่ดินมาจากไหน ก็ได้มาจากการกว้านซื้อของชาวบ้านที่จำเป็นต้องขายที่ดิน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ระยะห่างของการกระจายรายได้ก็มากขึ้น มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งก็ไม่แปลกที่ประเทศไทยมีปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ”

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีอธิบาย ซึ่งนั่นยังไม่ถึงครึ่งทางของการสนทนา

ขั้วบวกและลบของการพัฒนา

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถไฟ หรือแม้กระทั่งระบบชลประทาน ย่อมมีข้อดี แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น มีบวกก็มีลบ มีดีมีแย่ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ตัวชี้วัดว่าจะออกหัวหรือก้อยนั้นขึ้นอยู่กับใครได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น

“ปัจจัยเหล่านี้มีสองอย่างนะครับ เป็นทั้งประโยชน์ และเป็นทั้งผลที่ทำให้เกิดความสูญเสียด้วย

“ประโยชน์ก็คือเราจะมองตลอดเวลาเราอ้างการสร้าง infrastructure พวกนี้ในชุมชน เราพบว่าเกษตรกรจะมีเส้นทางในการขายผลผลิตได้ดี แต่ขณะเดียวกันเส้นทางเดียวกันนั้นก็เปิดให้กลุ่มทุนเข้าไปกอบโกยเอาผลประโยชน์ได้ดีเหมือนกัน ฉะนั้นอยู่ที่ว่าใครจะแข็งกว่ากัน ‘เฮ้ย! คุณขนข้าวของมาขายได้ง่ายขึ้นนะ ไม่ต้องลำบากเหมือนเมื่อก่อนนะ เพราะว่าถนนดีมากเลย’ แต่ปรากฏว่าคุณยังได้ราคาต่ำอยู่เลย ได้กำไรนิดเดียว ไม่คุ้มค่าขนส่งด้วยซ้ำ

“โอเคแหละ ขนาดของเศรษฐกิจมันโต มีการใช้จ่าย มีการเชื่อมถึงกัน แต่เศรษฐกิจโตนั้นมันโตแบบไหน โตแบบรายได้ในชุมชนเทออกไปข้างนอก ส่วนเงินเข้าไปกลับไม่เยอะ เมื่อเงินออกเยอะกว่า ทีนี้เกิดปัญหาล่ะ พอหนี้ครัวเรือนเยอะ เงินออมน้อย ไหนที่ดินจะติดจำนอง ราคาผลผลิตไม่ดี ต้นทุนการผลิตสูง ก็เลยอาศัย infrastructure เดียวกันนี่แหละที่คนในชุมชนบินออกไปทำงานเมืองนอก หรือออกไปทำงานต่างถิ่น”

หนี้นี้ท่านได้แต่ใดมา

ในทัศนะของนักวิจัย ทั้งที่โครงสร้างพื้นฐานของไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ แต่ข้อสังเกตก็คือ ทำไมข้อได้เปรียบเหล่านั้นไม่เอนเอียงไปฝั่งชาวบ้าน หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็น win-win situation ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายเท่ากันก็ยังดี

“ผมยกตัวอย่างนะครับ ถ้าการบริหารจัดการน้ำที่รัฐลงทุนไปหลายหมื่นหลายแสนล้านทำให้น้ำไปถึงเกษตรกรได้จริง แต่เมื่อถึงรอบฤดูกาลผลิต ต้นทุนกลับยังสูงอยู่ดี ทั้งต้นทุนแรงงาน ปัจจัยการผลิต แล้วราคาผลผลิตก็ควบคุมไม่ได้เลย กลายเป็นว่ายิ่งมีน้ำเยอะยิ่งเป็นหนี้เยอะตามไปด้วย

“ผมไม่ต้องยกตัวอย่างเฉพาะอีสานก็ได้ อย่างภาคกลางนี่ทำนาได้หลายครั้งกว่าคนอีสานมาก แต่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ไม่ทำก็ไม่ได้ ยิ่งหยุดยิ่งตายเลย ก็เลยอยู่ในวังวน พัวพันเรื่องของหนี้สินและเรื่องของการผลิตที่ไม่สามารถถอดโซ่ตรวนออกจากคอตัวเองได้ ทั้งที่น้ำดีนะ น้ำดีมาก”

“อีกตัวอย่างคือ เราขายอ้อยมากี่ปีแล้ว ราคาอ้อยเคยแพงกว่านี้ไหม ตั้งแต่ผมจำความได้ อ้อยตันละ 500-600 เมื่อหลายปีมาแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยัง 700-800 อยู่ มันไม่ถึง 2,000 นะ ทั้งที่ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้นมาในอัตราส่วนที่มากกว่าราคาอ้อย

“ถ้าจะทำให้มีกำไรคุณต้องทำอย่างไร คุณต้องทำให้แปลงใหญ่ขึ้น พอคุณทำแปลงให้ใหญ่ขึ้น คุณต้องไปลงทุนอะไรบ้าง 1. บุกเบิกที่ดิน 2. ไปเช่าที่เพิ่ม 3. กู้ซื้อรถเครื่องจักร หรือไม่ก็มีค่าเช่าเครื่องจักรที่แพง 4. เงินลงทุน หรือเงินหมุนเวียนที่ต้องใช้ เพราะฉะนั้นเลยทำให้เข้าสู่วงจรหนี้สิน หลังจากที่ราคาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ก็เกิดปัญหาเรื่องของการขาดทุน แล้วก็เป็นหนี้สินสะสม

“ถามว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่สินค้าเกษตรราคาตกต่ำคือใคร คือคนที่รับเอาสินค้าเหล่านั้นไปผลิตเป็นสินค้าอื่นต่อไป แล้วทำไมโรงงานน้ำตาลขยายตัว ทำไมบางโรงงานต้องเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่นั่นที่นี่ ก็แสดงว่าเขามีกำไร เขามีเงินลงทุนมากขึ้น ไปลงทุนที่เขมรก็มี ไปลงทุนที่ลาวก็มี กำลังที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมการผลิตชีวภาพที่ใหญ่มากภาคอีสาน แล้วรัฐก็สนับสนุน

“เชื่อเถอะ ผมว่าราคาผลผลิตไม่สูงขึ้นหรอก แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากที่ชาวบ้านขายวัตถุดิบให้กับโรงงานแล้วเนี่ยมูลค่าจะเพิ่มขึ้นมหาศาล

“แล้วทุนมีอะไรล่ะ มีเงินไปซื้อเทคโนโลยี มีเงินไปสร้างนวัตกรรม มีเงินไปจ้างนักวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมีเงินไปทุ่มเทเรื่องการตลาดเพื่อขายสินค้าเหล่านี้กลับให้ผู้บริโภค แล้วชาวบ้านจะไปทำอะไรล่ะครับ ก็มีหน้าที่รับจ้างผลิตขายวัตถุดิบราคาถูกเพื่อศักยภาพในการแข่งขันของทุน ผมว่าระบบเศรษฐกิจแบบนี้ทำลายระบบเศรษฐกิจฐานราก เป็นการสร้าง gap และเป็นการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

“มีกฎหมายเยอะแยะเลยที่เอื้อให้กิจกรรมหลังจากที่ชาวบ้านขายวัตถุดิบไปแล้วเติบโตขึ้น เช่น คุณสามารถไปตั้งโรงงานที่ไหนก็ได้ นี่กำลังจะออกประกาศกระทรวง เมื่อก่อนน้ำอ้อยต้องไปทำน้ำตาลเท่านั้นนะ แต่ต่อไปนี้ ทำอะไรก็ได้ แล้วก็เมื่อก่อน ผลพลอยได้เป็นแค่กากน้ำตาลเท่านั้นนะ ต่อไปนี้ ผลพลอยได้รวมไปถึงกากอ้อยด้วย คุณก็สามารถเอากากอ้อยไปสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขายได้อีก

“สิ่งเหล่านี้หลุดออกจากมือชาวบ้านไปแล้วไง มันไม่ได้อยู่ในมือชาวบ้านแล้ว ไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง volume มหาศาลจะไปเติบโตในหน่วยของทุน แต่โอเค อาจจะมีการจ้างงาน เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอาจจะดีขึ้น แต่ชุมชนอาจจะไม่ได้ดีขึ้นนะ”

Bio Hub ก็มา

ทบทวนกันอีกครั้ง รัฐอยากลดความเหลื่อมล้ำด้วยการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านแหล่งทุนต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงโดยง่าย และหวังว่าเงินเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปสู่การลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตในชุมชน แต่สิ่งที่เห็นคือ ยังมีปัจจัยและตัวแปรอีกหลายประการที่ฉุดไม่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถที่จะโผล่พ้นน้ำได้

การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานรากเกิดขึ้นยาก เพราะติดพันหนี้สินในอดีต ต้นทุนที่ร่อยหรอในปัจจุบัน และศักยภาพในอนาคตที่ถูกบอนไซเอาไว้นานจนกลายเป็นไม้แคระ ทำให้ก่อนคิดถึงคำว่า ‘ยกระดับฐานราก’ อาจต้องกลับไป ‘สะสางต้นตอ’ เสียก่อน

แต่ประเด็นก็คือตออาจจะใหญ่หน่อย และระหว่างที่ฐานรากกำลังมะงุมมะงาหรา กลุ่มทุนด้านบนก็ล่วงหน้าไปไกลโขแล้ว

“bio hub เป็นเรื่องของศักยภาพในการแข่งขันที่รัฐและกลุ่มทุนซึ่งสนิทกับรัฐพยายามที่จะมองว่า ถ้าเราจะไปไกลมากกว่านี้ ถ้าเราจะเติบโตมากกว่านี้ เราจะต้องพัฒนาไปอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่าเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ ซึ่งเอาวัตถุดิบมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์พวกพลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ชีวภาพ พวกเวชสำอาง ยา อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งพวกอาหารสัตว์อะไรพวกนี้ สามารถที่จะเติบโตและพัฒนาไปมากกว่านี้อีกนะ ดูจากระดับโลกนี่โตไปถึงปีละ 14 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย เพราะฉะนั้นบ้านเราก็มีฐานวัตถุดิบพวกนี้อยู่ แล้วทำไมไม่เอามาสร้างมูลค่าให้เหมือนที่อื่นเขา เราไม่ควรจะขายแค่น้ำตาล

“ก็เลยกลายเป็นที่มา ถ้าอย่างนั้นบริษัทต่างๆ ก็มาร่วมกันสิ ทำอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่หนึ่ง เราก็ช่วยกันทำ โรงงานน้ำตาลก็มาตั้งสิ คุณก็มีชานอ้อย ก็เอามาผลิตไฟฟ้า คุณมีกากน้ำตาล ก็เอามาผลิตแอลกอฮอล์ มันสำปะหลัง คุณก็เอากากมันมาทำอาหารสัตว์ นอกนั้นคุณก็เอามาทำพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ เคมีภัณฑ์อะไรเยอะแยะไปหมด มีเป็นสิบๆ บริษัทที่คิดเรื่องนี้ร่วมกัน แล้วก็ออกมาเป็น bio hub

“จริงๆ bio hub มีหลายที่ ทั้งภาคตะวันออก ภาคอีสาน แล้วก็ภาคเหนือตอนล่าง ดูง่ายๆ เลย พื้นที่ไหนมีอ้อยเยอะก็ตรงนั้นแหละ แล้วก็เชื่อมโยงกับ EEC ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ก็เห็นเลยว่า อ้อ! นี่ก็เป็นความพยายามที่รัฐจะสร้างเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ แต่ส่วนที่จะมาดูแลเรื่องราคาของผลผลิตจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย ไม่ได้มีกลไกที่จะทำอะไรมากมาย อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยบ้าง เช่น ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มสัตว์ สมาคมไร่อ้อย จะต้องมีสัญญาระหว่างเจ้าของโควตากับเกษตรกรรายย่อย มีคณะกรรมการมากขึ้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญของการสร้างมูลค่าจากวัตถุดิบมากกว่า แต่ว่าส่วนนั้นหลุดมือจากชาวบ้านมาแล้ว

“ผมคิดว่าเราพยายามพูดถึงการแก้ปัญหาหรือการสร้างศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าจากอุตสาหกรรม เราทำไปได้ไกลมากล่ะ แม้อาจยังไม่ถึงขั้นประเทศอุตสาหกรรมหลักก็ตาม แต่สิ่งที่เราทำได้ไม่ถึงไหนเลย ก็คือการแก้ปัญหาพื้นฐานในระดับผู้ผลิตวัตถุดิบ

“ผมยกตัวอย่าง ถ้ามีคนปลูกอ้อยมากขึ้น คุณแก้ปัญหาเรื่องการเผาอ้อยยังไง อันนี้พื้นฐานมาก คุณยังแก้ไม่ได้เลย ผู้ว่าฯ ก็แก้ไม่ได้ นายกฯ ยังแก้ไม่ได้เลย แล้วเราก็เจอปัญหา PM10 เจออะไรเยอะแยะไปหมด

“ช่วงแล้งที่ผ่านมา ตั้งแต่หนาวยันแล้ง เราแก้ไม่ได้ คือเราไปมองว่า เราจะพยายามสร้างศักยภาพจากสิ่งที่หลุดมือเกษตรกรไปแล้ว แต่ปัญหาพื้นฐานที่อยู่กับชุมชนเกษตรกร เราไม่แก้ ผมคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ แล้วกลายเป็นปัญหาที่เขาเรียกว่าปัญหาที่ทับซ้อนไปในปัญหาเดิม”

เราถามว่า นี่คือการคิดเรื่องเศรษฐกิจบนฐานของทุนใช่หรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่”

เราถามอีกว่า ขณะที่คนข้างล่าง คนตัวเล็กตัวน้อย เรื่องคน แม่น้ำ หรือสิ่งแวดล้อม ถูกมองอีกแบบ? เขาตอบว่า “ใช่” และกล่าวต่อ

“ผมยกตัวอย่างหนึ่งนะครับ กลุ่มทุนที่สร้างผลกำไรมากที่สุด ก็คือกลุ่มทุนที่ใช้ฐานทรัพยากรจากธรรมชาติแปลงเป็นสินค้า แล้วก็ขาย แล้วตัวเองก็ control ราคาได้ control ต้นทุนได้ เช่น ปิโตรเลียม เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนที่ทำกิจการปิโตรเลียม ต้องทำให้ราคาวัตถุดิบปิโตรเลียมถูกที่สุด กลุ่มทุนที่ทำอุตสาหกรรมน้ำตาล ต้องทำให้วัตถุดิบที่จะเข้าโรงงานน้ำตาลถูกที่สุด เพียงแต่ว่าปิโตรเลียมพูดไม่ได้ แต่อ้อย มันสำปะหลัง พูดได้เพราะเป็นสิ่งที่เราผลิตขึ้นมา

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

“เราไม่ได้กลับไปแก้ตรงนั้นไง เราไปพัฒนาและต่อยอดจากสิ่งที่ เฮ้ย! มันมีมาแล้ว เราจะทำอย่างไรถ้าเกิดน้ำตาลราคาไม่ดี เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องเอาอ้อยไปทำนั่นนี่นู่นได้ด้วยนะ ถ้าคนปลูกอ้อยมากขึ้นก็ยิ่งดีสิ เพราะว่าเรื่องราคาจะได้ลดลง วัตถุดิบจะได้มากขึ้น ทางเลือกก็มากขึ้น เราก็สามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น นี่คือปัญหาสำคัญ

“แล้วผมยกอีกตัวอย่างนะครับ ถ้าสมมุติว่าเกษตรกรขายน้ำอ้อยล่ะ ไม่ต้องขายอ้อยสด อ้อยเป็นต้นหรือเผา มีอุตสาหกรรมวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตน้ำอ้อย แล้วก็สามารถที่จะทำ product ได้เองส่วนหนึ่ง ถ้าโรงงานจะซื้อก็มาตกลงราคากัน แล้วชานอ้อยที่เกิดขึ้นเป็นพลอยได้และเป็นเจ้าของโดยสหกรณ์ คุณอยากผลิตโรงไฟฟ้า คุณมาซื้อชานอ้อยที่นี่ไปทำ หรือถ้าโรงไฟฟ้าที่ผลิตโดยสหกรณ์ชุมชนที่คุณจะผลิตได้ คุณก็เอาชานอ้อยไปผลิต แล้วก็จ่ายค่าไฟให้ผู้ถือหุ้น ก็คือสหกรณ์ชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชน ถ้าแบบนี้เศรษฐกิจฐานรากจะถูกพัฒนา เหมือนวัวนม ไอ้เรารีดวัวนมแล้วขายน้ำนมดิบ ทำไมเราไม่หีบน้ำตาลเป็นน้ำขาย ไปขายทำไมอ้อยสด ใช่ไหม ขี้วัวก็กลายเป็นของเรา ชานอ้อยก็เป็นของเรา”

ทางออก เติมอากาศให้โอกาส ให้ฐานรากได้หายใจ

แน่นอน นี่ไม่ใช่การคัดง้างเรื่องเศรษฐกิจฐานรากอย่างเลื่อนลอย ในบทสังเคราะห์จากการวิจัยนั้น สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ ได้เสนอทางออกไว้ 14 แนวทาง มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ต้องทำอย่างไร (คลิกดาวน์โหลดบทสังเคราะห์) แต่หากอยากฟังข้อความรวบยอด นี่คือความคิดอย่างย่นย่อเพื่อแสวงหาทางออก และต่อยอดจากสิ่งที่ทำมาแล้ว

“ประการแรก ผมอยากให้มีความหลากหลายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ คือเหมือนกับว่าในชุมชนหรือในพื้นที่มีศักยภาพไม่เท่ากันนะ หนึ่ง คือความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในการผลิต ศักยภาพของที่ดิน น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ภูมิอากาศ ทุกอย่าง มันจะบอกว่าคุณควรทำอะไร ผมไม่ได้บอกถึงการ zoning นะ แต่หมายถึงว่าศักยภาพแท้จริงที่ควรทำคืออะไร สอง ควรเป็นกิจกรรมที่หลากหลายด้วย และต้องสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่หน่วยการผลิต ในระดับครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจที่รวมกันหลายๆ ครัวเรือน และควรจะมีผลผลิตออกไปแล้วสร้างรายได้กลับมา และควรจะมีระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้เรื่องพวกนี้ได้ ควรมีกฎหมายที่มาดูแล รวมถึงความสามารถบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ ที่จะต้องลงไปทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากฐานทรัพยากร หรือวัตถุดิบที่เรามี ไม่ใช่แบบว่าเป็นสังคมที่ผลิตวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมเอาไปทำกำไร มันไม่ควรเป็นแบบนั้นแล้ว อันนี้คือข้อเสนอในเชิงนโยบาย

“ประการที่สอง ต้องมีคนช่วย กลไกของรัฐต้องช่วยและเปลี่ยนรูปแบบ ในการลงมาช่วยอาจจะมีลักษณะที่ไม่ใช่แบบ เฮ้ย! รัฐก็เขียนโครงการไง มาช่วยชาวบ้านอบรม ทำนั่นนี่นู่น ตั้งกลุ่มอะไรก็จบไป แต่ควรจะมีลักษณะเป็นแบบหุ้นส่วน เป็นการลงทุนร่วมกัน แล้วก็เป็นการลงทุนร่วมของบริษัทเอกชนที่หลากหลายด้วย อาจจะเป็นกลุ่ม startup ใหม่ๆ กลุ่มทุนที่มีขนาดเล็กในท้องถิ่น มาช่วยกันทำเรื่องพวกนี้ ซึ่งบางทีถ้าไม่คิดอะไรมาก อย่างบริษัทประชารัฐก็โอเค แต่ไม่ควรมีหน้าตาที่ไปเชื่อมโยงกับราชการมากนัก ต้องมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มีความพยายามในการที่จะสร้างธุรกิจที่เข้มแข็งจริงๆ

“แล้วอีกประการคือ ผมให้ความสำคัญมากกับฐานนิเวศ เรื่องฐานทรัพยากร คือคุณพัฒนาเศรษฐกิจได้แต่คุณไม่ควรล้างผลาญทรัพยากร เพราะมันไม่เหลือแล้ว เช่น ป่าไม้ก็ลดน้อยลง คุณจะไปไล่จับชาวบ้านที่บุกรุกป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ของรัฐ ก็เป็นปัญหาอยู่ตลอด เพราะคนเขามีข้อจำกัดเรื่องที่ดิน ขณะที่ป่าชุมชน ป่าบุ่งป่าทาม ป่าที่ราบลุ่มริมน้ำ ป่าสาธารณประโยชน์ ป่าครอบครัว สิ่งเหล่านี้ทำไมไม่มาหนุนเสริมบ้าง มันกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้มากนะครับ เช่น ถ้าใครปลูกป่า หรืออนุรักษ์ป่าไว้ในที่ดินตัวเอง ไม่ต้องเสียที่ดิน รัฐมีเงินอุดหนุนให้ไร่ละเท่านี้ๆ เอาไปขาย carbon credit ได้ ปลูกได้ ไม่ต้องมีข้อจำกัดมาก ผมว่านี่เป็นช่องทางอาชีพที่คนไม่อยากทำอ้อยก็มาปลูกป่า มีโรงงาน มีวิสาหกิจที่จะมาแปรรูปพวกนี้ มีเฟอร์นิเจอร์เป็นเครื่องใช้ไม้สอย เป็นของเด็กเล่น เป็นไม้แปรรูป ส่งออก ทำเครื่องดนตรี คือเราต้องพัฒนาไปแบบนั้น ไม่ใช่ว่าให้ชุมชนขายแรงงานราคาถูก ขายวัตถุดิบราคาถูก เพื่อการเติบโตของทุนอุตสาหกรรม เราก็มาบอกว่า นี่ไง รายได้ประชาชาติเราเยอะ หารเฉลี่ยต่อหัวแล้วก็เยอะไง แต่ไม่เฉลี่ยจริงไง ไม่ได้เอามาให้จริง

“ถ้าเป็นแบบนี้ได้ รัฐสวัสดิการก็จะเกิด ไปหนุนเสริมสวัสดิการระดับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเอาเม็ดเงินพวกนี้มาทำให้สวัสดิการดีขึ้น เรื่องการศึกษา เรื่องของคุณภาพชีวิตประชาชน เรื่องอะไรต่างๆ ที่เรายังขาดตกบกพร่องเยอะแยะไปหมดเลย จะทำให้เศรษฐกิจอาจจะไม่ได้โตมาก แต่การกระจายถูกเกลี่ยให้ทุกคนในสังคมมีความสุขร่วมกันได้ ผมอยากเห็นแบบนั้นมากกว่าที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบระเบียงนั่น ระเบียงนี่ เต็มไปหมด พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษก็เต็มไปหมด แต่กลับไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง”

วิธีการที่ว่ามาจะช่วยแก้ปัญหา หรือลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำได้? เราถาม และเขาตอบว่า

“ใช่ครับ เพราะว่าความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร? เกิดจากโอกาสในการเข้าถึง ทรัพยากร ทุน การศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวก และเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี คนชนบทแย่กว่าคนในเมืองอยู่แล้วถ้าพูดถึงเรื่องพวกนี้ ฉะนั้น 1. ต้องกระจายอำนาจ 2. ต้องกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับลงมา 3. ต้องเพิ่มกำลังซื้อในท้องถิ่น และ 4. ต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากท้องถิ่นขึ้นไป แล้วทำให้มีเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ต้องดี ฐานทรัพยากรที่เอื้ออำนวยกับชีวิตก็ต้องมี”

สนับสนุนโดย

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า