เรื่องราวของคนสามกลุ่ม ในวัย 18+ ผู้ซึ่งมีความรัก ความชอบ และรสนิยมทางการเมืองแตกต่างกัน ทว่าการลงประชามติภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวในครั้งนี้ ไม่เปิดโอกาสให้ใครต่อใครได้ออกมาเปิดเผยความคิดเห็นต่อสาธารณะได้มากนัก แม้หลายคนจะมีคำตอบที่เลือกไว้ในใจ แต่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยบอกใคร เพราะมีบางอย่างจุกอยู่ในลำคอ โดยเฉพาะกฎข้อห้ามใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 ที่ยากจะตีความ
จุดร่วมของคนทั้งสามกลุ่มที่ก่อให้เกิดเรื่องรักสามเศร้าก็คือ ทุกคนต่างก็ล้วนมีความห่วงใยและปรารถนาดีต่อบ้านเมืองเช่นเดียวกัน หากแต่เหตุผลในการตัดสินใจเลือก ‘รับ’ ‘ไม่รับ’ หรือ ‘ไม่เลือกเลย’ ล้วนให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
คนทั้งสามกลุ่ม จะต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไร เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เหตุและผลของการ Vote Yes
เหตุ:
- รักชาติยิ่งชีพ
- ขจัดคนโกงบ้านกินเมือง
- รับไปก่อน แก้ทีหลัง
- เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ
- มีผู้นำเป็นคนดี บ้านเมืองสงบ ไม่มีชุมนุมวุ่นวาย
- จะได้เลือกตั้งเร็วๆ เสียที
ผล:
- จะมีการเลือกตั้ง สส. อย่างเร็วที่สุดภายในเดือนธันวาคม 2560
- ในวาระห้าปีแรก สว. ทั้ง 250 คน มาจากแต่งตั้งของ คสช.
- เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’
เหตุและผลของการ Vote No
เหตุ:
- รธน. ปราบโกงไม่ได้จริง ไม่เปิดช่องให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ
- สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดภายใต้คำว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ที่คลุมเครือ
- สิทธิเรียนฟรี สิทธิบัตรทอง ถูกเปลี่ยนความหมายเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกลดขั้น กลายเป็นเพียงผู้รอรับความช่วยเหลือจากรัฐ
- แก้ไข รธน. ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก สว.ที่แต่งตั้งโดย คสช. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
- การได้มาซึ่งนายกฯคนนอก อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด
ผล:
- ประเทศไทยไปทางไหน? …ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดจากปากทั่นผู้นำ
เหตุและผลของการ No Vote
เหตุ:
- ร่าง รธน. คืออัลไล อ่านแล้วงง
- ไม่รักนะ แต่ไม่แสดงออก
- ไม่ยอมรับกติกาใดๆ จากผู้ที่ไม่มีสิทธิ์กำหนดกติกา
ผล:
- ความเงียบ
*คำอธิบาย: การเลือกนายกรัฐมนตรี
‘ในกรณีปกติ’ ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ไม่เกินสามชื่อไว้ก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาจากรายชื่อที่เสนอไว้นั้น โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
‘ในกรณีพิเศษ’ ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 บทเฉพาะกาล กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกหากไม่สามารถตั้งนายกฯ จากสามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา อาจให้ตั้งนายกฯ ‘คนนอก’ ได้ โดยมีสามขั้นตอน คือ
- สส.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอให้มีนายกฯคนนอก
- รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สส. และ สว. ลงมติด้วยเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน เพื่ออนุมัติให้มีนายกฯคนนอกได้
- สส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คน เสนอชื่อใครก็ได้ให้เป็นนายกฯ และลงมติเห็นชอบด้วยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน
อ่านเพิ่มเติม: http://www.ilaw.or.th/node/4068
(ที่มา: iLaw)
เอาเป็นว่า…ไม่ว่าผลการตัดสินใจของคนทั้งสามกลุ่มจะลงเอยอย่างไร สุดท้ายแล้ว คสช. และ ม.44 ก็จะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ดังที่กำหนดในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่ยังไม่หมดไป