อาหารคีวี: พัฟโลวาสักชิ้นไหม

ตอนที่แล้ว (โต๋เต๋แบบจนๆ เลี้ยงส่งสาวบ้านนอกเข้ากรุง) เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของผมในผับหลายแห่งในนิวซีแลนด์ ได้พบคนหลากกลุ่มผู้มีรอยยิ้ม อารมณ์ขัน และมิตรภาพต่อผม กับกิจกรรมต่างๆ ที่คนท้องถิ่นทำกันในผับ และการดื่มกินในผับ

ผมเล่าถึงงานเลี้ยงเล็กๆ ในผับของเมืองโฮคิทิคา เมื่อมิตรสหายกลุ่มหนึ่งร่วมแสดงความยินดีกับเพื่อนหญิงที่กำลังจะเดินทางไปเมืองไครสต์เชิร์ชเพื่อเริ่มต้นงานใหม่ และโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตของเธอ เป็นเหตุให้เพื่อนๆ ต้องมาฉลองกับความสำเร็จของเธอ – และช่วยให้ชายแปลกหน้าอย่างผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต ความคาดหวัง ธรรมเนียมบางอย่าง และความสัมพันธ์ของคนในเมืองเล็กๆ อันเป็นประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งยวดสำหรับผม

เพื่อนชายหญิงกลุ่มนั้นยังเลี้ยงอาหารจานใหญ่ให้ผม เป็นมันฝรั่งทอดและไส้กรอกเส้นใหญ่เต็มจาน ว่ากันว่าไส้กรอกชนิดนี้มักทำจากเนื้อสัตว์หลายชนิดปะปนกัน มีทั้งเนื้อหมู ไก่ วัว และแกะ แล้วปรุงรส คนไทยที่ผมรู้จักบางคนบ่นเรื่องกลิ่นของไส้กรอกชนิดนี้เวลาทำสุกแล้ว ว่ามีกลิ่นเหม็นบางอย่างที่ไม่คุ้นเคย แรกๆ ที่เริ่มกินผมก็ได้กลิ่นเนื้อไหม้ไฟบางอย่าง กลิ่นประหลาดๆ บอกไม่ถูก แต่พอกินไปกินมาก็เริ่มเคยชินกับกลิ่นที่ว่า ไม่รู้สึกถึงความประหลาด

ผมจึงคิดว่าควรเขียนถึงประสบการณ์ด้านอาหารที่ผมเห็นคนนิวซีแลนด์กิน และบ่อยครั้งที่ผมกินกับพวกเขา จนอาจพูดได้ว่าคุ้นเคยกับอาหารหลายชนิดในประเทศนั้น

แย่งชิงการเป็นเจ้าของขนม

ผมเดาว่าเมื่อพูดถึงอาหารนิวซีแลนด์ คนไทยจำนวนมากคงนึกถึงแลมป์ชอปหรือเนื้อแกะอบ ซึ่งอาจเป็นอาหารหลักจานหนึ่งของคนคีวี ทว่าหากพูดถึง ‘อาหารประจำชาตินิวซีแลนด์’ แล้ว อย่าแปลกใจหากผมจะบอกว่า ไม่ใช่แลมป์ชอป แต่เป็นขนมที่ทำจากไข่ขาวที่รู้จักกันในนาม ‘พัฟโลวา’ (Pavlova)

และไม่ต้องประหลาดใจนะครับถ้าผมจะบอกด้วยว่า ขนมก้อนนี้ได้นำไปสู่สงครามระหว่างชาติเลยทีเดียว คู่กรณีคือนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เพราะทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าประเทศของตนคือถิ่นกำเนิดของขนมชนิดนี้ เป็นต้นตำรับขนานแท้ดั้งเดิม สำหรับทั้งสองประเทศ การเรียกร้องในเรื่องนี้เป็นไปอย่างจริงจังมาก ไม่มีฝ่ายใดยอมลดราวาศอกให้กัน เป็นการเรียกร้องที่จริงจังจนอาจพูดเล่นๆ ได้ว่ากลายเป็นสงครามแย่งชิงการเป็นเจ้าของเลยทีเดียว! แต่เป็นสงครามที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง และไม่มีการบาดเจ็บหรือล้มตาย – แค่อาจเจ็บใจกันบ้างที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริงสักที

จะจริงจังอะไรกันขนาดนั้น – ท่านผู้อ่านบางคนอาจคิดว่าผมโม้ หรือไม่ก็กำลังโกหกอยู่ – ไม่โม้และไม่โกหกครับ เขาจริงจังกันมาก มากจนระดับศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีชื่อดังของประเทศอย่าง เฮเลน ลีช (Helen Leach) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสวนครัว แห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก ผู้เคยเลคเชอร์ยาวเรื่องพืชสวนครัวให้ผมฟัง (เธอเป็นทั้งครูและหญิงใจดีผู้น่ารัก และฉลาดเฉลียวอย่างยิ่ง) ต้องเข้าร่วมในการต่อสู้เรียกร้องด้วย โดยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า “ฉันพบว่ามีสูตรทำพัฟโลวาอย่างน้อย 21 สูตร ในตำราทำอาหารนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 1940 ซึ่งเป็นปีที่สูตรในการทำพัฟโลวาเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย”[1]

ขนาดระดับศาสตราจารย์ต้องออกหน้า ทำการค้นคว้า อ้างอิงเอกสารและหลักฐานอย่างเป็นวิชาการเช่นนี้ การเรียกร้องเพื่ออ้างการเป็นเจ้าของที่แท้จริงก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ และมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน

พัฟโลวาเป็นขนมที่ทำจากไข่ขาว น้ำตาล และเกลือเล็กน้อย ผสมให้เข้ากันแล้วตีจนขึ้นฟูเป็นก้อน เติมน้ำส้มสายชูหรือเลมอน แป้งข้าวโพด และกลิ่นวานิลลา ตีให้เข้ากันแล้วนำไปอบจนกรอบ แต่งหน้าด้วยครีม สตรอว์เบอร์รี และอาจมีกีวีฟรุตด้วยก็ได้ ผมเคยกิน 2-3 ครั้ง เป็นขนมที่เบาและหวานมาก คนที่ผมรู้จัก ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทั้งคนไทยและคีวี ชอบกินพัฟโลวา จึงไม่แปลกใจที่คนคีวีและออสซีต่างแย่งชิงความเป็นเจ้าของเหนือขนมจานนี้

ระหว่างที่รอข้อสรุปว่าใครเป็นเจ้าของดั้งเดิมของขนมชิ้นนี้ ผมอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านลองชิมลองกินกัน ส่วนผมขอยอมแพ้ความหวานของพัฟโลวา

ไม่ใช่ฮอบบิท แต่ก็กิน 6 มื้อ

ท่านผู้อ่านคงรู้จัก ‘ฮอบบิท’ ในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of The Rings และคงรู้ว่าฮอบบิทรื่นเริงกับงานสังสรรค์เฮฮา การกินและดื่มเป็นอย่างยิ่ง แต่ละวันจึงบริโภคอาหาร 6 มื้อ (ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นก่อน) ผมอยากจะบอกว่าไม่ได้มีแค่ฮอบบิทเท่านั้นที่กิน 6 มื้อ คนนิวซีแลนด์บางคนที่ผมรู้จักก็กิน 6 มื้อเช่นกัน

ดอนและออเดรย์ เป็นคู่สามีภรรยาคนพื้นถิ่นเมืองดันนิดินผู้อารีและมีอัธยาศัยยอดเยี่ยม ผมรู้จักทั้งสองผ่านเพื่อนรุ่นพี่คนไทยผู้หนึ่ง ดอนเป็นอาจารย์สอนวิทยาลัยครูของเมือง ผู้มีงานอดิเรกด้านการช่าง – สร้างบ้านหลังใหม่ด้วยตัวคนเดียว ทำเรือบดเล็ก (dinghy) ที่เป็นโลหะ และของใช้อีกสารพัดอย่าง – และสนใจประวัติศาสตร์และเรื่องราวของสังคมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้แกและภรรยามาเที่ยวแถวนี้หลายครั้ง มีเพื่อนคนไทยหลายคน ส่วนออเดรย์เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกชาย 3 คนที่โตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว และทำ/อบขนมสารพัดชนิดได้อร่อยมาก (อร่อยจนร้านเบเกอรีบางแห่งน่าจะสู้ไม่ได้เลยทีเดียว!) เป็นคนขยันมาก บ้านจึงสะอาดสะอ้าน และทุกครั้งที่ผมไปบ้านทั้งสองจะได้กลิ่นขนมที่กำลังอบอยู่หรืออบเสร็จแล้ว หอมอบอวลไปทั้งบ้าน ทำปฏิกิริยาต่อต่อมน้ำลายของผมเสมอ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเธอแบ่งขนมให้กินแกล้มชาร้อนใส่นมสด ผมจึงไม่เคยปฏิเสธที่จะแวะไปบ้านนี้เลย – อันที่จริง ผมเคยไปนอนค้างบ้านนี้ 2-3 ครั้ง อีกทั้งเคยพักอยู่หลายวัน จนพอรู้ว่าทั้งสองกินอาหารอะไร เป็นอาหารธรรมดาๆ ที่มีความอร่อย

มื้อเช้าส่วนใหญ่เป็นขนมปังปิ้งทาแยมหรือเนย บางครั้งก็มีไข่ลวก แบบที่มีถ้วยเล็กๆ ให้ใส่ไข่ได้พอดีใบ หรืออาจเป็นไข่ดาว บางครั้งก็เป็น ‘พอร์ริดจ์’ (porridge) ต้มกับนม แต่ไม่บ่อยนัก เพราะท่าทางดอนดูจะไม่ค่อยชอบนัก ที่อาจจะแปลกอยู่บ้างคือ บางครั้งดอนจะหั่นกล้วยหอมเป็นชิ้นๆ แล้ววางลงบนขนมปังปิ้งที่ทาแยมแล้ว ผมก็เลียนแบบลองทำบ้าง ก็รู้สึกว่าโอเค กินได้ ดอนจะดื่มกาแฟตอนมื้อเช้า ไม่ใช่ชา อันเป็นเครื่องดื่มที่ทั้งสองดื่มทั้งวัน

แล้วดอนก็ขับรถไปทำงาน ออเดรย์จะทำงานบ้านจนถึงราว 10 โมง จะเป็นเวลาของ ‘มอร์นิ่งที’ (morning tea) เธอจะเรียกผมดื่มน้ำชาที่มักใส่นมสด (จนกลายเป็นรสชาติที่ติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาหรือกาแฟ ผมก็จะใส่นมสดเสมอ) แกล้มเค้กร้อนๆ หอมกรุ่นจากเตาอบหากวันนั้นมีการอบเค้ก หรือเป็น ‘สคอน’ (scone) ร้อนๆ นุ่มๆ ทาเนย หรืออาจเป็นมัฟฟินร้อนๆ ก็ไม่เลว และที่ไม่เคยขาดเลยคือบิสกิต (ที่คนอเมริกันเรียกว่าคุกกี้) สารพัดชนิดที่ออเดรย์อบเป็นประจำ

มื้อกลางวันเป็นอาหารง่ายๆ เช่น พายเนื้อที่ออเดรย์ทำเอง บางครั้งก็ซื้อจากร้าน เนื้อแกะอบ ไก่อบ หรืออาหารที่ทำจากไข่ บางครั้งเป็นอาหารที่เหลือจากมื้อเย็นของวันก่อน กินกับมันฝรั่งบดหรือขนมปัง (ออเดรย์ไม่ค่อยอบขนมปังเอง เธอบอกผมว่าซื้อกินง่ายกว่า) และผักต้ม หรือมีสลัดผักบางครั้ง แต่ไม่บ่อยนัก

ประมาณบ่าย 3 โมง เป็นเวลาของ ‘อาฟเตอร์นูนที’ (afternoon tea) เป็นการดื่มชากับเค้กหรือขนมอื่นๆ เหมือนมอร์นิ่งที (แต่มิได้หรูหราราคาแพง มีขนมสารพัดชนิดแบบอาฟเตอร์นูนทีที่มีบริการตามโรงแรมหรือภัตตาคารบางแห่งในกรุงเทพฯ ที่คนไทยบางกลุ่มกำลังนิยมกินกันในเวลานี้)

อาหารมื้อเย็นมักเป็นเนื้อแกะอบ เป็นเนื้อแช่แข็งที่ดอนเอาออกจากตู้แช่แข็ง (freezer) ในตอนเช้าก่อนไปทำงาน (ในบ้านมีตู้แช่แข็งขนาดใหญ่เพื่อแช่อาหารเก็บสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน เช่น ช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่นเดียวกับบ้านของคนนิวซีแลนด์คนอื่นๆ ที่ผมรู้จัก บางบ้านมีตู้แช่แข็ง 2 ตู้ด้วยซ้ำ! ผมควรบอกด้วยว่า ดอนมักซื้อเนื้อแกะชิ้นใหญ่ๆ หรือส่วนที่เป็นขาหลังและสะโพก แล้วตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ ห่อด้วยพลาสติกก่อนนำไปใส่ในตู้แช่แข็ง จึงมีเนื้อให้บริโภคได้นานนับเดือน) เมื่อกลับถึงบ้านตอนเย็น เขาจะเอาเนื้อแกะใส่ถุงพลาสติกสำหรับอบเนื้อ โรยเกลือและพริกไทยลงบนเนื้อ แล้วมัดปากถุงให้แน่น ถุงนี้เป็นพลาสติกทนความร้อน พอเนื้อสุกน้ำมันที่ละลายออกมาจากชิ้นเนื้อยังอยู่ในถุง ช่วยให้เนื้อมีความชุ่มฉ่ำ แล้วเขาจะเอาน้ำมันบางส่วนไปทำซอสเกรวีเพื่อราดบนชิ้นเนื้อก่อนกิน บางมื้อก็เป็นไก่อบ แฮมชิ้นหนาๆ บางครั้งก็เป็นไส้กรอกเส้นโตที่ผมกล่าวถึงข้างต้น แต่ไม่บ่อยนัก (มักเป็นตอนที่ลืมเอาเนื้อออกจากตู้แช่แข็ง จึงไม่มีเนื้อกิน ต้องกินไส้กรอกแทน)

คนนิวซีแลนด์เรียกมื้อเย็นว่า ‘ที’ (tea – แต่มีความหมายมากกว่าแค่ ‘น้ำชา’) เป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวัน นอกจากมีปริมาณอาหารมากกว่ามื้ออื่นแล้ว ยังมักมีอาหารหลายจาน รวมทั้งของหวานที่เป็นจานสุดท้าย ที่ผมเจอบ่อยคือพายผลไม้ เช่น พายแอปเปิล ที่ออเดรย์ทำเองอบเอง ราดหน้าด้วยครีมหรือกินกับไอศกรีม ที่อาจดูแปลกสำหรับคนทั่วไปคือ ดอนและออเดรย์จะกินมื้อเย็นราว 5 โมง หรือ 5 โมงครึ่งเป็นอย่างช้า พอกินเสร็จทั้งสองจะออกไปเดินเล่น (ถ้าเป็นฤดูใบไม้ผลิหรือหน้าร้อน) ถ้าอากาศไม่ดีก็อยู่ในบ้านนั่งดูข่าวทีวี หรือดอนอาจลงไปทำงานในโรงรถที่อยู่ใต้ถุนบ้าน

จนราว 3 ทุ่ม จะเป็นเวลาดื่มชาอีกครั้ง ปกติจะดื่มแค่น้ำชา แต่อาจมีบิสกิตหรือขนมเล็กๆ น้อยๆ กินด้วย ดื่มชาคุยกันสักพักทั้งสองก็เข้าห้องนอนเพื่อพักผ่อน

รวมมื้อเช้า กลางวัน และเย็น บวกเวลาดื่มชาอีก 3 ครั้ง รวม 6 มื้อ!

หากผู้อ่านท่านใดคิดว่าการดื่มชาแกล้มเค้กไม่ใช่มื้ออาหาร ผมแนะนำให้คิดไตร่ตรองอีกครั้ง เพราะหากเปรียบเทียบกันในเรื่องแคลอรี ว่ากันว่าเค้กหนึ่งชิ้นมีแคลอรีมากกว่าข้าวไข่เจียวครึ่งจานเสียอีก การดื่มชาแกล้มเค้กจึงเป็นการกินที่จริงจังอย่างยิ่ง ทั้งในด้านแคลอรีและความรู้สึกอิ่มท้อง

วันตรุษฝรั่งไม่แพ้ตรุษจีน

เพื่อยืนยันว่าคนคีวีชอบพอการกินมากมายเพียงใด ผมขอเล่าถึงอาหารในวันคริสต์มาส (เป็นช่วงวันหยุดยาว อย่างน้อย 10 วัน ถึง 2 สัปดาห์ บางคนอาจหยุดยาวเลยวันปีใหม่ไป 2-3 วัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา) ที่บ้านของดอนและออเดรย์

เวลาจะฉลองคริสต์มาสก็ต้องมีเค้กคริสต์มาส ที่ปกติจะเป็นเค้กผลไม้ที่แน่นและหนัก แคลอรีมหาศาล (ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนห่วงเรื่องน้ำหนัก แนะนำให้หลีกเลี่ยงเค้กชนิดนี้) และต้องใช้เวลาเตรียมการ 2-3 เดือน! ด้วยเหตุนี้ ออเดรย์จึงเริ่มทำเค้ก 2 เดือนก่อนวันสำคัญ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกผลไม้ที่จะใส่ในเค้ก ล้างให้สะอาดแล้วแช่น้ำให้นิ่ม ตามด้วยการหมักแป้งสำหรับทำเค้ก และอีกสารพัดเรื่องที่ผมไม่ชำนาญ จึงไม่สามารถสาธยายได้หมด บอกได้เพียงว่าอร่อยมาก เป็นเค้กที่แน่นด้วยผลไม้และเนื้อแป้งหมัก มีกลิ่นและรสของเหล้าที่มักเป็นเชอร์รี บรั่นดี หรือเหล้าชนิดอื่น (ออเดรย์ใส่เหล้าอย่างละนิดละหน่อยหลายชนิด) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับกินกับชาร้อนแก่ๆ

อาหารในวันคริสต์มาสมีหลายอย่างและจานใหญ่ๆ ทั้งนั้น อาหารจานหลักที่เป็นเนื้อมักเป็นแฮมก้อนใหญ่ น้ำหนักน่าจะหลายกิโลกรัมเพราะชิ้นใหญ่มาก แล้วดอนจะโชว์ฝีมือหั่นแฮม สไลซ์ออกเป็นแผ่นๆ ค่อนข้างหนา อีกจานอาจเป็นไก่อบตัวใหญ่ เนื้อแกะอบก็มีเช่นกัน เนื้อไก่และแกะมีซอสเกรวีให้ราด อาจมีพายเนื้อและผักถาดใหญ่ที่ออเดรย์ทำเองอบเอง อาหารจานผักอีกจานสองจาน หรืออาจมีผักสลัด และขนมอีกหลายจาน ทั้งพายผลไม้ ขนมหลากหลายชนิดที่ออเดรย์อบเอง

จานที่ขาดไม่ได้คือเค้กผลไม้คริสต์มาส ที่กระบวนการทำยุ่งยากวุ่นวาย แต่อร่อยจนต้องกินมากกว่าหนึ่งชิ้น นอกจากนี้ยังมีไอศกรีมที่ทำจากนมไขมันเต็มส่วน (full cream milk) จึงมีรสชาติหวานมัน เต็มปากเต็มคำ เป็นของหวานที่ผมชอบมาก และช็อกโกแลต[2] ซึ่งมีรสชาติหวานมันไม่แพ้ไอศกรีม

ห้องที่อุ่นที่สุดในบ้าน

หัวข้อนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารโดยตรง แต่ผมเดาว่าผู้อ่านบางคนที่เคยไปอยู่หรือเที่ยวประเทศที่มีอากาศหนาวอาจสนใจ และเข้าใจว่าเพราะเหตุใดผมจึงเขียนถึง

อย่างที่เคยบอกแล้วว่า เมืองดันนิดินมีอากาศหนาวและเปียกชื้นเกือบทั้งปี แม้แต่ในฤดูร้อนอากาศก็ยังเย็นมาก เนื่องจากเป็นเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยกระแสน้ำเย็นที่ไหลมาจากขั้วโลกใต้ และด้วยเหตุที่บ้านเรือนทั่วไปไม่มีระบบทำความร้อนแบบ ‘central heater’ ที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบางประเทศในยุโรป แต่มักใช้เพียงฮีตเตอร์ธรรมดา เพื่อเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้า คนนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักจะเปิดใช้ฮีตเตอร์เท่าที่ต้องการเท่านั้น ห้องใดในบ้านไม่ได้ใช้ก็ไม่เปิดฮีตเตอร์ บ้านเรือนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะใต้ จึงมีอากาศเย็นมากค่อนไปทางหนาว (หากเป็นคนขี้หนาว)

ในบ้านของดอนและออเดรย์ก็เช่นกัน ห้องใดไม่ได้ใช้ก็ไม่เปิดฮีตเตอร์ ทว่าห้องที่อบอุ่นอยู่เสมอและอุ่นที่สุดในบ้านคือ ห้องอาหารและครัวซึ่งอยู่ติดกัน เพราะได้รับความร้อนจากเตาในครัวเวลาที่ทำอาหาร อีกทั้งออเดรย์มักอบขนมอยู่เสมอ บางครั้งก็ทำ/อบเกือบทุกวัน ก็ยิ่งทำให้ห้องอาหาร/ครัวอุ่นอยู่ตลอดเวลาหากออเดรย์อยู่บ้าน ทำให้ทุกคนในครอบครัว รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องอย่างผม มักนั่งกันในห้องอาหารแม้ว่าจะไม่ใช่เวลาอาหารหรือดื่มชาก็ตาม

มีอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมชอบห้องอาหาร นั่นคือของกิน เวลาผมนั่งที่โต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะอ่านหรือเขียนหนังสือ หรือนั่งชมวิว (บ้านหลังนี้อยู่บนเนินเขา หันหน้าไปทางอ่าวที่ไหลออกทะเล ฝั่งตรงข้ามของอ่าวมีบ้านเรือนตั้งอยู่บนเนินเขาเช่นกัน มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ดูสวยงาม เงียบสงบ ผมนั่งมองได้ทั้งวัน ไม่เบื่อเลย) นั่งเพลินๆ สักพักออเดรย์ก็จะถามว่าหิวไหม จะเอาขนมสักชิ้นไหม – เนื่องจากผมเป็นคนขี้เกรงใจ จึงไม่เคยปฏิเสธข้อเสนอของเธอ

ท่านผู้อ่านคงนึกออกแล้วว่า ดอนและออเดรย์เป็นคนน่ารักเพียงใด และทำไมผมจึงหลงรักนิวซีแลนด์และผู้คน

เนื้อวัวแพงกว่า

ในการรับรู้ของคนไทยทั่วไป อาหารการกินในนิวซีแลนด์มักควบคู่มากับเนื้อแกะ ซึ่งก็ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่เนื้อแกะนั้นมีหลายราคา เนื้อชนิดดีเกรดเอราคาแพงทีเดียว เนื้อส่วนขาและสะโพกที่ดอนซื้อเป็นประจำก็ไม่ถูกเลย แต่ถ้าซื้อทั้งชิ้นใหญ่ๆ ก็อาจได้ราคาพิเศษ เนื้อแกะส่วนที่มีราคาถูกที่สุดคือแลมป์ชอปที่มีเนื้อติดกระดูกน้อย แต่มีมันแยะ หากพิจารณาจากปริมาณของเนื้อที่ได้หลังจากเลาะออกจากกระดูกแล้วอาจคิดว่าราคาไม่ถูกเลย เพราะได้เนื้อไม่มาก เป็นส่วนที่เป็นไขมันมากกว่า

ถ้าผมจำไม่ผิด เนื้อไก่มีราคาถูกกว่าเนื้อชนิดอื่น ส่วนเนื้อหมู ซึ่งราคาไม่ถูก แต่คนไทยชอบกิน ก็มีกลิ่นสาบ เล่ากันว่าเพราะหมูที่เลี้ยงในประเทศนี้ไม่ได้ถูกตอน เนื้อจึงมีกลิ่นสาบ เท็จจริงประการใดผมไม่อาจทราบได้ แต่นี่คือเรื่องที่เล่ากันในหมู่คนไทยที่นั่น

เนื้อที่มีราคาแพงที่สุดคือเนื้อวัว เหตุผลหนึ่งเพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเนินเขา มีที่ราบไม่มากนัก ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงวัวจำนวนมาก ในเกาะใต้บริเวณที่เลี้ยงวัวคือที่ราบแคนเทอร์เบอรี ที่อยู่เกือบตรงใจกลางของเกาะ เมื่อมีจำนวนวัวไม่มาก ราคาจึงแพงกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น

(ด้วยความอยากรู้ ผมลองเข้าไปเช็คในอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อวัวที่ใช้ทำเบอร์เกอร์ของ McDonald’s ในนิวซีแลนด์ แม็คฯ ระบุว่าบริษัทใช้ทั้งเนื้อวัวและแกะในการทำอาหาร นอกจากนี้แล้วเนื้อวัวส่วนใหญ่ยังมาจากฟาร์มในเกาะเหนือ พอค้นดูราคาของเมนูต่างๆ ก็เห็นว่าค่อนข้างแพง แม้แต่ฟาสต์ฟู้ดอย่างแม็คฯ ยังแพง ราคาเนื้อวัวในนิวซีแลนด์ในปัจจุบันน่าจะยังสูงทีเดียว?)

พายร้อนๆ เวลาหิว

นอกจากไม่ค่อยมีทักษะในการทำอาหารแล้ว ผมยังขี้เกียจมาก เพราะการทำอาหารยังหมายถึงการล้างจานชามหม้อไหกระทะทั้งหลาย เสียเวลาและค่อนข้างโหดร้ายต่อสภาพของมือที่ต้องเจอกับน้ำร้อนและน้ำยาล้างจาน ผมจึงไม่ค่อยทำอาหาร แต่เลือกกินอะไรง่ายๆ เวลาที่ต้องกิน อาหารที่กินเป็นประจำคือขนมปัง เนยแข็ง ไข่ไก่ต้ม ผักสดราดด้วยมายองเนส ปิดท้ายด้วยแอปเปิลสักลูกหรือกล้วยหอมสักใบ หรือไม่ก็เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่ทำในมาเลเซีย ฉีกซองแล้วเอาบะหมี่ใส่หม้อต้มกับน้ำซุป เติมไข่ไก่ กะหล่ำปลี แครอท หรือผักอะไรก็ตามที่มีในตู้เย็น

แต่มีอาหารนิวซีแลนด์ชนิดหนึ่งที่ผมซื้อกินบ่อย อาจจะบ่อยกว่าฟิชแอนด์ชิปส์ (ที่ผมจะพูดถึงในตอนหน้า) เสียอีก นั่นคือพายเนื้อ เพราะสะดวก มีขายทั่วไป ร้านค้าที่ขายจะอบพายไว้ในเตาอบเสมอ ซื้อแล้วกินร้อนๆ ได้ทันที มีสารพัดไส้ ทั้งพายไก่ พายไก่และเห็ด พายเนื้อบด ที่ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของเนื้อแกะ พายที่ผมกินบ่อยคือเนื้อบดและเห็ด พายไก่และผัก ตรงกันข้าม ถ้าถามถึงพายเนื้อที่เลวร้ายที่สุดต่อโสตประสาทด้านการกิน ไม่ว่าจะผ่านทางลิ้นหรือจมูก ผมว่าต้องยกให้ ‘steak and kidney pie’ ที่มีกลิ่นเหม็นมาก และรสชาติก็แย่จนสุดที่จะพรรณนา ผมเคยลองซื้อกินครั้งหนึ่ง กินได้สองคำก็ต้องยอมแพ้ โยนพายที่กำลังร้อนๆ อยู่ทิ้ง เพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว

ลองนึกว่ากินเซี่ยงจี๊ที่ล้างไม่สะอาด ท่านผู้อ่านคงรู้ว่ามันเหม็นขนาดไหน!

ที่น่าสนใจคือ ผมพบวิดีโอรายการ How to Dad ที่กำลังโด่งดังทั้งในนิวซีแลนด์และอีกหลายประเทศ มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพายเนื้อ อาหารที่คนคีวีนิยมบริโภค หาซื้อได้ทุกหนทุกแห่ง และเป็นอาหารที่จะกินเมื่อไรก็ได้ (ทำนองว่าหิวเมื่อไรก็กินเมื่อนั้น … ว่างั้นเถอะ) ชายลูกครึ่งคีวี-เมารี ผู้เป็นทั้งพิธีกร โฆษก พรีเซ็นเตอร์ ให้ข้อมูลว่า นิวซีแลนด์ผลิตพายเนื้อสารพัดชนิดและรสชาติ พายบางชนิดผมก็ยังไม่เคยกิน สันนิษฐานว่าคงเป็นสูตรพายที่คิดขึ้นมาใหม่ เพราะนอกจากพายต่างๆ ที่ผมกล่าวถึงข้างต้นแล้ว ตอนนี้ยังมีพาย ‘mince and cheese’, ‘steak and cheese’, ‘pepper steak’, ‘bacon and eggs’ (ซึ่งมีมานานพอควรแล้ว) และที่ดูใหม่จริงๆ เพื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่มคือ ‘vegetarian pie’ และ ‘vegan pie’[3]

ใครที่เป็นมังสวิรัติ ไม่ต้องกลัวอดแล้วครับถ้าไปเที่ยวนิวซีแลนด์ เพราะสมัยนี้มีอาหารมังสวิรัติและวีแกนให้เลือกกินหลายอย่าง

…เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารในนิวซีแลนด์ยังมีอีกครับ ยังไม่จบ คราวหน้าผมจะเล่าถึงอาหารจีนที่คนคีวีกิน และอาหารของชาวเมารีบางคนที่ผมเจอ

เชิงอรรถ

[1] ดู BBC News, “Pavlova created in New Zealand not Australia, OED rules”, 2 December 2010, <https://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-11897482>

[2] ช็อกโกแลตยี่ห้อ ‘Cadbury’ เปิดโรงงานผลิตช็อกโกแลตในเมืองดันนิดินมาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 ตั้งอยู่ค่อนไปทางแถบที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ไกลจากแฟลตที่ผมอยู่ ผมเคยเดินไปที่นี่ 2-3 ครั้ง บางครั้งโรงงานก็เปิดให้เข้าชมฟรี และระหว่างที่อยู่ในโรงงาน คนที่พาเดินชมจะชี้ให้ดูช็อกโกแลตที่ถูกคัดออกเพราะไม่ได้มาตรฐาน ถ้ามีจำนวนมากเขาก็ให้ผู้ที่เข้าชมกินฟรี บางครั้งเขาก็เอาช็อกโกแลตที่แตกหักไม่ได้มาตรฐานใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลเล็กๆ จำหน่ายถุงละ 50 เซ็นต์ วางไว้บนโต๊ะหน้าโรงงาน ใครอยากกินก็ซื้อได้ ผมเคยซื้อกิน รสชาติไม่ต่างจากช็อกโกแลตที่ขายกันทั่วไป เป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ผมชอบกิน

ทว่า มีรายงานข่าวว่าโรงงานแห่งนี้ปิดลงในปี 2018 เพราะมีแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ของเมือง มีขนาดใหญ่กว่าโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว บริษัท แคดเบอรี จึงขายที่ดินบริเวณที่เป็นโรงงานให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่

[3] ผู้ที่สนใจ ดูได้จาก How to Dad, “The Pies of New Zealand”, Jun 9, 2019, <https://www.youtube.com/watch?v=YMYS1K6Z_eI

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า