กระเบนราหู: จากผู้สร้าง ถึงผู้ชม…ว่าด้วยชาวโรฮิงญา

‘แด่ชาวโรฮิงญา’ เป็นข้อความแรกที่ถูกฉายบนจอของภาพยนตร์เรื่อง กระเบนราหู กำกับโดย พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง เป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่า ‘แด่’ มักถูกใช้กับคำนามแบบเฉพาะเจาะจง ‘แด่’ แสดงถึงความสนิทสนมระหว่างผู้ใช้กับผู้ที่ถูกกล่าวถึง แต่ ‘ชาวโรฮิงญา’ กลับไม่เข้ากับกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สำหรับผู้ชมส่วนใหญ่ชาวโรฮิงญาก็เป็นแค่กลุ่มควันที่มืดมัวมองไม่เห็นจุดกลาง ไม่มีชื่อในฐานะปัจเจก ข้อความดังกล่าวแสดงถึงความอุทิศที่ภาพยนตร์มีให้โรฮิงญา แต่มันกลับตอกย้ำผู้ชมว่าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาเลย

เราและเขาต่างเป็นคนแปลกหน้าต่อกันและกัน

กระเบนราหู เล่าเรื่องราวของชายชาวประมงผู้หนึ่งที่พบกับชายปริศนานอนบาดเจ็บอยู่ในป่าโกงกาง ชาวประมงพาชายปริศนาไปรักษาตัวที่บ้านของเขา เขาพบว่าชายปริศนาไม่สามารถพูดได้ (หรือตั้งใจไม่พูด?) ‘ธงไชย’ เป็นชื่อที่ชาวประมงตั้งให้เขา ชายชาวประมงคอยสอนวิธีการใช้ชีวิตให้กับธงไชย ทั้งสองกินข้าวด้วยกัน ทำงานด้วยกัน นั่งมอเตอร์ไซค์ไปด้วยกัน กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถนิยามได้ในโลกความเป็นจริง วันหนึ่งชายชาวประมงหายตัวไปอย่างปริศนา การหายตัวไปของชายชาวประมงทำให้ชีวิตของธงไชยเปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหวนคืน

ภาพยนตร์ความยาว 105 นาทีเรื่องนี้ได้คว้ารางวัลนานาชาติไปทั้งหมด 11 รางวัล รวมไปถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่มีชื่อเสียงไม่แพ้เทศกาลหนังเมืองคานส์

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม องค์กร Amnesty International Thailand จัดงาน Movies That Matter ฉายหนังที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนศึกษา นักปกป้องสิทธิ และผู้ลี้ภัย

โดยหลังการฉายภาพยนตร์มีงานพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ชม และ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ประกาศข่าวไทยทีวีสีช่อง 3 กับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับภาพยนตร์ โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากเพจ iLaw เป็นผู้ดำเนินรายการ ฐปณีย์และพุทธิพงษ์ต่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับชาวโรฮิงญาของตน เบื้องหลังภาพยนตร์ และความคิดเห็นต่อภาพยนตร์

ภาพจาก Amnesty International Thailand

ในฐานะนักข่าว ฐปณีย์เล่าย้อนถึงความสะเทือนใจเมื่อครั้งลงไปทำข่าวชาวโรฮิงญา และได้เห็นสภาพจริงๆ ภายใน Green Boat หรือเรือบรรทุกกลุ่มโรฮิงญาที่ไม่มีที่ไป เรือดังกล่าวเป็นสีเขียวมีรอยตัดสีขาวมีชาวโรฮิงญาอัดแน่นมากมายอยู่บนเรือ ภาพที่เห็นนั้นปะทะอย่างรุนแรง เติมความรู้สึกลงไปในข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ เช่นตัวเลขผู้ลี้ภัย ที่เธอเองได้ตามประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง

พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง (ผู้กำกับ) รู้ข่าวโรฮิงญาประมาณช่วงปี 2008 เพราะมี NGO กลุ่มหนึ่งที่ดูแลคนกลุ่มนี้อยู่ และช่วงปี 2009 ที่ทหารพยายามผลักดันชาวโรฮิงญาออกไป จึงเป็นข่าวขึ้นมาในหน้าสื่อ

พอประเด็นข่าวร้อนแรงขึ้นมาจากการพบศพชาวโรฮิงญามากมายบริเวณแคมป์ในปี 2011 จนถึงดีเบตในสังคมช่วงปี 2015 ผู้กำกับเองก็ยิ่งสนใจมากขึ้น เพราะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองอีกด้วย “มีการขุดประเด็นทางการเมืองขึ้นมาโจมตีคุณฐปณีย์ในเรื่องบางอย่าง ในตอนนั้น” พุทธิพงษ์กล่าว

“ผมยิ่งสะเทือนใจมากเมื่อเรากลับไปมองเพื่อนเรา มองเพื่อนที่โตด้วยกันมากับเรา อยู่ในสังคมที่คล้ายกัน แต่พอมาถึงประเด็นนี้ ทำไมเขาถึงคิดต่างกับเรามาก ทำไมเขาพูดถึงโรฮิงญาแบบในฐานะที่ไม่ใช่มนุษย์… มันเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นมาได้ยังไง นี่คือสิ่งที่ผมสนใจ”

ชาวประมงไร้ชื่อ และ ‘ธงไชย’

ยิ่งชีพถามว่า แล้วกระเบนราหูเกี่ยวอะไรกับหนัง มันมีความสัมพันธ์อย่างไรกับชาวโรฮิงญา ถึงนำมาเป็นตัวแทน

ในภาพยนตร์ ชายชาวประมงอธิบายให้ธงไชยฟังว่า กระเบนราหูชอบมาอาศัยในทะเลแถบนั้นเนื่องจากพวกมันมาหลบมรสุม

ผู้กำกับบอกว่าไม่เกี่ยวเลย การฉายวันแรกในการเปิดตัว คุณช่อ พรรณิกา ก็ถามว่าทำไมกระเบนราหูกับชาวโรฮิงญาถึงเดินทางคนละแบบกัน ชาวโรฮิงญามักจะอพยพมาในช่วงมีมรสุม แต่กระเบนราหูนั้นตรงกันข้าม “ผมไม่ได้เปรียบเทียบว่าโรฮิงญาเป็นกระเบนราหู คือเราไม่ควรจะเปรียบเทียบแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ที่ผมใช้กระเบนราหู คือผมสื่อถึงว่ามันเป็นสัตว์ที่ผมไม่ค่อยรู้จัก ประสบการณ์แรกที่ผมเจอตอนไปดำน้ำคือผมกลัว แล้วผมก็ได้เรียนรู้มัน จนมันไม่น่ากลัวอีกต่อไป”

นอกจากเส้นเรื่องของชีวิตชาวประมงแล้ว ในภาพยนตร์ยังมีอีกส่วนที่มีความแฟนตาซีของเรื่องเล่า ที่กล่าวถึงการเก็บหินมาร้อยทำลูกปัด ชาวประมงพาธงไชยเข้าไปในป่าแล้วเล่าถึงตำนานที่ว่า วันหนึ่งวัตถุที่ถูกฝังไว้ใต้ดินนี้จะส่องแสงออกมาจนสว่างไปทั่วป่า ซึ่งยิงชีพได้ถามแทนความสงสัยของผู้ชม ว่าผู้กำกับเองตั้งใจจะบอกอะไร

“ในหนังของผมมีสองส่วนที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งคือเรื่องราวพื้นฐานของมนุษย์ที่มันสมจริง คือการอยู่ด้วยกันสองคน การมีรักสามเส้า การถูกภรรยาทิ้ง และการที่ภรรยากลับมา พาร์ทนี้คือการทำให้มัน realistic ที่สุด แล้วมันก็มีอีกโลกหนึ่งของผม คือโลกที่มีป่า มีพลอยเรืองแสง มีอะไรบางอย่างที่อยู่ใต้ดินแล้วเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วเราก็พยายามที่จะฟังมัน เราไม่รู้ คนดูสงสัย และตัวผมเองซึ่งคือผู้กำกับก็ไม่รู้และสงสัยเหมือนกัน… แต่นี่คือความรู้สึกจากตอนที่ผมได้ข่าวจากที่สะเดา (ที่มีการพบศพชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกฝังไว้) เป็นร้อยๆ ศพ แต่ทำไมมันถึงไม่เกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้เลยวะ…เหมือน หายไปเลยน่ะ มันมี ‘บางอย่าง’ ที่มันโดนฝังอยู่ในนั้น และเราอยากได้ยินมัน”

จากคำตอบของผู้กำกับ ฐปณีย์พูดในฐานะผู้ชมว่า

“มีความรู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน คือบางทีมันเหมือนถูกฝังกลบ ชีวิต ความผิด ความเลวร้าย และมันก็ส่องแสงออกมา แต่ทำไมมันถึงไม่ได้รับความสนใจ คือมันมีข้อเปรียบเทียบว่า ตอนที่พบหลุมฝังศพน่ะ คนในสังคมมีความเห็นใจ สงสาร และเข้าใจ แต่พอเจอคนบนเรือ…ความรู้สึกมันเปลี่ยนได้ แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราสงสัยและตั้งคำถามเหมือนกัน

“เราถามตัวเองในฐานะสื่อ ว่าทำไมเราทำข่าวแล้วคนถึงยังไม่เข้าใจ ทำไมคนยิ่งเกลียดชัง ซึ่งเราโทษตัวเองมากเลยว่าเราทำข่าวยังไงมันถึงเป็นแบบนี้ แต่เราก็รู้ว่ามันมีหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาของชาติพันธุ์แล้ว แต่มันมีเรื่องของการเมืองด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เราคิดว่าจะทำยังไงให้เรื่องราวตรงนี้ที่มันถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินได้ส่องแสงออกมาให้คนได้เห็นปัญหา เป็นมุมหนึ่งที่หนังตรงกับความรู้สึกของเรา”

ยิ่งชีพสงสัยว่า ในเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อสารเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวในบ้านเรา มีอุปสรรคอะไรบ้างไหม

“ผมโดนน้อยมากหรือเรียกว่าไม่มีเลย อาจจะมีอุปสรรคนิดหน่อยตอนช่วงเตรียมการถ่ายทำ ซึ่งเป็นช่วงที่คุณฐปณีย์มีปัญหาพอดี อย่างตอนนั้นผมตั้งใจจะไปถ่ายที่ระนอง ซึ่งช่วงนั้นเรามีปัญหาเรื่องประมง Tier 3 พอดี แล้วท่าเรือระนองก็เปลี่ยนไปหมดเลย ผมถือกล้องเข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่แต่งชุดราชการมาบอกว่าห้ามถ่าย อย่างปลาก็ต้องสะอาดมากคือต้องวางบนผ้าใบ ซึ่งก่อนหน้านั้นสองสามเดือนผมยังเห็นเขาเทปลาลงบนพื้นกันอยู่เลย มันเลยสร้างความลำบากในการทำงานนิดหน่อย ก็เลยไม่ได้ถ่ายที่นั่นเลย

“ส่วนเรื่องผลตอบรับจากการที่ทำประเด็นเรื่องโรฮิงญานี้ ก็ยังไม่เจออะไร อาจจะเพราะนี่เป็น conflict ของบ้านเรา การที่ไปฉายที่ต่างประเทศจึงยังไม่มีอะไร เขาไม่ได้รู้สึกถึง conflict นี้แบบที่เรามี ส่วนการฉายในเมืองไทยนั้น ผมเพิ่งมีโอกาสเจอคนดูแค่สองรอบ ซึ่งยังไม่มีฟีดแบ็คด้านลบกลับมา”

ส่วนฐปณีย์ ผู้โดนโจมตีมากมายกล่าวว่า “เสียใจบ้าง แต่ไม่ได้เสียใจในสิ่งที่ทำหน้าที่ไป เพราะนั่นคือสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ภาพที่เราได้มาในวันนั้นมันเป็นภาพที่โลกควรรับรู้ และมันช่วยชีวิตพวกเขาได้”

“ที่เสียใจในคำพูดที่ว่า ‘ขายชาติ’ หรือว่า ‘ทำไมไม่รับไปอยู่ที่บ้านด้วยเลยล่ะ’ แต่เราก็เข้าใจว่าคอมเมนต์เหล่านี้มันมีกระบวนการทำให้เกิดขึ้น เช่นอาจจะมี IO หรืออะไร เพราะข่าวที่เราทำมันกระทบกับนโยบายของรัฐ มีเรื่องการเมืองด้วย และรัฐบาลในตอนนั้นก็เป็นรัฐบาล คสช.

“คือเราเล่าด้วยหลักการและเหตุผลว่า ความรู้สึกของคนที่เกลียดชังกันนี่มันอาจไม่ได้มาจากความรู้สึกของคนโดยแท้ หรือการมองแค่ผิวเผิน แต่มันมี ‘กระบวนการ’ ในการทำให้เกิดความเกลียดชัง”

กระแสสังคมที่โจมตีเป็นแรงขับดันหนึ่งที่ทำให้ฐปณีย์ทำงานต่อ เธอได้เดินทางไปยังมองดอร์ รัฐยะไข่ ที่ปัจจุบันเหลือแต่ซากเพราะถูกเผาและคนอพยพไปทั้งเมือง เพื่อให้เห็นสภาพของความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ และพยายามทำข่าวจากพื้นที่ต้นทางมาโดยตั้งใจให้คนไทยได้เห็นที่มาของการอพยพลี้ภัย ที่มาของการค้ามนุษย์ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

ประสบการณ์ส่วนตัวของฐปณีย์ในการทำข่าวพาให้เธอไปพบกับแม่ของลูกชายที่อยู่บนเรือ Green Boat ลำนั้น ภาพข่าวชิ้นนั้นเป็นเครื่องยืนยันให้แม่รู้ว่าลูกชายของเธอยังมีชีวิตอยู่ นี่เป็นเพียงเกร็ดเรื่องเล่าหนึ่งของชีวิตชาวโรฮิงญาที่นักข่าวคนหนึ่งได้รับ แต่คือเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าเรื่องราวและการทำหน้าที่ในฐานะสื่อนั้นมีความหมาย และสารคดีข่าวชิ้นนี้ก็ได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558 จาก Amnesty International ประเทศไทย (รางวัลดีเด่น ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จากข่าว ‘เรือมนุษย์โรฮิงญา’ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3) แต่ฐปณีย์ก็ยืนยันว่า รางวัลไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจและการรับรู้ถึงความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์

“อีกเรื่องหนึ่งที่หลังจากเหตุการณ์วันนั้น เราอยากเห็นสังคมมีคนที่มองแบบเรา คนที่ทำงานแบบเดียวกับเรา จนวันนี้ ผ่านมา 4 ปี มีหนังของป้อม (พุทธิพงษ์) และอีกหลายๆ เรื่องที่เราเห็น เรารู้สึกดีใจที่เจอคนรู้สึกแบบเรา ทำหน้าที่แบบเรามากขึ้น”

ถัดจากนั้นคือช่วงของการถามตอบจากเหล่าผู้ชมที่ร่วมชมภาพยนตร์ในรอบนี้ คำถามแรกเกี่ยวกับเรื่องราวในหนัง ทำไมผู้กำกับถึงเลือกที่จะให้ตัวละครหาหินสีที่ฝังอยู่ใต้ดินด้วยการฟัง ใช้หูแนบ

พุทธิพงษ์บอกว่าตัวเขาเองก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน เพราะตัวเขาเองก็อยากรู้ เขาจึงทำภาพเช่นนี้ออกมา เพื่อให้คนดูแสดงความคิดเห็นกันว่าอะไรกันแน่ที่อยู่ใต้ดิน และเหตุใดจำเป็นต้องใช้หูฟัง

เช่นเดียวกับการที่ตัวละครเอกของเรื่องไม่มีชื่อนั้น ผู้กำกับตอบว่า เขาเองไม่เคยคิดถึงสัญญะของการไม่มีชื่อ แต่มันเกิดการตีความของผู้ชมมากมายในประเด็นนี้ตั้งแต่การฉายครั้งแรกๆ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็น “ความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ มันสนุกตรงนี้ที่ตัวผมเองก็ไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำกับรุ่นใหม่อย่างผมคิดว่า เมื่อมันได้ผลลัพธ์มามันก็น่าสนใจ และทำให้ผมได้เรียนรู้สำหรับการทำหนังเรื่องต่อๆ ไปเวลามีคนวิพากษ์หนังมาแบบนี้ มันสำคัญกับผมมาก”

ทำไมถึงให้ตัวละครธงไชยไม่สามารถพูดได้

“ผมไม่อยากเป็นคนคิดสัญลักษณ์ต่างๆ ผมไม่อยากให้หนังเป็น puzzle ที่คนดูต้องมาคิดว่าผู้กำกับมันคิดอะไร แต่ผมคิดว่ามันมีความรู้สึกบางอย่างที่ผู้กำกับและคนดูแชร์กันได้ ไม่ใช้รหัส อันนี้คือสาเหตุให้อยากทำหนังเรื่องนี้ออกมา การที่คนไม่พูด การที่โรฮิงญาพูด พูดออกมาก็ไม่มีใครฟัง ฟังก็ไม่เข้าใจ คนก็ถามว่าทำไมทำให้ไม่พูด ทั้งๆ ที่ เขาพูดมาตลอดแต่ไม่มีใครฟัง” พุทธิพงษ์ตอบผู้ชม

ทำไมถึงมีการตัดสินใจใช้ไฟที่ใช้ได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ดังที่ได้เห็นในภาพยนตร์

“ผมเคยไปที่ชายแดน ตอนที่ไปทำรีเสิร์ช ตัวเองเป็นคนเมืองคนกรุงเทพฯ ชายแดนของผมก็คือภาพหนังเม็กซิโก มีลวดหนาม…มี ตม. แต่พอวันที่ได้ไปเห็นชายแดนพบว่ามันเป็นเส้นที่เบลอมาก ผมเองต่างหากที่เป็นชาวเมืองและคิดว่ามันมีความมั่นคงและมีเส้นที่แข็งแรง ไอ้เส้นนี้ที่คนในเมืองสร้างขึ้นมามันไปทับกับธรรมชาติ ผมอุปโลกไปเองว่ามีเส้น ผมพยายามจะสร้างความรู้สึกนั้นในหนังเท่าที่จะทำได้ คือผมเอาสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ เป็นไฟแอลอีดี ไฟคริสต์มาสอะไรก็ได้โยนลงไปในป่า ซึ่งมันเปลี่ยนความรู้สึกของเรา อันนี้คือไอเดียที่ทำให้สร้างป่าแฟนตาซีขึ้นมา ป่ามันคือป่า ทันทีที่เราใส่อะไรลงไปมันก็จะไม่ใช่ป่า เป็นอะไรไม่รู้ให้คนถามขึ้นมา

“นอกจากนั้นผมพยายามทำให้สองโลก (โลก realistic กับ fantasy) มันสัมพันธ์กัน ให้มันอยู่ด้วยกันให้ได้ มันเลยทำให้มีฉากคนทั้งสองเต้นรำกันกลางแสงไฟ มีชิงช้าสวรรค์ ตอนเด็กผมเคยติดอยู่ในชิงช้าสวรรค์ มันหมุนขึ้นไปสูงแล้วเกิดขัดข้อง ตอนติดมันรู้สึกเหมือนกักอยู่ในพื้นที่ที่เมื่อตะกี๊อารมณ์ยังสนุกอยู่เลย แต่จู่ๆ ก็ตรงข้าม มันเหมือนโดนหลอก ผมเลยรู้สึกติดพันกับความรู้สึกนั้น มันกลัวหรือมันอะไรกันแน่ เราก็เลยใช้ชิงช้าสวรรค์สื่อถึงความรู้สึกแบบนั้น”

คำถามอื่นๆ เป็นส่วนปลีกย่อยในภาพยนตร์ ที่พุทธิพงษ์ยืนยันเช่นเดิม ว่าหนังของเขาไม่ใช่การถอดรหัส “มันสร้างความรู้สึกให้คนดูได้ มันสร้างบางอย่างให้คุณรู้สึก ให้คุณคิดกับมัน…ตอบโต้กับมัน ผมไม่ได้มีสัญญะที่ฉลาดไปกว่านั้นเลย”

ผู้ชมท่านหนึ่งไม่ได้มีคำถามอะไร แต่สงสัยว่าคำถามยอดฮิตที่หลายท่านคงเคยผ่านตาในโซเชียลเน็ตเวิร์คก็คือ ‘ทำไมไม่เอา (ชาวโรฮิงญา) ไปเลี้ยงที่บ้านเลยล่ะ’ นี่เป็นคำถามที่ผู้กำกับเคยถูกจู่โจมให้ต้องตอบหรือไม่

“เคยโดนเพื่อนสนิทส่งเมสเสจมาถาม ตอนนั้นกำลังทำหนัง เพื่อนก็ถามว่าทำไมต้องทำ ทำไมไม่ไปช่วยหรือเอามาเลี้ยงเอง… คือถ้าหมายถึงเลี้ยงข้าว ผมเลี้ยงได้นะ และยินดีมากด้วย แต่ผมว่าการที่มนุษย์จะเท่าเทียมกัน อยู่ร่วมกัน มันต้องไม่ใช่คำนี้ ไม่ใช่การโดนเลี้ยง ไม่ว่าใครต่างต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

สุดท้ายของช่วงถาม-ตอบ มีผู้ชมท่านหนึ่งถามว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะสามารถทำให้ผู้คนในวงกว้างตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาโรฮิงญา และคุณค่าความเป็นมนุษย์มากขึ้นได้หรือไม่ พุทธิพงษ์ตอบว่าภาพยนตร์มีฟอร์มความยาวจำกัดในการเล่าให้เกิดการตระหนักรู้ ผู้ชมที่ดูแล้วกลับไปศึกษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะดูงานของฐปณีย์ หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับรัฐยะไข่ เขาไม่ต้องการให้ผู้ชมรู้แค่เพียงข้อมูลพื้นๆ ในอินเทอร์เน็ตที่บอกแค่ว่า โรฮิงญาเป็นทหารรับจ้าง

“และคนไม่พยายามที่จะออกไปจากตรงนี้เพราะเขาเชื่อไปแล้ว เขาเชื่อและขี้เกียจที่จะรู้เพิ่ม คนมันเกลียดไปแล้วด่าไปแล้วก็จะไม่อยากกลับคำตัวเอง เขาก็ช่างมัน แล้วไปทำความดี ไปใส่บาตร มันจะดีมากถ้าหนังทำให้คนตระหนักแล้วกลับไปเรียนรู้”

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า